Saturday, 4 May 2024
นายหัวไทร

ลูบคมนายหัวตรัง รทสช. ฉก 'หลีกภัย' ชน ปชป. จับตา 'โกหน่อ' ช่วยใคร?

พลันที่นายหัวชวน 'ชวน หลีกภัย' ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแฉว่า มีมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่วิ่งหาคนนามสกุล 'หลีกภัย' มาลงแข่งที่ตรัง ด้วยความอยากช่วยนายกฯ จึงต้องสืบค้นว่า นายตำรวจใหญ่คือใคร ไปทาบทามใคร

สนามการเมืองจังหวัดตรัง ถือเป็นเมืองหลวงของประชาธิปัตย์ ถิ่นกำเนิดของ 'ชวน หลีกภัย' ที่ทุกคนยอมรับในความซื่อสัตย์สุจริต เป็นนักการเมืองมือสะอาดคนหนึ่งของประเทศไทย ที่อยู่ยงคงกระพันบนเวทีการเมืองมาตั้งแต่ปี 2512 จนถึงปัจจุบัน และในการเลือกตั้งสมัยหน้ายังจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ หนุนหลัง 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แบบเต็มกำลัง

'ประชาธิปัตย์' ยึดครองสนามตรัง 3-4 ที่นั่งมายาวนาน เพราะชื่อชั้นของ 'นายหัวชวน' เป็นเครื่องหมายการค้า ที่ประชาชนยอมรับ ดังนั้น ไม่ว่าประชาธิปัตย์จะส่งใครลงสนามตรัง ประชาชนชาวตรังก็ยินดีที่จะเลือกให้เป็นผู้แทนโดยไม่มีข้อกังขา แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของ 'นายหัวชวน' ถูกนักเลงดีจากพรรคพลังประชารัฐ 'นิพันธ์ ศิริธร' อดีตรองผู้ว่าฯ ตรัง มาแย่ง 'หมอสุกิจ' นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.หลายสมัยจากประชาธิปัตย์ ปาดหน้าเข้าวินเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ทำให้ประชาธิปัตย์ได้แค่ 2 ที่นั่งในจังหวัดตรัง จาก 3 ที่นั่ง

กล่าวสำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 จ.ตรัง ได้ ส.ส.เพิ่มจาก 3 เขตเป็น 4 เขต โดยเขต 1 'นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์' ปฏิเสธลงสมัคร จึงไปคว้า 'นพ.ตุลกานต์ มักคุ้น' คนใกล้ชิดคนในครอบครัว 'หลีกภัย' ลงแทน ซึ่งในเขตนี้ 'พลังประชารัฐ' อาจจะส่ง 'กิตติพงษ์ ผลประยูร' อดีตที่ดินจังหวัดตรังลงแทน 'นิพันธ์ ศิริธร' ที่ทำท่าว่าจะไม่ไปต่อในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ในการเปิดตัวผู้สมัครของพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ยังปรากฏชื่อนิพันธ์ ศิริธร อยู่

ส่วนรวมไทยสร้างชาติ ฮึดสู้ในสนาม 'หลีกภัย' #นายหัวไทร ทราบว่า มีการส่งนายตำรวจใหญ่ชื่อเสียงโด่งดัง ไปทาบทาม 'ถนอมพงษ์ หลีกภัย' รองนายกเทศมนตรีนครตรัง' ให้มาลงสมัครรับเลือกตั้ง ผ่านกำนันคนดังเจ้าของบ้านทรงไทย นี่แหละคือประเด็นที่นายหัวชวน กล่าวถึง

เขต 2 ประชาธิปัตย์ยังคงส่ง 'เสี่ยตาล' สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.หลายสมัย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงรักษาแชมป์ มี 'ทวี สุรบาล' เจ้าเก่าในนามพลังประชารัฐลงท้าชิง

เขต 3 ประชาธิปัตย์ส่ง 'สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ' ทายาทของ 'โกหน่อ' สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรังหลายสมัยลงรักษาแชมป์ โดยมี 'พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ เรืองนัฐพงษ์' ลงชิง และมี 'อำนวย นวลทอง' เพื่อนซี้โกหน่อ ลงประชันด้วยในนามรวมไทยสร้างชาติ

เขต 4 ประชาธิปัตย์ โดย 'โกหน่อ-สมชาย โล่สถาพรพิพิธ' หักด่านคนในตระกูล 'หลีกภัย' ผ่านผลโพลล์ไม่ส่ง 'สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล' เลขานุการประธานสภาฯ 'ชวน หลีกภัย' ซึ่งเคยเป็น ส.ส.เขตนี้ ส่ง 'สท.กานต์ ตั้งปอง' ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น สายเลือดใหม่ลงในเขตนี้แทน เป็นเหตุให้ 'สมบูรณ์' ลาออกจาก 'ประชาธิปัตย์' และลงสมัครรับเลือกตั้งในนามรวมไทยสร้างชาติ 'พลังประชารัฐ' ส่ง 'พล.ต.ต.บรรลือ ชูเวทย์' อดีตผู้การจังหวัดตรัง ลงแข่ง

มันหยด!! อาญาสิทธิ์ (พปชร.) VS สิทธิรักษ์ (รทสช.) ชิงซีนวิสัยทัศน์ ในจังหวะ ‘บิ๊กตู่’ เยือนเมืองคอน

