Thursday, 9 May 2024
ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน

ศึกชิงหัวหน้า ‘ประชาธิปัตย์’ ดัชนีชี้วัดการเข้าร่วมรัฐบาล ใต้ความ ‘มืดมน-ไม่ชัดเจน’ บุคคลที่จะลงชิงหัวหน้าพรรค

‘มืดมน’ คือคำตอบที่ได้รับจากปากของแกนนำประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในวันที่ 6 สิงหาคม คำว่ามืดมนสะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นบุคคลที่มีแววว่าจะนำพาพรรคไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ต้องเป็นบุคคลที่กล้าคิด กล้าทำ กล้านำการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญคือต้องยึดมั่นใน 'เจตนารมณ์ อุดมการณ์ของประชาธิปัตย์'

มีวิธีคิด มุมมองใหม่ๆ กับสถานการณ์ที่ ‘ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม ผู้นำพาพรรคจะต้องมากบารมี’ (แคริทม่า)

ก่อนหน้านี้ที่ปรากฏชื่อ โดยที่เจ้าตัวไม่เคยพูดไม่เคยเปิดเผย ‘หล่อใหญ่-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้า อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจนถึงนาทีนี้ก็ยังไม่รู้ว่า ‘อภิสิทธิ์’ จะยังยืนหยุดลงชิงอยู่อีกหรือไม่ ซึ่งถ้าอภิสิทธิ์ลงชิง แม้จะไม่ใหม่ซิงๆ แต่ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง พอจะเห็นแวว เห็นแนวทาง ซึ่งถ้าเป็นไปตามข่าว ถ้าอภิสิทธิ์มาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะไม่นำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล จะใช้เวลากับการคิด การทำงาน เพื่อฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ ในบทบาทของฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือผลักดันกฎหมายสำคัญๆ ในการแก้ไขปัญหาชาติเป็นด้านหลัก

‘นราพัฒน์ แก้วทอง’ รองหัวหน้าพรรคจากภาคเหนือ ภายใต้การผลักดันของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รักษาการเลขาธิการพรรค ‘เดชม์อิศ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ซึ่งนราพัฒน์ เข้ามาสู่วงการการเมืองสืบทอดต่อจากบิดา ‘ไพฑูรย์ แก้วทอง’ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าพรรคจะเฟื้องฟู หรือตกต่ำ ‘แก้วทอง’ ไม่เคยตีจากประชาธิปัตย์ ร่วมยืนหยัดต่อสู้มาตลอด แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป ยังไม่มีใครยืนยันว่า นราพัฒน์ ยังยืนยันจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่

มีบางกระแสบอกว่า สายเฉลิมชัยอาจจะส่ง ‘ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ลงชิงแทน แต่ก็เป็นแค่กระแสข่าวเช่นกัน ไม่มีใครยืนยัน ซึ่งถ้าส่ง ดร.เอ้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านด่านข้อบังคับพรรค คนชิงหัวหน้าพรรค ต้องเป็นสมาชิกอย่างน้อย 5 ปี ถ้าข้อมูลไม่ผิดพลาด ดร.เอ้น่าจะเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคก่อนลงสมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็สามารถเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของดเว้นใช้ข้อบังคับได้ แต่ด่านหินคือต้องใช้เสียงขององค์ประชุม 3/4 ถ้ามั่นใจว่าจะผ่านด่านนี้ไปได้ ก็ลงชิงได้ ถ้ามั่นใจ และไม่กลัวถูกขุดคุ้ยปูมหลัง

ส่วน ‘ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข’ ที่เปิดตัวจะลงชิงด้วย ก็เป็นน้ำจิ้ม หรือผักเหนาะ ให้สีสันความเป็นประชาธิปไตยของพรรคประชาธิปัตย์ 

ด้าน ‘อลงกรณ์ พลบุตร’ รองหัวหน้าพรรค ที่เปิดตัวก่อนใคร ก็ถอนตัวไปตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคมแล้ว โดยไม่รู้ว่าสาเหตุลึกๆ จริงๆ คืออะไร ซึ่งต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังแน่นอน หรือเป็นการถอนตัวเพื่อส่งต่อคะแนนให้ทีมเฉลิมชัย เพราะต้องไม่ลืมว่าอลงกรณ์ทำงานใกล้ชิดเฉลิมชัยในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่ปรึกษาใหญ่ และแสดงบทบาทนำมาโดยตลอด

แต่ประเด็นใหญ่ของประชาธิปัตย์ คือ จะเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของเพื่อไทย มีข่าวหนาหูหลัง ‘นายกฯ ชาย เดชม์อิศ ขาวทอง’ เดินทางไปฮ่องกง และได้พบปะพูดคุยกับทักษิณ ชิณวัตร กับข้อเสนอ 19 เสียง พร้อมสนับสนุนเพื่อไทย แต่เข้าใจว่าเพื่อไทยคงไม่อยากได้ 19 เสียง คงอยากได้ทั้งพรรค 25 เสียง และเข้าร่วมโดยมติพรรค ซึ่งแน่นอนว่าซีกของผู้อาวุโส คงไม่ประสงค์เข้าร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย เพราะถือว่า เพื่อไทยคือคู่แข่ง และสู้รบปรบมือกับระบอบทักษิณมาตั้งแต่ปี 2543 ในยุคทักษิณ ไล่มาจนถึงยุคสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สมัคร สุนทรเวช และยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร จู่ๆ จะนำทัพไปร่วมสมทบแบบ ‘ลืมอดีต’ น่าจะเป็นไปได้ยาก

แต่ถ้าพิจารณา จุดยืนของพรรค ประชาธิปัตย์ ได้แก่…
1.) ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่แก้ไขมาตรา 112
2.) ไม่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.)
3.) ไม่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อย
4.) พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีแนวทางอย่างไร ตามที่ ชัยชนะ เดชเดโช รักษาการรองเลขาธิการพรรคกล่าว

ถ้าดูเงื่อนไข 4 ข้อกับช่องทางที่เพื่อไทยเปิดไว้ ประชาธิปัตย์ ก็ไม่น่าจะติดตรงไหนในการเข้าร่วมรัฐบาล แต่สภาพความเป็นพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร อนาคตจะต่ำสิบตามคำสบประมาทหรือไม่ การเข้าร่วมรัฐบาล ได้นำนโยบายพรรคไปใช้แก้ปัญหาชาติ จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับฟื้นคืนชีพจากภาวะสลบไสลได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่แกนนำพรรคจะต้องคิดให้จงหนัก นำบทเรียนในอดีตมาถอด อย่างการนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่ได้ทำให้ประชาธิปัตย์ดีขึ้น นโยบายหลายข้อของประชาธิปัตย์ก็ได้นำไปใช้ เช่น ประกันรายได้เกษตรกร

