Monday, 20 January 2025
AYA IRRAWADEE

เปิดปูม ‘Cynthia Maung’ ผู้ได้รับรางวัล The People Award 2023 หมอแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ คลินิกฟรีนอกสารบบแพทยสภา

ในงาน The People Award 2023 คงมีแต่คนที่จับจ้อง ‘แบม’ กับ ‘ตะวัน’ ที่ได้รับรางวัล แต่ใครจะรู้ว่าในวันนั้นมีอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

วันนี้เอย่าขอนำเสนอเรื่องราวของแพทย์หญิง Cynthia Maung (ซินเทีย หม่อง) คุณหมอแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ ซึ่งเป็นคลินิกที่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก...ลองมาดูเรื่องราวของแพทย์หญิงและคลินิกแห่งนี้กัน

เรื่องราวของแพทย์หญิง Cynthia Maung เธอเป็นชาวเมียนมาที่เกิดจากบิดาที่เป็นชาวกะเหรี่ยงและมารดาที่เป็นชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในย่างกุ้ง เธอเติบโตขึ้นในเมืองเมาะละแหม่งกับพี่น้องรวมกัน 6 คน และเธอได้จบจากโรงเรียนแพทย์ที่ย่างกุ้งและน่าจะมีชีวิตที่ดีหลังจากเรียนจบแพทย์  

>> แต่ด้วยความใฝ่ประชาธิปไตยของเธอ : เมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2531 กองทัพพม่าในขณะนั้นเข้ายึดอำนาจ อันเป็นเรื่องราวการปฎิวัติที่คนเมียนมารู้จักกันในนาม ปฏิวัติ 8888 นั้น เธอและเพื่อน ๆ ได้ตัดสินใจหนีเข้าป่าและหนีมากบดานในประเทศไทยและเธอได้เริ่มเป็นหมอรักษา โดยเริ่มจากเป็นหมออาสาในค่ายผู้ลี้ภัยจนสุดท้ายได้มาทำงานในแม่ตาวคลินิก ซึ่งเป็นฟรีคลินิกที่ช่วยรักษาชนกลุ่มน้อย จนทำให้คุณหมอได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย เช่น...

Jonathan Mann Award ในปี 1999 รางวัลแมกไซไซ ในปี 2002 ได้ Times’s Asian Heroes ในปี 2003, รางวัล Sydney Peace Prize ในปี 2013 และ UNDP's N-Peace Award ในปี 2018 และรางวัลล่าสุด The People Award ในปี 2023 ซึ่งดู ๆ ไปแล้ว คุณหมอท่านนี้น่าจะเป็นคนทรงคุณค่าท่านหนึ่งเลยทีเดียว

กลับมาที่แม่ตาวคลินิกกันสักนิด หากมาดูว่าคลินิกนี้เป็นของใคร เมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์ ก็พบชื่อมูลนิธิแห่งหนึ่ง ที่ชื่อว่า ‘มูลนิธิสุวรรณนิมิต’ ซึ่งในเว็บไซต์ระบุว่า...

“มูลนิธิสุวรรณนิมิต จดทะเบียนเป็นองค์กรการกุศล ให้การสนับสนุนแม่ตาวคลินิกในด้านการคุ้มครองทางกฎหมาย การเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่เพื่อพัฒนาคุณภาพการทำงาน ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการผลักดันด้านนโยบายด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติและการคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้าย”  

นั่นแสดงว่ามูลนิธินี้ น่าจะเป็นมูลนิธิที่ช่วยก่อตั้งแม่ตาวคลินิกหรือไม่? และเมื่อหาข้อมูลต่อไป เอย่าก็พบว่ามูลนิธินี้คือ มูลนิธิอะไร?...

