Saturday, 4 May 2024
นายหัวไทร

พิสูจน์ระบบคุณธรรม จะด่างพร้อยหรือไม่? หากยังพยายามดันอาวุโสน้อยสุดขึ้นมาอีก

ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะว่างลงในเดือนตุลาคม 2567 นี้ เนื่องจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล จะเกษียณอายุราชการ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) จึงต้องสรรหา ผบ.ตร.คนใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่ง กตร. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทางนายกรัฐมนตรีจะต้องเสนอชื่อให้ กตร.พิจารณา

ในปัจจุบัน พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสสูงสุด เกษียณกันยายน 2567 ดูเหมือนชีวิตข้าราชการตำรวจกลายเป็น 'ผู้ให้' และจำยอมหลีกทางให้ รอง ผบ.ตร.คนอื่นที่มีอาวุโสน้อยได้ไต่ขึ้นไปชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.อยู่ร่ำไป

เมื่อกันยายน 2566 พล.ต.อ.รอย มีสิทธิชอบธรรมตามหลักอาวุโส ซึ่งเป็นระบบคุณธรรมของการเติบโตในสายงานราชการตำรวจที่ควรได้รับคัดเลือกให้เป็น ผบ.ตร. แล้วชีวิตของเขาเหมือนถูกสาปจนจำต้องหลีกทางให้ รอง ผบ.ตร.อาวุโสน้อยกว่า แต่เส้นใหญ่สุดปาดหน้าไปเป็น ผบ.ตร.อย่างหน้าชื่นอกตรมมาแล้ว

ภาพสะท้อนอาการ 'ผิดหวัง' ในระบบคุณธรรมตำรวจที่พยายามเดินหลีกหนีระบบเส้นสายเบียดแทรกพุ่งพรวดไปเป็น ผบ.ตร.นั้น ในวันที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ประชุมพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ พล.ต.อ.รอย ไม่เข้าร่วมประชุมด้วย

คงไม่ใช่วาสนา พล.ต.อ.รอย ไม่ถึง ผบ.ตร. แต่ระบบคัดเลือกที่ขาดคุณธรรม และถูกกลุ่มอำนาจไม่ยึดบรรทัดฐานตามกฎหมายขัดขวางไม่ให้ก้าวไปสู่ตำแหน่งปรารถนาของนายตำรวจยศ 'พล.ต.อ.' ซึ่งไต่เต้าจนมีสิทธิไขว่คว้าได้ แล้วระบบคุณธรรมก็ถูกอำนาจอื่นมาทำให้วงการตำรวจด่างพร้อยซ้ำซากอีก

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อไร้โอกาสไปถึง ผบ.ตร.แล้ว พล.ต.อ.รอย ที่อยู่ในวงการตำรวจมาทั้งชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาวจากอำนาจการเมืองกดทับจำเจ แน่นอนชีวิตตำรวจที่เหลืออยู่ เขาย่อมต้องการเกษียณในตำแหน่งสุดท้ายของงานตำรวจในกันยายนปี 2567 

แล้ว พล.ต.อ.รอย กลายเป็น 'ผู้ให้' ต้องยอมหลีกทางอีกครั้ง ขณะที่เวลาจะเกษียณเหลืออีก 8-9 เดือน เขาต้องถูกมติ ครม.ให้ย้ายขาดจากตำแหน่งรอง ผบ.ตร.สูงสุดที่หมดโอกาสได้เป็น ผบ.ตร.แล้ว ไปเป็น 'เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ' (สมช.) ที่ว่างเว้นอยู่

ดูเหมือนรัฐบาลเชิดชูเอออวยว่า พล.ต.อ.รอย มีความเหมาะสม มากความรู้ (แต่ไม่ได้เป็น ผบ.ตร.ตามระบบคุณธรรม) ในตำแหน่ง เลขา สมช. ก็ว่ากันไป ส่วนด้านลึกที่ไม่ยกยอกันนั้น คือ คำสั่ง 'ย้ายไปที่ใหม่' เป็นการเปิดทางให้ รอง ผบ.ตร.ว่างลง แล้ว ผู้ช่วย ผบ.ตร.อาวุโสสูงคนหนึ่งจะได้มีที่ลงในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. เพื่อบ่มเพาะให้ไปเป็นคู่ชิง ผบ.ตร. คนใหม่ที่จะแต่งตั้งช่วงสิงหาคม-กันยายน 2567 

อย่ากระพริบ ดันอาวุโสน้อยสุด ข้ามหัว 'บิ๊กโจ๊ก'

ว่ากันว่า ผู้ช่วย ผบ.ตร.อาวุโส ยศ 'พล.ต.ท.' ตามหลักเกณฑ์การเลื่อนชั้นครองยศ 'พล.ต.อ.' ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. คือ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข นรต.รุ่น 39 เกษียณกันยายนปี 2568 ขึ้นมาเป็น รอง ผบ.ตร.ที่ว่างลง

ผู้สันทัดกรณีระดับเขี้ยวล้วนปักใจเชื่อตรงกันว่า พล.ต.ท.ประจวบ คือ ผู้ชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนใหม่กับ รอง ผบ.ตร.ที่อยู่ในโผมีสิทธิเป็น ผบ.ตร.ทั้งหมด ซึ่งเหลืออยู่อีก 4 คน เรียงลำดับอาวุโสในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ดังนี้...

- พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เกษียณปี 2574 
- พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เกษียณปี 2569
- พล.ต.อ. สราวุฒิ การพานิช เกษียณปี 2567 
- พล.ต.อ. ธนา ชูวงศ์ เกษียณปี 2569 

ขณะที่ พล.ต.ท.ประจวบ เกษียณปี 2568 และเมื่อได้เลื่อนยศเป็น พล.ต.อ. ในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. จะมีอาวุโสน้อยสุด

การประเมินว่า แม้ พล.ต.ท.ประจวบ มีอาวุโสน้อยสุดก็ตาม แต่จะสามารถไขว่คว้าตำแหน่ง ผบ.ตร. มาครองได้เช่นกัน เพราะการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ล่าสุดเมื่อกันยายน 2566 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้มีอาวุโสรั้งบ๊วยสามารถทำได้สำเร็จมาแล้ว และเป็น ผบ.ตร.คนปัจจุบันซึ่งจะเกษียณกันยายนปี 2567 

การปักใจเชื่อมั่นเช่นนั้น ส่วนสำคัญมาจากแรงผลักดัน 2 ส่วนทั้งมีกฎหมายและเป็นอำนาจการเมืองต้องการ โดยด้านกฎหมายอ้างถึง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 มาตรา 77 (1) ซึ่งผู้ได้รับแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.ไม่เกี่ยวกับหลักอาวุโสแต่อย่างใด นั่นเท่ากับสะท้อนระบบคุณธรรมเป็นปัจจัยเล็กน้อยที่จะถูกคัดเลือกให้เป็น ผบ.ตร.

