Tuesday, 1 July 2025
ECONBIZ NEWS

เกษตรกรใต้แห่ปลูกทุเรียนแทนต้นยาง-กาแฟ พื้นที่ปลูกพุ่งเฉียด 9 แสนไร่ คาดผลผลิตปี 68 เพิ่ม 14%

(11 มิ.ย. 68) ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.46 หรือประมาณ 606,958 ตัน จากการขยายพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียนที่ปลูกในช่วงปี 2562 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ส่งผลให้พื้นที่ปลูกทุเรียนภาคใต้ทะลุ 870,000 ไร่ หลังเกษตรกรทยอยโค่นกาแฟ ยางพารา และไม้ผลชนิดอื่น เช่น มังคุด เงาะ ลองกอง เพื่อปลูกทุเรียนที่มีราคาดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาทุเรียนในปีนี้อาจไม่สดใสเหมือนปีก่อน จากภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และล้งรับซื้อน้อย ล่าสุดราคาทุเรียนตะวันออกตกลงเหลือเพียง 105-110 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ภาคใต้ยังประสบปัญหาฝนตกกระทบช่วงออกดอก ทำให้บางพื้นที่ผลผลิตหายไปถึงร้อยละ 50-60 โดยเฉพาะทุเรียนทวายที่ชนกับฤดูฝน อาจมีความเสี่ยงไม่สามารถออกผลได้ตามเป้า

ด้านสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 5 จ.สงขลา รายงานว่า ทุเรียนภาคใต้มีเนื้อที่ยืนต้น 870,593 ไร่ และเนื้อที่ให้ผล 622,111 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.88 และ 7.54 ตามลำดับ โดยผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ปีนี้อยู่ที่ 976 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.43 จากสภาพอากาศเอื้ออำนวยในช่วงต้นปี และการบริหารจัดการสวนที่ดีขึ้น

สำหรับฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคใต้ปี 2568 เริ่มตั้งแต่ 5 มิถุนายนใน จ.พังงา และทยอยเก็บเกี่ยวในแต่ละจังหวัดจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม โดยผลผลิตทุเรียนจะออกมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม ขณะนี้ทุเรียนภาคใต้กว่า 65% ของพื้นที่ให้ผลได้ออกดอกแล้วและอยู่ในระยะติดผลเล็ก

ส่วนไม้ผลอื่น ๆ อย่างมังคุด เงาะ และลองกอง ต่างได้รับผลกระทบจากทั้งสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และการโค่นพื้นที่ปลูกเพื่อนำไปปลูกทุเรียนแทน ส่งผลให้ผลผลิตปี 2568 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะลองกองที่ผลผลิตคาดว่าจะลดลงถึงร้อยละ 49.10 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากราคาตกต่ำและมีฝนตกผิดฤดูกาลในช่วงออกดอก

‘เจ็ทสตาร์เอเชีย’ ประกาศหยุดกิจการ 31 ก.ค.นี้ ปิดตำนานสายการบินโลว์คอสต์ ของสิงคโปร์

(11 มิ.ย. 68) เจ็ทสตาร์เอเชีย (3K/JSA) สายการบินต้นทุนต่ำแบรนด์เจ็ทสตาร์ (Jetstar) สัญชาติสิงคโปร์ ซึ่งมีการปฏิบัติการจากฐานการบินที่ท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงี (SIN) ไปยังจุดบินหลายแห่งในเอเชีย รวมถึงหลายจุดบินในประเทศไทย แจ้งว่าจะหยุดกิจการเป็นการถาวรตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

สายการบินแจ้งว่าการตัดสินใจนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก และเกิดขึ้นหลังจากการทบทวนการทำการของสายการบินที่เผชิญความท้าทายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยต้นทุนในการปฏิบัติการในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้น

เจ็ทสตาร์เอเชียจะยังคงทำการบินโดยค่อย ๆ ลดความถี่ลงนับแต่นี้ไปจนถึง 31 กรกฎาคม 2568 และจะติดต่อผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

การตัดสินใจนี้ ไม่มีผลกระทบกับเที่ยวบินของสายการบินเจ็ทสตาร์แอร์เวย์ส(JQ) และเจ็ทสตาร์เจแปน(GK)

เจ็ทสตาร์ เป็นแบรนด์สายการบินต้นทุนต่ำในกลุ่มแควนตัส กรุ๊ป ของออสเตรเลียโดยมีการตั้งสายการบินแบรนด์เจ็ทสตาร์ในประเทศต่าง ๆ ทั้ง เจ็ทสตาร์แอร์เวย์ส(JQ) ในออสเตรเลีย เจ็ทสตาร์เจแปน(GK) ในญี่ปุ่น และเจ็ทสตาร์เอเชีย(3K) ซึ่งมีสัญชาติสิงคโปร์

