Wednesday, 27 September 2023
ECONBIZ NEWS

‘มูราตะ’ ทุ่ม 2,900 ล้าน ขยายโรงงานในนิคมอุตฯ ลำพูน เดินหน้าผลิตชิ้นส่วน MLCC ป้อนตลาดโลก

‘มูราตะ’ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ปักหมุดนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ลำพูน ทุ่ม 2,900 ล้านบาท ขยายโรงงานแห่งใหม่ เพิ่มศักยภาพการผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น - MLCC ป้อนตลาดโลก

ปัจจุบันความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ขณะเดียวกันการเติบโตของสมาร์ตโฟน และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นปัจจัยเร่งทำให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ล่าสุด บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นฐานการผลิตในเครือของบริษัท มูราตะ แมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนแห่งใหม่เพิ่มเติม พื้นที่อาคารรวม 35,088 ตรม. ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ จังหวัดลำพูน

นายฮิโรคะซุ ซาซาฮาร่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการขยายโรงงานแห่งใหม่ว่า อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันมีความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น (Multilayer Ceramic Capacitors - MLCC) เพื่อนำไปประกอบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเติบโตพร้อมกับตลาดสมาร์ตโฟน ซึ่งหากเป็นระดับไฮเอ็นด์สามารถติดตั้งคาปาซิเตอร์ชนิดนี้ได้มากถึง 1,000-1,200 ตัว ทำให้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์ MLCC มีอัตราการเติบโตถึง 3 เท่า

และแน่นอนว่าชิ้นส่วน MLCC ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงของมูราตะ และครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสูงถึง 40% โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ จะเน้นผลิต MLCC เป็นหลัก เพื่อป้อนสินค้าไปยังผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก 

นายฮิโรคะซุ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงงานแห่งใหม่นี้ได้ใช้งบประมาณในการลงทุนเฉพาะตัวอาคารอยู่ที่ 2,900 ล้านบาท ซึ่งภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า หากเดินกำลังการผลิตได้เต็มระบบ จะสามารถผลิต MLCC ได้ราว 30,000 ล้านชิ้นต่อเดือน และจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,000 อัตรา จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 600 อัตรา

ด้านนายโนริโอะ นากาจิมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท มูราตะ แมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด จากญี่ปุ่น กล่าวว่า ปัจจุบัน มูราตะ เป็นเป็นผู้นำระดับโลกในการออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายโซลูชั่นและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานเซรามิกแบบพาสซีฟ โมดูลการสื่อสารและโมดูลจ่ายไฟ โดยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 บริษัทนวัตกรรมชั้นนำของโลกติดต่อกัน 2 ปีซ้อน จาก Clarivate (Thomson Reuters เดิม) 

ทั้งนี้ มูราตะ ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกสูงถึง 40 % มาจากกลยุทธ์การรักษาผู้นำตลาดด้วยระบบการทำงานแบบบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การออกแบบ การพัฒนาเครื่องจักรการผลิต วัสดุ และกระบวนการทำงาน รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ภายในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสูง ขณะเดียวกัน มูราตะ ยังได้จัดสรรงบวิจัยและพัฒนา (R&D) อีกราว 7% ของยอดขาย ซึ่งในปีที่ผ่านมา บริษัทฯมียอดขายสูงถึง 1,686,796 ล้านเยน หรือราว 4.2 แสนล้านบาท 

ขณะที่ การขยายโรงงานเพิ่มขึ้นในประเทศต่าง ๆ จะช่วยขยายศักยภาพการผลิตและทำให้ มูราตะ เป็นผู้นำตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะโรงงานในประเทศไทยแห่งใหม่แล้วเสร็จสมบูรณ์จะเสริมให้มูราตะ มีฐานการผลิตคาปาซิเตอร์ในต่างประเทศเพิ่มเป็น 4 แห่ง (นครอู๋ซี เซินเจิ้น ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย) และอีกสองแห่งในประเทศญี่ปุ่น (นครฟูกูอิ และนครอิซูโมะ) รองรับการขยายกำลังการผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้นเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10% เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวในวงการอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี

อนึ่ง สำหรับ มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ที่จังหวัดลำพูน ตั้งแต่ปี 2531 ทุนจดทะเบียน 6,093,731,000 บาท มีจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 6,167(เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566) 

โอกาส ‘ไทย’ หลังขึ้นแท่น ‘คลัสเตอร์ PCB’ รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้ ‘ไต้หวัน’ ผู้นำแห่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘BOI News’ ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ในไทย ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการลงทุนตั้งฐานการผลิต ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยระบุว่า…

เมื่อพูดถึงผู้นำใน ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ของโลก 🌏

ประเทศไต้หวัน คือคำตอบอย่างไม่ต้องสงสัย แล้วปัจจัยใดที่ผลักดันให้ไต้หวันผงาดขึ้นเป็นผู้นำในตลาดผู้ผลิตชิปของโลก?

ย้อนไปในปี 2516 รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งสถาบัน ‘Industrial Technology Research Institute’ (ITRI) โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงจากต่างประเทศ ทำให้ ITRI สามารถพัฒนากระบวนการผลิตชิปได้เป็นของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ให้กับไต้หวันได้อย่างมั่นคงในระยะต่อมา

🔹 โดยในปี 2530 มีการก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตชิป ‘Taiwan Semiconductor Manufacturing Company’ หรือ ‘TSMC’ ขึ้น ซึ่งต่อมากลายมาเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบสาธารณูปโภค การสุขาภิบาล ระบบพลังงาน และการคมนาคม ในไต้หวันขึ้นอย่างรวดเร็ว ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนี้ส่งผลให้การผลิตชิปเช็ตของไต้หวันมีคุณภาพสูง จนทำให้ไต้หวันก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกของอุตสาหกรรมผลิตชิป

ในช่วงเวลาดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2530-2543 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของไต้หวัน เนื่องจากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือการผลิตชิปซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างก้าวกระโดด 💻

กลยุทธ์ของผู้ผลิตชิปจากไต้หวันนั้นแตกต่างจากที่อื่น ๆ ตรงที่บริษัทของไต้หวันจะเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง หรือเป็นที่รู้จักในรูปแบบที่เรียกว่า ‘OEM’ เนื่องจากการลงทุนในโรงงานผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้หลาย ๆ บริษัทเลือกทำเพียงขั้นตอนการออกแบบชิปแล้วมอบหมายให้กับ TSMC หรือบริษัทอื่นในไต้หวันทำหน้าที่ผลิตแทน

🔹 ปัจจุบัน ไต้หวันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 65% ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ของโลก โดยมีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation (TSMC) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่

‘เซมิคอนดักเตอร์’ เป็นส่วนสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งความต้องการใช้งานชิปก็ยังเพิ่มขึ้นในอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เน้นการผลิตยานพาหนะที่มีความสามารถด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) และความเป็นอัจฉริยะ (Intelligence) ส่งผลให้ความต้องการชิปขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

ประเทศไทยขึ้นแท่น ‘คลัสเตอร์ PCB’ รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ของไทยมาจากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่พร้อมรองรับการลงทุนได้อีกมาก อีกทั้งบุคลากรยังมีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือการที่ไทยมี Supply Chain ของอุตสาหกรรมนี้อย่างครบวงจร รวมไปถึงการที่ภาครัฐมีมาตรการและนโยบายสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและเติบโตได้ ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากไต้หวัน ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก 

🔹 สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บริษัทจากไต้หวันยังถือเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกอีกด้วย โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 35% 

โดยปัจจุบัน ผู้ผลิต PCB ของไต้หวันรายใหญ่ 20 อันดับแรกของโลก ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วจำนวน 10 ราย ไม่ว่าจะเป็น WUS PCB, APEX, Dynamic Electronics, Gold Circuit, APCB และถ้ารวมกับผู้ผลิต PCB จากประเทศอื่น ๆ อย่างจีนและญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เช่นกันด้วยแล้ว ก็จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นคลัสเตอร์ PCB ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

