Saturday, 4 May 2024
นายหัวไทร

มิ.ย.นี้ ศาลปกครองสูงสุด นัดอ่านคำพิพากษา ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเดินหน้า จัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล 

เดือนมิถุนายนนี้ อย่ากะพริบตากับการกลับมาของสถานีข่าวไอทีวี ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาที่เป็นข้อพิพาทระหว่างสำนักงานปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)กับบริษัทไอทีวี ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้บริษัทไอทีวี ชนะคดี

ถ้าศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ไอทีวีอาจจะกลับมาเป็นสถานีโทรทัศน์ใหม่ก็เป็นได้ ซึ่งปัจจุบันไอทีวียังคงสถานะความเป็นบริษัทผลิตสื่ออยู่ ตามวัตถุประสงค์เพื่อสู้คดีกับ สปน. ส่วนจะผลิตสื่ออย่างอื่นด้วยหรือไม่ เช่นสื่อออนไลน์ เป็นต้น

ไม่ใช่แค่ไอทีวีอาจจะกลับมา แต่เป็นเครื่องยืนยันว่า ไอทีวียังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ด้วย และอาจจะกระทบต่อการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่จะดัน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่พิธาติดปัญหาถือหุ้นไอทีวีอยู่ในนามชื่อของตัวเอง แม้จะอ้างว่าเป็นมรดกก็ตาม แต่โดยหลักแล้ว หุ้นมรดกปกติจะต้องมีวงเล็บต่อท้ายชื่อผู้ถือหุ้นว่า “มรดก”

ถ้าพิธาถูกตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า มีความผิดฐานถือหุ้นสื่อ ก็จะมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป แต่ยังมีปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย เพราะพิธาถือหุ้นนี้มาตั้งแต่ปี 2549 หลังจากพ่อเขาเสีย จะมีผลในทางลบต่อการลงสมัครรับเลือกตั้งปี 2562 ด้วยหรือไม่

และมีผลต่อการรับรองผู้สมัครทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อด้วยหรือไม่ แปลความได้ว่า การรับรองผู้สมัครไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยหรือไม่ ที่สำคัญคือระเบียบพรรคก้าวไกลก็ลอกมาจากรัฐธรรมนูญ ห้ามสมาชิกพรรคเป็นเจ้าของสื่อ หรือถือหุ้นสื่อด้วย พิธาก็ไม่มีสิทธิ์เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลตั้งแต่ต้นใช่หรือไม่

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาพรรคก้าวไกล มี ส.ส.ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อรวมกัน 151 ที่นั่ง 151 ที่นั่งนี้จะโมฆะหรือเปล่า อันจะนำไปสู่การทำให้การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นโมฆะไปด้วย ต้องจัดเลือกตั้งใหม่หรือเปล่า

ถ้าพิจารณาตามข้อมูลที่รับรู้รับทราบกันก่อนหน้าบวกกับประเด็นใหม่ไอทีวี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แม้จะมีคะแนนมหาชนจำนวนมาก แต่กฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมาย…จริงไหมครับ

เกมยากของ ‘พิธา’ – ‘ก้าวไกล’  เมื่อเจอกับด่านความมั่นคงสูง เขาจะค้ำถ่อพ้นไปหรือเปล่า

ก้าวไกล-พิธา ต้องฝ่า 3 ด่าน ที่เป็นปราการใหญ่ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
-จุดยืนในการแก้ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ว่าด้วยการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ เปิดทางให้วิจารณ์สถาบันได้มากขึ้น ลดโทษจำคุก-ปรับ ให้สถาบันฟ้องเอง ก้าวไกลมีจุดยืนชัดว่า จะแก้ไข ม.112 แต่พรรคร่วมส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย จึงไม่มีข้อตกใน mou ก้าวไกลก็ยืนยันจะแก้ผ่านกลไกของสภา
-การขอแรงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา ที่พรรคก้าวไกลดิ้นรนจะปิดสวิทต์เขามาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ต้องขอรับการสนับสนุนผ่านการเจรจา-พูดคุย-แลกเปลี่ยน ไม่ใช่ใช้มวลชนไปกดดันเหมือนที่ผ่านมา เวลานี้สมาชิกวุฒิสภาบางคนท่าทีชัดว่า จะไม่ยกมือสนับสนุน บางคนก็จะยกมือให้ บางคนจะยกมือสนับสนุนอย่างมีเงื่อนไข

-การถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42000 หุ้น ไอทีวียังประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ในการจดตั้งอยู่ ต้องแยกให้ออกนะครับระหว่างบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) กับสถานีข่าวไอทีวี สถานีข่าวไอทีวี หยุดเผยแพร่ภาพไปแล้ว แต่บริษัทไอทีวี ยังประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์อยู่ มีกำไรด้วย พิธาอ้างว่า เป็นหุ้นในมรดก เขาถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ผู้รู้ก็โต้แย้งว่า ถ้าเป็นหุ้นในกองมรดก ในใบหุ้นต้องสลักหลังชื่อไว้ด้วย “มรดก” แต่ใบหุ้นไอทีวีของพิธา ไม่มีการใส่วงเล็บไว้หลังชื่อ

นี้เป็นปราการ 3 ด่านที่พิธาจะต้องฟันฝ่าไปให้ได้ ส่วนตำแหน่งประธานสภาจะเป็นของใครพิธาส่งสัญญาณมาแล้วว่า เป็นเรื่องเล็ก ให้ไปคุยกันในวงคณะทำงาน จะเป็นของก้าวไกล หรือเพื่อไทยให้จบในวงคณะทำงาน

ด่านต่อไปคือ การจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองในฝ่ายบริหาร คือตำแหน่งรัฐมนตรี ทีมีการคำนวณออกมาแล้วว่า 8.6 ส.ส.ต่อรัฐมนตรี 1 คน แล้วอย่างนี้แสดงว่าพรรคเล็ก 1-2 เก้าอี้จะไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ใช่หรือไม่ หรือมีตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆให้ เป็นประจำสำนักนายกฯ หรือไปกินตำแหน่งในสัดส่วนของสภา เป็นตำแหน่งในกรรมาธิการคณะต่างๆ 

ด่านต่อไป คือการยกร่างนโยบายรัฐบาลที่จะต้องแถลงต่อสภา ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล โดยคณะทำงานจะต้องไปนั่งถกแถลงกันให้ตกผลึก นโยบายของแต่ละพรรคที่จะใส่เข้าไปมีอะไรบ้าง พรรคร่วมฯว่าอย่างไร แล้วเขียนมาเป็นนโยบายรัฐบาล