เจ็ทสตาร์เอเชีย(3K) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2547 และเริ่มปฏิบัติการเมื่อ 13 ธันวาคม 2547 หรือ 20 ปีมาแล้ว ปัจจุบันมีฝูงบินเป็นเครื่องบิน แอร์บัส เอ320 จำนวน 13 ลำ ให้บริการไปยังจุดบิน 18 แห่ง

สำหรับผู้โดยสารในตลาดประเทศไทย ปัจจุบันนั้นเจ็ทสตาร์เอเชียให้บริการเที่ยวบินระหว่างสิงคโปร์กับ กรุงเทพฯ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต และกระบี่ โดยในอดีตเคยให้บริการมายังหาดใหญ่และอู่ตะเภาด้วย

‘เอกนัฏ’ ส่ง มอก.วอทช์ AI ปราบสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เผย 5 เดือนตรวจพบทางออนไลน์นับ 1 แสนรายการ

(9 มิ.ย. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเปิดตัว "มอก.วอทช์" ระบบอัจฉริยะที่ใช้ AI ตรวจสอบสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทาง ครอบคลุมการตรวจสอบนับแสนรายการ พร้อมขยายภารกิจ "ทีมสุดซอย" สู่โลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อปกป้องผู้บริโภคและแก้ไขปัญหาสินค้าข้ามชาติทะลักไร้คุณภาพที่กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย

นายพงศ์พล ได้อ้างอิงรายงานสถานการณ์การทะลักเข้าของสินค้าข้ามชาติของสภาอุตสาหกรรมที่ระบุว่าสถานการณ์การทะลักเข้าของสินค้าข้ามชาติมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนมากเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการและผู้ผลิตไทย ทั้งในเรื่องของการแข่งขันด้านราคา การละเมิดลิขสิทธิ์ และลักลอบนำเข้ามาสวมสิทธิ์ในการส่งออก ซึ่งปัจจุบันได้เกิดปัญหานี้ในสินค้าทุกชนิด เกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างรุนแรง

รัฐมนตรีเอกนัฏเล็งเห็นถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ และด้วยข้อจำกัดของจำนวนเจ้าหน้าที่ จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรม (INDX) นำโดยนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการปราบปรามและป้องกันสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

โดยคณะกรรมการ INDX ได้พิสูจน์ผลงานมาแล้วจากความสำเร็จของระบบ “แจ้งอุต” ช่องทางออนไลน์ ร้องเรียนภาคอุตสาหกรรมเพื่อประชาชนได้รับความนิยมอย่างสูงสุด และตลอด 5 เดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการINDX เดินหน้าพัฒนาระบบที่ป้องกันผู้บริโภคจากสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่เรียกว่า “มอก.วอทช์” ซึ่งได้ใช้กลไกลในการพัฒนาเวอร์ชันแรกในการตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้ มอก. โดยใช้ “บอทอัตโนมัติ” แทนมนุษย์ ในการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลสินค้าบนหน้าเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าออนไลน์ ที่ใช้เทคโนโลยี Ai จับ Keyword หรือ รูปภาพ เปรียบเทียบข้อมูลในระบบของ มอก. พร้อมรวบรวมลิงค์ที่ผิด พรบ. มอก. ซึ่งในระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา Ai “มอก.ว็อทช์” ได้ตรวจจับและรวบรวมรายการที่เข้าข่ายไม่ได้มาตรฐานแล้วกว่า 98,756 รายการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบคัดกรองสินค้าที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน

นายพงศ์พล กล่าวต่อว่า จากข้อมูลและการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า สินค้าไม่มี มอก. และถูกฝ่าฝืนมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1.กลุ่มพลาสติกสัมผัสอาหาร 2.กลุ่มของเล่นเด็ก 3.กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้า 3 กลุ่มนี้ล้วนเป็นสินค้าที่ต้องมี มอก. บังคับใช้ตามกฎหมายอย่างชัดเจน เพื่อรับประกันคุณภาพและความปลอดภัยของประชาชนทุกคน ตอกย้ำความจำเป็นของระบบ “มอก. วอทช์” ในการเข้ามาจัดการปัญหานี้

ถึงแม้จะไม่มีงบประมาณสนับสนุนสำหรับระบบ “มอก.วอทช์” แต่ต้องขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม นำโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทุกท่านที่มุ่งมั่น ทุ่มเท และได้ร่วมกันผลักดันการทำงานอย่างไม่ย่อท้อ 

