Saturday, 4 May 2024
นายหัวไทร

'เจือ ราชสีห์' ซบ 'รวมไทยสร้างชาติ' บู๊เขต 1 สงขลา เผชิญหน้า 'สรรเพชญ' ลูกชาย 'นิพนธ์ บุญญามณี'

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า 'เจือ ราชสีห์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตัดสินใจย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากมีปัญหาพื้นที่เลือกตั้งทับซ้อนกับ 'สรรเพชญ บุญญามณี' จากพรรคประชาธิปัตย์ที่จะลงเขต 1 สงขลา ในนามพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

กล่าวสำหรับเจือ ราชสีห์ เคยเป็น ส.ส.เขต 1 ในนามประชาธิปัตย์มา 4 สมัย แต่การเลือกตั้งครั้งปี 62 พรรคประชาธิปัตย์ส่ง 'เพชญ' ลูกชายของนิพนธ์ บุญญามณี ลงสมัครแทนตามผลโพล 'เจือ' จึงต้องไปลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อแบบ 'ไม่เต็มใจ' และผลการเลือกตั้ง 'เจือ' ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. จนกระทั่งเพิ่งจะได้รับเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.หลังจาก ส.ส.บางคนลาออก เท่ากับว่าสมัยนี้เจือได้เป็น ส.ส.แค่ 4-5 เดือนเท่านั้น

เมื่อเขตเลือกตั้งทับซ้อนกัน และเจือยังยืนยันจะลงระบบเขต เนื่องจากบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าลำดับเกิน 20 ก็คงยากที่จะได้รับเลือกเป็นเป็น ส.ส. ซึ่งคราวที่แล้วเจืออยู่ลำดับที่ 27 ถ้ายังอยู่ลำดับเดิม หรือขยับมา 20-25 ก็เป็นลำดับที่ไม่ได้ จึงย้ายไปลงระบบเขตของพรรครวมไทยสร้างชาติ

ถ้าเป็นอย่างนี้ 'เจือ' ก็ต้องไปสู้กับ 'เพชญ' ซึ่งมีฐานะเป็นหลาน (ลูกของเพื่อน) ฤๅการเมืองก็ต้องไปว่ากันในสนามเลือกตั้ง ประชาชนจะเป็นคนติดสิน

ปชป.รอวันฟื้น!! เชื่อ! จะกู้วิกฤตศรัทธาคืนมาได้อีกครั้ง แม้กระแสนิยม ‘หัวหน้าพรรค’ ตกต่ำสุดขีด

เมื่อพลพรรคประชาธิปัตย์สามัคคีกันลุกขึ้นสู้ “เขาจะกลับมาฟื้นตัวเสมอ”

แม้มีคนกล่าวว่า สถานการณ์เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำสุดขีดแล้ว ตายแล้ว ไปที่ไหนก็กระแสไม่ค่อยจะมี อันเป็นการสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้มาพียง 52 ที่นั่งจากที่เคยได้เกิน 100 มาแล้ว แถมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ ไม่มี ส.ส.เลยแม้แต่คนเดียว ภาคใต้รังของประชาธิปัตย์ก็ได้มาแค่ 21 ที่นั่ง อันเกิดจากคำพูดเพียงประโยคเดียวของ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น “ไม่เอาประยุทธ์” ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งคงคิดว่าเป็นวรรคทองที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งได้ อันอาจจะเกิดจากการประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ว่า คนไทยไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาประยุทธ์แล้ว

แต่วรรคทองดังกล่าวกลับเป็นหอกกลับมาทิ่มแทงพรรคประชาธิปัตย์จนถึงทุกวันนี้ และหลังเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็นำทีมร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จนถึงทุกวันนี้ อภิสิทธิ์รับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจาก ส.ส. และมี 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน

นั้นคือประเด็น และเหตุผลที่คิดกันว่า พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำ คนไม่เลือกแล้ว แต่ถ้าย้อนกลับไปมองในอดีตพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเจอประสบการณ์ตกต่ำมาแล้วหลายครั้ง และเมื่อไหร่ก็ตามที่พรรคประชาธิปัตย์กลับมาสามัคคีกัน สร้างเนื้อตั้งตัวใหม่ ประชาธิปัตย์ก็จะกลับมาฟื้นเหมือนเดิน

ย้อนกลับไปเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งขึ้นโดยบุคคลคณะหนึ่ง มี 'ควง อภัยวงศ์' เป็นหัวหน้าพรรค ประกาศเจตนารมณ์ และจุดยืนชัดเจน 10 ข้อ ที่โดดเด่น เช่น ไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงสนับสนุนผลักดันให้มีการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารในท้องถิ่น อันถือเป็นนโยบายที่ก้าวหน้า และทันสมัยที่ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