จะเห็นว่า”พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังมีอีกหลายด่าน หลายปราการในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก้าวไกลไม่ได้ชนะขาดพรรคเดียวจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องอาศัยแรงจากพรรคอื่นๆด้วย และแรงจากพรรคอื่นกลับเป็นพรรคเพื่อไทยที่มีเสียงรองเป็นอันดับสอง จึงทำให้พรรคเพื่อไทยมีอำนาจต่อรองสูงมาก ยิ่งสูงมากขึ้น เมื่อพรรคภูมิใจไทย ประกาศชัดไม่ร่วมกับพรรคก้าวไกล

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ชัดเจนตั้งแต่ต้น เพราะพรรคก้าวไกลประกาศเอง “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” เท่ากับปปฏิเสธสองพรรคนี้ตั้งแต่ก่อนลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว

พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องพูดถึง 25 เสียง เป็นแค่ตัวแปรเล็กๆที่แทบจะไม่มีความหมายอะไรมากนัก เว้นแต่นักแสวงหาบางคน อาจจะดิ้นรนนำพาไปสู่การแสวงหาอำนาจ แต่ก็ยากจำสำเร็จ เว้นแต่ดีลระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยเดินต่อไปไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ค่อยมาพูดกัน เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลา 60 วันในการรับรองผลการเลือกตั้ง ถ้ารับรองได้ครบ 95% ก็สามารถเปิดประชุมสภา เลือกประธานสภาได้ ส่วนใน 60 วันจะพิจารณา และรับรองผลการเลือกตั้งได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับข้อร้องเรียนในการทำผิดกฎหมายของผู้สมัครที่มีคะแนนนำมาอันดับ 1 รวมถึงความยุ่งยากในการสืบสวนสอบสวน พยานหลักฐานในการร้องเรียน จะมี “ใบแดง-ใบเหลือง-ใบส้ม” ก็มากน้อย
ใบส้ม-ใบเหลือง คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ โดยใบส้มจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ โดยใช้ผู้สมัครคนเดิม ไม่ต้องเปิดสมัครใหม่ แต่คนที่โดนใบส้มจะหมดสิทธิ์ลงสมัครแล้ว ส่วนใบเหลือง ก็ไม่ต้องเปิดรับสมัครใหม่เช่นกัน แต่ผู้สมัครที่โดนใบเหลือง ยังมีสิทธ์เป็นผู้สมัครอยู่

ส่วนใบแดง เป็นการตัดสิทธิ์ของผู้สมัครที่ทำผิดกฎหมาย ผ่านการพิจารณาตัดสินของศาล ถ้าเขตเลือกตั้งใดโดยใบแดง กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเปิดรับสมัครใหม่ แต่คนเก่าที่โดยใบแดงหมดสิทธิ์ลงสมัครแล้ว

เวลานี้การพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆอยู่ในขั้นการสอบสวนของชุดสอบสวนของ กกต.จังหวัด จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับข้อร้องเรียนมีมากน้อยแค่ไหน พยานหลักฐานเป็นอย่างไร ข้อร้องเรียนยุ่งยากซับซ้อนหรือไม่ และ 60 วันจะทันต่อการรับรองให้ครบ 95% หรือไม่
ถึงเวลานี้ยังไม่มีอะไรแพลมออกมาจาก กกต.ถึงข้อร้องเรียน ผลการพิจารณา แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่ามีข้อร้องเรียนมาก เช่น จัดเลี้ยง สัญญาว่าจะให้ ซื้อเสียง ทุจริตการเลือกตั้ง เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับคอการเมืองติดตามกระชั้นชิดสำหรับการเมืองในช่วงนี้ กระพริบตาเกมเปลี่ยน ตามไม่ทัน

นายหัวไทร

สูตรจัดตั้งรัฐบาล 5 พรรค ‘309 เสียง’ คงไม่พอ อาจต้องบากหน้าง้อ ‘ภูมิใจไทย’ รวมให้เกิน 376 เสียง

เมื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งได้เสียงมากสุด 152 เสียง ประกาศชัดว่าจะจับมือกับฝ่ายค้านเดิมจัดตั้งรัฐบาล 309 เสียง ได้แก่ ก้าวไกล 152 เสียง เพื่อไทย 141 เสียง ประชาชาติ 9 เสียง ไทยสร้างไทย 6 เสียง เสรีรวมไทย 1 เสียง 

โดย 5 พรรคการเมืองเมื่อรวมเสียงกันแล้วได้แค่ 309 เสียง ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา 750 เสียง คือ 376 เสียง พรรคก้าวไกลยังจะต้องหาเสียงสนับสนุนอีก 67 เสียง ตรงนี้คือประเด็นว่าพรรคก้าวไกลจะเดินเกมอย่างไร ซึ่งก็มีทางเลือกอยู่

-เจรจากับพรรคภูมิใจไทย 70 เสียง ถ้าพรรคภูมิใจไทยตกลงเข้าร่วม ก็จะทำให้เป็นรัฐบาล 6 พรรค 379 เสียง ถ้าเอาแค่นี้ถือว่าเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เพราะเกินกึ่งไปแค่ 3 เสียง จะให้ใครเจ็บใครป่วย ใครเป็นไข้ไม่ได้เลย

-ที่พิธาประกาศว่าปิดทางรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้น ไม่น่าจะจริง เพราะพรรคก้าวไกลเองก็ยังก้าวไม่ผ่าน 376 เสียง เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. มีอยู่แค่ 309 เสียงเอง เพื่อให้รัฐบาลเดินไปได้ พรรคก้าวไกลอาจจะต้องบากหน้าไปคุยกับ ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง หรือรวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง แต่อาจจะยากเพราะทั้งก้าวไกล และเพื่อไทยต่างประกาศไปแล้วว่า “มีเราไม่มีลุง” แต่มีความเป็นไปได้กับการเจรจากับพรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง

ถ้าชาติไทยพัฒนาเข้าร่วม อย่างนั้นก็ต้องเอาพรรคภูมิใจไทยมาด้วยอยู่ดี ประเด็นว่า พรรคภูมิใจไทย จะร่วมกับก้าวไกล และเพื่อไทยได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ง่ายเพราะมีอะไรหลายอย่างที่เคมีไม่ตรงกัน แต่การเมืองก็คือการเมือง เมื่อผลประโยชน์ลงตัวก็สามารถร่วมกันได้หมด

