Saturday, 18 January 2025
AYA IRRAWADEE

'ร่างทรง' ผู้รับหน้าที่ในการส่งสารระหว่างเทพและมนุษย์ สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ LGBTQ+ ที่ไม่ถูกค้านในเมียนมา

...และแล้ว Pride Month ก็เดินทางมาครบรอบอีกปี  ในขณะที่หลายประเทศมีความเปิดกว้างให้แก่กลุ่ม LGBTQ+ แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่ได้ยอมรับตัวตนของกลุ่ม LGBTQ+ สักเท่าไร   

การร่วมเพศของคนเพศเดียวกัน เป็นอาชญากรรมในกว่า 70 ประเทศ และเป็นโทษประหารชีวิตใน 9 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอิหร่าน ประเทศซาอุดีอาระเบีย, ประเทศซูดาน และประเทศเยเมน  

ในขณะที่บางประเทศการมีเพศสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันต้องโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต ถึงแม้ในบางประเทศจะไม่บังคับใช้กฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าวอย่างจริงจังเนื่องจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไปก็ตาม แต่ในหลายประเทศที่แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายแล้ว แต่จารีตประเพณีของคนในประเทศเหล่านั้นก็ไม่ได้ยอมรับตัวตนของการเป็นกลุ่มชาว LGBTQ+ อยู่ดี

เมียนมาเป็น 1 ใน 4 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีกฎหมายเอาผิดผู้ที่มีเพศสัมพันธุ์กับคนเพศเดียวกันเช่นกัน โดยมีมาตรา 377 ของเมียนมาระบุว่า...

"การมีความสัมพันธ์ทางเพศแบบผิดธรรมชาติเป็นการก่ออาชญากรรม และผู้ที่กระทำความผิดจะถูกลงโทษโดยการจำคุกไม่เกิน 10 ปี"

โดยกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคอาณานิคมเมื่อจักรวรรดิอังกฤษเข้าปกครองพม่าในยุคนั้น ศาลอังกฤษจำคุก ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนผู้โด่งดัง เพราะ มีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน มันถูกเรียกว่า 'ความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม' และทำให้มีการนำกฎหมายนี้มาใช้ทั้งในอินเดียและพม่า ซึ่งตอนนั้นถูกผนวกเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย

นักสิทธิมนุษยชนชาวเมียนมาพยายามจะรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 377 โดยในปี 2001 กลุ่มผู้พลัดถิ่นแนวร่วมประชาธิปไตยนักเรียนพม่าได้ทำเรื่องขอให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวแต่ก็ไม่มีผลอะไร

แม้กระทั่งในปี 2015 เมื่อพรรคสันนิบาตชาติประชาธิปไตยหรือ NLD ที่มีนางอองซานซูจีเป็นผู้นำชนะการเลือกตั้ง ซึ่งมีการเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้านให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้และรณรงค์ให้คนในชาติยุติความชิงชังในกลุ่ม LGBTQ+ แต่ทว่ารัฐบาลของนางซูจีก็ไม่ได้สนใจคำขอและไม่ได้ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายฉบับนี้เลย

ในปี 2020 เป็นจุดเปลี่ยนของกลุ่ม LGBTQ+ ทางการเมืองเมื่อพรรค People Pioneer Party (PPP) ซึ่งเป็นพรรคที่สมาชิกในพรรคแตกแยกออกจากพรรค NLD เดิมได้ส่งนักการเมืองเกย์คนแรกลงสมัครชิงเก้าอี้ในสภาในเมืองมัณฑะเลย์ โดยคาดหวังว่าจะเข้าไปปรับปรุงสิทธิทางกฎหมาย และการยกเลิกมาตรา 377 เพื่อประโยชน์ของชาว LGBTQ+ ในเมียนมา แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อพรรค PPP พลาดที่นั่งในสภาในการเลือกตั้งในปี 2020

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ สังคมของเมียนมาเป็นสังคมปิด คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ยอมรับการมีอยู่ของกลุ่ม LGBTQ+ ในเมียนมา และหลายครั้งก็เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นจากการบูลลี่ของคนในครอบครัวและคนใกล้ตัวเอง อีกทั้งกลุ่มชายรักชายยังถูกห้ามไม่ให้บวชพระในเมียนมาเพราะถือว่าเป็นบัณเฑาะก์ โดยมีการตีความคำว่าบัณเฑาะก์จากคัมภีร์อรรถกถาได้ความว่า บัณเฑาะก์นั้นคือ...

• อาสิตตบัณเฑาะก์ คือ ชายที่อมอวัยวะเพศของชายอื่น
• อุสุยยบัณเฑาะก์ คือ ชายที่ชอบพอใจในการดูกิจกรรมร่วมเพศระหว่างชายกับชาย
• โอปักกมิยบัณเฑาะก์ คือ บุคคลที่ถูกตอน เช่น ขันที และรวมถึงบุคคลที่ผ่าตัดแปลงเพศในปัจจุบัน
• ปักขบัณเฑาะก์ คือเป็นบัณเฑาะก์ในช่วงข้างแรม (มีอารมณ์กำหนัดบางวัน) แต่ช่วงข้างขึ้นไม่เป็น
• นปุงสกัปบัณเฑาะก์ คือ ผู้มีความบกพร่องทางเพศสภาพ ไม่ปรากฏเพศที่แน่ชัด นับเป็นความบกพร่องทางร่างกายแต่กำเนิด