พรรคประชาธิปัตย์ก้าวเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ล้มแล้วลุกตามสถานการณ์ทางการเมือง

จนถึงปี 2522 ผลการเลือกตั้งไม่น่าเป็นที่พอใจนัก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคตกต่ำ ผลการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครพรรคประชาธิปัตย์ได้มาเพียง 1 คน คือ พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอร์มันตร์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคคนที่ 2 ในเวลานั้นรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอร์มันตร์ ได้รับเลือกให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่กอบกู้พรรค พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอร์มันตร์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2522 - 2525 หลังหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคคนที่ 2 ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนับเป็นช่วงวิกฤตที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ ที่กระแสความนิยมตกต่ำอย่างรุนแรงและสมาชิกในพรรคเกิดความแตกแยกกัน 

พันเอกพิเศษถนัด คอร์มันตร์ เป็นนักกฎหมาย เป็นนักการทูต เป็นนักการเมืองที่ฉะฉานนักข่าวถ้าไม่แน่จริง ไม่ชัดเจนในประเด็น ไปถาม พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอร์มันตร์ จะถูกย้อนถามกลับมา ทำเอา “นักข่าวก็ไปไม่เป็น” เหมือนกัน สมัยนั้นต้องระดับ 'สุทธิชัย หยุ่น' ถึงจะเอาอยู่ แต่ก็ถูกพันเอกพิเศษถนัด คอร์มันตร์ ถามย้อนกลับเอาไม่น้อยเหมือนกัน แต่ด้วยความเขี้ยวของสุทธิ หยุ่น ก็ถือว่า 'เอาอยู่' 

พันเอก(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ ต้องเข้ารับภาระในตำแหน่ง หัวหน้าพรรค เพื่อประคองพรรคให้อยู่รอดต่อไปได้

กล่าวกันว่า พันเอก (พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นการบริหารที่ยาก เป็นการบริหารท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกับอีกขั้วการเมืองในพรรค คือขั้วของ 'พิชัย รัตตกุล' ซึ่งในขณะนั้นนายพิชัยเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ด้วย เนื่องจากมีสภาพเหมือนคู่แข่งกัน ในการทำงานระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่คนละรัฐบาล และต่างขั้วกัน โดยกล่าวกันในวงสนทนาว่า ถ้ามีผู้ใดถามถึง พิชัย กล่าวกันว่า พันเอก(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ จะตอบเสมอ ๆ ว่า "ไม่รู้จักคน ๆนี้”

หมดยุคของพันเอก(พิเศษ) ในปี 2525 พิชัย รัตตกุล ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคพรรคประชาธิปัตย์ นำพาพรรคให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ด้วยผลการเลือกตั้งที่คว้าชัยมาถึงหลัก 100 ที่นั่ง ถือว่า พรรคประชาธิปัตย์กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แต่พิชัยก็ก้าวพลาดจนได้ เมื่อนำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล แต่กลับไม่ทำตามข้อตกลงกับกลุ่ม 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับกลุ่ม ส.ส.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความขัดแย้งก่อตัวขึ้นอีกครั้งสะสมมาเรื่อย ๆ จนมาแตกหักในวันที่ 10 มกราคม 2530 อันเป็นวันเลือกตั้งหัวหน้าพรรค มีการแข่งขันกันสองขั้ว ขั้วหนึ่งมี 'ชวน หลีกภัย' เสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค อีกขั้ว มี 'เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์' ลงชิง ต่างฝ่ายต่างมีผู้สนับสนุน อันนำมาซึ่ง 'กบฏ 10 มกรา' แถลงข่าวไล่เตะ ไล่ถีบกันรายวัน

'ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย' เปิดศึกนครศรีธรรมราช ฟาก 'พปชร.' หวั่น!! รทสช.แย่งแชร์ หลังบิ๊กตู่ซบ

นาทีนี้ คงต้องมาเป่านกหวีดเช็คความพร้อม สนามเลือกตั้งเมืองคอนกันสักเล็กน้อย หลังจากสนามนี้ 'ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย' พร้อมเปิดศึกกันเต็มอัตรา ส่วน พลังประชารัฐ อาจจะอ้อแอ้ เมื่อลุงตู่มาร่วมทัพรวมไทยสร้างชาติ จนทำให้พรรคคึกคักขึ้น

