Saturday, 4 May 2024
นายหัวไทร

ส.ว.สายโหวต ‘พิธา’ จี้ กกต. ส่งศาล รธน.สอบคุณสมบัติ หวั่น!! โหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง

รีบเลย!! ‘ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม’ ส.ว. ซึ่งมีชื่อว่าจะโหวตเลือก ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับออกมาจี้ กกต. รีบส่ง #ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย คุณสมบัติ #พิธา โดยเร็ว ก่อน #โหวตนายก 13 ก.ค. กลัวต้องโหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง ยันที่ประชุมรัฐสภา สามารถเลื่อนการประชุมโหวตได้ 

พฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม จะเป็นวันนัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก้าวไกลจะเสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแกนนำบางคนออกมายืนยันแล้วว่า มีเสียงสมาชิกวุฒิสภาให้การสนับสนุนครบแล้ว ถ้าครบแล้ว หมายถึงได้รับการสนับสนุนจาก สว.แล้วไม่น้อยกว่า 66คน

ต้อง 66เสียง เพราะว่า พรรคก้าวไกลหายไป 1 คน จากเหตุเมาแล้วขับ และ กกต.ยังไม่รับรองในการเลื่อนลำดับถัดมา จึงยังไม่ได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่ง ส่วนอีกคน ต้องทำหน้าที่ประธาน จะงดออกเสียงหรือไม่

แต่ประเด็นมาถึงวันนี้ สว.บางคนที่เคยเอ่ยปากสนับสนุน ‘พิธา’ เริ่มลังเลในการโหวต กลัวว่าจะเป็นการรับรองคนผิดเข้าสู่ตำแหน่ง แล้วจะถูกเล่นงานตลบหลัง ส่วนคนที่ตั้งใจ มุ่งมั่นแล้วก็ว่ากันไป แต่จำนวนเท่าไหร่แน่ ไม่มีใครยืนยัน

วันนี้ กกต.นัดประชุมสรุปอีกรอบในการดำเนินการตามคำร้องของเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของพิธาว่าเข้าข่ายต้องห้ามหรือไม่กรณีถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) ซึ่งเมื่อวานได้พิจารณาแล้ว แต่พรรคก้าวไกลทำหนังสือแย้งไปว่า กกต.ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือเรียกผู้ถูกกล่าวหาไปชี้แจง กกต.จึงเลื่อนมาพิจารณาต่อในวันนี้

เกม 'ล้มประชุม' เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เบรกความฮอตขั้ว 'เฉลิมชัย' อีก 1 เดือนวัดกันใหม่

การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มขึ้นเวลา 09.00 น.ของวันที่ 9 กรกฎาคม โดยการกล่าวต้อนรับสมาชิกโดยผู้อำนวยการพรรค จากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยดำเนินการไปตามระเบียบวาระ เมื่อจะเข้าวาระ 4 ว่าด้วยเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ที่ประชุมได้เชิญสื่อมวลชนออกจากห้องประชุม

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคกรุงเทพมหานคร เสนอให้ยกเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรค ในขณะที่นายสาธิต ปิตะเตชะ รองหัวหน้าพรรค เสนอให้งดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรคเกี่ยวกับสัดส่วน-น้ำหนัก ส.ส.กับโหวตเตอร์อื่นๆ 70:30 ทำให้นายจุรินทร์ เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น มีสมาชิกแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายองอาจจึงเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน พี่น้องภายในพรรคไปคุยตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนว่าจะเอาอย่างไร

การประชุมยังเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ในขณะที่ด้านนอกมีกระแสข่าวมาเรื่อยๆ 'อลงกรณ์ พลบุตร' ถอนตัวจากการชิงหัวหน้าพรรคกระทันหัน และไม่เข้าร่วมประชุมด้วย

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ให้คำตอบในนาทีสุดท้าย ปฏิเสธลงชิงหัวหน้าพรรค เกมเริ่มพลิก ขั้วของเฉลิมชัย ศรีอ่อน ขาดหัวในการชิงหัวหน้าพรรค จึงดึง 'นราพัฒน์ แก้วทอง' จากพิจิตร มาเสนอตัวแทน และ 'ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล' ตัวจี๊ดขันอาสามาสมัครอีกคน

บรรยากาศในห้องประชุมยังดำเนินไปอย่างเคร่งเครียดกับข้อเสนอให้งบใช้ข้อบังคับการประชุม การประชุมลากยาวไปถึงภาคบ่าย และสไตล์ประชาธิปัตย์ เมื่อเห็นไม่ตรงกันก็จบลงด้วยการลงมติ ที่ประชุมไม่ให้เลื่อนการประชุมออกไป และยังใช้ข้อบังคับพรรคในสัดส่วน 70:30 ต่อไป

กว่าจะได้พักรับประทานอาหารการประชุมลากยาวมาถึงบ่ายโมง พัก 1 ชั่วโมง นัดประชุมใหม่ 14.00 น. 

ผู้ล้ำลึกในเกมวิเคราะห์ถึงการชิงไหวชิงพริบกันในภาคเช้า ขั้วของเฉลิมชัยยังอยู่ในฐานะได้เปรียบในทุกประตู ทั้งไม่เลื่อนการประชุม และงดใช้สัดส่วน 70:30

แต่หลังรับประทานอาหารเสร็จ ภาพที่เห็นคือ คนที่เป็นองค์ประชุมเริ่มเช็กเอาต์ ลากกระเป๋าออกจากห้องพัก ซึ่งเป็นไปตามกติกา ถ้าไม่พักต่อก็ต้องเช็กเอาต์ก่อนบ่ายสองโมง 

สัญญาณเริ่มได้ยิน "ล้มการประชุม" องค์ประชุมหลายคนจึงลากกระเป๋าออกจากโรงแรม บางคนอ้างจองตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว จองตั๋วรถทัวร์ไว้แล้วบ้าง

14.00 น.การประชุมช่วงบ่ายเริ่มขึ้น คนเริ่มโหรงเหรง เหลือครึ่งหนึ่ง จึงมีคนเสนอให้นับองค์ประชุม เป็นไปตามคาด 'ไม่ครบองค์ประชุม'