แม้ว่าเมื่อวานนี้ ‘นายหัวสิทธิ์’ หรือ ‘สิทธิรัก ทิพย์อักษร’ ใส่เสื้อพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สวมเสื้อให้ด้วยตัวเองไปเรียบร้อยแล้วนั้น ก็ไม่ได้ทำให้ชายร่างเล็กผู้น่าจดจำอย่าง ‘อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ’ ส.ส.เจ้าของพื้นที่ตกอกตกใจสักเท่าไหร่ เพราะก็ได้เปิดตัวประกาศกร้าวขอรักษาแชมป์ ส.ส. จ.นครศรีธรรมราช เขต 3 ในนามพรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิม 

อาญาสิทธิ์ ระบุว่า “เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ผมปฏิญาณตน ทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ตามที่พี่น้องได้เลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่างลง เมื่อ 7 มีนาคม 2564”

นอกจากนั้นแล้ว นายอาญาสิทธิ์ ก็ยังเห็นว่านโยบายพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้นำมาเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันบริหารประเทศ ใช้แก้ไขปัญหาประชาชนได้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน จับต้องได้ เช่น ด้านสวัสดิการประชารัฐ โดยออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลที่จัดตั้งโดยพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำได้บริหารประเทศด้วยนโยบายที่ทำได้จริง ถึงตัวตนประชาชนเป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่รั่วไหล ประชาชนพึงพอใจ และพรรคพลังประชารัฐพร้อมเดินหน้าทำต่อไป ในส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ก็จะพัฒนาเพิ่มเติมและแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

อาญาสิทธิ์ กล่าวอีกว่า “ผมมั่นใจในนโยบายแนวทางของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งอุดมการณ์ นโยบายพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งนำโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ซึ่งท่านประกาศชัดเจนว่าจะนำนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ไปบริหารประเทศต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพลังของประชาชนขับเคลื่อนสร้างพรรคพลังประชารัฐในระบอบประชาธิไตย ให้เป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง มีบุคคลกรการเมืองที่มีคุณภาพ สร้างเสริมการเมืองที่มีคุณธรรม ฟังความเห็นทุกฝ่าย รู้รักสามัคคี ให้อภัย นำประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยคำนึงถึงการกินดี อยู่ดี มีความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก โดยการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทย ในระบอบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข”

“ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบเขตเลือกตั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช ผมเชื่อว่าประชาชนชาวไทยยังต้องการนักการเมืองที่มีคุณธรรม คนนครศรีธรรมราช เป็นคนจริง รักใครรักจริง ชาวนครเป็นคนจริงใจ รักใครรักจริงไม่ทิ้งไม่ขว้าง “รักจังฮู้” ดังคำกล่าวที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวไว้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช” อาญาสิทธิ์ กล่าว

อาญาสิทธิ์ ระบุเพิ่มอีกว่า ผมเป็นชาวตำบลสามตำบล อำเภอจุฬาภรณ์ นครศรีธรรมราช หมู่บ้านตำบลเล็ก ๆ ในชนบทซึ่งเป็นแหล่งก่อกำเนิดนักการเมือง นักสู้ทางความคิดที่มีชื่อลือเลื่องมายาวนาน เป็นสถานที่มีการต่อสู้ทางความคิดและอาวุธ ด้วยเหตุผลด้านการเมืองการปกครองที่สำคัญ และความโดดเด่นของเมืองใต้ คนที่กำเนิดในพื้นเพนี้ ภูมิใจในมาตุภูมิ หรือคำสมัยใหม่อาจเรียกว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง เรียกว่า ‘คนสามตำบล’ เป็นคนจริง และมีคุณธรรมประจำใจ มีน้ำใจต่อผู้อื่น มีความยุติธรรมประจำใจเป็นที่ตั้ง ไม่ข่มเหงรังแกผู้ที่อ่อนแอ พร้อมรับมือกับผู้ข่มเหงรังแกที่แข็งแกร่ง เสียชีพอย่าเสียความสัตย์ เป็นเรื่องปฏิบัติจริงของ ‘คนสามตำบล’ มีคำจารึกบนศิลาจารึก หุบเขาช่องคอยเตือนสติ ว่าถ้าคนดีมีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความสุขและผลก็จักมีขึ้นแก่ชนเหล่านั้น”

“ด้วยคุณธรรมของชาวนครฯ ร่วมด้วยคุณลักษณะของคนสามตำบล” ที่ผมยึดถือเหมือนคาถาที่คนโบราณ ยึดถือสัจจะหลักธรรมประจำตัว สิ่งที่ผมไม่กระทำต่อหน้าโดยตรง หรือด้วยเล่ห์ เพทุบาย ในอันที่จะ คิดคดทรยศประชาชน ทรยศต่อพรรคการเมืองที่สังกัด ทรยศต่ออุดมการณ์ นโยบายพรรคที่ได้ให้โอกาสมีบทบาททางการเมือง ทรยศผู้ร่วมอุดมการณ์ในพื้นที่เลือกตั้ง” อาญาสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายอาญาสิทธิ์ยังกล่าวต่ออีกว่า “ผมจึงไม่หนีจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ตีจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ท่านผู้มีความตั้งใจทำความดีเพื่อชาติและประชาชนด้วยความเสียสละ รวมทั้งเพื่อนสมาชิกพรรคที่รักทุกคนและท่านที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นกรรมการบริหารพรรค ในท่ามกลางกระแสความนิยม ชื่นชมความดี นักการเมือง และพรรคการเมืองอื่น มากมายหลายพรรค” อาญาสิทธิ์ กล่าว

“เมื่อหมดวาระตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันนี้แล้ว ผมยังตั้งใจที่จะเป็นกำลังของพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบเขต ในจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมเป็นแขน-ขา อวัยวะส่วน เล็กๆ ของพรรคพลังประชารัฐ ที่จะหยิบยื่นนำเสนอถึงอุดมการณ์ นโยบายพรรคพลังประชารัฐให้รับรู้ถึงหูของประชาชนด้วยความนอบน้อม จริงใจ”