ย้อนความไปเมื่อพลันที่พรรคภูมิใจไทย เปิดตัว 8 ผู้สมัครนครศรีธรรมราช พร้อมประกาศลั่นพร้อมสู้ทั้ง 9 เขต หวังปักธงอย่างน้อย 3 เขต ทำให้ต้องมาเช็กสนามกันอีกรอบ เพื่อสำรวจความพร้อมของแต่ละพรรค    

เพราะนาทีนี้ "นครศรีธรรมราชไม่เงียบนะ" เป็นคำตอบยืนยันมาจาก 'แทน-ชัยชนะ เดชเดโช' ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ รองเลขาธิการพรรค ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวผู้สมัครไปแล้ว 8 เขตเช่นกัน

8 คนที่ประชาธิปัตย์ได้ตัวผู้สมัครแล้วนั้นเป็นทั้งคนหน้าเก่าและหน้าใหม่ ได้แก่…

- นายราชิต สุดพุ่ม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

- นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ที่ปรึกษารมช.พาณิชย์

- น.ส.อวยพรศรี เชาวลิต สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช 3 สมัย

- ว่าที่ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ อดีตรองนายกอบจ.นครศรีธรรมราช

- นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช 5 สมัย

- นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช 9 สมัย และอดีตรมช.ศึกษาธิการ

- นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

- น.ส.ปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ บุตรสาวของนายชินวรณ์ และเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

โซนหัวไทร, ชะอวด, เชียรใหญ่ ทำโพลเสร็จพบ  'ยุทธการ' ชนะ 'พงศ์สิน เสนพงศ์' น้องชายของเทพไท เสนพงษ์ โดย ยุทธการ รัตนมาศ เป็นอดีตรองนายกฯ อบจ.นครศรีธรรมราช, นายกสมาคมกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นป้ายแนะนำตัวเต็มเขตเลือกตั้งแล้ว ส่วนพงศ์สินเคยลงสมัครเมื่อครั้งเลือกตั้งซ่อม เขต 3 ซึ่งก็คือพื้นที่โซนนี้แหละ แต่แพ้ให้กับอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่ง ก็จำเป็นต้องหาที่ยืนใหม่ สุดท้ายก็ไปลงที่รวมไทยสร้างชาติ

ไม่ว่าจะเป็นพงศ์สิน หรือยุทธการ ในมุมมองของ #นายหัวไทร เชื่อว่า มีฐานเสียงเดียวกัน คือโซนชะอวด ฐานเสียงโซนหัวไทรจะเบาบางทั้งคู่

"เรามีวิธีในการเรียกคะแนนจากประชาชน ขอให้สนามเลือกตั้งเปิดก่อน" เป็นคำยืนยันจาก 'ชัยชนะ'

'แทน-ชัยชนะ' ยังเชื่อมั่นอีกว่า เลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนพรรคประชาธิปัตย์จะชนะยกจังหวัด 9 ที่นั่ง ส่วน 'ภูมิใจไทย' คงสู้เต็มที่ทุกเขต แต่หากยืนอยู่บนความเป็นจริง ขอส่วนแบ่งไม่น้อยกว่า 3 เขต

การที่ภูมิใจไทย หวัง 3 เขต แปลความได้ว่าจะต้องไปแบ่งมาจากประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ เพราะภูมิใจไทยไม่มี ส.ส.นครศรีธรรมราชมาก่อน เหลืออีก 6 เขต ประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐก็ต้องไปสู้ส่วนแบ่งกัน ซึ่งดูจากเนื้อผ้าแล้ว เชื่อว่าพลังประชารัฐจะได้น้อยกว่าเดิม เพราะ 'สายัณห์ ยุติธรรม' ไปกับลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ชัดเจนแล้วว่า จะไปรวมไทยสร้างชาติ ก็จะเหลือ ส.ส.เก่าพลังประชารัฐที่ปักหลักสู้อยู่กับพรรคเดิม คือ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ที่จะต้องประดาบกันหนักกับ 'ราชิต สุดพุ่ม' อดีตผู้ว่าฯปัตตานี ที่ผันตัวเองมาใส่เสื้อสีฟ้าประชาธิปัตย์ ก็ไม่ใช่หมูในอวยแน่นอน