ประชาธิปัตย์เคยมีคะแนนมากถึง 10 ล้านเสียง แต่พอเลือกตั้งปี 62 ลดลงเหลือ 3 ล้านกว่าเสียง ยิ่งหนักเข้าไปอีกเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ประชาธิปัตย์ได้คะแนนมาเพียง 9 แสนกว่าคะแนน ได้ สส.บัญชีรายชื่อแค่ 3 คน คือ ‘ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์’

ถ้านำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาลกับขั้วที่เคยเป็นคู่แข่ง คู่รักคู่แค้นกันมา น่าสนใจยิ่งว่า อนาคตประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร จะดีขึ้น หรือตกต่ำกว่าเดิม

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 6 สิงหาคม จะเป็นวันชี้ชะตาว่าอนาคตประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ คงต้องรอชม…

'ตระกูลฉายแสง' ไม่เห็นด้วย 'พท.' จับ 'รทสช.-พปชร.' 'อึดอัดใจ-นอนไม่หลับ' หาเสียงคนพื้นที่ไว้เยอะ

'ฐิติมา ฉายแสง' สส.ฉะเชิงเทรา เพื่อไทย ถึงกับ ‘อึดอัด-นอนไม่หลับ’ กับข่าวเพื่อไทยจะจับมือรวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาล ยืนยันไม่เห็นด้วย หาเสียงไว้เยอะ คนพื้นที่อึดอัด

มาถึงเวลานี้ก็ยังไม่ชัดว่า รัฐบาลของเพื่อไทยจะประกอบด้วยพรรคไหนบ้าง ไม่เห็นร่องรอยของการทาบทาม-เจรจา จะจับมือกับรวมไทยสร้างชาติ หรือพลังประชารัฐ ก็มีวาจามัดคออยู่ 'ไม่เอาลุง'

ถ้าไม่เอาพรรค 'ลุงพี่-ลุงน้อง' จะเอาเสียงที่ไหนมาสนับสนุนให้เพียงพอ และมั่นใจว่า สว.จะโหวตให้ด้วย เพราะคร่าวๆ ต้องใช้มือจาก สว.ไม่น้อยกว่า 110 เสียง

ฝ่ายที่กำลังฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลก็คงจะยุ่งยากลำบากใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เคยลั่นวาจาไว้ว่า ในนามหัวหน้าพรรค ถ้าร่วมกับพรรคลุง "ผมลาออก"

ดูท่าทีของสองพี่น้อง 'ตระกูลฉายแสง' ทั้ง 'จาตุรนต์ ฉายแสง' และ 'ฐิติมา ฉายแสง' ก็อึดอัด กระอักกระอ่วนใจกับการจะดึงพรรคลุงมาร่วมรัฐบาล

แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือดึงมาหมดเกือบทุกพรรคแล้ว 13-14 พรรค ก็จะได้แค่ 266-267 เสียงเท่านั้น ถ้าไม่เพิ่มพรรคลุงเข้ามา ต้องอาศัยเสียง สว.มากถึง 110 เสียง เป็นอย่างน้อย

ถามว่า เวลาของเพื่อไทยเกือบเดือน 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าคณะเจรจากับ สว.ได้คุยกับใครแล้วบ้าง ได้มาแล้วกี่เสียง ซึ่งจนถึงวินาทีนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ทั้งจาก 'สุริยะ' และจากน้ำเสียงของ สว.เองว่าจะโหวตให้

ที่ไม่ควรลืมคือ สว.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช.ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีกรรมการสรรหา ที่มีชื่อ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการสรรหา

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อเกิดขึ้นจากการชุมนุมขับไล่เครือข่ายทักษิณ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2543 ตั้งแต่ยุคทักษิณ ชินวัตร ยุคสมชาย วงศ์สวัสดิ์, สมัคร สุนทรเวช และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จึงถูกเฟ้นหามาจากคนที่ไม่เอาทักษิณ ไม่ชอบระบอบทักษิณ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเรื่องยากที่ สว.จะยกมือสนับสนุนคนของพรรคเพื่อไทยที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าพรรคของใคร และมีเป้าหมายคือ 'เอาทักษิณกลับบ้าน'

วันนี้ 'ทักษิณ' เลื่อนกลับบ้านอย่างไม่มีกำหนด หลังการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยยังไม่เรียบร้อย โดยอ้างว่า 'หมอนัดด่วน' จะนัดด่วนจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ยืนยันไม่กลับไทยตามกำหนดเดิม 10 สิงหาคม แต่เห็นเตร็ดเตร่อยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศข้างบ้านเรา ไปโผล่ร่วมงานวันเกิดนายกฯ ฮุนเซ็น ของกัมพูชา

ทางการไทยไม่มีขยับ หรือไม่รู้ว่าทักษิณเดินทางเข้าพนมเปญ ทำไมไม่แจ้งขอความร่วมมือกัมพูชา ส่งตัว 'ผู้ร้ายทักษิณ' กลับมารับโทษ เพราะไทย-กัมพูชา มีข้อตกลงเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันอยู่ และลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2541 แล้ว

ระวังนะสักวันหนึ่ง 'ทักษิณ' อาจจะเดินทางเข้าไทย ผ่านทาง 'ช่องทางหมาลอด' หรือช่องทางธรรมชาติ ก็เป็นได้ ที่บอกว่าจะกลับมาอย่างแมนๆ เท่ห์ ผ่านสนามบินดอนเมือง อาจจะไม่จริงก็ได้ เป็นแค่ละครตบตาเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น

มาถึงนาทีนี้บอกได้เลยว่า การจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยยากขึ้นทุกที ยังไม่เห็นวี่แววของความสำเร็จ มีอุปสรรคมากมาย...

