เมื่อวานเครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน ยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ 'นายกรัฐมนตรี' โดยมีเนื้อหาใจความว่า...
ด้วยเครือข่าย ซึ่งประกอบไปด้วยภาคประชาสังคม ภาควิชาการ สื่อมวลชน ชุมชนผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในด้านการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐาน ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายแก่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีจะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน บนพื้นฐานของมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของชาติ ความต้องการด้านเศรษฐกิจและแนวโน้มด้านประชากรในอนาคตของไทย ตลอดจนการมุ่งสร้างสันติภาพในภูมิภาคอาเซียน ทั้งหมดสามระยะ ดังนี้...
>> 1. ระยะเร่งด่วน ให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการกลุ่มผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลี้ภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศเมียนมา ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยแล้ว โดยมีการดำเนินการ ดังนี้...
1.1 ให้คณะรัฐมนตรีเร่งพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กำหนดสถานะผู้อพยพลี้ภัยที่อยู่ในไทย ผู้อพยพลี้ภัยจากเมียนมา ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และเร่งกำหนดสถานะให้แก่เด็กกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงสิทธิด้านการศึกษา สาธารณสุข และการทำงานได้ ตลอดจนพิจารณาปรับเกณฑ์และกลไกเพื่อการมีสัญชาติไทยของเด็กที่เกิดในไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการลดลงของประชากรไทยในสังคมผู้สูงอายุและความต้องการแรงงานของไทย
1.2 ขอให้รัฐบาลได้จัดตั้งกลไกเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม และติดตามการเข้าถึงสิทธิของเด็ก ผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง ตามที่ประเทศไทยได้ยื่นตราสารถอนข้อสงวนของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ข้อ 22 แล้ว เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2567
1.3 ให้ยุติการกักขังโดยไม่มีกำหนดเวลาต่อผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม รวมทั้งกำหนดมาตรการทางเลือกแทนการกักขังให้แก่ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูรย์มากกว่า 40 คนซึ่งถูกกักตัวอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวมาเป็นเวลานาน 10 ปี และชาวโรฮีนจาจากประเทศเมียนมา
1.4 ขอให้รัฐบาลมีแนวปฏิบัติของการประเมินความเสี่ยงภัยในการส่งกลับคนต่างชาติอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งยุติการส่งตัวผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
1.5 เร่งรัดการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดการอนุญาตในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ตามมติคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยเน้นการดำเนินการในประเทศไทย เพื่อป้องกันผลกระทบและอันตรายจากมาตรการการเกณฑ์ทหารของรัฐบาลเมียนมา รวมทั้งผลกระทบจากการสู้รบในพื้นที่ชายแดน ซึ่งจะมีแรงงานข้ามชาติจากเมียนมาที่จะต้องดำเนินการมากถึงสองล้านคน อันจะเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและผู้ประกอบการชาวไทย
1.6 เร่งรัดหน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างและการมีส่วนร่วมภายในศูนย์สั่งการชายแดนในระดับชาติ จังหวัด และอำเภอ การพิจารณาอนุญาตเปิดจุดผ่อนปรนเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพบริเวณชายแดน
1.7 เร่งรัดหน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ได้ดำเนินการตามแนวนโยบายและกฎหมาย โดยบูรณาการการบริหารจัดการผู้อพยพหนีภัยเข้ามาในประเทศไทยกลุ่มต่าง ๆ ดำเนินการคัดกรองและจัดทำทะเบียนประวัติผู้ลี้ภัย ทบทวนและปรับปรุงแนวทางปฏิบัติกรณีมีผู้อพยพหนีภัยเข้ามาในประเทศ ตลอดจนให้คำมั่นสัญญาในการไม่จับกุม กักขัง และดำเนินการปกป้องคุ้มครองเด็กผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและเด็กผู้ลี้ภัยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และครอบครัว
>> 2. ระยะกลาง ให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนเพื่อรองรับกับแนวโน้มของสถานการณ์ในอนาคต โดยมีการดำเนินการ ดังนี้...