ส่วนตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย อย่าง 'ผู้การฯ ติ๊ก' ก็จะมาแย่งคะแนนไปได้ไม่น้อยกับเครือข่ายศิษย์เก่าโรงเรียนเบญจมะ ที่ทุกวันนี้ผู้การฯ ติ๊กนั่งเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าเบญจมะอยู่ด้วย ทราบว่า หลังจากลงคลุกพื้นที่ขยันเดินพบปะ คะแนนตีตื้นขึ้นมาไล่บี้ 'รงค์-ราชิต' แล้ว ราชิตก็พยายามตีโอมล้อม 'ป่าล้อมเมือง' เข้ามาประชิตรั้ว ดร.รงค์แล้ว อยู่ที่ว่า ดร.รงค์ยังจะลงเขตเหมือนเดิม หรือขึ้นบัญชีรายชื่อ ปัญหาของ ดร.รงค์ คือ คนใกล้ตัวลงแข่งหมด

ด้าน อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ สองปีกับการเป็นผู้แทนยังทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่ ‘ทุกคะแนนไม่สูญเปล่า’ เครือข่ายเพื่อนฝูง-ญาติพี่น้องเยอะ ช่วยได้มาก แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยช่วยให้ชนะการเลือกตั้งกระจัดกระจายกันไปหมดแล้ว คงทำให้อาญาสิทธิ์มีปัญหาบ้าง และให้จับตาคนใกล้ตัวอย่างนายหัวอาจจะลงแข่งกับอาญาสิทธิ์ด้วย ซึ่งคงจะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะนายหัวคือผู้เกื้อหนุนอาญาสิทธิ์มาก่อน

‘ประชาธิปัตย์’ รุกหนัก!! ใส่ใจชายแดนใต้ เรียกกระแส คืนศรัทธา ปูพื้นใหม่สู้ศึกเลือกตั้ง

การที่ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมงานไปเยือนประเทศมาเลเซีย และได้พบกับกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารต้มยำกุ้ง ในประเทศมาเลเซีย ถือเป็นการตอบโจทย์ทางการเมืองในการรุกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะกลุ่มนักธุรกิจร้านอาหารต้มยำกุ้ง 100% เป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เคยทำธุรกิจประสบความสำเร็จส่งเงินกลับเข้ามายังประเทศไทยมหาศาล

ยิ่งเมื่อประชาธิปัตย์ตั้งธงว่า จะต้องทวงคืนสนามเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ด้วยแล้ว การลุยเข้าไปพบปะชาวไทยในมาเลเซีย จึงถือว่าเป็นการรุกที่ ‘เข้าเป้า’ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขายังมีญาติพี่น้องอีกจำนวนมากอาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไปมาหาสู่กันอยู่ ถือว่าเป็นเครือข่ายใหญ่ที่มีศักยภาพ และในช่วงหลังขาดการเอาใจใส่ดูแล

ทั้งนี้ ร้านอาหารต้มยำกุ้ง นั้น ถือว่าประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ไม่แตกต่างจากที่อื่น ๆ ทั่วโลก และการที่ นิพนธ์ ได้ไปพบกับ Ukhuwah Mr. Johari Bin Ahmad รวมถึงกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารต้มยำกุ้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์พร้อมรับหนังสือร้องเรียน จนพบว่า ปัจจุบันการมาทำงานในประเทศมาเลเซียของกลุ่มคนไทยนั้นมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องการให้รัฐบาลไทยได้เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของกลุ่มคนไทยที่มาทำงานที่นี่ โดยทาง กลุ่มฯ ได้ร้องขอให้ช่วยเหลือในเรื่องดังนี้...

- การแจ้งเกิด-แจ้งตายที่ปัจจุบันมีรายละเอียดและขั้นตอนการทํางานที่ยุ่งยาก และหลายขั้นตอน
- การอํานวยความสะดวกในการออกใบขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศมาเลเซีย
- การอำนวยความสะดวกในการออกหนังสือเดินทาง(Passport) ให้กับคนไทยที่เดินทาง มาทํางาน ให้สามารถต่ออายุ/ทำใหม่ได้ที่สถานทูตฯ 
- การกำหนดรายละเอียดการออกใบอนุญาตให้เข้ามาทํางานในประเทศมาเลเซีย (Work Permit) โดยกำหนดประเภทแรงงาน/ราคา
- การส่งเสริมกิจกรรมการแข่งขันกีฬา และกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ของคนไทยที่เดินทาง มาทํางานในประเทศมาเลเซีย 
- การจัดหาครูผู้สอนและสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับเด็กที่ครอบครัวพามาพักอาศัย หรือ ที่แม่คนไทยคลอดในประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งปัจจุบันเด็กที่เดินทางมากับผู้ปกครองนั้นไม่สามารถสื่อสารและใช้ภาษาไทยได้ 