“ผมยืนหยัดจะทำตามอุดมการณ์ ที่ผมเข้ามารับใช้ประชาชนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชต่อไป ผมจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ร่วมเป็นกำลังกาย กำลังใจ กำลังขับเคลื่อนอุดมการณ์ และนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับผม ส.ส.นายอำเภออาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ต่อไป” อาญาสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ปชป. คว้า ‘ดร.ปิยกาญจน์’ ปักธงเมืองลุง เขต 2 มั่นใจ!! กระแสตอบรับดี - คนในพื้นที่ไว้วางใจ

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเปิดตัว 3 ผู้สมัครในจังหวัดพัทลุงในวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม เวลา 15.00-20.00 น. ณ สนามกีฬาสิริวัณวลี อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

สำหรับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง 3 คน ประกอบด้วย เขต 1 คือ ‘สุพัชรี ธรรมเพชร’ อดีต ส.ส.จากตระกูลบ้านใหญ่ ที่ยังคงมั่นอยู่กับประชาธิปัตย์ 

เขต 2 คือ ‘ดร.ปิยกาญจน์ สุพรรณชนะบุรี’ หรือ ดร.เดย์ ลูกสาวของ สานันท์ สุพรรณบุรี อดีต ส.ส. 2 สมัย อดีตนายกฯ อบจ.พัทลุง 2 สมัย ได้วางมือทางการเมืองไปแล้ว 

ส่วนเขต 3 ก็เป็น ‘นริศ ขำนุรักษ์’ ส.ส. 5 สมัยของพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย

ส่วนแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมาร่วมเวทีเปิดตัวผู้สมัคร และปราศรัย เบื้องต้นประกอบด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค, นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค ผอ.เตรียมการเลือกตั้ง, นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา รองหัวหน้าพรรคภาคใต้, ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รองเลขาธิการพรรค

เขตเลือกตั้งโซน 'ชะอวด-จุฬาภรณ์' นครศรีฯ ในจังหวะที่ กกต. อาจต้องแบ่งเขตใหม่หมด

กล่าวถึงเขตเลือกตั้งโซน 'ชะอวด-จุฬาภรณ์' ซึ่งอาจจะหมายรวมถึง หัวไทร, เชียรใหญ่, เฉลิมพระเกียรติ, พระพรหม และร่อนพิบูลย์ด้วย ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะแบ่งเขตออกมาอย่างไร?

ยิ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชี้ขาดว่าให้ตัดต่างด้าวออกไปจากระบบคำนวณแบ่งเขต กกต.ก็ต้องไปแบ่งเขตใหม่หมด เพราะ ส.ส.นครศรีธรรมราชจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 คนโดยบัดดล จากปัจจุบันที่มีอยู่ 8 คน และจะเพิ่มเป็น 9 คน ตามฐานจำนวนประชากร

กล่าวสำหรับเขตเลือกตั้งโซนชะอวด, จุฬาภรณ์, พระพรหม และเฉลิมพระเกียรติ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เทพไท เสนพงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ คว้าชัยเดินเข้าสภา แต่เมื่อเทพไทถูกศาลตัดสินจำคุก และตัดสิทธิ์ทางการเมือง ครั้นเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม 'อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ' จากพรรคพลังประชารัฐ กลับมาเป็นฝ่ายชนะจากที่เคยแพ้ให้เทพไท

กล่าวสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปี 2566 นี้ เราเอาสมมุติฐานว่า เขตเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลงมากนักแน่นอนว่า 'อาญาสิทธิ์' ยังอยู่พรรคเดิมพลังประชารัฐ โดยมีคู่แข่งที่ปรากฏตัวชัดแล้ว เช่น ณัฐกิตติ์ หนูรอด จากพรรคภูมิใจไทย คนถิ่นฐานควนเคร็ง อดีตปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ที่ตัดสินใจลาออกจากราชการก่อนเกษียณเพื่อลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกคนที่เผยโฉมตามมาคือ 'สิทธิรัก ทิพย์อักษร' แห่งชมรมสำนึกรักบ้านเกิด ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่พงศ์สิน เสนพงศ์ น้องชายของเทพไทหลีกทางให้ 'นายหัวสิทธิ์' ก็ไม่ธรรมดา มีเครือข่ายมาก ทำงานช่วยเหลือสังคมมาไม่น้อย

‘พปชร.’ เมืองคอนส่อวุ่น ปมแย่งพื้นที่เลือกตั้ง ‘ข่มเหง-ไล่เจ้าที่เดิม’ จากเขต 1 ให้ไปลงเขต 2

มีรายงานว่า ร.ศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.เขต 1 นครศรีธรรมราช ยืนยันกับทางพรรคพลังประชารัฐไปแล้วว่า ยังประสงค์จะลงเขต 1 เหมือนเดิม แต่มีนางสุภาพ ขุนศรี ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอีกคนประสงค์จะลงเขต 1 เช่นกัน เนื่องจากทำพื้นที่เขต 1 มาตลอด และในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นางสุภาพลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย แข่งกับ รศ.ดร.รงค์มาแล้ว และแพ้ให้กับ รศ.ดร.รงค์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เดินทางไปทำกิจกรรมทางการเมืองในจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ไม่ได้เชิญ ไม่ได้แจ้ง รศ.ดร.รงค์ ในฐานะ ส.ส.ในพื้นที่ให้เข้าร่วมด้วย แต่ที่น่าสนใจบนเวทีมีการกล่าวพาดพิงและวิจารณ์ รศ.ดร.รงค์อย่างรุนแรงต่อหน้า ดร.นฤมลที่นั่งอยู่ในฐานะประธานและยังมีการพูดทำนองว่า รศ.ดร.รงค์ควรจะไปลงเขต 2 เพราะบ้านอยู่ในพื้นที่เขต 2

