Monday, 5 June 2023
ECONBIZ NEWS

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 1-5 พ.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 8-12 พ.ค. 66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด 5 พ.ค. 66 ลดลง 5.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 74.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเปลี่ยนไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย จากความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอาจเข้าสู่สภาวะถดถอย ทั้งในภาคงบประมาณ การเงิน และการธนาคาร อาทิ วันที่ 4 พ.ค. 66 หุ้น PacWest Bancorp ลดลง 51% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังธนาคารเปิดเผยว่าอาจพิจารณาเพิ่มทุนหรือขายกิจการ, หุ้น Western Alliance Bancorp ลดลง 38% ขณะที่ธนาคารยืนยันสถานะทางการเงินว่ายังไม่ต้องขายกิจการ, หุ้น First Horizon ลดลง 33% ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2551 หลัง Dominion Bank ของแคนาดายุติการเจรจาซื้อกิจการ 

ทางด้านนักวิเคราะห์ Reuters คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) อาจยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และนักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ก.ย. 66 ทั้งนี้วันที่ 3 พ.ค. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 5.0-5.25% และจะมีการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 13-14 มิ.ย. 66 

คาดว่าราคา ICE Brent ในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden มีแผนหารือร่วมกับแกนนำรัฐสภา 4 ท่าน ในวันที่ 9 พ.ค. 66 ทั้งฝั่งวุฒิสภา ได้แก่ นาย Chuck Schumer (Democratic Senator - Majority Leader), นาย Mitch McConnell (Senate Republican leader) และฝั่งสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ นาย Kevin McCarthy (Speaker of the House - Republican), และนาย Hakeem Jeffries (House Minority Leader) ในประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณ และขยายเพดานหนี้

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- 4 พ.ค. 66 ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate) มาอยู่ที่ 3.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (Marginal Lending Facility Rate) มาอยู่ที่ 4%

‘นักเศรษฐศาสตร์’ เปรียบ ‘เศรษฐกิจไทย’ เป็น ‘นักกีฬาสูงวัย’ ต้องมีโค้ชมือฉมังมาช่วย ก่อนถูกเพื่อนบ้านแซงหน้าไม่เห็นฝุ่น

(8 พ.ค. 66) นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือน ‘นักกีฬาสูงวัย’ ที่ต้องการ ‘โค้ช’ เก่ง ๆ มาช่วย

นักกีฬาคนนี้สมัยก่อนเคยโดดเด่น 

ช่วงเปลี่ยนเข้ายุคอุตสาหกรรม เขาเกือบเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย เศรษฐกิจโตเฉลี่ยกว่า 7% หากเปรียบกับกีฬาบาสเกตบอล NBA ก็เกือบได้รับคัดเลือกเป็นนักบาสระดับออลสตาร์

แม้จะเคยเล่นผาดโผนผิดพลาดจนบาดเจ็บหนักเกือบจบชีวิตนักกีฬาช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่สุดท้ายก็ยังหวนคืนสู่สนามกลับมาเก่งอีกครั้งได้

หลังจากนั้นแนวการเล่นจะเปลี่ยนไปบ้างจากเดิม มีการท่องเที่ยวมากลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังโดดเด่น ยังเป็นที่ต้องการตัว นักลงทุนยังให้ความสนใจ 

หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็มีปัญหาเรื่องโค้ช/ทีมผู้จัดการบ่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งอย่างที่ทราบกันดี 

แต่ดูเผิน ๆ เศรษฐกิจก็เหมือนจะผ่านมาได้โอเค จนนักลงทุนต่างประเทศเคยให้สมญานามว่า เศรษฐกิจเทฟลอน (Teflon economy) คือ แม้จะมีปัญหาเหมือนจะถูกกดให้จมน้ำหลายครั้ง ทั้งการเมือง ทั้งภัยพิบัติ แต่ก็สามารถกลับขึ้นมาลอยใหม่ได้ 

จนหลายคนทั้งในไทยและต่างประเทศบอกว่ารัฐบาลเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไรหรอกเพราะเศรษฐกิจไทยเอกชนนำไปต่อได้ เสมือนบอกว่าโค้ชไม่สำคัญขนาดนั้นเพราะนักกีฬาคนนี้เล่นเก่งอยู่แล้ว ปล่อย Auto-pilot ไปได้เดี๋ยวเขาก็จัดการเอง

