Thursday, 27 March 2025
ECONBIZ NEWS

‘SPCG’ ประกาศ!! กำไรสุทธิปี 67 ที่ 746.8 ล้านบาท เตรียมจ่าย!! ปันผลครึ่งปีหลัง 0.70 บาทต่อหุ้น

(24 ก.พ. 68) บมจ.เอสพีซีจี หรือ SPCG ประกาศผลการดำเนินงานปี 2567 ทำรายได้จากการขายและการให้บริการ 2,049.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 746.8 ล้านบาท เตรียมจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลัง 0.70 บาทต่อหุ้น รวมทั้งปีจ่ายปันผลอัตรา 1.20 บาทต่อหุ้น สะท้อนฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง รวมถึงมีอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำ มั่นใจศักยภาพการสร้างรายได้และกำไรในอนาคตของโครงการโซลาร์ฟาร์ม แม้สิ้นสุดระยะเวลาได้รับ Adder บริษัทฯ ยังคงได้รับเงินจากการขายไฟตามปกติ

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 4 ปี 2567 บริษัทฯ สามารถสร้างรายได้และผลกำไรอย่างต่อเนื่องจากการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 455.2 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 127.8 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2567 สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทั้งสิ้นจำนวน 372.5 ล้านหน่วย ส่งผลให้มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 2,049.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 746.8 ล้านบาท ชะลอตัวจากปีก่อนที่มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 4,125.6 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,973.9 ล้านบาท เนื่องจากโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 36 แห่ง ได้สิ้นสุดระยะเวลาได้รับรายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่อัตรา 8 บาทต่อหน่วย และรายได้จากธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟ ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ได้รับ Adder แต่โครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีศักยภาพสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง  

จากผลการดำเนินงานปี 2567 ที่สามารถสร้างกำไรอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 จึงพิจารณาจ่ายเงินปันผลอัตรา 1.20 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,266,948,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 14.90% เมื่อเทียบกับราคาหุ้น SPCG ที่ 8.05 บาท ณ สิ้นวันทำการของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 ไปแล้วในอัตรา 0.50 บาทต่อหุ้น คงเหลือที่จะจ่ายเงินปันผลในงวดนี้ 0.70 บาทต่อหุ้น กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 11 มีนาคม 2568 และจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568

ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจศักยภาพธุรกิจจะสามารถสร้างรายได้และกำไรอย่างสม่ำเสมอ โดยปัจจุบันมีโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการรวม 36 แห่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัดของประเทศไทย อาทิ นครราชสีมา, ขอนแก่น, สกลนคร, นครพนม, บุรีรัมย์ ฯลฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม260 เมกะวัตต์ (MW) รวมถึงยังมีรายได้ธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟสำหรับบ้านพักอาศัย สำนักงาน อาคารธุรกิจขนาดเล็ก-ใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมและอื่น ๆ

“แม้ผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมาชะลอตัวลง แต่บริษัทฯ ยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีอัตราหนี้สินต่อทุน ณ สิ้นปี 2567 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.01 เท่า รวมถึงมีกระแสเงินสดอยู่ในระดับที่ดี สามารถจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอและเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG กล่าว

WHA ประกาศแผน Spin-off WHAID บริษัท Flagship ในธุรกิจกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เตรียมเดินหน้า!! เข้าจดทะเบียนใน ‘ตลาดหลักทรัพย์ฯ’ พร้อมมุ่งขยายธุรกิจทั้ง 5 กลุ่ม

(24 ก.พ. 68) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“WHA” หรือ “บริษัทฯ”) แจ้งมติคณะกรรมการบริษัทฯ เดินหน้าแผนเตรียมการออกและเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“WHAID”) ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (“IPO”) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“SET”) โดยจำนวนหุ้นสามัญที่จะเสนอขายในครั้งนี้คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 22.73 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ซึ่ง บริษัทฯ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ WHAID โดยจะถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75.95 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO)

กลุ่มบริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านแผนการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวสำหรับทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ซึ่งได้แก่ 

1) ธุรกิจโลจิสติกส์ 

2) ธุรกิจโมบิลิตี้ (ภายใต้แบรนด์ Mobilix) 

3) ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 

4) ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน 

5) ธุรกิจดิจิทัล โดยแผนการเสนอขายหุ้น IPO ของ WHAID จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงโอกาสในการสร้างการเติบโตของทุกธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ คณะกรรมการของบริษัทฯ และของ WHAID ยังมีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (“WHAUP”) ผ่านการขายหุ้น WHAUP ในสัดส่วนร้อยละ 10.00 โดย WHAID และบริษัทย่อยของ WHAID ให้แก่ WHA เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความสามารถเชิงกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจของ WHAUP และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นของทั้ง WHA, WHAID และ WHAUP โดยภายหลังการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ WHA และ WHAID จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน WHAUP ที่ร้อยละ 10.00 และร้อยละ 61.59 ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าธุรกรรมการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จก่อนการเสนอขายหุ้น IPO ของ WHAID

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า WHAID ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน WHAID มีนิคมอุตสาหกรรมกว่า 15 แห่ง และมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกว่า 78,500 ไร่ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 13 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 2 แห่ง (และส่วนขยายของนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 2 แห่ง) นอกจากนี้ ยังมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่และส่วนขยายของนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่รอการพัฒนาอีกจำนวน 7 โครงการ โดย WHAID ได้มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) อย่างต่อเนื่อง พร้อมเป็นพันธมิตรที่ให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจรแก่ลูกค้า

กลุ่มบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจากแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจากผู้ลงทุนต่างชาติ โดยทั้งประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ถือเป็นพื้นที่ตั้งยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์รวมของห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร อีกทั้งมีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค และมีความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบริษัทฯ จึงได้พิจารณาให้ WHAID ซึ่งประกอบธุรกิจหลักในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รองรับการเติบโตของธุรกิจด้วยโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม รวมถึงจะช่วยเพิ่มช่องทางการระดมทุนให้ WHAID สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วยตนเองมากขึ้นในอนาคต การระดมทุนของ WHAID ครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงของธุรกิจพัฒนานิคมและที่ดินอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทฯ ในระยะยาว ทั้งจากการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) และการสร้างความพร้อมเพื่อคว้าโอกาสจากการเติบโตจากภายนอกผ่านการเข้าซื้อกิจการ รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ (Inorganic Growth) ในอนาคต

ในการ IPO ของ WHAID ในครั้งนี้ WHAID และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ร่วมเสนอขายหุ้น จะเสนอขายหุ้นสามัญรวมเป็นจำนวนไม่เกิน 970,518,600 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 22.73 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ซึ่งจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ WHAID คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 9.09 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) และ 2) หุ้นสามัญเดิมของ WHAID คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 13.64 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ทั้งนี้ ภายหลังการ IPO WHAID ยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะถือหุ้นใน WHAID ทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75.95 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการ IPO ทั้งนี้ WHAID ร่วมกับคณะที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการจัดเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อยื่นให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนที่จะปรับโครงสร้างการถือหุ้นใน WHAUP โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถเชิงกลยุทธ์ของ WHAUP ในการขยายธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้ ทั้งบริษัทฯ และ WHAID เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงของ WHAUP  จะเพิ่มความยืดหยุ่นสำหรับ WHAUP ในกรณีที่จำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต 

การเดินหน้าแผน Spin-off WHAID และปรับโครงสร้างการถือหุ้นใน WHAUP ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ขับเคลื่อนทุกธุรกิจหลักของบริษัทฯ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยแต่ละธุรกิจจะมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง และสามารถนำเงินจากการเสนอขายหุ้นสามัญเดิมของ WHAID ไปสนับสนุนแผนการเติบโตเพื่อสร้างมูลค่าระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีเป้าหมายและงบประมาณการลงทุนในระยะ 5 ปี (2568-2572) สำหรับแต่ละธุรกิจ ดังนี้

1) ธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัทฯ มีเป้าหมายภายในปี 2568 ที่จะเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการเป็นประมาณ 3,309,000 ตารางเมตร มีโครงการให้เช่าพื้นที่ใหม่ประมาณ 200,000 ตารางเมตร โดยคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปีที่ 19,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมขยายธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งในไทยและเวียดนาม 

2) ธุรกิจโมบิลิตี้ (ภายใต้แบรนด์ Mobilix) ตั้งเป้าหมายให้มีผู้ใช้บริการเช่าแล้ว 1,700 คันภายในปี 2568 และ 20,000 คัน ภายในปี 2572 โดยบริษัทฯ ได้กำหนดงบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 30,000 ล้านบาท ธุรกิจโมบิลิตี้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ซึ่งในปัจจุบันประกอบไปด้วย 3 บริการหลัก ได้แก่ บริการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV Rental Service) บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (On Premise & Public EV Charging Solution) และโมบิลิกส์ซอฟต์แวร์โซลูชัน (Mobilix Software Solution) ซึ่งตั้งเป้าให้บริการทั้งในกลุ่ม B2B และ B2C  

3) ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินเป็นจำนวน 2,350 ไร่ ในปี 2568 และคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 37,000 ล้านบาท โดยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะมุ่งรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย และการเร่งขยายการเติบโตในประเทศเวียดนาม เพื่อเน้นดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซนเตอร์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ คลาวด์เซอร์วิส  

4) ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภค ตั้งเป้าการจำหน่ายน้ำในปี 2568 ที่ 173 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านการขยายธุรกิจน้ำอุตสาหกรรมและบำบัดน้ำเสียทั้งในไทยและเวียดนาม สำหรับธุรกิจพลังงานจะขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนทั้งในไทยและเวียดนาม โดยตั้งเป้าหมายสำหรับปี 2568 ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเป็น 1,185 เมกะวัตต์ โดยคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปีที่ 29,000 ล้านบาท 

5) ธุรกิจดิจิทัล ตั้งเป้าหมายพัฒนา 5 แอปพลิเคชันใหม่ ภายในปี 2568 และคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 4,000 ล้านบาท สำหรับการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ โดยธุรกิจดิจิทัลนั้นเป็นแกนกลางในการช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น AI และ IoT มาประยุกต์ใช้ในแต่ละธุรกิจภายในกลุ่มบริษัทฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงาน 

สุดท้ายนี้ กลุ่มบริษัทฯ ขอตอกย้ำความมั่นใจ ว่าการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการขยายการลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดจนสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียในทุกส่วน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจ “WHA: WE SHAPE THE FUTURE” ในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับผู้คน สังคม และประเทศไทยต่อไป

‘มาสด้า’ ประกาศดัน!! โรงงานผลิตในไทย ให้ขึ้นเป็นศูนย์กลาง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ เผย!! เตรียมผลิต รถยนต์ไฟฟ้า คอมแพ็คเอสยูวี 100,000 คันต่อปี ส่งออกทั่วโลก

(22 ก.พ. 68) มาสด้าประกาศแนวทางการดำเนินธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ดีลเลอร์ และพันธมิตรทางธุรกิจ

นำทัพโดย มร. มาซาฮิโร โมโร ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น พร้อมด้วย นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย 

ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ครั้งสำคัญสุดในรอบทศวรรษ เพื่อเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อการก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน ภายใต้ธีม The Future, Crafted by the Joy of Driving ชูวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ล่าสุด เพื่อส่งมอบความสุขในการขับขี่ตามแนวทาง Multi-solution ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าควบคู่กับแผนเปิดตัวรถยนต์ใหม่ 5 รุ่น ภายใน 3 ปี เชื่อมั่นระบบเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศไทย

ประกาศทุ่มเงินลงทุนอีกกว่า 5,000 ล้านบาท ผลักดันโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบ หรือ xEVs นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบในอนาคต โดยทำการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคอมแพ็คเอสยูวี 100,000 คันต่อปี เพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก

‘ธนาคารโลก’ ห่วง!! ฐานะการคลังของประเทศไทย ชี้!! แจกเงินดิจิทัล ดัน GDP แค่ 0.3% แลกหนี้พุ่ง

(22 ก.พ. 68) ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานติดตามเศรษฐกิจไทย กุมภาพันธ์ 2568 โดยได้ประเมินเบื้องต้นว่ามาตรการเงินอุดหนุน 10,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตรอบแรกสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน หรือประมาณ 42% ของประชากรในกลุ่มรายได้ต่ำสุด อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 ได้ประมาณ 0.3% โดยอิงจากตัวคูณทางการคลังที่ 0.4

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวนี้มาพร้อมกับต้นทุนทางการคลังที่สูงถึง 145,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของ GDP

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในปีพ.ศ. 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 2.9% ในปีพ.ศ. 2568 (แผนภาพที่ ES 5 และ ตาราง ES 1) โดยมีการฟื้นตัวของการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจแม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดได้ภายในกลางปีพ.ศ. 2568 

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเงินอุดหนุน (ดิจิทัลวอลเล็ต) 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคอาจเผชิญอุปสรรคจากวงจรการลดหนี้และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ในด้านการค้า การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตาม 