ช่วงเช้าของวันนี้ (วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ) มีรายงานข่าวว่า นางสุภาพ ขุนศรี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 2 นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยสุนทร รักษ์รงค์ ว่าที่ผู้สมัครอีกคนของพรรคพลังประชารัฐในจังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางไปยื่นรายชื่อสนับสนุนให้ใช้รูปแบบที่ 3 ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ความทราบถึงนักข่าวแล้วว่า รศ.ดร.รงค์ มีปัญหาพื้นที่เลือกตั้งทับซ้อนกับนางสุภาพ ขุนศรี เมื่อสุภาพเจอกับนักข่าวคำถามเรื่องความขัดแย้งพื้นที่เลือกตั้ง จึงถูกยิงเข้าใส่สุภาพทันที

ชัดเจนครับ สุภาพยืนยันว่า ตนไม่ขอลงเขต 2 เนื่องจากไม่เคยเดินมาก่อน และเขตที่ตนเดินและคุ้นชินคือ พื้นที่ เขต 1 ที่เป็นของ รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ซึ่งเป็นคู่แข่งของตนสมัยที่แล้ว

ตนตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก พปชร. และ ประสงค์ลงสมัคร สส.ในนาม พปชร.แต่ยังไม่ชัดเจนในเขตเลือกตั้ง ถ้าจะให้ดี ควรให้ รศ.ดร.รงค์ ไปลงเขตอื่นแทน เพื่อที่ตนจะลงเขต 1 แต่หาก รศ.ดร.รงค์ ยังลงเขตเดิมตนก็จะไม่ลงสมัคร ส.ส.อย่างแน่นอน

วัดพลังสองพรรคใหญ่ 'ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย' ต่างคนต่างมั่นใจ ในศึกชิงเก้าอี้ ส.ส.เมืองคอน

ช่วงวันที่ 11-12 ก.พ.66 ที่ผ่านมา สองพรรคการเมือง อย่าง ประชาธิปัตย์ และ ภูมิใจไทย ได้จัดกิจกรรมทางการเมืองพร้อมกัน และเป้าหมายเดียวกัน คือ ส่งขุนพลลุยเมืองคอน เป้าหมายยึดฐานเมืองคอนให้ได้ ดังนี้...

- ประชาธิปัตย์ขนขุนพลไปเปิดสัมมนาผู้สมัครจากภาคใต้ทั้งหมด 58 เขตเลือกตั้ง 'จุรินทร์' ลั่นหวังกวาดยกจังหวัด 9 ที่นั่ง 

- ภูมิใจไทย จัดกิจกรรมอบรมว่าที่ผู้สมัคร โฆษกบนเวทีเกี่ยวกับทักษะการพูดในที่ชุมชน การเตรียมตัวปราศรัย สองวันเต็มอิ่มกับวิทยากรจากรายการสภาโจ๊ก ด้าน 'อารี ไกรนรา' ลั่น!! มั่นใจ-พร้อม 100% เตรียมเปิดตัวผู้สมัคร และเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เชื่อปักธงภูมิใจไทยในเมืองคอนได้แน่นอน

- นิด้าโพลสำรวจคนคอน ยังเลือกลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 ตามด้วยอุ๊งอิ๊ง ส่วนพรรคการเมือง ยังเป็นประชาธิปัตย์มาอันดับ 1 แต่น่าแปลกใจ เลือกเพื่อไทยมาอันดับ 2

>> ปรากฏการณ์แรก
'จุรินทร์' เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคใต้ 58 เขตครบ มั่นใจกวาดเรียบ

เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันที่ 11 ก.พ.2566 ที่โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้สพรรค ปชป.ได้เดินทางมาเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ของภาคใต้ 14 จังหวัดภาคใต้ ครบทั้ง 58 เขต 58 คน โดยมีแกนนำพรรคปชป.ประกอบด้วยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน, นายนิพนธ์ บุญญามณี, นายเดชอิศน์ ขาวทอง มาร่วมเปิดตัวในครั้งนี้ด้วย

นายจุรินทร์ ได้แถลงว่าพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่อยู่คู่กับประเทศชาติมายาวนานมีขึ้นมีลงบ้างเป็นธรรมดาของพรรคการเมืองทุกยุคทุกสมัย วันนี้พรรคประชาธิปัตย์พร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนของภาคใต้ทั้ง 58 เขต วันนี้พรรคประชาธิปัตย์พร้อมแล้วในการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครภาคใต้ทั้ง 58 เขตเลือกตั้งและมั่นใจจะสามารถกวาดคว้าชัยชนะหมดทั้ง 58 เขต

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีการเปิดตัว ว่าที่ผู้สมัครในพื้นที่ภาคใต้ ครบทั้ง 58 เขตเลือกตั้ง ถือเป็นพรรคแรกของประเทศ ที่แสดงความพร้อมของกับการเสนอตัวรับใช้ประชาชนในภาคใต้ จากเดิมเมื่อปี 2548 ทางพรรคฯ ส่งผู้สมัครไปแค่ 53 เขต ได้รับการเลือกตั้งมากถึง 51 เขต ในสมัยนายบรรทัดฐาน นั่งดำรงตำแหน่ง หน.พรรคฯ การเลือกตั้งสมัยหน้า ขอประกาศว่า พรรค ปชป.พร้อมสู้ทุกเขต พร้อมคัมแบ็คทั้ง 58 เขตเลือกตั้ง และในวันนี้ทางพรรคฯ ได้เสนอทางเลือกที่ดีที่สุดกับคนภาคใต้ ยืนยันได้จากจำนวน ส.ส.จำนวน 18 คน ที่ยังคงเป็นตัวแทนชาวบ้านอยู่ในตอนนี้ และรวมไปถึงบุคคลที่เป็นรัฐมนตรี และ อดีตรัฐมนตรี ทั้ง 4 คน ไม่ว่าจะเป็น นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ, นายสาธิต วงค์หนองเตย, นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ 