“ขณะนี้ระบบ มอก.วอทช์ กำลังเก็บรวบรวม URL ของผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนขายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โปรดติดตามผลการดำเนินงานของเราเร็วๆนี้ครับ” นายพงศ์พล ย้ำเตือนผู้ขายสินค้าไม่ได้ มอก. เตรียมดำเนินการทางกฎหมายเพื่อปกป้องผู้บริโภคและสร้างความเป็นธรรมในตลาดต่อไป

สอน. ลงพื้นที่กำแพงเพชร เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดันอุตฯ อ้อยไทยสู่ความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(6 มิ.ย. 68) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เริ่มกิจกรรมภาคสนามภายใต้โครงการ “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากการเผาอ้อย พร้อมผลักดันเกษตรกรเข้าสู่แนวทางการผลิตแบบยั่งยืน

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการ สอน. ระบุว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและโลก จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับข้อกำหนดทางการค้าสากล โดยเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดโลก

ข้อมูลฤดูหีบอ้อยปี 2567/68 พบว่า อ้อยสดเข้าหีบสูงถึง 85.14% และอ้อยเผาอยู่ที่ 14.86% ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ ถือเป็นความร่วมมือที่ดีจากเกษตรกรและโรงงานในการลดมลพิษจากการเผาอ้อย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการลดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่

สำหรับโครงการนี้จะดำเนินใน 3 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร สระแก้ว และอุดรธานี โดยเน้นการให้ความรู้เรื่องผลกระทบของการเผาอ้อยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานคน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพผลผลิต

นอกจากนี้ สอน. ยังเตรียมเผยแพร่ข้อมูลวิชาการและผลวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิด PM 2.5 เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคม พร้อมหนุนภาครัฐและเอกชนร่วมแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ลดอุปสรรคทางการค้า และขับเคลื่อนการผลิตอ้อยอย่างยั่งยืนในระยะยาว

‘โอ๋ ฐิติภัสร์’ ซัดทุนต่างชาตินำเข้าขยะซุกเต็มพื้นที่ฟรีโซน ก่อนคัดแยกของดีส่งกลับจีนทิ้งฝุ่นพิษให้คนไทยดม

(6 มิ.ย.68) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์เฟซบุ๊กว่า ...ฟรีโซนศูนย์เหรียญ ที่เราสัมผัสได้เพียงฝุ่น สูดดมแต่มลพิษ

รับแจ้งเบาะแส…หนึ่งในบริษัทผู้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์คือ บ.พีซีวู๊ด จก. ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปลอดอากร Free Zone จ. ฉะเชิงเทรา 

บริษัทแห่งนี้เคยถูกจับและดำเนินคดีข้อหาตั้งและประกอบกิจการโดยไม่รับอนุญาต และข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 67 ที่ผ่านมา คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของ จนท.ตำรวจ สภ.แปลงยาว เพื่อสรุปสำนวนส่งฟ้องศาล ส่วนกรรมการบริษัทอยู่ระหว่างประกันตัวออกมา

การตรวจสอบครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากกรมศุลกากร เข้าร่วมตรวจสอบด้วย 

บ. พีซีวู๊ดฯพัฒนาตัวเองจากผู้ประกอบการที่ถูกดำเนินคดีข้อหาตั้งและประกอบกิจการโดยไม่รับอนุญาต กลายเป็นผู้พัฒนาที่ดินในพื้นที่ฟรีโซน ให้บริการเช่าโกดัง ขอใบอนุญาตติดต่อหน่วยงานราชการ ประสานขนส่งตู้สินค้าจากท่าเรือมาในพื้นที่ฟรีโซน โดยคิดค่าบริการตามรายการกับผู้เช่าแต่ละโกดัง

ผู้เช่าได้แก่ บ.ซินฮุยเฉิงฯ บ.วินเวลล์ฯ และ บ.รอยซ์ เมทเทิลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่ประกอบกิจการ นำเข้าเศษอลูมิเนียมมาคัดแยกใส่เครื่องเขย่าเอาฝุ่นออก เสร็จแล้วจ้างแรงงานต่างด้าวมาขัดจนสะอาด ใส่ถุงบิ๊กแบ๊คส่งกลับไปประเทศจีน

ความผิดเก่ายังไม่สิ้นแต่ก่อคดีใหม่…ครั้งนี้แจ้งข้อหาใหม่เพิ่มเข้าไป พร้อมออกคำสั่งให้หยุดกิจการและดำเนินคดีอาญา ข้อหาทำลายเครื่องหมายประทับตรายึดอายัดและเคลื่อนย้ายของกลาง…ทำผิดซ้ำ 2 ครั้ง จนท.กรมศุลกากรที่ร่วมภารกิจด้วย จะเสนอให้ผู้บริหารกรมศุลฯ พิจารณาระงับสิทธิ์ฟรีโซนต่อไปค่ะ

