Thursday, 8 June 2023
ECONBIZ NEWS

‘รัฐบาล’ ตั้งเป้า ปี 66 ส่งออก ‘ผลไม้สด-แปรรูป’ 4.44 ล้านตัน  ส่วน ‘ปลาช่อนไทย’ เจ๋ง!! ได้โควตาส่งเวียดนาม 100 ตัน

(17 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 และแผนการส่งออกผลไม้ไทย โดยตั้งเป้าส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน และยินดีที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ จับคู่ธุรกิจระหว่างกัน ทำให้ 'ปลาช่อนไทย' ได้รับความนิยมในประเทศเวียดนาม และได้โควต้าส่งออก 100 ตัน 

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนหารือร่วมกันเพื่อเตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 เตรียมตลาดล่วงหน้าเพื่อรองรับผลไม้ ด้วยการใช้ 22 มาตรการเชิงรุก ที่ครอบคลุม 4 ด้าน ตั้งแต่ การผลิต การตลาดในประเทศ รณรงค์การบริโภคผลไม้ไทย เจาะตลาดใหม่ในต่างประเทศ ตลอดจนด้านกฎหมายที่มุ่งเจรจามาตรการทางการค้าเพื่อลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกผลไม้สดและแปรรูปไว้ที่ 4.44 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 10% โดยเฉพาะด้านการส่งออกทุเรียน ซึ่งในปี 2566 นี้ ตั้งเป้าการส่งออกทุเรียนให้ได้ที่ 100,000 ล้านบาท

ไขข้อสงสัย!! ใครทำ 'GDP ไทย' สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ สวนกระแสข่าวจอมปลอม จ้องโจมตี 'รัฐบาลลุงตู่'

(16 เม.ย.66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 'LVanicha Liz' ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับ GDP ของไทย โดยระบุว่า...

ดูชัดๆ #ใครทำให้GDPไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้  

เมื่อปี่พาทย์บรรเลงเริ่มฤดูกาลเลือกตั้ง บางกลุ่มการเมืองก็จะต้องลงทุนลงแรงแข่งขันกันจนหน้ามืดตาลาย เพราะ “stake มัน very high” คล้ายกับว่าถ้าอดอยากปากแห้งต่ออีก ๔ ปี อาจถึงขั้นล้มละลายหายไปจากวงการแน่ๆ จึงมีการออกมาเผยแพร่ (สาด/พ่น?) ข้อมูลผิดบ้างถูกบ้างบิดเบือนหลอกลวงบ้างออกสู่สาธารณะ

ประชาชนผู้มีอำนาจแค่ ๑ วันต่อ ๔ ปี จึงต้องวิเคราะห์ก่อนรับข้อมูลข่าวสารให้ดี มิฉะนั้นหากเลือกพรรคการเมืองผิด อาจจะต้องคิดจนประเทศพัง

หนึ่งในประโยคฮิตที่มีการนำออกมากระจายสู่โซเชียลคือ “อยู่มา ๘ ปี ทำ GDP โตได้แค่ ๒% ยังจะอยู่ต่ออีกหรือ”

ซึ่งจากการวิเคราะห์ตลอดมา พบว่าน่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก จึงสืบค้นดูว่าข้อมูลมีที่มาที่ไปอย่างไร พบในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ส.ส. ผู้หนึ่งกล่าวไว้ดังนี้  