จริงๆ แล้ว การนับองค์ประชุม เป็นเกมที่ไม่ต้องการให้การประชุมเดินต่อไปได้ ซึ่งหมายถึงไม่สามารถเดินไปสู่การเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต่อได้นั่นเอง และถ้าดูผลการประชุมในช่วงเช้า ขั้วของเฉลิมชัย ที่ดันนราพัฒน์ ยังเป็นต่ออยู่ เกมล้มการประชุมด้วยการนับองค์ประชุมจึงถูกกำหนดขึ้น และบรรลุเป้าหมาย ยังมีเวลาอีก 1 เดือนในการล็อบบี้ 

งานนี้นักการเมืองหนุ่มขั้วเฉลิมชัยถึงกับส่ายหน้ากับเกมล้มการประชุมที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ประเด็นเวลานี้คือ อลงกรณ์มีเหตุผลอะไรถึงถอนตัวจากการลงชิงหัวหน้าพรรค และไม่เข้าร่วมประชุม เกิดอะไรขึ้น 1 วันก่อนการประชุม เช่นเดียวกับ ดร.เอ้ ที่มาปฏิเสธในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ดูท่าทีดีใจที่ถูกผู้ใหญ่ในพรรคทาบทามให้ลงชิงหัวหน้าพรรค แต่กลับมาตัดสินใจ และบอกกล่าวในนาทีสุดท้าย จนขั้วเฉลิมชัย เกือบพลิกตัวไม่ทัน ยังดีที่ไปคว้านราพัฒน์ไว้ได้ทัน

ชัดเจนครับว่า การประชุมครั้งหน้า ก็จะเริ่มต้นด้วยการเสนอชื่อผู้ที่จะลงชิงหัวหน้า ไม่ต้องมาหารือ หรือลงมติเรื่องอื่นกันให้เสียเวลาอีก แต่ 1 เดือนที่เหลือ น่าจะเป็นช่วงเวลาของการล็อบบี้-หาคะแนนกันอย่างแท้จริง ทั้งฝ่ายสนับสนุน 'นราพัฒน์ แก้วทอง' และฝ่ายสนับสนุน 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ'

'เชาว์ มีขวด' ขยับเกม นัดระดมพลคนรัก ปชป. จี้!! งดใช้ข้อบังคับพรรค ใช้สัดส่วน ส.ส.ชี้ชะตา

เมื่อไม่นานมานี้ นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงรอบสาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Chao Meekhuad’ เรื่อง จากใจ ถึงใจ คนรัก ปชป. วันที่ 8 ก.ค.เจอกันที่ลานพระแม่ธรณีฯ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า

หลังจากที่ได้เสนอแนวคิดในการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์โดยเรียกร้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของพรรคผ่านเฟซบุ๊กไปแล้วสามครั้ง ปรากฏว่า ได้รับเสียงตอบรับจำนวนมาก จึงขอขอบคุณสมาชิกพรรคทั้งอดีตและปัจจุบันรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีความห่วงใยต่อพรรคประชาธิปัตย์ แม้ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาบางท่านอาจจะไม่เลือกคนของพรรค แต่ก็ยังมีความห่วงใยต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนจะได้กลับมาร่วมกันพัฒนาพรรคให้เติบโตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

มีหลายคนประสานมายังผมต้องการให้ช่วยนัดวันพบปะกันระหว่างสมาชิก เพื่อแสดงจุดยืนก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม โดยได้ข้อสรุปว่า จะนัดเจอกันในวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. ณ ลานพระแม่ธรณี พรรคประชาธิปัตย์ โดยเริ่มต้นด้วยการสักการะขอพรพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต่อจากนั้นก็จะเปิดเวทีเสวนาเล็ก ๆ เพื่อให้สมาชิกได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดทั้งวัน จึงประกาศเชิญชวนทุกท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ตามวันเวลาข้างต้นครับ

“ขอยืนยันว่าการพบปะกันในหมู่คนรักพรรค ปรารถนาที่จะเห็นการฟื้นฟูพรรคให้กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองในครั้งนี้ มิได้มีวาระซ่อนเร้นเพื่อผลักดันใครเป็นหัวหน้าพรรค แต่ต้องการเห็นพรรคกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้องในทางการเมือง เปิดโอกาสให้ทุกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ได้ร่วมชี้ชะตากำหนดอนาคตพรรค ด้วยการงดเว้นการใช้ข้อบังคับที่กำหนดให้ สัดส่วนของ ส.ส.คิดเป็น 70 % ขององค์ประชุมทั้งหมด เป็นทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ผมเชื่อว่าถ้าลดเพดานความอยากลง หลายคนจะเห็นความจริงตรงหน้ามากขึ้นว่า หัวหน้าพรรคคนต่อไปมีความสำคัญต่อพรรค มากกว่าการเป็นหุ่นเชิดให้ใครใช้เพื่อก้าวสู่อำนาจเท่านั้น

‘ทนายเชาว์’ ขย่มครั้งที่สองเสนอให้พรรคงดใช้ข้อบังคับพรรคในที่ประชุมใหญ่ ข้อที่กำหนดให้น้ำหนักกับ ส.ส.ถึง 70% ในการลงคะแนน ทนายเชาว์จึงเสนอให้งดใช้ขัอบังคับพรรคข้อนี้ และให้ทุกคนมีเสียงเท่ากับ 1 คน 1 เสียง และเปิดฉากที่สามด้วยการนัดแฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์เจอกันวันเสาร์นี้ ก่อนการประชุมใหญ่ 1 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคทั่วไป ที่ยังรักพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงพลัง แสดงความคิดเห็นกันทั้งวันบริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม

นับถอยหลัง 9 กรกฎา เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รายชื่อแคนดิเดตเริ่มชัด!! เหลือวิสัยทัศน์ที่ต้องงัดมาโชว์

'ตั๊น จิตภัสร์' โพสต์ข้อความเจ็บจี๊ด หยุดเอาชื่อตัวไปคั่วชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันไม่เคยอยู่ในสมอง ซัดคนอยากเป็น 'หยุดวิ่งหาผู้ใหญ่ในพรรค' แนะนำตัวสมาชิกพรรคทั่วไทยดีกว่า ฝากถึงใคร! 'ผู้นำ' เดินคนเดียว ไร้คนเดินตาม ไม่เรียก 'ผู้นำ'

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ในพรรคเกี่ยวกับการแข่งขันเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ มีใจความว่า...