แม้ในประเทศไทยจะมีการตีความบัณเฑาะก์ว่า 'อาสิตตบัณเฑาะก์' และ 'อุสุยยบัณเฑาะก์' สามารถบวชได้ 'ปักขบัณเฑาะก์' สามารถบวชได้ในวันที่ไม่มีกำหนัด ส่วน 'โอปักกมิยบัณเฑาะก์' และ 'นปุงสกัปบัณเฑาะก์' นั้น ไม่สามารถบวชได้ ... แต่ในเมียนมานั้น ชาวเมียนมาจะไม่อนุญาตให้บัณเฑาะก์บวชเลย เพราะเกรงกลัวความเสื่อมเสียในพุทธศาสนาและความอับอายทางสังคมที่จะตามหาหลังจากเกิดเรื่อง

แม้กลุ่มชายรักชายจะถูกขัดขวางลิดรอนสิทธิในทางสังคมและการเมือง แต่ในทางความเชื่อเรื่องการทรงเจ้าจะพบว่า 'ร่างทรง' หรือ 'นัตกะด่อว์' ในเมียนมานับวันจะมีกลุ่มคนข้ามเพศมากขึ้น โดยในทุกปีจะมีเทศกาลทรงเจ้าของเมืองต่องปะโยง ในเมืองมัณฑะเลย์ โดยสมาชิกเกินกว่า 90% เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มหญิงข้ามเพศและกลุ่มเกย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนทรงเจ้า จนถูกขนามนามว่า 'เทศกาลชาวเกย์' เพราะคนเมียนมาเชื่อว่าร่างทรงที่เป็นกลุ่มเพศทางเลือกจะมีพลังสูงกว่าเพศหญิงหรือชาย เนื่องจากกลุ่มเพศทางเลือกไม่ใช่หญิงและชาย จึงทำให้ร่างทรงที่เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา 

นัตกะด่อว์ ถือว่าเป็นร่างทรงที่ได้รับการเคารพนับถือและยังสร้างความบันเทิง โดยทำหน้าที่ในการส่งสารระหว่างเทพและมนุษย์ ภาพของนัตกะด่อว์ มักเป็นกะเทยหรือผู้หญิงข้ามเพศ เพราะคนพม่าเชื่อว่ามีพลังอำนาจมากกว่าคนปกติทั่วไป 

ตำแหน่งนัตกะด่อว์ เป็นตำแหน่งของอำนาจและศักดิ์ศรีที่ได้รับการยอมรับในสังคม ทุกปีจะมีการเฉลิมฉลองของกลุ่มนัตกะด่อว์ 

ดังนั้นพื้นที่ของนัตกะด่อว์ จึงกลายเป็นพื้นที่ที่แสดงตัวตนของกลุ่ม LGBTQ ในเมียนมาที่ยิ่งใหญ่และได้รับการยอมรับจากสังคม 

ในปัจจุบันกลุ่ม LGBTQ+ ในเมียนมาถูกเปิดมากขึ้นตามสังคมที่เปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ดีหากมองข้ามกฎหมายที่ทุกวันนี้แทบจะไม่ได้บังคับใช้เหล่ากลุ่ม LGBTQ+ ก็สามารถอาศัยและทำงานในเมียนมาอย่างปกติสุข

3 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ไม่ได้ฟรีวีซ่า 60 วันจากทางการไทย หวั่น!! ทะลักไหลเข้ามาทำงาน แบบทัวร์ไทยในเกาหลี

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.67 ที่ผ่านมา ครม. ได้เห็นชอบมาตรการ 'วีซ่าฟรี' 93 ประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกการตรวจลงตราเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยสามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน (ผ.60) เป็นมาตรการฝ่ายเดียวของไทย ซึ่งมีหลายประเทศ รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียนให้รับสิทธิด้วย แต่จะยกเว้นก็แค่ ลาว, กัมพูชาและเมียนมา  

ทีนี้ถ้าให้ เอย่า ลองวิเคราะห์ถึงเหตุผลว่าทำไม 3 ประเทศนี้ จึงหลุดโผการได้ฟรีวีซ่าในครั้งนี้ คงไม่ได้มาจากประเด็นอำนาจการใช้จ่าย ที่หลายท่านอาจจะคิดว่า นักท่องเที่ยวจาก 3 ประเทศนี้ คงเข้ามาจริง ๆ ไม่มาก และจับจ่ายใช้สอยน้อยแน่ ๆ

เพราะจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ในปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศทั้ง 3 ประเทศไม่น้อยเลย

จากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2566 พบว่า...

- นักท่องเที่ยวจากลาว มาไทย ทั้งสิ้น 486,382 คน เฉลี่ยพักอาศัยในไทย 10.45 วัน มีการใช้จ่ายต่อคนต่อวันประมาณ 4,216.64 บาท 

- นักท่องเที่ยวกัมพูชา มาไทย ทั้งสิ้น 466,917 คน เฉลี่ยพักอาศัยในไทย 6.42 วัน มีการใช้จ่ายต่อคนต่อวันประมาณ 4,302.53 บาท 

- นักท่องเที่ยวชาวเมียนมา มาไทย ทั้งสิ้น 208,014 คน เฉลี่ยพักอาศัยในไทย 9.74 วัน มีการใช้จ่ายต่อหัวต่อวันตก 4,222.01 บาท

...และเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันแล้ว นักท่องเที่ยวที่มาไทยจำนวนน้อยสุดในปี 2566 คือนักท่องเที่ยวจากบรูไน และใช้จ่ายต่อหัวต่อวันแค่เพียง 1,885.56 บาท เท่านั้น

ฉะนั้นประเด็นนี้ จึงไม่น่าใช่!!