มูลนิธิสุวรรณนิมิตร เป็นมูลนิธิของไทยที่ทำงานผ่านการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรในการให้บริการที่จำเป็นแก่ชุมชนชายขอบที่อาศัยอยู่ตามชายแดนไทย (จังหวัดตาก) – เมียนมา เอย่าจึงคิดขึ้นมาทันทีว่าหากเป็นมูลนิธิที่ถูกต้องจริง จะต้องมีการจดมูลนิธิให้เป็นไปตามการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะถูกคุ้มครองโดยกฎหมายไทย

แต่เมื่อเอย่าเช็กในรายชื่อมูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร กลับไม่พบชื่อของ ‘มูลนิธิสุวรรณนิมิต’ 

เอาละสิ!! เมื่อเป็นเช่นนั้น เอย่าจึงเริ่มหาข้อมูลเพิ่มขึ้นโดยเข้าไปค้นหาชื่อของแม่ตาวคลินิกในฐานข้อมูลสถานพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขกลับพบว่า ไม่มีชื่อ ‘แม่ตาวคลินิก’ ในฐานข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งเมื่อได้เช็กข้อมูลคลินิกจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่มีชื่อของแม่ตาวคลินิก หรือ คลินิกแม่ตาว ทำให้เอย่าคิดได้ว่า อ้าว!!….ถ้าเป็นแบบนี้คลินิกแม่ตาวก็คือ ‘คลินิกเถื่อน’ น่ะสิ!!

ทั้งนี้หากมาดูที่ พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ได้มีการระบุไว้ในมาตรา 16 ว่า ห้ามมิให้บุคคลใดประกอบกิจการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต และสุดท้ายเมื่อตรวจสอบรายชื่อจากแพทยสภาแล้ว ไม่พบชื่อ แพทย์หญิง Cynthia Maung ในรายชื่อของแพทยสภาในประเทศไทยด้วย

เปลี่ยนป้ายทะเบียนรถในเมียนมา นัยป้องปรามการก่อความไม่สงบ

หลังจากเกิดรัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ก็มีประกาศหนึ่งออกมาในเดือนกรกฎาคมปี 2564 คือ ประกาศให้เจ้าของรถยนต์ทุกคันต้องทำเรื่องจดแจ้งเพื่อเปลี่ยนทะเบียนรถจากแบบเดิมเป็นแบบใหม่ทั้งหมด โดยรถยนต์สาธารณะได้นำร่องให้เปลี่ยนก่อน ซึ่งเพิ่งจะสิ้นสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงรถจักรยานยนต์จะต้องเปลี่ยนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ 

เรื่องนี้มีนัยสำคัญอะไร? มีแน่นอน!! แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น วันนี้ เอย่า จะพาไปดูวิวัฒนาการของป้ายทะเบียนในเมียนมากันก่อน...

ป้ายทะเบียนรถในยุคแรกๆ ช่วงปี 1937-1953 จะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 2 ตัวตามด้วยเลข 4 ตัว หลังจากนั้นก็เปลี่ยนแบบเป็นตัวอักษรเมียนมาทับแล้วตามด้วยเลขพม่า 4 ตัว ก่อนจะมาปรับอีกเล็กน้อยในช่วงปี 1988 เป็นขึ้นต้นด้วย เลขพม่าก่อน ตามด้วยตัวอักษรพม่า ทับและตามด้วยเลขพม่า 4 ตัว 

ในปี 2013 มีการปรับอีกครั้งให้เป็น ตัวเลขอารบิก ตามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ ขีดกลาง แล้วต่อด้วยเลขอารบิก 4 ตัว กำกับบนทะเบียนด้วย อักษรย่อแสดงถึงภูมิภาคที่รถคันดังกล่าวจดทะเบียน เช่น ย่างกุ้ง, บะโก, อิรวดี, ฉาน, มัณฑะเลย์ เป็นต้น

จับโป๊ะ!! สื่อ ปชต.ในเมียนมา อ้างพบผู้หลบภัยไปยังวัดพม่าในไทย แต่สุดท้ายเป็นลูกหลานชาวเมียนมาดั้งเดิมที่อาศัยในเชียงใหม่

สื่อเมียนมาที่กล่าวอ้างว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตยอย่างสำนักข่าว Irrawaddy news ได้ลงบทความว่า “ชาวเมียนมาหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเฉลิมฉลอง Thingyan” โดยยกภาพการเฉลิมฉลองเทศกาล Thingyan แบบพม่าของ 'วัดทรายมูลพม่า' ใน จ. เชียงใหม่ เมื่อปี 2016 ซึ่งเป็นภาพก่อนเกิดรัฐประหารตั้งหลายปีมาตีแผ่

แต่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ งานเฉลิมฉลองของ 'วัดทรายมูลพม่า' มีมาก่อนที่จะมีก่อนรัฐประหาร และเจ้าภาพก็คือ ลูกหลานชาวเมียนมา รวมถึงชาวเมียนมาและไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้หลบหนีแต่อย่างใด 

ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวทุกชาติ หากเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้อง!!