สำหรับปีพ.ศ. 2569 คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณ 2.7% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะแตะระดับศักยภาพได้ภายในปีพ.ศ. 2571

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากรายรับของภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวและต้นทุนการขนส่งที่ลดลง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 3.6% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2568 ด้วยแรงหนุนจากการค้าภาคบริการ อย่างไรก็ตามดุลการค้าสินค้าคาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเนื่องจากอุปสงค์ด้านการส่งออกที่ชะลอตัวลงจากคู่ค้าหลัก

สำหรับปีพ.ศ. 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็น 0.8% แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาอาหารคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการบริโภคและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ในทางตรงกันข้าม ราคาพลังงานคาดว่าจะปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่อ่อนตัวลดลง

ด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งบริหารงบประมาณ การดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็น 3.1% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หลังจากเกิดความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยเน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 450,000 ล้านบาทที่รัฐบาลประกาศไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 140,000 ล้านบาทสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของมาตรการและแหล่งเงินทุนโดยรวมภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ยังคงไม่ปรากฏอย่างชัดเจน

ธนาคารโลกประเมินว่า นโยบายการคลังของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสามประการ ได้แก่ การตอบสนองต่อความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การฟื้นฟูการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน

โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 64.8% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของ GDP ภายในอีกห้าปีข้างหน้า

แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงมีความยั่งยืนทางการคลังโดยมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในระดับต่ำ (1.0% ของหนี้ทั้งหมด) และมีต้นทุนการระดมทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่แรงกดดันในการใช้จ่ายทางสังคมและการลงทุนของภาครัฐในทุนมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ  และมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อการเติบโต เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้เพิ่มแรงกดดันทางการคลัง ทั้งนี้ข้อเสนอแนะสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มีดังนี้:

• ปรับลดการอุดหนุนพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อการกระจายรายได้ (เช่น ในภาคการขนส่ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ซึ่งส่งผลให้กองทุนน้ำมันของรัฐขาดดุล โดยควรเปลี่ยนไปเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมและการโอนเงินแบบมุ่งเป้ามากขึ้นเพื่อสนับสนุนครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

• เพิ่มรายได้จากภาษี ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างพื้นที่ทางการคลัง แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ภาครัฐจะปรับตัวดีขึ้นถึง 16% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการลดความยากจน เช่น การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การปรับลดแรงจูงใจทางภาษีที่ไม่จำเป็น การขยายการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปรับปรุงการปฏิบัติตามภาษี และการนำภาษีคาร์บอนมาใช้

• เร่งการลงทุน การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีใหม่ และทุนมนุษย์ที่สนับสนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคที่ล้าหลังได้ (ดูบทที่ 2 เรื่องนวัตกรรมท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง: เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs และสตาร์ตอัป และรายงานเศรษฐกิจโลกประจำประเทศไทย มิถุนายน 2567: การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง)

ธนาคารโลก ยังระบุอีกว่า แม้ว่าแนวทางการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินอย่างระมัดระวังจะเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการที่สมดุลระหว่างการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมายและการลดข้อจำกัดด้านสินเชื่อให้น้อยที่สุดควบคู่ไปกับรักษาเสถียรภาพทางการเงินก็ยังคงมีความจำเป็น ในระยะต่อไป 

การกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดสำหรับการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือหนี้ควรเชื่อมโยงกับกลยุทธ์การออกจากโครงการในอนาคต (Exit Strategy) เพื่อลดความไม่แน่นอนของเจ้าหนี้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงิน ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องรักษามาตรฐานการกำกับดูแลที่สำคัญ (Prudential Regulations) อย่างระมัดระวัง

เช่น กรอบการจำแนกความเสี่ยงของสินเชื่อ (Loan Classification Framework) ข้อกำหนดในการจัดสรรเงินสำรอง (Provisioning Requirements) และมาตรฐานการบัญชีที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับสากล รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนคำจำกัดความหรือการจำแนกประเภทที่อาจบั่นทอนความเข้มแข็งของระบบการกำกับดูแล

ทั้งนี้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจควรเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปนโยบายระยะยาวและเชิงโครงสร้างโดยหน่วยงานที่มีอำนาจในภาคการเงิน อาทิการปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (Financial Consumer Protection) และการนำกรอบการกู้ยืมอย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending Framework) เช่น การกำหนดขีดจำกัดอัตราส่วนการชำระหนี้ (Debt Service Ratio Limits) และการใช้กรอบการกำกับดูแลเชิงมหภาค (Macroprudential Framework) เป็นต้น