มาตรา 77 (1) ระบุว่า ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอกซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติหรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

แน่ละเมื่อพิจารณาเพียงชั่วเวลาลมผ่านวูบแล้ว มาตรา 77 (1) ไม่ได้ระบุถึงหลักอาวุโสให้เป็น ผบ.ตร. ซึ่งเป็นความจริง แต่หากพิจารณาประกอบกับมาตรา 78 (1) ระบุหลักเกณฑ์คัดเลือกตำรวจยศ พล.ต.อ.ไปเป็น ผบ.ตร. ไว้ดังนี้...

"การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77 (1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปรามเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง"

โปรดสังเกตุว่า มาตรา 78 (1) กำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือก รอง ผบ.ตร. เป็น ผบ.ตร.ตามมาตรา 77 (1) นั้น ได้เน้นถึงระบบอาวุโสมาเป็นส่วนประกอบสำคัญด้วย และไม่ต้องตีความให้ซับซ้อนอีกเลย เพราะคำว่า ‘คำนึงถึงอาวุโส…’ ย่อมไม่เท่ากับ ‘ผู้มีอาวุโสน้อยสุด’ ต้องได้เป็น ผบ.ตร.

ดังนั้น การคำนึงถึงหลักอาวุโสจึงแปลเป็นอื่นไม่ได้ โดยต้องเคร่งครัดถึงระดับอาวุโสที่มากกว่าคนอาวุโสน้อยสุดจึงควรถูกคัดเลือกให้ได้เป็น ผบ.ตร. เพราะจะเป็นที่ยอมรับของข้าราชการตำรวจ และนี่คือ 'ระบบคุณธรรม' ส่วนคนมีอาวุโสน้อยสุดได้เป็น ผบ.ตร.จึงแสดงถึงส่วนหนึ่งเป็นความต้องการของอำนาจการเมืองผลักดัน

หากอำนาจการเมืองหนุนดันยศ พล.ต.อ.อาวุโสน้อยสุดเป็น ผบ.ตร. แล้วนายกฯ คัดเลือกหยิบชื่อส่งให้ ก.ตร.พิจารณา พร้อมล็อบบี้ให้แต่งตั้ง ด้วยพฤติการเช่นนี้ย่อมเป็นการทำให้ระบบคุณธรรมด่างพร้อย ข้าราชการตำรวจย่อมอ่อนโรยในการทำหน้าที่ แล้วเสียงสังคมก็ดังกระหึ่มกระตุ้นให้ปฏิรูปตำรวจพ้นจากระบบเส้นสายของการเมืองต้องการ

กล่าวอย่างแจ่มชัดเฉพาะ พล.ต.ท.ประจวบ หากได้เลื่อนยศมาเป็น พล.ต.อ.ในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. เขาจะมีอาวุโสน้อยสุดเพียงเป็น รอง ผบ.ตร.ตั้งแต่การโยกย้ายปกติเมษายนถึงได้รับโปรดเกล้าฯ กระทั่งถึงสิงหาคมและกันยายนปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงการชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.กับรอง ผบ.ตร.คนอื่นคึกคัก ลุ้นระทึก แต่เขามีอาวุโสประมาณ 5-6 เดือนเท่านั้น 

ด้วยอาวุโสน้อยสุดเช่นนี้ หากทะลุไปถึงตำแหน่ง ผบ.ตร.ในกันยายนปี 2567 ความครหาได้เพราะอำนาจการเมืองผลักดัน โดยเป็นอำนาจการเมืองที่ พล.ต.ท.ประจวบ คุ้นเคยพื้นที่เชียงใหม่ แล้วอาจมีสัมพันธ์กับนักการเมืองเชียงใหม่ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในพรรคเพื่อไทยต้องการให้เป็น ผบ.ตร

ดังนั้น ศักดิ์ศรีของ พล.ต.ท.ประจวบ ย่อมมั่วหมองด้วยเส้นสายของอำนาจนัการเมือง ถูกกล่าวหาเป็นตำรวจที่ทำให้ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจด่างพร้อย แต่ถึงที่สุดเขาอาจไม่ต้องการเป็นตำรวจด้วยระบบเส้นสายก็ได้

การคาดหมายว่า พล.ต.ท.ประจวบ คือ ผบ.ตร.ในอนาคต มาจากผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์เอาทางภววิสัยที่เป็นตำรวจภาค 5 มาก่อน เป็นคนจัดระเบียบรอรับทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 แล้วประเมินว่า อำนาจการเมืองต้องการให้เป็น ผบ.ตร.

แต่ด้านลึกที่เป็นอัตวิสัยแล้ว พล.ต.ท.ประจวบ ย่อมไม่ต้องการ ผบ.ตร.ด้วยทางลัดตามอำนาจการเมืองก็เป็นไปได้ เพราะเขารู้ตัวเองว่า อาวุโสใน รอง ผบ.ตร.เพียง 5-6 เดือนมันน้อยนิดที่เป็น ผบ.ตร.ด้วยระบบคุณธรรมและทำให้องค์กรตำรวจภาคภูมิใจได้ 

ดังนั้น ยังมีเวลาและปัจจัยแห่งอนาคตอีกที่จะประเมินและฟันธงว่า พล.ต.ท.ประจวบ เมื่อได้เลื่อนยศเป็น พล.ต.อ.ในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. คือ ผบ.ตร.ตามอำนาจการเมืองเพื่อไทยหมายปองไว้หรือไม่

โปรดย้อยรอยศึกษาอำนาจแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็น ผบ.ตร. คนที่ 8 เมื่อ 26 ตุลาคม 2554-30 กันยายน 2555 ล้วนละม้ายคล้ายคลึงกับการย้าย พล.ต.อ.รอย ไปเป็น เลขา สมช.ยิ่งนัก

เช็กความพร้อม ‘เจ้ต้อย’ พร้อมลงนายกฯ อบจ.เมืองคอนอีกสมัย ฟาก ‘แทน’ ยัน สส.ประชาธิปัตย์ทุกคนสนับสนุนแน่นอน

‘เจ้ต้อย’ ลั่น!! ลงรักษาแชมป์นายกฯ อบจ.นครศรีฯ อีกสมัยแน่นอน ‘แทน’ ยัน สส.ประชาธิปัตย์ทุกคนสนับสนุน เตรียมแผนเดินสายพบผู้นำทั้ง 23 อำเภอ

ย่ำค่ำของวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ และ ‘พิทักษ์เดช เดชเดโช’ สส.สองพี่น้อง แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ทายาทโดยธรรมของ ‘กนกพร เดชเดโช’ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และ ‘วิฑูรย์ เดชเดโช’ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช นัดพบปะสังสรรค์ปีใหม่กับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำท้องที่ในอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