ชุดนักเรียนไทย เสน่ห์ดึงดูดเมียนมา 'อยากใส่-อยากเรียน' ผลลัพธ์แห่ง Soft Power ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หมู่คนจีน

เราอาจจะเคยเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่แต่งตัวชุดนักเรียน ชุดนักศึกษา ตอนมาเที่ยวไทย จนกลายเป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทยกันไปบ้างแล้ว

แต่ เอย่า ขอบอกเลยว่า ชุดนักเรียน-ชุดนักศึกษาไทย ไม่ได้บูมแค่ในหมู่คนจีนเท่านั้น หากแต่ยังเป็น Soft Power ที่ดังไกลมาถึงเมียนมาด้วยเช่นกัน

เอย่าขอยกเรื่องราว เช่นในปี พ.ศ. 2562 หลายปีก่อนที่ Soft Power ชุดนักเรียนจะเป็นที่รู้จักนั้น Han Lay ดารา และนางแบบสาวในเมียนมาก็เคยสวมชุดนักศึกษาไทยถ่ายแบบมาแล้ว  

หรือแม้เมื่อช่วงตุลาคมปีที่แล้ว (2565) May Thada Kyaw Phyu นางแบบวัยรุ่นที่ใครๆ รู้จักเธอในชื่อ Hillary Soe ก็สวมชุดนักเรียนไทยถ่ายแบบลงไอจีส่วนตัวของเธอ สร้างความฮือฮาให้แฟนคลับชาวไทยที่ติดตามเธออยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่นอกจากเรื่องการสวมชุดเป็น Soft Power แล้ว ในทุกวันนี้สถาบันการศึกษาในไทยหลายแห่งเริ่มมีนักศึกษามาจากเมียนมาเข้ามาศึกษามากขึ้น ซึ่งต่างจากในอดีตที่นักศึกษาจากเมียนมาจะมาเรียนที่เอแบคหรือสถาบัน เอ ไอ ที หรือแม่ฟ้าหลวงเท่านั้น

กฎหมายที่ดินในเมียนมา ปมลับล้มดีลโรงแรมเซโดนา แรงปรารถนาของนักลงทุน ที่จนมุมกับค่าเช่ามหาโหด

เมื่อต้นเดือนก่อน (มีนาคม 66) มีข่าวหนึ่งที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก เกี่ยวกับการขายกิจการของโรงแรมเซโดนา โรงแรม 5 ดาวใจกลางเมืองย่างกุ้ง ติดกับทะเลสาปอินยา ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนที่เคยมาย่างกุ้งต้องเคยมาพักที่นี่

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องดังกล่าว เอย่า ขอย้อนความ...ด้วยภาวะการระบาดของโควิด 19 ที่สั่นคลอนธุรกิจโรงแรมทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เมียนมา ทำให้หลายโรงแรมเลือกที่จะยอมปรับตนเองเป็นโรงแรมกักตัวสำหรับชาวต่างชาติในช่วงที่มีการควบคุมของโควิด19

ทว่า 1 ในนั้นไม่ใช่ โรงแรมเซโดนา เพราะด้วยความที่โรงแรมเซโดนามีผู้เข้าพักแบบ Long stay มากเป็นอันดับต้นๆ ในเวลานั้น ทำให้ตัวโรงแรมพอมีรายได้อยู่บ้างแม้ไม่มาก แต่ก็เพียงพอที่จะไม่ต้องรับเป็นโรงแรมกักตัว เพราะในช่วงเวลานั้นๆ หลายคนก็ไม่มีใครอยากนอนในโรงแรมที่เป็นโรงแรมกักตัวด้วยเหตุที่ระบบแอร์เป็นระบบแอร์รวม ทำให้หลายคนกังวลว่าจะติดเชื้อผ่านทางระบบปรับอากาศได้