"หยุดเอาชื่อตั๊น ไปร่วมกับแต่ละท่านที่อยากจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลยค่ะ เรื่องตำแหน่งหัวหน้าพรรคไม่เคยอยู่ในความคิดของตั๊นเลย ทุกวันนี้มีความสุขกับการได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนอยู่ ไม่ว่าจะในพื้นที่ไหน ถึงแม้วันนี้ยังไม่ได้เข้าไปทำงานในสภา แต่บางปัญหาก็ไม่สามารถรอรัฐบาลชุดใหม่ได้  

"ถ้าตั๊นอยากจะเป็นหัวหน้าพรรค ตั๊นแมนพอที่จะออกตัวลงสมัครมานานแล้วค่ะ สมาชิกที่บอกเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย แต่ละท่านที่อยากเสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค แทนที่จะมานั่งปล่อยข่าว หรือ วิ่งเข้า วิ่งออก บ้านผู้ใหญ่ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แนะนำเอาเวลามาหาเสียงกับสมาชิกพรรคทั่วประเทศน่าจะดีกว่านะคะ (อย่างน้อยไปทำความรู้จักให้สมาชิกได้รู้จักว่า แต่ละท่านเป็นใคร เพราะตอนนี้แต่ละชื่อที่เสนอมาบอกเลย สมาชิกบางท่านยังไม่รู้จักเลยว่าคุณคือใคร)! อยากจะเป็นผู้นำ อย่าลืมลูกพรรคด้วยนะคะ! พรรคเป็นองค์กรที่ใหญ่มีสาขาพรรค สมาชิกหลากหลายในทุกภูมิภาค ไม่ใช่แต่ใน กทม. ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งนั้น การจะเป็นผู้นำเดินคนเดียว แต่ไม่มีคนเดินตามเค้าไม่เรียกว่าผู้นำหรอกนะคะ"

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (9 กรกฎาคม) สถานการณ์ดูจะเข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ ขาเชียร์คุณตั๊นก็จบข่าวไป มี 'อลงกรณ์ พลบุตร' ที่ชัดเจนแล้ว

รอการตัดสินใจของ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' และนายกฯ 'ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง' ว่าจะเปิดตัวกันวันไหน 

แต่ #นายหัวไทร ทราบว่า ทั้งนายกฯ ชาย และอภิสิทธิ์ ต่างเดินสาย พร้อมทีมงานผู้สนับสนุน พบปะโหวตเตอร์อย่างต่อเนื่อง โดยขั้วนายกฯ ชายมั่นใจว่า ถ้าลงแข่งเขาจะชนะ เพราะมีโหวตเตอร์สาย ส.ส.อยู่มากถึง 16-17 เสียง และโหวตเตอร์สาย ส.ส.มีน้ำหนักมากถึง 70% ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่แน่ว่า ส.ส.สายนี้จะยังอยู่ครบ 16-17 เสียงหรือไม่ เมื่อมีเสียงอันแผ่วเบาไปจากผู้มากบารมี ขอให้เปลี่ยนใจ กลับใจ

ส่วนสายอภิสิทธิ์ มีโหวตเตอร์สาย ส.ส.8-9 คน แต่สายอภิสิทธิ์ก็จะมีเสียงสนับสนุนที่หนาแน่จากสาขาพรรค ตัวแทนจังหวัด อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.และผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค รวมถึงอดีตผู้ว่าฯ กทม.อีกสองเสียง คือ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ถ้าการประชุมในวันที่ 9 กรกฎาคม มีคนเสนอให้ยกเว้นการใช้ข้อบังคับพรรคบางข้อ เกี่ยวกับการให้น้ำหนักกับโหวตเตอร์สาย ส.ส.มากถึง 70% ตามที่ทนายเชาว์ มีขวด เสนอ และให้โหวตเตอร์ทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน คือ 1 คน 1 เสียง และผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนน 3 ใน 4 ขั้วนายกฯ ชายก็จะมั่วเหมือนกัน

การให้ที่ประชุมใหญ่มีมติงดเว้นการบังคับใข้ข้อบังคับพรรคบางข้อเคยมีปฏิบัติกันมาแล้วในพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' เอา 'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' มาเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะปริญญ์เป็นสมาชิกพรรคได้ครบตามข้อบังคับพรรค

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันแล้วจะถึงวันเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ #นายหัวไทร อยากจะเรียกร้องให้ผู้ที่สนใจจะลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนเปิดเผยตัวออกมา แสดงวิสัยทัศน์ให้สมาชิกพรรคได้รับทราบ โหวตเตอร์จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ถ้าเป็นไปได้ เมื่อเปิดตัวออกมาแล้ว พรรคประชาธิปัตย์เองควรจะตั้งเวทีดีเบต ให้ผู้สมัครทุกคนมาดีเบตกัน ท่ามกลางสมาชิกพรรคจากทั่วทุกทิศ อันเป็นบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย หรือถ้าพรรคไม่จัด สื่ออาจจะจัดก็ได้ ถ้าผู้สมัครเปิดตัวออกมา ก็จะเป็นเวทีที่สนุก สะท้อนความเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริงของประชาธิปัตย์

ผมไม่ติดใจว่า คนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเป็นคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่ เพียงแต่ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิรูปพรรค เป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ทันโลก ทันสมัย พร้อมจะรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย เพื่อนำพาประชาธิปัตย์กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่

ประชาธิปัตย์เคยยิ่งใหญ่ เคยมี ส.ส.เป็น 100 คนมาแล้ว สร้างนักการเมือง สร้างรัฐมนตรี สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคน แต่ผู้บริหารชุดใหม่จะต้องถอดบทเรียนถึงข้อผิดพลาดที่ผ่านมาให้ออก รับฟังเสียงสะท้อน แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข เชื่อว่าความเป็นประชาธิปัตย์ ยังไปได้ ประชาธิปัตย์ยังไม่ตาย อุดมการณ์ประชาธิปัตย์ยังฝังอยู่ในจิตใจของแฟนคลับอีกไม่น้อย เพียงแต่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่กับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป

‘ทนายเชาร์’ ขย่ม ‘เฉลิมชัย’ รักพรรคจริงเลิกกินรวบ  เสนองดใช้ข้อบังคับพรรค เลิกใช้สัดส่วน 70 % ของ ส.ส.ชี้ขาดใครนั่ง หน.พรรค 

อีกรอบแล้วที่เชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Chao Meekhuad ) หัวเรื่อง "1 เสียง 1 โหวต ทางออก ฟื้น ปชป. " อันเป็นข้อเสนอที่แหลมคมยิ่ง หวังให้เป็นทางออกจากวิกฤติของประชาธิปัตย์ และทิ่มแทงตรงๆไปยัง “ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน”อดีตเลขาธิการพรรค ที่ถูกมองว่า แม้นจะประกาศเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต หากประชาธิปัตย์ได้น้อยกว่าเดิม แต่เงาดำทมึนยังคลุมงำประชาธิปัตย์อยู่

การเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์เริ่มปรากฏชัดถึงความถดถอย ได้ ส.ส.มาแค่ 52 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้เป็น 100 เริ่มถดถอยในช่วงที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”เป็นหัวหน้าพรรค และมี “จุติ ไกรฤกษ์” เป็นเลขาธิการพรรค อันเกิดจากสารพัดปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะการชุมชุมของกลุ่ม นปช.จนไม่มีเวลามาบริหารราชการแผ่นดิน และอภิสิทธิ์ ต้องหอบหิ้วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหนีม็อบครั้งแล้วครั้งเล่าจนแทบเอาชีวิตไม่รอด 

เฉลิมชัยก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” การเลือกตั้งปี 2566 เฉลิมชัยลั่นวาจาครั้งแล้วครั้งล่าว ถ้าประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต วันนั้นมาถึงแล้ว ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มาเพียง 25 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “เฉลิมชัย”จึงน่าจะวางมือทางการเมือง และจัดวางตัวเองให้เป็นอาจารย์ใหญ่ เหมือน “เนวิน ชิดชอบ” ผู้อยู่เบื้องหลังภูมิใจไทย

เชาร์ระบุว่า พรรคประชาะปัตย์ มีกำหนดประชุมใหญ่ วาระสำคัญคือการเลือกผู้บริหารชุดใหม่ มาแทนชุดเดิม ที่พ้นตำแหน่งไป จากการลาออกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เพื่อรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในคราวนี้ แตกต่างไปจากอดีตที่เคยมีมา แทบจะไม่มีใครเสนอตัวออกมาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลย ยกเว้น นายอลงกรณ์ พลบุตร สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนในพรรครู้ดีแก่ใจว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรค รวมถึงผู้บริหารทั้งหมด ในตอนนี้ อยู่ในอาณัติของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคฯ ที่กุมเสียง สส.ในมือราว 20 คน จากทั้งหมด 25 คน สั่งให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคคนนั้นก็จะได้เป็น 

เชาร์ อธิบายว่า เนื่องจากข้อบังคับพรรคให้น้ำหนัก ส.ส.เป็นสัดส่วนถึง 70 % ขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ในการลงคะแนน ข้อบังคับพรรคไม่ได้ผิดอะไร ที่ให้ความสำคัญกับ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ในอดีตก็มีการแก้ไขสัดส่วนคะแนนเสียง ส.ส. มาตลอดเพื่อให้สมดุลเข้ากับสถานการณ์แต่ละยุค ซึ่งตอนแก้ข้อบังคับเมื่อปี 61 ก่อนหน้านี้พรรคมีส.ส.เกินหลักร้อยมาตลอด และใครก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะตกต่ำเหลือแค่ 25 คนในยามนี้ จากพรรคขนาดใหญ่ กลายเป็นพรรคขนาดกลาง และกำลังเป็นพรรคขนาดเล็ก ถือเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้จึงไม่สมควรที่จะให้ส.ส. 25 คน มากุมชะตากรรมพรรคเพียงลำพัง 

เชาร์เสนอให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติสามในห้าขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้ยกเว้นข้อบังคับข้อ 87 (1),(2) ที่ให้ถือเกณฑ์คำนวณคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสัดส่วน สส. 70 % และสมาชิกอื่นที่เป็นองค์ประชุม 30 % เสีย โดยให้ใช้เสียงข้างมากของผู้ลงคะแนนเสียง เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ มีหนึ่งเสียง หนึ่งโหวตเท่ากันในการกำหนดชะตาครั้งสำคัญของพรรค

"ถ้ารักพรรคจริง ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมตัดสิน ไม่ใช่ใช้ข้อได้เปรียบจากข้อบังคับพรรคมาจ้องกินรวบพรรคอย่างที่เป็นอยู่ คนชอบพูดว่าผมเป็นคนของนายกฯอภิสิทธิ์ ผมไม่ปฏิเสธว่าเคารพรักท่าน แต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคสำหรับผม จะชื่ออะไรก็ได้ สำคัญที่คน ๆ นั้น ต้องมีบารมี มีเจตจำนงค์ทำ พรรคให้เป็นพรรค ไม่ใช่คิดแต่ใช้พรรคเป็นบันไดในการแสวงหาอำนาจ เรามีบทเรียนมามากพอแล้วกับการละทิ้งคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน”

เชาร์ย้ำว่า ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เปราะบาง ประชาธิปัตย์ต้องเข้มแข็งเพื่อเป็นหลักให้กับบ้านเมือง ส่วนจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ชี้วัดกันที่การเลือกหัวหน้าพรรควันที่ 9 ก.ค. ที่ผมยืนยันว่า ต้องยกเว้นข้อบังคับ เลิกสัดส่วน 70 % ของสส. เป็นให้ทุกคะแนนมีค่าเท่ากัน 

อย่างที่เชาร์กล่าวไว้ ทำไมการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งคราวนี้ถึงเงียบเชียบ ที่ปรากฏตัวชัดแล้วมีแค่ “อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรค 4 สมัย และ 30 ปี ยึดมั่นอยู่กับอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะแพ้การเลือกตั้งชิงหัวหน้าพรรค ที่บางคนพอแพ้ก็ทิ้งพรรคไป ไม่ว่าจะเป็น “หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” ออกไปตั้งพรรคไทยภักดี พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ออกไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ กรณ์ จาติกวณิชย์ ออกไปตั้งพรรคกล้า 