ซึ่งในมุมหนึ่งก็จริงว่าเศรษฐกิจไทยเป็นนักกีฬาที่มีพรสวรรค์ มีบุญเก่าอยู่มาก มีทรัพยากร มีเสน่ห์ดึงดูดการท่องเที่ยว อยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่ดี และคนไทยก็มีความสามารถหลายด้าน ฯลฯ

แต่ทุก ๆ วันที่ผ่านไปที่เราเหมือนจะ ‘ลอยตัว’ นั้นความสูงวัยเริ่มกัดกร่อนนักกีฬาคนนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่เพียงอายุเฉลี่ยของประชากรที่เริ่มเข้าสูงวัยแต่อาการทางเศรษฐกิจก็ไปในทางเดียวกัน

วิ่งช้าลง กระโดดเริ่มไม่สูง เล่นได้ไม่นานก็เหนื่อย ร่างกายไม่บาลานซ์ ซึ่งในทางเศรษฐกิจคือ ‘โตช้า เหลื่อมล้ำ ไม่ยั่งยืน’

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เฉลี่ยเหลืออยู่แค่ปีละ 3% กว่ากลายเป็นนิวนอร์มอล 

ความเหลื่อมล้ำที่สูงโดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมด้านโอกาส (เช่นคนที่รายได้ระดับ 20% ล่างของประเทศเข้าถึงการศึกษามหาวิทยาลัยแค่ 4% เท่านั้น ทำให้จำกัดโอกาสได้งานดีๆ) 

และปัญหาด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เริ่มพังจนเห็นได้ชัด (เช่น ฝุ่น PM 2.5, overtourism ในการท่องเที่ยว)

ยังดีที่ว่าเพราะเคยเจ็บตัวหนักมาตอนวิกฤตการเงินจึงเล่นกีฬาอย่างระมัดระวัง มีระบบการเงินที่มีเสถียรภาพ ไม่ได้เสี่ยงที่จะล้มเจ็บหนักระดับวิกฤตแบบศรีลังกา อาร์เจนตินา ฯลฯ

ความเสี่ยงที่น่ากลัวกว่าในตอนนี้ คือ เศรษฐกิจไทยจะเป็น ‘นักกีฬาที่ถูกลืม’ ค่อย ๆ ถูกเพื่อนแทรงหน้าไปเรื่อย ๆ ถูกมองข้ามในเวทีโลกและภูมิภาค โอกาสที่ได้ลงเล่นก็น้อยลง ๆ 

เราอาจจะมองว่าแต่เพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ก็ปัญหาเยอะเหมือนกันนะ กฎกติกาทำธุรกิจก็ยาก โครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่ดี คนก็ยังเข้าไม่ค่อยถึงเงินทุน แย่กว่าไทยด้วยซ้ำ ทำไมเขาจะมาแซงเราได้?

คำตอบหนึ่งคือ เขาคือนักกีฬาที่ยังเป็น ‘วัยรุ่น’ อยู่ 

อายุเฉลี่ยเวียดนามและอินโดนีเซียคือประมาณ 30 ปี ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 40 กว่า ประชากรเขาโตอัตราเร็วกว่าเรา 3-4 เท่า แปลว่าตลาดของเขายังมีโอกาสเติบโตอีกมากและเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตจากการเพิ่มแรงงานเข้าไปได้ (ต่างจากไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย) ยิ่งเสริมการลงทุนจากรัฐและเอกชนเข้าไปด้วยก็สามารถสร้าง GDP ให้โตเฉลี่ย 5-6% ได้ไม่ยากนัก

เหมือนนักกีฬาวัยหนุ่มสาวที่แม้ทานอาหารไม่ระวังบ้าง ไม่ดูแลตัวบ้าง ไม่เกลาบางเทคนิค ใช้แค่สมรรถนะร่างกายเข้าสู้ก็พอไปได้ แม้สมมติว่าโค้ชและผู้จัดการทีมไม่เก่ง (แต่ในความเป็นจริงโค้ชของเขาก็ค่อนข้างเก่งด้วย) ก็ยังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเพราะยังพึ่งพรสวรรค์ได้  

