18 ธันวาคม พ.ศ.2536 ดาวเทียมไทยคม (THAICOM) ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร

วันนี้ เมื่อ 29 ปีก่อน ดาวเทียมไทยคม ดาวเทียมดวงแรงของไทย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร

18 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ดาวเทียมไทยคม (THAICOM) ดาวเทียมดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นวงโคจร จากฐานส่งของบริษัท แอเรียนสเปซ (Arianespace) แห่งฝรั่งเศส ที่เมืองคูรู (Kourou) ประเทศเฟรนช์ เกียนา (French Guiana) ทวีปอเมริกาใต้ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานชื่อ ‘ไทยคม’ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2534 โดยมาจากคำว่า ไทยคม (นาคม) สร้างโดยบริษัท ฮิวจ์ แอร์คราฟท์ (Hughes Aircraff) สหรัฐอเมริกา สามารถถ่ายทอดได้ทั้งสัญญาณโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โทรศัพท์ และการสื่อสารข้อมูล ต่อมาได้ชื่อใหม่เป็น ‘ดาวเทียมไทยคม 1A’

ดาวเทียมไทยคม 1A ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2536 ในพิกัดตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก และย้ายไปที่ 120 องศาตะวันออกเมื่อ พฤษภาคม 2540 จากนั้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2537 ดาวเทียมไทยคม 2 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร อยู่ที่ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก แทนพิกัดเดิมของ ดาวเทียมไทยคม 1A ดาวเทียมทั้ง 2 ดวงเป็นดาวเทียมรุ่น HS-376 แบบ Dual Spin ผลิตโดย บริษัท ฮิวจ์ แอร์คราฟท์ ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือบริษัทโบอิ้งในปัจจุบัน

พื้นที่การให้บริการย่านความถี่ C-Band ของดาวเทียมไทยคม 1A และดาวเทียมไทยคม 2 ครอบคลุมประเทศไทยลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี ญี่ปุ่น และชายฝั่งตะวันออกของประเทศจีน ส่วนพื้นที่การให้บริการในย่านความถี่ Ku-Band ของดาวเทียมไทยคม 1A และดาวเทียมไทยคม 2 ครอบคลุมประเทศไทย และประเทศในแถบอินโดจีน

จำนวนช่องสัญญาณในย่าน C-Band ดาวเทียมไทยคม 1A มีจำนวน 12 ทรานสพอนเดอร์ (Transponders) ดาวเทียมไทยคม 2 มีจำนวน 10 ทรานสพอนเดอร์ โดยความถี่ของช่องสัญญาณของดาวเทียมทั้งสองดวงอยู่ที่ 36 MHz ส่วนKu-Band ดาวเทียมไทยคม 1A และดาวเทียมไทยคม 2 มีจำนวนดวงละ 3 ทรานสพอนเดอร์ โดยความถี่ช่องสัญญาณของดาวเทียมทั้งสองดวงอยู่ที่ 54 MHz มีอายุการใช้งาน 15 ปี

ปัจจุบัน ดาวเทียมดวงดังกล่าวถูกปลดระวางจากวงโคจรแล้ว

รู้หรือไม่: Deorbit คือ การลดระดับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและเผาไหม้ของดาวเทียม หรืออธิบายแบบง่ายๆ คือการปลดระวางดาวเทียมนั่นเอง