หันซ้ายมองขวาในประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นคนเก่า หรือคนใหม่ ยังไม่เห็นใครว่าจะนำพาพรรคประชาธิปัตย์กลับไปยืนอยู่แถวหน้าได้ แต่พอจะเห็นเค้าอยู่บ้างสำหรับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แม้ว่าจะไม่ใหม่นัก แต่ไม่เก่าจนเกินไป และเป็นคนมีบารมี มีอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ และมีจุดยืนชัดเจน และแม้จะลาออกจาก ส.ส.คราวนั้น ก็ยังเป็นสมาชิกประชาธิปัตย์อยู่ และเชื่อว่า ถ้าอภิสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะมีแรงสนับสนุนจาก “ชวน หลีกภัย”บัญญัติ บรรทัดฐาน-นิพนธ์ บุญญามณี” รวมถึงโหวตเตอร์สายอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขา และตัวแทนพรรคอยู่ไม่น้อย ยิ่งถ้ายกเว้นข้อบังคับตามข้อเสนอของทนายเชาร์ โหวตเตอร์สาย ส.ส.อาจจะเหวี่ยงหลุดแห มาทางอภิสิทธิ์บ้างก็ได้

แม้บนบกจะดูคลื่นลมเงียบสงบ แต่เชื่อว่าใต้น้ำ ประชาธิปัตย์กำลังเกิดภาวะน้ำวน มีการเคลื่อนไหวที่พอเห็นร่องรอยอยู่บ้าง

‘เชาว์’ สะกิตใจสมาชิก ‘ปชป.’ ร่วมปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่  ลั่น!! ถึงเวลา ‘ถอย’ เพื่อ ‘ถอด’ บทเรียน และก้าวไปข้างหน้า

‘สัจจัง เว อัมตะ วาจา’... วาจาจริงเป็นสิ่งไม่ตาย นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกรัฐบาล ได้หยิบยกเอาคำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์มาสะท้อนการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านจากยุคตกต่ำที่สุดที่คณะกรรมการบริหารพรรค คนของพรรคจะต้องรักษาคำพูด รับผิดชอบต่อคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน โดยได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เป็นเครื่องสะกิดเตือนในชาวประชาธิปัตย์ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งเรื่อง ถึงชาวพรรคประชาธิปัตย์ ได้เวลาถอยเพื่อถอดบทเรียน มีเนื้อหาระบุว่า…

ตนเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางวิกฤติความตกต่ำของพรรคอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กระทั่งการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาพรรคได้ ส.ส.มาเพียง 25 คน จนนำไปสู่การ แสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งด้วยการลาออก จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค ต้องพ้นตำแหน่งไปโดยปริยายด้วย

“ผมเชื่อว่าหลายคน ทั้งที่เป็นสมาชิกพรรคและไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค คงจับตาดูว่า ก้าวต่อไปของประชาธิปัตย์จะเดินไปทิศทางไหน เพราะ 78 ปี บนเส้นทางการเมือง และการต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุมมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่รุนแรงเท่านี้ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ความตกต่ำของพรรคที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องถูกดิสรัปจากการสื่อสารสมัยใหม่ ที่ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเท่านั้น อุดมการณ์การเมือง ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งที่สุดของพรรคก็ถูกตั้งคำถามอย่างมาก นับจากที่ประชุมพรรคตัดสินใจมีมติร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สวนทางกับคำมั่นที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ไว้กับประชาชน จนท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจาก ส.ส.เพื่อรักษาจุดยืนทางการเมือง

ผมยังจำคำพูดวันนั้นของท่านอภิสิทธิ์ได้ดี ท่านบอกว่า “ยิ่งใหญ่กว่ามติพรรค คือ สัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ” ท่านบอกด้วยว่า ในวันนั้นท่านเหลือทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิไม่เฉพาะตัวเอง แต่เป็นเกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า สจฺ จํ เว อมตา วาจา ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบกับคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน” นายเชาว์ ระบุ

อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุต่อไปว่า ที่เท้าความไปไกล เพื่อตอกย้ำว่า ถึงเวลาที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรค เราไม่เหมือนพรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็ดับสูญไปตามตัวบุคคล แต่ประชาธิปัตย์ เป็นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา เป็นที่พักพิงให้ประชาชนมาเนิ่นนาน เราจะกลับไปอยู่ในจุดที่ประชาชนศรัทธาไว้วางใจอีกครั้งได้อย่างไร ในสถานการณ์ ที่เรากำลังขาดบุคลากรที่โดดเด่น บวกกับสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องเฟ้นหาผู้นำทางที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ที่สำคัญต้องมากบารมี บททดสอบนี้จึงไม่ใช่แค่ ส.ส.เท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพรรค ซึ่งผมทราบมาว่า วันที่ 21 มิถุนายนนี้ กรรมการบริหารพรรคจะมีประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 9 กรกฎาคม 2566

“น่าแปลกใจที่ทั้งพรรคเต็มไปด้วยความเงียบงัน ไม่มีการเปิดตัวผู้อาสามาเป็นหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคคนใหม่ ไม่มีการรณรงค์หาเสียงเหมือนอดีตที่ผ่านมาที่เราเคยเป็นต้นแบบระบบประชาธิปไตยภายในพรรค มีการแข่งขันกันอย่างเสรีเหมือนทุกครั้ง แต่กลับมีกระแสเล็ดลอดซุบซิบในในวงแคบ ๆ ว่า มีการ ล็อกสเปก บุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ไว้แล้ว โดยกลุ่มอดีตผู้บริหารที่กุมเสียงว่าที่ ส.ส.ชุดปัจจุบันได้กว่า 17 คน ซึ่งตามข้อบังคับพรรคจะให้น้ำหนักโหวต ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเป้าต้องการที่จะร่วมรัฐบาล ตนทราบมาว่าหลายคนอึดอัดกับท่าที ที่กำลังเป็นอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ เพราะทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเสมือนการปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ เป็นการถอยเพื่อถอดบทเรียน รับฟังเสียงจากสมาชิกส่วนใหญ่ให้มีส่วนร่วมด้วย ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่ควรกระทำ เพราะถ้าหวังร่วมรัฐบาลเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจรักษาจุดยืนของพรรค การเลือกตั้งครั้งต่อไปเราอาจจะไม่มีที่ยืนในสภาฯ แม้แต่ที่เดียว” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย

