Sunday, 3 December 2023
ECONBIZ NEWS

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ห่วง!! GDP ไทย Q3/66 โตต่ำ 1.5% แนะ!! ใช้คนให้ถูกกับงาน เพราะคนเก่งไม่กี่คนแบกประเทศไม่ได้

(21 พ.ย. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า…

GDP Q3 ประเทศไทยที่เรารัก โต 1.5% ซึ่งต่ำมาก ๆ ครับ เรามาแกะตัวเลขกันว่าปัญหาอยู่ตรงไหนต้องแก้อะไรบ้าง

1.โครงสร้าง GDP ประกอบไปด้วย การบริโภคภาคเอกชน การบริโภคภาครัฐ การลงทุน และการส่งออก หักการนำเข้า เป็นความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยเราควรติดตาม Capital flow ในส่วน Leakage and injection ด้วย

เราอยากให้ประเทศมีเศรษฐกิจเติบโต และกระจายไปอย่างทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน

2.ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดี เราอยู่ในภาวะ Perfect strom ที่มีปัญหารุมมากมาย แต่ละประเทศก็แก้ไขต่างกัน แต่เรายังแก้ไขไม่ดีครับ ปัญหาที่โลกใบนี้เจอ คือ ของแพง จากราคาพลังงาน และอาหาร สาเหตุจากสงคราม รัสเซีย ยูเครน และ ฮามาสกับ อิสราเอล รวมถึงสงครามการค้าจีน สหรัฐ ยุโรป

นอกจากของแพง ดอกเบี้ยก็ขึ้นสูงทำให้การบริโภคและการลงทุนทำได้ไม่คล่องเหมือนภาวะปกติ
การลดปริมาณเงินของสหรัฐที่อัดฉีดเงินมายาวนานสิ้นสุดลง และกระทบตลาดหุ้น ตลาดทุน ของที่เคยแพงสินทรัพย์ ราคาหุ้น ก็ลดลงแรง

3.ประเทศไทยเรายังมีการบริโภคที่ดี โดยภาคบริการ การท่องเที่ยว ช่วยค้ำยัน อาหาร โรงแรม ให้เติบโตดี แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวไม่มากเท่าก่อนโควิด แต่ก็เติบโตดีมาก

4.ภาคการผลิต เริ่มจากภาคเกษตร ราคาสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก มีบางหมวดที่ปรับขึ้นได้ แต่ผลิตภาพไม่ดี คือผลผลิตออกมาได้น้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนลงแรง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรามุ่งอุดหนุนราคาเกษตรแต่ไม่ปรับผลิตภาพ (Productivity)

ภาคอุตสาหกรรม เน้นขายของในสต๊อกของใหม่ผลิตน้อยกลัวขายไม่ได้ และโดนสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตี ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และอีกหลาย Cluster ใหญ่ ๆ ทำให้ขายในประเทศก็ยาก ส่งออกก็ยากแม้ค่าเงินบาทจะอ่อนลงมากแต่ก็ขายไม่ได้ ขนาดในประเทศยังขายได้ยาก จะไปสู้ต่างประเทศยิ่งยาก ต้นทุนสูง ไม่ได้ Economic of scale แถมสินค้าเรากำลังตกยุคไม่ได้เป็นที่ต้องการตลาดโลก

5.ภาคส่งออกเป็นปัญหามายาวนาน ยุคอดีต รมว. พาณิชย์ พยายามปั้นแล้วแต่ไม่ฟื้น กระทรวงเศรษฐกิจแต่ไม่ได้คนเก่งเศรษฐกิจมาทำงานให้ข้าราชการทำงานเป็นหลัก คนให้ทิศทางไม่ชัดก็ไปต่อยาก วันนี้ได้เสาหลักมาจากท่องเที่ยวมาช่วย แต่ยังห่างไกลมากต้องทำงานอีกเยอะ ทีมเศรษฐกิจต้องแข็งจริง ร่วมมือกับเอกชน ถ้าตลาดในประเทศโดนต่างชาติมาตีตลาด ในบ้านขายไม่ออกส่งออกก็ยาก เพราะต้นทุนเฉลี่ยไม่ได้ Scale เอาใจช่วยมากครับ

6.การลงทุน และใช้จ่ายภาครัฐ สะดุดแรงช่วงเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาล Q3 จึงสะดุดแรงมากใครขายของภาครัฐนิ่งสงบ คาดว่า Q4 จะดีขึ้นเล็กน้อยแต่ต้องเร่ง งบประมาณรายจ่ายให้ไว ไม่งั้นจอด 

