อนาคต ‘บิ๊กโจ๊ก’ บนถนนสายขรุขระ สู่ตำแหน่ง ‘ผบ.ตร.’ เมื่อระบบคุณธรรมถูกทำลาย หลักอาวุโสถูกมองข้าม

เหลืออีก 7 เดือน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล จะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นั่นก็แปลความได้ว่า เดือนสิงหาคม กันยายน จะเป็นเดือนเดือดสำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงการสรรหาบุคคลมานั่งเป็น ผบ.ตร.คนใหม่ 

ถ้ายึดตามหลักอาวุโส ความรู้ความสามารถ แน่นอนว่า ‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ผู้มีอาวุโสสูงสุดในบรรดา พล.ต.อ.ทั้งหมด จะต้องได้ก้าวขึ้นไปเป็น ผบ.ตร.

แต่ด้วยตำแหน่ง ผบ.ตร.ยึดโยงกับฝ่ายการเมืองอยู่ด้วย จึงไม่มีอะไรการันตีว่า ‘บิ๊กโจ๊ก’ จะได้ขึ้นไปนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. 100% คงจำกันได้ว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ก็ใช่ว่าจะอาวุโสสูงสุด แต่ฝ่ายการเมืองเลือกเขาให้มานั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. 

“มันขึ้นอยู่กับความพอใจของฝ่ายการเมือง ไม่ต้องคิดถึงระบบคุณธรรมอะไรหรอก” ผู้คร่ำหวอดในวงการตำรวจกล่าว

ในวัย 52 ปี ถ้าไม่มีความรู้ความสามารถจริง จะได้มีโอกาสก้าวขึ้นครองยศ พล.ต.อ.เหรอ? แม้จะใกล้ชิดสนิทสนมกับฝ่ายอำนาจก็ตาม แต่ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ขึ้นครองยศ พล.ต.อ. ตั้งแต่อายุ 50 ต้น ๆ จึงยังเหลืออายุราชการอีกมากถึง 7 ปี

บนถนนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีแต่ถนนขรุขระ และเต็มไปด้วยดงหนาม มีปัญหาแม้กระทั่งกับอดีต ผบ.ตร. จนต้องโดนเด้งเข้ากรุมาแล้ว แต่ด้วยสายแข็งยังได้กลับมาใส่ชุดสีกากีอีกครั้ง ดงหนามหนึ่ง คือ การก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่จนมีผลงานพุ่งแรงเจิดจรัส แต่เมื่อเกษียณในปี 2574 หากได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร.ตั้งแต่กันยายนนี้ ย่อมมีเวลาในตำแหน่งอีกนานโขถึง 7 ปี

‘บิ๊กโจ๊ก’ จึงเต็มไปด้วยกับดักขวากหนามยิ่งหนาแน่น สกัดไม่ให้เป็น ผบ.ตร. หรือมีเป้าประสงค์ขัดขวางเพื่อลดทอนเวลาอยู่ในตำแหน่งให้เหลือน้อย หากร้ายแรงอาจเล่นหนักถึงขั้นไม่ให้เป็น ผบ.ตร.กันเลย

ภารกิจสกัด พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เริ่มถูกออกแบบขย่มมาตั้งแต่ต้นปี 2567 แล้วรุมขยี้หนักมือขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยข้อหาย้อนศรจากหน้าที่การงานเก่าที่เคยรับบทเป็นมือปราบคอลเซ็นเตอร์-พนันออนไลน์ กระทั่งข้อหาพนันออนไลน์เป็นชนักพุ่งปักตำรวจคนสนิททีละคน ทั้ง ๆ ที่ใครทำผิดก็ลงโทษคนนั้น ใครถูกกล่าวหาก็ไปแก้ตัวเอาเองในศาล

การเล่นงานตำรวจคนสนิท ไม่ได้หมายความว่า ต้องการดึง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้ามาพัวพันกับข้อหาพนันออนไลน์ แต่เป้าหมายของจอมบงการออกแบบวางแผนสกัดกั้นหวังเพียงทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกสังคมมองด้วยสายตาเคลือบแคลงกังขา

เพียงเท่านี้คือ สิ่งที่การเมืองสีกากีต้องการทำให้มัวหมองและขอเอาคืน พร้อมกับลากโยงไปขัดขาไม่ให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้เป็น ผบ.ตร.ในรอบพิจารณาคัดเลือกช่วงสิงหาคมถึงกันยายนนี้