2.1 พิจารณาจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกองทัพไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการชายแดนและผู้ที่หนีภัยความไม่สงบจากประเทศเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงลดผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
2.2 กำหนดให้ภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกความร่วมมือระหว่างชุมชนชายแดน (Township Border Committee: TBC) บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดน เพื่อสร้างเสถียรภาพ สันติภาพ และการแก้ไขปัญหาข้ามชาติต่าง ๆ
2.3 ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการ (SOP) กรณีบุคคลชาวเมียนมาเดินทางเข้าไทยตามแนวชายแดน อันเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยยึดหลักการไม่ผลักดันส่งกลับไปสู่ภัยอันตรายต่อชีวิต (non-refoulement) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย (GCR) ข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (GCM) ตลอดจนคำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยได้ให้ไว้
2.4 พิจารณาศึกษาการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ลี้ภัยหรือบุคคลที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางอันเนื่องจากภัยประหัตประหาร แทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562
2.5 พิจารณาจัดทำมาตรการเพื่อยุติการสร้างความเกลียดชังและทัศนคติในด้านลบของสังคมไทยต่อชุมชนผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยในประเทศไทย และให้มีมาตรการส่งเสริมทัศนคติที่ดีของสังคมไทยและส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนของชุมชน ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
>> 3️. ระยะยาว ให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยมีการดำเนินการ ดังนี้...
3.1 พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) เพื่อให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติสามารถเข้าถึงสถานะบุคคลและทะเบียนราษฎร และสถานะการอยู่อาศัย ตลอดจนการคุ้มครองได้
3.2 พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยกำหนดสิทธิและมาตรการคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยยึดหลักการไม่ผลักดันส่งกลับไปสู่ภัยอันตรายต่อชีวิต (non-refoulement) การยุติการกักขังเพื่อรอการส่งกลับอย่างไม่มีกำหนด สิทธิในการอยู่ร่วมกันในครอบครัว (family reunification) และการปกป้องคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิง เด็ก ผู้ป่วย ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และแรงงานข้ามชาติที่ถูกละเมิดสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่น
3.3 พิจารณาศึกษาการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551
3.4 พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และระเบียบเกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม เพื่อปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตทำงาน การรับรองสิทธิการทำงานของบุคคล และการคุ้มครองแรงงานของกลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่น โดยเฉพาะ อย่างยิ่งสำหรับผู้อพยพลี้ภัยจากเมียนมา
3.5 พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ให้เอื้อต่อการทำประกอบอาชีพที่สุจริตสำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย
3.6 พิจารณาจัดตั้ง 'หน่วยงานระดับกรมกิจการคนเข้าเมือง' เพื่อให้การบริหารจัดการประชากรผู้โยกย้ายถิ่นฐานและการจัดการคนเข้าเมืองเป็นระบบและมีเอกภาพ รวมถึงการให้ความคุ้มครองการทำทะเบียนราษฎร และการผสมผสานระหว่างกันในสังคมไทย
3.7 รัฐบาลควรมีบทบาทนำในการสร้างสันติภาพแก่ภูมิภาคผ่านกลไกของกลุ่มประเทศอาเซียน การมีบทบาทในการเจรจาหยุดยิงเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และพิจารณาทบทวนการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาทั้งในด้านธุรกิจและด้านอื่น ๆ
ประเด็นที่เรียกร้องมาทั้งหมดนี้ ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงสิ่งที่ เอย่า จะกล่าวต่อไปนี้นะคะ...