แต่เมื่อพิจารณาจากหลายๆ มุมแล้ว สิ่งที่ทำให้ทาง ครม.ไทย น่าจะนำมาพิจารณาจำกัดสิทธิให้ ลาว, กัมพูชาและเมียนมา เพราะคงกังวลว่าจะถูกใช้เป็นช่องทางในการเข้ามาหางานทำในประเทศไทย ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับทัวร์ไทยในประเทศเกาหลี

เพราะในเดือน เม.ย.67 ที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าวในไทยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางานอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสภาพการณ์ที่เห็นในปัจจุบันที่แรงงานต่างด้าวเข้าไปอยู่ในทุกจุดของประเทศ ตั้งแต่ตลาดสดจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ช่องโหว่สังคมไทย!! ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง อาจช่วยฟอกขาวให้คนทำผิด กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ในที่สุด

ความจริงเรื่องนี้เอย่าได้รับทราบมานานแล้ว เพียงแต่ในอดีตคนที่ทำแบบนี้ส่วนใหญ่คือ 'คนชายขอบ' ที่มีบ้านติดชายแดน และมีจำนวนไม่มากนัก 

แต่หลังจากที่เมียนมาเกิดรัฐประหาร คนพม่าก็หลั่งไหลมาที่ไทย โดยเฉพาะตามชายแดนเป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้จะอาศัย 'ชาวชาติพันธุ์' หรือคนพม่าที่มีถิ่นพำนักตามชายแดนของไทยในการหาซื้อที่ดินและบ้าน โดยพวกที่อพยพมาใหม่จะเทครัวลูกหลานมาอยู่ไทยด้วยการข้ามแดนแบบผิดกฎหมาย

จากนั้นจะรอให้ทางการไทยเปิดลงทะเบียนผู้ไร้สถานะ ซึ่งจะได้บัตรชมพูและสามารถอาศัย-พักพิงในไทยได้ ส่วนลูกหลานของคนเหล่านี้ เมื่อได้สถานะก็สามารถส่งเข้าโรงเรียนได้และเมื่อเรียนจบปริญญาตรี ทางการไทยก็มีช่องกฎหมายให้บุคคลเหล่านี้สามารถขอสัญชาติไทยได้

การทำแบบนี้ ทำให้คนกลุ่มดังกล่าวกลายเป็นบุคคลสองสัญชาติไปโดยปริยายและหลายครอบครัวก็มีการซ่องสุมอาวุธและเงินทุนให้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร

ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนของที่ดินที่คนเหล่านี้จับจองนั้น ส่วนใหญ่จะใช้คนไทยหรือคนที่มีสัญชาติไทยถือครอง ทำให้ยากต่อการตรวจสอบจากทางภาครัฐ และส่งผลให้ราคาที่ดินที่ตารางวาหลักละไม่กี่พันกี่หมื่น ดีดตัวไปเป็นหลักล้านเมื่อขายให้กับคนกลุ่มนี้

นี่คือ หนี่งในสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ทางภาครัฐของไทยอาจจะเมินเฉยหรือมีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำแบบนี้ก็มิอาจทราบได้ เฉกเช่นเดียวกันกับเรื่อง Airport VIP Pass ที่จ่ายหลักพันก็ผ่าน ตม. ไทยได้อย่างสบาย โดยไม่ได้สนใจว่าเขาเหล่านั้นจะเข้ามาเป็นผีน้อยในไทยหรือไม่ก็ตาม ซึ่งจนถึง ณ วันนี้ก็ไม่มีคำตอบจากสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

เอย่ามองว่าคนไทยต้อนรับชาวต่างชาติทุกคนที่มาอย่างถูกต้อง แต่การที่คนต่างชาติเลือกจะเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องหรือซิกแซ็ก นั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ในการที่จะเข้ามาในประเทศไทย  

สุดท้ายก็จะนำไปสู่การฟอกขาวให้คนทำผิดกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ในที่สุด

เมื่ออัตลักษณ์แห่งศิลปะวัฒนธรรม 'เมียนมา' ยัง 'ฝังแน่น-มิจางหาย' คงเสน่ห์ไว้ได้หลายร้อยปี กลายเป็นของดีที่ไม่ต้องเคลมจากใคร

จากที่ใครต่อใครหลายคนเห็นว่า สื่อโซเชียลประเทศหนึ่งที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของไทยพยายามตั้งหน้าตั้งตาเคลมทุกอย่างจากไทย ด้วยการสร้างสตอรี่ขึ้นมาใหม่ ว่านี่เอย...นั่นเอย...เป็นของตนมาก่อน แค่ถูกชาวสยามขโมยไป สวนทางกับประเทศฝั่งตะวันตกอย่างเมียนมา ซึ่งก็มีอะไรหลายอย่างที่เหมือนกันกับไทย แต่กลับไม่เคยคิดจะเคลมว่าไทยขโมยมาจากพม่าแต่อย่างใด  

วันนี้เอย่าจะพาไปค้นหาว่าทำไมคนพม่า ไม่เคลมอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างของชาวสยาม หรือที่พม่าชอบเรียกว่า 'โยเดีย' นั้น ว่าเป็นของเขามาก่อน

1. พม่ายอมรับการมีอยู่ของโยเดียและยอมรับว่าโยเดียมีศิลปะของตนเอง ดั่งที่เราทราบว่าในเมียนมามีชุมชนชาวโยเดียที่เทครัวมาครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก  และนำพาศิลปะวิทยาการมาด้วย