- การรวมเสียง แม้จะได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่ผ่านด่าน 367 เสียงของรัฐสภา (สส./สว.)
- เพื่อไทยยังต้องการเสียงสนับสนุนจาก สส./สว.อีกอย่างน้อย 110 เสียง
- จะดึงพรรคลุงพี่-ลุงน้อง เข้าร่วมก็มีวาทะมัดคออยู่ แถมคนในเองก็ไม่เห็นด้วย

- การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วในพรรคเพื่อไทยเองก็ยังเห็นแย้ง ไม่มีความเป็นเอกภาพเช่นกัน
- จะย้อนกลับไปคืนดีกับก้าวไกล ก็มาไกลเกินไปแล้ว ไกลเกินกว่าจะกลับไปร่วมเรียงเคียงหมอนกันอีก
- ท่าทีของผู้ใหญ่บางคนในพรรคเพื่อไทย กับพรรคข้ามขั้ว ยังไม่ให้เกียรติ์กันพอ เช่น เขามาเอง เราไม่ได้เชิญ เป็นต้น

- กว่าจะถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คาดิเดตของเพื่อไทย 'เศรษฐา ทวีสิน' น่าจะถูกตีน่วมไปก่อน ซึ่งประเดิมด้วย 'ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์' ผิดถูกอย่างไรไม่รู้ แต่มัวหมองไปแล้ว เรื่องอื่นๆ ก็น่าจะพลั้งพรูออกมาเรื่อยๆ

บอกตามตรงว่า ถึงเวลานี้ยัง 'มืดมน' กับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย มืดมนพอๆ กับการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่เห็นแววว่าจะสำเร็จเมื่อไทย

จึงเริ่มมีคำถามในสื่อโซเชี่ยลว่า สามคำถาม อันไหนยากกว่ากัน อันไหนจะสำเร็จก่อน...
- จัดตั้งรัฐบาล
- ทักษิณกลับบ้าน
- เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

โดยส่วนตัว #นายหัวไทร ไม่เชียร์ใคร ไม่หยามใคร แต่อยากให้การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จลงโดยเร็ว เพราะยิ่งช้า ประเทศชาติ และประชาชนจะเสียประโยชน์ ใครมองเห็น มองไม่เห็นผมไม่ทราบ แต่ผมมองไม่เห็นว่า ถ้ามีรัฐบาลช้า 'หายนะ' รออยู่ โดยเฉพาะหายนะด้านเศรษฐกิจ

ผมไม่ถึงกับ 'อึดอัด-นอนไม่หลับ' แต่กลุ้มใจกับภาวะที่เป็นอยู่ และไม่สบายใจกับผลที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ตั้งรัฐบาล วางตัวรัฐมนตรี สีสันพูดคุยในวงกาแฟตอนเช้า คาด!! หน้าตาคล้ายเดิม เติม 'เพื่อไทย-นายกฯ คนใหม่'

สมมติว่า ตัวเลขพรรคร่วมรัฐบาลสรุปอยู่ที่ 315 เสียง รวมสองพรรคลุง พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติเข้าไปด้วย สูตรคำนวณโควตารัฐมนตรีก็จะเป็น 9:1 หมายถึง สส.9 คน จะได้รัฐมนตรี 1 คน ส่วนรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันจะได้นั่งกระทรวงเก่าหรือไม่อยู่ที่การเจรจาไม่กำหนดเงื่อนไข บางคนอาจจะได้นั่งกระทรวงเดิม บางคนอาจจะต้องสลับกระทรวง ตามความเหมาะสม และผลการเจรจา

แต่ต้องทำใจอย่างหนึ่งว่า หน้าตารัฐมนตรีอาจจะคล้าย ๆ รัฐบาลปัจจุบัน เปลี่ยนในส่วนของเพื่อไทยเข้ามาใหม่ และหัว…ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หากลองสรุปกันเล่น ๆ เพื่อขบคิด-ถกเถียงกันในวงกาแฟตอนเช้าเพื่อจะได้มีสีสันไว้คุยกันก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าภายในสองวันนี้เพื่อไทยจะนัดภูมิใจไทยเพื่อคุยแบ่งกระทรวง โดยสัดส่วนโควตา 9:1 เพื่อไทยจะได้ 15-16 เก้าอี้ ส่วนภูมิใจไทย จะได้ 8 เก้าอี้ พลังประชารัฐ จะได้ 4-5, รวมไทยสร้างชาติได้ 4, ประชาชาติได้ 1 เก้าอี้

- เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
- อนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีสาธารณสุข
- พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา
- ภูมิธรรม เวชชยชัย รัฐมนตรีมหาดไทย
- ทวี สอดส่อง รัฐมนตรียุติธรรม
- อาทิตย์ นันทวิทยา รัฐมนตรีคลัง (คนนอก)
- ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีคมนาคม
- ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีศึกษา
- สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์
- จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีพลังงาน
- ปานปรีย์ มหิทธานุกร รัฐมนตรีต่างประเทศ
- วราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติ
- ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีดีอีเอส
- ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ว่าการพัฒนาสังคม ก็ว่าการแรงงาน
- พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนกลาโหม, วัฒนธรรม, อุดมศึกษา, อุตสาหกรรม พาณิชย์ น่าจะเป็นโควตาของเพื่อไทย ขณะที่ แรงงาน น่าจะเป็นโควตาของรวมไทยสร้างชาติ

จับตาในวงเจรจา เพราะยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย และยังมีคนว่างไม่ได้ลงตำแหน่ง เช่น สันติ พร้อมพัฒน์, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สุชาติ ชมกลิ่น, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, สุทิน คลังแสง เป็นต้น และภายในพรรคเดียวกัน เมื่อได้โควตากระทรวงแล้ว อาจจะสลับคนเข้ามานั่งก็เป็นเรื่องภายในของพรรค ในวงเจรจาคงไม่ลงรายละเอียดตัวบุคคล

ล้วงลึกโควตารัฐมนตรีรัฐบาลใหม่ พลิกโผ เปลี่ยนมือ พอสมควร

คณะเจรจาในการจัดตั้งรัฐบาลมีความคืบหน้าไปมาก ตกลงที่ 314 เสียง 11 พรรคการเมือง ประกอบด้วย เพื่อไทย 141 เสียง ภูมิใจไทย 71 เสียง พลังประชารัฐ 40 เสียง รวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง ประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง ที่เหลือเป็นพรรค 1 เสียง

คณะเจรจาจัดตั้งรัฐบาลเริ่มลงลึกในรายละเอียด โควตารัฐมนตรีที่แต่ละพรรคจะได้ รวมถึงกระทรวงไหนเป็นของพรรคไหน ซึ่งอาจจะมีพลิกโผไปจากเดิมไม่น้อย เช่น...