นิพนธ์ รับปากว่าจะหาช่องทางในการช่วยเหลือ โดยกล่าวว่า การร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขเพราะกลุ่มคนที่ร้องขอมานั้นก็ถือเป็นคนไทยเช่นเดียวกัน โดยรายละเอียดต่าง ๆ นั้น โดยส่วนตัวคิดว่าบางอย่างสามารถดำเนินการได้ทันที อย่างการจัดกิจกรรมกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์นั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้คนไทยในต่างแดนได้รู้จักกันมากขึ้น สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในเรื่องต่าง ๆ ส่วนในเรื่องพาสปอร์ต และใบอนุญาตการทำงานต้องมีการประสานกับกระทรวงต่างประเทศ และทางการมาเลเซีย ต่อไป ซึ่งจะรับไปดำเนินการต่อรวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ตามที่กลุ่มฯ ได้ร้องขอมา ซึ่งต้องถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้ทำรายได้เข้าประเทศและหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนใต้ของเราส่วนหนึ่งด้วย

ถ้านิพนธ์ดำเนินการได้ตามที่รับปากไว้ กระแสแสปากต่อปากก็จะมาถึงหูของญาติพี่น้องในเมืองไทย และจะเป็นพลังดูดเสียงมาสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ได้ไม่น้อย

ทั้งนี้ หากกล่าวสำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะถือเป็นการต่อสู้กันเข้มข้นระหว่างพรรคประชาชาติ ของวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค / พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยยึดครองสนามนี้มาก่อน พรรคพลังประชารัฐ / พรรคภูมิใจไทย โดยจะมีพรรคสร้างอนาคตไทย แทรกมาบ้างในเขตเลือกของ ‘วัชระ ยาวอหะซัน’ ที่ย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ ไปสังกัดพรรคสมคิด ซึ่งวัชระ เป็นทายาททางการเมืองของ ‘กูเซ็ง ยาวอหะซัน’ นายกฯอบจ.นราธิวาส

รู้จัก ‘สุนทร ปานแสงทอง’ รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง จากโควตาบ้านใหญ่สมุทรปราการ

รู้จัก ‘สุนทร ปานแสงทอง’ รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง จากโควตาบ้านใหญ่สมุทรปราการ

‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้ง นายสุนทร ปานแสงทอง เป็นรัฐมนตรีช่วย (รมช.) ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่ามกลางเสียงถามอื้ออึงว่า ‘สุนทร ปานแสงทอง’ เป็นใคร มาจากไหน

หลังนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณปรับ ครม.ก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า กลุ่มปากน้ำได้โควตารัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง และส่งชื่อไปให้นายกรัฐมนตรีแล้ว ‘เป็นผู้ชาย และเป็นคนนอก’

รัฐมนตรีใหม่ป้ายแดงคนนี้ มีตำแห่นงทางการเมืองก่อนหน้านี้ เป็น รองนายก อบจ.สมุทรปราการ ที่มี ‘ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย’ เป็นนายกฯ อบจ. ภายใต้การสนับสนุนของ ‘ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม’ บ้านใหญ่ปากน้ำ

ตามประวัติไม่เคยผ่านการเป็น ส.ส.มาเลยแม้แต่ครั้งเดียว ข้องแวะเพียงแค่การเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 สมุทรปราการ เมื่อปี 2548 ให้กับ ‘พรรคมหาชน’ และเป็นผู้สมัครเขต 4 สมุทรปราการ ในนามพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 เท่านั้น

ในทางการเมือง ถือเป็นคนที่มีโปรไฟล์ชัด มาจากบ้านใหญ่ อัศวเหม 

ซึ่งเรื่องนี้ สอดคล้องกับที่เจ้าตัวออกมาขอบคุณ หลังได้รับโปรดเกล้าฯ

“ขอบคุณกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ที่นำโดย นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ ที่สนับสนุนการทำงานและผลักดัน ให้รับหน้าที่ในตำแหน่ง”

ดังนั้น เมื่อ นายชนม์สวัสดิ์ สนับสนุน โควตานี้ก็ถือเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ตามที่ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ เคยรับปากกับ ‘กลุ่มปากน้ำ’ ไว้

ทั้งนี้ หากจำกันได้ การรับปากดังกล่าว เกิดขึ้นจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในรอบที่ผ่านมา ที่ ส.ส.กลุ่มปากน้ำไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

6 ส.ส.กลุ่มปากน้ำ อันประกอบด้วย นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับอีก 5 ส.ส.สมุทรปราการ นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก, นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ, น.ส.ภริม พูลเจริญ, นายยงยุทธ สุวรรณบุตร, นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ออกมาเขย่าเก้าอี้ ‘มท.1’ ของ ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ให้เสียวสันหลังวาบ