2. ความชาตินิยมของชนเผ่า ต้องยอมรับว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีชนเผ่าหลายชาติพันธุ์รวมกัน แต่ละชาติพันธุ์ก็มีอัตลักษณ์ของตนเอง และสืบต่อให้ลูกหลานอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของตน ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ เครื่องแต่งกาย

3. ทางเมียนมาไม่ได้สนใจกับต้นกำเนิดว่ามาจากไหน เพียงแค่มีอยู่ในชีวิตประจำวันก็เพียงพอ อาทิเช่น มวยไทย กับ มวยพม่า (Lethwei) ที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เคยมีการเคลมว่ามวยพม่าเป็นต้นกำเนิดของมวยไทย หรืออย่างการนับวันปีใหม่ไทยก็คือ สงกรานต์ เช่นเดียวกับตะจ่านของเมียนมา แม้จะมีความเหมือนกันและต่างกันในรายละเอียดบางอย่าง แต่ทางเมียนมาก็ไม่คิดถามถึงว่าต้นกำเนิดมาจากใด

4. ความเชื่อที่ฝังแน่นจากรุ่นสู่รุ่นทำให้เกิดเป็นรากฐานทางสังคมที่แข็งแกร่ง อาทิเช่นการขอขมาผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลออกพรรษา หรือทางพม่าเรียกว่าตะดิงจุด ยังคงมีอยู่สืบรุ่นสู่รุ่น ในขณะที่ทางไทยธรรมเนียมนี้ได้หายไปจากสังคมไทยนานแล้ว

5. อีกสิ่งหนึ่งคือชาวเมียนมาไม่ได้ยึดติดกับอดีต  เท่าที่เอย่าได้คุยกับคนเมียนมาส่วนใหญ่ แม้ว่าเขาจะบอกว่าในอดีตเขาไม่เคยลืมว่าบรรพบุรุษของเขาว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่ยุคสมัยเหล่านั้นได้ผ่านไปแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่ยึดติดกับหงสาวดีหรือคองบองเหมือนคนไทยที่ยังยึดติดกับกษัตริย์อย่างเหนียวแน่น...ชาวเมียนมายุคใหม่บอกว่ายุคของเขาเริ่มต้นในสมัยของนายพลอองซานที่ปลดแอกชาวเมียนมาจากจักรวรรดิอังกฤษ กล่าวสั้นๆ ได้ว่า 'จำได้แต่ไม่ยึดติด' นั่นเอง

ปัจจุบันชาวเมียนมายังคงอนุรักษ์สิ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตนับหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน แสดงออกมาในแง่ของการแต่งกาย อาหาร คติความคิด ค่านิยม การใช้ชีวิต รวมถึงศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ จนไม่ต้องไปเคลมของชาติใด

Buddha Marketing สูตรสำเร็จธรรมกายบุกเมียนมา ความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเมืองไทย

เป็นที่ประจักษ์แน่นอนแล้วว่าหมุดหมายใหม่ของธรรมกายไม่ใช่ประเทศไทย แต่บุกไปหลายประเทศที่นับถือพุทธศาสนา อาทิเช่น เมียนมา, ศรีลังกา รวมถึงหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา โดยใช้กลยุทธ์ที่น่าจะนิยามได้ว่าการตลาดสายพุทธ หรือ ธรรมะมาร์เก็ตติง ทำไมจึงเรียกเช่นนั้น เอาเป็นว่าวันนี้เอย่าจะมาวิเคราะห์ให้ทราบกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่าส่วนประสมทางการตลาดประกอบด้วย 4 ส่วนคือ...

- ผลิตภัณฑ์ แต่ ณ ที่นี้เอย่าจะขอเรียกว่า ไอดอล ลัทธิธรรมกายมีการสร้างไอดอลหลัก 3 ท่านคือ พระมงคลเทพมุนี, แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง และหลวงพ่อธัมมชโย โดยมีการสร้างเรื่องปาฏิหาริย์ เป็นการเพิ่มคุณค่าของไอดอลให้น่าเชื่อถือ

- ราคา ณ ที่นี้ขอเรียกว่าคำสอน อันให้เกิดลาภจากการสักการะ เช่นในครั้งที่สร้างมหาธรรมกายเจดีย์ หลวงพ่อธัมมชโยได้กล่าวผ่าน DMC TV ว่าบริจาคแล้วได้อะไรรออยู่ที่สวรรค์

- สถานที่จัดจำหน่าย ณ ที่นี้ขอเรียกว่า อินฟลูเอนเซอร์และผู้เผยแผ่หลัก อาทิเช่นพระวีระธูในเมียนมาที่เป็นตัวตั้งตัวตีต่อต้านศาสนาอิสลามในเมียนมา และเป็นตัวหลักในการเผยแผ่และประสานงานกิจกรรมของธรรมกายในเมียนมา รวมถึงผู้นำบุญชาวเมียนมาที่ช่วยกันป่าวประกาศ

- สุดท้ายคือโปรโมชัน ณ ที่นี้คือกิจกรรมของธรรมกายที่ออกมาในเมียนมา อาทิเช่น การตักบาตรแบบเดียวกันกับที่เคยมีในประเทศไทย หรือ การสวมชุดนางวิสาขาเข้าไปถวายเงินให้แก่สังฆราช Sitagu ทั้งหมดล้วนเป็นกิจกรรมสร้างภาพให้สาวกทั้งเก่าและใหม่ ได้เลื่อมใส 

รวมถึงแม้สมาชิกเก่าจะถึงแก่กรรมไป ทางธรรมกายก็มีกิจกรรมในงานศพ เพื่อสร้างความประทับใจและหาสมาชิกใหม่เพิ่มเติมต่อ

และทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่า กล่าวได้ว่านี่คือส่วนประสมทางการตลาดที่เป็นสูตรสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นในไทยมาแล้ว และจะกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งที่ เมืองมัณฑะเลย์ ในเมียนมา

เราคงต้องยอมรับว่าจนถึงวันนี้ คำสอนของ 'พระสัมมาสัมพุทธเจ้า' ได้ถูกบิดเบือนจากการใฝ่หาการพ้นทุกข์ไปสู่การสักการะแล้ว ได้ผลตอบแทนเป็นชีวิตที่สุขสบายไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติหน้า

เอย่าก็หวังว่าเราชาวพุทธจะมีวันที่หวนกลับมาหาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เพราะเราไม่มีวันหนีกรรมพ้นแม้จะสร้างบุญเท่าภูเขาเอเวอเรสต์ก็ตาม

ฉาว ‘ตม.-ข้าราชการไทย’ เห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าชาติ ปูพรมแดงรับชาวเมียนมาเข้าไทยแบบ Elite ในราคาหลักพัน

ไม่นานมานี้เพจ Look Myanmar มีการเปิดข้อมูลเอเย่นต์พม่าโปรโมตการเดินทางเข้าไทยแบบ Exclusive ที่เรียกว่า VIP Pass โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 7,000 บาทเท่านั้น แบ่งเป็น...

‘ฝั่งเมียนมา’ คุณจะได้อภิสิทธิ์เพียงแค่มีพาสปอร์ตและตั๋วโดยสารเข้าไทยเท่านั้น โดยไม่ต้องแสดงเงิน, ตั๋วขากลับและใบจองโรงแรม...ในราคานี้เจ้าหน้าที่ ตม. ฝั่งเมียนมา จะพาคนพม่าข้ามผ่านจุดเช็กอินที่เคาน์เตอร์สายการบิน รวมถึงผ่านด่าน ตม. ที่สนามบินไปส่งยัง Border Gate

ในขณะที่ ‘ฝั่งไทย’ มีค่าใช้จ่าย 5,000 บาท ซึ่งคนเมียนมาที่จะเข้าไทยจะมีเจ้าหน้าที่มารับถึง Gate พาไปยัง ตม. ด้วยรถกอล์ฟ และทำเรื่องผ่าน ตม. ในช่องทางพิเศษ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงตั๋วขากลับ, ใบจองโรงแรมและเงินติดตัว

และยังมีการระบุอีกว่า “ราคานี้สำหรับคนที่ไม่มีประวัติเสียในการเดินทางเข้าไทย หากใครมีประวัติที่ไม่สามารถเดินทางมาไทยได้หรือติดแบล็กลิสต์ จะคิดอีกราคาหนึ่ง”

ประกาศนี้ไม่ได้มีเพียงประกาศเดียว ยังมีประกาศอีกหลายเอเจนซีที่ระบุว่าสามารถให้บริการ VIP Pass ได้ที่สนามบิน ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ, เชียงใหม่ และภูเก็ตอีกด้วย

ในอดีตการมีอภิสิทธิ์ของฝั่งพม่านั้น มีการพบเห็นได้หลายครั้งในหมู่เศรษฐีพม่า หรือคนมีชื่อเสียงเพื่อให้ไม่ต้องต่อคิวผ่าน ตม. ยาวเหยียด และมีคนเข้ามารับตรงหลัง ตม. เลย ขณะที่ในส่วนของไทยเรามีการให้อภิสิทธิ์สำหรับคนที่ถือบัตร Elite card ซึ่งราคาบัตร Elite card ต่อปีก็ไม่ใช่ถูก ๆ

แต่จากเหตุการณ์นี้...นี่ถือเป็นหลักฐานอย่างโจ่งแจ้งของการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่การท่าร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยเลยก็ว่าได้

แน่นอนว่า หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาประกาศเกณฑ์ทหาร ก็ทำให้คนพม่าจำนวนมากพากันออกนอกประเทศมาทำธุรกิจ มาศึกษาในไทยทั้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง และมีคนจำนวนไม่น้อยหนีคดีความมั่นคงและก่อการร้ายในเมียนมา มาแฝงตัวในประเทศไทย

ถึงแม้ว่าหลายคนจะรู้มาตลอดว่าการท่าอากาศยานมีบริการแบบนี้ อย่างที่ยูทูบเบอร์จีนรายหนึ่งเคยทำคอนเทนต์ลงในยูทูบและติ๊กต็อกมาแล้ว แต่การมาของชาวจีนกับชาวเมียนมานั้นต่างกัน...

คนจีนที่มานั้น ส่วนใหญ่เน้นมาเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย ต่างกับชาวพม่าที่เทครัวมาอาศัยระยะยาวและอาศัยช่องว่างของกฎหมายไทย มาทำมาหากินร่วมกับคนไทย หรือข้าราชการไทยบางคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประเทศชาติ

หวังว่าเสียงเล็ก ๆ ของ ‘เอย่า’ จะไปสะกิดหูท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนะคะ

ไทยเราคงต้องเรียนรู้จากชาติตะวันตกเมื่อต้อนรับผู้ลี้ภัยข้ามชาติเข้ามาพำนักในประเทศมาก ๆ แล้วจะเป็นอย่างไร ดังตัวอย่างที่มีให้เห็นแล้วในหลายประเทศ

รัฐบาลทหารเมียนมา เปิดเกมถลกหน้าปรปักษ์รัฐ จัดกลยุทธ์แยก 'น้ำดี-น้ำเสีย' ที่ไทยควรรู้เท่าทัน

หากใครติดตามสถานการณ์ของเมียนมาจะเห็นว่า เมียนมาเริ่มทยอยประกาศอะไรต่างๆ นานา ที่สร้างความหวาดหวั่นให้แก่ประชาชนของเขา โดยเริ่มจาก...

