Tuesday, 18 March 2025
TODAY SPECIAL

21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรด้วยโรคพิษไข้ ทรงไม่รู้สึกพระองค์เป็นเวลา 8 วัน พระอาการประชวรก็ได้ทรุดลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา และครองราชย์สมบัติได้ 15 ปี

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในหลายด้านทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น ทรงร่วมนิพนธ์วรรณคดีหลายเรื่อง เช่น อุณรุท รามเกียรติ์ อิเหนา และดาหลัง โปรดทรงดนตรีคือซอสามสาย ชื่อซอสายฟ้าฟาด (1) พระองค์ได้มีพระราชโองการกำหนดวันพิธีวิสาขบูชา ซึ่งหายไปเมื่อคราวสิ้นอยุธยา กลับมาเป็นงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง(2)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เมื่อ พ.ศ. 2352 และทรงอยู่ในราชสมบัติ 15 ปี และเสด็จสวรรคตเมื่อวันพุธ เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้รับการยกย่องว่า เป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยหนึ่งเลยทีเดียว ด้านกาพย์กลอนเจริญสูงสุด
จนมีคำกล่าวว่า "ในรัชกาลที่ 2 นั้น ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด" กวีที่มีชื่อเสียงนอกจากพระองค์เองแล้ว ยังมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สุนทรภู่ พระยาตรัง และนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) เป็นต้น

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 คณะปฏิบัติการฝนหลวง บินทดลองทำฝนเทียมครั้งแรก บริเวณท้องฟ้าเหนืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

วันนี้ เมื่อ 53 ปีก่อน คณะปฏิบัติการฝนหลวง เริ่มบินปฏิบัติการทดลองฝนเทียมกับเมฆฝนบนท้องฟ้าเป็นครั้งแรก บริเวณท้องฟ้าเหนืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา 

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวคิด “ทำให้เมฆรวมตัวกันตกลงมาเป็นฝน” เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินภาคอีสาน เมื่อปี 2498 

หลายปีต่อมา ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้กลับมากราบบังคมทูลพร้อมกับความคิดเริ่มแรกและความเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นการค้นคว้าทดลอง การประดิษฐ์คิดค้น และการปฏิบัติการค้นคว้าทดลองจริงบนท้องฟ้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมี ดร.แสวง กุลทองคำ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ ม.จ.จักรพันธุ์ เพ็ญศิริจักรพันธ์ อธิบดีกรมการข้าวในขณะนั้นรับใส่เกล้าฯ สนองพระราชประสงค์การปฏิบัติการทดลองจริงบนท้องฟ้าจึงเริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ณ สนามบินหนองตะกู วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่องเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ในหลวง ร. ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ด้วยพระราชพิธีที่เรียบง่าย แต่งดงาม

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 หรือ วันนี้เมื่อ 73 ปีที่แล้ว สัญญะแห่งความรักอมตะได้เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักของเราชาวไทยทั้ง 2 พระองค์ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงหมั้นกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ โดยจัดพิธีเป็นการภายในเรียบง่ายที่ต่างแดน

ย้อนไปในวันวาน เรื่องราวความรักของ องค์ในหลวงภูมิพล และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผู้เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ในปี พ.ศ.2489 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราช สันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น

ต่อมาช่วงปี 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ เยี่ยมโรงงานต่อรถยนต์ในประเทศฝรั่งเศสและการแสดงดนตรีของคณะดนตรีที่มีชื่อเสียง

และเวลานั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เป็นบุตรีของ ม.จ.นักขัตมงคล ท่านทูตประจำกรุงปารีส ได้มาร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย

ฝ่ายสมเด็จพระราชชนนี ได้ทรงรับสั่งกับว่าให้พระองค์ไปทอดพระเนตรบุตรีของ ม.จ.นักขัตรมงคลด้วยว่า “สวยน่ารักไหม” และยังทรงกำชับว่า “เมื่อถึงปารีสแล้วให้โทรบอกแม่ด้วย”

ที่สุดเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงปารีสแล้ว จึงโทรศัพท์ตอบคำถามสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า “เห็นแล้ว น่ารักมาก”

แน่นอน นั่นคือจุดเริ่มต้นแรกแห่งความรัก ซึ่งเกิดขึ้น ณ เมือง Fontainebleau ชานกรุงปารีส ในปีพ.ศ.2491 นั้นเอง