ด้วยการโหวตสวนมติพรรคตัวเอง ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ พร้อมๆ กับการเรียกร้องให้ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค มานั่งในตำแหน่ง มท.1 แทนด้วย

โดย นายกรุงศรีวิไล เรียกการโหวตสวนในคราวนั้นว่า เป็นการกระตุกหนวดเสือ

'ธนกร' ผงาด!! นั่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 'สุนทร' โควตา ส.ส.ปากน้ำ เสียบแทน 'ธรรมนัส'

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 3 รมต. ‘ธนกร’ ผงาด รมต.สำนักนายกฯ

ด่วนโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 3 รมต.กลุ่มปากน้ำพปชร.ผงาด 'สุนทร ปานแสงทอง' นั่งรมช.เกษตรฯ ด้าน 'นริศ ขานุรักษ์' รมช.มหาดไทย ขณะที่ 'ธนกร วังบุญคงชนะ' รมต.ประจำสำนักนายกฯ

วันนี้ (30 พ.ย. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีโดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิ.ย. 2562 แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 10 ก.ค. 2562 ลงวันที่ 22 มี.ค.2564 นั้น

บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า โดยที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากความเป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ได้ลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. 2565 สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่าง และเพิ่มเติมบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและ บังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินจึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้...

สมรภูมินี้ไม่มีใครยอม 4 พรรค จัดทัพเลือกตั้ง ‘เมืองคอน’ เปิดศึกชิง 9 ที่นั่ง แบบไม่มีใครกลัวใคร

ลิขิตฟ้าให้มาเจอ ‘อารี ไกรนรา’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติอีกครั้ง ในงานแต่งงานลูกชายคุณสุรพล เลอวิศิษฏ์ อุปนายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ฯ ที่คราคร่ำไปด้วยคนใต้มากมาย อบอุ่นไปด้วยไอรัก

อารีบอกกับผมว่า หลังจากตัดสินใจเดินออกจากเพื่อชาติและเดินเข้าภูมิใจไทย ภารกิจมากจริง ๆ มากกว่าตอนอยู่เพื่อชาติมาก แถมยังได้นับมอบจากพรรคให้ดูแลจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้ง 9 เขตเลือกตั้ง ภารกิจก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก 

“เหนื่อยน้องเหอ พอมาอยู่พรรคนี้” อารีบ่น แต่บอกว่า ทำด้วยความเต็มใจ และเต็มที่ เพื่อบ้านเกิดในช่วงบั้นปลายของชีวิต หลังจากทำให้จังหวัดอื่นมาเยอะแล้ว

เข้าใจว่า ภูมิใจไทยตั้งใจสู้เต็มที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช หวังปักธง-แจ้งเกิดในนครศรีธรรมราชให้ได้

กล่าวสำหรับนครศรีธรรมราช คงจะสู้กันหนัก 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และน้องใหม่อย่างรวมไทยสร้างชาติ

ประชาธิปัตย์ที่นำทีมโดยชัยชนะ เดชเดโช, ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ที่ลูกทีมพร้อมเดินหน้ารักษาแชมป์ตามทวงพื้นที่คืนในทุกเขตเลือกตั้ง เป้าหมายชัดเจน ‘ยึดทั้ง 9 เขต’ เวลานี้ได้ผู้สมัครแล้ว 8 คน ขาดเขตขนอม-สิชล แทน ‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ ที่ลาออกกะทันหัน

พลังประชารัฐ คราวที่แล้วได้มาสามคน ได้จากการเลือกตั้งซ่อมอีกหนึ่งเป็นสี่คน แต่ปัญหาคือสี่คนไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สี่คนสี่ทิศทาง จึงเป็นจุดอ่อนให้ข้าศึกโจมตีได้ง่าย และมีแนวโน้มว่า บางคนจะไปอยู่กับลุงตู่ที่รวมไทยสร้างชาติด้วย จะมีก็แต่สัญหพจน์ สุขศรีเมือง ที่ยืนยันยังอยู่พลังประชารัฐ ซึ่งอาจจะเกิดจากพื้นที่ทับซ้อนกับ ‘น้อย-วิทยา แก้วภารดัย’ จากรวมไทยสร้างชาติ ที่น้อยจะต้องเอาคืนสัญหพจน์แน่นอน

จับตาเลือกตั้ง ส.ส. พัทลุง ครั้งหน้า จังหวัดเล็กแค่ 3 เขตเลือกตั้ง แต่ห้ำหั่นสุดฤทธิ์