แต่แล้วเมื่อต้นเดือนมีนาคม บริษัท Keppel Corp.​ ได้มาให้ข่าวว่าบริษัทแห่งนี้ได้บรรลุข้อตกลงในการขายกิจการโรงแรมพร้อมสิ่งปลูกสร้าางทั้งหมดของโรงแรมเซโดนา ย่างกุ้งให้กับกลุ่มบริษัท Spring Blossom Venture ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการบริการในสิงคโปร์ โดยตามแผนในข่าวระบุว่าดีลจะสิ้นสุดสำเร็จภายในครึ่งปีแรกของปี 2023 นี้ 

อย่างไรก็ตาม ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็มีข่าวเปรี้ยงออกมาให้คนตกใจว่าดีลนี้อาจจะไม่ได้จบง่ายๆเสียแล้ว เพราะติดปัญหาเรื่องความไม่ลงตัวกับเจ้าของที่ดินที่โรงแรมเซโดนาปลูกสร้างอยู่ กลายเป็นว่าดีลนี้จะสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่นั่นเอง

'รบ.เมียนมา' ดัน 'เทศกาลตะจ่าน' ขึ้นเป็นมรดกโลก เรื่องดีๆ ที่ถูกฝ่ายประชาธิปไตยดิสเครดิตแบบไร้สติ

'ตะจ่าน' หรือ 'ติงจ่าน' ถือเป็นเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของชาวเมียนมา โดยตรงกับช่วงวันสงกรานต์ของไทย 

ดังนั้นสำหรับช่วงเวลานี้รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดยาว 10 วัน เพื่อให้ผู้คนได้เดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาของตน ซึ่งบางคนต้องใช้เวลาเดินทางถึง 2 วันเต็มๆ ในการเดินทาง
ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทศกาลนี้ คือ ล่าสุดทางกระทรวงกิจการวัฒนธรรมและศาสนาของเมียนมากำลังจัด

ทำเอกสาร เพื่อยื่นขอจดทะเบียน 'เทศกาลตะจ่าน' เป็นมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสนับสนุนการท่องเที่ยวในเมียนมาในระยะยาว  

แต่สุดท้ายก็ไม่วายที่จะถูกสำนักข่าวฝั่งตรงข้ามใส่สีตีข่าวเพื่อดิสเครดิต!!

หากมองกันตามตรงโดยไม่เอาอคติเรื่องเผด็จการหรือประชาธิปไตยมาตั้ง ถามว่าการกระทำครั้งนี้ของรัฐบาล ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและมองการณ์ไกล ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้ทางรัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือในการงดดื่มสุราของมึนเมาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเทศกาลนี้ ซึ่งในขณะเดียวกันก็จะช่วยลดการบาดเจ็บและสูญเสียจากการดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน

ทว่าในข่าวฝั่งประชาธิปไตยพยายามตีแผ่ว่า ในเทศกาลตะจ่านที่ผ่านมา มีคนเล่นน้ำน้อย เพราะไม่มีใครอยากเล่นน้ำในรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งความจริงนั้นตรงกันข้าม...

ทางเพจ Look Myanmar เคยนำเสนอเรื่องราวในช่วงเทศกาลตะจ่านปีก่อนไว้ว่า การที่คนไม่เล่นน้ำตามบูธที่รัฐบาลจัด เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของตนเองมากกว่า เนื่องจากในช่วงเวลานั้นในเมืองใหญ่อย่าง ย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์ ก็ยังมีเรื่องระเบิดให้เห็นอยู่ประปราย 

ดังนั้นคนจึงเลือกเดินทางออกไปยังต่างจังหวัด เช่น ทะเล หรือ น้ำตก เพื่อพักผ่อนในช่วงเวลาดังกล่าว และปีนี้ก็เช่นกัน มีการรายงานว่าที่พักที่ชายหาดชองตาและชายหาดงุยเซาในรัฐอิรวดีได้เต็มหมดแล้ว เช่นเดียวกับที่ชายหาดงาปาลีก็เต็มแล้วเช่นกัน  