“แม่ผมจะลงสมัครรักษาแชมป์นายกฯ อบจ.อีก 1 สมัยแน่นอน” ชัยชนะกล่าว ซึ่งจะต้องขอแรงสนับสนุนจากพวกเรา ที่ถือเป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงกัน

ชัยชนะกล่าวอีกว่า ที่ แม่ ‘เจ้ต้อย’ จะลงสมัครในนามกลุ่มพลังเมืองนคร และได้รับการสนับสนุนจาก สส.ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้ง 6 คน

“เราไม่รู้ว่าคู่แข่งคือใครบ้าง เพราะยังไม่มีใครเปิดตัว แต่วาระของเราจะหมดในเดือนธันวาคมปีนี้ และจะมีการเลือกตั้งใหม่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568”

กนกพร กล่าวยืนยันว่า จะลงสมัครอีกสมัย เราในฐานะแชมป์ก็ต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้าน และเต็มที่กับทุกงาน

สำหรับการนัดพบปะสังสรรค์ปีใหม่ครั้งนี้ มีผู้นำท้องถิ่น ท้องที่จากทุกตำบลในอำเภอหัวไทร เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 200 คน และ 100% พร้อมให้การสนับสนุนตระกูล ‘เดชเดโช’ และน่าจะถือได้ว่าเป็นเวทีประเดิม และเจตนาของเจ้ต้อยจะไปพบกับผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ในทุกอำเภอทั้ง 23 อำเภอ

กล่าวสำหรับคู่แข่งของเจ้ต้อยในการชิงเก้าอี้นายกฯ อบจ.นครศรีธรรมราช ยังไม่ปรากฏชัดว่ามีใครบ้าง ยังไม่มีใครเปิดตัวชัดเจน แต่เชื่อว่าสำหรับนครศรีธรรมราชแล้ว จะต้องมีคู่แข่งแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากพรรคก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้า และตัวแทนจากฝั่งตรงข้ามของเดชเดโช

ที่ต้องจับตา คือ ‘เสนพงศ์’ จะส่งใครลงชิง และอยู่สังกัดไหน แต่การออกตัวแรงของ ‘เทพไท เสนพงศ์’ อดีต สส.หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งออกมาจากห้องคุมประพฤติ กับการเชียร์แนวทางของก้าวไกล และใส่เสื้อสีส้ม ก็น่าจะสะท้อนทิศทางของ ‘เสนพงศ์’ ได้ไม่น้อย เพียงแต่จะคัดสรรใครมาลงชิง และจะมีปัญหากับก้าวไกลเก่าหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นจาก ‘ฝั่งชลจิตร์’ และฝั่ง ‘ไกรสินธุ์’

แต่การขยับตัวครั้งสำคัญตั้งแต่เนิ่นของ ‘เดชเดโช’ ที่มีเวลาอีกตั้ง 11 เดือนกว่า ถือว่า ‘พร้อม’ ซึ่งหมายถึงพร้อมทั้งขุมกำลัง และปัจจัยเกื้อหนุน ที่จะนำไปสู่ชัยชนะ รักษาแชมป์ไว้ได้อีกสมัยเป็นแน่แท้

ต้องบอกก่อนว่า เป็นการเขียนตามที่เห็นด้วยตาตัวเอง และยังไม่เห็นคู่แข่งที่ชัดเจน การเมือง คือ การเมือง ที่มีโอกาสเปลี่ยนได้ทุกเวลา

‘นายหัวไทร’ จัดรายการข่าวการเมือง คลื่น FM 89.5 ยึดมั่น!! พูดตรง ไม่หยาบ ไม่เลือกฝั่ง สร้างสรรค์สังคม

ผมเป็นนักข่าวธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่เดินบนเส้นทางสายข่าวมา 30 กว่าปี นับตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา กับนักข่าววิทยุ สายทหาร เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นบรรณาธิการวิทยุ เนชั่น บรรณาธิการข่าวภูมิภาคเครือเนชั่น บรรณาธิการสำนักข่าวเนชั่น บรรณาธิการคมชัดลึก บรรณาธิการบริหารช่องระวังภัย และอีกมากมาย เออลี่จากงานประจำมาแล้ว 5 ปี มาประกอบธุรกิจส่วนตัวเล็กน้อย ก็เป็นคนขายไอติม

“แต่ว่าตำแหน่ง journalist ใครปลดไม่ได้ ติดตัวไปจนตายแหละ แม้จะถูกโยกถูกย้ายไปตรงโน้นตรงนี้ แต่ตำแหน่งนักข่าวก็ติดตัวไปตลอด แม้เออลี่มาแล้ว ก็ยังมีจิตวิญญาณนักข่าวสิงอยู่” นายหัวไทร กล่าว

ว่าง ๆ ก็เขียนบทวิเคราะห์แนวการเมืองในนาม #นายหัวไทร เสนอผ่านเฟซบุ๊กเฉลียว คงตุก ผ่านเพจ ผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ตามสถานการณ์ทางการเมือง ด้วยมีข้อมูลปฐมภูมิจำนวนมาก ที่แหล่งข่าวเก่า ๆ แหล่งข่าวใหม่ ที่ยังติดต่อกันอยู่นำมาเล่าสู่กันฟัง ผมมีหน้าที่นำมาประมวล วิเคราะห์

เดินทางไปทำข่าวบ้างตามสมควรทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด แต่ในใจคิดว่า อายุพอสมควรแล้ว ควรจะวางมือจากวิชาชีพนักข่าว แต่เมื่อหลับจากนึกถึง ‘สุทธิชัย หยุ่น’ ที่ถือเป็นครูคนสำคัญช่วงอยู่ทำงานที่เนชั่น ในวัย 70 กว่าปีจะย่าง 80 ปีแล้ว ก็ยังทำงาน ยังจัดรายการ ยังวิเคราะห์ข่าวทุกวันในสไตล์ของ ‘คนบ้าข่าว’ จึงจะยังคงขอเดินหน้าทำหน้าที่ ‘หมาเฝ้าบ้านต่อไป’ เพราะตำแหน่งนักข่าวไม่มีวันเกษียณ

จู่ ๆ ระหว่างนอนเล่นอยู่ในเปลข้างบ้าน มีคนโทรมาให้ไปร่วมจัดรายการวิทยุ ทางคลื่น FM 89.5 MHz ที่เขากำลังปรับปรุงแนวทางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยให้จัดแนวการเมืองล้วน ๆ นัดพูดคุยตกลงรายละเอียดกันเรียบร้อย ให้ผมจัด 2 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 17.00-19.00 น. ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาดีสำหรับช่วงข่าวการเมือง