เลือกตั้งครั้งหน้าสมรภูมิเลือกตั้ง ‘พัทลุง’ ระอุแน่  ปชป.เตรียมเปิดตัว 3 ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง ด้าน ‘สานันท์ สุพรรณชนะบุรี’ อดีต ส.ส.สองสมัย ขอเป็นลมใต้ปีกส่ง ‘ลูกสาว’ ลงชิงเก้าอี้

เร็ว ๆ นี้พรรคประชาธิปัตย์เตรียมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุงทั้ง 3 เขต 

-เขต 1 สุพัชรี ธรรมเพชร อดีต จาก สายบ้านใหญ่ ส.ส.ประชาธิปัตย์

-เขต 2 ดร.ปิยะกาญจน์ สุพรรณชนะบุรี ลูกสาวคนเก่งของ สานันท์ สุพรรณชนะบุรี อดีต ส.ส.สองสมัย และอดีตนายกฯอบจ.สองสมัย

-เขต 3 นริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.5 สมัยของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคมีมติให้เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย แทน นิพนธ์ บุญญามณี

กล่าวสำหรับสนามเลือกตั้งพัทลุงแล้วจะเป็นการห้ำหั่นกันอย่างเข้มข้นจากหลายพรรคการเมือง เจ้าของพื้นที่เดิม ภูมิใจไทย 2 ที่นั่ง แต่กำลังโดนดำเนินคดีฐานเสียบบัตรแทนกัน จึงต้องหาคนใหม่มาลงแทน ซึ่งได้ตัวครบหมดแล้ว และจะสู้เต็มสูบทั้งสามเขตเลือกตั้ง

ตามด้วยพรรคประชาธิปัตย์ คราวที่แล้วเหลือให้นริศ ขำนุรักษ์ ไว้ที่นั่งเดียวในเขต 3 ประชาธิปัตย์ก็คาดหวังเต็มที่ว่าจะยึดที่นั่งกลับคืนมา โดยเฉพาะเลือดใหม่อย่าง ดร.ปิยะกาญจน์ ควรจะมีเวทีแจ้งเกิดทางการเมือง โดยมีพ่อเป็นลมใต้ปีก อย่างน้อย 4 อำเภอในเขต 2 ที่สานันท์ไม่เคยแพ้

พรรคสร้างอนาคตไทย ที่มีนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคดูแลพื้นที่อยู่ ก็หวังว่าจะปักธงให้สร้างอนาคตไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นเขต 1 หรือเขต 2

พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็คึกคักมากขึ้นกับกระแสลุงตู่จะย้ายมาร่วมด้วย และตั้งเป้าปักธงให้รวมไทยสร้างชาติที่พัทลุงให้ได้ โดยมีบ้านใหญ่อย่าง ‘วิสุทธิ์ ธรรมเพชร’ กรรมการบริหารพรรคคุมพื้นที่อยู่

เช็กชื่อ ส.ส.ล็อตใหญ่ จ่อโบกมือลาปชป. สถานีต่อไป ซบรวมไทยสร้างชาติ - เพื่อไทย

เพียงไม่กี่วัน ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคปชป. จะเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช จำนวน 9 เขตของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 12 พ.ย.นี้

แต่เมื่อน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช แจ้งความประสงค์ต่อผู้บริหารพรรค จะไม่ไปร่วมงานดังกล่าว เนื่องจากจะย้ายพรรคไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) แล้ว ทำให้ประชาธิปัตย์ต้องหาคนใหม่มาแทนพิมพ์ภัทรา ทราบข่าวว่ากำลังทาบทามผู้หญิงคนหนึ่งมาลงแทน ผู้หญิงคนนี้เป็นภรรยาของนักการเมืองด้วย

นอกจากนี้ในพรรคปชป. ยังมีการพูดถึงชื่อส.ส.อีกหลายคนที่อาจจะย้ายพรรค อาทิ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีความสนิทสนม เป็นการส่วนตัวกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม และอดีตแนวร่วมกปปส. รวมถึงนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตส.ส.ตรัง ที่แจ้งความประสงค์จะลงเขตเลือกตั้งที่ 4 จ.ตรัง แต่แพ้ผลสำรวจความนิยมที่พรรคจัดทำท่ามกลางความเคลือบแคลง โดยมีรายงานว่าพรรครวมไทยสร้างชาติได้ทาบทามไว้แล้ว หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งลงเลือกตั้งครั้งหน้า ก็จะย้ายไปรทสช.