ทางพรรคฯ ไม่มีความหวั่นไหว และมั่นใจว่ายังครองใจคนภาคใต้ได้อยู่ ขอให้คนภาคใต้ช่วยกันสนับสนุน ลงคะแนนเลือก พรรคที่เคียงข้างประชาชน มาตลอดเวลา 76 ปี และในฐานะ ที่ตนเองก็เป็นคนภาคใต้ มีจิตวิญญาณคนใต้ ที่จะนำ พรรค ปชป.กลับคืนสู่ประชาชนต่อไป

>> ปรากฏการณ์ที่ 2
'อารี ไกรนรา' จัดอบรมทักษะการพูด-การปราศรัยให้กับว่าที่ผู้สมัคร-โฆษกบนเวที เตรียมเปิดต้ว 9 ผู้สมัครภูมิใจไทยเมืองคอน และปราศรัยใหญ่ เป็น 26 กุมภาพันธ์ เจอกันที่ทุ่งท่าลาด

สงคราม 'ข่าวลือ' ว่อน!! ใต้ลมการเมืองเปลี่ยน เกมป่วนประสาทคู่แข่ง ที่ไร้ความสร้างสรรค์

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดข่าวลือมากมาย ข่าวจริงก็เยอะ แต่ก็ยากที่จะกลั่นกรอง ซึ่งข่าวลือที่เกิดขึ้นอาจจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน บางคนต้องการสะท้อนมุมมองทางสังคมในเวลานี้ว่าเป็นอย่างไร บางคนต้องการโยนประเด็นเพื่อหาคำตอบ แต่มีบางคนปล่อยข่าวหวังผลทางการเมือง บิดเบือน ทำลาย

ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการปล่อยข่าวออกมาว่า ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ ส.ส.นครศรีธรรมราช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เนื่องจาก ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พอใจ ส.ส.แทนในบางเรื่องบางประเด็น

นายหัวไทร ก็ยกหูหาเจ้าตัวโดยตรง แทนบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้ ไม่เป็นความจริง จะเป็นไปได้ไง ผมเป็นแกนนำประชาธิปัตย์ในนครศรีธรรมราช และเป็นกรรมการบริหารพรรค

ไม่ใช่แค่นั้น เพียงสองอาทิตย์คล้อยหลังก็มีการปล่อยข่าวออกมาอีกว่า แกนนำคนสำคัญสองคนของพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จะไปลงสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ

“เป็นการปล่อยข่าว บิดเบือน จ้องทำลายของพรรคการเมืองบางพรรค ที่เขาเองยังไม่ลงตัว ผมอยากเรียกร้องให้ยุติการปล่อยข่าวทำลาย บิดเบือน มาทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์กันดีกว่า” แทน กล่าว

หลังจากนั้น ส.ส.แทนก็ออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืนเดินในการเดินหน้าไปสู่สนามเลือกตั้ง พร้อมว่าที่ผู้สมัครอีก 8 คน และแถลงข่าวย้ำอีกครั้งที่รัฐสภา

นายหัวไทร ยกหูไปหา ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็กล่าวยืนยันเช่นกันว่า เป็นไปไม่ได้ที่แทนจะไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ และในพรรคก็ไม่มีการหารือกันถึงเรื่องนี้

ข่าวลือยังมีการปล่อยกันถึงขั้นว่า ‘ชำนิ ศักดิเศรษฐ์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และมีฐานะเป็นน้าของ ส.ส.แทน ได้นำ ส.ส.แทน ไปจับเข่าคุยกับจุรินทร์แล้ว คุยกันรู้เรื่องแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นข่าวลือเกี่ยวกับ ส.ส.แทนกับพรรคประชาธิปัตย์ในนครศรีธรรมราช วงน้ำชา-กาแฟ ถกกันแต่เรื่องนี้เป็นด้านหลัก แม้แทนจะรับบทเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการจัดประชุมว่าที่ผู้สมัครในภาคใต้ทั้งหมดระหว่าง 11-12 กุมภาพันธ์นี้ที่ รร.ทวิลโลตัส จ.นครศรีธรรมราช ข่าวลือเหล่านี้ก็ยังไม่จางหายไปเสียทีเดียว

‘บังเลาะ’ เด็กปั้น ‘นิพนธ์’ มั่นใจแจ้งเกิด ปักธงช่วยประชาธิปัตย์เข้าวิน เขต 2 ยะลา

‘บังเลาะ’ ลั่นลงสนาม ส.ส.พิสูจน์ฝีมืออีกครั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 ยะลา เหมือนเดิม หลังจากการเลือกตั้งปี 2562 พ่ายให้กับ ‘ซูการ์โน มะทา’ พรรคประชาชาติ

“การเลือกตั้งครั้งที่แล้วผมมีเวลาเตรียมตัวน้อย เพียงไม่กี่วัน แต่คราวนี้เราเตรียมตัวมา 4 ปี จึงมีความพร้อมมากกว่า จากการสัมผัสชาวบ้านรู้สึกได้ว่าเขาอิ่มตัวกับนักการเมืองเก่า ต้องการเปลี่ยนบ้าง” บังเลาะ หรือ อับดุลย์เล๊าะ บูวา กล่าว