1. การประกาศเกณฑ์ทหารทั่วประเทศโดยเกณฑ์ทหารทั้งชายและหญิงที่อายุ ระหว่าง 18-35 ปี

ประกาศนี้สร้างความตระหนกให้คนพม่าจำนวนมากถึงกับหลายครอบครัวในพม่าส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ในขณะเดียวกันคนที่ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศก็จ่ายเงินให้กับสัสดีเขตเพื่อขอเลื่อนการเรียกตัวบุตรหลานเขาเข้าประจำการและสุดท้ายคือ กลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านกองทัพหลายครอบครัวเลือกที่จะหนีไปประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางธรรมชาติ

2. ประกาศระงับการเดินทางของผู้ชายออกไปทำงานต่างประเทศ แม้ประกาศนี้ไม่มีการประกาศออกมาชัดเจน แต่ก็สร้างความตระหนกให้กับคนพม่าในระดับคนทำงานอยู่พอสมควร

3. การทำบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดแบบ UID หรือ Unique Identifier ซึ่งนำมาใช้แทนบัตรเดิมและบัตรนี้ ในอนาคตจะผูกพันกับการทำทุกอย่าง เช่น การทำพาสปอร์ต ซื้อตั๋วรถโดยสารระหว่างเมือง ฯลฯ และอาจจะรวมถึงนำมาใช้ในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นด้วย เพื่อป้องกันการโกงตามต่างเมืองในหมู่บ้านที่ห่างไกลในชนบทของเมียนมาที่เคยผ่านมา

แน่นอนเรื่องบัตรสมาร์ทการ์ดนี้จะเป็นอีก 1 กลยุทธ์ในการแยก 'น้ำดี-น้ำเสีย' ของฝั่งรัฐบาลพม่า เพราะนอกจากจะใชังานด้านต่างๆ แล้วบัตร UID สามารถเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรรมได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการตรวจสออบว่าใครคือ ปรปักษ์ของกลุ่มรัฐบาลทหารเมียนมา

กลุ่มเรียกร้องกำลังถูกบีบมาให้ถึงทางตันที่จะต้องเลือกให้เข้าร่วมและเคลียร์ตัวเองให้บริสุทธิ์หรือจะอยู่อย่างคนไร้สัญชาติคอยซ่อนตัวอยู่ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา

ไทยเราควรจะเริ่มกระตือรือร้นได้แล้ว เพราะตอนนี้มีผู้คนจำนวนมากจากฝั่งเมียนมาหลั่งไหลเข้ามาไทย ซึ่งตอนนี้ฝั่งเมียนมาก็เปิดธุรกิจเข้าไทยโดยวิธี Fast Track แบบไม่ต้องแสดงใบจองที่พัก เงิน หรือตั๋วเดินทางกลับพร้อมเจ้าหน้าที่ไปรับตั้งแต่ Gate จนพาออกมาพ้นจุดตรวจผ่านคนเข้าเมืองประดุจผู้ถือบัตร Elite Card ในราคาเพียงหลักพัน

สุดท้ายนี้คงต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลไทยที่จะกวดขันเรื่องคอร์รัปชันในประเทศ อันจะส่งผลต่อไทยในระยะยาว แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อนายทุนของพรรคท่านนายกรัฐมนตรียังเข้ามาไทยท่ามกลางความกังขาของคนไทยส่วนใหญ่ในแผ่นดิน

แฉปมร้าวลึก!! PDF กับ KTLA ที่อาจถึงขั้น 'จุดแตกหัก' เมื่อกะเหรี่ยงยังมอง PDF เป็นคนพม่า และร่วมมือกันเพราะ 'เงิน'

ไม่นานมานี้มีข่าวมาเข้าหูเอย่ากลางดึก จนทำให้เอย่านอนไม่หลับถึงขั้นต้องลุกขึ้นมาจับปากกาเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนได้รู้กัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องของ 'พันโท ซอ ซา โลน' ผู้บังคับการกองกำลังคอมมานโดพิเศษ ของกองทัพกอทูเล หรือที่หลายคนรู้จักในนาม KTLA โดยกองพลนี้ขึ้นตรงกับ 'นายพลเนอดา เมียะ' ผู้เปิดศึกในเมืองเมียวดีนั่นเอง

เรื่องราวมีอยู่ว่า 'พันโท ซอ ซา โลน' ผู้นี้ถูกกล่าวหาว่าเขาเป็นคนยักยอกเงินในการจัดหาอาวุธและเสบียงสำหรับที่ใช้ในกองพล

แต่เรื่องที่น่าตกใจกว่าเรื่องคอร์รัปชันคือ พันโทผู้นี้เป็นผู้สังหารนักรบฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยหรือ PDF (กองกำลังพิทักษ์ประชาชน) ไปกว่า 20 ราย และยังไม่พอ เขาและลูกน้องในสังกัดของเขายังร่วมกันข่มขืนภรรยาของทหารฝ่าย PDF ที่เขาสังหารอีกด้วย

นอกจากนี้ก็มีทหารหญิงฝั่ง PDF หลายรายที่ถูกพันโทผู้นี้ย่ำยีความบริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าพันโทรายนี้ติดสุราอย่างหนักและมีพฤติกรรมชอบใช้อาวุธข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นประจำ และเขาตกเป็นผู้สงสัยในการเสียชีวิตของ 'เย หยิ่น' นายทหารคนสนิทของเขา