“GDP ตกต่ำตลอด ๘ ปี: ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์แต่งตั้งตัวเองเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ตลอด ๘ ปีที่ผ่านมาผลคือ... กราฟร่วง แนวโน้มเศรษฐกิจไทยติดลบ หนึ่งจุดห้า ถึง ศูนย์ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ตลอด ๘ ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากไทย กลับสามารถคงระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระดับ ๕%-๘% ต่อปี แปลว่า วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว เมื่อเจอกับวิกฤตโรคระบาดและผู้นำที่ไม่มีความรู้ในการบริหารเศรษฐกิจ กราฟก็ยิ่งดิ่งเหวเข้าไปใหญ่”

https://m.facebook.com/pheuthaiparty/photos/a.153985257967754/4657213287644906/

ผู้เขียนสืบค้นจาก Google ด้วยคำว่า Thailand GDP ก็ได้กราฟเปรียบเทียบมาให้เลย ๓ ประเทศ โดยไทยมี GDP สูงสุดในกราฟ และมีการเติบโตทิ้งห่างจากเพื่อนบ้านอีกสองประเทศเป็นช่วงกว้างขึ้นทุกที การทิ้งห่างมากขึ้นหมายถึงเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตมากกว่า ซึ่งการทิ้งห่างจะสังเกตได้โดยเส้นกราฟของประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตกว่า จะไต่ขึ้นชันกว่า 

เพื่อตรวจสอบข้อความในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า “วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว” เป็นจริงหรือไม่ ผู้เขียนนำช่วงเติบโตดีที่สุดของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ (พรรคเพื่อไทย) กับช่วงเติบโตดีที่สุดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนวิกฤตโควิดมาเปรียบเทียบกับเวียดนาม (ซึ่งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชอบนำมาใช้เป็นตัวอย่างความเติบโต) พบว่ากราฟ GDP ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไต่ขึ้นชันกว่าช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และอัตราส่วนของการเพิ่มขนาดเศรษฐกิจช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สูงกว่าเวียดนาม ขณะช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่ำกว่าเวียดนามเกือบครึ่ง

ตกลง “วันที่เรายังไม่เผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่อยู่แล้ว” ก็คงย่ำแย่ตอนพรรคเพื่อไทยบริหารนี่เอง เพราะอัตราการเติบโตต่ำกว่าเวียดนาม   

สรุปว่าข้อกล่าวอ้างที่ว่า GDP ตกต่ำตลอด ๘ ปีนั้น ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด หลักฐานแสดงไปในทางตรงกันข้าม

ส่วนในช่วงหลังจากวิกฤต ตัวเลข post-crisis GDP จะไม่ใช่สิ่งสะท้อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง เพราะการฟื้นฟูความเสียหายต่างๆ ในช่วงวิกฤตเข้ามาทำให้เกิดส่วนเพิ่มของ GDP อ้างอิงบทความ “Does high GDP mean economic prosperity?” ของ Investopedia
https://www.investopedia.com/articles/economics/08/genuine-progress-indicator-gpi.asp

การที่ประเทศต่างๆ จะมีอัตราการเพิ่ม GDP ในช่วง post-crisis ที่แตกต่างกัน มันแล้วแต่กลไกการฟื้นฟูในแต่ละประเทศ ว่าจะทำอะไรช่วงไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งบประมาณของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดซึ่งรัฐบาลเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้ระบอบเลือกตั้ง ถูกฝ่ายค้านกดดันตัดทอนอย่างเข้มข้นจนไม่อาจเป็นไปตามที่วางแผนมากนัก ทำให้มีผลเหนี่ยวรั้ง GDP ของไทยด้วย การนำมาเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจร่วมกับตัวเลขก่อนวิกฤต เหมารวม ๘ ปีจึงทำให้เกิดภาพที่บิดเบี้ยวไม่สะท้อนความเป็นจริง

เมื่อตรวจสอบในมิติที่ละเอียดขึ้น ให้ครอบคลุมการเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ที่เฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทยระบุไว้ พบว่าประเทศที่ GDP สูงและเติบโตดีมากที่สุดในกลุ่มคืออินโดนีเซีย ตามมาด้วยไทย ส่วนประเทศที่เหลือนั้น GDP โตอยู่ข้างใต้เส้นกราฟของไทย ลักษณะกราฟการเติบโตของประเทศที่มีแนวโน้มดี (อินโดนีเซียและเวียดนาม) คือช่วงปลายโค้งขึ้นและตลอดเส้นไม่ค่อยสะดุด (อ้างอิงภาพของ Our World in Data)
https://ourworldindata.org/grapher/gross-domestic-product?tab=chart&country=IDN~BRN~KHM~LAO~MYS~PHL~THA~VNM~SGP