‘อินเตอร์ลิ้งค์ฯ’ ต้อนรับศักราชใหม่!! คว้างานจาก ‘การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)’ ปรับปรุงก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน เมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

(22 ก.พ. 68) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญ งานโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ต้อนรับศักราชแห่งปี 2568 ด้วยการเริ่มงานโครงการเคเบิลใต้ดิน จากการเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และเข้าลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้าง จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการก่อสร้าง และปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน ในพื้นที่เทศบาลเมืองตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

การลงนามในสัญญาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอุดมศักดิ์ เต็มวงษ์ รองผู้ว่าการปฏิบัติการระบบไฟฟ้า ร่วมลงนามในสัญญา (MOU) กับนายธนา ตั้งสกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ILINK ที่เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า และพลังงาน เป็นตัวแทนเซ็นลงนามในครั้งนี้

โดยโครงการฯ นี้ มีระยะเวลาการดำเนินงาน 450 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเริ่มงาน โดยมีมูลค่างานเป็นจำนวนเงิน 275,400,000 บาท (สองร้อยเจ็ดสิบห้าล้านสี่แสนบาทถ้วน) นับว่าโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินนี้ เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และเพิ่มความสวยงามของเมือง 
ซึ่ง บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โดยเฉพาะงานระบบสายไฟฟ้าใต้ดินที่ต้องการมาตรฐานสูง ทั้งด้านการออกแบบ การก่อสร้าง และการควบคุมคุณภาพ ตลอดจนต้องการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง เสริมศักยภาพระบบจำหน่ายไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเมือง หรือ เทศบาลเมืองขนาดใหญ่

"อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ โดยที่เรามีความพร้อมทั้งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินโครงการลักษณะนี้มาแล้วหลายโครงการ รวมทั้งเรามุ่งมั่นที่จะส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้" นายสมบัติ ประธานกรรมการ กล่าวเสริมตอนท้าย   

Sharp ปลุกตลาด!! ปรับกลยุทธ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เปิดตัวสินค้าใหม่มากสุดรอบ 10 ปี ยกคุณภาพท้าชนแบรนด์จีน

(21 ก.พ.68) วิโรจน์ ทานัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ชาร์ป (Sharp) ในไทยและอาเซียน เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับชาร์ป ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Appliance) ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเน้นการออกแบบที่เรียบง่าย ใช้งานได้หลากหลาย และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน

“ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับดีไซน์และฟังก์ชันมากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ใช่แค่ของใช้ แต่ต้องเข้ากับการตกแต่งบ้านได้” วิโรจน์กล่าว พร้อมเสริมว่า “แนวทางนี้ยังช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ญี่ปุ่นที่ผู้บริโภคไทยให้ความไว้วางใจมาอย่างยาวนาน”

เปิดตัวสินค้าครั้งใหญ่ รับแผนปี 2568 Sharp เตรียมเปิดตัวสินค้าจำนวนมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยในไตรมาสแรกของปี 2568 จะเปิดตัวสินค้าใหม่ 5 รายการ ได้แก่

-พัดลม Sharp ขนาด 18 นิ้ว ดีไซน์ใหม่
-หม้อหุงข้าว Sharp CUBE รุ่น 1 ลิตร ออกแบบให้เข้ากับทุกครัวเรือน
-หม้อทอดไร้น้ำมัน Sharp รุ่น 4.2 ลิตร, 6.8 ลิตร และ 7 ลิตร รองรับไลฟ์สไตล์การทำครัวยุคใหม่
-เตารีดไอน้ำ Sharp 3 รุ่น พร้อมรุกตลาดเตารีดไอน้ำเต็มรูปแบบ
-เครื่องทำน้ำอุ่น Sharp รุ่น MODI (โมดี้) ขนาด 3,500 วัตต์ และ 4,500 วัตต์ ปรับดีไซน์ใหม่

หลังจากไตรมาสแรก บริษัทฯ ยังมีแผนทยอยเปิดตัวสินค้าเพิ่มเติมตามฤดูกาลตลอดปี

แม้ว่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กจะเผชิญกับการแข่งขันสูง โดยเฉพาะจากแบรนด์จีนที่ใช้กลยุทธ์ราคาต่ำเป็นจุดขาย แต่ Sharp ยังคงรักษามาตรฐานคุณภาพแบบญี่ปุ่นและเน้นกลยุทธ์การออกแบบเพื่อสร้างความแตกต่าง