นี่คือสัญญาณแห่งโอกาสในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ที่ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นฮับของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค แต่ยังเป็นการต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ การผลิตเวเฟอร์ และการออกแบบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงการพัฒนาสู่การเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ยานยนต์, ดิจิทัล, อุปกรณ์การแพทย์, ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ซึ่งจะช่วยยกระดับ Supplier ไทยให้ได้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain อิเล็กทรอนิกส์ของโลกด้วยเช่นกัน

🎗️ บีโอไอพร้อมสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ หรืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางภาษี และสิทธิประโยชน์และบริการด้านอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนาให้สามารถก้าวพร้อมไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลกได้ต่อไป

#บีโอไอส่งเสริมการลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติทุกขนาดการลงทุน
📱 0-2553-8111 
📧 [email protected]
🌐 www.boi.go.th
🔰ไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดต่อ

‘ครม.’ เคาะสั่งลุยมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เริ่ม 1 ตุลาคมนี้

(26 ก.ย.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ โดยมี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการ และพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรและบุคคลตามข้อบังคับ ธ.ก.ส. (ฉบับที่ 44 และ 45) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีต้นเงินเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติ และ/หรือเป็นหนี้คงค้างชำระ จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2566) ระยะเวลา ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 30 กันยายน 2567 (1 ปี)

ส่วนวิธีดำเนินโครงการ เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ต้องการรับสิทธิพักชำระหนี้สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 31 มกราคม 2567 งบประมาณ รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี

นายชัยกล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ

‘ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทย’ ติดส่งออกอันดับที่ 25 ของโลก ‘ไม้-หวาย-ยางพารา’ จุดแข็งด้านวัตถุดิบของประเทศ

(26 ก.ย.66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจที่น่าจับตามอง ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2566 พบว่า หนึ่งในธุรกิจที่มีความโดดเด่น ผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของรายได้และผลกำไร แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในอนาคต รวมทั้ง การเข้ามาของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ

‘ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์’ เป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นแซงหน้าหลายธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งจากภาคการบริการและท่องเที่ยว

โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ความต้องการที่พักอาศัยและบ้านหลังที่ 2 เพื่อรองรับการทำงานแบบ hybrid workplace สำหรับชาวไทยรายได้สูงและชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในไทย

นโยบายภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงธุรกิจที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาคที่มียอดขายเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เช่น จังหวัดชลบุรีและระยองที่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งเข้ามาขยายธุรกิจเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและการจ้างงาน จังหวัดภูเก็ตเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาซื้ออาคารเพื่อลงทุน เป็นต้น โดยภาพรวมหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในปี 2565 ปรับขึ้น 14.3% อยู่ที่ 392,858 หน่วย รวมถึง การสร้างและขยายธุรกิจโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น

>> 3 ปี ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ รายได้พุ่ง

พิจารณาจากผลประกอบการของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า

ปี 2563 ธุรกิจมีรายได้รวม 151,533.16 ล้านบาท ผลกำไร 3,203.34 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 164,844.29 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13,311.13 ล้านบาท หรือ 8.79%) กำไร 2,928.07 ล้านบาท (ลดลง 275.27 ล้านบาท หรือ 8.60%)
ปี 2565 รายได้ 166,576.23 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,731.94 ล้านบาท หรือ 1.05%) กำไร 4,563.82 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,635.75 ล้านบาท หรือ 55.87%)

จะเห็นได้ว่า ภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ในปี 2563 -2565 รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 160,000 ล้านบาท ถึงแม้ว่ารายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นแต่นับว่ามูลค่าตลาดอยู่ในระดับสูง หากพิจารณาผลประกอบการด้านกำไรในปี 2563-2565 มีความผันผวนบ้าง โดยในปี 2564 มีมูลค่าลดลงเล็กน้อย

ภาพรวมการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์อันดับที่ 25 ของโลก โดยไทยมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบในประเทศ เช่น ไม้ หวาย และยางพารา เป็นต้น แรงงานที่มีความประณีตและเชี่ยวชาญ

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยโดยรวมยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 มียอดส่งออกรวม 81,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5%

ตลาดหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และมีการขยายตัวอย่างโดดเด่นในประเทศแถบเอเชียและในกลุ่มอาเซียน เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยหากรวมมูลค่าส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของทั้งโลกแล้ว ประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 0.7% ซึ่งยังมีช่องว่างให้ขยายตลาดส่งออกได้อีกมาก

>> ต่างชาติสนใจธุรกิจ

ในส่วนของการเติบโตในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ พบว่า

ปี 2563 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 399 ราย ทุนจดทะเบียน 1,225.11 ล้านบาท
ปี 2564 จดทะเบียน 382 ราย (ลดลง 17 ราย หรือ 4.26%) ทุน 1,052.56 ล้านบาท (ลดลง 172.55 ล้านบาท หรือ 14.09%)
ปี 2565 จดทะเบียน 368 ราย (ลดลง 14 ราย หรือ 3.67%) ทุน 1,362.47 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 309.91 ล้านบาท หรือ 29.45%)

ทั้งนี้ สำหรับปี 2566 (มกราคม – สิงหาคม) มีการจดทะเบียน 315 ราย (เพิ่มขึ้น 42 ราย หรือร้อยละ 15.39% เมื่อเทียบกับปี 2565 (มกราคม – สิงหาคม) ที่มีการจดทะเบียน 273 ราย) ทุน 759.42 ล้านบาท (ลดลง 319.60 ล้านบาท หรือ 29.62% เมื่อเทียบกับปี 2565 (มกราคม – สิงหาคม) ที่มีทุน 1,079.02 ล้านบาท)

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มีมูลค่าการลงทุน 48,017.18 ล้านบาท คิดเป็น 98.00% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 5,606.99 ล้านบาท (0.89%) รองลงมา คือ สิงคโปร์ มูลค่า 2,238.51 ล้านบาท (0.32%) ญี่ปุ่น มูลค่า 479.56 ล้านบาท (0.31%) และอื่นๆ มูลค่า 4,628.19 ล้านบาท (0.48%)

ปัจจุบัน ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีจำนวน 6,292 ราย คิดเป็น 0.71% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 60,970.43 ล้านบาท คิดเป็น 0.28% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย

ธุรกิจตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,377 ราย (37.77%) รองลงมา คือ ภาคกลาง 1,971 ราย (31.32%) ภาคเหนือ 532 ราย (8.46%) ภาคตะวันออก 478 ราย (7.60%) ภาคใต้ 415 ราย (6.60%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 381 ราย (6.06%) และ ภาคตะวันตก 138 ราย (2.19%)

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ควรมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและแนวโน้มความต้องการเฟอร์นิเจอร์รูปแบบต่างๆ ของตลาดโลก โดยเฉพาะปัจจุบันที่พฤติกรรมผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างๆ หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทำให้เกิดกระแส ‘เฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก หรือ Green Furniture’ และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ สำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ถือเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจในการปรับตัวและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ ทั้งนี้ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของไทยมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องระยะยาว” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย 

‘สทร.’ กางแผนลงทุนระบบราง 10 ปี ทุ่ม 1.8 ล้านล้านบาท ระดมสร้าง 4,746 กม. ดันไทยมีเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ

(26 ก.ย. 66) เปิดแผนลงทุนระบบรางของไทย ช่วง 10 ปี สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) แจ้งข้อมูลมีเงินลงทุนอย่างน้อย 1.8 ล้านล้าน ดันประเทศไทยมีเส้นทางรถไฟทั่วประเทศอีก 4,746 กม. เช็ครายละเอียดแผนทั้งหมดที่นี่

‘การพัฒนาระบบราง’ ของประเทศไทย กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการลงทุนด้านการพัฒนาระบบราง โดยผลักดันโครงการต่าง ๆ ครอบคลุมทั้ง รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่ และระบบรถไฟความเร็วสูง

พร้อมตั้งเป้าหมายในระยะเวลาอีก 10 ปี โดยเริ่มต้นนับตั้งแต่ปี 2566 กระทรวงคมนาคม ได้จัดทำยุทธศาสตร์การใช้ระบบรางผลักดันการพัฒนาประเทศ โดยประเมินว่า จะมีการลงทุนในระบบรางเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 1.8 ล้านล้านบาท