ตรงนี้เองที่มีข้อสังเกตว่า เส้น GDP ของไทยเริ่มชันตีคู่ขึ้นมาขนานอินโดนีเซียในสมัย พล.อ.เปรม โดยมีแรงส่งไปยังรัฐบาลต่อๆ ไปชัดเจน จากนั้นเกิดการสะดุดครั้งใหญ่ในวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นช่วงที่นายทักษิณ (บิดาแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย) เข้ามาเป็นรองนายกฯ จากนั้นเมื่อนายทักษิณเข้ามาเป็นนายกฯ เอง เส้น GDP ไทยเริ่มทิ้งตัวห่างลงมาจากอินโดนีเซีย หลังสมัยนายทักษิณ เส้น GDP สะดุดเรื่อยๆและทิ้งตัวห่างลงมาจากอินโดนีเซียมากขึ้นๆ จนเข้ามาสู่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) เส้น GDP จึงเริ่มโค้งขึ้นอีกครั้ง จากนั้นทุกประเทศก็เข้าสู่วิกฤตโควิด และประสบสภาวะ GDP สะดุดเหมือนๆ กัน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่เงื่อนไขและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ

ณ จุดนี้ น่าจะเข้าใกล้คำตอบแล้วว่า #ใครทำให้GDPไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้

ข้อพิสูจน์ที่น่าจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่าเหตุใด GDP ไทยเริ่มจะสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ตั้งแต่สมัยนายทักษิณก็คือ ในยุคของนายทักษิณ มีการดำเนินการที่ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของชาติตกต่ำดิ่งเหวลงไปจน Political Stability index อยู่ใต้ระดับ ๐ (percentile rank ต่ำกว่า ๕๐%) เป็นครั้งแรก ซึ่งมีผลเสียหายลากยาวถึงปัจจุบัน อันเนื่องมาจากยังคงมีภัยความมั่นคงของชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่งมาแก้ไขได้บางส่วนและดีขึ้นเรื่อยๆในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ (อ้างอิงกราฟ Political Stability ของ Trading Economics) ซึ่งสอดคล้องกับเส้น GDP ที่เริ่มโค้งขึ้นก่อนวิกฤตโควิด
.
เสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงของชาติมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ ตามคำอธิบายที่ว่า “หากไร้ซึ่งสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมที่มั่นคงและปลอดภัยแล้ว ก็ยากที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจใดๆ ความมั่นคงของชาติเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ ...”
https://www.fso.gov.hk/eng/blog/blog20210418.htm
.
ยกตัวอย่างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็อยู่บนหลักที่ว่าประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองโดยทั่วไปจะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศได้ดีกว่า
https://www.investmentmonitor.ai/features/fdi-drivers-and-political-stability

กราฟ FDI ของ Trading Economics แสดงชัดว่า FDI ของไทยเริ่มตกหลังจากเสถียรภาพทางการเมืองของไทยลดลงต่ำกว่า ๐ ในสมัยที่นายทักษิณบริหาร และเริ่มจะกลับมาดีขึ้นในสมัย พล.อ.ประยุทธ์

สำหรับสาเหตุที่ว่าทำไม Political Stability index ของไทยลดลงต่ำกว่า ๐ (percentile rank ต่ำกว่า ๕๐%) ในสมัยนายทักษิณนั้น กราฟ “ผลกระทบจากการลดงบประมาณทางการทหารยุคทักษิณ” ให้คำตอบที่ชัดเจน
-------------------------------------------------------------------

‘บิ๊กตู่’ สั่ง ‘ขยายตลาด-ส่งเสริมแรงงานไทย’ ไปทำงานตปท. หลังส่งออกกว่า 1 แสนคน โกยเงินเข้าประเทศกว่า 2.9 แสนล้านบาท