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต้องรับมือกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นราว 5% จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีแผนปรับราคาสินค้า

สำหรับตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กในไทย คาดว่าในปี 2568 จะยังเติบโตเล็กน้อยจากปัจจัยลบ เช่น กำลังซื้อที่ลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม Sharp ตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจไว้ที่ 5% เท่ากับปี 2567 ซึ่งมีรายได้ราว 16,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน Sharp มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2 ในกลุ่มพัดลม (20% ของตลาดมูลค่า 7,000-8,000 ล้านบาท) และเป็นผู้นำตลาดหม้อหุงข้าว (ตลาดรวม 4,000 ล้านบาท) ที่ปัจจุบันยังครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ในตลาด รวมถึงเตารีดที่มีมูลค่าตลาดราว 2,000 ล้านบาท

“เราจะเดินหน้าขยายตลาดผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด ทราดิชั่นนัลเทรด และออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น” วิโรจน์กล่าว

‘สุริยะ’ เผยเตรียมเปิดสายสีชมพูเข้า 'เมืองทองธานี' ปักหมุดนั่งฟรี 1 เดือน เริ่มให้บริการมิถุนายนนี้

‘สุริยะ’ เผยรถไฟสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เตรียมเปิดให้ประชาชนนั่งฟรี 1 เดือน เริ่มปลายเดือน มิ.ย. 68 ก่อนเปิดเต็มรูปแบบ 19 ก.ค.นี้ ยันเข้าร่วมมาตรการ 20 บาทตลอดสาย เดินทางสะดวกไปอิมแพ็คฯ – ทะเลสาบเมืองทอง

(20 ก.พ. 68) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี จำนวน 2 สถานี รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 4,072 ล้านบาทว่า จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 ภาพรวมโครงการมีความก้าวหน้า 85.97% แบ่งเป็น งานโยธา 87.88% และงานระบบฯ 82.22% เร็วกว่าแผน 2.17%

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า จะเข้าสู่กระบวนการทดสอบเดินรถเสมือนจริงในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 จากนั้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 1 เดือน ก่อนที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 ในอัตราค่าโดยสาร 15-22 บาท และจะเข้าร่วมมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายภายในเดือนกันยายน 2568 ต่อไป

นอกจากนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานยอดใช้บริการของผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนหลัก ช่วงแคราย – มีนบุรี ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2568 มีผู้ใช้บริการรวม 2,108,209 คน – เที่ยว เฉลี่ยวันละ 68,007 คน- เที่ยว (วันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 ให้บริการโดยไม่คิดค่าโดยสาร) ขณะที่ในช่วงวันที่ 1-17 กุมภาพันธ์ 2568 มียอดใช้บริการรวม 1,022,667 คน – เที่ยว เฉลี่ยวันละ 36,524 คน – เที่ยว (วันที่ 14 – 17 กุมภาพันธ์ 2568 ยังไม่รวม EMV) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ปริมาณผู้โดยสารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เป็นระบบรถไฟฟ้า Monorail เหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (ส่วนหลัก) ที่เปิดให้บริการไปแล้ว นับเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายของระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการรถขนส่งสาธารณะมากขึ้น รวมถึงช่วยลดปริมาณจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะ และลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมือง

นอกจากนี้ มีการก่อสร้างทางเดิน Skywalk เชื่อมต่อระหว่างสถานีและอาคารชาเลนเจอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่จะเดินทางไปร่วมงาน Expo คอนเสิร์ต หรือ Event ต่าง ๆ ที่อิมแพคเมืองทองธานี โดยผู้ใช้บริการจะต้องลงที่สถานีอิมแพ็คเมืองทองธานี (MT01) และใช้ทางออกที่ 3 เพื่อเดินทางต่อไปยังอาคารชาเลนเจอร์ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี

รร.สอนภาษาจีนฝานหรง เปิดตัวในงาน 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน หนุนคนไทยเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง

(20 ก.พ. 68) กรุงเทพฯ – ดร.อรภัค สุวรรณภักดี ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ โรงเรียนสอนภาษาจีนฝานหรง ประกาศเปิดตัวโรงเรียนอย่างเป็นทางการภายในงาน 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สยามสแควร์ ชั้น 9 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ผ่านการเรียนรู้ภาษาจีนที่ถูกต้องและลึกซึ้ง