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กระทรวงคมนาคม มีแนวทางที่จะใช้ระบบรางเป็นเครื่องมือในการร่วมพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กับกระแสโลกที่แข่งขันกันพัฒนาระบบราง เพราะเมื่อเทียบกับการคมนาคมในแบบต่าง ๆ แล้ว ระบบรางขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า ขนสินค้าได้มากกว่า ต้นทุนน้อยกว่าและผลิตคาร์บอนต่ำกว่า และช่วยตอบความต้องการของประเทศและประชาชนได้เป็นอย่างดี

สำหรับการพัฒนาระบบรางในอนาคต แยกเป็นระบบต่าง ๆ นั่นคือ

‘ระบบรางในเมือง’ ซึ่งปัจจุบันให้บริการรวมระยะทาง 241 กิโลเมตร แต่เมื่อถึงปี 2572 จะมีการบริการ 554 กิโลเมตร เป็นรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินรวม 17 สาย เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี

‘ระบบรถไฟทางคู่’ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งทางรางไปทั่วประเทศ โดยในปัจจุบันดำเนินการอยู่รวมระยะทาง 993 กิโลเมตร แต่เมื่อถึงปี 2571 จะมีเพิ่มขึ้นอีก 1,483 กิโลเมตร

‘ระบบรถไฟความเร็วสูง’ ปัจจุบันดำเนินการในระยะทาง 250 กิโลเมตร จากแผนพัฒนาเต็มที่มีระยะทางรวม 2,249 กิโลเมตร และยังมีรถไฟเชื่อมสามสนามบินอีก 220 กิโลเมตรด้วย

แผน 10 ปี ลงทุน 1.8 ล้านล้านบาท มีอะไรบ้าง?
สำหรับแผนการลงทุนในระบบรางอย่างน้อย 1.8 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปี รวมทั้งสิ้น 649 สถานี รวม 39 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 4,746 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย

‘รถไฟในเมือง’ ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 168 สถานี รวม 12 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 212 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 606,991 ล้านบาท

‘รถไฟชานเมือง’ ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 39 สถานี รวม 5 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 92.24 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 124,433 ล้านบาท

รถไฟทางไกล/รถไฟขนส่งสินค้า
ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 416 สถานี รวม 19 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 3,614 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 549,959 ล้านบาท

‘รถไฟความเร็วสูง’ ตามแผนกำหนดแนวทางการพัฒนา จำนวน 26 สถานี รวม 3 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งหมด 828 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 549,231 ล้านบาท

‘เพิ่มงานวิจัยพัฒนาระบบราง’ นายโชติชัย เจริญงาม ประธานสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ระบุว่า ที่ผ่านมา สทร. ได้ร่วมทำงานกับกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทำให้เกิดการช่วยคิดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ที่สามารถต่อยอดจากการลงทุนด้านรางอีกเป็นจำนวนมาก

พร้อมกันนี้ สทร. ยังทำงานโดยการสร้างระบบความร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศ สถาบันการศึกษาในประเทศ และเอกชนในประเทศ โดยในระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาได้รับความสนใจเข้ามาร่วมทั้งจากเยอรมัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เช่น

กรณี Alstom ที่แสดงความสนใจด้านการร่วมพัฒนาชิ้นส่วน มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีรับเป็นแม่งานด้านการกำหนดมาตรฐาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะช่วยดูเรื่องผลกระทบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นแห่งแรกที่เริ่มทำการศึกษาเศรษฐกิจจากระบบราง (Rail economy) สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน

นายโชติชัย ระบุด้วยว่า สทร. ยังร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  หรือ กสทช. ดำเนินงานเรื่องคลื่นความถี่สำหรับระบบรางที่จะช่วยให้การบริการทั้งคมนาคมและสื่อสารมีมาตรฐานเทียบเท่ากับในยุโรป โดยบริษัทเอกชนไทยเริ่มสนใจพัฒนาให้รถไฟเข้าสู่ระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูงของไทย

เช่นเดียวกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ช่วยชักชวนผู้เชี่ยวชาญชาวไทยเข้ามาช่วยคิด ช่วยทดสอบ ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราซื้อระบบจากยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและจีน ก่อนจะผลิตชิ้นส่วน หรืออะไหล่ ต้องมีมาตรฐานอ้างอิงขึ้นมาก่อน ซึ่งบริษัทต่างประเทศหลายแห่งก็ให้การสนับสนุนด้วย

ข่าวดีส่งออก!! สิงหาฯ พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน รับอานิสงส์ 'เกษตร-อุตฯ' หนุน ส่วนนำเข้าลดลง 12.8%

(26 ก.ย. 66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ในเดือนส.ค.66 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,279 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.6% จากตลาดคาด -3.5 ถึง -5.0% ซึ่งถือว่าเป็นการพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน

จากผลของกลุ่มสินค้าเกษตร ที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

ขณะที่การนำเข้าเดือนส.ค.มีมูลค่า 23,919 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.8% ส่งผลให้ในเดือนส.ค.66 ไทยเกินดุลการค้า 360 ล้านดอลลาร์

ส่วนการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่ารวม 187,593 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.5% การนำเข้า มีมูลค่า 195,518 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.7% ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ไทยยังขาดดุลการค้า 7,925 ล้านดอลลาร์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากตามวัฎจักร ประกอบกับในช่วงไตรมาส 4 ปี 65 ฐานต่ำ

"คาดว่าการส่งออก ต.ค.-ธ.ค. น่าจะได้เห็นอะไรดีๆ เพราะมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะ ซึ่งเป็นไปตาม circle...ส่งออกภาพรวมทั้งปี 1- ถึง 0% น่าจะมีโอกาส ปีนี้เราข้อสอบยาก ถ้าเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ทุกคนคะแนนไม่ดี (ส่งออกติดลบ) แต่เรายังสามารถยืนอยู่แถวหน้าได้" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

‘ปตท.’ รับรางวัลสูงสุด ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน สะท้อนองค์กรยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล-สร้างความเท่าเทียม-ยกระดับคุณภาพชีวิต

เมื่อเร็ว ๆ นี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธี มอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 (Human Rights Awards 2023)” จัดโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ระดับดีเด่น ประเภทองค์กรรัฐวิสาหกิจ ให้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) โดยมีนายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน ปตท. เป็นผู้แทนรับมอบรางวัล นับเป็นรางวัลระดับสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สะท้อนการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ที่ยึดมั่นพันธกิจดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี มีธรรมาภิบาล และเคารพซึ่งหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรในระยะยาว และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคมไทยให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

‘Klook’ ประกาศยุติขายบัตรท่องเที่ยวที่ ‘ทารุณสัตว์’ ในไทย จนกว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบดำเนินงาน

(26 ก.ย. 66) Klook แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวระดับโลก ประกาศการตัดสินใจในการยุติการขายบัตรท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการขายโปรแกรมสถานที่ท่องเที่ยวหรือประสบการณ์ที่แสวงประโยชน์จากสัตว์ในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นับเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ Klook ในการกำหนดนโยบายใหม่ด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เลิกขายการแสดงโชว์ที่เกี่ยวข้องกับ ช้าง โลมา และเสือ จนกว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงาน นโยบายนี้จะมีกำหนดบังคับใช้ภายในสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566

นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์ม Klook จะไม่สามารถพบตัวเลือกในการซื้อบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เหล่านี้ในประเทศไทยอีกต่อไป โดยตอบสนองกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม ไม่สนับสนุนการใช้สัตว์เพื่อสร้างความบันเทิงโดยได้ยุติการขายบัตรโชว์การแสดงที่ทำกำไรจากการทรมานสัตว์ อีกกว่า 130 แห่งทั่วโลก

ซูซาน มิลธอร์ป หัวหน้าฝ่ายรณรงค์สัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “เรายินดีกับความก้าวหน้าของ Klook และจัดว่าเป็นก้าวแรกในการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ เราหวังอย่างยิ่งที่จะเห็น Klook มุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หยุดขายแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่แท้จริง เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลเมื่อจองกิจกรรมการท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์ม เราสนับสนุนให้ Klook เดินหน้ายกเลิกกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับช้างต่อไป เช่น การอาบน้ำและการให้อาหารช้าง และจะกลายมาเป็นบริษัทท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่าอย่างแท้จริง”

“การยกเลิกกิจกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากสัตว์ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของนักท่องเที่ยวที่ไปในทิศทางเดียวกัน กับกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในประเทศไทยจากข้อมูลผลสำรวจสวนดุสิตโพลในปี พ.ศ. 2565 พบว่า 76 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าการแสดงโชว์ช้างเป็นการทารุณกรรมสัตว์” หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์สัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวเสริม

การจัดการนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่เอาจริงเอาจังของบริษัทท่องเที่ยวอย่าง Klook และแพลตฟอร์มออนไลน์ท่องเที่ยวอื่นๆ จะช่วยตัดเม็ดเงินที่จะไปสนับสนุนต่อยอดการทำธุรกิจที่ใช้สัตว์ป่าเพื่อสร้างความบันเทิง ซึ่งเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับการนำสัตว์มาฝึกด้วยวิธีการโหดร้ายทารุณเพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่ผิดไปจากธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทท่องเที่ยวจะต้องให้ความรู้ และส่งเสริมให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า ผ่านการเพิ่มตัวเลือกของสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่าแทน

‘การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ’ กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งหมายถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจสถานบริการ บริษัทท่องเที่ยว แพลตฟอร์มออนไลน์และนักท่องเที่ยว จะต้องมีความรับผิดชอบต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของตัวเองความโปร่งใสระหว่างบริษัทฯ และลูกค้าจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น การแสดงจุดยืนในการต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ ผ่านการแสวงหาผลประโยชน์จากสัตว์ป่า ในทางหนึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ มีสถานะทางการตลาดที่มั่นคงและช่วยสร้างแบรนด์ของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ

OR ผนึก ‘สปสช.-คลินิก’ ดูแลคนท้องในปั๊มปตท. เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขผู้ป่วยบัตรทอง

OR ต่อเกมธุรกิจ Health & Wellness จับมือสปสช. - คลินิก เปิดโครงการ ‘โอบอ้อมคลินิก’ คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ในพีทีที สเตชั่น ตอบโจทย์แนวคิดให้บริการด้านสาธารณสุขรูปแบบใหม่ นำบริการพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine)มาใช้ยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานในประเทศ นำร่องแห่งแรกในพื้นที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น สาขาหนองแขม

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เปิดเผยว่า “OR ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยใช้จุดแข็งของเครือข่าย พีทีที สเตชั่น ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศในการยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพ สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ OR ในการขยายขอบเขตกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Health & Wellness

OR - สปสช. - คลินิก (Clicknic) จึงได้ร่วมกันเปิดให้บริการ ‘โอบอ้อมคลินิก’ คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สาขาแรก ณ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น สาขาหนองแขม กรุงเทพมหานคร ที่มุ่งเน้นการให้บริการผู้ป่วยกลุ่มบัตรทองซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในประเทศ ให้สามารถรับบริการสาธารณสุขปฐมภูมิเพื่อรักษาการเจ็บป่วยเบื้องต้น อาการเจ็บป่วยไม่รุนแรงโดยให้บริการในรูปแบบ Omni-channel ผสมผสานรูปแบบ Offline และ Online อย่างครบวงจร โดยได้รับความร่วมมือจาก สปสช. ในการดูแลสิทธิในการเบิกจ่ายและเชื่อมต่อข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และ Clicknic ซึ่งเป็นผู้นำด้านธุรกิจการให้บริการด้านการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พร้อมทีมแพทย์คุณภาพที่พร้อมให้คำปรึกษาและให้บริการผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี”

‘โอบอ้อมคลินิก’ เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 8:00 - 17:00 น. โดยให้บริการทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยบัตรทองโดยพยาบาลวิชาชีพเพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน ให้สามารถรับบริการ การพยาบาลพื้นฐาน และบริการสร้างเสริมสุขภาพ (PP) เช่น บริการทำแผล บริการฝากครรภ์ การตรวจครรภ์ รับยาคุมกำเนิด รับถุงยางอนามัย รวมถึงคัดกรองและประเมินความเสี่ยงสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต และการตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 