แต่กล่าวสำหรับประชาธิปัตย์ ไม่น่าจะร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยได้ เพราะมีอะไรมากมายที่เห็นไม่ตรงกัน จะเจรจาร่วมกัน เพื่อลงนามในเอ็มโอยู ก็น่าจะยังยาก พรรคประชาธิปัตย์ จึงควรจะครองตนเป็นฝ่ายค้าน

ยิ่งประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านยิ่งจะเป็นผลดี ผลดีทั้งต่อชาติบ้านเมือง และต่อพรรคเอง ต่อชาติบ้านเมืองเพราะประชาธิปัตย์เคยทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดีเยี่ยมมาแล้วหลายยุคหลายสมัย ตรวจสอบรัฐบาล อภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ทำได้ดี เป็นผลดีต่อพรรค เพราะถ้าเป็นฝ่ายค้านแล้วทำหน้าที่ได้ดี ประชาชนก็จะเห็นผลงานเห็นฝีมือ อาจจะเป็นช่องทางให้ฟื้นฟูพรรคกลับคืนมาได้ ดีกว่าร่วมหัวจมท้ายกับพรรคที่มีเจตนารมณ์-อุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ยิ่งจะนำมาซึ่งความเสื่อม

ประชาธิปัตย์ควรจะนำบทเรียนของการเข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นข้อสรุปว่า เป็นต้นเหตุให้พรรคได้แค่ 25 เสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่

พรรคประชาธิปัตย์ควรจะมานั่งคิดหาเวลาฟื้นฟูพรรค ดีกว่ามานั่งคิดจะเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อนำนโยบายที่เป่าประกาศไว้ไปสู่การปฏิบัติ เหมือนคราวที่แล้ว สุดท้ายล้มไม่เป็นท่า วันนี้ประชาชนได้ตัดสินใจแล้วว่าจะต้องเปลี่ยน ด้วยการเลือกก้าวไกล เพื่อไทยมาจำนวนมาก จึงควรให้เจตนารมณ์ของประชาชนเป็นจริง

สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงก็ควรตอบรับให้ความร่วมมือกับเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างไม่มีอิดออด เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก และล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะยิ่งล่าช้าก็จะยิ่งมีผลกระทบ กระทบทั้งการค้า การลงทุน และความเชื่อมั่น รวมถึงการต่างประเทศ

แม้สมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการแต่งตั้งของอดีตหัวหน้า คสช. ก็ตาม แต่ควรใช้ดุลยพินิจพิจารณาเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ที่มา: นายหัวไทร

‘ษฐา-มุกดาวรรณ’ ภท. ได้ใจคนเมืองคอนเขต 7-8 โค่น 2 พ่อลูก ‘ชินวรณ์-ปุณณสิริ’ กอดคอกันสอบตก

ผลการเลือกตั้งนครศรีธรรมราชน่าสนใจยิ่ง เมื่อ ‘ชินวรณ์ บุณยเกียรติ์’ อดีต ส.ส. 9 สมัย ของพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ถูกโค่นลงไม่เป็นท่า จากหน้าใหม่ทางการเมือง ‘ษฐา ขาวขำ’ อดีตนายอำเภอ ที่ลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย เขตทุ่งใหญ่ บางขัน ถ้ำพรรณรา ชนกับ ‘ชินวรณ์’

เป็นผลการเลือกตั้งที่พลิกเกินความคาดหมาย เพราะไม่คิดว่าจะมีใครโค่นชินวรณ์ลงได้ แต่วันนี้พิสูจน์แล้วว่า การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอนจริง ๆ เมื่อประชาชนต้องการเปลี่ยนประชามติผ่านการลงคะแนนเสียง คือประชาธิปไตยที่เมื่อถึงเวลาประชาชนจะเป็นใหญ่ และผลประโยชน์ของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่นักการเมืองจะต้องยึดถือปฏิบัติ ถ้าใครขาด-ห่างหายไปจากประชาชน ประชาชนก็จะตัดสินชี้ขาดเอง

ไม่ใช่แค่ชินวรณ์ เพราะลูกสาว ‘น้องบีท-ปุณณสิริ บุณยเกียรติ์’ ที่ถูกส่งลงเขต 8 ฉวาง ช้างกลาง ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ก็กอดคอพ่อสอบตกเช่นเดียวกัน จะอ้างกระแสก้าวไกลก็ไม่ได้ เพราะทั้งสองเขตถูกโค่นโดย ‘ภูมิใจไทย’ 

โดยเขต 8 มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล เอาชนะน้องบีทไปได้ ซึ่งมุกดาวรรณ เคยลงสมัครมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2562 ในนามพรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนมา 18,000 กว่าคะแนน อยู่ในลำดับ ‘เกือบได้’ แต่คราวนี้มุกดาวรรณไม่พลาด ได้รับการชูมือให้เดินเข้าสภา ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเต็มภาคภูมิใจ

กล่าวถึงการล้มช้างทางการเมือง เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 นครศรีธรรมราชก็มีศึกล่มช้างเกิดขึ้นเหมือนกัน ในเขตเลือกตั้งที่ 2 หัวไทร-ปากพนัง-เชียรใหญ่ เมื่อ ‘สัญหพจน์ สุขศรีเมือง’ หน้าใหม่ทางการเมืองเหมือนกัน ลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ ผลการเลือกตั้งสัญหพจน์ ชนะ ‘น้อย-วิทยา แก้วภารดัย’ อดีต ส.ส. 8 สมัยของพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเฉยเลย

สัญหพจน์เองก็ยังมึน ๆ ว่าชนะได้อย่างไร แต่มาคราวนี้สัญหพจน์ก้าวพลาด ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิม แต่สัญหพจน์ กลับพลาดให้กับ ‘โกเท่ห์-พิทักษ์เดช เดชเดโช’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเขาเป็นลูกชายของ ‘กนกพร เดชเดโช’ นายกฯ อบจ.นครศรีธรรมราช และเป็นน้องชายของ’แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.เขต 5 นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

นี้เป็นอีกบริบทหนึ่งที่เป็นบทเรียนสำหรับนักการเมือง ที่ต้องทำงานใกล้ชิดประชาชน ทำงานสนองตอบต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน ภาคใต้กรอบของกฎหมาย แต่ถ้าวันหนึ่งวันใดนักการเมืองห่างหายไปจากประชาชน ถึงวันนั้นประชาชนจะพิพากษาเองว่าจะให้คนคนนั้นอยู่ในสถานะอะไร