แรงบันดาลใจ: ยกระดับการเรียนภาษาจีนของไทย เพื่ออนาคต
ดร.อรภัค มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาศักยภาพด้านภาษาจีนของคนไทย ให้สามารถเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เนื่องจากภาษาจีนกำลังกลายเป็นภาษาสำคัญของโลก โรงเรียนฝานหรงจึงมุ่งเน้นการสอนที่มีคุณภาพ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาจีนได้อย่างถูกต้องและนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

เทคโนโลยี: ขับเคลื่อนการเรียนภาษาจีนให้ทั่วถึงทุกพื้นที่
โรงเรียนฝานหรงใช้ เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพื่อทำให้ผู้เรียนจากทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการเรียนภาษาจีนได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยสถานที่ เรียนได้จากทุกที่ พร้อมรับการสอนที่มีมาตรฐาน

จุดเด่นของการเรียนภาษาจีนกับฝานหรง
- แก้ปัญหาหลักของผู้เรียนชาวไทย เช่น ไวยากรณ์ พินอิน และการใช้ภาษาในชีวิตจริง
- หลักสูตรที่เข้าใจง่ายและใช้งานได้จริง ช่วยให้เรียนรู้ภาษาจีนได้อย่างมั่นใจ
- สอนให้เข้าใจภาษาจีนในบริบทวัฒนธรรม เพื่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พบกับโรงเรียนฝานหรงที่งาน 50 ปี ไทย-จีน

ในงานเปิดตัวครั้งนี้ โรงเรียนฝานหรงจะนำเสนอหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะภาษาจีนได้อย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมกิจกรรมพิเศษสำหรับผู้ที่สนใจเรียนภาษาจีน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป

กนอ. หนุนเทคโนโลยีสีเขียว ลดพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เร่งสร้างนิคมฯสีเขียว ยกระดับไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

(20 ก.พ.68) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เดินหน้าขับเคลื่อน Green Transition ผนึกพลังรัฐ-เอกชน สร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งสู่เป้าหมาย Zero Emission ด้วยพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ยกระดับไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการผู้ว่าการ กนอ.เปิดเผยถึงทิศทางและบทบาทของการนิคมอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อน Green Transition หรือการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ พร้อมรับมือกับความท้าทายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน พร้อมย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียวเป็นแนวโน้มสำคัญของโลก 

ซึ่งภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ กนอ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรม มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในโรงงานอุตสาหกรรม และจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับพลังงานทดแทนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อย

ก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เช่น การใช้ระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Management) และการรีไซเคิลของเสียในกระบวนการผลิต ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งได้เริ่มปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิด และการส่งเสริมการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Production)

“นิคมอุตสาหกรรม กำลังปรับตัวเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ยั่งยืน โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว พร้อมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ขณะเดียวกัน กนอ.ยังสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสีเขียว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็น Carbon Neutral หรือ Zero Emission ในอนาคตอันใกล้”นายสุเมธ กล่าว

รักษาการผู้ว่าการ กนอ. กล่าวอีกว่า กนอ.มุ่งเน้นสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อน Green Transition ผ่านนโยบายสนับสนุนและมาตรการจูงใจต่าง ๆ พร้อมผลักดันการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Town) ที่เน้นการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น IoT และ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานและลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอาจต้องใช้งบประมาณสูง และบางครั้งอาจพบความไม่พร้อมทางเทคโนโลยี หรือการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ ดังนั้น กนอ.จะร่วมกับทุกภาคส่วนสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนกระบวนการผลิตและระบบการจัดการพลังงาน

“กนอ. จะเดินหน้าสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียวอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” รักษาการผู้ว่าการ กนอ. กล่าวทิ้งท้าย

‘เฮียล้ง - จำนงค์ เอี้ยววงษ์เจริญ’ แห่งห้างสยามนครินทร์ บริจาคที่ดิน 130 ไร่ สร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2

เฮียล้งแห่งสยามนครินทร์ บริจาคที่ดิน 130 ไร่ สร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 นายกฯชาย ตั้งงบทันที 90 กว่าล้าน ปรับพื้นที่

เป็นเรื่องที่ต้องกล่าวถึง หลังจาก 'นายกฯชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง' รมช.สาธารณสุข มีนโยบายจะสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ แห่งที่ 2 เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองหาดใหญ่ หลังเข้ารับตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข หลังจากนั้นตระเวนหาสถานีสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 ในหลายพื้นที่ มีทั้งคนที่ประสงค์จะขาย และประสงค์จะบริจาค รวมถึงมีกลุ่มคนเข้ามาเสนอแบบหวังผลประโยชน์ ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตก็มี