เคทีซี -สมิติเวช เปิดวงเสวนาสุขภาพดี-การเงินแกร่ง ส่งเสริมแนวคิดการวางแผนชีวิตอย่างสมดุล

เคทีซีร่วมมือโรงพยาบาลสมิติเวชเปิดเวที KTC FIT Talk ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ “สร้างภูมิ-ปลดล็อกภาระการเงินและปัญหาสุขภาพ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ” ส่งเสริมแนวคิดการวางแผนชีวิตอย่างสมดุล ทั้งด้านสุขภาพและการเงิน รับมือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน

นางสาวสิรีรัตน์ คอวนิช ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต หมวดสุขภาพและความงาม 'เคทีซี' หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผย “พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต และมีการใช้จ่ายที่สะท้อนเป้าหมายชีวิตในระยะยาว มากกว่าการบริโภคเพื่อความสะดวกชั่วคราว โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซีในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและจำนวนสมาชิกที่ใช้บัตรต่างเติบโตมากขึ้นกว่า 50%” 

“ในปี 2568 นี้ เคทีซีวางกลยุทธ์จะขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรสุขภาพให้มากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าถึงกลุ่มสมาชิกเคทีซีและผู้บริโภคให้มากที่สุด กล่าวคือ ไปที่ใดต้องเห็นสิทธิพิเศษจากเคทีซี รวมถึงกลุ่ม Wellness Lifestyle โดยจับมือกับพันธมิตรในกลุ่มโรงพยาบาล ฟิตเนส รวมถึงผู้จำหน่ายอุปกรณ์ออกกำลังกายและเทคโนโลยีสวมใส่ (Wearable Devices) เพื่อตอบรับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เน้นการดูแลสุขภาพของตัวเองและครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 20-29 ปี มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ทั้งในกลุ่มโรงพยาบาล สปอร์ตและฟิตเนส ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการที่คนหันมาสนใจในเรื่องการดูแลสุขภาพเร็วขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย” 

นายแพทย์นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและการกีฬา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เผยว่า “ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ แนวคิดใหม่ของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่ทางการแพทย์ได้นำมาใช้ในการวินิจฉัยและติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้บริโภค คือ Wearable Devices อย่างนาฬิกาอัจฉริยะ (Smartwatch) หรือแหวนอัจฉริยะ (Smart Ring) เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพเชิงรุก เปลี่ยนจากการรักษาเมื่อป่วยเป็นการตรวจจับความเสี่ยงและสัญญาณผิดปกติในระยะเริ่มต้น (Early Detection)”

“โรงพยาบาลสมิติเวช ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ ด้วย Samitivej Wearable Clinic บริการปรึกษาข้อมูลสุขภาพจาก Smartwatch และ Smart Ring ที่ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากอุปกรณ์ผ่านแอปพลิเคชัน Well by Samitivej เพื่อประเมินสุขภาพเบื้องต้น (Pre-Screening) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ครอบคลุมทั้งการนอนหลับ (Sleep) สุขภาพหัวใจ (ECG & Heart) โภชนาการ (Nutrition) การออกกำลังกาย (Sport) และสภาวะอารมณ์ (Emotion) ข้อมูลจาก Wearable Devices เป็นดัชนีสำคัญที่ช่วยให้แพทย์เข้าใจสุขภาพผู้ป่วยได้ดีขึ้น เช่น เห็นอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด อนาคตของการดูแลสุขภาพ Smartwatch จะเป็นอุปกรณ์ดูแลสุขภาพประจำตัว ข้อมูลจะถูกนำมาใช้กับระบบ Telemedicine เพื่อการรักษาเฉพาะบุคคลแบบเรียลไทม์ ทุกที่ทุกเวลา ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำได้ทุกวัน ไม่ต้องรอให้ป่วย โรงพยาบาลสมิติเวช มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Wearable Devices พร้อมให้คำปรึกษาเฉพาะบุคคล ทั้งที่โรงพยาบาลและผ่านช่องทางออนไลน์ (Virtual Hospital) เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงคำแนะนำจากแพทย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ Call Center โทร 0 2022 2222 หรือ LINE @Samitivej”

นายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ, CFA  ผู้อำนวยการ - การเงิน 'เคทีซี' หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ชูแนวคิดวางแผนการเงิน-สุขภาพอย่างสมดุล รับมือเศรษฐกิจผันผวนครึ่งหลังของปี 2568 “ในยุคที่เศรษฐกิจเปราะบางจากปัจจัยภายนอก เช่น สงครามการค้าและภาวะดอกเบี้ยขาลง ผู้บริโภคไทยจำเป็นต้องมีการวางแผนชีวิตที่รอบด้าน ทั้งในเรื่องการเงิน สุขภาพและจิตใจ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น คนไทยมีพัฒนาการด้านความรู้ทางการเงินดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการคิดก่อนซื้อและการออม แต่สิ่งที่ควรเพิ่มคือการวางแผนเกษียณในระยะยาวและแผนรับมือกับเหตุฉุกเฉิน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ากว่า 80% ของคนไทยยังไม่มีแผนเกษียณที่ชัดเจน มีภาระหนี้สิน และสิ่งสำคัญที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนอาจมองข้าม คือ การมีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลรักษา” 

“ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน ผู้บริโภคและสมาชิกเคทีซีจึงจำเป็นต้องวางแผนด้านการเงินและสุขภาพอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น สำหรับวัยทำงานควรเริ่มต้นจากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตั้งเป้าหมายทางการเงินตามสูตร 50-30-20 หรือ 60-20-20 มีเงินสำรองฉุกเฉิน และลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของตนเอง รวมถึงฝึกวินัยทางการเงินผ่านระบบออมอัตโนมัติ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และทบทวนแผนทุก 6 เดือน”

“สำหรับทางเลือกเพื่อพิจารณาในการลงทุนเพื่อการออม รับมือเศรษฐกิจปี 2568 ในกลุ่มหุ้น (Selective Underweight) ควรเน้นกลุ่มสาธารณูปโภค สินค้าอุปโภคและสุขภาพ หรือเลือกลงทุนในหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ที่มีตลาดกระจายหลายประเทศมากกว่าที่มีการกระจุกตัวของตลาด เน้นหุ้นบริโภคในประเทศที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ลดหุ้นส่งออกไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะที่ไม่มีสิทธิยกเว้นภาษี ตราสารหนี้ เพิ่มน้ำหนักพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและระยะยาว เลี่ยงตราสารหนี้เอกชนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น   อสังหาริมทรัพย์ และลดการถือพันธบัตรอิงเงินเฟ้อจากแนวโน้มเงินเฟ้อต่ำ สำหรับทองคำ สามารถค่อยๆ เพิ่มการลงทุนระยะยาวเพื่อป้องกันความเสี่ยง แนะนำถือทองในรูปแบบ USD รับมือค่าเงินบาทผันผวน หรือเข้าซื้อแบบทยอยเพื่อเฉลี่ยต้นทุน อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะในสภาวะที่เศรษฐกิจยังมีความผันผวน และอยากสนับสนุนให้ผู้บริโภคและสมาชิกเคทีซีให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการเงินและสุขภาพอย่างสมดุลและมีวินัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืนให้กับชีวิตและครอบครัว”

นางสาวสิรีรัตน์กล่าวเพิ่มเติม “บัตรเคทีซีไม่ใช่เพียงเครื่องมือในการใช้จ่าย แต่เป็นเพื่อนคู่คิดที่ช่วยให้สมาชิกใช้เงินอย่างมีการวางแผน มีเป้าหมายและมีความรับผิดชอบ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์อย่างเข้าใจ เพื่อให้สมาชิกเคทีซีได้ใช้ชีวิตที่มีคุณภาพอย่างที่ต้องการ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการใช้จ่าย จากใช้เพื่อความสะดวก เป็นใช้เพื่อคุณภาพชีวิต สำหรับสมาชิกเคทีซีที่ต้องการใช้บริการรับคำปรึกษาสุขภาพเชิงป้องกันผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยี หรือดูแลรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านสุขภาพกับเคทีซีมายาวนาน สามารถรับโค้ดส่วนลด SMVxKTC  เมื่อรับบริการปรึกษาแพทย์ที่ Samitivej Wearable Clinic มูลค่า 800 บาท (ไม่รวมค่าบริการโรงพยาบาล) และชำระค่าบริการด้วยบัตรเครดิตเคทีซีผ่านแอปฯ Well by Samitivej ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2568 - 31 สิงหาคม 2568 นอกจากนี้สมาชิกบัตรเคทีซียังจะได้รับส่วนลด 10% สำหรับค่าห้อง และรับเครดิตเงินคืนไม่จำกัด เมื่อใช้บริการด้านสุขภาพต่างๆ ที่โรงพยาบาลสมิติเวช และมียอดใช้จ่ายตามกำหนด ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2568 รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก https://bit.ly/43ajCZd

SPCG กดปุ่มจ่ายไฟโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น เสริมแกร่งธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ

ตอกย้ำความสำเร็จร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ร่วมเปิดโครงการ Kagoshima Oura Mega Solar กำลังการผลิต 8.02 MW เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ

บมจ.เอสพีซีจี หรือ SPCG ตอกย้ำความสำเร็จการร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ร่วมพิธีเปิดโครงการ Kagoshima Oura Mega Solar กำลังการผลิต 8.02 MW ในเมืองคาโนยะ จังหวัดคาโกชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่บริษัทร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 20 และเริ่ม COD ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางแผนมุ่งขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน และเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจรวมถึงความมั่นคงแก่ผลการดำเนินงานในระยะยาว 

ล่าสุด บริษัทฯ ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมลงทุนกับ TESS Holdings Co., Ltd. ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Kagoshima Oura Mega Solar ในเมืองคาโนยะ จังหวัดคาโกชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง SPCG ร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 85,282,000 เยน

โครงการ Kagoshima Oura Mega Solar ดำเนินการโดย Kagoshima Oura Solar LLC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 8.02 เมกะวัตต์ (MW) โดยมีบริษัท Tess Engineering Co., Ltd. ในเครือของกลุ่ม Kazuki Yamamoto และเป็นพันธมิตรของ SPCG มาอย่างยาวนาน รับผิดชอบการดำเนินงานด้านวิศวกรรม จัดซื้อจัดจ้าง และก่อสร้าง (EPC) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 และดำเนินการส่งมอบโครงการสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนมีนาคม 2568 รวมถึงเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2568 โดยมี Kyushu Electric Power Co., Inc. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า เป็นระยะเวลารวม 18 ปี 1 เดือน อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ที่ 36 เยนต่อหน่วย ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนตั้งแต่ไตรมาส 2/2569 ซึ่งจะเสริมความแข็งแกร่งแก่ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ได้มีพิธีเปิดโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนาย Kazuki Yamamoto ประธานและ CEO ของบริษัท Tess Engineering Co., Ltd. เป็นประธานในพิธีร่วมกับตัวแทนจากบริษัทฯ และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและก่อสร้างโครงการ

“การลงทุนครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ SPCG ในการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ ตามเป้าหมายเป็นผู้นำในการลดคาร์บอนและขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาด โดย SPCG มุ่งมั่นหาโอกาสขยายการลงทุนในโครงการพลังงานที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่ยั่งยืน” ดร.วันดี กล่าว

‘สวนนงนุช’ เตรียมจัด Nongnooch Plants Expo มหกรรมแสดงพันธุ์ไม้ปูทางยกระดับสู่ตลาดโลก

สวนนงนุชพัทยาเดินหน้าจัดงาน 'Nongnooch Plants Expo 2025' มหกรรมแสดงพันธุ์ไม้ระดับนานาชาติ ภายใต้แนวคิด 'Innovation – นวัตพรรณไม้ใหม่' ชูความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่สู่ตลาดโลก ยกระดับวงการพันธุ์ไม้ไทยสู่สากลมากขึ้น

ประเทศไทยมีงานมหกรรมพันธุ์ไม้ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่างงานสวนหลวง ร.9 ที่จัดขึ้นช่วงปลายปี ดังนั้น สวนนงนุชพัทยาจึงผลักดันให้มีงานลักษณะนี้เพิ่มอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อขับเคลื่อนให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง วัตถุประสงค์ของการจัดงานสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรผู้ผลิตและเพาะเลี้ยงพันธุ์ไม้ สำหรับประเทศไทยมีผู้ที่เชี่ยวชาญผลิตพันธุ์ไม้แปลกและลูกไม้ใหม่ เป็นจำนวนมาก พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศพบปะและสั่งซื้อพันธุ์ไม้โดยตรงจากผู้ผลิตคนไทย เป็นกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในประเทศและการส่งออก

สำหรับสวนนงนุชพัทยา ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 สวนสวยที่สุดในโลก และยังคงบทบาทสำคัญในฐานะแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ พันธุ์ไม้และการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน ไฮไลต์ภายในงานการแสดงพันธุ์ไม้ใหม่จากผู้พัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อจาก ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีน และประเทศไทย มีการออกบูธของผู้ประกอบการกว่า 150 ร้านค้า ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2568 ณ ห้องประชุมเทรดดิชั่น ฮอลล์ 1-3 สวนนงนุชพัทยา  