ต่อมา วันที่ 4 ตุลาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เรื่องนี้ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขียนเล่าใน “บันทึก เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ตอนหนึ่งเล่าว่า สิ่งแรกเมื่อรู้สึกพระองค์คือทรงหยิบรูป ม.ร.ว.สิริกิติ์ออกจากพระกระเป๋า

โดยเป็นรูปแรกที่ทรงถ่าย ซึ่งเป็นรูปหมู่ที่ถ่ายตอนบุคคลเข้าเฝ้าฯ ณ สถานทูต ม.ร.ว.สิริกิติ์อยู่เป็นคนสุดท้าย เห็นหน้าไม่ชัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “ยู้ฮู คนข้างหลังโผล่หน้ามาหน่อยสิ” รูปนั้นทรงตัดเฉพาะหน้าม.ร.ว.สิริกิติ์ไว้ในพระกระเป๋า

จนกระทั่ง ม.ร.ว.สิริกิติ์ได้เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการ และถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ ที่สุดความรักความเข้าพระราชหฤทัยซึ่งกันและกัน ก็ได้สืบสานได้ถักทอเป็นความผูกพันแน่นแฟ้น

ที่สุด ผ่านมาราว 1 ปี ราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2492 ในหลวงได้มีรับสั่งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ไปเฝ้าที่สวิตเซอร์แลนด์ โดย ม.จ.นักขัตรมงคล ประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ 3 วัน คือ วันที่ 17-19 กรกฎาคม พ.ศ.2492

ในวันที่ 18 ในหลวงเสด็จฯ ไปพบหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ที่โรงแรมที่พัก ทรงมีรับสั่งถึงเรื่องการหมั้นกับหม่อมเจ้านักขัตรมงคลด้วยพระองค์เอง เมื่อพระองค์ทรงเจรจาเสร็จแล้ว สมเด็จพระราชชนนีจึงได้เสด็จตามเข้าไป

ทั้งนี้ สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอ ม.ร.ว.สิริกิติ์ต่อ ม.จ.นักขัตรมงคล ในระหว่างการเจรจาเรื่องการหมั้น ทรงรับสั่งว่า “ขอให้ทำกันเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น เมื่อคราวฉันเองก็ทำอย่างนี้ จะมีอะไรขัดข้องไหม?”

ม.จ.นักขัตรมงคลทูลตอบว่า “ตามแต่จะมีพระราชประสงค์”

จากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 จึงได้มีการประกอบพระราชพิธีหมั้นเป็นการภายใน ณ โฮเตลวินเซอร์ในเมืองโลซานน์ อันเป็นที่พักของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัว

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคต

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ เสด็จสวรรคตที่โรงพยาบาลศิริราช รวมพระชนม์มายุ 95 พรรษา 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ‘สมเด็จย่า’ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2443 ทรงเป็นบุตรคนที่ 3 ใน พระชนกชู และ พระชนนีคำ พระนามเดิมคือ สังวาลย์ ตะละภัฏ ในวัยประมาณ 7-8 ขวบ ครอบครัวได้นำพระองค์ไปฝาก คุณจันทร์ แสงชูโต ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงในพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ทรงเข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา จากนั้นเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนั้น

ทรงเป็นนักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดในรุ่นของพระองค์ซึ่งมีจำนวนเพียง 14 คน พระองค์ทรงเรียนได้ดีและทรงศึกษาสำเร็จภายในสามปี และทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตามข้อผูกพันของการเป็นนักเรียนหลวง

ในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับทุนให้ไปเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงพบกับ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระบรมราชชนก) ซึ่งได้ทรงถูกพระทัย และขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์ 

17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ถูกปลงพระชนม์ จุดสิ้นสุดราชวงศ์สุดท้ายของรัสเซีย

ราชวงศ์โรมานอฟ เป็นราชวงศ์สุดท้ายของรัสเซีย ปกครองจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ปี 1613-1917 และมีจุดสิ้นสุดของราชวงศ์เมื่อวันที่ 17 ก.ค.1918 หรือ 104 ปีที่แล้ว

17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 (Tsar Nicholas II) กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของรัสเซีย ถูกปลงพระชนม์พร้อมพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์ที่ไซบีเรีย โดยทหารคณะปฏิวัติของกลุ่มมาร์กซิสม์หัวรุนแรงบอลเชวิก (Bolsheviks) ซึ่งนำโดย เลนิน (Vladimir Lenin)