รายการจะเริ่ม 5 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ก็ลองดูกันอีกสักตั้ง จริง ๆ วางตัวเองไว้ว่า ไม่อยากเอาตัวเองไปผูกยึดกับเวลามากนัก จะไปไหนก็ไป คิดถึงใครก็ไปหา กับเวลาที่มีไม่มากนักแล้ว

แต่เมื่อพรรคพวกขอให้ไปช่วยก็ลองดู เป็นแนวที่เคยทำมาตั้งแต่ปี 2532 โน้น ย้อนกลับมาจัดใหม่ก็ขอฝากติดตามด้วยครับ 

“สื่อที่ทำงานอย่างสร้างสรรค์นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลาง ไม่เลือกข้าง ไม่เลือกสี ไม่ใช่นางแบก ไม่ใช่ติ่ง ไม่ใช่ด้อม ไม่ใช้คำหยาบ วิจารณ์แบบฟันธง ตรงไปตรงมา เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม”

โดยจะจัดร่วมกับ ‘จาตุรันต์ บุญเบญจรัตน์’ นักจัดรายการวิทยุผู้สนใจข่าวสารการเมืองเช่นกัน เป็นช่วงเวลาที่ท่านผู้ฟังจะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ ‘มากกว่าข่าว’ รู้ทิศทางในอนาคตของคอการเมือง

‘ชาวนครศรีฯ’ โอด!! เหตุประสบปัญหา ‘วัยรุ่นแก๊งซิ่ง’ ป่วนมา 10 ปี ร้องเรียนแล้ว แต่ไร้หน่วยงานดูแล เหมือน ‘เอาหูไปนา เอาตาไปไร่’

เมื่อสัปดาห์ก่อน 20-22 ธันวาคม 2566 ผมลงไปทำพิธีปล่อยปลาดุกลำพัน ตามโครงการลำพันคืนถิ่น ป่าพรุควนเคร็ง ครั้งที่ 8 บริเวณศูนย์อนุรักษ์ปลาดุกลำพัน ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีฯ

เย็นของวันที่ 20 ธันวาคม ระหว่างไปนั่งทานข้าวอยู่ที่ร้านอาหารถนนเลี่ยงเมือง ได้มีคนที่รู้จัก #นายหัวไทร เข้ามาร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนรำคาญถึงกับนอนไม่หลับมายาวนานร่วม 10 ปี แต่ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลแก้ไข

ความเดือดร้อนรำคาญเกิดจากแก๊งซิ่งรถมอเตอร์ไซค์ ที่พอดึก ๆ จะมีกลุ่มวัยรุ่นนำรถจักรยานยนต์มาซิ่งแข่งกันบนถนนสายหลัก ช่วงตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลหัวไทร ไปวนกลับตรงวงเวียน วนแล้ววนอีกกันอยู่คืนละหลาย ๆ รอบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนกำลังพักผ่อน สี่ทุ่ม ห้าทุ่ม เที่ยงคืน ตีหนึ่งตีสอง

วัยรุ่นแก๊งซิ่งเหล่านี้มาจากหลายตำบล บางวันก็มีจากต่างอำเภอเข้ามาสมทบ นัดหมายกันผ่านกลุ่มไลน์ บางคันก็จะมีสก๊อยติดสอยห้อยตามมาด้วย

ชาวบ้านเคยร้องเรียนทางอำเภอ ทางตำรวจให้เข้ามาแก้ไขปัญหา แต่เสียงร้องของชาวบ้าน เหมือนเสียงนกเสียงกา ไม่เคยได้รับการแก้ไข ผ่านนายอำเภอมาแล้วหลายคน ผ่านผู้กำกับมาก็หลายคน ผ่านผู้ว่าฯ ผู้การฯ มาไม่รู้กี่คนต่อกี่คน แต่ปัญหาก็ยังอยู่

‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ คือคำขวัญของฝ่ายปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แต่ทุกข์ชาวบ้านในตลาดหัวไทรสิบกว่าปี ยังไม่เคยได้รับการเยียวยาแก้ไข

ทราบว่า…เช้าของวันที่ 21 ธันวาคม นายอำเภอได้เชิญชาวบ้าน (คนเดียว) ไปให้ข้อมูล ซึ่งจริง ๆ เรียกผู้กำกับ สารวัตรสืบสวนสอบสวน สารวัตรปราบปรามไปสอบถามก็น่าจะมีข้อมูลมากพอ ถ้ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีข้อมูล แสดงว่า ที่ผ่านมา ‘เอาหูไปนา เอาตาไปไร่’ ทุกข์ของชาวบ้าน ไม่ใช่ทุกข์ของเรา ยิ่งตอนหลังศูนย์ราชการ ทัังที่ว่าการอำเภอ โรงพัก ย้ายออกไปอยู่นอกชุมชน ยิ่งห่างไกลชาวบ้าน ห่างไกลปัญหา

จริง ๆ ก็ไม่น่าจะยากส่งตำรวจไปตั้งป้อม หรือตั้งจุดสกัด แจ้งผู้ปกครองให้ทราบถึงพฤติกรรมของลูก หรืออาจจะทำทัณฑ์บนไว้ทั้งลูก และผู้ปกครอง

หวังว่าที่เขียนมาจะได้รับทราบกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำมาสู่การแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวบ้าน จะได้นอนหลับสนิทเสียที และเรื่องแค่นี้คงไม่ต้องถึง มท.1 อนุทิน ชาญวีรกูล หรอกนะ แต่ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข อาจจะถึงเสี่ยหนูนะ

‘นิพนธ์-สรรเพชญ’ ขึ้นป้ายสวัสดีปีใหม่ 67 ทั่วสงขลา แต่ไร้โลโก้ ปชป. คอการเมืองลือสนั่น!! หรือเลือกตั้ง อบจ.ปี 68 บ้านใหญ่จะหวนคืนสังเวียน?