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nongnoochpattaya.com

‘เอกนัฏ’ ส่ง "ทีมสุดซอย" ปิด บ.กำปั่นทอง เหิมตั้งตัวเป็น “ฟรีโซน” แหล่งรวมขยะพิษ

‘เอกนัฏ’ ส่ง “ทีมสุดซอย” ไล่หวดแก๊งศูนย์เหรียญ หลังขยายผลพบ “บริษัท กำปั่นทอง” ต้นตอแจกดินปนเปื้อนเศษพลาสติกให้ชาวบ้าน พบให้เช่าโกดังคัดแยกขยะพิษ เคยโดนสั่งหยุด-ปรับปรุงกิจการให้ถูกกฎหมาย แต่ยังนิ่ง เหิมตั้งตัวเป็น “ฟรีโซน” ลอบจัดหาขยะพิษให้ลูกค้า 

(4 มิ.ย. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเข้าตรวจสอบและดำเนินคดี บริษัท ภัชชาภิวัฒน์ จำกัด ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้แจกจ่ายดินปนเปื้อนเศษพลาสติกอันตรายให้ชาวบ้านนำไปถมที่ และตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2568 ว่า ชุดตรวจการณ์สุดซอย หรือ “ทีมสุดซอย” กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) โดยการอำนวยการของ พลตำรวจตรีวัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการ ปทส. ได้ร่วมกันสืบสวนขยายผลจนพบ บริษัท กำปั่นทอง อินดัสทรี จำกัด ตั้งอยู่ หมู่ 9 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่โกดังให้เช่าประกอบกิจการ

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบเศษสายไฟถูกฝังกลบในพื้นที่โรงงานและบริเวณท่อส่งแก๊สของ ปตท. ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่ บริษัท ภัชชาภิวัฒน์ จำกัด นำไปแจกชาวบ้านเพื่อถมดิน นอกจากนี้ยังพบการกระทำความผิดในการครอบครองและประกอบกิจการคัดแยก บดย่อยขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) จ.ฉะเชิงเทรา เคยเข้าตรวจสอบ บริษัท กำปั่นทองฯ พบว่ามีการประกอบกิจการไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต จึงได้ออกคำสั่งให้หยุดและแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง แต่จากการเข้าตรวจสอบครั้งล่าสุด บริษัทฯ ยังคงเพิกเฉย จึงจำเป็นต้องสั่งหยุดกิจการ พร้อมยึดและอายัดเครื่องจักรและวัตถุอันตรายทั้งหมด

“ลักษณะการประกอบกิจการของบริษัท กำปั่นทองฯ ทำเหมือนผู้ให้บริการเช่าโกดัง มีหลักฐานการเก็บเงินค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่ายาม ค่าอินเทอร์เน็ตของแต่ละโกดัง ยิ่งกว่านั้นยังทำเสมือนเป็นพื้นที่ฟรีโซนที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย โดยบริการรับจัดหาวัตถุดิบที่เป็นของต้องห้ามนำเข้าในประเทศ เช่น ขยะเล็กทรอนิกส์ เศษสายไฟ ชิ้นส่วนรถยนต์ มาให้แต่ละโกดังโดยคิดตามน้ำหนักของรถขนส่งสินค้าที่นำมาส่งให้แต่ละโกดังในแต่ละวัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุ

นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวเสริมว่า จากการเข้าตรวจสอบ บริษัท กำปั่นทองฯ มี นายเหว่ย เซิ่น หลิน 
เป็นกรรมการบริษัทและเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งมีโกดังจำนวน 5 หลัง ทั้งหมดปล่อยให้ชาวจีนเช่าทำกิจการคัดแยก บดย่อย เศษสายไฟ มอเตอร์ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้า และเศษอลูมิเนียม แม้ว่าบริษัทฯ จะครอบครองใบอนุญาตโรงงานถึง 5 ใบ แต่กลับแจ้งประกอบกิจการเพียง 1 ใบอนุญาต คือประเภท 105 คัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วโดยไม่ใช่วัตถุอันตราย ซึ่ง สอจ.ฉะเชิงเทรา ได้เคยแจ้งเตือนว่าการประกอบกิจการไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต และได้ออกคำสั่งให้หยุดและแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง พร้อมแจ้งเตือนให้บริษัทฯ มาแจ้งเริ่มใบอนุญาตที่เหลือ แต่ปรากฏว่าบริษัทฯ ก็ยังคงเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใดๆ นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบโรงงานที่ตั้งอยู่นอกรั้วติดกันอีก 2 โรงงาน ก็ไม่มีใบอนุญาตโรงงาน และพบเศษอลูมิเนียมปนเปื้อนขยะอิเล็กทรอนิกส์และมิเตอร์แก๊สอีกด้วย