(16 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีกับสถานการณ์แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ในช่วง 2 ปี (2565 – 2566) ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และโดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสามารถทำให้ตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มากถึง 113,186 คน และส่งเงินกลับเข้าประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 299,077 ล้านบาท ถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าขยายตลาดและส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยมีงานทำ มีอาชีพ สร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ 

นายอนุชา กล่าวว่า แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะฝีมือดี ขยันทำงาน อดทน และเรียนรู้ได้รวดเร็ว ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยกระทรวงแรงงาน มีการอนุญาตให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ในปี 2565 จำนวน 88,164 คน และปี 2566 (เดือนมกราคม - มีนาคม) จำนวน 25,022 คน โดยตลาดที่เป็นที่นิยมของแรงงานไทยมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี รัฐอิสราเอล ญี่ปุ่น และมาเลเซีย นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 50,000 คน โดยรักษาตลาดแรงงานเดิมที่มีศักยภาพ อาทิ ภาคการเกษตรในรัฐอิสราเอล ภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น และภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรม และการเกษตรในสาธารณรัฐเกาหลี ควบคู่ไปกับการขยายตลาดแรงงานใหม่ที่มีแนวโน้มความต้องการแรงงานไทย 

“นายกฯ ให้ความสำคัญและมีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และปกป้องดูแลแรงงานไทยได้ตามสิทธิ รวมถึงได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม ทั้งนี้ รัฐบาลได้สร้างความร่วมมือด้านแรงงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายประเทศ เพื่อจัดหาตลาดที่มีศักยภาพรองรับแรงงานไทย รวมถึงฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรงงานไทยให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับแรงงานไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแรงงานไทยในต่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาวิถีชีวิตคนไทย” นายอนุชา กล่าว

‘พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปักหลักไทยเกิน 180 วัน อย่านิ่งดูดาย มีรายได้จาก ‘ธุรกิจดิจิทัล-สื่อออนไลน์’ ก็ควรต้องเสีย

(16 เม.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวถึง ประเด็นการกวดขันเก็บภาษีต่อผู้มีรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัล (Digitalization) แม้รายได้นั้น ๆ จะมาจากต่างประเทศ ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 66 ระบุว่า…

ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังมีบุคคลหรือบริษัทดิจิทัลและแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ หรือแม้แต่ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหมือนรูปแบบบริการอื่น ๆ แต่มีรายได้สะพัดอยู่ในบัญชีประเทศไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น สามารถทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ (Digitalization) และมองผิวเผินเหมือนตรวจสอบได้ยาก

“อย่างหลายคนที่เราเห็นเขาขายสินค้าผ่านสื่อโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตัวผู้ขายหลาย ๆ คนเองก็มีทั้งที่อยู่ในไทยและไม่ได้อยู่ในไทย แต่อย่างไรซะ หากมีถิ่นฐานในไทยหรืออยู่ในไทยเกิน 180 วันนั้น ผมคิดว่าสรรพากรควรจะต้องเข้มงวดกับบุคคลหรือบริษัทเหล่านั้นให้มากขึ้น เพราะนี่คือเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ ควรที่จะเข้าไปตรวจสอบว่า ใครที่มีรายได้เยอะ ๆ จากขายสินค้าผ่านช่องทางระบบดิจิทัล และมีถิ่นฐานอยู่ในบ้านเราบ้าง จากนั้นก็ต้องมาทำการเสียภาษีจากรายรับที่ได้ทั้งหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้สรรพากรสามารถทำได้ เนื่องจากระบบดิจิทัลมีหลักฐานบันทึกไว้อยู่”

