Saturday, 9 December 2023
ECONBIZ NEWS

‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘ประเพณีสงกรานต์ไทย’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

(6 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก จัดการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

โดยมีวาระการพิจารณา ‘ประเพณีสงกรานต์ประเทศไทย’ ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

โดยรัฐบาลมอบหมายให้ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม

‘พีระพันธุ์’ หารือแนวทางกดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท/หน่วย ย้ำ!! เร่งทำงานเต็มที่ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย

(6 ธ.ค. 66) รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า กรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดแรกของปี คือ มกราคม-เมษายน 2567 ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟทุกประเภทอยู่ที่เฉลี่ย 4.68 บาทต่อหน่วย เป็นไปตามกระบวนการทางกฏหมายที่จะต้องเปิดรับฟังความเห็นก่อนจะมีมติ แต่ยังไม่ถือเป็นการสิ้นสุด

โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีอำนาจบริหารจัดการเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพประชาชนและดูแลเศรษฐกิจโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางที่จะไม่ให้ค่าไฟขึ้นไปถึงระดับ 4.68 บาทต่อหน่วยแน่นอน หากเป็นไปได้จะพยายามตรึงราคา 3.99 บาทต่อหน่วย หรือหากที่สุดต้องปรับขึ้นจะไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย

“ขณะนี้คณะทำงานกำลังเร่งหาแนวทางลดค่าไฟฟ้าจากหลายเครื่องมือ อาทิ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ ‘กฟผ.’ แบกรับภาระหนี้บางส่วนออกไป ให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รับภาระส่วนของต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงอาจหาเงินงบประมาณมาสนับสนุน ซึ่งนายพีระพันธุ์จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องใช้เวลาช่วงเดือนธันวาคมนี้ในการเร่งทำงาน มั่นใจว่าจะเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนในช่วงปีใหม่นี้แน่นอน” รายงานข่าวระบุ

‘รมว.ปุ้ย’ เดินหน้าปักธง ‘นครศรีฯ’ ดันสู่โกโก้ฮับภาคใต้ หนุนชูเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก คาด สร้างมูลค่า 4,000 ลบ.

‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ทั่วประเทศสู่การเป็นโกโก้ฮับเมืองไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ดันพื้นที่ภาคใต้ชูจังหวัดนครศรีธรรมราช สู่โกโก้ฮับ ‘นครศรีฯ เมืองโกโก้’ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ ผลักดันสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายรัฐบาล ในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ทั่วประเทศสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ โดยจะนำร่องการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สู่ ‘โกโก้ฮับ’ (THAI COCOA HUB) ภายใต้ชื่อ ‘นครศรีฯ เมืองโกโก้’ เพื่อเป็นศูนย์กลางรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโกโก้ในไทย อีกทั้งเป็นแหล่งความรู้และลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีศักยภาพขีดความสามารถในการส่งออกสู่ตลาดโลกได้ในอนาคต

“กระทรวงฯ ได้จัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม (Focus group) กับผู้ประกอบการ รวมถึงศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมอย่างมีระบบ เป็นคลัสเตอร์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านการสร้างเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นถิ่น (Single Origin) ช่วยสร้างจุดเด่นและมูลค่าเพิ่มของโกโก้ให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมตลาดทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนให้มีการจัดโรดโชว์ในต่างประเทศ เพื่อให้โกโก้ไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมโกโก้ให้เป็นหนึ่งในพืชแห่งอนาคต (Future Crop) และยกระดับสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียนในอนาคต คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

ทั้งนี้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พืช ‘โกโก้’ ถูกจับตามองว่าเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจใหม่และได้รับกระแสความนิยมเพิ่มมากขึ้น สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมียม รวมถึงเทรนด์รักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม (Super Food) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกโกโก้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับโอกาสในอนาคต โดยจากข้อมูลปี 2565 ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งจากโกโก้ไปตลาดโลกมีมูลค่ากว่า 69.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 64.32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมี ญี่ปุ่น อาเซียน และเกาหลีใต้เป็นตลาดหลักส่งออกที่สำคัญ

สำหรับประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านพื้นที่สามารถปลูกโกโก้ได้ทุกภาค โดยที่น่าจับตามอง คือ ภาคตะวันออกในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ที่มีพื้นที่การปลูกโกโก้และเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะมุ่งเน้นการตั้งโรงงานแปรรูปโกโก้ขนาดเล็กเพื่อสนับสนุนให้มีการปลูกโกโก้ให้มากขึ้น รวมถึงภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกโกโก้มากกว่า 1,600 ไร่ เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกโกโก้ทั้งสิ้นกว่า 3,000 ครัวเรือน ถือว่าได้เป็นแหล่งผลิตโกโก้คุณภาพดีของไทย การันตีด้วยรางวัลระดับโลก อย่างแบรนด์ ‘ภราดัย’ คว้ารางวัลพิเศษระดับทองสำหรับช็อกโกแลตบาร์ 75 เปอร์เซ็นต์ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเภท ‘Bean to Bar’ หรือ ‘ช็อกโกแลตที่ผู้ผลิตมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว’

คนใช้รถเฮ!! ‘ปตท.-บางจาก’ ปรับลดราคา ‘เบนซิน-แก๊สโซฮอล์’ ลงอีก 40 สตางค์/ลิตร

(5 ธ.ค. 66) ปั๊มน้ำมันแจ้งปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ลด 40 สตางค์ กลุ่มดีเซลคงเดิม 

ด้าน PTT Station ปรับราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ลดลง 0.40 บาท/ลิตร สำหรับกลุ่มดีเซลคงเดิม มีผล 5 ธ.ค. 2566 เวลา 05.00 น.เป็นต้นไป โดยราคาขายปลีกจะเป็นดังนี้…

- ULG = 43.54 บาท
- GSH95 = 35.65 บาท
- E20 = 33.54 บาท
- GSH91 = 33.88 บาท
- E85 = 33.69 บาท
- พรีเมี่ยม GSH95 = 43.44 บาท
- HSD-B7 = 29.94 บาท
- HSD-B10 = 29.94 บาท
- HSD-B20 = 29.94 บาท
- พรีเมี่ยมดีเซล B7 = 41.54 บาท

***ทั้งนี้ราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร***

ด้าน บางจากฯปรับราคาน้ำมันเฉพาะกลุ่มแก๊สโซฮอล์ลดลง 0.40 บาท/ลิตร สำหรับกลุ่มดีเซลคงเดิม…

- GSH95S EVO 36.05 บาท
- GSH91S EVO 34.28 บาท
- GSH E20S EVO 33.94 บาท
- GSH E85S EVO 34.09 บาท
- Hi Premium 97 (GSH95++) 47.74 บาท
- Hi Diesel B20S 29.94 บาท
- Hi Diesel S 29.94 บาท
- Hi Diesel S B7 29.94 บาท
- Hi Premium Diesel S B7 43.64 บาท

(ราคาดังกล่าวยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องที่ กทม.)

'แบงก์ชาติ' เปิดให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดน 'ไทย-ฮ่องกง' ผ่าน QR เอื้อประโยชน์ผู้ที่เดินทางระหว่าง 2 ประเทศกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี

(4 ธ.ค.66) ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดตัวการให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ระหว่างฮ่องกงและประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและประเทศไทยได้รับบริการชำระเงินที่รวดเร็ว ปลอดภัย และเข้าถึงได้ง่าย

บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและประเทศไทยสามารถทำรายการชำระเงินกับร้านค้าได้โดยง่าย โดยผู้ใช้บริการที่มาจากฮ่องกงสามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR มาตรฐานของไทย (Thai QR code) และผู้ใช้บริการที่มาจากไทยสามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR ของฮ่องกง (Hong Kong FPS QR code) ที่ร้านค้าได้แสดงไว้ ทำให้ผู้ใช้บริการมีช่องทางชำระเงินที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ร้านค้าจะได้รับเงินค่าสินค้าในทันที ทั้งยังเป็นการสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของฮ่องกงและประเทศไทยด้วย

นาย Eddie Yue ผู้ว่าการธนาคารกลางฮ่องกง กล่าวว่า ธนาคารกลางฮ่องกงมีความยินดีอย่างยิ่งต่อความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาช่องทางการชำระเงินข้ามพรมแดนรายย่อย ที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ โดยการเปิดตัวบริการในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของระบบ Fast Payment System ในการขยายบริการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ความร่วมมือกับฮ่องกงในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย และสะท้อนความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค ให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและไทยจำนวนประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี และต่อร้านค้าที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม

โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งการผลักดันจากธนาคารกลาง คือ HKMA และ ธปท. ผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน ได้แก่ Hong Kong Interbank Clearing Limited (HKICL) และ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (NITMX) ผู้ให้บริการชำระดุลระหว่างประเทศ ได้แก่ HSBC Hong Kong และธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งผู้ให้บริการชำระเงินหลายรายที่เข้าร่วมให้บริการแอปพลิเคชัน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง และ Non-bank 2 แห่งของฮ่องกง และธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งของไทย และอีกหลายแห่งของทั้งสองฝ่ายที่ร่วมให้บริการ QR แก่ร้านค้า โดยมีรายชื่อตามเอกสารแนบ

ธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งเชื่อว่าการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนครั้งนี้ ให้ทางเลือกการชำระเงินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงินในภูมิภาคมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

‘รมว.ปุ้ย’ โปรยข่าวดีรับปีใหม่ ครม. อัดฉีดงบ 8 พันล้าน ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย 140,000 ราย ตัดอ้อยสดคุณภาพดี รับเงินเพิ่มตันละ 120 บาท

(4 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดหนองบัวลำภู กรณีกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอวาระพิจารณาเรื่องโครงการเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุม ครม.สัญจรวันนี้ โดยในการประชุมพิจารณาที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ คือเกษตรกรพี่น้องชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดคือการเก็บตัดอ้อยสดมีคุณภาพ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยชุดนี้จะมีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมประมาณ 140,000 ราย ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และเป็นผลสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ตัวแทนสมาพันธ์ สมาคมชาวไร่อ้อยที่ได้ประสานงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนเห็นตรงกันคือเกษตรกรต้องควบคุมคุณภาพการตัดอ้อยสดมีคุณภาพดีไม่มีการเผาที่ก่อให้เกิด PM2.5 ต้นตอของปัญหาทางอากาศที่เกิดขึ้นในแทบทุกปี เมื่อเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดจะมีการช่วยเหลือวงเงินสนับสนุนตันละ 120 บาท วงเงินส่วนนี้จะกระจายไปยังเกษตรกรชาวไร่อ้อย ราว 8 พันล้านบาท และยังส่งผลต่อการสร้างสมดุลทางกลไกราคาน้ำตาลทราย ปริมาณน้ำตาลในตลาดภายในประเทศ และตลาดส่งออก ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น

“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกพื้นที่ ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทุกท่าน ที่ได้กรุณาร่วมกันพิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอ การสนับสนุนในกรอบที่ได้มีมติจะทำให้ชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถบรรเทาภาระความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในขั้นตอนการควบคุมคุณภาพให้มีการตัดอ้อยสดคุณภาพดี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ถือเป็นข่าวดีของเกษตรกรชาวไร่อ้อยรับปีใหม่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว 

'พีระพันธุ์’ เชียร์นำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว  จี้!! กฟผ. แจงเหตุผลที่จำเป็นแก่ประชาชน

เมื่อวานนี้ (3 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ บ้านหนองแก ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ว่าโครงการนี้เป็นโครงการระบบส่งที่รับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP พลังน้ำจากเขื่อนน้ำงึม 2 เขื่อนน้ำเงี้ยบ 1 และเขื่อนน้ำเทิน 1 จาก สปป.ลาว มีกำลังการผลิตรวม 1,516 เมกะวัตต์ ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2559 ด้วยมูลค่าก่อสร้าง 859 ล้านบาท ซึ่งการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานสะอาดและสามารถลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาผันผวนในระดับสูงอยู่ในปัจจุบันได้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีการใช้ปริมาณไฟฟ้าสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยสถานีไฟฟ้าแรงสูง 3 จังหวัดอุดรธานี ที่ได้เยี่ยมชมในวันนี้นับว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาในปัจจุบัน เพราะต้นทุนไฟฟ้าพลังงานจาก สปป.ลาว มีราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าในปัจจุบันที่มีราคาผันผวนในระดับที่สูง แต่กระทรวงพลังงานก็พยายามบริหารจัดการทั้งโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าและโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้เกิดความเป็นธรรม ไปพร้อมกับการจัดหาแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำ สร้างความมั่นคงเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม เหมาะสม และยั่งยืน