(27 ธ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวบรรยากาศการเมืองในจังหวัดสงขลา ก่อนการเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 มีการพูดถึงพรรคการเมืองที่อยู่คู่ภาคใต้และจังหวัดสงขลามาอย่างยาวนานอย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ (ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม) ที่ภายหลังการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจบริหารในพรรค โดยทีมบริหารชุดเก่าแพ้ให้กับทีมบริหารชุดใหม่ ภายใต้การนำของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน มี ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ สส.สงขลา ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค พร้อมกับวลี ‘ตระบัดสัตย์’ เพราะเฉลิมชัยเคยลั่นวาจาไว้ว่า “ถ้าผลการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ได้น้อยกว่าเดิม (52 ที่นั่ง) จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต”

แต่เฉลิมชัยกลับเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งหมายถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต แปลความได้ว่า ไม่ได้เลิกเล่นการเมืองจริง สมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งจึงทยอยลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

แฟนคลับประชาธิปัตย์ต่างมีความเห็นแตกต่างกันไปหลายฝ่าย โดยในจังหวัดสงขลามีการจับตาไปที่ ‘บ้านบุญญามณี’ ซึ่งถือเป็นบ้านใหญ่การเมืองในจังหวัดสงขลา ที่ขณะนี้ มีการขึ้นป้ายสวัสดีปีใหม่ 2567 ไปทั่วเมือง ในขณะที่เจ้าตัวเดินทางไปพักผ่อนกับครอบครัว จ.แม่ฮ่องสอน

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า รูปภาพสวัสดีปีใหม่ของนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต สส.ประชาธิปัตย์หลายสมัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ไม่ปรากฎรูปโลโก้พรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด รวมทั้งเมื่อสำรวจไปพื้นที่เขตอำเภอเมืองสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ สส.ของ นายสรรเพชญ บุญญามณี เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นลูกชายของนายนิพนธ์ก็ไม่มีโลโก้พรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมเช่นเดียวกัน ทำให้เป็นที่พูดคุยกันในกลุ่มคอการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงเครือข่ายการเมืองต่างพูดคุยกันว่า มีความไม่ปกติใดเกิดขึ้นหรือไม่ หรืออนาคตจะไม่มี ‘บุญญามณี’ อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์?

นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาพป้ายสวัสดีปีใหม่ 2567 ของนายนิพนธ์ บุญญามณี นั้น ยังปรากฏทั่วจังหวัดสงขลา จึงมีการจับโยงวิจารณ์ถึงวาระนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่จะหมดวาระลงในเดือนธันวาคม ปี 67 และจะมีการเลือกตั้งในต้นปี 68 วงร้านกาแฟวิจารณ์กันสนั่นว่า เป็นไปได้หรือไม่? ที่นายนิพนธ์จะย้อนกลับมาลงชิงนายกฯ อบจ.สงขลาอีกครั้ง โดยละทิ้งจากพรรคประชาธิปัตย์

กล่าวสำหรับนายกฯ อบจ.สงขลา ปัจจุบัน ‘ไพเจน มากสุวรรณ์’ นั่งบริหารอยู่ และถือได้ว่าเป็นทีมเดียวกับนายนิพนธ์ โจทย์ของคอการเมืองจึงยากขึ้น ในขณะที่มีการวางตัวคนที่จะมาสืบทอดต่อจากนายไพเจนแล้วด้วย รอเพียงให้เกษียณอายุราชการเท่านั้น

แต่อย่าลืมว่า ‘การเมือง’ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป มีเหตุผลอธิบายได้

ก้าวต่อไป 'ประชาธิปัตย์' จะฝ่ามรสุมไปอย่างไร? หลังวิกฤติเลือดไหลออกซัดโถม โซเชียลถล่มเละ

พรรคประชาธิปัตย์จะเดินต่อไปท่ามกลางกระแสคลื่นลมแรงอย่างไร หลังการประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แทนชุดของ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' อดีตหัวหน้าพรรคที่ลาออกหลังผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม นำพาพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ยับเยิน ได้มาแค่ 25 ที่นั่ง จากเป้าที่ตั้งไว้ 60-70 ที่นั่ง

ที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์เลือก 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' เป็นหัวหน้าพรรค มี 'เดชอิศม์ ขาวทอง' สส.สงขลา เป็นเลขาธิการพรรค โดยไม่มีคู่แข่ง ซึ่งคู่แข่งอย่าง 'มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค' ถูกตัดออกด้วยคุณสมบัติที่ไม่ครบ เป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 5 ปี แต่ในทางปฏิบัติถ้าจะให้สง่างามในสไตล์ประชาธิปัตย์ ต้องเปิดช่องให้มาดามเดียร์ได้ลงแข่งขัน เพียงแค่งดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรคข้อนี้ ทุกอย่างก็จะสง่างาม และมาดามเดียร์ก็ยากจะชนะอยู่แล้ว เพราะโหวตเตอร์ส่วนใหญ่ถูกล็อกไว้หมดแล้ว

การประชุมยังไม่แล้วเสร็จ สมาชิกบางคนเริ่มทยอยลาออก ประเดิมด้วย 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ที่ปิดห้องคุยกับเฉลิมชัย 10 นาที แต่ไม่มีอะไรลงตัว ทั้งสองยังยืนยันในจุดยืนของตัวเอง 'อภิสิทธิ์' จึงถอยออกไปนั่งดู ให้ 'เฉลิมชัย' เป็นตัวแสดงบทนำต่อไป

สาธิต ปิตุเตชะ เป็นอีกคนที่ลาออกตามอภิสิทธิ์ไป ไม่เว้นแม้กระทั่ง 'ติ๊งต่าง' แฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์ ก็ลาออก พร้อมวลี “ยกพรรคให้เขาไป” เราอยู่กันไม่ได้กับคนไร้สัจจะ และสีเทา

สัจจัง เว อมตะ วาจา วาจาจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย คำขวัญใต้พระแม่ธรณีบีบมวยผม ใต้โลโก้พรรคถูกหยิบขึ้นมากล่าวขานเหน็บแนมไปยังเฉลิมชัยอย่างแหลมคม ทิ่มเข้าไปเต็มอก เหตุเพราะเฉลิมชัยเป็นลั่นวาจาไว้เองในหลากหลายเวทีว่า ถ้าผลการเลือกตั้งได้น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต ถอนกลับไปอยู่บ้านประจวบคีรีขันธ์ แต่การกลับเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ต่างให้ความหมายที่ตรงกับว่า 'ตระบัดสัตย์'

สิ่งที่ไม่ควรลืม คือการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือผู้ที่จะเป็น 'แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี' ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงตำแหน่งสูงสุดในการบริหารประเทศ นักการเมืองสำคัญคือ คือต้องรักษาคำพูด ไม่กลับกลอกไปมา เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน การรักษาสัจจะ รักษาคำพูด และใจถึงพึ่งได้ จนนักการเมืองหลายคนนำมาใช้เป็นคำขวัญประจำตัวว่า "ใจถึงพึ่งได้ คำไหนคำนั้น"

สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้เหมือน 'คนป่วยวิกฤติ' มีแต่เลือดไหลออก ล่าสุด 'อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์' ก็โพสต์เฟซบุ๊กอำลาไปอีกคนหนึ่งแล้ว และคิดว่า ยังจะมีอีกไม่น้อยที่ถอยออกไป