สำหรับ พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ทรงเป็นพระโอรสของ พระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ ที่ 3 แห่ง ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov Dynasty) พระนามเดิมคือ พระเจ้านิโคลัสที่ 2 (Nicholas II) ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2437 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2439 พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิที่อ่อนแอ ไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ของประเทศที่กำลังปั่นป่วน หลังจากพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นใน สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo–Japanese War) ระหว่างปี 2447-2448

16 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก ภายใต้รหัส ‘Trinity’ ของกองทัพสหรัฐฯ

Trinity เป็นชื่อรหัสของการทดสอบการระเบิดของอุปกรณ์นิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก โดยฝ่ายกองทัพสหรัฐฯ เมื่อเวลา 5.29 น. ของวันที่ 16 กรกฎาคม 2488 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ

การทดสอบมีขึ้นที่ทะเลทราย Jornada del Muerto ห่างจากเมือง  Socorro รัฐนิวเม็กซิโกราว 56 กิโลเมตร ซึ่งในสมัยนั้นถูกใช้เป็นสนามสำหรับการซ้อมการทิ้งระเบิดและซ้อมยิงของกองทัพอากาศสหรัฐ แต่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสนามทดสอบขีปนาวุธ White Sands Missile Range 

สิ่งปลูกสร้างเดียวในพื้นที่ เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ชื่อ  McDonald Ranch House ที่นักวิทยาศาสตร์เป็นห้องปฏิบัติการณ์สำหรับทดสอบอุปกรณ์ของระเบิด จึงมีการตั้งเบสแค้มป์ขึ้นที่นั่น โดยขณะที่มีการทดลองระเบิด มีผู้คนมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ 425 คน

ชื่อ Trinity กำหนดให้ใช้โดย J. Robert Oppenheimer ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการลอส อลามอส  โดยได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของ John Donne  อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบเป็นระเบิดพลูโตเนียมที่มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า The Gadget มันมีการออกแบบ แบบเดียวกับระเบิด  Fat Man ที่ต่อมาถูกนำไปถล่มใส่เมืองนางาซากิของญี่ปุ่นเมื่อ 9 สิงหาคม 2488 การทดสอบวางแผนและอำนวยการโดย Kenneth Bainbridge และมีการซักซ้อมกันก่อนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2488 โดยการระเบิดวัตถุระเบิดขนาด 98 ตันพร้อมด้วยไอโซโทปกัมมันตรังสีการระเบิดของ The Gadget ปล่อยแรงระเบิดออกมา 22 กิโลตันทีเอ็นที


ที่มา : https://www.nationtv.tv/news/378785495

15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 ประเทศไทย สูญเสียดินแดนครั้งที่ 7 ยกเขมรและเกาะ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส

เมื่อ 155 ปี ประเทศไทยสูญเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนต้องศึกษาและจดจำ

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 เป็นอีกวันที่คนไทยทั้งชาติควรศึกษาและจดจำไว้เป็นบทเรียน กับเหตุการณ์หน้าประวัติศาสตร์ที่อันสำคัญในการรักษาอำนาจอธิปไตย ให้รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นในยุคล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก กับความเจ็บปวดที่แลกมากับการต้องสูญเสียดินแดน เขมรและเกาะ 6 เกาะ เป็นพื้นที่ 124,000 ตร.กม. ให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นการเสียดินแดนครั้งที่ 7 จากทั้งหมด 14 ครั้ง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 จวบจนปัจจุบัน

สำหรับการเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ นั้น สืบเนื่องจากการทำสงครามระหว่างไทยกับญวนหลายปี เพื่อแย่งชิงเขมรส่วนนอก หรือที่เรียกว่า "อานามสยามยุทธ" ซึ่งภายหลังได้มีการตกลงกันว่า จะให้เขมรเป็นประเทศราชของสยามต่อไป แต่ก็ต้องส่งบรรณาการไปให้ญวนเสมือนประเทศราชของญวนด้วย แต่ไทยมีสิทธิ์ในการสถาปนากษัตริย์เขมรดั่งเดิม 

โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ นักองด้วง เป็นกษัตริย์แห่งเขมร สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี หรือ สมเด็จพระหริรักษ์รามสุริยะมหาอิศวรอดิภาพ แต่ในปี 2397 เขมรได้แอบส่งสารลับไปยังฝรั่งเศส ขอให้ฝรั่งเศสช่วยกู้ดินแดนที่เสียให้ญวณกลับมาอยู่กับเขมรอีกครั้ง และมาช่วยคุ้มครองเขมรให้พ้นจากทั้งอำนาจของสยามและญวน 

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชการที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นักองราชาวดี หรือ สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรองค์ต่อจาก สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ที่เสด็จสวรรคต โดยในช่วงก่อนปี 2406 นั้น ฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนแถบอินโดจีนหรือญวนมากขึ้น และได้เข้ามาบีบบังคับโดยใช้กำลัง ทั้งทางกองเรือและทางการทูต

14 กรกฎาคม พ.ศ. 2332 วันทลายคุก ‘บาสตีย์’ สัญลักษณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส


14 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันชาติฝรั่งเศส และเป็นวันที่เกิดเหตุทลายคุกบาสตีย์ (Storming of the Bastille) เมื่อประชาชน ลุกฮือกันเดินขบวนประท้วงและตรงเข้าไปบุกทลายคุกบาสตีย์ที่คุมขังนักโทษการเมือง

ย้อนไปเมื่อ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 (พ.ศ.2332) วันนี้เป็นวันที่เกิดเหตุ ทลายคุกบาสตีย์ (Storming of the Bastille) เมื่อประชาชนฝรั่งเศส ทั้งปัญญาชน พ่อค้า และพลเมือง ลุกฮือกันเดินขบวนประท้วงและตรงเข้าไปบุกทลายคุกบาสตีย์ที่คุมขังนักโทษการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของ การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ถือเป็นวันประกาศอิสรภาพของประชาชนฝรั่งเศสที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของระบอบเก่า เหตุการณ์นั้นตรงกับรัชสมัย พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งราชวงศ์บูร์บอง  (Bourbon)

13 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มีพระนามเดิมว่า หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ โรงพยาบาลกายส์ เขตเซาท์วาร์ก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

พระองค์เป็นธิดาของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร เหตุที่หม่อมหลวงโสมสวลีเกิดที่ลอนดอนสืบเนื่องมาจากบิดา คือ หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ ได้ไปศึกษากฎหมายในอังกฤษหลังพระราชทานน้ำสังข์แล้ว จนเมื่อหม่อมหลวงโสมสวลีมีอายุได้ 2 ปี จึงได้กลับมายังประเทศไทย

นาม โสมสวลี แปลว่า "ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระจันทร์" คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครอบครัวและสหายในโรงเรียนราชินีมักเรียกสั้นๆ ว่า "คุณโสม" ส่วนพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า "โสม" เฉยๆ มีน้องสาวเพียงคนเดียวคือหม่อมหลวงสราลี กิติยากร หรือ "คุณน้ำผึ้ง" ซึ่งเป็นนักแสดงและพิธีกร

หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา รุ่นที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2504 รุ่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2510 พระองค์ก็ทรงลาออกจากโรงเรียนเดิมและย้ายไปประทับที่เชียงใหม่ โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย เป็นเวลา 2 ปี และเมื่อบิดาได้ย้ายกลับมายังกรุงเทพมหานคร ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระยะหนึ่ง แต่ด้วยมิสะดวกต่อการรับส่ง จึงได้ย้ายมาศึกษาอยู่ที่โรงเรียนราชินี เนื่องจากเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางที่ไปยังที่ทำงานของบิดา

หม่อมหลวงโสมสวลีและน้องสาว เติบโตในวังเทเวศร์และได้รับการเลี้ยงดูอย่างสามัญ มีพระบิดาไปรับส่งที่โรงเรียน ในวัยเยาว์พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่งานบ้านด้วยพระองค์เอง เช่น จัดที่นอนให้เป็นระเบียบ กวาดบ้านถูพื้น รวมไปถึงการปลูกผักและตัดหญ้า ทั้งนี้โปรดการประกอบอาหาร และวิชาภาษามากกว่าวิชาใดๆ แต่พระองค์ไม่ถูกกับวิชาคำนวณ เมื่อพระองค์สำเร็จการศึกษาระดับ ม.ศ. 2 พระองค์ก็ขอร้องกับบิดามารดา เพื่อขอออกมาศึกษาวิชาที่พระองค์ชอบ