โดยหากเกินศักยภาพของพยาบาลวิชาชีพยังสามารถเชื่อมต่อให้บริการพบแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชั่น Clicknic สำหรับรักษาโรค 42 โรคหรืออาการพื้นฐาน เช่น ไข้ไม่ทราบสาเหตุ กล้ามเนื้ออักเสบ ตาแดงจากไวรัส วิงเวียน ท้องร่วง ลมพิษ และคออักเสบ เป็นต้น รวมถึงให้บริการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ

ทั้งนี้ ‘โอบอ้อมคลินิก’ เน้นการให้บริการสาธารณสุขสำหรับบุคคลทั่วไปให้สามารถรับบริการสาธารณสุขปฐมภูมิเพื่อรักษาการเจ็บป่วยเบื้องต้น อาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง การให้บริการการพยาบาล และบริการการสร้างเสริมป้องกันสุขภาพ (PP) โดยหากเกินขอบเขตการให้การรักษาของคลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์จะเชื่อมต่อการให้บริการ Telemedicine ในสถานพยาบาล ร่วมกับการประยุกต์เทคโนโลยีการพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine & Health Care Platform) โดยมี Clicknic เป็นผู้ให้บริการด้านเวชกรรมผ่านระบบ Telemedicine การดำเนินการในสถานพยาบาลและการส่งยา 

เพื่อช่วยยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึงระบบสาธารณสุขให้แก่ชุมชนบุคคลทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ OR ที่มุ่งสร้างคุณค่าและให้ความสำคัญกับการดูแลผู้คน ชุมชน และสังคม อีกทั้งยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ OR คือ ‘Empowering All toward Inclusive Growth’ หรือ ‘เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน’ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเติบโตอย่างเข้มแข็งยั่งยืน

'รมว.พิพัฒน์' กระชับความร่วมมือ ILO ลั่น!! คุ้มครองทุกต่างด้าว ส่วน 'ปัญหาค้ามนุษย์-แรงงานประมงผิด กม.' ไม่นิ่งเฉย

(25 ก.ย.66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นางชิโฮะโกะ อาซาดะ มิยากาวะ (Ms.Chihoko Asada - Miyakawa) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานภายหลังเข้ารับตำแหน่ง และหารือเกี่ยวกับการจัดทำแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทยฉบับใหม่ (Decent Work Country Program : DWCP) ระยะที่ 2 พ.ศ. 2566 - 2570 โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน, นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน, นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานขอขอบคุณ ILO (International Labour Organization: องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ที่มาเยี่ยมและแสดงความยินดีที่ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และขอบคุณการสนับสนุนจาก ILO เป็นอย่างดีผ่านโครงการความร่วมมือภายใต้แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ที่นำนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ในส่วนของแรงงานต่างด้าว ท่านนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานต่างด้าวให้ดีที่สุด 

"วันนี้เรามีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งแรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องและลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย ก็จะต้องทำให้ถูกต้องมากที่สุด ส่วนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมายในประเทศนั้น เราได้บูรณาการความร่วมมือกับหลายกระทรวงอย่างต่อเนื่อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, มหาดไทย, เกษตรและสหกรณ์, การต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานพร้อมสนับสนุนความร่วมมือในการผลักดันกฎหมายแรงงาน เพื่อมุ่งคุ้มครองดูแลแรงงานทุกสัญชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ ILO ต่อไป" รมว.แรงงาน กล่าว

ด้าน นางชิโฮะโกะ อาซาดะ มิยากาวะ (Ms.Chihoko Asada - Miyakawa) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขอขอบคุณและแสดงความยินดีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ได้รับตำแหน่ง พร้อมยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับรัฐบาลและกระทรวงแรงงานในประเด็นการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและแรงงานกลุ่มต่างๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ รวมถึงความร่วมมือในการผลักดันโครงการความร่วมมือภายใต้แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าระหว่างสองหน่วยงานอย่างใกล้ชิดต่อไปอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top