เหตุการณ์ทั้งหมดรับรู้กันเป็นวงกว้างในกองทัพของ PDF และ KTLA แต่นายพลเนอดา กลับเลือกจะนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ กับพันโท ซอ ซา โลน ผู้นี้

บางคนว่าเพราะนายพลเนอดามีความสนิทสนมกันเป็นการส่วนตัว แต่บ้างก็ว่าพันโทผู้นี้คือมือขวาฝีมือดีของกองทัพ KTLA ซึ่งถ้าหากขาดนายพันคนนี้ไป อาจจะทำให้กองทัพ KTLA ปราชัยก็เป็นได้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กองกำลังผสมของ PDF และ KTLA อ่อนกำลังลงมีทหาร PDF ถอนตัวจาก KTLA ไปอยู่กับกลุ่มต่อต้านอื่น

อีกทั้งยิ่งมีข่าวไม่นานมานี้เรื่องดีลลับสงบศึกเมียวดีระหว่างนายพลชิตตู่และนายพลเนอดา ยิ่งทำให้ฝั่ง PDF ผิดหวัง เพราะมีข่าวว่ากองทัพเมียนมามีการจ่ายเงินจำนวนหลายล้านบาทแลกกับการให้ KTLA ถอนกำลังพร้อมชี้เป้าจุดหลบซ่อนของกองกำลัง PDF จนเกิดปฏิบัติการบอมบ์ที่ภูเขา แล็ตคัดต่องก์ จนฝั่ง PDF สูญเสียเป็นอันมาก

จากเหตุการณ์นี้เป็นไปได้ว่า กองกำลังผสม PDF กับ KTLA อาจจะถึงคราวแตกหักในไม่ช้า 

PDF ต้องไม่ลืมว่ากะเหรี่ยงก็ยังมอง PDF เป็นคนพม่าอยู่ดี ถ้าไม่ใช่เพราะเงินอัดฉีดมหาศาลที่มาจากฝั่ง PDF ก็ไม่มีทางที่นายพลเนอดาจะมาสนใจกลุ่ม PDF แน่นอน เพราะจากพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่ดำเนินการใด ๆ กับ พันโท ซอ ซา โลน ก็เป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็นละว่า กะเหรี่ยงไม่ได้อยากญาติดีกับชาติพันธุ์เมียนมา

'บุเรงนองโมเดล' กลศึกแห่งกองทัพเมียนมา เอาคืนฝ่ายต่อต้านแบบ 'บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น'

แทบจะเรียกได้ว่า 'มันจบแล้ว' ระหว่างศึกกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมา เมื่อนายพลชิตตูเคลื่อนพลมาช่วยเหลือกองทัพเมียนมา จนสามารถนำทัพเข้ามายึดเมียวดีคืนได้สำเร็จ ไม่เพียงแค่นั้นฝั่งกองทัพเมียนมายังไล่ตะเพิดกลุ่ม PDF ที่ซ่อมตัวในหุบเขาแล็ตคัดต่อง จนราบคาบ และนำมาสู่การเปิดด่านพรมแดนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

หากเทียบกลศึกของพม่าในปัจจุบันมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ในพงศาวดารระบุไว้เรื่องกลศึกของบุเรงนอง จะเห็นว่ามีหลายส่วนมีความเหมือนกันอยู่ไม่น้อย ... วันนี้ 'เอย่า' จะมาถอดกลศึกของกองทัพเมียนมาว่าเหมือนกลศึกสมัยบุเรงนองเรื่องใดบ้าง?

1. นำศัตรูมาเป็นพวกตน : กลศึกนี้จะเห็นได้ว่าในพงศาวดารระบุชัดเจนว่า มีการนำฝ่ายที่เป็นศัตรูของตนมาจัดการฝ่ายเดียวกัน ซึ่งในกรณีชิตตูก็เป็นโมเดลนี้

2. กลยุทธ์องค์ประกัน : ในอดีตพระนเรศถูกนำตัวไปเป็นองค์ประกันเพื่อบังคับพระธรรมราชาอยู่ใต้อำนาจหงสาวดี แต่ในปัจจุบันทางกองทัพนำเมืองฉ่วยก๊กโก มาเป็นตัวประกันในการดึงนายพลชิตตูเข้าสู่เกมส์ศึกครั้งนี้

3. สิ่งที่เห็นได้ชัดคือกองทัพเมียนมาจัดการกลศึกในการรับใช้ที่มุ่งเน้นให้เกิดการเจรจามากกว่าต้องการที่จะใช้กองกำลังเข้ายึด โดยสังเกตจากการส่งกำลังพลและการใช้ยุทโธปกรณ์ในการรบนั้น ส่วนใหญ่ใช้กองทหารราบและยานเกราะเคลื่อนพลยึดพื้นที่เป็นหลักและยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการใช้ขีปณาวุธพื้นสู่พื้นเลย อนึ่งเพื่อจำกัดวงรบให้อยู่วงจำกัดเท่านั้น เช่นเดียวกับที่บุเรงนองพยายามรบแบบมุ่งเน้นการเจรจา

และนี่เป็นจุดใหญ่ๆ ในกลยุทธ์ของกองทัพเมียนมาที่เหมือนกับกลยุทธ์ของบุเรงนองในอดีต

'มหารัฐกอทูเล' ความฝันอันสูงสุดของชาวกะเหรี่ยง หรือจุดเริ่มต้นความวินาศจากหมากกลรัฐบาลพม่า