อุดมการณ์ 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคสมัยนายควง อภัยวงศ์ เมื่อ 78 ปีทีีผ่านมา ชาวประชาธิปัตย์ต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรอง โดยเฉพาะ 3 ข้อสำคัญ ต่อต้านเผด็จการ ไม่ทุจริตคอรัปชั่น และกระจายอำนาจ

การตัดสินใจโดยมติพรรคนำประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอยของประชาธิปัตย์หรือไม่ สังคมภายนอกมองว่า ‘กอดขาเผด็จการ ร่วมรัฐบาล’ โดยลืมวาจา ลืมคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน

ถ้าชาวประชาธิปัตย์ยอมรับความจริง สิ่งที่เชาร์นำเสนอมานั่นคือความจริง ถ้าชาวประชาธิปัตย์หวังจะนำพาพรรคให้ฟื้นกลับคืนมาเฟื้องฟูอีกครั้ง จะต้องนั่งลงตรึกตรอง สุมหัวคิดถอดบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกร่วมกันภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ไม่ใช่สุมหัวคิด ล็อคสเปกผู้นำพรรคที่กระสันต์อย่างเป็นรัฐบาล โดยไม่ใส่ใจต่อสภาพของพรรค และอนาคตของพรรค เชื่อว่า ถ้าประชาธิปัตย์ยังเดินไปภายใต้การกุมบังเหียนของคนบางกลุ่มจากขั้วอำนาจเก่า ล็อคสเปกผู้นำพรรคตามที่เชาร์ให้ข้อมูลมา ยิ่งจะทำให้ประชาธิปัตย์ตกต่ำลงไปอีก และการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะเป็นพรรคต่ำสิบ และอนาคตจะไม่มีที่ยืน ไม่แตกต่างจากพรรคกิจสังคม พรรคความหวังใหม่ ที่เคยยิ่งใหญ่ แต่ถึงเวลาก็ดับสลายไป

แต่ความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาธิปัตย์ ที่สืบทอดเจตนารมณ์-อุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งพรรคมายาวนาน 78 ปี สภาพเช่นนั้นไม่ควรเกิดขึ้น เพียงแต่ชาวประชาธิปัตย์กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาประกาศจุดยืน แนวทางของพรรค และกล้าพอที่จะปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่หรือไม่ในสถานการณ์ที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป

วันนี้ประชาธิปัตย์ขาดบุคลากรที่ทรงคุณภาพที่จะเข้ามานำพาพรรค ถามว่าตำแหน่งหัวหน้าว่างมาเดือนกว่า จนถึงวันนี้มีใครกล้าลุกขึ้นมาประกาศตัวลงชิงหัวหน้าพรรคสักคนไหม ยังไม่เห็นมี มีแต่ข่าวลือว่า น่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ลงชิง แต่ข้อเท็จจริง คือไม่มีใครเปิดตัวออกมาเลยแม้แต่คนเดียว เงียบสนิทอย่างที่เชาร์ว่าจริงๆ เหลือเวลาไม่ถึงเดือนจะเลือกหัวหน้าพรรคแล้ว ถ้าเป็นสมัยก่อนประชาธิปไตยจะเบ่งบานสพลั่งเต็มหัวใจชาวประชาธิปัตย์ เดินสายพบปะ แสดงวิสัยทัศน์กับบรรดาโหวตเตอร์กับครึกโครม

สถานการณ์ที่เงียบงันของประชาธิปัตย์ ดูวิเวกวังเวงวิโหวเหวเหลือเกิน เศร้าสร้อย หดหู่ใจ เจ้าหน้าที่พรรคยังซุบซิบกันเลยว่า ถ้าคนนี้ลงสมัครเป็นฉัน ฉันก็ไม่เลือก และถ้าเขามาเราจะอยู่กันอย่างไร?

ร้องไห้เถิด ถ้าจะร้องเพื่อจะลุก ถอยเถอะ ถ้าจะถอยเพื่อทบทวน และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างหาญกล้าและท้าทาย ถอยมาดับเครื่อง เช็คเครื่อง สตาร์ท เดินรถใหม่

เรื่อง : นายหัวไทร

อย่าเพิ่งทิ้งประเด็น ‘รัฐบาลเสียงข้างน้อย’ ระวัง ‘พีระพันธุ์-ลุงป้อม’ เสียบเงียบๆ

จนถึงวินาทีนี้ สังคมนอกวงจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีใครทราบว่า ตกลงตำแหน่งประธานสภา ที่จะต้องเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งนั้น เป็น ใคร เป็นโควต้าพรรคไทย ของก้าวไกล หรือเพื่อไทย

ภูมิธรรม เวชชยชัย เสี่ยอ้วน แห่งเพื่อไทย ไข่ข่าวเล่าแจ้งว่า จนถึงเวลานี้ยังอยู่ในจุดเดิม คือจุดที่เพื่อไทยยืนยัน เมื่อก้าวไกลได้เก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหารไปแล้ว กับจำนวน ส.ส.ในมือ 151 เสียง เพื่อไทย 141 เสียง พรรคอันดับสอง จึงควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

แต่เพื่อความชัวร์ ก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ยืนยันว่า ประธานสภาต้องเป็นของก้าวไกล ชัวร์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และการบรรจุระเบียบวาระสำคัญๆต่างๆของรัฐบาล

ที่จะต้องระวังเป็นที่สุด คือ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคาดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็น ส.ส.แล้ว จะต้องมีคนไปร้องซ้ำ ให้ กกต.พิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของพิธาว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา ประธานสภา ถ้าเป็นของเพื่อไทยจะกล้าบรรจุวาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มีชื่อของพิธาจ่อเข้าโหวตอยู่หรือไม่ เพื่อความชัวร์ก้าวไกล จึงต้องได้เก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