ต่างกับเราวันนี้ที่หากไม่เน้นคุณภาพให้สู้ด้วยปริมาณไม่ไหวอีกต่อไป

แต่การเป็นนักกีฬาสูงวัยไม่ได้แปลว่าเราจะหมดความหมาย ไม่ได้แปลว่าเราจะแพ้ ไม่ได้แปลว่าเราเล่นไม่ได้แล้ว 

นักกีฬาบาสเกตบอล NBA ที่เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่งในปัจจุบันคือ เลบรอน เจมส์ ที่อายุ 38 ปีแล้วเทียบกับอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 26 ปี และยังมีนักกีฬาอีกจำนวนไม่น้อยที่แม้เข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้วก็ยังเก่งมาก

นอกจากนี้เรายังอยู่ในยุคที่นักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกสนใจตลาดอาเซียนโดยรวมมากขึ้นจึงเป็นโอกาส แค่เราต้องเปลี่ยนวิธีเล่น เปลี่ยนวิธีดูแลตนเอง และเปลี่ยน Mindset 

โดยหลักที่สำคัญที่สุดของนักกีฬาที่มีสมรรถนะทางร่างกายน้อยลงคือ 

“ใช้น้อยลงให้ได้มากขึ้น” 

เสมือนนักกีฬาที่ต้องเล่นให้สมาร์ตขึ้น เศรษฐกิจไทยก็เช่นกัน

ใช้คนน้อยลงแต่ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น (เพิ่ม Productivity เช่น รีสกิลเพิ่มทักษะให้แรงงานใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้น)

ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบล้างผลาญน้อยลง แต่ให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากขึ้น (เพิ่ม Sustainability - เช่น เน้นท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ)

ใช้งบประมาณประเทศแบบฟุ่มเฟือยน้อยลง แต่ช่วยคนตัวเล็ก-MSME-สตาร์ตอัปได้มากขึ้น (เพิ่ม Inclusivity เช่น ใช้งบประมาณช่วยคนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและตรงความต้องการของเขา)

‘พงษ์ภาณุ’ หวั่น ไทยหลุดโผลงทุนจาก ‘สหรัฐฯ - ยุโรป’ หลังตะวันตก เริ่มแง้มกันท่าชาติไม่เป็นประชาธิปไตย

‘พงษ์ภาณุ’ หวั่น ไทย หลุดเรดาร์ลงทุน หลังสหรัฐฯ - ตะวันตก อ้าง ‘ความมั่นคง’ จัดระเบียบ Supply Chains ใหม่ ปักหมุดฐานการผลิตประเทศที่ไว้วางใจ กีดกันชาติไม่เป็นประชาธิปไตย

(7 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ อเมริกา กับจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดสงครามทางการค้ามาอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงที่เกิดขึ้นทำให้สินค้าหลายแบรนด์ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน อาจกล่าวได้ว่า โลกกำลังจัดระเบียบ Global Supply Chains ใหม่จากเดิมที่เน้นประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ มาเน้นเรื่องความมั่นคงมากขึ้น

ย้อนกลับไปในอดีตหลายสิบปี ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในอุตสาหกรรมการผลิตและ Supply Chains ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจ หรือประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้านการผลิตทั่วโลก บริษัทฯ ใหญ่ ๆ ประสบความสำเร็จจากการใช้ระบบนี้ ยกตัวอย่าง แอปเปิล และไนกี้ ที่มีการกระจายการผลิตชินส่วนไปในหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ไทย เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้นับว่ามีประสิทธิภาพในการผลิตสูงและต้นทุนต่ำ

แต่ภายหลังเกิดความขัดแย้ง เริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกันอย่างชัดเจน เดิมที่ยึดผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ปัจจุบันความมั่นคงปลอดภัยด้าน Supply Chains ถูกยกขึ้นมาให้ความสำคัญมากกว่า และแทนที่ประสิทธิภาพไปแล้ว