ตั้งแต่เริ่มสงครามระหว่างกะเหรี่ยง คราวนี้ถือเป็นกะเหรี่ยงที่เป็นฝ่ายมีชัย จนเกิดคำว่า 'มหารัฐกอทูเล' ขึ้น  

คำนี้ไม่ได้เป็นคำใหม่ แต่หากเป็นคำปลุกใจถึงแผ่นดินทองของกะเหรี่ยงมาตลอด 70 กว่าปีที่จับปืนรบกับทหารเมียนมา

จนวันนี้ที่ฝ่ายกองทัพเมียนมาขนทัพมา 3 กองพลเข้ายึดเมียวดีคืน ถือเป็นปฏิบัติการที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มีการสู้รบกับฝ่ายต่อต้านกองทัพที่ผ่าน ๆ มา

แต่หากดูกำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่ทางเมียนมาใช้แล้วจะเห็นว่าฝ่ายกองทัพเมียนมา ยังไม่ได้ขนอาวุธหนักในคลังแสงออกมาใช้เลย โดยเฉพาะอาวุธประเภทพื้นสู่พื้นพิสัยใกล้และพิสัยกลางที่สามารถทำลายเป้าหมายได้คราวละมาก ๆ

มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ถึงการไม่เลือกใช้อาวุธดังกล่าวของฝ่ายกองทัพเมียนมาว่า น่าจะไม่อยากให้กระทบถึงสิ่งก่อสร้างของพลเรือนและที่สำคัญคือ ป้องกันความผิดพลาดที่อาวุธดังกล่าวตกข้ามมายังฝั่งไทย

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ความตึงเครียด ณ วันนี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรงชายแดนเมียวดีตัดสินใจปิดด่าน เป็นผลให้ประชาชนตกค้างที่ด่านเป็นจำนวนมาก

>> Myanwaddy D-Day

Monday Impact คือ วันเผาจริงของชาวเมียวดี เมื่อทั้งเมืองถูก Lock down ด่านข้ามแดนปิด สินค้านำเข้าและส่งออกไม่ได้ ธนาคารปิด รวมถึงสาธารณูปโภคในเมียวดีอาจจะถูกตัดขาดเป็นผลจากการสู้รบ ในขณะที่กองทัพพม่าระดมประเคนลูกระเบิดนับ 200-300 ลูกต่อวันเข้าภายในเมือง จากนี้คงต้องดูว่าฝ่ายกะเหรี่ยงยังจะยืนกรานที่จะสู้อยู่หรือจะเข้าสู่โต๊ะเจรจา

'กอทูเล' อาจจะเป็นความฝันของชาวกะเหรี่ยง แต่ชาวกะเหรี่ยงคงลืมไปอย่างว่าที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาก็ให้สิทธิ์ชาวกะเหรี่ยงปกครองกันเองและยกระดับกองกำลังของกะเหรี่ยงเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ซึ่งมีอำนาจมากมายในรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงพัวพันกับธุรกิจทั้ง สีขาว, สีเทา และสีดำในรัฐกะเหรี่ยง 

คำถาม คือ หากสุดท้ายหากฝ่ายกองทัพเมียนมาปราชัย แล้วทางกะเหรี่ยงจะปกครองอย่างไร?

เพราะ กะเหรี่ยง ไม่ใช่รัฐหรือประเทศ ที่ถูกยอมรับในระดับสากล หากตั้งสกุลเงินใหม่ขึ้นมาทางกะเหรี่ยงจะต้องมีทองคำมาค้ำประกันค่าเงินตนเองซึ่งทองคำนั้นต้องได้รับการยอมรับจากทางประเทศต่าง ๆ ด้วย มิฉะนั้นสกุลเงินของกะเหรี่ยงก็ไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษ

ที่ผ่านมาเราได้พบเห็นการขอแยกการปกครองของกลุ่มตนเองออกเป็นประเทศมาแล้ว อาทิเช่น ประเทศติมอร์ เลสเต ที่แยกออกจากอินโดนีเซีย จวบจนปัจจุบันก็ยังมีปัญหาด้านงบประมาณในการใช้พัฒนาประเทศ ฉะนั้นหากกะเหรี่ยงแยกตัวออกจากเมียนมาโดยสมบูรณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างในสาธารณรัฐกอทูเล ก็ต้องนำเข้าทั้งจากฝั่งไทยและเมียนมาทั้งสิ้นอยู่ดี

ก็คงต้องถามคนที่นี่แล้วว่า สุดท้ายจะยอมรับค่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้นจากการที่มีภาษีนำเข้าได้หรือไม่? ทั้งในส่วนของไฟฟ้าก็ดี เพราะหากแยกตัวจริงเชื่อได้ว่าทางเมียนมาน่าจะหยุดส่งก๊าซเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้องนำเข้าไฟฟ้าเกือบ 100% จากไทย และไทยจะยอมขายให้ไหม? เพราะหากไทยยอมขายไฟฟ้าให้ ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่ายอมรับการมีตัวตนของประเทศนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยเมียนมาแน่นอน

ทั้งหมดที่ 'เอย่า' เล่ามานี้ เอย่ายังไม่เห็นแสงทองผ่องอำไพบนแผ่นดินกอทูเลเลย มีแต่ความวินาศของชาวกะเหรี่ยงที่เหมือนถูกซ่อนกลอีกชั้นหนึ่งในหมากที่ฝ่ายพม่าวางไว้ และสุดท้ายคือ คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลยแต่ต้องมารับผลกระทบด้วย นั่นคือประเทศไทยนั่นเอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top