เรื่อง: นายหัวไทร

การเมืองนครศรีฯ ใครใจถึงกว่า จัดเต็มคาราเบล คนนั้นเข้าเส้นชัย

กล่าวถึงการเมืองในนครศรีธรรมราช เมื่อยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง ยิ่งน่าติดตาม และมีเรื่องน่าจับตามองกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 

กล่าวได้ว่า การเมืองในนครศรีธรรมราช ยังคงเป็นการต่อสู้กันของ 4 พรรคการเมืองใหญ่ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทย แต่ในช่วงท้ายๆ ของการหาเสียง เมื่อบวกรวมกับกระแสพรรคก้าวไกล จึงมีคนจับตามองไปยังผู้สมัครพรรคก้าวไกลในบางเขตเลือกตั้งตามผลโพลล์ของบางสำนัก เช่น เขต 1 เริ่มปรากฏชื่อของ 'แมน-ปกรณ์ อารีกุล' คนรุ่นใหม่ที่ขยันลงพื้นที่ เมื่อบวกรวมกับกระแสพรรคจึงดีดตัวขึ้นมาอยู่ในระดับคู่ชิงอีกคนหนึ่ง

จากการเฝ้าติดตามการเมืองในนครศรีธรรมราชมาอย่างใกล้ชิด ยังเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์เจ้าถิ่นเดิมน่าจะคว้าชัยได้ในระดับ 5+ ซึ่งหมายถึง 5 คนน่าจะได้ชัวร์ ๆ และอาจจะได้เพิ่มในบางเขตเลือกตั้ง 1-2 เขต

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ต้องยอมรับความจริงว่า 'อยู่ในช่วงขาลง' จากเดิมที่เคยมี ส.ส.อยู่ 4 คน คือ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ, สัญหพจน์ สุขศรีเมือง, สายัณห์ ยุติธรรม และอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ แต่คราวนี้สายัณห์ ไปอยู่กับลุงตู่ ที่รวมไทยสร้างชาติ เขตแห่งความหวังจึงเหลืออยู่ที่เขต 1 ดร.รงค์ แต่ต้องสู้กันหนักกับ 'ราชิต สุดพุ่ม' จากพรรคประชาธิปัตย์ แถมยังมี 'จรัญ ขุนอินทร์' จากพรรคภูมิใจไทย มาคอยตอดคะแนนไปด้วย ดร.จึงอยู่ในฐานะน่าหวาดเสียว แม้จะมีสองโกมาช่วย ก็ยังหนักกับเครือข่ายของราชิต แถมยังมี 'สมนึก เกตุชาติ' อดีตนายกเทศมนตรีนครศรีธรรมราช มาช่วยอีกแรง ทำให้ ดร.รงค์ เบาใจไม่ได้เลย

แต่น่าแปลก 'สัญหพจน์ สุขศรีเมือง' อดีต ส.ส.แท้ ๆ กลับไม่ค่อยมีกระแส โพลทุกสำนักไม่มีชื่อสัญหพจน์อยู่ในลำดับที่จะได้เลย เขตนี้กลับมีชื่อของ 'โก้เท่ห์ -พิทักษ์เดช เดชเดโช' คนใหม่จากประชาธิปัตย์ ทายาทของ 'วิฑูรย์ เดชเดโช' อดีตนายกฯ อบจ.นครศรีธรรมราช และเป็นลูกชายของ 'กนกพร เดชเดโช' นายกฯ อบจ.นครศรีธรรมราช คนปัจจุบัน ยืนโดดเด่นกว่า โดยมี 'มานะ ยวงทอง' จากภูมิใจไทย และ 'นนทิวรรตน์ นนท์ภักดิ์' จากพรรครวมไทยสร้างชาติขึ้นมาเป็นคู่ชิง

ส่วนอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีต ส.ส.พลังประชารัฐ สองปี เพราะมาจากการเลือกตั้งซ่อม ยังทำงานได้ไม่เต็ม 100 เจอคู่แข่งเดิม 'พงศ์สิน เสนพงศ์' ที่ย้ายจากประชาธิปัตย์ไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ แถมยังมีเจ้าถิ่น 'ณัฐกิตติ์ หนูรอด' จากพรรคภูมิใจไทย มาร่วมชิงด้วย อาญาสิทธิ์จึงอยู่ในฐานะเข็นครกขึ้นเขา

กล่าวสำหรับพลังประชารัฐ ควรให้น้ำหนักกับ 'สุนทร รักษ์รงค์' เขต 8 ที่เขามาฐานอยู่กับชาวสวนยาง ชาวสวนปาล์มไม่น้อย แต่เขาต้องไปสู้กับทายาทของ 'ชิณวรณ์ บุณยะเกียรติ์' น้องบีท-ปุณณสิริ บุณยเกียรติ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ สุนทรก็จะนิ่งนอนใจไม่ได้เหมือนกัน เพราะเขตนี้ยังมี 'มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล' จากพรรคภูมิใจไทย เดินคู่กันมาอีกคนที่ในทางการเมืองไม่ควรมองห้ามกับการเป็น สจ.มาก่อน และเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเธอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กับคะแนน 18,000 คะแนน ก็ถือว่าไม่ธรรมดา

สำหรับประชาธิปัตย์ 5 ที่นั่งเป็นตัวตั้ง คือ ชัยชนะ เดชเดโช แต่ให้ระวัง สจ.สนั่น พิบูลย์ ที่คราวนี้สู้จริงในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเขามีฐานที่เหนียวแน่อยู่จุฬาภรณ์ ในฐานะ สจ. และยังมี สจ.ยา จากลานสกา มาช่วยอีกแรง ชัยชนะก็จะชะล้าใจไม่ได้เช่นกัน ชิณวรณ์ บุณยเกียรติ์ ที่ยังลงเขตเหมือนเดิม โดยลงเขต 7 ที่เชื่อกันว่า น่าจะสอบผ่าน แต่อย่าลืมว่า เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ชิณวรณ์ก็ชนะไม่มาก และคราวนี้ พรรคภูมิใจไทย ไปได้ 'ษฐา ขาวขำ' อดีตนายอำเภอ มาลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ทำให้ชิณวรณ์หวั่นไหวได้เหมือนกัน ยิ่งโค้งสุดท้าย ญาติ ๆ จากพัทลุง กระโดดเข้ามาช่วย ส่งท่อน้ำเลี้ยงเข้าใน 'นายอำเภอษฐา' ก็มีกำลังใจขึ้น ยิ่งมีผู้มากบารมีจากปากพนังขนญาติมาช่วยอีกแรง สถานการณ์นี้จึงไม่ควรมองผ่าน 'ษฐา' จากภูมิใจไทย

