กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายขับเคลื่อนการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ภายหลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมของวิสาหกิจชุมชนในการเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ พร้อมสั่งการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม พัฒนาต่อยอดผู้นำชุมชนให้เป็นผู้นำหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV Leader นำร่อง 20 ชุมชน เพื่อรองรับวิถีชีวิตปัจจุบันที่สามารถอยู่ร่วมกับสภาพการเปลี่ยนจากโควิด-19 ได้อย่างเป็นปกติ (Now Normal) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาชุมชนตามสภาพปัจจุบัน ซึ่งคำนึงถึงต้นทุนของชุมชน และศักยภาพของแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา และการส่งเสริมพัฒนาสินค้าชุมชนตามพฤติกรรมลูกค้า พร้อมชู “ชุมชนท่องเที่ยวบ้านปลายบาง” ตัวอย่างชุมชนนำร่องการท่องเที่ยวที่มีการปรับตัวไว พลิกวิกฤตพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศถือได้ว่าเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากปริมาณนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ และอัตราการเข้าพักในโรงแรมในเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามสำหรับหลายกิจการที่รอคอยให้เครื่องจักรการท่องเที่ยวกลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เพราะถือเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จึงได้สั่งการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขยายผลการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) หรือ หมู่บ้าน CIV ที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สร้างรายได้มั่นคงให้กับ 250 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนหมู่บ้าน CIV ในปีนี้ ดีพร้อมเน้นการดำเนินงานภายใต้นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อม แคร์” ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาชุมชนที่จะลงลึกถึงความต้องการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ พร้อมการส่งเสริมที่ตรงจุด ด้วยทีมบุคลลากรคุณภาพที่เชี่ยวชาญองค์ความรู้ในด้านการจัดการอุตสาหกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ อีกทั้ง ได้ปรับรูปแบบเพื่อรองรับวิถีชีวิตปัจจุบันที่สามารถอยู่ร่วมกับสภาพการเปลี่ยนจากโควิด-19 ได้อย่างเป็นปกติ (Now Normal) ประกอบด้วย...
>> Now Village หรือ การส่งเสริมพัฒนาชุมชนตามสภาพความเป็นปัจจุบัน คือ การสำรวจความพร้อมและผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งถือเป็นต้นทุนเดิมในการพัฒนา และการสำรวจต้นทุนที่เกิดขึ้นใหม่ คือ การเปลี่ยนแปลงของประชากรในชุมชน เพราะในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมามีแรงงานฝีมือจำนวนมากที่ตกงานและเดินทางกลับภูมิลำเนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หากสามารถใช้ศักยภาพของแรงงานเหล่านี้ในการพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน จะทำให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นและชุมชนเกิดความยั่งยืนในอนาคต
>> Now Customer หรือ การส่งเสริมพัฒนาสินค้าชุมชนตามพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า หรือนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น และความต้องการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปด้วยมาตรการการควบคุมโรค ที่เข้มงวดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น และนักท่องเที่ยวบางส่วนงดการเดินทางท่องเที่ยว แต่ยังคงมีความต้องการซื้อสินค้าชุมชน หรือสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น การพัฒนาสินค้าและบริการในความปกติปัจจุบัน จึงต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในกลุ่มนี้