ที่ประชุมของคณะทำงานจัดตั้งรัฐบาลจบลงตรงที่ให้เพื่อไทย และก้าวไกล ไปหารือกันเอง ซึ่งเพื่อไทยก็ยืนยันในข้อเสนอเดิม ก้าวไกลรับไปพิจารณา แต่ไม่มีคำตอบกลับมายังเพื่อไทย “เงียบสนิท”

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานคณะหลอมรวม ไม่รู้มีข้อมลอินไซเดอร์มาจากไหน จึงออกมาฟันธงว่า “พิธา-อุ้งอิ้ง-เศรษฐา” ไม่มีใครได้เป็นนายกฯ ในสถานการณ์ที่พรรคร่วมยังคุยกันไม่ลงตัว
“จตุพร”ฟันธงด้วยว่า น่าจะมีประธานสภาปรองดอง จะชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ” อดีตรองประธานสภา ซึ่งพ่อมดดำเป็นชื่อที่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนี้เพื่อความปรองดอง

ไม่มีใครปฏิเสธว่า สุชาติ เป็นผู้มากบารมี รู้จักนักการเมืองทั้งขั้วประชาธิปไตยและขั้วรัฐบาลเก่า แม้วันนี้ พ่อมดดำจะสังกัดเพื่อไทย แต่ก็มีลูกน้องเก่าอยู่ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย อยู่ไม่น้อย

ประเด็นอยู่ที่ว่า ไม่ว่าใครจะเป็นประธานสภา และบรรจุระเบียบวาระเลือกนายกรัฐมนตรี เข้าสู่การพิจารณา ในสถานการณ์ที่อะไรก็ยังไม่ลงตัว ก้าวไกล เสนอชื่อพิธา ชิงนายกรัฐมนตรี ส่วนซีกรัฐบาลเดิม เช่น พลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคลงชิง หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค ลงแข่งด้วย ก็อาจจะมีเกมพลิกได้

เกมพลิก เพราะซีกรัฐบาลเดิมมีอยู่ 188 เสียง เมื่อบวกรวมกับ สว.250 เสียง ก็จะมีเสียงรวมกับ 438 เสียง หรือตัดไปสัก 50 เสียง ก็ยังมากพอที่จะชนะโหวตได้ และเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ขอให้ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน เชื่อว่า จะมี ส.ส.เลื้อยไหลเข้ามาเอง หรือด้วยแรงดูดมากินกล้วย ฝากเลี้ยงไว้ที่บ้านเก่า แต่ป้อนกล้วย ป้อนข้าว ป้อนน้ำให้กิน รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็พอจะถูกไถไปได้

การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน อย่าได้ประมาทกับคำทำนายของจตุพร โดยเฉพาะประเด็นจะมีงูเห่าเลื้อยเพ่นพ่านเต็มสภา   

เข้าสู่โหมด ‘ด้อมส้ม’ ต้อง ‘ลุ้น’ เก้าอี้นายกฯ ของ ‘พิธา’  ต้องจับตาให้ดี งานนี้อาจจะไปจบที่ ‘ศาล’

หลังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 จวบจนบัดนี้ก็ล่วงเลยมากว่า 1 เดือน บรรดาผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นส.ส. ก็ยังไม่มีใครได้รับการประกาศรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนทำให้บรรดา “ด้อมส้ม” พรรคก้าวไกล ซึ่งกวาดส.ส.เข้ามาเป็นอันดับที่ 1 ต้องออกมายื่นหนังสือกดดัน กกต.ให้เร่งประกาศรับรองผล เพื่อเปิดทางให้มีการสภาเลือกประธานสภา และประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ จะได้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว 

แต่ กกต.จะไปเร่งรีบตามที่ฝ่ายอยากเร่งรัดคงไม่ได้ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายกับคำร้องเรียนมากถึง 280 เรื่อง ตามกฎหมายให้อำนาจ กกต. 60 วัน ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเลือกตั้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 ก.ค. 2566 นี้ แต่ล่าสุดมีรายงานจาก กกต.ได้พิจารณาครบทั้ง 400 เขตแล้ว เตรียมประชุมประกาศรับรอง 329 คน และแขวนไว้ 71 คนในการประชุมสัปดาห์หน้าวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.นี้  กกต.พร้อมกับพิจารณารับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไปพร้อมกัน ส.ส.เขตเลือกตั้ง หลังได้พิจารณาไปแล้วว่าทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง 

ถ้าดูตามตัวเลขนี้ 329+100 คน = 429 คน ตัวเลขยังไม่ครบ 95% หรือ 480 คน คาดว่า หลังจากนั้น กกต.จะหยิบ 71 คนมาทบทวน และอาจจะประกาศรับรองไปก่อนสอยทีหลัง เพื่อให้งานกิจการสภาเดินหน้าไปได้

โดยคาดว่า กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.ได้วันพุธที่ 21 มิ.ย.นี้  จากนั้นให้ ส.ส.จะทยอยไปรับเอกสารรับรองได้ที่สำนักงาน กกต. และนำเอกสารรับรองมารายงานตัวต่อสภา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตรียมสถานที่ไว้พร้อมแล้ว

มีการประมาณกาลว่า ถ้า กกต.รับรองผลการเลือกตั้งได้ครบ 95% แล้ว วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯเปิดประชุมสภา และวันที่ 25 กรกฎาคม จะเป็นการประชุมสภาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย อดีตประธานสภา ในวัย 85 ปี น่าจะมีอาวุโสสูงสุด (ไม่แน่ใจว่ามีใครอายุมากกว่านายชวนหรือไม่)ทำหน้าที่เป็นประธานสภาชั่วคราว

หลังจากนั้นถึงจะเป็นช่วงเวลาของความระทึกของ “ด้อมส้ม” คือวาระเลือกนายกรัฐมนตรี

อนาคต“พิธา”จบที่ศาลรธน./ศาลอาญา

ต้องโฟกัสไปที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ว่าจะไปถึงดวงดาวในตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทยได้หรือไม่ หลังได้รับการประกาศให้เป็น ส.ส. 