แม้จะถูกเล่นงานเอาคืน ลูกน้องโดนบุกตรวจค้น จับกุมฟ้องร้องต่อศาลในคดีสมรู้ร่วมคิดหาประโยชน์จากการพนันออนไลน์และฟอกเงิน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังคงยืนหลังตรงพิงกฎหมายบ้านเมืองชนิดไม่ออกอาการของเหยื่อที่กำลังถูกรุมยำ

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เคยยืนยันและยังย้ำอยู่ว่า ไม่เคยเกี่ยวข้องกับคดีพนันออนไลน์ ส่วนลูกน้องต้องไปต่อสู้คดีในศาล และพิสูจน์ให้ได้ว่าเส้นทางเงินมาที่ตัวเองได้มาจากไหน โดยใครทำต้องรับผิดชอบ ในส่วนของเว็บพนันและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตนเกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องการปราบปรามอย่างเดียว

"ผมมั่นใจว่าไม่มีเงินเข้ามาที่บัญชีของลูกน้อง มันเป็นเรื่องที่จะต้องไปอธิบายในชั้นศาลให้ได้ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ผมมองว่าลูกน้องไม่มีการกระทำความผิดในลักษณะแบบนี้ เราเป็นชุดทำงานกันมานาน ถ้าผิดคงผิดมานานแล้ว" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ปัดอุปสรรคที่กำลังทยอยมาเล่นงาน และรู้ดีว่า งานเข้าแบบนี้มีเป้าหมายเช่นใด เพราะเมื่อเล่นงานลูกพี่ไม่ได้ จึงต้องเลาะโอบทำลายลูกน้องเพื่อให้สะเทือนถึงลูกพี่

ล่าสุดข้อหาคดีแบบลูกน้องเป็นพิษ ถูกขุดให้หนักขึ้น พยายามฉายภาพการข่มขู่แอบถ่ายรูปอัยการที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนฟ้องร้องคดีพนันออนไลน์ ราวกับต้องการสื่อให้เห็นว่า ตำรวจลูกน้อง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นขบวนการผู้มีอิทธิพล เพราะมีลูกพี่เป็นคนคัดท้ายอยู่

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ต้องพิสูจน์ตามกฎหมาย ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยึดหลักด้านนี้ไว้มั่นคง ชนิดบอกว่า รู้จักลูกน้องแต่เวลาทำงานตามหน้าที่ ส่วนเลิกทำงานแล้ว เป็นเรื่องส่วนตัว ใครทำอะไรไม่ดีไว้ต้องจัดการด้วยกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

เมื่อเกมการเมืองสีกากีเริ่มเห็นร่องรอยทำลายความน่าเชื่อถือของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในฐานะรอง ผบ.ตร.อาวุโสที่มีโอกาสคั่วเก้าอี้ ผบ.ตร. มาครองในช่วงโยกย้ายเดือนกันยายนนี้ ดังนั้น อัตราเร่งของเกมย่อมล็อกให้เกิดขึ้นถี่ยิบ

โดยชนิดความถี่นั้น ถึงขั้นสร้างความรำคาญ เบื่อหน่ายให้อำนาจเหนือกว่าเข้ามาจัดการ และอำนาจที่ขบวนขัดขาตีฆ้องร้องป่าวเสมอ

โดยความจริงคือ การกดดันให้ใช้อำนาจโยกย้าย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ให้พ้นจากรอง ผบ.ตร.อาวุโสสูงสุดที่มีสิทธิ์ชอบธรรมตามกฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ถูกพิจารณาเลือกให้เป็น ผบ.ตร.คนต่อไป

เมื่อเรียงระบบอาวุโสสูงสุดไปสู่น้อยสุดในตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ที่มีอยู่และจะตั้งเพิ่มขึ้นใหม่ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เกษียณปี 2574, พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เกษียณปี 2569, พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช เกษียณปี 2567, และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ เกษียณปี 2569 ขณะที่ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ซึ่งถูกคาดจะได้เลื่อนจาก ผู้ช่วย ผบ.ตร.มาเป็น รอง ผบ.ตร. จะเกษียณปี 2568 และมีอาวุโสน้อยสุด