จับกระแสจากโซเชียลกับการเปลี่ยนแปลงในพรรค ยิ่งน่ากลัวกว่า พลันที่พรรคประชาธิปัตย์โพสต์รายชื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ลงบนเพจของพรรค ก็โดนถล่มเละ พูดได้ว่า 'เละเป็นโจ๊ก' เกิน 95% ตำหนิด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และโบกมือลา กระแสใน x (ทวิตเตอร์) ก็ไม่แตกต่างกัน

สิ่งที่เป็นคำถามคือ คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าฟื้นฟูพรรค ฟื้นหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคได้อย่างไร เพราะแค่ก้าวแรกก็โดนเตะตัดขาจนจะเดินไม่ไหวอยู่แล้ว

3 เดือนจะต้องเห็นผล และจะมีการประเมินผลงานกรรมการบริหารพรรคทุกคน...นี่คือ วาจาของเฉลิมชัยที่ลั่นไว้ในวันที่ได้รับเลือกตั้ง ในวันที่ยังไม่เห็นทิศทาง แนวทาง ว่าจะหยิบอะไรขึ้นมาเป็นจุดขาย ท่ามกลางการถูกถล่ม 'พรรคสีเทา ไม่ใช่สีฟ้า' แม้เฉลิมชัยจะบอกว่า กรีดออกมาเลือดก็เป็นสีฟ้า ไม่แตกต่างจากอภิสิทธิ์

77 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 78 พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องไปหยิบเอกสารอุดมการณ์ของพรรคมานั่งอ่านทบทวนกันใหม่ ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นก้าวเดินไปข้างหน้า หันกลับมาหัวเราะใส่พรรคเก่าแก่ ที่บอกกับสังคมว่าเป็น สถาบันทางการเมือง

‘เชาว์’ ซัดแรง!! ‘ประชาธิปัตย์’ ยุคผู้นำไร้สัจจะ ต่อไปจะกล้าก้มหน้ากราบพระแม่ธรณีได้อย่างไร?

(10 ธ.ค. 66) ‘เชาว์ มีขวด’ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความน่าสนใจเกี่ยวกับการรักษาสัจจะของผู้นำทางการเมือง ผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์…

โดย เชาว์ กล่าวนำว่า พรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ผู้นำพรรคไม่มี ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’

“ผมไม่บอกว่าจะได้กี่เขต แต่วันที่พรรคมีวิกฤต ผมประกาศไว้ชัดเจนแล้ว ว่ารอบนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ต่ำกว่า 52 ที่ ผมเลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต เลิกเล่นนะ ไม่ใช่หยุดเล่น เลิกคือหันหลังเดินออกไปเลย”

เริ่มต้นเรื่องราวที่อยากบันทึกไว้ ด้วยคำพูดของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน ที่กล่าวไว้ในหลายเวทีหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ วันที่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มี ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ เพราะจากที่เคยบอกจะวางมือทางการเมือง กลับมารับหน้าที่กุมบังเหียนพรรค ด้วยเหตุผลว่า…

“ผมมีความจำเป็นครับ และผมก็อยากจะเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า ผมจะทำทุกอย่างให้พรรคมีเอกภาพ ผมจะทำให้พรรคซึ่งมีอยู่แล้วนี้ ยึดมั่นในหลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญเมื่อสักครู่ที่ผมคุยกับท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ก็คือ ผมยืนยันกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่”

ก้าวแรกของเส้นทางหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายเฉลิมชัย ก็ได้ทำลายหลักการ และคำขวัญของพรรค ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะท่านไม่ได้รักษาสัจจะ สัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

ผมไม่ได้รังเกียจนายเฉลิมชัยเป็นการส่วนตัว แต่การที่นายเฉลิมชัยตระบัดสัตย์ต่อคำพูดตนเองที่ให้ไว้ต่อสาธารณะ แล้วก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสิ่งที่ไม่สง่างามในทางการเมือง และเป็นการทำลายพรรคประชาธิปัตย์ เพราะทุกคำพูดของนายเฉลิมชัย นับตั้งแต่วันนี้คือ ‘คำพูดของพรรคประชาธิปัตย์’ นายเฉลิมชัยพูด ก็คือพรรคพูด เพราะฉะนั้น ตราบใดที่นายเฉลิมชัยยังเป็นผู้นำพรรค พรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือต่อสาธารณะอีกต่อไป

“ผมไม่แน่ใจว่า นายเฉลิมชัย จะก้มกราบพระแม่ธรณีบีบมวยผม บริเวณลานที่ทำการพรรค ซึ่งมีคำขวัญ ‘สจฺจํ เว อมตา วาจา’ อันแปลว่า ‘คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย’ ที่จารึกอยู่ใต้ฐานพระแม่ธรณีฯ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของพรรคอย่างไม่ละอายได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่ได้มีวาจาสัตย์จริง ทุกคำพูดที่พ่นออกมาว่าจะฟื้นฟูพรรค สำหรับผมไม่มีความน่าเชื่อถือแม้แต่น้อย เพราะวันนี้คำว่า ‘พรรค’ ถูกทำลายจากคำว่า ‘พวก’, ‘อุดมการณ์’ ถูกทำลายเพราะความกระสันในอำนาจและผลประโยชน์ ไม่น่าแปลกใจที่นายเฉลิมชัย จะไม่กล้าฟันธงว่า พร้อมเป็นฝ่ายค้านไม่ร่วมรัฐบาล เพราะบางคนเห็นแสงรำไร กับ 2 โควตารัฐมนตรีในรัฐบาลที่ยังว่างอยู่”

เป็นที่รับรู้กับว่า ‘เชาว์  มีขวด’ ก้าวเข้าสู่วงการทางการเมืองจากการชักชวนของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ให้เข้ามาทำหน้าที่รองโฆษกพรรคในสมัยที่อภิสิทธิ์นั่งเป็นหัวหน้าพรรค และถือว่าทำหน้าที่ได้ดี เมื่ออภิสิทธิ์ถอยออกไป เชาว์ก็ลดบทบาทตัวเองลง ไปประกอบอาชีพทนายความเหมือนเดิม

จับยามสามตา ทิศทางการเมือง ‘บุญญามณี’ เมื่อ ‘สรรเพชญ’ เปรย “ต้องทบทวนของตนเอง”

(10 ธ.ค. 66) น่าสนใจยิ่งกับบทบาทต่อไปของ ‘บุญญามณี’ ซึ่งหมายถึง ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ทายาททางการเมืองของนิพนธ์ บุญญามณี

น่าสนใจเพราะทั้ง ‘นิพนธ์’ และ ‘สรรเพชญ’ อยู่คนละขั้วกับทีมที่ชนะการเลือกตั้งในศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทีม ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ เข้ามาบริหารพรรคชุดใหม่ และตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ สส.สงขลา ที่อาจจะกล่าวได้ว่า ‘อยู่คนละฝั่ง’ กับนิพนธ์ ก็เข้ามานั่งเป็นเลขาธิการพรรค