พระองค์ชื่นชอบงานฝีมือ ฝึกฝนด้านหัตถกรรมอย่างการร้อยพวงมาลัย, จัดดอกไม้ และเย็บปักถักร้อย โดยโปรดงานนิตติ้งมากที่สุด โปรดเลี้ยงสัตว์ คือ ปลาทอง หากพระองค์จะเสด็จไปประทับที่ใดก็ต้องเอาปลาทองที่ทรงเลี้ยงไปด้วย โปรดการเล่นเครื่องดนตรี คือ กีตาร์ และเปียโน ดังคำให้สัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงพันธุ์สวลีตอนหนึ่งว่า "คุณโสมชอบเล่นกีตาร์ ดิฉัน [ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี] ให้ท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร มาสอนเปียโนอยู่เป็นประจำ" 

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกอบพิธีหมั้นระหว่างพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

12 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5 ทรงจารึกพระปรมาภิไธย จปร. บนก้อนหินที่นอร์เวย์ ขณะประพาสยุโรปครั้งที่สอง

12 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5 ทรงจารึกพระปรมาภิไธย จปร. บนก้อนหินที่นอร์เวย์ ขณะประพาสยุโรปครั้งที่สอง 

วันนี้ เมื่อ 115 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสแหลมเหนือ (North Cave) ประเทศนอร์เวย์ ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ‘จปร.1907’ ไว้บนก้อนหินที่ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสแหลมเหนือ (North Cave) ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เพื่อผ่อนคลายพระราชภารกิจและรักษาตัวอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสแหลมเหนือ (North Cave) ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีทางรถยนต์ขึ้นถึง ต้องเสด็จโดยเรือและทรงปีนไปบนหน้าผา พร้อมทั้งทรงสลักพระปรมาภิไธย ‘จปร. 1907’ ซึ่งเป็นปี ค.ศ.ที่เสด็จถึงไว้บนก้อนหิน และทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระยาชลยุทธโยธิน อดีตผู้บังคับการเรือชาวเดนมาร์ก พร้อมกะลาสีเรือที่ตามเสด็จไว้เป็นที่ระลึกด้วย 

ซึ่งภาพดังกล่าว กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ยืนยันถึงการเสด็จประพาส และแสดงถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของสยามประเทศ รวมถึงพระอัจฉริยภาพ และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 องค์พระประมุขของชาติเล็กๆ ที่แม้จะอยู่ห่างไกลในซีกโลกตะวันออก แต่ทรงสามารถประกาศศักดิ์ศรีให้ชาวตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปเหนือได้รู้จักจนทุกวันนี้

ต่อมาในปี พ.ศ.2513 รัฐบาลนอร์เวย์จะก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ได้พบศิลาจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ‘จปร. 1907’ ซึ่งปกคลุมไปด้วยหญ้า ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร เกือบจะมีการระเบิดทิ้งเพื่อมิให้กีดขวางการสร้างอาคาร แต่ในที่สุดได้มีการเก็บรักษาไว้ตามที่มีผู้แจ้งว่าอักษรย่อบนศิลาจารึกนั้นเป็นพระปรมาภิไธยย่อของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ได้เคยเสด็จมาเยือนที่นี่ โดยเปรียบเทียบจากภาพถ่ายที่ทรงฉายไว้  

โดยทางการนอร์เวย์ได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์มาตั้งแสดงคู่กับศิลาจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ‘จปร. 1907’ ภายในอาคาร เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้ทราบว่า มีอะไรเกิดขึ้นที่ตรงนี้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาชม เพราะอยู่ใจกลางแหลมเหนือ และมักจะโยนเหรียญบ้าง ธนบัตรบ้าง ไปที่ศิลาจารึกพระปรมาภิไธยนั้น เพื่อขออธิษฐานให้ได้กลับมาเยือน ณ ที่แห่งนี้อีก ซึ่งทางการนอร์เวย์ได้เก็บรวบรวมเงินเหล่านี้มอบเป็นรางวัลให้กับผู้ทำประโยชน์ให้กับเด็กๆ ทั่วโลก มีชื่อว่ารางวัล The Children of the Earth


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top