'คริปโตมายด์' วิเคราะห์!! 'แอปฯ เป๋าตัง' ตัวเลือกน่าสนใจ หาก 'เพื่อไทย' จะปั้น Digital Wallet แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ บริษัทที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทย ภายใต้การกำกับดูแล ก.ล.ต. วิเคราะห์นโยบาย “พรรคเพื่อไทย” ความเป็นไปได้ของ Digital Wallet สำหรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

เมื่อวันที่ (12 เม.ย.66) หนึ่งในประเด็นใหญ่ในช่วงนี้ที่เป็นที่พูดถึงและถกเถียงในโลกโซเชียลกันอย่างแพร่หลาย ก็คือการประกาศนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่าด้วยเรื่องการเติมเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาทให้กับประชาชนคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายใกล้บ้านในรัศมี 4 กิโลเมตร ผ่าน Digital Wallet โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ในตลาดท้องถิ่น สร้างธุรกรรมระหว่างรายย่อย

หนึ่งในรายละเอียดของนโยบายที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการนำ “เทคโนโลยีบล็อกเชน” มาสร้าง Digital Wallet เพื่อสร้างเงื่อนไขการใช้งานที่จะทำให้นโยบายเป็นไปได้อย่างตรงจุด ในประเด็นนี้นายอภินัทธ์ เดชดอนบม นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาทำ Digital Wallet นั้นอาจไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลเรื่องข้อจำกัดด้านการออกแบบบางอย่างซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีข้อจำกัดในเรื่องของการออกแบบ เนื่องด้วยสิ่งที่เรียกว่า Blockchain Trilemma หรือหลักพื้นฐานบล็อกเชน 3 ประการ ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้พร้อมกัน อันประกอบด้วย ความปลอดภัย (Security), การขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต (Scalability) และการกระจายอำนาจ (Decentralization)

ซึ่งตัวเลือกแรกก็เป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก Security การที่จะทำระบบบล็อกเชนให้สามารถรองรับธุรกรรมมหาศาลจากประชากรหลายสิบล้านคน ก็จำเป็นต้องเลือก Scalability มาเป็นอันดับสอง นั่นหมายความว่าต้องยอมสูญเสีย Decentralization ไป
 
อีกทั้งการทำระบบการชำระเงินของรัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเป็นบล็อกเชนสาธารณะ (Public Blockchain) ที่เปิดรายละเอียดของโครงสร้างระบบให้คนทั่วไปเห็น ทำให้ตัวเลือกเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก Private Blockchain แต่การจะทำให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ โดยไม่ติดขัด Digital Wallet นี้ก็ต้องเป็นแบบ Custodial Wallet ที่ทำให้ Decentralization ลดลงไปอีก

ซึ่งทำให้ระบบโดยรวมนั้นอาจไม่ได้แตกต่างจากการใช้ระบบฐานข้อมูลแบบเดิมที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังไม่มี Case Study ของบล็อกเชนที่สามารถรองรับธุรกรรมได้มากระดับหลายสิบล้านธุรกรรมต่อวันได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยเหตุนี้ทางเราจึงมองว่าตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดในการทำ Digital Wallet นี้ก็คือ แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่มีอยู่ก่อนแล้ว และคาดว่า “แอปพลิเคชันเป๋าตัง” ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวได้ไม่ยาก มีประวัติการรองรับธุรกรรมจากการใช้งานจริงจากโครงการก่อนหน้านี้

ประชาชนมีความคุ้นเคยกับแอปพลิเคชันเป๋าตังอยู่แล้ว อีกทั้งการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังที่มีอยู่เดิมก็จะสามารถประหยัดงบประมาณการพัฒนาระบบใหม่และดูแลรักษาได้อีกด้วย

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นที่พูดถึงก็คือความเกี่ยวข้องของ Digital Wallet กับ Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งในเรื่องนี้ทางเรามองว่าไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากทางแบงก์ชาติมีแนวทางพัฒนาของตัวเอง โดยในตอนนี้ Retail CBDC ก็กำลังอยู่ในช่วง Pilot Test ระหว่างช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566 ร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด

โดยหาก Pilot Test แล้วมีปัญหาหรือมีจุดต้องแก้ไขก็ต้องนำกลับไปพัฒนาใหม่ และ Pilot Test อีกครั้งไปเรื่อย ๆ จนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือนหรือหลายปี เพราะ CBDC จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ไม่สามารถรีบเร่งได้ ทำให้ไทม์ไลน์อาจไม่ตรงกับการบังคับใช้ นโยบายดังกล่าวหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

‘รัฐบาล’ ปลื้ม!! แนวโน้มตลาดรถ EV ไทยโตต่อเนื่อง พร้อมยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค

(12 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในภาคการผลิตและส่งออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ของภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

พร้อมทั้งรับทราบการเปิดเผยรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยซึ่งคาดการณ์ว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในไทยในปี 2566 นี้จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดถึง 271.6% เมื่อเทียบกับปี 2565 พร้อมประเมินว่าจะสามารถทำยอดขายได้กว่า 50,000 คัน สะท้อนถึงพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ รถยนต์ไฟฟ้า BEV (Battery Electric Vehicle) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน โดยไม่มีการปลดปล่อยมลพิษ (Zero Emission) จากรถยนต์โดยตรง จึงได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในไทย มีปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยด้านอุปสงค์มาจากความต้องการรถยนต์ BEV ที่ยังอยู่ในระดับสูงของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลของมาตรการกระตุ้นด้านราคาที่ถูกจุดจากทางภาครัฐและการเร่งกระจายจุดชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งาน 

APM ยื่นไฟลิ่ง เพื่อนแท้ แคปปิตอล ออกหุ้นกู้ฯ มีประกัน ดอกเบี้ย 7.50% หลักประกัน 1.5 เท่า เตรียมขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อ

APM ยื่นไฟลิ่ง เพื่อนแท้ แคปปิตอล ต่อ ก.ล.ต. เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2566 ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ มีประกัน มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย คงที่ 7.50% ต่อปี เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ มูลค่าหุ้นกู้รวมไม่เกิน 100 ล้านบาท หลักประกันทางธุรกิจมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.5 เท่า เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อ ขยายสาขา และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง คาดจองซื้อวันที่ 9-11 พ.ค. 2566 และคาดออกหุ้นกู้วันที่ 12 พ.ค. 2566

นายวุฒิศิลป์ จรัสบวรพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพื่อนแท้ แคปปิตอล จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน ดำเนินธุรกิจด้วยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด และ ธุรกิจนายหน้าธุรกิจประกันวินาศภัย โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง มีสาขาการให้บริการจำนวน 21 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ในนาม “เพื่อนแท้ เงินด่วน” โดยมีพอร์ตสินเชื่อประมาณ 347.12 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565) 

ทั้งนี้ บริษัทมุ่งเน้นการให้บริการการปล่อยสินเชื่อที่มีโฉนดที่ดินหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนลูกหนี้เงินให้สินเชื่อที่มีโฉนดเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวน 97% นอกนั้นเป็นการบริหารความเสี่ยงโดยการอนุมัติสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ หรือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ตามลำดับ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของกลุ่มผู้บริหารในด้านการบริหารความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลโดยมีโฉนดค้ำประกันมากกว่า 20 ปี สะท้อนให้เห็นจากความสามารถในการบริหารอัตราการผิดนัดชำระของสินเชื่อ (Non-Performing Loans: NPL) ของบริษัทอยู่ในระดับ 3.62% โดยในปี 2565 ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตของยอดปล่อยสินเชื่อประมาณ 42.33% 