“ผมได้แสดงความห่วงใยถึงภาระหนี้ที่ กฟผ. แบกรับอยู่ ณ ปัจจุบัน พร้อมจะช่วยแก้ปัญหา รวมทั้งขอให้ กฟผ.ชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนรับทราบถึงความจำเป็นในการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและมีต้นทุนที่ต่ำ” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้เดินทางไปยังโรงไฟฟ้าของบริษัท เรืองสิริวรรณ จำกัด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี โรงไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 0.90 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2561 โรงไฟฟ้าดังกล่าวถูกร้องเรียนจากประชาชนถึงมลภาวะทางกลิ่นและฝุ่น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เขต 4 ร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดอุดรธานี สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 9 (อุดรธานี) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้เข้าร่วมตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและได้สั่งให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ได้มาตรฐานและไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนรอบโรงไฟฟ้า

“การเลือกดูงานที่โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของบริษัท เรืองสิริวรรณ จำกัด เพราะได้รับรายงานว่าสร้างมลภาวะทางกลิ่นและฝุ่น ส่งผลกระทบกับประชาชนรอบโรงไฟฟ้า จากการรับฟังผู้ประกอบการได้รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหา คาดการณ์ได้ว่าแก้ไขได้โดยเร็ว แต่ผมได้กำชับทั้งผู้ประกอบการและส่วนราชการในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่นี้รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ด้วย โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพนี้ แม้จะเป็นโครงการที่ดี สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนให้โรงไฟฟ้า และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ แต่โรงไฟฟ้าก็ต้องมีมาตรฐาน ไม่สร้างมลภาวะให้กับประชาชนรอบโรงไฟฟ้าด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘ADB-JICA-EXIM’ ไฟเขียว!! ปล่อยกู้ EA 3.9 พันล้านบาท เดินหน้าโครงการรถโดยสารไฟฟ้า ยกระดับขนส่งไร้มลพิษ

EA ลงนามสินเชื่อเงินกู้มูลค่า 3.9 พันล้านบาท กับ ADB JICA และ EXIM Thailand เดินหน้าโครงการรถโดยสารไฟฟ้า (EV Bus) ยกระดับการขนส่งไร้มลพิษอย่างยั่งยืน

(4 ธ.ค.66) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำในธุรกิจพลังงานสะอาด ได้ร่วมลงนามสินเชื่อเงินกู้ มูลค่า 3.9 พันล้านบาท (เทียบเท่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) กับ 3 สถาบันการเงิน นำโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Thailand) เพื่อลงทุนเช่าซื้อรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ (EV Bus) จำนวนไม่เกิน 1,200 คัน ซึ่งรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะเหล่านี้ จะเข้ามาแทนที่รถโดยสารเครื่องยนต์สันดาป และช่วยเสริมบริการขนส่งสาธารณะของบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด และบริษัทในเครือ ครอบคลุม 123 เส้นทาง ภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รองรับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่สะอาดในประเทศไทย

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า “การร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนสินเชื่อ มูลค่า 3.9 พันล้านบาท (เทียบเท่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อนำเงินไปบริหารจัดการธุรกิจเช่าซื้อรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ (EV Bus) โดยระยะแรกเป็นการให้เช่าซื้อแก่ผู้ประกอบการที่ให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยกระดับการเดินทาง ลดปัญหามลพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้จากผลตอบแทนจากการเดินรถนำไปสู่การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสารไฟฟ้าเป็นโครงการแรกของเอเชีย”

“EA มุ่งเน้นในการขยายสู่ธุรกิจใหม่เพื่อต่อยอดการดำเนินงานธุรกิจปัจจุบันของกลุ่มบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Thailand) ในครั้งนี้ เพื่อผลักดันนโยบายของบริษัทฯ ที่มุ่งสู่การเป็นบริษัทผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดของประเทศ ในการดำเนินธุรกิจที่มีความครอบคลุมทุกการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า สร้างนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EA’s EV Ecosystem) อย่างครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสร้างโอกาสการลงทุนร่วมกัน จะเป็นพลังสำคัญทำให้ EA เติบโตไปพร้อมกับการสร้างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สู่สังคมไร้มลพิษอย่างยั่งยืน” นายอมรกล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ให้ความเชื่อมั่นชาวไร่อ้อย “ทุกปัญหามีทางออก” แย้มข่าวดี!! เสนอ ครม.อนุมัติเงินหนุนตัดอ้อยสดคุณภาพดี

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ให้คำมั่นต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ทุกปัญหามีทางออก” และพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ สั่งการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หาแนวทางดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แย้มข่าวดีหากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติเห็นชอบเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 คาดว่าชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในช่วงที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้นได้  