นายพงษ์ภาณุ ได้ยกตัวอย่างความมั่นคงทางด้าน Supply Chains ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่จากชาติตะวันตกได้บทเรียนจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจีนปิดประเทศไป 3 ปี และสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักด้าน Supply Chains ในหลาย ๆ จุด ทำให้บริษัทแม่ไม่สามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาติตะวันตกนำมาใช้อ้าง เพื่อย้ายฐานการผลิต

แน่นอนว่า เมื่อเกิดการย้ายฐานการผลิต ย่อมมีประเทศที่ได้รับประโยชน์ โดยประเทศที่ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้มี 2 ประเทศในอาเซียน นั่นก็คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีปัจจัยสนับสนุนทั้งปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการดึงดูด Supply Chains เข้ามาเลือกเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ประเด็นที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย จากการย้ายฐานการผลิตที่ผ่านมาสหรัฐฯ และชาติตะวันตกมองว่าไทยไม่มั่นคงและจัดอยู่ในกลุ่มเผด็จการ (Autocracy) ส่วนประสิทธิภาพและต้นทุนก็สู้คนอื่นไม่ได้ Global Supply Chains จึงย้ายไปที่อื่นหมด ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่ เวียดนามและอินโดนีเซีย ขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยกลับดูเหมือนเดินห่างจากสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ เห็นได้จาก กรณีที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้จัดเวทีการประชุมสุดยอดฝ่ายประชาธิปไตย ที่ใช้ชื่อว่า Summit for Democracy ครั้งที่ 2 เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะแบ่งประเทศในโลกออกเป็น 2 กลุ่ม คือประชาธิปไตย และเผด็จการ โดยในครั้งนี้มีการเชิญผู้นำกว่า 120 ประเทศเข้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หรือมีแนวโน้มดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นบวกในสายตารัฐบาลสหรัฐฯ และน่าสังเกตว่า เวียดนาม ได้เข้าร่วม ทั้งที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้รับเชิญทั้ง 2 ครั้ง

“ถ้าหากว่าประเทศไทย ต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากชาติตะวันตก จำเป็นจะต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นมิติทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นข้ออ้างของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกที่จะนำมาพิจารณากระจาย Supply Chains โดยให้ความสำคัญในประเด็นความมั่นคงทางการเมือง มากกว่าประสิทธิภาพเหมือนเช่นในอดีต ในส่วนนี้ไทยเองจะต้องแสดงให้เห็นว่า ยังคงเป็นประเทศที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้อยู่ในเรดาร์ของประเทศมหาอำนาจภายหลังจากนี้”

นอกจากนี้ นายพงษ์ภาณุ มองว่า เรื่องต้นทุนพลังงานของประเทศไทยที่สูงขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้เช่นกัน เพราะต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตในขณะนี้ ถือว่าสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่พอสมควร 

‘บิ๊กตู่’ จ่อ ฟื้นประชุม JTC หลังการค้าไทย-อินเดียคืบหน้า หวังแก้อุปสรรคทางการค้า หนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น

(4 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทยกับอินเดียจนมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย – อินเดีย ครั้งที่ 13 ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 20 ปี นับจากการประชุมเมื่อปี 2546

นายอนุชา กล่าวว่า การประชุม JTC ถือเป็นกลไกสำคัญในการหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งในปี 2563 ไทยและอินเดียตกลงรื้อฟื้นการประชุม JTC ขึ้นใหม่ ภายหลังว่างเว้นมานานเกือบ 2 ทศวรรษ เนื่องจากทั้งสองประเทศเข้าสู่การเจรจา FTA ไทย – อินเดีย และ FTA อาเซียน – อินเดีย โดยการประชุม JTC ในครั้งนี้ มีวาระการหารือที่สำคัญเกี่ยวกับการลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดีย

สำหรับผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะใช้การลงนามและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้งผลักดันการใช้ QR Code ผ่านการเชื่อมโยงระบบ Unified Payments Interface (UPI) ของอินเดียกับระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย เพื่อรองรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทำภาพยนตร์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

‘ปตท.’ ยึดมั่นในนโยบายรัฐ ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก มุ่งสร้างสมดุลทุกภาคส่วน

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีการพาดพิงการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่จำหน่ายให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในราคาที่ถูกกว่าโรงไฟฟ้าเป็นสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนี้

การจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นสัดส่วนเพียง 20% ใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนส่งและครัวเรือนประมาณ 30% และใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 50% ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ดำเนินการมากว่า 40 ปี ปริมาณสำรอง และปริมาณการผลิตลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จำเป็นต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ต้นทุนราคาเนื้อก๊าซเดียวกัน สำหรับในส่วนที่ต้องจัดหาเชื้อเพลิงเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า หรือวัตถุดิบเพิ่มเติมในแต่ละผลิตภัณฑ์จะเป็นไปตามปัจจัยสถานการณ์ตลาดพลังงานโลก และตลาดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

‘จุรินทร์’ แจ้งข่าวดีชาวนา เตรียมรับเงินประกันรายได้ข้าว งวด 29 พร้อมโอนเข้ากระเป๋า 3 พ.ค.นี้ เพื่อชดเชยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ

(30 เม.ย. 66) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลาง อ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ระบุว่า สำหรับการจ่ายเงินส่วนต่างตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรปี 4 นั้น ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 29 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน 66 ดังนี้

1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว

2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13, 622.75 บาท ชดเชยตันละ 377.25 บาท

3) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,132.26 บาท ไม่ต้องชดเชยเนื่องจากราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าเป้าหมาย

‘พงษ์ภาณุ’ ชี้สงครามการค้า ‘สหรัฐฯ - จีน’ พาอุตฯ หลัก แห่ย้ายฐานการผลิต ชี้!! ‘อินโดฯ - เวียดนาม’ ที่มั่นใหม่ แนะ!! ‘ไทย’ เร่งคว้าโอกาสก่อนตกขบวน

สงครามการค้า 'จีน-สหรัฐฯ' ระเบียบโลกสั่นคลอน โลกาภิวัฒน์ถดถอย อินโดนีเซียและเวียดนามได้ประโยชน์เต็มๆ จากนโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาด แล้วไทยจะยืนอยู่ตรงไหน???

(30 เม.ย.66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลกและภูมิภาคอาเซียน ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 66 โดยระบุว่า...

จากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งสหรัฐฯ มองว่า จีน จะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญทั้งในด้านเทคโนโลยีและการทหาร เพราะฉะนั้น ทางสหรัฐฯ จึงได้แบนสินค้าจากจีน ด้วยการอ้างเหตุผลสารพัด ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จนถึงปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนผู้นำคนใหม่แล้ว สถานการณ์ก็ยังคงเหมือนเดิม 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแต่การแบนสินค้าจากจีนเท่านั้น แต่ในช่วงที่ผ่านมา แบรนด์สินค้าจากฝั่งสหรัฐฯ ที่เคยมีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น แอปเปิล ไนกี้ และอีกหลายแบรนด์ ก็ได้เริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะมองว่า ฐานการผลิตในจีนเริ่มไม่มีความมั่นคง ไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการ ธุรกิจในประเทศถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง มีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น

แน่นอนว่า หากแบรน์ใหญ่ ๆ เหล่านี้ เลือกฐานการผลิตประเทศใด ย่อมสร้างรายได้ และสร้างงานให้กับประเทศนั้น ๆ ได้อย่างมหาศาล ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลาย ๆ ประเทศในอาเซียนต่างพยายามนำเสนอจุดแข็งของประเทศเพื่อดึงดูเม็ดเงินการลงทุนจากแบรนด์สินค้าเหล่านั้น

นายพงษ์ภาณุ ระบุว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มองว่ามีอยู่ 2 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะได้รับผลประโยชน์อย่างสูงมากกว่าชาติอื่น ๆ นั่นก็คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม 

เหตุที่มองเช่นนั้น เพราะว่า ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด หรือ โจโควี ของอินโดนีเซีย ที่เป็นผู้นำประเทศมา 10 ปี และกำลังจะครบเทอมในปีหน้า เป็นคนที่วางตำแหน่งประเทศอินโดนีเซียได้ยอดเยี่ยมมาก...

