Thursday, 8 May 2025
TheStatesTimes

18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ‘มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ เปิดสอนวันแรก มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งแรกของไทย

วันนี้เมื่อปี พ.ศ. 2507  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเรียนวันแรก โดยมี 3 คณะเริ่มต้น ได้แก่ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2501 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ ณ ดินแดนล้านนา อันเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรมอันล้ำค่ามานานกว่า 700 ปี มีสภาพภูมิประเทศงดงามท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

นับตั้งแต่มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ในที่สุดการเรียกร้องก็สัมฤทธิ์ผลก่อให้เกิดความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งแก่ชาวล้านนา

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น โดยกำหนดให้เปิดสอนในปีการศึกษา 2507 และให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเตรียมการจัดตั้ง

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 81 ตอนที่ 7 ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2507 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 วันเปิดเรียนวันแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

‘ททท.’ เล็งจีบ ‘4 อินฟลูฯดังของจีน’ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ หวัง กระตุ้นการท่องเที่ยวไทย หลัง ยอด ‘นทท.จีน’ ต่ำกว่าเป้า

(10 มิ.ย. 67) นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชีย และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 (มกราคม-พฤษภาคม) นักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ บินไม่เกิน 6 ชั่วโมง อย่างตลาดเอเชียได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศต้นทางที่ยังไม่ฟื้น ทำให้เม็ดเงินมีไม่เพียงพอในการออกเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาด จีน ญี่ปุ่น ส่งผลให้แนวโน้มทั้งปีของนักท่องเที่ยวเอเชียโตไม่ถึงเป้าหมายที่คาดไว้ แต่ก็มีหลายตลาดในเอเชียที่ไม่ได้แย่ทั้งหมด เพราะบางประเทศเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ อาทิ สิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซีย โดยประเมินจากสถิติการเดินทางเข้ามาในปัจจุบัน ที่หากแนวโน้มการเดินทางเฉลี่ยต่อเดือนยังสูงกว่าเป้าหมายที่ ททท. คาดการณ์ไว้ มั่นใจว่าจำนวนสะสมทั้งปี 2567 ของตลาดเหล่านี้จะเกินเป้าหมายแน่นอน

นายฉัททันต์ กล่าวว่า มาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ วีซ่าเป็นการถาวรให้กับจีน ถือว่าเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมอื่น อาทิ คู่แข่งการตลาดจากประเทศเพื่อนบ้านที่ร้อนแรงมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังโตต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ อย่างจุดหมายปลายทางของภูมิภาคอาเซียน ตอนนี้หลายคนจะพูดถึงตลาดเวียดนามมากกว่าเดิม รวมถึงมีหลายตลาดออกมาตรการกระตุ้นประชากรให้เที่ยวในประเทศ อาทิ รัฐบาลจีน ใส่เงินจำนวนมหาศาล เพื่อกระตุ้นการเดินทางในประเทศให้คนจีนเที่ยวในจีนมากขึ้น ทำให้ช่วงที่ผ่านมา จีนเดินทางออกนอกประเทศน้อยลง รวมทั้งเดินทางมาไทยไม่มากเท่าที่ควรด้วย

“เรามีหลายตลาดที่นักท่องเที่ยวจากประเทศต้นทางเข้ามาเที่ยวมากกว่าที่คาดไว้ อาทิ สิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซีย แต่ต้องยอมรับว่า ประเทศเหล่านั้นไม่ได้สร้างจำนวนนักท่องเที่ยวให้ไทยได้เท่ากับตลาดจีน ญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดอินเดียดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยสถิติล่าสุดไต่ระดับขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 โดยปัจจัยอุปสรรคที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวไปไม่ถึงเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้คือ 3.5 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจเอเชียยังเติบโตไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ หลายประเทศหันมาใช้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ จีน รัฐบาลจึงต้องกระตุ้นการเดินทางเพิ่มขึ้นผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อเดินให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้” นายฉัททันต์ กล่าว

นายชูวิทย์ ศิริเวชกุล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ททท. กล่าวว่า หนึ่งในมาตรการที่เตรียมกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย คือ ททท.เตรียมทาบทาม 4 อินฟลูเอนเซอร์ดังของจีนเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ที่อยู่ระหว่างการทาบทาม เบื้องต้นมีการพูดคุยอยู่ 4 คน คือ จ้าวลู่ซือ (Zhao Lusi) หวังอี้ป๋อ (Wang Yibo) เซียวจ้าน (Xiao Zhan) และไป๋ลู่ (Bai Lu) เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน ครบรอบ 50 ปี โดยจะเริ่มคิกออฟตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ ที่จะมีการนำตัวมาสคอต ‘ลาบูบู้ ไทยแลนด์ เอดิชัน’ เข้ามา ต่อด้วยงานหนีห่าวมันท์ ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งตรงกับวันชาติจีน พร้อมเปิดตัวแบรนด์แอมบาสเดอร์ เพื่อสร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีน และจะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปี 2568 ที่จะมีเทศกาลตรุษจีนและวันครบรอบความสัมพันธ์ไทย-จีนด้วย