ธุรกิจการ์เมนต์เมียนมาสะเทือน เมื่อ 3 เจ้าใหญ่ต่างทยอยถอนตัว

นับจากการประกาศของ Mark & Spencer เมื่อปีที่แล้วที่จะถอนธุรกิจออกจากเมียนมาในเดือนมีนาคมนี้ ล่าสุดทางนิเกอิ ก็ได้รายงานว่า บริษัทฟาสต์ รีเทลลิงของญี่ปุ่น เจ้าของแบรนด์ 'ยูนิโคล่' (Uniqlo) ได้กลายเป็นอีกบริษัทที่ตัดสินใจถอนธุรกิจออกจากเมียนมาด้วยเช่นกัน 

โดย Uniqlo ได้ถอดรายชื่อกลุ่มพันธมิตรในเมียนมาออกจากรายชื่อโรงงานผลิตเสื้อผ้า ซึ่งที่ผ่านมาฟาสต์ รีเทลลิงรายนี้ ได้จ้างผลิตเสื้อแจ็กเก็ตและเสื้อเชิ้ตสำหรับแบรนด์ GU แต่ก็จะยุติการผลิตสินค้าสำหรับฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวปี 2566 ไปโดยปริยาย  

ไม่เพียงเท่านั้น ด้านบริษัทเรียวฮิน เคคะคุ เจ้าของแบรนด์ 'มูจิ' (Muji) จากญี่ปุ่น ก็มีแผนที่จะยุติการจ้างผลิตเสื้อแจ็กเก็ตและสินค้าชนิดอื่น ๆ จากเมียนมาภายในเดือนสิงหาคมนี้ด้วย 

สำหรับการถอนตัวของแบรนด์ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ มาจากเหตุผลเพียงหนึ่งเดียว นั่นก็คือ บริษัทไม่สามารถละเลยต่อการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้ 

กรณีศึกษา Nestle ถอนตัวออกจากเมียนมา   สะท้อน!! ไม่มีใครทำร้ายชาติเราได้เท่าคนในชาติตัวเอง

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวที่ดังไปทั่วเมียนมาเมื่อบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง Nestle ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 ถอนตัวออกจากเมียนมา โดยมีแถลงการออกมาจากทาง Nestle ว่าทางบริษัทจะยุติการดำเนินการทั้งสายโรงงานและการปฏิบัติงานในส่วนของออฟฟิศทั้งหมด  

ข่าวนี้สร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจของเมียนมาพอสมควร โดยทาง Nestle อ้างว่าการที่บริษัทตัดสินใจเช่นนี้เป็นเพราะบริษัทมีปัญหาในเรื่องการนำเข้าและปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน 

พออ่านมาถึงจุดนี้ คือต้องมาเอ๊ะ เดี๋ยวก่อน….เราควรมาดูข้อมูลรอบตัวของข่าวนี้ก่อนดีไหม? เริ่ม!!

ข้อแรก Nestle เป็นบริษัทของสวิตเซอร์แลนด์ แต่การดำเนินการของ Nestle เมียนมานั้นอยู่ภายใต้การดำเนินการของ Nestle สาขาประเทศไทย ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เป็น 1 ในประเทศคู่ค้าของกลุ่ม EU ที่ทำการแซงชันเมียนมา โดยการแซงชันของ EU นั้น นอกจากเน้นไปที่ตัวบุคคลแล้วยังเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของเช่น อัญมณี เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซรวมถึงป่าไม้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจเหล่านั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแซงชันดังกล่าว โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมันและก๊าซในเมียนมาที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีคนนอกในการผลิตและแปรรูป  

จึงไม่แปลกที่ธุรกิจของประเทศในกลุ่มดังกล่าวจะโดนกดดันจากฝั่งเมียนมา ซึ่งบางธุรกิจเช่นธุรกิจผลิตวัตถุดิบบางอย่างของสัญชาติอเมริกันก็เลือกที่จะปิดตัวเองเลย ซึ่งแม้บริษัทเหล่านั้นอาจจะมีการทำ Political Insurance ไว้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเงินสินไหมจะทดแทนกับมูลค่าที่ลงทุนและโอกาสทางการตลาดที่เสียไปได้หรือไม่