ข้อแรก วางตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เปิดเสรีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเต็มที่

ข้อสอง เป็นประเทศที่มีนโยบายการต่างประเทศที่เป็นอิสระ ที่สำคัญตัวผู้นำประเทศยังสามารถคุยได้กับทุกฝ่าย นับเป็นผู้นำประเทศเพียงไม่กี่คนที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้นำถึง 4 ประเทศ ประกอบด้วย โจ ไบเดน, สีจิ้นผิง, วลาดีมีร์ ปูติน และ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ในปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นคนเดียวที่มีโอกาสพบผู้นำ 4 คนภายในปีเดียว สะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำประเทศอินโดนีเซียคนนี้ ได้รับการยอมรับมากเพียงใด

‘บิ๊กตู่’ มั่นใจ!! ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น เผย ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่พุ่ง สูงสุดในรอบ 10 ปี

นายกฯ เชื่อมั่นเศรษฐกิจภาพรวมไทยดีขึ้น ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือนมีนาคม 2566 กว่า 9 พันราย สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมียอดจดประมาณถึง 72,000 – 77,000 ราย

(29 เม.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวม และสถานการณ์การท่องเที่ยว ฟื้นตัวดีขึ้นช่วยให้มีการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในเดือนมีนาคม 2566 ถึงกว่า 9 พันราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (มีนาคม 2565) ถึงร้อยละ 28 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศมีศักยภาพ สถานการณ์การเงินการคลังของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ต่างประเทศยอมรับในเศรษฐกิจของประเทศ และมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพการเงิน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมีนาคม 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 9,179 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เกือบร้อยละ 8 ในขณะที่หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2565) เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 28 โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 752 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 699 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 440 ราย ตามลําดับ ซึ่งเป็นตัวเลขทุนจดทะเบียนรวม 299,608.53 ล้านบาท ทำให้จำนวนรวมในไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม) ของปี 2566 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 26,182 ราย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถิติเดือนมีนาคม 2557 – ปี 2566 ทำให้ยอดการจัดตั้งธุรกิจในเดือนมีนาคม 2566 เป็นยอดสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกับเดือนมกราคม 2566 และกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการจดทะเบียนรายเดือนและรายไตรมาสที่เพิ่มขึ้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้คาดการณ์ว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 42,000 ราย และตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 72,000 – 77,000 ราย

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจไทย จากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคบริการที่มีสัญญาณจากการจัดตั้งบริษัทใหม่จำนวนมาก ซึ่งเงินหมุนเวียนที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับที่ตัวเพิ่มขึ้น จะเป็นอีกแรงบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในทุกระดับและจะส่งผลถึงในการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวม” นายอนุชากล่าว

บิ๊กตู่’ โชว์ผลงาน ‘การท่องเที่ยว-การเกษตร’ ฟื้นตัว ส่งผลเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง - ความเชื่อมั่นพุ่งสูง

(28 เม.ย.66) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ตนมุ่งมั่นพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควด-19 และผลกระทบจากสงครามในทวีปยุโรป ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุด รายงานสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน มี.ค.2566 เศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรที่ขยายตัวได้ดี อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง จากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 20.1% การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ลดลงจากเล็กน้อยช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -0.9% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.8 จากระดับ 52.6 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสูงสุดในรอบ 37 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค. 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวมจำนวน 2.22 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 953.0% ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2566 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นใน 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 83.5 ภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 82.3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 77.4 ภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 76.8 ภาคกลางอยู่ที่ระดับ 71.9 กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 60.9 

ประชาธิปัตย์ปลื้มนโยบายประกันรายได้โดนใจชาวนา

'อลงกรณ์' ขอบคุณผู้นำสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยเชียร์ชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือนกาเบอร์ 26 พรรคประชาธิปัตย์ เผยทีมเศรษฐกิจปชป.เตรียมเปิดตัวนโยบายเกษตรทันสมัย 26-26 แก้หนี้ แก้จนแบบเต็มคาราเบล  27 เม.ย.นี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าววันนี้(26 เม.ย)ว่า ขอขอบคุณ นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยที่ออกมาประกาศสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์โดยขอให้ชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือน กาเบอร์ 26 พรรคประชาธิปัตย์ เพราะชาวนาได้รับการดูแลช่วยเหลือและได้ประโยชน์จากผลงานและนโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top