นอกจากนี้ก็จะมี 'ประกอบ รัตนพันธ์' ที่มีคู่แข่งทั้งจากภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชาธิปัตย์ อีกคนคือ 'โก้เท่ห์ -พิทักษ์เดช' นี้แหละ
 

กระแส 'ลุงตู่' ช่วยดัน ส.ส.เขต 'รทสช.' โดดเด่น เชื่อ!! 'ทำแล้ว-ทำอยู่-ทำต่อ' ช่วยปักธงได้แน่

ในวันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เดินทางไปช่วยหาเสียงที่จังหวัดตรัง ซึ่งมี 4 เขตเลือกตั้ง

พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลงจากเครื่องบินที่สนามบินตรัง นอกจากจะมีผู้สมัครในจังหวัดตรัง เช่น สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล จากเขต 4, อำนวย นวลทอง จากเขต 3 ไปต้อนรับแล้ว ได้มีมวลชนจำนวนมากที่ทราบข่าว เดินทางไปต้อนรับ และให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ถึงสนามบินตรังกันแน่นขนัด

หลังจากนั้นคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีทั้งพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค, อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางต่อไปยัง อ.กันตัง เพื่อช่วยหาเสียงให้กับสมบูรณ์ ซึ่งมีมวลชนจำนวนมากแห่ไปต้อนรับให้กำลังใจเช่นกัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้อธิบายถึงแนวทาง 'ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ' ให้ประชาชนเข้าใจ

คณะ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางต่อไปในตลาดทับเที่ยง ช่วยถนอมพงศ์ หลีกภัย หาเสียง ซึ่งต้องเสียเวลาไปมาก เนื่องจากมีผู้คนแห่ต้อนรับหน้าแน่นจนไม่มีเวลาทานข้าว เวลาล่วงมาถึงบ่ายสองถึงจะได้ทานข้าว

เสร็จจากทานข้าวเที่ยงเดินทางต่อไปยังอำเภอนาโยง เพื่อช่วย 'อำนวย นวลทอง' หาเสียง โดยก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางไปถึง 'อำนวย นวลทอง' ได้กล่าวปราศรัยก่อนแล้วถึงความมุ่งมั่น-ตั้งใจในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้

“ผมลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อชัยชนะ และจะสู้ไม่มีถอย โดยตั้งใจจะเข้าไปแก้ไขปัญหา 3 อย่าง อย่างแรกคือปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ บ้านเรามีฝนมาก เพราะอยู่ใกล้ภูเขา จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อย แต่น้ำท่วมไม่นานก็จะเกิดปัญหาน้ำแล้งตามมา ที่ผ่านมาไม่มีใครคิดวางโครงสร้างใหญ่ในการแก้ไขปัญหาน้ำ”

อำนวย กล่าวอีกว่า อีกปัญหาที่ต้องการเข้าไปแก้คือปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ที่ชาวบ้านถูกครหาว่าบุกรุกอุทยานบ้าง บุกรุกทุ่งเลี้ยงสัตว์บ้าง ทั้งๆ ที่สภาพของที่ดิน ไม่มีต้นไม้ไม่มีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์แล้ว ชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยมานานแล้ว แต่ไม่มีการยกเลิกความเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ และ/หรือเขตอุทยาน ชาวบ้านจึงโดนขับไล่มาโดยตลอด เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

คุยกับ 'พิชาญศักดิ์ บุญมาศ' ผู้สมัคร พปชร.เขต 9 นครศรีธรรมราช 'มุ่งมั่น-ตั้งใจ' พัฒนา 'ท่าศาลา' ให้เป็นเมืองหลวงแห่งสุขภาพ

พิชาญศักดิ์ บุญมาศ หรือ 'หมออุ้ย' ตัดสินใจทิ้งมีดผ่าตัด ทิ้งเข็มฉีดยา มุ่งหน้าเข้าหาชุมชน พบปะพี่น้องประชาชนในเขต 9 นครศรีธรรมราช (ท่าศาลา พรหมคีรี นพพิตำ) เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในนามพรรคพลังประชารัฐ

หมออุ้ย เปิดใจกับ THE STATES TIMES ว่า "ในเขต 9 เรากำลังทำงานแข่งกับตัวเอง เราต้องเป็นคนนำทัพรบ และเปลี่ยนแปลงสนามรบตรงนี้ให้ได้ ต้องปักธงพรรคพลังประชารัฐตรงนี้ และเมื่อได้เป็นผู้แทนในเขต 9 ผมจะต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต่อสู้กับปัญหาความยากจน ต่อสู้กับปัญหาสุขภาพ และปัญหาสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง”

หมออุ้ย อธิบายว่า คำว่าเปลี่ยนแปลงในที่นี้ หมายถึงว่าการทำการเมืองในครั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าประชาชนไม่เหมือนเดิม ประชาชนเข้าถึงได้ ใช้เทคโนโลยีเป็น ค้นหาข้อมูลได้ คิดเป็น เขต 9 จะเป็นเมืองแห่งโอกาส ผู้สมัครต้องนำเสนอนโยบาย

“สำหรับผมนำเสนอตัวเอง เสนอความตั้งใจ นี้คือยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ โดยไม่หวั่นเกรงต่อเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากความตั้งใจ ทำการเมืองแบบเป็นมิตรกับทุกคน ไม่โจมตีใคร การเลือกตั้งเป็นสิ่งสวยงาม เป็นประชาธิปไตย ถ้าเข้าใจก็ให้ประชาชนตัดสินใจดีกว่า”

หมออุ้ย กล่าวย้ำว่า ท่าศาลา มีมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุด มีพื้นที่มากที่สุด มีศูนย์การแพทย์ที่ใหญ่ที่สุด ดีที่สุด แต่ยังขาดจิ๊กซอว์ และกลไกอื่นๆ มาเชื่อมโยง

“ผมหมออุ้ยในฐานะเป็นอาจารย์หมอ เคยเป็นรองคณบดี เคยทำหลักสูตรแพทย์ เป็นนายกฯหมอนานาชาติ ด้วยวิสัยทัศน์ตรงนี้เองเราจะขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นศูนย์กลาง เป็นเมืองหลวงแห่งการแพทย์ เป็นในทุกมิติตั้งแต่ระดับล่างจนถึงนานาชาติให้ได้ ภายในระยะเวลา 4 ปี ถ้าเรามีแม่เหล็ก มีผู้นำ มีแม่ทัพที่มุ่งมั่น คิดว่าใน 4 ปีนี้เราทำได้ครับ”