กระทรวงกลาโหม ตกเป็นของพลังประชารัฐ โดยเพื่อไทยเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นของเพื่อไทย กระทรวงอุดมศึกษา เป็นของเพื่อไทย

ที่พลิกไปมาก คือกระทรวงเกษตรฯ ที่เดิมต่างคิดว่าเป็นโควตาเพื่อไทย แต่กลับเป็นของภูมิใจไทย โดยมีพลังประชารัฐ และเพื่อไทย เป็นรัฐมนตรีช่วยฯ

เช่นเดียวกับกระทรวงคมนาคม กลับเป็นของเพื่อไทย มีภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีช่วยฯ เข้าใจว่ามีการเจรจาแลกเปลี่ยนกระทรวงกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับกระทรวงคมนาคม

และมีการเจรจาแลกเปลี่ยนระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงพาณิชย์ด้วย โดยภูมิใจไทย ได้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และเพื่อไทยบริหารกระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงพลังงานเดิมเป็นโควตาของเพื่อไทย แต่การเจรจาล่าสุดกลับเป็นของรวมไทยสร้างชาติ แต่ที่ยังเหนียวแน่น คือกระทรวงมหาดไทย ที่เพื่อไทยยังไม่ปล่อย และไม่ควรปล่อย แต่น่าแปลกใจมีพรรคเสรีรวมไทย และพรรคเล็ก ได้ช่วยมหาดไทย 1 ตำแหน่งด้วย

ส่วนรายละเอียดตามเอกสารแนบในคอมเมนต์นะครับ 

'ชุมพล กาญจนะ' ฝ่าดง ปชป.หอบหิ้ว 6 สส.เข้า รทสช. ผลงานเด่น!! ควรได้รัฐมนตรีเป็นรางวัลตอบแทนหรือไม่

เมื่อรวมไทยสร้างชาติร่วมรัฐบาล 'ชุมพล กาญจนะ' ควรเป็นรัฐมนตรี เพราะเขาจับมือกับ 'กำนันศักดิ์-พงศ์ศักดิ์ จ่าแก้ว' นายกฯ อบจ.สุราษฎร์ หอบหิ้ว สส.เข้ามาได้ถึง 6 คน จาก 7 คน ในสุราษฎร์ธานีหรือไม่?

ต้องยอมรับความจริงว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นสนามหิน สังเกตจากเลือกตั้งครั้งก่อน ประชาธิปัตย์ชนะยกจังหวัด 6 ที่นั่ง และมี 'สินิตย์ เลิศไกร' นั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์

เลือกตั้งปี 66 พรรครวมไทยสร้างชาติก่อเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินหน้าต่อทางการเมือง โดย 'ชุมพล กาญจนะ' เดินออกจากประชาธิปัตย์ เข้าร่วมภารกิจกับรวมไทยสร้างชาติ ปลุกปั่นทีมสุราษฎร์ธานี จนเดินฝ่าดงประชาธิปัตย์มาได้ถึง 6 คน ซึ่งก็ถือว่าไม่ธรรมดา ถึงแม้จะอ้างว่าประชาธิปัตย์ขาลงก็ตาม แต่มีภูมิใจไทย ตามจี้ก้นอยู่เหมือนกัน จนภูมิใจไทยมาแย่งไปได้ 1 ที่นั่ง

เมื่อชุมพลหอบหิ้วชัยชนะมาให้รวมไทยสร้างชาติได้สวยงามขนาดนี้ จังหวัดเดียวได้มา 6 ที่นั่งจากที่รวมไทยสร้างชาติทั่วประเทศได้มา 36 ที่นั่ง รางวัลแห่งความสำเร็จควรจะยกให้ 'ชุมพล กาญจนะ' หรือไม่?

ชุมพล กาญจนะ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาโชกโชน ถือเป็นเบอร์ต้นๆ ของสุราษฎร์ธานี ไม่เสียหายอะไรหรอกถ้าเขาจะได้รับกับค่าเหนื่อย

แต่โควตานี้ ถ้าเป็นไปตามโผ ได้ตกเป็นของ 'วิทยา แก้วภารดัย' กับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นตำแหน่งที่วิทยาไม่ควรรับ เพราะเคยนั่งว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว

เหมือนคนที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี คุณค่ามันด้อยลงไป เหมือนสมัยหนึ่งที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี แล้วมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในเวลาถัดมา

แม้บางคนอาจจะแย้งว่าไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับผมถือว่า 'แปลก' และในทางการเมืองก็วิจารณ์กันได้ และวิทยาควรจะไปเอาโควตาภาคอีสาน เพราะช่วงเลือกตั้งวิทยาเป็นคนที่พรรคมอบหมายให้ดูแลภาคอีสาน

อย่างไรก็ตาม ชุมพลช่วงออกจากประชาธิปัตย์ ก็ถูกถล่มเรื่องเงิน 200 ล้าน ซึ่งข้อเท็จจริงประการใดไม่มีใครทราบ แต่ชุมพลก็ออกมาปฏิเสธเรื่องเงิน 200 ล้าน

เอาเป็นว่า ยังเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ และทางการเมืองก็กล่าวหากันได้ แต่ยังไงซะ วันนี้ชุมพลได้หอบหิ้วความสำเร็จให้รวมไทยสร้างชาติ ในสนามสุราษฎร์ธานีแล้ว เพื่อความเป็นธรรมเขาจึงควรได้รับรางวัลสมน้ำสมเนื้อ เมื่อพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมรัฐบาล จะเป็นรัฐมนตรีว่าการ หรือช่วยว่าการก็ไม่ว่ากัน

เพียงแต่ว่า แกนนำรวมไทยสร้างชาติ 2 คนของสุราษฎร์ธานี คือ 'ชุมพล' กับ 'กำนันศักดิ์' ไม่ลงรอยกัน เดินคนละทางกันเท่านั้นเอง โดยกำนันศักดิ์จะแพคกันกับกลุ่มลูกหมี (ชุมพร) และนายกฯ วิสุทธิ์ พัทลุง ส่วนชุมพลก็เป็นสายวิทยา

เมื่อสุราษฎร์ธานีไม่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ชุมพลมีอยู่ 3...กำนันศักดิ์มีอยู่ 3...การแยกจากกันจึงไม่มีพลังอำนาจในการต่อรอง จึงอาจจะพลาดเก้าอี้รัฐมนตรี

จริงไหม 'พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค' หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

เมื่อพายุแห่งความขัดแย้งโหมกระหน่ำ ‘ประชาธิปัตย์’ ‘นายกฯ ชาย’ หรือ ‘นายกฯ ชวน’ ใครจะอยู่ ใครจะไป?