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM กล่าวว่าบริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำหรับการเสนอขายหุ้นกู้มีประกันของ บริษัท เพื่อนแท้ แคปปิตอล จำกัด ครั้งที่ 1/2566 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2568 ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มีอายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 7.50% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ มูลค่าหุ้นกู้รวมไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจสิทธิเรียกร้องที่ผู้ออกหุ้นกู้มีอยู่กับลูกหนี้การค้า ประเภทไม่เฉพาะเจาะจงลูกหนี้แห่งสิทธิ โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.5 เท่า ของมูลค่าหุ้นกู้ที่ออกและเสนอขายได้ทั้งหมด

นายสุริยา ธรรมธีระ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM กล่าวว่า บริษัทยื่นแบบแสดงรายการต่อ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุมัติจาก ก.ล.ต. คาดว่าจะกำหนดวันจองซื้อในช่วงระหว่างวันที่ 9-11 พ.ค. 2566 และคาดว่าสามารถออกหุ้นกู้ในวันที่ 12 พ.ค. 2566 

การออกและเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้ เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ เพื่อขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อ และ ขยายสาขาการให้บริการ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 

EA รับโล่ประกาศเกียรติคุณ -เข็มเชิดชูเกียรติ ‘คนดีเก่ง คนกล้า สปน.’

เมื่อไม่นานมานี้ ดร.เพ็ชร ชินบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.พลังงานมหานคร บริษัทในกลุ่ม บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในงานพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติ ‘คนดีเก่ง คนกล้า สปน.’ ณ ห้องประชุม 108 อรรถไกวัลวที ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

อัปเดต!! มอเตอร์เวย์ 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี คืบหน้ากว่า 90% คาดปี 2568 ได้ใช้ ร่นเวลาเดินทางถึงกาญจนบุรีเพียง 45 นาที

(11 เม.ย.66) เพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' เผย มอเตอร์เวย์ 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี คืบหน้าแล้วกว่า 90% เหลืองานด่าน, ระบบเก็บค่าผ่านทาง และเปิดประมูลจุดพักรถ เตรียมเปิดให้บริการ 2568 ร่นเวลาเดินทาง กาญจนบุรีเพียง 45 นาที!!! รายละเอียดดังนี้...

วันนี้เอาความคืบหน้าของ มอเตอร์เวย์ M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งสร้างมากว่า 6 ปีผ่านหลายปัญหา ทั้งเรื่องแบบ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของหน้างาน และที่ใหญ่ที่สุดคือปัญหางบประมาณเวนคืนที่ดิน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาท

ตอนนี้ ความคืบหน้าด้านโยธาไปแล้วกว่า 90% แต่ในส่วนสัญญางานด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา O&M (ให้บริการ และซ่อมบำรุง) ซึ่งจ้างเอกชน (BGSR) เพื่อก่อสร้าง และให้บริการตลอดสัญญา 30 ปี ในรูปแบบ PPP Gross Cost 

โดยในปัจจุบันยังเหลืองานที่ยังไม่ประมูลอีก 1 งานคือ การร่วมทุนสร้างศูนย์บริการทางหลวง และจุดพักรถ ทั้งหมด 6 จุด

>> รายละเอียดการประมูล PPP จุดพักรถ
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1346449295793546/?mibextid=tejx2t
—————————
>> รายละเอียดโครงการ มอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี ล่าสุด...

แยกเป็น 2 ช่วง คือ บางใหญ่-บ้านโป่ง และ บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ช่วงที่จะไปชะอำ ต่อไปจากบ้านโป่ง-ชะอำ 

ตามลิงก์นี้ครับ
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/595019377603212?s=1160002750&sfns=mo

>> เอาล่ะครับ เรามาดูรายละเอียดปัจจุบันกันดีกว่า 

ลิงก์ที่มาข้อมูล
http://eiadoc.onep.go.th/eialibrary/monitor/3transport/61_1_59_9832.pdf

มอเตอร์เวย์สายนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ...
- ช่วงบางใหญ่-นครปฐมตะวันตก จะเป็นถนน 6 เลน 
- ช่วงนครปฐมตะวันตก-กาญจนบุรี จะเป็นถนน 4 เลน
และเขตทางเผื่อการขยายเส้นทางเป็น 8 เลนตลอดเส้นทาง