ปัญหาวันนี้เป็นที่โครงสร้างต้องใช้คนเก่งมาก ๆ มาช่วยกันทำงาน หากเป็น ครม. แบ่งโควตาไม่เน้นความสามารถปัญหานี้แก้ยากมาก เรียนด้วยความสัตย์จริงไม่ได้ว่าพรรคไหน หรือแขวะใคร วันนี้ต้องทำงานไว มี รมต. เก่งไม่กี่คนไม่สามารถแบกทีม แมนยู ให้ไปแชมเปียนส์ลีกได้ ควรจัดทีมให้เหมาะครับ

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
บทความเชิงวิชาการส่วนตัว
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับต้นสังกัดข้าพเจ้า

‘KTC’ ร่วมมือ 18 โรงพยาบาลมอบสิทธิพิเศษสมาชิก หลังซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพประจำปี ตั้งแต่วันนี้-29 ก.พ. 67

(21 พ.ย. 66) นางสาวสิรีรัตน์ คอวนิช ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หมวดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่มียอดใช้จ่ายติดอันดับ 1 ใน 5 คือหมวดสุขภาพและโรงพยาบาล โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี จะเป็นช่วงที่สมาชิกนิยมซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ถึงรอบการตรวจสุขภาพประจำปีของคนส่วนใหญ่ และในปัจจุบันมีโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาการของโรคมีการเจ็บป่วยที่หนักขึ้นจนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต คนจึงหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ” 

“เพราะการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ทำให้เราสามารถป้องกันและรักษาก่อนเกิดโรคได้อย่างทันท่วงที เคทีซีจึงได้ร่วมกับ 18 โรงพยาบาล มอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี เมื่อซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่ร่วมรายการ สามารถลงทะเบียนรับของขวัญส่งท้ายปี อาทิ รับบัตรกำนัลสตาร์บัคส์ (Starbucks) เมื่อซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพและชำระด้วยบัตรเครดิตเคทีซีที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย / โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท / โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ / โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ / โรงพยาบาลในเครือพญาไท / โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 

หรือรับเครื่องฟอกอากาศ มูลค่า 3,590 บาท เมื่อมียอดใช้จ่ายตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไปต่อเซลส์สลิป / รับกระเป๋าล้อลาก 20 นิ้ว มูลค่า 2,490 บาท เมื่อมียอดใช้จ่ายตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปต่อเซลส์สลิป หรือรับกล่องใส่อาหารมูลค่า 169 บาท เมื่อมียอดใช้จ่ายตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปต่อเซลส์สลิป 

สมาชิกที่สนใจสามารถซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่เครือโรงพยาบาลเปาโล / โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา / โรงพยาบาลกรุงเทพ ราชสีมา / โรงพยาบาลกรุงเทพ หัวหิน / โรงพยาบาลมหาชัย 2 ตั้งแต่ 1 กันยายน 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล) โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/3SK23dI” 

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ KTC Phone โทร. 0-2123-5000 สมัครบัตรเครดิตเคทีซีทุกประเภทคลิก https://ktc.today/apply-card หรือติดต่อศูนย์บริการสมาชิก ‘เคทีซี ทัช’ ทุกสาขาทั่วประเทศ

‘AOT’ เปิดงบรวมปี 66 โชว์ผลกำไร 8,790 ล้านบาท โต 179% อานิสงส์ธุรกิจการบิน-ฟรีวีซ่าช่วยหนุนแรง

(21 พ.ย. 66) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เผย งบรวมปี 2566 พลิกทำกำไรสุทธิ 8,790 ล้านบาท เติบโต 179.28% จากงวดปี 65 ที่ขาดทุน 11,088 ล้านบาท แรงหนุนจากธุรกิจการบินที่ทำรายได้ 22,266 ล้านบาท โตทะลุ 205%

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และบริษัทย่อย รายงานงบการเงินรวมงวดปี 2566 (สิ้นสุด 30 ก.ย.66) มีกำไรสุทธิ 8,790.87ล้านบาท เพิ่มขึ้น 179.28% กำไรต่อหุ้น 0.62 บาทต่อหุ้น  เทียบกับงวดปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ -11,087.86 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.78 บาท

โดยงบรวมงวดปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการอยู่ที่ 48,140.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,580.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 190.71% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 16,560.02 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

- รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 22,265.83 ล้านบาท เพิ่ม 14,975.78 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 205.43%เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร
- รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 25,875.09 ล้านบาท เพิ่ม 16,605.12 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 179.13%
- รายได้อื่น 304.58 ล้านบาท ลดลง 1,027.26 ล้านบาท หรือลดลง 77.13%

ด้านค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 5,422.70 ล้านบาท หรือเพิ่ม 18.81% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ค่าจ้างภายนอก ค่าสาธารณูปโภค และค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ในขณะที่ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ และค่าใช้จ่ายอื่นลดลง รวมทั้งต้นทุนทางการเงินลดลง 39.31 ล้านบาทหรือลดลง 1.34% สำหรับค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 5,122.60 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 177.40% สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

‘พีระพันธุ์’ เบรก ‘กกพ.’ ขึ้นค่าไฟ 4.68-5.95 บาท ต้นปี 67 ลั่น!! ต้องได้ 3.99 บาท ช่วยลดภาระประชาชนให้มากที่สุด

(21 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออก 3 ทางเลือกขึ้นค่าไฟหน่วยละ 4.68 - 5.95 บ. งวดมกราคม-เมษายน 67 

จากปัจจุบัน (กันยายน-ธันวาคม 66) อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. วันที่ 10 - 24 พฤศจิกายนนี้ ว่า 

ขณะนี้ได้สั่งการให้ทีมงานเข้าไปดูโครงสร้างต้นทุนค่าไฟเพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือประชาชน จะแยกต้นทุนรายตัว บางเชื้อเพลิงอาจปรับขึ้น

แต่คงไม่เท่าราคาที่ กกพ.ประกาศออกมา โดยจะพยายามทำให้ค่าไฟยังอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยต่อไป 

ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เพราะถือเป็นนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนให้มากที่สุด 

อย่างไรก็ดี หากต้นทุนเพิ่มจริงก็อาจขยับเล็กน้อยแต่คงไม่สูงตามที่ กกพ. ประกาศออกมา

"โครงสร้างค่าไฟปัจจุบันที่ กกพ. นำมาใช้ตนไม่พอใจ เพราะไม่เป็นธรรมกับประชาชน หน่วยงานรัฐต้องดูแลประชาชน ต้องลดภาระ ต้องพิจารณาราคาที่เป็นธรรม เวลานี้ค่าไฟจึงยังไม่สรุป ไม่ใช่ราคาที่ กกพ. ประกาศออกมาแน่นอน"

‘อินเตอร์ลิ้งค์’ ขอบคุณผู้ถือหุ้น-นักลงทุนที่ไว้วางใจ สัญญา!! ผลประกอบการปลายปีนี้ดีเยี่ยมแน่นอน

(21 พ.ย. 66) สมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า…ขอขอบคุณนักลงทุนที่วันนี้เข้ามาชมการแถลงผลประกอบการของ ILINK (กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)) และขอขอบคุณคำชมของผู้ถือหุ้น และพร้อมคำชื่นชมผลประกอบการของ ILINK ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา และขอขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจในหุ้นของ ILINK และ ITEL ซึ่งในภาวะผันผวนที่ผ่านมา ทั้งหุ้น ILINK และ ITEL ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนกระแสของตลาด ซึ่งหุ้นทุกตัวลดลง

“ผมอยากให้ความมั่นใจกับทุกท่านว่า ในสิ้นปีนี้ท่านจะได้เห็นผลประกอบการของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ที่ประสบความสำเร็จ และมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย กล่าวคือสามารถเติบโตทั้งรายได้และผลกำไรครับ” สมบัติกล่าวทิ้งท้าย

‘โตโยต้า’ เล็งหนุน ‘ไทย’ ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หลัง ‘รบ.ไทย’ ตั้งเป้าผลิต EV เกินครึ่งในปี 2573

(20 พ.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘AEC Connect’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘โตโยต้า’ จ่อหนุนไทยเป็นเมืองหลวง EV ความว่า…

ในเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยออกนโยบายจูงใจใหม่เพื่อกระตุ้นให้คนเปลี่ยนมาใช้รถ EV โดยตั้งใจเปลี่ยนการผลิตรถยนต์กว่าครึ่งหนึ่งของไทยให้เป็นรถ EV ภายในปี 2573

จากงานวิจัยของ Counterpoint Research พบว่า ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนมีอิทธิพลต่อตลาดรถ EV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งเกือบ 79% ของจำนวนรถ EV ทั้งหมดที่ถูกขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาสแรกของปี 2566