(25 ส.ค. 66) ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ แปลความได้ว่า “วาจาจริง เป็นสิ่งไม่ตาย” เป็นคำที่ ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ สส.สงขลา เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ยกขึ้นมากล่าวอ้างกับสถานการณ์ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้

สรรเพชญ เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เลือดใหม่ของประชาธิปัตย์ ที่ได้รับเลือกเป็น สส.สมัยแรกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา สรรเพชญ เป็นทายาททางการเมืองของ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เลือดใหม่อย่าง ‘สรรเพชญ’ ถือว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” และน่าจะมีพ่อเป็นเทรนเนอร์ที่ดี

3 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นบทบาทของสรรเพชญ ‘ทำหน้าที่ที่ได้รับที’ ในสภาฯ ได้เห็นการอภิปรายสะท้อนปัญหา ปรึกษาหารือในหลายประเด็น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากสี่แยกเกาะยอ การตั้งคำถามเรื่องการก่อสร้างอาคารหอยสังข์ที่คาราคาซังมาเป็นสิบปี

ในพื้นที่ก็เกาะติดมาตลอด 3 เดือน เสร็จภารกิจในสภาฯ ก็เดินหน้างานในพื้นที่ ประเดิมด้วยการเดินสายเจอกงสุลของแต่ละประเทศ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน กล่าวได้ว่า เลือดใหม่ประชาธิปัตย์ ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ คือ ‘ดาวฤกษ์’ คนหนึ่งที่น่าติดตามผลงาน

ส่วน ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ หรือ ‘วาจาจริง เป็นสิ่งไม่ตาย’ เป็น ‘พุทธสุภาษิต’ ที่ติดอยู่กับโลโก้ประชาธิปัตย์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค ตั้งแต่ยุค ‘ควง อภัยวงศ์’ ผู้ก่อตั้งพรรค และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก และถือเป็นพุทธสุภาษิตที่ชาวประชาธิปัตย์ยึดถือปฏิบัติมายาวนาน

การที่สรรเพชญ ยก ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ ขึ้นมากล่าวอ้าง ในเวลานี้เหมือนต้องการจะสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ มีใครบางคน บางกลุ่มก้อนไม่รักษา ‘สัจจัง เว อมตะวาจา’ กลับไปกลับมา

สถานการณ์ในประชาธิปัตย์ขัดแย้งชัดเจน ระหว่างขั้วของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รักษาการเลขาธิการ ที่ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว หลังนำพาพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยมี ‘นายกฯ ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ และ ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ เป็นแนวร่วมขับเคลื่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่โหวตเห็นชอบให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มนี้จะมี สส.อยู่ในมือ 16 คน ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘กลุ่ม 16’

กลุ่มของชวน หลีกภัย เป็นกลุ่มที่ไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย มี ‘บัญญัติ บรรทัดฐาน-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-นิพนธ์ บุญญามณี’ เป็นแนวร่วม โดย ชวน-บัญญัติ โหวตไม่เห็นชอบ จุรินทร์โหวตงดออกเสียง และมีสรรเพชญ ที่งดออกเสียงด้วย

กลุ่มของเฉลิมชัยมีความพยายามสูงยิ่งในการขอเข้าร่วมรัฐบาล แต่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เทียบเชิญ กลุ่มของเฉลิมชัยถึงขั้นส่งตัวแทนไปพบ ‘ทักษิณ’ ถึงฮ่องกง แต่ได้รับการปฏิเสธ แม้กระทั่งนาทีสุดท้ายก่อนโหวตเพียงไม่กี่นาที ยังมีการพูดคุย-ต่อรอง กลุ่มจะโหวตให้ ไม่ได้ร่วมรัฐบาลก็ไม่เป็นไร แต่จะเป็นอะไหล่ให้ เผื่อพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคงอแง สุดท้ายกลุ่ม 16 ก็พากันโหวตเห็นชอบให้เศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีในนาทีสุดท้ายของการโหวต

ส่วนกลุ่มของชวน หลีกภัย ไม่ประสงค์จะนำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล แต่ต้องการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มข้น เป็นฝ่ายค้านที่มีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลอย่างจริงจัง พร้อมสนับสนุน ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค รับบทบาทหนักในการฟื้นฟูพรรคอย่างทุ่มเท ซึ่งถ้าหันซ้ายมองขวาก็ยังหาใครเหนือกว่าอภิสิทธิ์ไม่มี แต่กลุ่มเฉลิมชัยก็เฟ้นหาคนลงแข่ง ก็ไปคว้า ‘นราพัฒน์ แก้วทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ มาลงแข่ง หลังจากเข็น ‘ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ไม่ขึ้น

ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ก่อตัวขึ้นในการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แทน ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ ที่รับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง จึงลาออกไป เมื่อสองขั้วเชียร์คนละคนกัน และเป้าหมายต่างกันชัดเจน

เกมล้มประชุมถูกกำหนดขึ้น เมื่อมีการประเมินว่าฝ่ายของตัวเองยังไม่มีโอกาสชนะ จากการคุมเสียงของโหวตเตอร์ยังไม่พอ จากจุดอ่อนของข้อบังคับพรรคที่ให้น้ำหนักกับ สส.ปัจจุบันถึง 70% ส่วนโหวตเตอร์อื่นๆ มีน้ำหนักเพียง 30% ในขณะที่กลุ่มของเฉลิมชัย กุมเสียง สส.อยู่มากกว่า 16 คน แต่กลุ่มของนายชวนจะกุมเสียงสาขา ตัวแทนจังหวัด และอื่นๆ ซึ่งมีน้ำหนักแค่ 30% โหวตอย่างไรกลุ่มของนายชวนก็แพ้

การประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ล้มลงแล้วถึงสองครั้ง ซึ่งในการจัดประชุมแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท สองครั้งก็ 6 ล้านบาทเข้าไปแล้ว

ปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์มาแตกหักเมื่อมีการประชุม สส.เพื่อกำหนดท่าทีในการโหวต มีแค่ 3 แนวทางคือ ‘เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง’ แต่เมื่อพรรควางตัวเป็นฝ่ายค้าน ‘เห็นชอบ’ จึงถูกยกไป มีการแลกเปลี่ยนกันว่าจะไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ‘งดออกเสียง’ แต่ ‘ชวน-บัญญัติ’ ขออนุญาตต่อที่ประชุมว่าจะขอโหวต ‘ไม่เห็นชอบ’