นายชูวิทย์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ต้องยอมรับว่า ยอดนักท่องเที่ยวจีนมีการชะลอตัวลง เพราะเป็นช่วงเดือนที่จะมีการสอบเอนทรานซ์ (เกาเข่า) เป็นการสอบครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเด็กนักเรียนจีน ซึ่งโอกาสสอบมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น ผู้ปกครองหรือครอบครัวจะหยุดการเดินทางเพื่อเป็นกำลังใจให้บุตรหลานในช่วงสอบก่อน ในช่วงเดือนกรกฎาคม จะเริ่มเห็นการเดินทางอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีการเดินทางเพิ่มขึ้น ไทยต้องเตรียมรับการทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนหลังจากอั้นการเดินทางไปก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย

แฟนมวยชื่นชม ‘รถถัง-เดนิช’ ควงคู่เตะบอล หลังถอดนวม ชี้!! แม้บนสังเวียนสู้กันดุเดือด แต่ก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้

(10 มิ.ย.67) หลังจากที่ ‘รถถัง จิตรเมืองนนท์’ นักสู้ชาวไทย เอาชนะคะแนน ‘เดนิส พูริช’ นักชกจากบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา/แคนาดา วัย 39 ปี ในการชกกติกาคิกบ็อกซิ่งในรายการ ศึก ONE 167 ที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับการชกไฟต์นี้มีดรามาตั้งแต่ก่อนขึ้นชก เริ่มต้นจากเรื่องการชั่งน้ำหนักตัว เมื่อ ‘รถถัง จิตรเมืองนนท์’ ไม่สามารถทำน้ำหนักตัวได้ จึงทำให้ต้องจ่ายค่าชดเชย และให้ ‘เดนิส พูริช’ ตกลงขึ้นชกด้วยการแบกน้ำหนัก 6 ปอนด์ แต่สู้ได้สมศักดิ์ศรี

อย่างไรก็ตาม จากดรามาก่อนขึ้นชก แต่ภายหลังจากการชกไม่ดรามาอีกแล้ว เมื่อ ‘อัยด้า ลูกทรายกองดิน’ แฟนสาวของรถถัง ได้โพสต์ภาพคู่ของ ‘รถถัง จิตรเมืองนนท์’ และ ‘เดนิส พูริช’ ที่สวมชุดฟุตบอลและไปร่วมเตะบอลด้วยกันอย่างเป็นกันเอง

โดย ‘อัยด้า ลูกทรายกองดิน’ โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “บนเวทีมวยไม่พอพากันมาวิ่งสนามบอลอี๊กก”

นอกจากนี้ ‘รถถัง จิตรเมืองนนท์’ และ ‘เดนิส พูริช’ ยังพากันไปเตะฟุตบอล VIP รายการหนึ่งอีกด้วย

ทั้งนี้ มีแฟนมวยเข้ามาชื่นชมนักชกทั้ง 2 ราย ที่ทำหน้าที่ได้อย่างดุเดือด แต่เมื่อลงจากเวทีแล้วยังสามารถเป็นเพื่อนกันได้

‘บ.ค้าข้าว 8 ราย’ ยื่นประมูลข้าวเก่า 10 ปี จับตา 3-4 ราย กล้าสู้ราคา-พร้อมปิดดีล

(10 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยองค์การคลังสินค้า(อคส.)เปิดให้ยื่นซองเอกสารคุณสมบัติของเอกชนที่สนใจยื่นประมูลข้าวหอมมะลิ 1.5 หมื่นตัน ตามโครงการรับจำนำ ที่มีอายุการเก็บ 10 ปี ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. ปรากฏว่ามีจำนวน 8 ราย ส่งตัวแทนเข้ายื่นซอง ได้แก่

1)บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร
2)บริษัท ธนสรร ไรซ์ จังหวัดชัยนาท
3)หจก.อุบลไบโอเกษตร จังหวัดอุบลราชธานี
4)บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด(มหาชน) จังหวัดอุบลราชธานี
5) บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อา.การเกษตร จังหวัดนครสวรรค์
6) บริษัท ทรัพย์แสงทอง สุพรรณบุรี
7) บริษัท สหธัญ จังหวัดนครปฐม
8) บริษัท บีเอ็นเค การเกษตร 2024 จังหวัดนครสวรรค์