อย่างที่ทราบกันดีว่า พิธา ถูกร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งที่อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ จากกรณีถือหุ้นสื่อ “หุ้นไอทีวี” แม้ว่า กกต.จะไม่รับไว้พิจารณา แต่ กกต.กลับหยิบเอามาตรา 151 ของ พปร.ว่าด้วยการเลือกตั้งขึ้นมาพิจารณา “รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีคุณสมบัติ แต่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือยินยอมให้พรรคการเมืองส่งลงสมัครในระบอบบัญชีรายชื่อ” ซึ่งถ้ามีมูลก็ต้องฟ้องต่อศาลอาญา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ และมีโทษหนักกว่า ทั้งจำทั้งปรับ ทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมือง
อีกประเด็น หาก กกต.รับรองให้เป็น ส.ส.เมื่อไหร่ ก็จะมีคนไปยื่นใหม่ให้ตรวจสอบคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญอีกรอบ

โดยสรุปอนาคตของพิธาจะต้องไปจบที่ศาล ไม่ศาลรัฐธรรมนูญก็ศาลอาญา และจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ขึ้นกับขบวนการขั้นตอนของ กกต.และศาล รวมถึงผลโหวตของสมาชิกรัฐสภาด้วย ที่ต้องเพ่งไปที่สมาชิกวุฒิสภา

กกต.ตั้งธงหนัก หยิบ ม.151 มาเล่นงาน  มีโทษทั้งจำคุก - ตัดสิทธิ์ 20 ปี

กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับ 3 คำร้องที่ร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคาดิเดตนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการสมัครรับเลือกตั้งส.ส. กรณีถือหุ้น บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ทำให้บางคนรู้สึกโล่งอก มีช่องทางเดินไปได้

ยัง….ยังไม่จบ กกต.ยังไม่ได้วินิจฉัยว่า การถือหุ้นไอทีวีของพิธาถูกหรือผิด ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เพียงแต่ผู้ยื่นให้ตรวจสอบ ยื่นหลังจากเลยเวลาตรวจสอบมาแล้วเท่านั้นเอง ง่ายๆคือเลยเวลาแล้ว

แต่กกต.ได้หยิบเอาประเด็นจาก 3 คำร้องมาสั่งตั้ง “คณะกรรมการสืบสวนไต่สวน” ลุยสอบเอง ในประเด็นการฝ่าฝืนมาตรา 42 (3) และมาตรา 151 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต่อไป

กกต.ใช้คำว่า “สืบสวนไต่สวน” น่าสนใจกับการตั้งกรรมการชุดนี้แสดงว่า มีอำนาจทั้งสืบสวน และไต่สวนด้วย

ดูเหมือนจะหนักกว่าเดิม ถ้าผิดโทษจะหนักกว่าด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะคดีอาญา ถ้านายพิธารู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะมีลักษณะต้องห้าม แต่ยังฝืนลงสมัครเลือกตั้ง และอนุญาติให้พรรคการเมืองส่งลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่

ซึ่งในกรณีนี้นายสิระ เจนจาคะ อดีตส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เคยเจอมาก่อนแล้ว 
เมื่อถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ขุดอดีตขึ้นมาร้อง อดีตที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกฐานฉ้อโกง โดยศาลแขวงปทุมวัน สั่งจำคุกนายสิระ ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีแดง หมายเลขที่ 2218/2538 อันเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามของคนเป็นส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10)

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในฐานะอดีต ผบ.ตร.นำมติ 7 ต่อ 2 เสียงที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ในคดีดังกล่าว ไปร้องต่อกกต.เป็นดาบสอง มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เช่นเดียวกับกรณีนายพิธาและกกต.ก็มีมติแจ้งความเอาผิด

ทั้งนี้ ตามมาตรา 151 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กกต. ตั้งกรรมการสอบสืบสวนไต่สวนมีเนื้อหาว่า

“ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี”

“ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย” 

กล่าวสำหรับนายพิธาหากถูกชี้ตามมาตรานี้ นายพิธาจะมีโทษจำคุกสูงสุด 1-10 ปี ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องคืน “เงินเดือน-ค่าตอบแทนอื่นๆ” จากการเป็นส.ส.ทุกบาท ทุกสตางค์อีกด้วย

วิบากกรรมของพิธาบนเส้นทางก้าวเดินสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมันยากยิ่งกับสิ่งที่ก่อไว้แล้วไม่ได้แก้ให้จบสิ้นก่อนกระโดดเข้าสู่เวทีการเมือง รู้ทั้งรู้ว่า เมื่อยืนอยู่บนเวทีการเมือง ประวัติทุกเม็ดจะต้องถูกขุดคุ้ย ไส้ทุกขดจะถูกลากออกมากองให้สังคมได้ตรวจสอบ

ที่เห็นๆว่าถูกขุดคุ้ย ตั้งแต่ปัญหาในครอบครัวแตกแยกเลิกรากับภรรยา ถือหุ้นสื่อ ค้ำประกันเงินกู้ และขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ลำบากแท้นะ “พิธา”เสียงมหาชน 14 ล้านเสียงอาจจะช่วยไม่ได้ เมื่อทำผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายต้องบังคับใช้โดยเสมอภาค เท่าเทียมกัน

นายหัวไทร

เล็งชง ‘นิกม์’ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ มาเป็นพยานปากเอกคดีถือหุ้นสื่อไอทีวีของ ‘พิธา’

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจะเชิญนายนิกม์ แสงศิรินาวิน ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เขต 17 คลองสามวา กทม. มาเป็นพยานกรณีการถือหุ้นสื่อไอทีวีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล

นายนิกม์เป็นผู้ให้สัมภาษณ์คนแรกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา โดยนายนิกม์เคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และได้ถือหุ้นไอทีวีเช่นเดียวกับนายพิธา ซึ่งตอนนั้นพรรคอนาคตใหม่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิ์นายธนาธร นายนิกม์ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แต่นายพิธาได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยที่ขณะนั้นนายพิธายังไม่ได้มีการขายหุ้น กกต.จึงควรเอานายนิกม์เข้ามาเป็นพยานบุคคล

ถ้า กกต.ไม่สามารถเชิญนายนิกม์มาให้ปากคำเป็นพยานได้ ก็ควรจะเชิญสื่อมวลชนที่สัมภาษณ์นายนิกม์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นพยาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top