ดังนั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงเป็นสเปกที่เข้ากับเกณฑ์ต้องถูกพิจารณาเลือกให้เป็น ผบ.ตร.มากที่สุด แต่ด้วยเงื่อนไขมีอายุราชการตำรวจนานกว่าทุกคนจึงกลายเป็นจุดอ่อนต้องถูกขัดขาให้ล้มหัวคะมำจนพลาดได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร.ในช่วงพิจารณาเดือนกันยายนนี้ เพื่อเปิดทางให้ รอง ผบ.ตร.ที่จะเกษียณในปี 2569 ได้เป็นคู่ชิงชัยขัดตาทัพกันไปก่อน

นี่เป็นเป้าหมายของจอมบงการออกแบบวางแผนไว้ และเป็นแผนลดทอนระบบอาวุโส พร้อมกำหนดทางเลือกยื้อเวลาการขึ้นเป็น ผบ.ตร.ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกไปให้นานอีก 2-3 ปี หลังจากนั้นยังมีเวลาเหลือให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พกพาวาสนาขึ้นเป็น ผบ.ตร.และอยู่ในตำแหน่งนานถึง 3-4 ปี ซึ่งอาจเป็นเวลาเฉลี่ยในตำแหน่งมากกว่า ผบ.ตร.ที่ผ่านมา

ดังนั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กำลังถูกกดดันให้มีทางเดินไปสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร.ใน 2 ทางชีวิตข้าราชการตำรวจที่เหลืออยู่ คือ จะเป็นก่อนตามหลักอาวุโสในเดือนกันยายนนี้ หรือเลือกรอเป็นหลังกันยายน 2569

สิ่งสำคัญ การกดดัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เช่นนั้น จอมบงการวางแผนจำต้องออกแรงกดดันไปถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะทั้งสองคนมีอำนาจตามกฎหมายที่จะเลือก รอง ผบ.ตร. คนใดคนหนึ่งในจำนวน 5 คนขึ้นมาพิจารณาให้เป็น ผบ.ตร.คนต่อไป

แต่อำนาจการพิจารณาของ ผบ.ตร.คนปัจจุบันกับนายกรัฐมนตรี ย่อมใคร่ครวญกับการทำลายระบบอาวุโส ที่เป็นประหนึ่งบรรทัดฐานในหลักระบบคุณธรรมการโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามกฎหมายตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในกฎหมายตำรวจแห่งชาติปี 2565 กำหนดการจัดระเบียบราชการข้าราชการตำรวจไว้ที่มาตรา 60 โดยให้คำนึงถึงระบบคุณธรรม ว่า (3) การพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่ง และการให้ประโยชน์อื่นแก่ข้าราชการตำรวจต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม โดยพิจารณาจากอาวุโส ผลงาน ศักยภาพ และความประพฤติประกอบกัน และจะนำความคิดเห็นทางการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมืองมาประกอบการพิจารณามิได้

ดังนั้น องค์ประกอบสำคัญกำหนดการจัดระเบียบราชการข้าราชการตำรวจที่เป็นระบบคุณธรรมนั้น คือ ระบบอาวุโส ซึ่งแปรเปลี่ยนการตีความอธิบายเป็นอย่างอื่นไม่ได้อีกแล้ว

โดยเฉพาะมาตรา 78 ได้กำหนดให้พิจารณาตำรวจที่เหมาะสมเพื่อแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.ว่า (1)...โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปรามเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

ด้วยการกำหนดตามกฎหมายตำรวจแห่งชาติปี 2565 นั้น จอมบงการวางแผนสกัดกั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ต้องให้เลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ด้วยการทำลายระบบคุณธรรมเพื่อยอมโอนอ่อนให้การเมืองสีกาควบคุมสั่งการ

ไม่เพียงเท่านั้น หมากเกมนี้เล่นด้วยอารมณ์เคียดแค้นมุ่งทำลายองค์กรตำรวจที่มีข้าราชการกว่า 2 แสนคน ต้องอยู่เป็นเบี้ยล่างอำนาจการเมืองร่ำไป สิ่งนี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์และนายกรัฐมนตรีต้องใคร่ครวญให้หนัก เพื่อไม่ให้จมดิ่งไปในหลุมพรางอำนาจอำมหิต


เรื่อง: นายหัวไทร