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวไร่อ้อยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ราคาอ้อยและน้ำตาลทรายในปัจจุบัน ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 21-22 บาท จากเดิมที่กิโลกรัมละ 19-20 บาท  

โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จะใช้เป็นองค์ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/67 ได้มีการผลักดันให้มีราคาที่ 1,400 บาท/ตันอ้อย เนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อยของชาวไร่สูงขึ้นและความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งการขึ้นราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้ ส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อยโดยช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคบ้าง แต่จะทำให้น้ำตาลในประเทศมีปริมาณที่เพียงพอและมีเสถียรภาพมากขึ้นตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศอย่างไร พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือดูแลปัญหาอย่างใกล้ชิด 

“ดิฉัน เชื่อว่าทุกปัญหาจะมีทางออกหากพวกเราร่วมมือกัน โดยกระทรวงฯ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในอนาคตที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพอากาศและภาวะเศรษฐกิจโลก ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายได้ เรื่องนี้เราก็จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน” นางสาวพิมพ์ภัทราฯ กล่าว 

จากนั้น คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เยี่ยมชมนิทรรศการพันธุ์อ้อย ชมการสาธิตการใช้โดรนในการใส่ปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ชมการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร การวิเคราะห์ดิน และการผสมปุ๋ย พร้อมมอบรางวัลให้กับชาวไร่อ้อยดีเด่น และมอบเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่ยืมไว้ใช้ในการดำเนินงาน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวปิดท้ายด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (4 ธ.ค.66) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้น 

ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าว ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท โดยที่คาดว่าจะมีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งรัด!! โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี พร้อมกำชับ ‘กพร.’ กำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดีอยู่คู่ชุมชน

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ เร่งรัดโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่ สั่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดี อยู่คู่ชุมชน ขณะที่บริษัทฯ ผู้รับประทานบัตร เข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่ทำเหมืองแล้ว โดยตั้งเป้าเร่งผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี 

(3 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าตรวจเยี่ยมและ รับฟังการบรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี จากบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งเป็นผู้ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ว่า เบื้องต้นบริษัทฯ ได้รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการฯ (Project Finance) ซึ่งหากสถาบันการเงินให้การอนุมัติทางบริษัทฯ ก็จะเร่งรัดการผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี

“ส่วนกรณีการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่กังวลต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและเศรษฐกิจ ในพื้นที่ เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางดิน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่นั้น ได้สั่งกำชับให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับบริษัทฯ ชี้แจงและจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีร่วมกำกับดูแลการทำเหมืองของบริษัทฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว 

ทั้งนี้ กพร. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครงการฯ ได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้หลายประการ เช่น การติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่นในบริเวณก่อสร้างอุโมงค์และเครื่องจักร การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณพื้นที่เฝ้าระวัง การติดตามตรวจวัดเสียงไม่ให้เกินค่ามาตรฐานและติดตั้งแผ่นป้องกันเสียงในบริเวณที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบ การรังวัดการทรุดตัวของพื้นที่ทำเหมืองด้วยกล้องสมัยใหม่และโดรน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั่วไป การใช้เทคโนโลยีวัดผลกระทบในการก่อสร้างอุโมงค์ และการใช้เทคโนโลยีการป้องกันผลกระทบจากน้ำไหลเข้าอุโมงค์ เป็นต้น 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน สรุปได้คือ ในส่วนของภาครัฐจะได้ค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ 7 คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 อัตรา ขณะที่ชาวบ้านรอบพื้นที่โครงการฯ ก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการและกองทุนต่างๆ อีก 6 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเยาวชน กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนช่วยเหลือค่าปุ๋ยเกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตร รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรยังได้รับเงินค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ในอัตราไร่ละ 45,500 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยจ่าย 24 งวดตลอดอายุประทานบัตร 

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะจัดสรรจำหน่ายปุ๋ยสูตร 0-0-60 ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และเข้าร่วมโครงการมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) รวมทั้งประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองสามารถร่วมตรวจสอบการทำเหมืองได้ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ดำเนินการประมาณ 26,000 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่าปริมาณสำรองแร่โพแทชในพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดรวม 267 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำแร่ขึ้นมาผลิตเป๊นปุ๋ยโพแทชได้ประมาณ 34 ล้านตัน ทั้งนี้แร่โพแทชเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตหลักในภาคเกษตรกรรม 

“โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานีจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงฯ จะกำกับดูแลโครงการฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top