กลับมาที่ Nestle เมียนมา ก็ต้องขอปรบมือให้ทีมบริหารที่ใช้ความพยายามในการผลักดัน เพราะตลอดระยะเวลา 2 ปีในขณะที่หลายๆ บริษัท ทั้งบริษัทที่เป็นของชาวต่างชาติก็ดี หรือของคนเมียนมาเองก็ดี ต่างทยอยปิดตัวลงจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แทบจะเรียกได้ว่า Nestle เป็นบริษัทท้ายๆ ที่ใช้เหตุผลนี้มาปิดบริษัท เพราะตอนนี้ก็เหมือนเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตต่างๆ เริ่มคลี่คลายลงแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากหลายๆ บริษัทในเขตนิคมเองก็เปิดมากขึ้น  

อย่างไรก็ดีด้วยประเด็นของการที่ประเทศในกลุ่มอียูมีนโยบายแซงชันเมียนมา จึงเป็นอะไรที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เนสเล่ ที่เจ้าของคือ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้เป็นคู่ค้ารายสำคัญของกลุ่มประเทศอียูจะโดนบีบให้ปฏิบัติตามด้วยก็ไม่แปลก เพราะหากเทียบความสูญเสียที่เกิดขึ้นในเมียนมากับมูลค่าที่จะสูญเสียในยุโรปนั้น Nestle บริษัทแม่เลือกไม่ยากเลยที่จะเลือกปิดโรงงาน ลอยแพคนงานเมียนมาและหันกลับมาใช้ระบบตัวแทนจำหน่ายที่เป็นบริษัทเมียนมาแทน  

เบื้องลึกกองกำลังประชาชนแห่งเมียนมา ไทย…'ผู้รับบุญ' หรือ 'แพะรับบาป'

ไทยเราได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้การดูแลชาวต่างชาติที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นมาช้านานแล้ว

แต่หากนับในยุคปัจจุบันในรัชสมัยของพ่อหลวงล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ก็มี 'เหตุการณ์ที่ท่าแขก' หรือ 'วันท่าแขกแตก' ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเวียดนามที่ทางการไทยเรียกว่า 'ญวนอพยพ' การหนีข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวมาฝั่งไทยครั้งนี้เป็นการหนีการปราบปรามของกองกำลังฝรั่งเศสจากเวียงจันทน์ สะหวันเขตและท่าแขก แขวงคำม่วน มายังหนองคาย มุกดาหาร 

จาก 'เหตุการณ์ที่ท่าแขก' ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 ครั้งนั้น นับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ของชาวเวียดนามมายังไทย ทำให้ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ที่ท่าแขกได้หนีข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทยประมาณ 50,000 คน รวมทั้งชาวลาวอีก 4,000 คน โดยชาวเวียดนามเกือบทั้งหมดยังคงลี้ภัยและพำนักอาศัยอยู่ในภาคอีสานของไทยต่อมาจวบจนปัจจุบัน หรือจะเหตุการณ์ที่คอมมิสนิสต์มีชัยในดินแดนอินโดจีนในช่วงประมาณปี 2517 ก็มีชาวเวียดนาม ลาว เขมรจำนวนไม่น้อยที่เดินทางมาลี้ภัยในประเทศไทย และไทยก็เปิดศูนย์รับผู้ลี้ภัยเพื่อรอวันที่พวกเขาเหล่านั้นเดินทางกลับ  และอีกหลายคนก็เลือกที่จะใช้ชีวิตในไทย

>> สงครามกะเหรี่ยงกับภาระของไทย
สงครามระหว่างกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมามีมาตั้งแต่ปี 2492 โดยรัฐบาลไทยเคยใช้รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนกับพม่า ซึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยเกรงภัยจากคอมมิวนิสต์ที่ได้ตั้งพรรคทั้งในไทยและเมียนมาหรือพม่าในขณะนั้น ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ไทยและสหรัฐฯ ที่สนับสนุนกบฏกะเหรี่ยง และในช่วง พ.ศ. 2503 – 2533 สหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วย 