ทั้งนี้ อคส. จะตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้เสนอซื้อและประกาศรายชื่อ ผู้เสนอซื้อที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ เวลา 09.00 น. ซึ่งผู้เสนอซื้อสามารถตรวจสอบรายชื่อของผู้เสนอซื้อที่มีคุณสมบัติครบถ้วนล่วงหน้าได้ทางเว็บไซต์ www.pwo.co.th ขององค์การคลังสินค้า

จากนั้น ให้ผู้เสนอซื้อที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถยื่นซองเสนอซื้อได้ในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 12.00 น. ที่อคส.

สำหรับข้าวที่นำมาประมูล มีปริมาณ 15,000 ตัน จากโครงการรับจำนำข้าว ในปี 2556/57 แยกเป็น 1.คลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100%) รวม 26,094 ตัน หรือ 258,106 กระสอบจาก 24 โรงสี และได้ระบายข้าวสารแล้ว 3 ครั้ง คงเหลือ 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ 2.คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) ปริมาณ 9,567 ตัน หรือ 94,637 กระสอบ ซึ่งระบายข้าวสารแล้ว 4 ครั้ง คงเหลือ 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบ

แหล่งข่าวในวงการค้าข้าว กล่าวว่า จากดูชื่อบริษัท คาดว่าการร่วมแข่งราคาประมูลในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ที่น่าจะให้ราคาดี 3-4 ร

“ดูจากตัวเลข 8 ราย ที่ยื่นซอง ถือว่าสูงกว่า คาดการณ์” แหล่งข่าว ระบุ

 📌หากโลกเกิดวิกฤตด้านพลังงาน ‘SPR’ คือ คำตอบ ‘ความมั่นคงด้านน้ำมันเชื้อเพลิง’ ที่รองรับได้ถึง 90 วัน โดยไม่กระทบต่อคนไทย

นับตั้งแต่การถือกำเนิดเกิดขึ้นของ ‘The Benz Patent-Motorwagen’ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมคันแรกของvโลกซึ่งออกแบบโดย Carl Friedrich Benz นักออกแบบเครื่องยนต์และวิศวกรยานยนต์ในปี 1886 ก็มีพัฒนาการ การออกแบบ และการผลิตรถยนต์ซึ่งใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเพื่อการใช้งานในหลากหลายภารกิจมาโดยตลอดจนปัจจุบันเป็นปีที่ 139 แล้ว รถยนต์ถูกใช้งานอย่างมากมายในหลากหลายรูปแบบและครอบคลุมแทบทุกมิติจนกลายเป็นความจำเป็นกระทั่งทุกวันนี้จัดว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษยชาติไปแล้ว

ขนานกันไปกับการพัฒนา การออกแบบ และการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมก็คือ การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากจะใช้สำหรับภาคขนส่งทั้งบก-เรือ-อากาศแล้ว น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังถูกนำไปผลิตพลังงานอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อน ฯลฯ เมื่อปริมาณพลโลกเพิ่มขึ้น ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็มากขึ้น ย่อมทำให้การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้นตามไปด้วย

ในยุคต้น ๆ ของการใช้งานรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม พื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมส่วนใหญ่จะเป็นดินแดนอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก อาทิ ตะวันออกกลาง การสัมปทานขุดเจาะและดูดน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาบริโภคอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของประเทศเจ้าอาณานิคม ราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมจึงค่อนข้างถูกเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของบรรดาประเทศเจ้าอาณานิคมและบริวารตลอดจนคู่ค้าของประเทศเหล่านั้นด้วย กระทั่งทศวรรษ 1950 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเจ้าอาณานิคมถูกแรงกดดันมากมาย รวมทั้งการต่อต้านจากพลเมืองของดินแดนอาณานิคม จึงต้องทยอยให้เอกราชแก่อาณานิคมต่าง ๆ และค่อย ๆ หมดอำนาจและบทบาทในกิจการน้ำเชื้อเพลิง 

กระทั่งเกิดการรวมตัวของกลุ่มพันธมิตรประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อประสานงานและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วยการก่อตั้ง องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC) ขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 1960 ณ กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก OPEC มีประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง ได้แก่ อิหร่าน, อิรัก, คูเวต, ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา ปัจจุบัน โอเปกมีสมาชิกเพิ่มอีก 8 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไนจีเรีย แอลจีเรีย ลิเบีย กาบอง (ต่อมาถอนตัวในปี ค.ศ. 2008 แล้วกลับมาในปี ค.ศ. 2016) แองโกลา อิเควทอเรียลกินี และล่าสุดสาธารณรัฐคองโก รวมเป็น 13 ประเทศ  