ท่องยุทธภพไปเจอ ‘สรรเพชญ’ โพสต์ข้อความน่าสนใจยิ่งขึ้น

สจฺจํ เว อมตา วาจา
“คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย”

คำขวัญที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…

วันนี้ท่านอดีตหัวหน้าอภิสิทธิ์ฯ ได้พิสูจน์ให้ชาวประชาธิปัตย์เห็นแล้วว่า คำว่า ‘สัจจะ’ มีความหมายเพียงใด ท่านไม่เพียงแค่พูด แต่ท่านได้แสดงให้เห็น วันนี้คงเป็นอีกหนึ่งวันที่ชาวประชาธิปัตย์หลายๆ คนรวมถึงตัวผมเองต้องคิดทบทวนบทบาทของตัวเองอีกครั้งหนึ่งครับ

และขอให้พี่น้องมั่นใจว่า ผมจะยังคงทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไปครับ

‘สฺจจํ เว อมตะวาจา’ เป็นคำขวัญประจำพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน อันเป็นการสะท้อนว่า “พลพรรคค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต้องรักษาสัจจะ รักษาคำพูน การพูดความจริง จะเป็นอมตะ ไม่ตาย”

การที่สรรเพชญยกคำนี้ขึ้นมากล่าวอ้างในสถานการณ์นี้ จึงน่าสนใจ น่าคิดกับถ้อยคำที่ตามมากับคำว่า “ทบทวนบทบาทของตนเอง” จะตีความว่าอย่างไรกับวลี “ทบทวนบทบาทของตัวเอง” ก็ไม่อยากตีความ หรือคิดเอาเอง

เช่นเดียวกับบทบาททางการเมืองในอนาคตของ ‘นิพนธ์’ จะเดินหน้าภารกิจทางการเมืองอย่างไร หรือวางไว้เท่านี้ และให้ทายาททางการเมืองเดินหน้าต่อ

จับตาดูนะครับ ทิศทางทางการเมืองของ ‘บุญญามณี’ จะไปทางไหน และเป็นอย่างไร…

จับตา!! ศึกชิงหัวหน้าพรรคปชป. ดัน ‘เฉลิมชัย’ ชน ‘มาดามเดียร์’ การตัดสินใจที่น่าห่วง หาก ‘แรงยุ-แรงเชียร์’ เหนือเหตุและผล

“เสียง สส.ส่วนใหญ่ของเรายังผนึกกำลังกันแน่นเหมือนเดิม” เป็นคำยืนยันจาก ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.นครศรีฯ พรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นการตอกย้ำว่า ขั้วของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน-เดชอิศม์ ขาวทอง’ ยังคงเดินหน้าสู้เพื่อยึดพรรคประชาธิปัตย์มาบริหาร

ภาพปรากฏชัดเมื่อ สส. 21 คนมาตั้งวงคุยกัน วิเคราะห์อนาคตกับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ อันเป็นการตั้งวงวิเคราะห์หลังจาก ‘มาดามเดียร์’ วทันยา บุนนาค หรือ วงษ์โอภาสี ตัดสินใจเปิดตัวลงชิงหัวหน้าพรรค พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ‘ฟื้นฟูพรรค เรียกศรัทธาคืน’ ตามด้วยการออกคลิปส่งสัญญาณเจตนารมณ์ไปยังสมาชิกพรรคทั่วประเทศถึงความมุ่งมั่น

เอาเป็นว่ากระแสตอบรับดีเกินคาด ‘นิด้าโพล’ เป็นเครื่องยืนยันว่า มาดามเดียร์มาเต็งหนึ่ง แต่มีคะแนนไม่ตัดสินใจมากถึง 28% เลือกมาดามเดียร์ 27% ส่วน ‘นราพัฒน์’ และ ‘อภิสิทธิ์’ ยังตามหลังมาดามเดียร์

ไม่รู้ว่าคิดผิดหรือถูก กลุ่ม สส.สาย ‘เฉลิมชัย-เดชอิศม์’ ประเมินว่า นราพัฒน์ แก้วทอง ต้องแพ้ ‘มาดามเดียร์’ จึงลงมติเปลี่ยนม้ากลางศึก ส่งเทียบเชิญ ‘เฉลิมชัย’ มาลงชิงหัวหน้าพรรคเอง แต่เฉลิมชัยยังไม่ตัดสินใจ ขอเวลา 1-2 วัน ในการตัดสินใจ ส่วนตัว #นายหัวไทร อยากให้เฉลิมชัยตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุและผล ไม่ใช่เกิดจากแรงยุ แรงเชียร์ 

เหตุและผลที่ว่า คือภารกิจหนักในการนำพาพรรค ฟื้นฟูพรรค เรียกศรัทธาพรรคจากประชาชนกลับคืนมา อุดมการณ์ของพรรคต้องกลับมาพิจารณาทบทวน ตรงไหนสึกหรอ กร่อนไป จะเสริมเข้ามาอย่างไร เพื่อให้พรรคมีความเป็นพรรคที่ทันสมัย เขาผลักให้ไปอยู่ฝ่ายอนุรักษ์ก็ยอม ไม่ดันตัวเองไปอยู่ฝ่ายก้าวหน้า เสรีนิยมประชาธิปไตย ตามอุดมการณ์ของพรรค

เหตุอีกประการที่ไม่ควรลืม คือการที่เฉลิมชัย ประกาศกร้าวบนเวทีว่า “ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ สส.น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต จะกลับไปประจวบคีรีขันธ์” ถ้าเฉลิมชัยกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เท่ากับ ‘เฉลิมชัย’ ตระบัดสัตย์ครั้งสำคัญ นักการเมืองจำนวนไม่น้อยเสียผู้เสียคนกับการตระบัดสัตย์ นักการเมืองต้องพูดจริงทำจริง ไม่ทิ้งประชาชน

เมื่อประกาศวางมือทางการเมืองแล้ว ก็ไม่ควรมาจุ้นจ้านอะไรอีก ควรผันตัวเองไปทำอย่างอื่น ไม่ควรอยู่แม้กระทั่งเบื้องหลัง รักษาการหัวหน้าพรรคก็ไม่ควรรับแล้ว ถ้ายังมีใจรักประเทศชาติ ประชาชน ก็ยังมีบทบาทอื่นรองรับได้ ทำงานได้ เช่น มูลนิธิ สมาคม หรืออะไรก็ได้ที่สามารถช่วยเหลือชาติและประชาชนได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือพรรคการเมือง

การเมืองไม่ใช่เรื่องของการแข่งขันเพื่อชัยชนะเพียงด้านเดียว การเมืองมีหลากหลายมิติ แต่นักการเมืองที่ก้าวเข้ามาคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ชนะ ทำอย่างไรในการช่วงชิง ‘อำนาจรัฐฯ’ มาอยู่ในมือ เข้าใจได้ว่า การแก้ไขปัญหาบางอย่างต้องใช้งบประมาณของรัฐฯ ต้องใช้อำนาจรัฐฯ ต้องใช้กลไกของรัฐฯ เป็นเครื่องมือ

แต่สถานการณ์ปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการช่วงชิงอำนาจบริหารพรรค เพื่อนำพาพรรคไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ชาติ ประชาชน แต่เป้าหมายคือ ‘พวกพ้อง’ และ ‘ผลประโยชน์’ บรรดาโหวตเตอร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตัวจริงหรือตัวสำรอง ยังมีเวลาในการนั่งสมาธิ ให้เปิดปัญญา ตั้งสติ คิดให้รอบคอบ เดินเข้าสู่ห้องประชุมโดยไม่มีแรงจูงใจอื่น นอกจากสติที่คิดได้ ปัญญาที่มุ่งหวังดีต่อชาติบ้านเมือง

อุดมการณ์ประชาธิปัตย์จะยังไม่ตายหรอก ถ้าพลพรรคทั้งหลาย มีสติ มีปัญญา และมุ่งมั่นต่อชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้งตามเจตนารมณ์ของ ‘ควง อภัยวงศ์’ ผู้ก่อตั้งพรรค เมื่อ 77 ปีก่อน

‘รามคำแหง’ มหาวิทยาลัยประชาชน ที่เป็นมากกว่าห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่คือแหล่งบ่มเพาะความรู้ ที่ให้โอกาสและสร้างบัณฑิตสู่สังคมตลอด 52 ปี

“รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน สนองคุณชาติ” คือประโยคแรกที่พบเห็นในวันที่ก้าวย่างเข้าสู่รั้ว ‘รามคำแหง’

‘รามคำแหง’ คือ ‘มหาวิทยาลัยประชาชน’ เป็นตลาดวิชา แหล่งศึกษาเรียนรู้ของลูกคนยากคนจน ที่ถูกระบบการศึกษาแบบ ‘แพ้คัดออก’ ถีบส่งมา

ในเดือนพฤษภาคมของปี 2523 ผมหอบสังขาร พร้อมกระเป๋าเสื้อผ้าเดินเข้าไปในรั้วรามคำแหงด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น มาหาความหมายของชีวิต เป้าหมายคือ ‘หอบใบปริญญาไปฝากพ่อแม่’

ในวันนั้น รามคำแหงคราคร่ำไปด้วยเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่พลาดหวังกับการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยเปิด พวกเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรุ่นพี่ ที่มานั่งคอยแนะนำ คอยบอกในการกรอกใบสมัครเข้าเป็นนักศึกษา

ไม่เพียงแค่นั้น รุ่นพี่ยังคอยแนะนำ-ชักนำให้เข้าร่วมการทำกิจกรรมกับกลุ่ม ชมรม พรรคนักศึกษา บอกเล่าถึงปัญหาของสังคมที่เรา ในฐานะลูกหลานประชาชนจะต้องเข้าร่วมเพื่อการสะท้อนปัญหา หรือแก้ไขปัญหา

ผมไม่รู้จักรามคำแหงมาก่อนเลย ก่อนจะมาสมัครเป็นนักศึกษา รู้แค่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ที่สอนต่อจากระดับมัธยมเท่านั้น กลุ่ม ชมรม พรรคนักศึกษาอะไร ผมไม่รู้จัก ก็ต้องสอบถาม และรับรู้จากรุ่นพี่ที่มาคอยแนะนำ บอกเล่า

ผมเลือกเรียนรัฐศาสตร์ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ตามรุ่นพี่เล่าให้ฟัง คือ ‘จบง่าย’ แต่ผมคิดอยู่นิดเดียวว่า ต้องเรียนอังกฤษถึง 4 เล่ม ซึ่งเป็นวิชาที่ผมสอบตก ต้องแก้มาตลอด แต่ไม่น่าจะมีคณะอื่นที่เหมาะสำหรับเรา เอาล่ะ… ไม่ลองก็ไม่รู้

เทอมแรกของลูกหลานประชาชน ลงทะเบียนเรียนไป 18 หน่วยกิต รวมถึงวิชาภาษาอังกฤษด้วย สมัครเสร็จหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้ากลับที่พัก ไปนอนค้างหอพักเพื่อนในซอยเทพลีลา

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว…”

กระดาษแผ่นเดียวอันเป็นสัญญลักษณ์ของการเรียนจบ เป็นใบเบิกทางชีวิต แต่จริงๆ แล้ว 6 ปีในรั่วรามคำแหง เราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตมากมาย ได้ศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่มีสอนในตำรา ต้องไขว่คว้าหาเอาเอง ซึ่งมีแหล่งศึกษาเรียนรู้มากมาย

6 ปีที่เราถูกเคี้ยวจนข้น ก่อนเดินออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยประชาชนที่เราภาคภูมิใจยิ่ง ก้าวเดินออกมาอย่างมาดมั่นว่า เราเข้มแข็งพอ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีพอที่จะสู้กับใครก็ได้ ในภาวะสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

“จบรามฯ” เรากล้าบอกกับใครก็ได้ อย่างไม่รู้สึกด้อยกว่า พร้อมที่จะเดินเชิดหน้าสู้ในสังคมเส็งเคร็ง และที่ผ่านมา เราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘ลูกพ่อขุน’ ไม่แพ้ใคร ทุกแวดวงวิชาชีพจึงเต็มไปด้วย ‘บัณฑิตรามคำแหง’

‘52 ปี รามคำแหง’ ได้สร้างคน สร้างบัณฑิตมาแล้วกว่า 1 ล้านคน และยังมีนักศึกษาในระบบอีกร่วมแสนคน

รามคำแหงจึงไม่ใช่แค่ตึก ไม่ใช่แค่ห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่เป็นแหล่งบ่มเพาะ แหล่งศึกษา แหล่งเรียนรู้ ทั้งในระบบ และนอกระบบ เพื่อนมากมายก็เจอในรั้วรามคำแหง

ที่ไหนมีคน ที่นั้นมีปัญหา รามคำแหงได้ผ่านอุปสรรค ผ่านปัญหามามากมาย ทุกประวัติศาสตร์ของชาติบ้านเมือง รามคำแหงจะต้องถูกบันทึกไว้ถึงการมีส่วนร่วม

“มีรามฯ ถึงมีเรา” ถ้าไม่มีรามฯ ก็ไม่มีเราในวันนี้ เพราะรามคำแหง คือ ‘เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง’


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top