โบเมียะกล่าวว่า รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนที่ไม่ให้คอมมิวนิสต์ในไทยและเมียนมารวมตัวกัน นโยบายของรัฐไทยเปลี่ยนไปในช่วง พ.ศ. 2533 เมื่อเมียนมาได้เป็นสมาชิกอาเซียนใน พ.ศ. 2540 ไทยจึงได้ยุติการให้ความช่วยเหลือกองกำลังกะเหรี่ยง ในแง่ของผู้อพยพจากสงครามพบว่ามีชาวกะเหรี่ยงเริ่มอพยพเข้าสู่ไทยใน พ.ศ. 2527 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ประโยชน์จากค่ายผู้อพยพในไทยในฐานะเป็นที่หลบภัยและเป็นแหล่งสนับสนุนอาหารและวัสดุอื่นๆ ผ่านสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย มีชาวกะเหรี่ยงราว 2 แสนคนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมามีชาวกะเหรี่ยง 73,775 คน  และเมื่อหลังจากการปฎิวัติชาวกะเหรี่ยงและเมียนมาอีกจำนวนไม่น้อยที่อพยพมาตามชายแดน ซึ่งนี่ไม่รวมถึงผู้ที่ข้ามแดนมาอย่างผิดกฎหมาย

ในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 อ.แม่สอด, กองกำลังนเรศวร, เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.ตาก และฝ่ายปกครอง อ.แม่สอด พร้อมหน่วยข่าวด้านความมั่นคงนำกำลังเข้าควบคุม อาคารพาณิชย์ 4 ชั้น เกือบ 40 คูหา ย่านชุมชนหนาแน่น ถนนตาลเดี่ยว ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก

หลังจากสืบทราบว่ามีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะ PDF ซึ่งหนีข้ามมาจากฝังเมียนมาเข้ามาเช่าบ้านหลบอาศัยอยู่ในพื้นที่แม่สอดกันอย่างอิสระจำนวนมาก เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีรายงานว่ามีชาวต่างชาติ และองค์กรระหว่างประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเมื่อตรวจค้นภายในอาคารพบสัมภาระทางทหาร อุปกรณ์ทางทหาร เครื่องแบบทหาร โลโก้หน่วยทหารกลุ่มต่อต้านต่างๆ รวมทั้งโดรนขนาดต่างๆ อุปกรณ์ควบคุม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สำคัญพบกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง 

เบื้องลึกกองกำลังประชาชนแห่งเมียนมา เมื่อแรงชักจูง ปั่นหัวให้อยากเป็นฮีโร่

เมื่อย้อนกลับไปมองถึงการปฏิวัติของนายพล มิน อ่อง หล่าย ก็เหมือนกับการย้อนดูหนังฮอลลีวู้ดสักเรื่อง นั่นก็เพราะหลังจากที่มีการประท้วงโดยการนำของเหล่าผู้แทนของพรรค NLD รวมถึงมีการเคลื่อนไหวการจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือ National Unity Government (NUG) (หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาล NUG ก็มีการประกาศอะไรต่าง ๆ มากมาย จนแรก ๆ ผู้คนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยคล้อยตามไปกับทางนั้น) ได้มีประกาศที่สำคัญอันหนึ่งคือ การประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติในวันที่ 16 เมษายน 2564 ว่า...

“ทาง NUG จะจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธที่จะร่วมมือกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ เริ่มการปฏิวัติด้วยอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร” ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณแรกของการตอบโต้ โดยตอนนั้นก็เหมือนจะมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเห็นพ้องที่จะเอาด้วย  

ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 NUG ได้ประกาศการจัดตั้งกองกำลังชุดแรกว่าเป็น “ผู้บุกเบิกกองกำลังของรัฐบาลกลาง” นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า กองกำลังนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้กับกองทัพรัฐบาลทหารของเมียนมาด้วยความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ

จากนั้นในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 NUG ได้เผยแพร่วิดีโอพิธีสำเร็จการศึกษาของการฝึกกองกำลังนี้ โดยประกาศว่ากลุ่มติดอาวุธพร้อมที่จะท้าทายกองกำลังของรัฐบาลทหารแล้ว  

และเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2564 NUG ได้ประกาศเปิดตัว “สงครามป้องกันประชาชน” เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร และเรียกร้องให้ประชาชนลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารในทุกมุมของประเทศ โดยในประกาศได้อ้างว่า ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเองและครอบครัวจากรัฐบาลทหาร ซึ่งนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดกลุ่ม People Defense Force หรือ PDF อย่างเป็นทางการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top