มีรั้วแบ่งแยกจราจร ตลอดเส้นทาง และมีทางบริการ คู่ขนานมอเตอร์เวย์เป็นช่วงๆ 

มีศูนย์บริการทางหลวง 2 ระดับ คือ...
1.ศูนย์บริการทางหลวง 2 แห่งคือ นครชัยศรี (กม.19) และ นครปฐม (กม.47) 
2.ที่พักริมทาง 1 แห่ง คือ ท่ามะกา (กม.70)

มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี เริ่มต้นจากสามแยกบางใหญ่ บริเวณ ตรงข้ามเยื้องเซ็นทรัลเวสเกต โดยอ้อมตลาดบางใหญ่ไป เพื่อลดผลกระทบกับชาวบ้านและลดค่าเวนคืนให้ต่ำสุด (แต่ก็ยังแพงอยู่ดี) ช่วงนี้จะยกระดับ จากต่างระดับบางใหญ่ - กม. ที่ 2 ก่อนจะถึงด่านบางใหญ่จะเป็นยกระดับยาว

จากด่านจะวิ่งตรงไปด้านทิศตะวันตก ผ่านจุดตัดกับ ถนน 3233 เป็นต่างระดับ และ ด่านนครชัยศรี 

พอตรงมาทางทิศตะวันตก อีก 5 กม. จะเป็นต่างระดับ ใหญ่ เพื่อมีกิ่งหนึ่งตัดกับถนนเพชรเกษม  พร้อมมีด่านอีกด่านหนึ่ง เพื่อเชื่อมต่อกับถนนเพชรเกษม และ มีปลายทางเปิดไว้เพื่อต่อกับมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ และอีกด้านหนึ่งเว้นไว้เพื่อจะเป็นมอเตอร์เวย์ สาย 92 เป็นวงแหวนของกรุงเทพ รอบที่ 4

ตรงมาทางด้านตะวันตกอีก 8 กม จะผ่านจุดตัดกับถนน 3036 ซึ่งเป็นต่างระดับ และด่านนครปฐมตะวันออก

มอเตอร์เวย์ก็จะวิ่งขนานเมืองนครปฐม ไปอีก 8 กม จะผ่านจุดตัดถนน 321 (มาลัยแมน) ซึ่งเป็นต่างระดับ และด่านนครปฐมตะวันตก

พอผ่านจากนครปฐม มอเตอร์เวย์จะปรับแนวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปอีก 19 กม จะผ่านจุดตัดถนน 3394 ซึ่งเป็นต่างระดับ และด่านท่ามะกา 

วิ่งต่อไปทางทิศตะวันตก อีก 13 กม จะผ่านจุดตัดถนน 3081 ซึ่งเป็นต่างระดับ และด่านท่าม่วง

พอเลยจากด่านท่าม่วงมีแผนต่อไปด่านพรมแดนพุน้ำร้อน ซึ่งเดี๋ยวผมมาเล่าให้ฟังวันหลักอีกที (แต่น่าจะเกิดยาก ถ้าทวายไม่เกิด และ ITD ไม่ลงทุนมอเตอร์เวย์สายนี้เอง)

และสุดท้าย มอเตอร์เวย์ก็จะไปสิ้นสุดที่ถนน 324 (กาญจนบุรี-อู่ทอง) ซึ่งจะเป็นต่างระดับ และด่านขวางปลายทาง 

‘รฟม.’ เผยความคืบหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 5 สาย ชี้!! ‘สายสีเหลือง-สายสีชมพู’ พร้อมเปิดใช้งานปี 66

เมื่อวานนี้ (9 เม.ย.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 5 สาย  ภายใต้ความรับผิดชอบของ ‘รฟม.’ เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2566 โดยระบุว่า

อัปเดต !!! ความคืบหน้าเดือนมีนาคม ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ ระยะทางรวม 116.6 กม. 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top