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าตลาดรถ EV ของไทยจะใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ก็ยังคงมีการแข่งขันว่าแบรนด์รถ EV ใดจะขายได้มากสุดในประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน แบรนด์รถ EV ที่ขายดีที่สุดในไทยคือ BYD ของจีน แต่แบรนด์รถสัญชาติจีนอื่น ๆ ก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่หวังว่าจะสร้างผลกระทบในตลาดรถ EV ในไทยอีกหนึ่งแบรนด์คือ โตโยต้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเรียกว่าเป็นแบรนด์ประจำบ้านในไทยไปแล้ว โดยได้รับความนิยมจากรถเก๋งและรถกระบะ

ในฐานะศูนย์กลางรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก ไทยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ส่งออกรถยนต์โตโยต้าและฮอนด้า แต่เพื่อเปลี่ยน 1 ใน 3 ของยอดการผลิตรายปีจำนวน 2.5 ล้านคันให้เป็นรถ EV ภายในปี 2573 ระบบนิเวศทางที่ถูกต้องจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลง

โดยรัฐบาลไทยมีความต้องการที่จะทำงานร่วมกับโตโยต้าเพื่อพัฒนารถ EV ในประเทศ ซึ่งรวมถึงการพัฒนารถยนต์ Eco Car และรถกระบะด้วย ทั้งนี้มาจากการที่โตโยต้าวางแผนทดสอบรถกระบะไฟฟ้าครั้งแรกในไทย เพื่อจะกระตุ้นยอดขายรถ EV ภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยก็ออกแผนลดหย่อนภาษี 3 ปีให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่ลงทุนในระบบ Automation และ Robotics หลังมีการลดเงินอุดหนุนผู้บริโภคสำหรับการซื้อรถ EV ลง

‘กระทรวงแรงงาน’ ตั้งเป้าปี 67 ส่งออกแรงงานไทย 1 แสนคน เผย ‘ไต้หวัน-อิสราเอล-เกาหลีใต้’ ติด 3 อันดับจัดส่งมากที่สุด

(20 พ.ย. 66) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายสำคัญให้กับกระทรวงแรงงานไว้ว่า ให้ส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 100,000 อัตรา ภายในปีงบประมาณ 2567

โดยรายชื่อประเทศกลุ่มเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน 100,000 คน ในปีงบประมาณ 2567 พบส่งไปทำงานแถบเอเชียมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 72,000 คน อันดับ 1 ไต้หวัน เป้าหมาย 20,300 คน ขณะที่ อิสราเอล ยังคงเป็นประเทศเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ในอันดับที่ 2 เป้าหมาย 7,700 คน ตามด้วย สาธารณรัฐเกาหลี เป้าหมาย 7,500 คน

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ตนได้มอบให้กรมการจัดหางาน เตรียมแผนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศไว้เรียบร้อยแล้ว เน้นส่งเสริมรักษาการจ้างงานในตลาดแรงงานเดิม ควบคู่กับการขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความต้องการจ้างแรงงานในตำแหน่งที่กำลังขาดแคลน หรือประเทศที่มีแนวโน้มการจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น

ในปีงบประมาณ 2567 ตั้งเป้าหมายจัดส่งไปทำงานแถบเอเชียมากที่สุด รวม 72,000 คน รองลงมาคือแถบยุโรป 14,000 คน ตะวันออกกลาง 10,500 คน อเมริกาเหนือ 1,800 คน แอฟริกา 1,100 คน และอเมริกาใต้ ออสเตรเลียและโอเชียเนีย 600 คน

ขณะที่เป้าหมายอันดับหนึ่ง ในการจัดส่งยังคงเป็นตลาดแรงงานในไต้หวัน จำนวน 20,300 คน รองลงมาคือ อิสราเอล จำนวน 7,700 คน สาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 7,500 คน ญี่ปุ่น และสวีเดน เป้าหมายจัดส่งจำนวนเท่ากันที่ 6,000 คน และมาเลเซีย 4,000 คน หากดูจากตัวเลขประมาณการ คาดว่าจะจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งในตลาดแรงงานเดิมและตลาดแรงงานใหม่ได้รวม 100,000 อัตราแน่นอน

‘รมช.คลัง’ เล็งพักหนี้เอสเอ็มอีทั้งระบบ ภายใต้กรอบภาระรัฐบาล ย้ำ!! พักหนี้ครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา ป้องกันเกิด ‘Moral Hazard’