1. การรับคนต่างชาติเหล่านี้เข้ามา ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรบ้าง คนเหล่านี้ได้เสียภาษีเงินได้ให้แก่เราหรือไม่ รวมถึงคนไทยได้ประโยชน์อะไรจากคนเหล่านี้ที่เข้ามา
2. พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ให้เอื้อต่อการทำประกอบอาชีพที่สุจริตสำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย จะเป็นการเปิดช่องทางในการแย่งงานคนไทยหรือไม่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ หลายอาชีพก็มีต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยอยู่แล้ว หากท่านนายกลงพื้นที่ไปที่มหาชัยจะพบว่าคนไทยส่วนใหญ่เริ่มย้ายถิ่นฐานออกจากมหาชัยไปหมดแล้วเพราะเขาถูกแย่งงาน แย่งอาชีพ ทำให้ประกอบอาชีพในมหาชัยไม่ได้อีกต่อไปเนื่องจากคนต่างด้าวเข้ามาและทำงานที่คนไทยทำด้วยค่าแรงที่ถูกกว่า
3. การสู้รบเป็นปัญหาในประเทศเมียนมามามากกว่า 70 ปีซึ่งไทยก็รับภาระตรงนี้มาตลอด แม้จะมีการตรวจตราอย่างเข้มแข็งแต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ ปัจจุบันลูกหลานคนเหล่านั้นออกมาตั้งมูลนิธิ สมาคมช่วยเหลือคนของตัวเองโดยใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการ ถามว่าคนไทย และชาติไทยได้ประโยชน์อะไรจากจุดนี้
4. ปัจจุบันทางการไทยพยายามที่จะให้สัญชาติแก่กลุ่มชาติพันธุ์แต่ปรากฏข่าวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยตามชายแดนได้ใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อให้ตนเองได้ 2 สัญชาติเพื่อหาประโยชน์จากการเป็นประชาชนชาวไทยด้วยเช่นกัน และส่วนใหญ่คนเหล่านี้นำพาปัญหาเข้ามาสู่ประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นการค้าอาวุธสงคราม แก๊งมิจฉาชีพ Call Center รวมถึงการค้ายาเสพติดและการค้าบริการทางเพศ
5. หากดูประวัติศาสตร์จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถามว่าจะเป็นเช่นใดหาก 3-4 อำเภอชายแดนไทยถูกกลุ่มชาติพันธุ์ยึดโดยไม่สื่อสารภาษาไทยอีกต่อไป สุดท้ายคนไทยในบริเวณดังกล่าวจะถูกกดดันจากสภาพแวดล้อมให้ออกจากพื้นที่เอง ถามว่าสุดท้ายจะถูกนำไปสู่ปัญหาการขอแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ในอนาคต
6. หนึ่งในกฎบัตรอาเซียนคือการไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของกันและกัน ถามว่าหากไทยยอมรับการเรียกร้องดังกล่าวนี้ ไทยยังปฏิบัติเป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนอยู่หรือไม่
7. การที่พวกคุณพยายามผลักดันคนเหล่านี้ให้ถูกต้องเพื่อจะเป็นการฟอกขาวเพื่อให้คนเหล่านี้หรือลูกหลานได้มีสัญชาติไทยในอนาคตเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่สนับสนุนคุณอยู่เบื้องหลังใช่หรือไม่
บางที เอย่า ก็แปลกใจเหมือนกันว่า คนเหล่านี้เป็นคนไทยหรือเปล่าที่พยายามเข้ามาเรียกร้องให้ไทยเสียประโยชน์ โดยอ้างแค่คำว่ามนุษยธรรม
เอย่า ว่าประเทศไทยเรานั้น เป็นประเทศที่เปิดกว้างมาก กว้างขนาดให้คนต่างด้าวมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาไทยขั้นต่ำตามระบบได้ ให้โอกาสให้บัตรของพวกเขาเหล่านี้ขอสัญชาติได้ด้วยเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ แล้วถามกลับว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากคนกลุ่มนี้บ้าง เราได้รับภาษีแผ่นดินเพิ่มขึ้นไหม เราได้รับความปลอดภัยเพิ่มขึ้นไหม เราได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นไหม
คำถามเหล่านี้หากรัฐบาลไทยจะรับข้อเรียกร้อง ก็ต้องยอมรับผลที่ตามมาให้ได้
อยุธยาไม่มีวันพ่าย หากไม่ถูกคนไทยทรยศบ้านเมือง ฉันใดก็ฉันนั้น ประเทศไทยจากวันนี้จะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นกับผู้นำและคนไทย ณ วันนี้เช่นกัน
หวังว่าลูกหลานเราในวันข้างหน้า คงไม่ได้เรียก Bangkok ว่า New Yangon City นะ