สำหรับเขต 2 ยะลา น่าจะประกอบด้วย อ.เมืองยะลา (เฉพาะ ต.บุดี เปาะเส้ง และ ต.บันนังสาเรง) อ.รามัน ยะหา (ยกเว้นต.ยะหา ตาชี และ ต.บาโงยซิแน) อ.กาบัง ปัจจุบันมีซูการ์โน มะทา จากพรรคประชาชาติ เป็น ส.ส.อยู่

อับดุลการิม เด็งระกีนา อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คราวที่แล้วลงสนามพร้อมสวมเสื้อพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของลุงกำนัน (สุเทพ เทือกสุบรรณ) แต่พ่ายให้กับซูการ์โน มะทา จากพรรคประชาชาติ (ปช.) น้องชาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นักการเมืองมุสลิม และ แกนนำ ‘กลุ่มวาดะห์’ ซึ่งตัวซูการ์โนเคยเป็นผู้ช่วย ส.ส. เป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยะลา 2 สมัย เคยเป็น ส.ส.สังกัดพรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.คนเดียวของพรรคในพื้นที่ ภาคใต้ โดยปี 2554 ซูการ์โนได้ลงสมัครในสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.) เขตเลือกตั้งที่ 2 แต่พ่ายให้กับ อับดุลการิม เด็งระกีนา จากพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมองข้ามอีกคนหนึ่งในเขตนี้ไปไม่ได้ นั่นคือ ริดวาน มะเต๊ะ จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีดีกรีเป็นอดีต ส.อบจ.เขต อ.รามัน และมีบิดาชื่อ มะโซ๊ะ มะเต๊ะ เป็นอดีตกำนันคนดังแห่ง ต.ตะโละหะลอ อ.รามัน และในอดีตยังเป็นหัวคะแนนให้กับ อดีต ส.ส.ในพื้นที่มาแล้ว แต่คราวที่แล้วเขายังเดินไปไม่ถึงฝั่งฝัน

กล่าวสำหรับ ‘บังเลาะ-อับดุลย์เล๊าะ บูวา’ ยังคงมุ่งมั่นกระโดดเข้าสู่การเมืองระดับชาติ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันเป็นรองนายกเทศบาลตำบลโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา

บังเลาะ เข้าศึกษาต่อในตลาดวิชา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยระบบการศึกษาแบบ ‘แพ้คัดออก’ เข้าร่วมทำกิจกรรม ร่วมกับ ชมรมมุสลิม ม.รามคำแหง และกลุ่ม PNYS ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษามุสลิมที่มีพลังมากในรามคำแหง บังเลาะสนใจการเมืองมาตั้งแต่ต้น จึงเข้าร่วมกับพรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า คือนักศึกษา 7 คณะ พรรคสานแสงทอง เช่น กิจกรรมออกค่ายอาสา กิจกรรมอบรมทางวิชาการ กิจกรรมรณรงค์การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และอื่น ๆ อีกมากมาย

หลังจบการศึกษาเข้าทำงานที่บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด ทำงานที่เนชั่น 24 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือ หัวหน้าซับเอดิเตอร์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่เนชั่น ได้เรียนรู้ถึงข้อมูลข่าวสารและแนวทางการวิเคราะห์ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งได้เผชิญกับวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ มาหลายยุคหลายสมัย เมื่อถึงเวลาอิ่มตัวกับงาน จึงตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าเดินทางกลับบ้านเกิด หมายมั่นทำงานการเมืองรับใช้บ้านเกิด

“ออกจากเนชั่นด้วยความคิดที่ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าสักวันจะต้องกลับสู่บ้านเกิด สิ่งที่จะทำคือการได้มีโอกาสในการใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เพื่อนำไปพัฒนาในพื้นที่ รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการประสานงานระหว่างท้องถิ่น กับ หน่วยงานภาครัฐ เพื่องานจะได้คล่องตัวและราบรื่น”

บังเลาะ กล่าวว่า การเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น คือ เป็นการทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่แคบ ๆ และจำกัด แต่การเมืองระดับชาติ ถือ เป็นงานใหญ่ที่จะได้ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างกว้างขวาง ซึ่งในพื้นที่เขต 2 ที่รับผิดชอบจะมีนักการเมืองที่เกือบจะผูกขาดมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ได้ทำอะไรกับประชาชนพอสมควร ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โอกาสคนรุ่นใหม่ จะได้ช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อับดุลย์เล๊าะ บูวา มั่นใจว่า การเลือกตั้งรอบใหม่นี้ ผมมีความหวังเต็ม 100 ที่จะได้รับการเลือกตั้ง โดยการเข้าถึงชาวบ้านในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง โดยได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้านว่า ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนสักที และด้วยนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ โดนใจชาวบ้านอย่างที่สุด เช่น การประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ปาล์ม เป็นต้น รวมทั้งการเร่งรัดเดินสำรวจออกโฉนดและให้สิทธิ์ทำกินในที่ดินของรัฐ ถือเป็นหัวใจหลักที่ได้เสียงตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก

บังเลาะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยะลาเป็นเมืองเกษตรกรรม มีผลไม้มากมาย ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น รัฐจะต้องเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง อนาคตเราจะเสนอให้ยะลาเป็น ‘เมืองฮับทุเรียน’

เลือดใหม่ประชาธิปัตย์ ‘อับดุลย์เล๊าะ บูวา’ ที่ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จูงมือมาลงสมัคร และหมายมั่นปั้นมือจะปั้นให้แจ้งเกิดให้ได้