คุณหมอพิชาญศักดิ์ กล่าวอีกว่า วันนี้การหาเสียง ถ้าเปรียบเป็นมวยไทยก็เข้าสู่ยกที่ 4 แล้ว ต้องทำงานการเมืองแข่งกับตัวเอง โดยมีประชาชนเป็นคนตัดสิน ส่วนตัวในฐานะผู้เล่น รู้สึกพึงพอใจในเสียงตอบรับที่ดี ประชาชนให้กำลังใจ

“รอบนี้การเมืองในเขต 9 เป็นการเมืองที่สดใส ประชาธิปไตยเบ่งบาน ประชาชนคิดได้ คิดเป็น ที่สำคัญประชาชนให้โอกาสกับทุกพรรคการเมือง หมออุ้ยพร้อมจะเปลี่ยนแปลงเขต 9 ให้เป็นเมืองหลวงแห่งสุขภาพ เป็นมิติใหม่ทางการเมือง เวลาที่เหลืออยู่เชื่อว่าเราทำได้"

ภูมิใจไทยเมืองคอน คาดหวังทุกเขตทั้ง 10 เขตเลือกตั้ง หลัง ‘อารี’ นั่งแท่นขุนพล หมายมั่นปั้นมือต้องปักธงให้ได้

แม้เวลาของการหาเสียงเลือกตั้งจะเหลืออยู่เพียง 10 กว่าวัน แต่สำหรับสนามเลือกตั้ง 10 เขต ของนครศรีธรรมราช ถือเป็นสนามหินสำหรับทุกพรรคการเมือง ไม่ใช่สนามหญ้า หรือถนนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองเก่าอย่างประชาธิปัตย์ที่เคยยึดครองเมืองคอนมายาวนาน

การเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ได้มีแค่ 4 ที่นั่งจากทั้งหมด 8 ที่นั่ง กล่าวได้ว่า ได้มาแค่ครึ่งเดียว ยกให้พลังประชารัฐไปครึ่งหนึ่ง คือ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ สายัณห์ ยุติธรรม สัญหพจน์ สุขศรีเมือง และมาได้เพิ่มอีก 1 ในการเลือกตั้งซ่อม แทนเทพไท เสนพงศ์ ที่อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแทนในครึ่งเทอดหลัง

กล่าวสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ (2566) นครศรีธรรมราชได้ ส.ส.เพิ่มจาก 8 คน เป็น 10 คน แน่นอนว่ามีพรรคการเมืองหลายพรรคหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องมาแย่งเก้าอี้ตรงนี้ไป และมีหลายพรรคการเมืองหวังว่าจะปักธงในเมืองคอนให้ได้ แน่นอนว่าประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าของพื้นที่เดิมจะต้องรักษาฐานไว้ให้ได้ และทำอย่างไรจะขยายฐานเพิ่มขึ้นจาก 4 เป็น 5 เปึน 6 เป็น 7 หรือมากกว่า

แต่ไม่ง่ายสำหรับสถานการณ์ที่เปราะบาง มีหลายพรรคการเมืองจ้องเข้ามายึดครองแทน ทั้งพลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคภูมิใจไทย และหรือพรรคก้าวไกล, เพื่อไทย

กล่าวสำหรับพรรคภูมิใจไทย หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องปักธงเมืองคอนให้ได้ โดยเฟ้นหาตัวผู้สมัครฯ จัดจ้านมาลงสนาม และขุนพลที่เข้ามาคุมทัพ คือ ‘อารี ไกรนรา’ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อชาติ ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นมือวาง ขุนพลมือหนึ่งเข้ามาคุมยุทธศาสตร์นครศรีธรรมราช ด้วยความเป็นคนทุ่งใหญ่ แห่งตระกูล ‘ไกรนรา’

‘ไกรนรา’ ถือเป็นตระกูลใหญ่ย่านทุ่งใหญ่ ทุ่งสง และด้วยชื่อเสียงของ ‘อารี’ ถือว่าขายได้ ‘อารี’ ก้าวเดินออกจากเพื่อชาติ เดินเข้าสู่ภูมิใจไทย ด้วยเหตุผล คือ ‘ภูมิใจไทย’ คือคำตอบสำหรับคนใต้ ยิ่งมีวลีโดนใจ “พูดแล้วทำ” ยิ่งประทับใจ และภูมิใจในการก้าวเดินไปกับภูมิใจไทย

‘อารี’ คาดหวังว่าในช่วงบั้นปลายของชีวิตในวัย 70 ปี จะได้มีโอกาสกลับมารับใช้แผ่นดินเกิด เคยทำงานเพื่อที่อื่นมาเยอะมากแล้ว วันนี้เวลานี่ขอโอกาสกลับบ้าน มาทำงานเพื่อถิ่นกำเนิด

ตั้งแต่ก้าวเข้ามาในภูมิใจไทย ‘อารี’ ลุยพื้นที่มา 4 เดือน ดึงทีมงานเก่า-ใหม่ เข้ามาร่วมทีม

10 ผู้สมัครผ่านการคัดเลือก กลั่นกรองแบบ ‘คั้นหัวกะทิ’ มาแล้ว มากความรู้ มากประสบการณ์ พร้อมก้าวเดินรับใช้ชาติ-แผ่นดิน ด้วยลมหายใจของนักการเมืองที่พร้อมจะเสียสละ

“พรรคภูมิใจไทย คาดหวังทุกเขตทั้ง 10 เขตเลือกตั้ง สู้เต็มที่ ส่วนจะแพ้-ชนะ เป็นอำนาจของประชาชน และวันนี้พรรคภูมิใจไทย ถือเป็นคู่แข่งสำคัญในทุกเขตเลือกตั้ง” อารี กล่าว

หลายพรรคมีหวั่น!! เหตุ ‘ลุงตู่’ เริ่มดึงกระแส แม้นายหัวผู้ไม่เคยแพ้ ก็ยังแอบปาดเหงื่อ

หาเสียงกันมาแล้ว 20 กว่าวัน และก็เหลือเวลาอีกเพียง 20 กว่าวัน จะถึงวันพิพากษาของประชาชนในการลงคะแนนเลือกตั้งว่าจะกาให้ใครเป็นผู้แทนของเขาไปทำหน้าที่ในสภา