รองโฆษกพรรคแถลงข่าวชัดเจนว่า มติเสียงส่วนใหญ่ให้งดออกเสียง ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ ก็โพสต์ในเฟซบุ๊กในเวลาต่อมาว่า พรรคมีมติให้งดออกเสียง แต่เมื่อถึงเวลาโหวต มี สส.16 คน ยกมือเห็นชอบ 6 คน งดออเสียง และ 2 คน ไม่เห็นชอบ

เดชอิศม์ ขาวทอง นำทีม 16 สส.แถลงข่าวในวันต่อมา เหมือนกับว่าพรรคไม่ได้มีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อใกล้เวลาโหวต สส.ในกลุ่มก็มานั่งคุยกัน และเห็นร่วมกันว่าจะยกมือเห็นชอบ โดยไม่หวั่นเกรงต่อการถูกขับออกจากพรรค ถ้าถูกตั้งกรรมการสอบ เดชอิศม์ไม่หวั่นเกรง เพราะมีเสียง สส.อยู่ในมือจำนวนมาก กับเสียงที่ต้องใช้ในการขับสมาชิกออกจากพรรค 3/4 น่าจะเพียงพอ แถมตั้งเป็นปุจฉาไว้ด้วยว่า “ไม่รู้ว่าใครจะขับใคร”

“ไม่รู้ว่าใครจะขับใคร” เป็นหอกที่แหลมคมพุ่งไปยัง ‘ชวน หลีกภัย’ ตรงๆ เลย เพราะชวนเป็นคนออกมาตอกย้ำว่า นายกฯ ชายเป็นคนพูดเองว่า “ใครไม่ปฏิบัติตามมติพรรค ก็ต้องลาออกไป”

ถึงเวลานี้ไม่รู้ว่า กลุ่มนายกฯ ชาย หรือกลุ่มนายกฯ ชวนต้องลาออกไป แต่ที่สำคัญสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ‘สัจจัง เว อมตวาจา : วาจาจริง เป็นสิ่งไม่ตาย’

‘สมยศ พลายด้วง’ 1 ใน 6 ‘งดออกเสียง’ เลือกเศรษฐานั่งนายกฯ ชาวสงขลาแห่ชื่นชม ‘อุดมการณ์มั่นคง-ยึดถือมติพรรคเป็นหลัก’

‘สมยศ พลายด้วง’ สส.สงขลา เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ เป็น 1 ใน 6 ที่โหวต ‘งดออกเสียง’ ตามมติพรรคในการรับรอง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกรัฐมนตรี 

หากไล่เรียงดูการลงมติของ สส.พรรคประชาธิปัตย์นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 

ลงคะแนน ‘ไม่เห็นชอบ’

1.นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ
2.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ

ลงคะแนน ‘งดออกเสียง’ ตามมติพรรค

1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ 
2.นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา 
3.นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์
4.นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง
5.นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สส.ตรัง 
6.นายสมยศ พลายด้วง สส.สงขลา  

สำหรับ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงมติเห็นชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี รวม 16 คน ประกอบด้วย

1.นายกาญจน์ ตั้งปอง
2.นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์
3.นายชัยชนะ เดชเดโช
4.นายชาตรี หล้าพรหม

5.นายเดชอิศม์ ขาวทอง
6.นายทรงศักดิ์ มุสิกอง
7.นายพิทักษ์เดช เดชเดโช
8.ว่าที่ร้อยโทยุทธการ รัตนมาศ
9.นายยูนัยดี วาบา
10.นายวุฒิพงษ์ นามบุตร

11.นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง
12.นายสมบัติ ยะสินธุ์
13.นางสุพัชรี ธรรมเพชร
14.นางสาวสุภาพร กำเนิดผล
15.พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่
16.นางอวยพรศรี เชาวลิต

และล่าสุด นายสมยศ พลายด้วง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “กระผมสมยศ พลายด้วง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ‘งดออกเสียง’

ผมยึดมั่นมติพรรคเป็นหลักครับ ผมเชื่อมั่นและเคารพในอุดมการณ์ของพรรคอย่างแน่วแน่ในการโหวตครั้งนี้ ไม่ว่าคนในพรรคจะโหวตอะไร แต่ตัวผมเองยังยึดถือในการประชุมพรรคที่ผ่านมา เพราะนี้เป็นการเมืองระดับประเทศ พี่น้องชาวเขต 3 และประชาชนทั่วประเทศเขาเห็นด้วย”

เมื่อเข้าไปตรวจเช็กการแสดงความคิดเห็นพบว่า มีคนชาวสงขลาเข้าไปแสดงความคิดเห็นเชิงชื่นชมอยู่ไม่น้อย #นายหัวไทร ก็ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ว่า ไลน์ของสมยศ พลายด้วง ก็มีคนชาวสงขลาส่งข้อความไปชื่นชมเป็นจำนวนมาก แต่มีเพื่อน สส.บางคนโทรศัพท์ไปขอให้ลบข้อความ และรูปภาพออกได้หรือไม่ แต่เจ้าตัวยันยืนยันในสิ่งที่ทำและเขียนไป

'นครศรีฯ' วิกฤติ!! หลังไฟไหม้ 'ป่าพรุควนเคร็ง' ยังลุกลามอยู่ 'กินวงกว้าง-ไหม้มา 2 สัปดาห์' นายกฯ ยันผู้ว่าฯ ไม่ผ่านมาสักคน

นำเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มาแล้วสองอาทิตย์ ยังไม่สามารถควบคุมได้ ไฟป่ายังลุกโชนอยู่ และลุกลามกินวงกว้างออกไปเรื่อย เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าทำงานกันอย่างหนัก เมื่อคืนก็ทำงานกันทั้งคืน

ไม่เห็นความตื่นตัวของผู้หลักผู้ใหญ่เข้าไปสั่งการ ดูแล เห็นมีเพียง 'นริศ ขำนุรักษ์' รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยที่ลงไปดูแลมาครั้งหนึ่ง นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่เห็นหน้าเห็นตา หรือทำงานรอเกษียณอย่างเดียว 

ปีนี้แม้จะมีฝนตกลงมาบ่อยในภาคใต้ แต่เป็นการตกแบบแป๊บๆ ยังไม่มีน้ำเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงป่าพรุ เมื่อเกิดไฟไหม้จะเกิดจากอะไรก็ตาม จึงอยู่ในภาวะที่ควบคุมยาก เพราะสภาพความแห้งแล้ง

รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ ทราบแล้วขยับตัวด้วย อย่ามัวแต่ต่อรอตำแหน่งรัฐมนตรีกับรัฐบาลใหม่จนลืมภารกิจหลัก หรือว่ารอขยับก้นไปกระทรวงพาณิชย์ จึงไม่สนใจภารกิจที่เคยพล่ำบ่นว่า “รักสิ่งแวดล้อม”

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เหมือนกัน ตอนหาเสียงลงไปนครศรีธรรมราช 2-3 รอบ พล่ำบนรักคนใต้ รักคนนครฯ แต่ตอนนี้ไฟไหม้ป่าพรุเงียบกริบ หรือคิดว่าส่งมอบภารกิจให้เศรษฐา ทวีสิน ไปแล้ว

ข้อเท็จจริง แม้ เศรษฐา จะได้รับโหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และโปรดเกล้าลงมาแล้ว แต่ยังทำหน้าที่ไม่ได้ เนื่องจากยังต้องรอเข้าไปถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง ภารกิจจึงยังอยู่ที่ 'ลุงตู่-ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นะจ๊ะ

เวลานี้ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ทำงานกันไป ฝ่ายนโยบายไม่มีใครสนใจ ไม่รู้ว่ามีกำลังพลเพียงพอไหม อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือพอหรือเปล่า อย่าปล่อยให้เขาทำงานเพียงลำพัง โดดเดี่ยวเลยครับ ผู้ว่าราชการจังหวัดคนพื้นที่ ใกล้ที่เกิดเหตุพลิกตัวบ้างก็จะดีครับ

ป่าพรุควนเคร็ง เป็นป่าพรุเสม็ดขาวเกือบจะเป็นแหล่งสุดท้ายของประเทศไทยแล้ว จะมีอยู่ก็ที่ป่าพรุโต๊ะแดง นราธิวาส รัฐบาลควรจะสำนักอนุรักษ์ป่าพรุควนเคร็งเอาไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลาน

ป่าพรุควนเคร็งนอกจากจะเป็นพรุเสม็ดขาวแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมของสัตว์ปีก สัตว์เลื่อยคลาย นก ปลา นานาชนิด เป็นแหล่งอาหารของคนนครศรีธรรมราช รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้มีสภาพเป็นเช่นปัจจุบัน ขาดการเอาใจใส่ดูแลจริงจัง ไฟไหม้เกือบทุกปี โดยไม่มีวิธีในการป้องกัน แค่ทำแนวกันไฟคงจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องแล้ว ต้องสุมหัวกันคิดใหม่ว่าจะป้องกันอย่างไร แลคิดหาวิธีฟื้นระบบนิเวศของป่าพรุขึ้นมาใหม่

ผมเอง #นายหัวไทร ในฐานะคนนครศรีธรรมราช คนป่าพรุมาก่อน ก็ไม่ใช่แค่ตำหนิคนอื่น ไม่ทำอะไร นำเรียนว่า ผมและทีมงานทำโครงการลำพันคืนถิ่น จัดหาและปล่อยปลาดุกลำพันคืนป่าพรุมาแล้ว 6 ครั้ง เพื่อให้ป่าพรุเป็นคลังอาหารของคนนครศรีธรรมราช และกำลังจัดหาทุนปล่อยปลาดุกลำพันคืนป่าพรุควนเคร็งครั้งที่ 7 ต่อไป

อีกโครงการที่จะทำเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าพรุควนเคร็ง คือการจัดทำโครงการปลูกจาก 'โครงการหิ้วชั้น แบกจอบ ไปปลูกจาก' ปีที่แล้วปลูกไป 4500 ต้น ปีนี้เรากำลังจัดหาทุน 'หิ้วชั้น แบกจอบ ไปปลูกจาก ปี 2' ประมาณการว่าจะปลูกวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ มีงบประมาณตั้งต้นจากมูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ แล้ว 30,000 บาท แต่ต้องใช้งบ 100,000 บาท ใครมีจิตศรัทธา จิตเป็นกุศลก็ร่วมบุญกันได้ครับ จะปลูกไล่เลี่ยกับช่วงปล่อยปลาดุกลำพันนะครับ

แต่เบื้องต้นนี้ทุกองคาพยพควรจะช่วยกัน ร่วมแรงร่วมใจดับไฟป่าพรุควนเคร็งก่อน เวลานี้หมอกควันจากไฟไหม้ป่า เริ่มกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านแล้ว และกระทบไปถึงตำบลแหลม อ.หัวไทร แล้ว

‘เสธฯ หนั่น’ ผู้สร้างตำนาน ‘งูเห่า’ ในแวดวงการเมืองไทย ต้นฉบับการข้ามขั้วครั้งใหญ่ เจ้าของนิยาม “เลี้ยงไม่เชื่อง”

(27 ส.ค. 66) ‘พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์’ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ คือผู้สร้างตำนาน ‘งูเห่า’ ขึ้นในวงการการเมืองไทยด้วยการดึง 13 สส.จากพรรคประชากรไทย ของ ‘นายสมัคร สุนทรเวช’ หัวหน้าพรรคประชากรไทย พลิกข้ามขั้วมาสนับสนุน ‘นายชวน หลีกภัย’ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัย 2

13 สส.พรรคประชากรไทย จากทั้งหมด 18 คน ที่พลิกขั้วมาสนับสนุนนายชวน ประกอบด้วย นายวัฒนา อัศวเหม, นายพูนผล อัศวเหม, นายสมพร อัศวเหม, นายมั่น พัธโนทัย, พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์, นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ, นายไกรสิทธิ์ ไกรสิทธิพงศ์, นายประกอบ สังข์โต, นายสำเร็จ อัจฉริยะประสิทธิ์, นายฉลอง เรี่ยวแรง, นายสุชาติ บรรดาศักดิ์, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย และนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์

การถูกหักหลังในครั้งนั้น นายสมัครเปรียบเทียบว่า “เหมือนชาวนากับงูเห่า” เพราะก่อนการเลือกตั้ง นายวัฒนาตกเป็นข่าวมีชื่อในแบล็กลิสต์ ผู้พัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดของทางการสหรัฐอเมริกา จนไม่มีพรรคไหนยอมให้เข้าร่วม เว้นแต่พรรคประชากรไทยของนายสมัคร แต่แล้ว เมื่อนายสมัครยืนยันจะยืนอยู่ฝ่ายรัฐบาลเดิม กลับมีลูกพรรคแหกมติไปลงคะแนนให้อีกฝ่าย ทิ้งให้หัวหน้าพรรคกลายเป็นฝ่ายค้าน ส่วนพวกตนเองสลับขั้วไปร่วมรัฐบาล “เลี้ยงไม่เชื่อง-ทรยศ-หักหลัง” คือนิยามง่ายๆ ของคำว่า “งูเห่า”