ข้อมูลเคียงข่าว

จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีพืชทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 4 ชนิด ทุเรียน  ลองกอง เงาะ และมังคุด โดยไม้ผลที่ปลูกมากที่สุด คือ ลองกอง มีพื้นที่ปลูก 157,300 ไร่ รองลงมาเป็น ทุเรียน มีพื้นที่ปลูก105,135 ไร่ มังคุด มีพื้นที่ปลูก 39,630 ไร่ และ เงาะ มีพื้นที่ปลูก 39,446 ไร่ ตามลำคับ

ส่วนไม้ผล ที่เป็นที่รู้จักและนิยมของผู้บริโภคมากที่สุด คือ ลองกอง โดยฉพาะลองกองตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากเป็นลองกองที่มีรสชาติทวาน หอม และอร่อย

นอกจากนี้ ทุเรียน ชายแดนใต้ นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิด ที่ได้รับความนิยมเพิ่มการปลูกมากขึ้น ด้วยปัจจัยจากราคา ทำให้ทุเรียน ออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

‘ศุภชัย’ มองเกม ‘ก้าวไกล’ ค้านย้าย ‘หมอสภัทร’ เข้าตำรา ‘น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า’ ของคนพวกเดียวกัน

‘ศุภชัย ใจสมุทร’ ตั้งข้อสังเกต ‘ก้าวไกล’ ออกตัวคัดค้าน ย้าย ‘หมอสุภัทร’ เข้าตำรา น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ชี้ โยกย้ายข้าราชการโดยไม่กลั่นแกล้งถือเป็นเรื่องปกติ

กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งย้ายนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ จากผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ประธานชมรมแพทย์ชนบทไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งไม่ห่างไกลกันมากนัก

ต้องยอมรับความจริงว่า ในช่วงที่นายแพทย์สุภัทร นั่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ได้ปรับปรุงระบบบริการ การบริหารจัดการโรงพยาบาลจะนะไปมากจนเป็นที่พอใจของประชาชน

อีกบริบทหนึ่งของนายแพทย์สุภัทร คือการขับเคลื่อนทางสังคมในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ ที่มีเยาวชนกลุ่มรักษ์บ้านเกิดจะนะ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการคัดค้าน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การผลักดันของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อให้เกิดเมืองต้นแบบของเหลี่ยมเศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ เป็นหนึ่งในสี่ของเมืองเหลี่ยมเศรษฐกิจ

ถ้านิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะเกิดขึ้นจริง จะเกิดการลงทุนหลายแสนล้าน เกิดการจ้างงานหลายหมื่นอัตรา จะเกิดท่าเรือ ภายใต้การลงทุนของภาคเอกชน

แต่เมื่อมีกลุ่มคัดค้าน ทางภาครัฐก็ต้องรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน ทำให้โครงการนี้ยังชะลออยู่ โดยอยู่ระหว่างการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (SEA) โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2565 สศช.ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการจัดทำ SEA แผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี วงเงินค่าจ้าง 28.22 ล้านบาท 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะเริ่มต้นศึกษา SEA แผนแม่บทฯดังกล่าว ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 โดยใช้เวลาศึกษานาน 18 เดือน หรือแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567 ขณะที่การจัดทำ SEA ครั้งนี้ จะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรวม 40 เวที และมีผู้เข้าร่วมฯไม่น้อยกว่า 3,000 คน แบ่งเป็นปี 2566 จำนวน 32 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 2,100 คน และปี 2567 จำนวน 8 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 900 คน 

'สภาพัฒน์ฯ' พยายามที่จะให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทในครั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้ง และความซ้ำซ้อนในการทำงานลง เบื้องหากแผ่นแม่บทการพัฒนาพื้นที่สงขลา และ ปัตตานีแล้วเสร็จ จะมีการคัดเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้สภาพัฒน์ฯคาดกการณ์ว่า หากแผนออกมาแล้วจะเกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

สภาพัฒน์ใช้คำว่า แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่สงขลา-ปัตตานี เข้าใจได้ว่ายังไม่เลือกพื้นที่ แต่ประชาชนทั่วไปรับรู้กันหมดแล้วว่า จะเกิดขึ้นในสามตำบลของอำเภอจะนะ ย่านตำบลตลิ่งชัน ต.สะกอม นั่นแหละ

‘ก้าวไกล’ ขวางย้าย ‘หมอสุภัทร’ 

โดย 'ก้าวไกล' ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วย ปมย้าย 'หมอสุภัทร' พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ทบทวนคำสั่ง

โดยแถลงการณ์ระบุว่า พรรคก้าวไกลขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว และขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการโยกย้ายด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากนายแพทย์สุภัทรเป็นข้าราชการที่ทำงานเป็นปากเสียงแทนประชาชน มีความกล้าหาญในการแสดงความเห็นคัดค้านผู้มีอำนาจ และเปิดเผยข้อมูลสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนคำสั่งดังกล่าวโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชน

ด้านนายแพทย์สุภัทร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุตอนหนึ่งว่า ปี 2563 ผมรับภารกิจเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทอีกตำแหน่งหนึ่ง ทำหน้าที่ทักท้วงเสนอแนะเรื่องราวใน สธ. อาทิ การไม่เห็นด้วยต่อนโยบายกัญชาเสรี การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม การบริหารจัดการโควิดและวัคซีน การไม่ลงนามงบส่งเสริมป้องกันปี 2566 หรือ การซื้อ ATK ที่มีข้อสงสัย สิ่งเหล่านี้สร้างความหงุดหงิดต่อใครบางคน จนนำมาสู่คำสั่งให้ย้ายผมให้ได้ก่อนยุบสภา