กล่าวถึง 4 เขตเลือกตั้งของจังหวัดตรัง ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเมืองหลวงของประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ‘นายหัวชวน’ ชวน หลีกภัย เป็นเสาหลักอยู่ และไม่เคยแพ้การเลือกตั้งมาก่อนนับตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมานั้น ก็น่าติดตาม เพราะเมื่อช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์ ก็เคยได้เพลี่ยงพล้ำให้กับพรรคพลังประชารัฐไป 1 ที่นั่งกับ ‘นิพันธ์ ศิริธร’ ซึ่งได้รับเลือกตั้งในเขต 1 ตรัง อย่างพลิกสายตาคอการเมือง

ยิ่งในสถานการณ์ความไม่ลงตัวของประชาธิปัตย์หนนี้ ตรังก็อาจจะถูกท้าทายยิ่งจากคู่แข่ง ภายหลังประชาธิปัตย์แยกเป็น 3 ก๊วน ได้แก่ ‘ชวน- สาทิตย์-สมชาย’ ขณะที่ฟาก ‘รทสช.’ ของลุงตู่ ก็น่าดูชม เพราะเดินไปทิศทางใดก็มีกระแส ส่วนภูมิใจไทยก็จ้องจะปักธงอยู่เหมือนกัน

ว่าแล้วมาทวนในส่วนของ ‘ชวน’ กันหน่อย โดยความหมายก็ไม่พ้น นายหัวชวน หลีกภัย อดีต ส.ส.12 สมัย ซึ่งไม่เคยสอบตก เป็นทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา อดีตรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง แต่คราวนี้เชื่อว่านายหัวชวนคงกระอักกระอ่วนใจกับคนใกล้ชิดที่ต้องพลัดพรากจากกันไปอยู่ พรรครวมไทยสร้างชาติอย่าง ‘สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล’ เขต 4 ตรัง จนถึงขั้นชวนประกาศว่าเขตนี้ ไม่ช่วยคนแต่ช่วยพรรคกันเลยทีเดียว

ด้าน ‘สาทิตย์’ หรือ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส.หลายสมัย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ถือเป็นศิษย์รักของนายหัวชวน อีกทั้งยังเป็นคนตัวเล็กใจกล้า ที่เป็นมือขวาเคียงข้าง ‘ลุงกำนัน’ ในยุค กปปส.ด้วย ลำบากใจแท้!!

ปิดท้ายกับ ‘สมชาย’ หมายถึง สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.หลายสมัย ที่จำต้องผลัดบ่าให้ ‘สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ’ ลูกสาวลงสมัครแทน ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ว่า ‘สมชาย’ กับ ‘สาทิตย์’ อยู่พรรคเดียวกัน ร้องเพลงเดียวกัน แค่ร้องคนละคีย์กันอยู่ นั่นก็เพราะสมชายกับวงศ์หนองเตย ระหองระแหงกันมาตั้งแต่ศึกเลือกตั้งนายกฯ อบจ.แล้ว แถมคราวนี้ สมชาย หันไปสนับสนุน ‘ทวี สุระบาล’ จากพรรคพลังประชารัฐแทน 

ฉะนั้นในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ที่จะถึงนี้ จังหวัดตรัง ซึ่งมี 4 เขต เหมือนเขตเลือกตั้งในปี 2550 จะมีพรรคใหญ่ที่น่าจับตามองในสายตาประชาชนชาวภาคใต้ 4 พรรคใหญ่เท่านั้น ได้แก่...

พรรคภูมิใจไทย โดยนายพิพัฒน์ และ ดร.นาที รัชกิจประการ ซึ่งคาดหวังชนะ 19 เขตเลือกตั้งทั่วภาคใต้ โดยมี จ.ตรัง เป็นอีกหนึ่งหมุดที่พรรคภูมิใจไทย หมายมั่นปั้นมือปักธง และได้ส่งผู้สมัครครบ 4 เขต ได้แก่ เขต 1 นพ.รักษ์  บุญเจริญ / เขต 2 นางโชติกา รักเมือง / เขต 3 เรือเอกพัฒน์พงษ์ คงผลาญ และเขต 4 นายดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์  

พรรคพลังประชารัฐ โดยนายทวี สุระบาล เป็นพี่ใหญ่ ได้ส่ง เขต 1 นายกิตติพงษ์ ผลประยูร / เขต 2 นายทวี สุระบาล / เขต 3 พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ ใจสมุทร / เขต 4.พล.ต.ต.บรรลือ ชูเวทย์ ซึ่งปัจจุบัน จ.ตรัง เขต 1 มีนายนิพันธ์ ศิริธร เป็น ส.ส.พลังประชารัฐ อยู่แล้ว จึงต้องการรักษาเก้าอี้ ส.ส.เขต 1นี้ไว้ให้ได้ แม้นิพันธ์จะไม่ได้ลง ส.ส.เขตแล้วก็ตาม

พรรคประชาธิปัตย์ ส่งครบ 4เขต ได้แก่เขต 1 นพ.ตุลกานต์ มักคุ้น / เขต 2 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย / เขต 3 น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ และเขต 4 นายกาญจน์ ตั้งปอง  

พรรครวมไทยสร้างชาติ มีตัวเด่นอยู่ที่เขต 3 ‘อำนวย นวลทอง’ อดีตนักศึกษากิจกรรมตัวยง ที่สนใจการเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียน และมุ่งมั่นเข้าสู่วิถีการเมือง อดีตสมาชิกสภาเขตพญาไท อดีตประธานสภาเขตพญาไท 2 สมัย คนใกล้ชิด ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. และ เขต 4 สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่ถูกคัดออก เพราะถูกคนในพรรคประชาธิปัตย์มองข้าม แต่นายชวนยังเห็นคุณค่า โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เตรียมลงพื้นที่ตรังเรียกแขกในวันเสาร์ที่ 29 เมษายนนี้ด้วย 