(20 พ.ย. 66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษาเรื่องการพักหนี้ของภาคเอสเอ็มอีทั้งระบบ แต่ก็ต้องดูให้อยู่ในกรอบที่รัฐบาลรับภาระไหว และยังต้องดูว่าการเข้าไปช่วยต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่ให้เกิด ‘Moral Hazard’ ด้วย

“ยอมรับว่ามีเม็ดเงินค่อนข้างสูง หนี้ของเอสเอ็มอีเฉลี่ยต่อรายไม่ใช่แค่หลักแสนบาท ถือเป็นภาระที่หนัก ซึ่งก่อนหน้านี้โจทย์ของการช่วยเหลือเรื่องการพักหนี้เอสเอ็มอี ช่วยตามรหัส 21 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคำอธิบายของกลุ่มนี้ มีแค่เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แล้ว ซึ่งรัฐบาลให้ช่วยเหลืออย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีปัญหาหนี้สิน ยังไม่ถึงขั้นเป็นเอ็นพีแอล เราจึงต้องดูส่วนนี้ด้วย”

ทั้งนี้ ยอมรับว่า จากมาตรการพักหนี้ต่างๆ นั้น กังวลเรื่อง ‘Moral Hazard’ แต่ว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ที่มีแรงกดดันทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องโยกแรงกดดันเหล่านี้ออก ให้ประชาชนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ การพักหนี้ครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่เหมือนพักหนี้ครั้งก่อน เพราะเรามีกลไกอื่นเข้าไปช่วยด้วย

“ผมไปลงพื้นที่ตรวจงาน ได้ถามชาวบ้าน เกษตรกร ว่าพักหนี้มา 13 ครั้งแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทุกคนก็บอกว่า ไม่ได้ดีขึ้น มันเป็นเพียงแค่การประวิงเวลาเท่านั้น แต่กลไกครั้งนี้ ประกอบกับนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลใส่เข้าไป มันจะสามารถให้ประชาชน พลิกฟื้นกลับมาแข็งแรงได้”

ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแถลงมาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 66 นี้ เป็นมาตรการแก้หนี้คนละส่วนกับการมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่เคยออกมาแล้ว โดยการพักชำระหนี้เป็นเพียงการต่ออายุ ต่อลมหายใจให้พี่น้องเกษตรกร

ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อยนั้น เป็นการของอีกส่วนงาน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งเมื่อ 14 พฤศจิกายน ได้มีการประชุมนัดแรก และเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไปแล้ว

‘รถไฟฟ้าสีชมพู’ ได้ฤกษ์เปิดให้นั่งฟรี 30 สถานี 21 พ.ย.นี้ ส่วนค่าโดยสารจะเริ่มเก็บหลังเปิดทดลองใช้บริการ 1 เดือน

(20 พ.ย. 66) เพจ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู แจ้งว่า นับถอยหลังอีก 1 วัน เปิดทดลองให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการครบทั้ง 30 สถานี ตั้งแต่ ศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) - มีนบุรี (PK30) ช่วงทดลองใช้บริการฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย

ข่าวแจ้งว่า ในวันที่  21 พ.ย.นี้ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ครม. จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริง ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร หลังจากนั้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการตลอดสาย 30 สถานี เป็นระยะเวลาราว 1 เดือน

ทั้งนี้ ในช่วงการเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริงในวันที่ 21 พ.ย.66 นี้ จะมีบางทางออก (Exit) ของบางสถานีที่ยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ แต่สามารถเปิดให้บริการประชาชนและมีความปลอดภัย ทั้งนี้ยืนยันว่าจะเสร็จครบ 100% ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ

สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี รวม 30 สถานี ราคาเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท ส่วนผู้สูงอายุ ราคาเริ่มต้น 8 บาท สูงสุด 23 บาท โดยช่วงทดลองใช้บริการฟรีไปจนถึง 18 ธ.ค.66 จากนั้นจึงจะเริ่มเก็บค่าโดยสาร

สำหรับ 30 สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เปิดให้บริการประกอบด้วย

1. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีต้นทางตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 
2. สถานีแคราย ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ บริเวณด้านหน้าสถาบันทรวงอก
3. สถานีสนามบินน้ำ ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ใกล้กับสามแยกสนามบินน้ำ
4. สถานีสามัคคี ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้ทางแยกเข้าถนนสามัคคี ระหว่างคลองบางตลาดกับถนนสามัคคี
5. สถานีกรมชลประทาน ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับโรงเรียนชลประทานวิทยา
6. สถานีแยกปากเกร็ด ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมทางแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ
7. สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์และโฮมโปร ก่อนถึงทางแยกเลี่ยงเมืองปากเกร็ด
8. สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28
9. สถานีศรีรัช ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 35 ก่อนถึงทางด่วนศรีรัช ใกล้กับหมู่บ้านเมืองทองธานี
10. สถานีเมืองทองธานี ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าสำนักงานซ่อมบำรุงกรมทางหลวงและห้างแม็คโครซุปเปอร์สโตร์ สาขาแจ้งวัฒนะ
11. สถานีแจ้งวัฒนะ 14 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างบิ๊กซีแจ้งวัฒนะและซอยแจ้งวัฒนะ 14
12. สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมการกงศุล ใกล้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
13. สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และซอยแจ้งวัฒนะ 7
14. สถานีหลักสี่ ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดถนนแจ้งวัฒนะและถนนวิภาวดีรังสิต
15. สถานีราชภัฏพระนคร สถานีสุดท้ายบนถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
16. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 
17. สถานีรามอินทรา 3 สถานีแรกบนถนนรามอินทราตั้งอยู่บริเวณหน้าโครงการลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก
18. สถานีลาดปลาเค้า ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราระหว่างซอยรามอินทรา 21 และซอยรามอินทรา 23 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า
19. สถานีรามอินทรา กม.4  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ระหว่างซอยรามอินทรา 33 และซอยรามอินทรา 37
20. สถานีมัยลาภ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราหน้าปากซอยรามอินทรา 41 ใกล้กับสามแยกมัยลาภ
21. สถานีวัชรพล  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช บริเวณซอยรามอินทรา 59 และซอยรามอินทรา 61
22. สถานีรามอินทรา กม.6 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 40 และซอยรามอินทรา 42
23. สถานีคู้บอน  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 69 และซอยรามอินทรา 46
24. สถานีรามอินทรา กม.9 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้กับโรงพยาบาลสินแพทย์ ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 54 และซอยรามอินทรา 56
25. สถานีวงแหวนรามอินทรา  ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade
26. สถานีนพรัตน์ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้ซอยรามอินทรา 103/1 และโรงพยาบาลนพรัตน์
27. สถานีบางชัน  ตั้งอยู่บนถนนบริเวณซอยรามอินทรา 113 และซอยรามอินทรา 115
28. สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ระหว่างซอยรามอินทรา 121 และ ซอยรามอินทรา 123
29. สถานีตลาดมีนบุรี สถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2
30. สถานีมีนบุรี ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพูฯ ใกล้กับถนนรามคำแหง เป็นสถานีปลายทางของโครงการ 

‘พิมพ์ภัทรา’ จ่อชง ครม. เคาะราคาชดเชยตัดอ้อยสด 120 บาท/ตัน พร้อมหาแนวทางช่วยเกษตรกร แก้ปัญหาตัดอ้อยสดในฤดูกาลต่อไป

(20 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่ตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 37 แห่ง เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอรับทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2565/2566 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอบรรจุวาระการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ในส่วนของการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ร้องขอให้เร่งการประกาศราคาเพื่อให้โรงงานเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็ว โดยคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 และอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในลำดับต่อไป 

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ได้กำหนดการประชุมครั้งต่อไป โดยมีวาระพิจารณาเพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 
ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อการหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน ให้การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่กระทบกับต้นทุนราคาอ้อย ทั้งยังจะช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงท้ายของการหารือผู้แทนชาวไร่อ้อยได้กล่าวขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนและรับฟังปัญหาของชาวไร่อ้อย พร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างสองฝ่ายเพื่อให้สามารถบรรลุความต้องการ

กรณีดังกล่าวเกิดจากการที่นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศประมาณ 200 คน เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ตามมติ ครม. ที่จะจัดสรรงบประมาณเพิ่ม ค่าตัดอ้อยให้ตันละ 120 บาทต่อเนื่อง แต่ฤดูหีบปี 2565/66 ที่ผ่านมา ยังคงไม่ได้รับการพิจารณา 

นายนราธิป ระบุว่า ฤดูหีบปี 2566/67 ในเดือน ธ.ค.นี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เพราะหากมีการเปิดหีบอ้อยแล้วยังไม่ชัดเจน เกรงว่าปัญหาอ้อยไฟไหม้ก็อาจจะไม่ได้ลดลง เพราะต้องยอมรับว่าการตัดอ้อยสดเพื่อส่งเข้าโรงงานยังมีต้นทุนสูง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top