โรงพยาบาลหาดใหญ่ ต้องรองรับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี พื้นที่คับแคบไม่สามารถขยายได้แล้ว โดยเฉพาะสภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ได้ร่วมกับผู้บริหาร รพ.หาดใหญ่ และนายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันพิจารณาที่ดินหลายแปลง ทั้งในพื้นที่อ.บางกล่ำ และอ.หาดใหญ่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้

ล่าสุด นายเดชอิศม์ ขาวทอง ที่ลุยสำรวจพื้นที่ด้วยตัวเองมาหลายจุดทั้งที่ผู้สนใจบริจาค ที่ราชพัสดุ และได้ตัดสินใจเลือกที่ดินในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านพรุ (เขตเทศบาลตำบลบ้านไร่) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งบริจาคโดยกลุ่มสยามนครินทร์ จำนวน 130 ไร่

จำนงค์ เอี้ยววงษ์เจริญ ผู้บริหารกลุ่มสยามนครินทร์ เจ้าของห้างสยามนครินทร์ หาดใหญ่ ได้เสนอตัวบริจาคที่ดิน 130 ไร่ บริเวณบ้านพรุ (หาดใหญ่)สำหรับก่อสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 

จำนงค์ หรือเฮียล้ง บอกว่าที่ดินแปลงนี้สวยงามมาก อยู่บนที่เนิน น้ำไม่ท่วม จึงเหมาะที่จะสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 ตามเจตนารมย์ของนายกฯชาย และนายกฯชายได้ตัดสินใจแล้วเลือกที่ดินแปลงนี้ ตนก็จะบริจาคให้ แบบไม่คิดอะไรเลย ทางราชการก็จะต้องตั้งงบเพื่อปรับสภาพหน้าดินต่อไป

เฮียล้ง กล่าวด้วยความสุขใจว่า ที่ดินแปลงนี้สวยงามมากพี่เหลียว ผมปลูกต้นไม้ไว้หลายต้น อยู่บนเนินที่น้ำไม่ท่วม ยินดีบริจาคให้สร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 ซึ่งนายกฯชายก็ตัดสินใจเลือกแล้ว

“ก่อนหน้านี้ มีผู้ติดต่อบริจาคที่ดินในเขตตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ แต่ติดปัญหาเรื่องที่ดินมรดกทราบว่ามีทายาท 1 คนไม่เซ็นต์มอบที่ดินให้ จึงมีการจัดหาที่ดินใหม่หลายแปลง ทั้งที่บริจาค ที่ราชพัสดุ ที่ดินแปลงนี้คุณจำนงค์ แจ้งความประสงค์จะบริจาคมานานแล้วจำนวน 100 ไร่ แต่ผมขอเพิ่มเติมอีก เพราะอยากจะสร้างเป็นเมืองสุขภาพ มีวิทยาลัยพยาบาลในพื้นที่ด้วย จึงเป็นที่มาของการบริจาคที่จำนวน 130 ไร่ของสยามนครินทร์ในวันนี้” นายเดชอิศม์ กล่าว และว่า

การเลือกที่ดินแปลงนี้ เราได้ตัดสินใจร่วมกันด้วยหลายเหตุผล พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่สูงน้ำไม่ท่วมแน่นอน ไม่ต้องใช้งบประมาณในการถมพื้นที่เยอะ เป็นพื้นที่ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ อยู่ไม่ไกลจากถนนสายหลักคือ ถนนกาญจนวณิชย์ (ทล.4) และอยู่ใกล้แนวถนนวงแหวนรอบเมืองหาดใหญ่สายตะวันออก (ทล.425) การเดินทางสะดวกจากทุกเส้นทาง 

รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ได้เชิญชวนหลายหน่วยงานมาร่วมกันประชุมเพื่อช่วยกันทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นเร็วที่สุด โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดตั้งงบประมาณในการปรับพื้นที่แล้วจำนวน 92 ล้านบาท และเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว ก็จะมีพิธีส่งมอบ และมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

สาธุบุญสำหรับจิตอันเป็นกุศลของเฮียล้ง (จำนงค์) ขอให้ธุรกิจเดินหน้าไปอย่างไม่มีปัญหา ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน บริวารมากมี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top