กล่าวโดยสรุปสำหรับสนามเมืองตรัง เขต 1 จะเป็นการแข่งกันมันส์หยด เมื่อ พลังประชารัฐ ส่ง กิตติพงษ์ ผลประยูร ลงพื้นที่ก่อนผู้สมัครคนอื่นมีความได้เปรียบในการจัดตั้งคะแนนเสียง ส่วนเจ้าถิ่นประชาธิปัตย์ ส่ง นพ.ตุลกานต์ มักคุ้น ลูกรักประชาธิปัตย์สาย ‘ชวน หลีกภัย’ ลงสมัครใช้ฐานคะแนนเสียงเดิมเพื่อหวังชัยชนะกลับคืนมา
พรรคภูมิใจไทย นพ.รักษ์ บุญเจริญ เปิดตัวหลังคนอื่น แต่กระแสตอบรับดีมาก มีกระแสพรรคฯ ‘พูดแล้วทำ’ มาหนุน ทั้งประวัติส่วนตัวขาวสะอาด เป็นหมอชาวบ้านติดดิน จึงได้คนวงการสาธารณสุขหนุนนำ  

ยิ่งไปกว่านั้นเขต 1 จะเป็นสนามเลือกตั้งที่มีการแข่งขันดุเด็ดเผ็ดมันส์แน่ เพราะผู้สมัครทั้ง 3 คนไม่เคยเป็น ส.ส.มาก่อน มี นพ.รักษ์ คนเดียวที่เล่นการเมืองท้องถิ่น อดีตรองนายกเทศบาลนครตรัง ส่วนนายกิตติพงษ์ อดีตข้าราชการกรมที่ดิน ส่วนหมอตุลกานต์ มักคุ้น หมอโรงพยาบาลตรัง เขตนี่อย่ากระพริบเชียว

เขต 2 คู่นี้คือมวยคู่เอกของรายการในนัดนี้ เมื่อนายทวี สุระบาล ผู้ช่วยรัฐมนตรีและอดีต ส.ส.หลายสมัยหวนคืนสังเวียนขอทวงแชมป์จาก ส.ส.สาทิตย์ วงศ์หนองเตย พรรคประชาธิปัตย์ ทวี ทำการบ้านลงพื้นที่มาหลายปี ไปทุกงาน เสียงตอบรับกระแสนิยม มาฝั่งทวีได้ยินทุกหมู่บ้านคราวนี้ อีกทั้งนักการเมืองท้องถิ่นก็หนุนช่วยทวี ที่สำคัญสมชายก็เป็นอีกหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยทวีออกหน้าออกตาตั้งแต่ก่อนสมัครแล้ว

ส่วนดาวสภา คนตัวเล็กฝีปากกล้า ‘สาทิตย์ วงศ์หนองเตย’ กลับมาลงพื้นที่เดินพบปะชาวบ้าน ‘เคาะประตู’ สไตล์ประชาธิปัตย์ เขตนี้เริ่มต้นทวี เป็นรองสาทิตย์ แต่ไม่มากนัก เวลาผ่านไปหายใจรดต้นคอสาทิตย์แล้ว

ผู้สมัครบางคนถูกถอดสายน้ำเกลือแล้ว  ลุ้น!! ‘สุนทร’ ชิงกันเข้าวินกับ ‘น้องบีท’

แม้ชื่อของ เชาวศิลป์ บุญประเสริฐ (รองโข่ง) จะปรากฏเป็นกระแสอยู่ระยะหนึ่งกับการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 8 นครศรีธรรมราช (ฉวาง-นาบอน-ช้างกลาง-พิปูน) ในนามพรรคเพื่อไทย และก็ต้องยอมรับความจริงว่า กระแสพอใช้ได้ จนโพลบางสำนักยกให้อยู่อันดับ 1 เมื่อบวกกับกระแสเพื่อไทยทั่วประเทศ ยิ่งส่งแรงบวกให้รองโข่งมากขึ้น

แต่ก็ต้องเข้าใจตรงกันนะว่า ภาคใต้ไม่ใช่ฐานที่มั่นของเพื่อไทย แม้ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ จะลงไปคลุกอยู่ในพื้นที่นครศรีธรรมราชหลายครั้ง แต่ไม่น่าจะช่วยอะไรก็ได้มากนัก แต่คะแนนพรรคคงมีทุกเขต

แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน การเมืองก็เปลี่ยน ฝ่ายคู่แข่งงัดกลยุทธ์ ขุดวิชาขึ้นมาใช้ น่าจะทำให้กระแสเสียงของรองโข่งแผ่วลงไปบ้าง เมื่อกระสุนไม่พอ กระแสก็ไม่เกิด ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า การออกเดินพบปะพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งแบบ ‘หามรุ่งหามค่ำ’ และค่ำไหนนอนนั้น (นอนวัด) ของ ‘สุนทร รักษ์รงค์’ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ คู่ไปกับการตั้งวงพูดคุยแลกเปลี่ยนในสไตล์ที่ถนัด ยิ่งทำให้กระแสเสียงของสุนทรค่อยๆ ขยับตัวมาดีขึ้น พูดได้ว่าน่าจะอยู่อันดับ 1 แล้วเวลานี้

ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งความพร้อมของพรรค และตัวผู้สมัคร สุนทร บุกหนักทั้งงานจัดตั้งแกน งานด้านสื่อ และโครงการสุนทรนอนวัด 21-25 เมษายน ที่เดินเท้าขอคะแนนถึงบ้านตอนกลางวัน ถึงเวลากลางคืนจัดเวทีเสวนาที่วัด เพื่อรับฟังปัญหา ความต้องการของชาวบ้าน และรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปเสนอพรรคเพื่อทำนโยบายเชิงพื้นที่ 

ถ้าสุนทรใช้วิชาที่ถนัดแบบเต็มแม๊ก เดินเท้าทุกชุมชน เพื่อขอคะแนนเสียง เปิดเวทีย่อย-เวทีใหญ่ ให้ครบทั้ง 5 อำเภอ 

พรรคภูมิใจไทย มุกดาวรรณ ม้าตีนต้นเริ่มแผ่ว น่าจะมีปัญหาเรื่องท่อน้ำเลี้ยงร่างกายขาดน้ำเกลือ ย่อมอ่อนเพลียเป็นธรรมดา

กล่าวสำหรับเขตนี้ ก็ไม่ควรมองข้าม ‘น้องบีท’ ปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ จากประชาธิปัตย์ ลูกสาวชินวรณ์ ก็เชื่อว่า ชิณวรณ์จะต้องออกแรงหนัก เพื่อดันน้องบีทให้แจ้งเกิดทางการเมือง โดย ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ ในฐานะเคยเป็น ส.ส.เขตนี้มาก่อนก็ต้องจับมือ ‘ชิณวรณ์’ ช่วยน้องบีทอีกแรง เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า แต่ต้องแก้ให้ได้กับกระแสไม่เอาประชาธิปัตย์ ไม่เอาการสืบทอดสู่ทายาท เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top