จริง ๆ การจะย้ายผมไม่ยากเลย เพียงแค่ปลัดกระทรวงสั่งย้ายตามอำนาจที่ท่านมี (แต่ต้องมีเหตุมีผลด้วยนะ) แต่เพราะตำแหน่งผมเป็นตำแหน่งวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ไม่มีเกณฑ์ที่ต้องถูกย้ายตามวาระ เหตุความผิดที่ต้องถูกย้ายก็ไม่มี ผมเองก็ไม่ได้สมัครใจย้าย ปลัดกระทรวงจึงไม่กล้าเซ็นเอง เพราะกลัวผิดกฎหมายอาญา ม. 157 ก็เลยต้องมีการสั่งการให้ผู้ตรวจราชการเป็นคนเซ็น ใครลงนามจะได้เลื่อนชั้นรวดเร็ว เรื่องราวจึงโกลาหล

เมื่อการโยกย้ายนายแพทย์สุภัทร มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง พรรคก้าวไกลคัดค้านเรียกร้องให้ทบทวน เจ้าตัวก็ไม่เต็มใจ แต่อาชีพรับราชการการโยกย้ายถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งแห่งหนใดก็สามารถแสดงความคิดเห็น จุดยืนได้อยู่แล้ว นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย จึงออกมาตั้งข้อสังเกตผ่านโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Suphachai  Jaismut) ว่า 

‘ประชาธิปัตย์’ ชู นโยบายเป็นไปได้ - ทำได้จริง สู่หมุดหมายทวงคืนเก้าอี้ 3 จ.ชายแดนใต้

ประชาธิปัตย์กับสามจังหวัดชายแดนใต้ นโยบายที่เป็นไปได้ ทำได้จริง ไม่วาดฝันแค่ช่วงเลือกตั้ง

‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องย้ำหลายครั้งถึงความอุดมสมบูรณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแต่มีปัญหาความไม่สงเรียบร้อย จึงต้องการให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคลังอาหารของภาคใต้ นอกจากภาคพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์แล้ว มีสองจังหวัดที่ติดทะเล คือปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งทางทะเลก็ยังมีความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน และยังมีเป้าหมายในการ ‘สร้างสันติภาพให้เกิดสันติสุข’

การเลือกตั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อย มีเพียงครั้งที่ผ่านมา ที่สูญเสียที่นั่งส่วนใหญ่ไป ได้มาเพียงคนเดียว คือ ‘อันวาร์ สาและ’ จังหวัดปัตตานี โดยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามี ส.ส.ได้ 11 คน พรรคประชาชาติได้ไป 6 คน พรรคพลังประชารัฐ 3 คน ประชาธิปัตย์ 1 คน และภูมิใจไทย 1 คน การเลือกตั้งครั้งหน้ามี ส.ส.เพิ่มมา 1 คน เป็น 12 คน ยะลา 3 ปัตตานี 4 และนราธิวาสเพิ่มมา 1 คน เป็น 5 คน

สำหรับ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ นอกจากจะมีนโยบายใหม่ เช่น ‘สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ’ โดยภาพรวมแล้ว ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ หัวหน้าพรรค ยังเลือกที่จะใช้นโยบายเดิมที่เป็นนโยบายซึ่งทำได้จริงที่เคยประสบความสำเร็จ และเสริมนโยบายใหม่ ๆ ทันสมัย และทำได้จริงเข้าไปและถึงมือประชาชนจริง เช่น นโยบายการประกันรายได้ผลผลิตการเกษตรของเกษตรกร และจะขยายขอบเขตของการประกันรายได้ไปสู่อาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย

‘ประชาธิปัตย์’ เป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนและต่อเนื่อง ไม่ใช่มีนโยบายเฉพาะกิจในช่วงหาเสียงเพื่อการเลือกตั้ง หวือหวาในช่วงหาเสียง แต่ยังไม่รู้ว่าทำได้จริงหรือไม่ เอางบประมาณมาจากไหน แต่เป็นนโยบายที่วางเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดี เช่น โครงการนมโรงเรียน โครงการอาหารกลางวัน เงินกู้ กยศ. และอีกหลายโครงการที่แยกย่อยลงมาในกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อครั้งที่คนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเป็นรัฐมนตรี

หรือโครงการ อสม. เงินผู้สูงอายุ ยกระดับสถานีอนามัย 10,000 แห่งให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ รพ.สต. เมื่อครั้งที่ ‘จุรินทร์’ คนของประชาธิปัตย์เป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุข

ประชาธิปัตย์ก้าวย่างเข้าไปในกระทรวงไหน ก็จะเข้าไปเป็นผู้วางรากฐาน ที่เป็นนโยบาย เพื่อให้เกิดความมั่นคงที่คนของพรรคการเมืองอื่น เมื่อเข้าไปเป็นเจ้ากระทรวงจะได้สานต่อทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น เพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม. และเพิ่มเงินผู้สูงอายุ และอื่น ๆ ที่ ‘ประชาธิปัตย์’ เป็นผู้ทำเอาไว้ และไม่มีโครงการไหนที่ประชาธิปัตย์ทำไว้แล้วถูกยกเลิก

นโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ในการเลือกตั้งสมัยที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์มี ส.ส.เพียงคนเดียวใน จ.ปัตตานี กับอีก 3 คนของ จ.สงขลา แต่ประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ละเลยในการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องของความยากจนของคนใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมกับเดินหน้าสรรหาคนเลือดใหม่เข้ามาเสริมทัพให้แข็งแกร่งขึ้น จะต้องมี ส.ส.ทุกจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top