ย้อนกลับไปดูการเมืองในช่วงนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น และทำไมต้องมีงูเห่า

ปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติค่าเงินบาทในสมัยรัฐบาล ‘พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ’ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี ค่าเงินบาทถูกโจมตีหนัก รัฐบาลโดยแบงก์ชาติก็นำเงินคงคลังออกมาสู้อย่างหนัก แต่ก็ไม่อาจต้านทานได้ พล.อ.ชวลิต ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท บางคนอาจจะบอกว่า “ลดค่าเงินบาท”

พล.อ.ชวลิต สุดจะต้านทานกระแส ประกาศลาออกเมื่อ 6 พ.ย. 2540 จึงเกิดการพยายามรวมเสียงเพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่

ฝ่ายรัฐบาลเดิมยังคงได้เปรียบ พรรคความหวังใหม่ และอีก 5 พรรคร่วมรัฐบาล ลงสัตยาบันประกาศชู ‘พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ’ อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ขณะที่ฝ่ายค้านพยายามรวมเสียงเพื่อชู นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาท้าชิง

เสียงฝั่งรัฐบาลที่ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคประชากรไทย, พรรคเสรีธรรม และพรรคมวลชน 221 เสียง เหนือกว่า พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทย, พรรคเอกภาพ, พรรคไท และพรรคพลังธรรม ที่ได้ 172 เสียง

แต่พรรคเสรีธรรมและพรรคกิจสังคมเปลี่ยนขั้ว (4+20) ทำให้ช่องว่างกลับมาเฉือนกันแค่คะแนนเดียว อยู่ที่ 197 – 196 แม้เสียงจะปริ่มน้ำสุดๆ แต่มันสมองอันแหลมคมของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็มองเห็นประเด็นนี้ออก จึงแก้เกมโดยขอแค่แยกสมาชิกพรรคใดมาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาทั้งพรรค เกมจะเปลี่ยนทันที

พรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีอยู่ 18 คน กลายเป็นเป้าหมายของ ‘เสธฯ หนั่น’ เจรจาดึงออกได้ถึง 13 คน แต่ตอนหลัง ‘นายชัยวัฒน์ ศิริภักดิ์’ ได้ลาออกจาก สส.ไป เกมพลิกทันที ทำให้ขั้วอำนาจฝ่ายสนับสนุนนายชวน รวมเสียงได้ 208 – 185

ผลจากการเปลี่ยนขั้วของ สส. 12 คน ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรีของนายชวน ถึง 4 คน คือ นายวัฒนา อัศวเหม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายประกอบ สังข์โต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

หลังจาก เรื่องราวของงูเห่าก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ แต่ที่ยกเรื่องตำนานงูเห่าขึ้นมาเล่า เพียงแต่จะบอกว่า งูเห่าเกิดขึ้นครั้งแรกเป็น สส.ข้างมากของพรรคประชากรไทย 13 คน ไม่ใช่เสียงข้างน้อย หรือจำนวนน้อยถึงจะเรียกว่า “งูเห่า” ซึ่งไม่เป็นความจริง

ล้มหล่น ‘ประชาธิปัตย์’ อาจได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน แต่ความขัดแย้งในพรรค ส่อทำให้ชวดโอกาสทอง 

‘ก้าวไกล’ ยืนยันว่า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ไม่รับตำแหน่ง ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ และ ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ ก็จะอยู่ต่อ ไม่ยอมลาออก โดยขั้นตอนคือ ก้าวไกลจะต้องทำเรื่องแจ้งเพื่อสละสิทธิ์ให้กับพรรคฝ่ายค้านลำดับรองลงมา

พรรคลำดับรองลงมา คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีอยู่ 25 เสียง แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังมีปัญหาเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เวลานี้มี ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รักษาการหัวหน้าพรรค ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า จะเลือกหัวหน้าพรรคได้เมื่อไหร่ ซึ่งไม่น่าจะทูลเกล้าชื่อของรักษาการหัวหน้าพรรค เผื่อมีการเลือกหัวหน้าพรรคตัวจริงเร็วๆ นี้ เรื่องก็จะยุ่งยากไปอีก

ส่วนถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่รับ หรือติดขัดปัญหาทางเทคนิค ก็จะหลุดไปถึงพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งพรรคไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ลาออกจากหัวหน้าพรรคเช่นกัน มีแต่รักษาการหัวหน้าพรรค ยังไม่มีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

ตามรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมี ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ในการปฏิบัติหน้าที่สำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ อาทิ สรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สรรหากรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งคณะกรรมการจริยธรรมของสภา และอีกหลายอย่าง

โดยหลักการเมื่อพรรคก้าวไกลปฏิเสธตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ตำแหน่งนี้ก็จะตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ทันที ซึ่งประชาธิปัตย์ก็ต้องไปแก้ไขปัญหาของตัวเอง ด้วยการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคให้แล้วเสร็จ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อยังมีปัญหาความแตกแยก-ขัดแย้ง เป็นสองขั้วชัดเจน และยังมีปัญหา สส.ของพรรคลงมติในสภาฯ ขัดมติพรรคอีก และมีสมาชิกยื่นให้ตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อลงโทษ สส.กลุ่ม 16 ออกจากพรรค ฐานทำให้พรรคเสียหาย เสื่อมเสียศรัทธาต่อประชาชน

แต่จนถึงขณะนี้ พรรคยังไม่มีมติว่าจะตั้งกรรมการสอบสวนหรือไม่ การเลือกหัวหน้าพรรคจึงยังคาราคาซังต่อไป ต้องดูการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ในวันอังคารว่าจะออกมาอย่างไร

1.) จะตั้งกรรมการสอบ สส.ที่โหวตสวนมติพรรคหรือไม่
2.) จะกำหนดวันเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคใหม่หรือไม่

การไม่ลงตัวของประชาธิปัตย์ อาจจะทำให้ชวดโอกาสในการเป็นผู้นำฝ่ายค้านไปด้วย ทั้งๆ ที่โอกาสมาถึงแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top