‘ผู้ว่าฯนครศรี’ ลงพื้นที่ แก้ภัยแล้ง ให้เกษตรกร  กำชับทุกส่วนให้รายงานตรง เพื่อแก้ปัญหาน้ำ อย่างเร่งด่วน

ทีมข่าว #นายหัวไทร รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่9 มีนาคม ชลประทาน เขต 15 ได้ทยอยนำเครื่องสูบน้ำ ชนิด Hydroflow ขนาด 24 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เพื่อติดตั้งบริเวณปากคลองชักน้ำสาย 2 เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ ชลประทาน และ เครื่อง  ขนาด  32 นิ้ว จำนวน 4  เครื่องตามที่มีการตกลงในที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 มีนายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุม เพื่อให้ทางชลประทาน นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เข้าไปสูบน้ำให้ทันกับความต้องการของเกษตรกร ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเป็นช่วงเวลาของการทำข้าวนาปี

ทั้งนี้จากรายงานของชลประทาน แจ้งว่า เครื่องสูบน้ำ ขนาด 16”^12”จำนวน 3 เครื่อง จุดติดตั้ง ม. 11 บ้านหนำหย่อม ต. เชียรเขา อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. นครศรีธรรมราช จำนวน 1 เครื่อง ม. 7 บ้านดอนสำราญ ต. เชียรเขา อ. เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 2 เครื่อง รวม 3 เครื่อง

ทั้งนี้ตามข้อตกลงในการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนชาวบ้านกับชลประทาน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ สำนักงานชลประทานที่ 15 จะทยอยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำต่อเนื่อง ตามแผนต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเดินเครื่องต่อเนื่องทั้งหมด 51 เครื่อง ในพื้นที่โซนลุ่มน้ำปากพนัง แต่จนถึงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ติดตั้งไปได้แค่ 11 เครื่อง จากเป้าหมาย 51 เครื่อง บางเครื่องติดตั้งแล้ว แต่ไม่ได้เดินเครื่อง ด้วยเหตุผลไม่มีงบค่าน้ำมัน

ติดตั้งแค่ 11 เครื่อง จากเป้าหมายวางไว้ 51 เครื่อง
-ต.เขาพังไกรครบแล้ว 4 เครื่อง
-ต.หัวไทร 2 เครื่อง
-ต.เชียรเขา 5 เครื่อง

-ควนชลิก 6 เครื่อง ยังไม่ติดตั้ง
-รามแก้ว 4 เครื่อง ยังไม่ติดตั้ง
-ต.แหลม ไม่อยู่ในแผนจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำมัน

ตั้งแต่เมื่อวาน (9 มีนาคม) ทางสำนักงานชลประทานที่ 15 ซึ่งรับผิดชอบโซนลุ่มน้ำปากพนัง มีนายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว เป็นผู้อำนวยการชลประทานสำนัก15กลมชลประทาน ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้ครบตามเป้าหมาย โดยมีรองอธิบดีกรมชลประทาน เดินทางไปตรวจสอบด้วยตัวเอง และเริ่มเดินเครื่องสูบน้ำทันที และสูบน้ำทั้งคืน ตลอดคืนที่ผ่านมา

นอกจากติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้เกษตรกรแล้ว ทางชลประทานยังดำเนินการขุดลอด กำจัดผักตบชวาในคลองส่งน้ำ (คลองไส้ไก่) ด้วย เพื่อส่งน้ำได้สะดวกขึ้น

นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าวว่า ความเดือดร้อนที่ภาคเกษตรกรรมเขตลุ่มน้ำปากพนังได้รับผลกระทบจากการเปิดปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิในเขตลุ่มน้ำปากพนัง ปัญหาเกิดขึ้นมากมายมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งหน้าร้อน และหน้าฝน ปีนี้แล้งจัด กรมชลประทานไม่ได้ขับเคลื่อนในทุกเรื่องเพื่อเป็นการป้องกัน คำตอบเดียวที่ได้รับ "ขาดงบประมาณ"ในการแก้ปัญหา

แต่ละปีคลองระบายน้ำแต่ละสาย (คลองไส้ไก่) น้ำแห้งขอด กรมชลปิดประตูระบายน้ำทำให้ทางทิศเหนือน้ำท่วมขัง-เน่า ขาดการบริการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ 

”พวกเรากำลังเตรียมส่งเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นถวายฏีกาเพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและจริงจังกับเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง“

ผู้สื่อข่าวรายงานในที่ประชุมที่มีผู้ว่าฯเป็นประธานได้มีการซักถามเกี่ยวกับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังพร้อมทั้งมีการสอบถามว่าผู้ใดเป็นคนพูดว่าไม่มีงบประมาณซึ่งในที่ประชุมได้มีการพยายามชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจนกระทั่งนายขจรเกียรติ รักพาณิชย์มณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สั่งการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน พร้อมกำชับให้รายงานผลการปฏิบัติต่อนายอำเภอในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ทันกับความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรในพื้นที่และหากพบปัญหาให้รายงานด่วนตรงมายังผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชทันที
 


เรื่อง : นายหัวไทร