“บริษัท กำปั่นทองฯ มีใบอนุญาตโรงงานถึง 5 ใบ แต่แจ้งประกอบกิจการเพียง 1 ใบอนุญาต ส่วนอีก 4 ใบ ยังไม่แจ้งเริ่มประกอบกิจการ ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทาง สอจ. ฉะเชิงเทรา ได้มีหนังสือเตือนให้แจ้งเริ่มใบอนุญาตภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 หากครบกำหนดจะถือว่าไม่ประสงค์จะประกอบกิจการและจะเพิกถอนใบอนุญาต แต่ปรากฏว่าบริษัทฯ ก็ยังเพิกเฉย” นางสาวฐิติภัสร์กล่าว

นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวถึงการดำเนินการทางกฎหมายว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ สอจ.ฉะเชิงเทรา ได้ออกคำสั่งให้หยุดกิจการ อายัดเครื่องจักร วัตถุดิบทั้งหมด พร้อมแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาตั้งและประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย และเสนอให้พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานทั้งหมดสำหรับใบอนุญาตที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ ส่วนกรณีฝังกลบเศษสายไฟบดย่อยถมทับที่บริเวณท่อส่งก๊าซ ปตท. ได้ประสานให้สำนักงานพลังงานจังหวัดมาตรวจสอบ และประสานองค์การบริหารส่วนตำบลเรื่องการลักลอบปล่อยน้ำเสียบริเวณรอบโรงงานด้วย

THAIFEX-ANUGA ASIA 2025 ผู้เข้าชมทะลุ 1.42 แสนคน ยกระดับสู่สากล มูลค่าการค้า!! พุ่งกว่า 1.35 แสนล้านบาท

(3 มิ.ย. 68) กระทรวงพาณิชย์ ประกาศความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มระดับนานาชาติ “THAIFEX – ANUGA ASIA 2025” ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากนักธุรกิจและผู้ซื้อจากทั่วโลก สะท้อนถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจอาหารของภูมิภาค และแหล่งสำรองอาหารที่มีบทบาทสำคัญของโลก พร้อมเป็นเวทีส่งเสริม “ครัวไทยสู่ครัวโลก” และยกระดับเศรษฐกิจการค้าของประเทศสู่ระดับสากล

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความสำเร็จของ THAIFEX – ANUGA ASIA 2025 ไม่เพียงตอกย้ำศักยภาพของผู้ประกอบการไทย แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสนใจจากนานาประเทศต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างชัดเจน ซึ่งสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อน Soft Power ของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่มุ่งผลักดันอาหารไทยให้เป็นทั้งจุดแข็งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจระดับโลก

“ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักธุรกิจต่างชาติ ไม่เพียงสร้างโอกาสทางการค้าแก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs และสตาร์ตอัป แต่ยังส่งผลเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการสร้างรายได้และการจ้างงานในหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ” นายพิชัยกล่าว

สำหรับผลการจัดงานในปีนี้ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงสินค้าจำนวน 3,231 บริษัท 6,208 คูหา จาก 57 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นผู้ประกอบการไทย 1,184 ราย และผู้ประกอบการต่างชาติ 2,047 ราย โดยมีผู้เข้าร่วมชมงานรวมทั้งสิ้น 142,370 คน แบ่งเป็นผู้ร่วมเจรจาการค้า 88,349 คน (ชาวต่างชาติ 20,566 คน และชาวไทย 67,783 คน) และประชาชนทั่วไปในวันจำหน่ายปลีกกว่า 54,021 คน

ขณะที่ด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ งานสามารถสร้างมูลค่าการค้ารวมสูงถึง 135,678.07 ล้านบาท แบ่งเป็น: มูลค่าการซื้อขายในวันเจรจาธุรกิจ: 135,450.25 ล้านบาท (สั่งซื้อทันที: 271.81 ล้านบาท คาดการณ์การสั่งซื้อภายใน 1 ปี: 135,178.44 ล้านบาท) มูลค่าการซื้อขายในวันจำหน่ายปลีก: 227.82 ล้านบาท โดยเฉพาะมูลค่าการซื้อขายของผู้ประกอบการไทย คิดเป็นยอดรวม 99,099.28 ล้านบาท

สำหรับประเทศที่มีปริมาณการสั่งซื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน ไทย อินเดีย เวียดนาม และญี่ปุ่น ขณะที่โซนสินค้าที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ Fine Food, Food Technology, Drinks, Frozen Food และ Fruits & Vegetables

งานครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, หอการค้าไทย และโคโลญเมสเซ่ ซึ่งพร้อมเดินหน้าจัดงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2026 ให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา พร้อมยกระดับสู่เวทีการค้าสากลที่รวมเทรนด์และนวัตกรรมอาหารจากทั่วโลก โดยมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2569 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top