นอกจากนี้พัทลุงก็มีข่าวอื้ออึงว่า 'สุพัชรี ธรรมเพชร' ก็อาจจะตามคุณอา 'วิสุทธ์ ธรรมเพชร' ไปอยู่รวมไทยสร้างชาติเช่นกัน ซึ่งวิสุทธิ์ เดินนำหน้าไปนั่งเป็นกรรมการบริหารพรรครวมไทยสร้างชาติก่อนแล้ว ซึ่งถ้าสุพัชรีเดินออกไป ลูกสาวของ 'สานันท์ สุพรรณชนะบุรี' อดีต ส.ส.พัทลุง และอดีตนายกฯอบจ.พัทลุง 2 สมัย ก็พร้อมเสียบแทน

ข่าวแว่วมาแต่ไกลว่า 'กันตวรรณ ตันเถียร' ส.ส.พังงา ก็มีคนจีบอยู่เหมือนกัน เมื่อหลายคนเตรียมตีจาก กันตวรรณ ก็ต้องคิด

และยังมีชื่อ พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร ส.ส.นครปฐม เป็นอีกรายหนึ่งที่จะย้ายไปรวมไทยสร้างชาติด้วย เนื่องจากมีบิ๊กทหารเป็นคนเชื่อมประสานให้

ในส่วนของ น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ลูกสาวนายชุมพล กาญจนะ อดีตส.ส. และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ โดยก่อนหน้านี้ น.ส.วชิราภรณ์ ได้เปิดตัวว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าลงในนามประชาธิปัตย์ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีกระแสข่าวจะย้ายไปพรรคภูมิใจไทย แต่สุดท้ายไม่ได้ย้ายไปพรรคดังกล่าว เนื่องจากดีลไม่ลงตัว

ผลโพลชี้ชัด ‘คนใต้’ ยังเทใจให้ ‘ลุงตู่’ ส่วนพรรคในใจ ยังให้ ‘ประชาธิปัตย์’ ยืนหนึ่ง

ผลสำรวจของนิด้าโพล หัวข้อ ‘คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนใต้น่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับพฤติกรรม และการตัดสินใจเลือกตั้งของคนปักษ์ใต้’ พบว่า ‘ลุงตู่-ประชาธิปัตย์’ ยังยืนเป็นหนึ่งอยู่ในใจของคนใต้ ด้วยเหตุเพราะทำให้บ้านเมืองสงบ

‘นิด้าโพล’ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทําการสํารวจระหว่างวันที่ 17-20 ตุลาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในภาคใต้กระจายทุกระดับ การศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จํานวน 2,001 ตัวอย่าง เกี่ยวกับคนที่ใช่ พรรคที่ชอบของคนใต้การสํารวจ อาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (  Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย ๆ  (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมันมั่น ร้อยละ 97.0 การกำหนดค่าความเชื่อมั่นไว้ที่ 97 % อันเป็นการสะท้อนความน่าเชื่อถือของผลโพลที่ออกมา

ผลจากการสํารวจเมื่อถามถึงบุคคลที่คนใต้จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันนี้พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 23.94 ระบุว่าเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เพราะ ซื่อสัตย์สุจริต มีความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ ทําให้บ้านเมืองเกิดความสงบ และต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง

คะแนนอันดับ 2 ร้อยละ 13.24 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อ ไทย) เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายพรรคเพื่อไทยสามารถแก้ไขปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรได้ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบผลงานของตระกูลชินวัตรอันดับ 3 ร้อยละ12.79 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 4 ร้อยละ 11.24 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศเป็น คนมีวิสัยทัศน์ ชื่นชอบนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคกาวไกลอันดับ 5 ร้อยละ 6.14 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทํางาน มีความซื่อสัตย์สุจริต และชื่นชอบวิธีการทํางาน อันดับ 6 ร้อยละ 5.95 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะ ชื่นชอบ ผลงานที่ผ่านมาและชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์อันดับ 7 ร้อยละ 5.30 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า) เพราะ มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และเป็นคนสุขุมรอบคอบ อันดับ 8 ร้อยละ 5.10 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์เกยุราพันธ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทํางาน มีประสบการณ์ด้านการบริหาร ชื่นชอบนโยบายของพรรค ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาบริหารประเทศ อันดับ 9 ร้อยละ 4.00 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ ชื่นชอบนโยบาย ของพรรคภูมิใจไทย เป็นคนพูดจริงทําจริงและลงพื้นที่ดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่องอันดับ 10 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าเป็น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) เพราะ เป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top