การเกิดขึ้นของ OPEC ทำให้เกิดวิกฤติน้ำมันขึ้นหลายครั้ง ในแต่ละครั้งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของประเทศต่าง ๆ อย่างมหาศาล วิกฤตน้ำมัน (Oil Shock หรือ Oil crisis) เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอย่างมากจนเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจโลกถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้น้ำมันนับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมวลรวม แต่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปและใช้เวลาในการเกิดใหม่ยากมาก ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้นขณะที่ความสามารถในการผลิตกลับยังคงเท่าเดิมจึงทำให้เกิดภาวะวิกฤตได้ วิกฤตน้ำมันไม่ได้เพียงแต่เกิดจากความไม่สมดุลของความต้องการในการใช้น้ำมันกับปริมาณน้ำมันที่มีอย่างจำกัดเพียงอย่างเดียว ยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของวิกฤตอีกด้วย

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1973 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว วิกฤตน้ำมันในปี 1973 เกิดขึ้นพร้อมกับสงครามตะวันออกกลางครั้งที่ 4 อียิปต์และพันธมิตรร่วมมือกันเพื่อจะยึดคาบสมุทรซีนายและที่ราบสูงโกลันของอิสราเอล แต่ประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกานั้นสนับสนุนอิสราเอล ทำให้องค์กรส่งออกน้ำมันแห่งชาติอาหรับ (ไม่ใช่ OPEC) จึงตัดสินใจใช้มาตรการห้ามส่งน้ำมัน ประเทศที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายไม่ส่งน้ำมันดิบให้ในขั้นต้น ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้ขยายการห้ามส่งไปยังโปรตุเกส โรดีเซีย และแอฟริกาใต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 3 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลเป็น 12 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หลังจากที่มีการห้ามส่งน้ำมัน วิกฤติดังกล่าวยังทำให้สหรัฐฯ เริ่มให้ความสนใจกับปัญหาอุปทานน้ำมันส่วนใหญ่ หลังจากที่ปรากฏว่าประเทศอื่น ๆ สามารถระงับสินค้าสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ  

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 ในปี 1979 เกิดขึ้นจากการปฏิวัติของอิหร่าน ซึ่งทำให้โคมัยนีกลายเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศหลังจากโค่นล้มระบอบกษัตริย์ราชวงศ์ปาห์ลาวี โคมัยนีได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองให้เป็นสาธารณรัฐอิสลามหลังขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด การปฏิวัติอิหร่านมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับการปฏิวัติของจีนในปี 1911 ที่โค่นล้มราชวงศ์ชิงซึ่งสิ้นสุดการปกครองของจักรพรรดิและสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นหลังจากการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น การปฏิวัติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของอิหร่าน ในช่วงการปฏิวัติอิหร่าน การผลิตและการส่งออกน้ำมันของประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดช่องว่างอุปทานน้ำมัน 500,000 บาร์เรลต่อวันในตลาดน้ำมันดิบระหว่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 32-34 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 3 ในปี 1990 อิรักยกกำลังบุกเข้ายึดคูเวต ซึ่งกินเวลาเพียงเก้าเดือน ราคาที่พุ่งสูงขึ้นมีความรุนแรงน้อยลงและมีระยะเวลาสั้นกว่าวิกฤตน้ำมัน 2 ครั้งก่อนร แต่ยังคงส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯประสบความสำเร็จทางทหารในการสู้รบกับกองกำลังอิรัก ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอุปทานในระยะยาวก็ผ่อนคลายลง และราคาก็เริ่มลดลง

แน่นอนว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤตน้ำมันประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประเทศอุตสาหกรรมผู้บริโภคน้ำมัน รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมันเอง และต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เกิดเป็น ‘สภาวะข้าวยากหมากแพง’ (Adverse Supply Shock) แต่ในประเทศที่ภาครัฐมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) อย่างเต็มที่จะมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานได้ถึง 90 วัน ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องเป็นกังวลถึงวิกฤตน้ำมันในช่วง 90 วัน ทำให้มีเวลาแก้ไขปัญหาและสามารถเตรียมการรองรับผลกระทบวิกฤตน้ำมันในระดับโลกได้นานถึง 90 วัน 

ในขณะที่ปัจจุบันนี้ไทยมีปริมาณน้ำมันสำรองที่เอกชนจัดเก็บเพียงพอต่อการบริโภค 25-36 วัน นั่นหมายความว่า หากปัญหาวิกฤตน้ำมันในประเทศไม่สามารถแก้ไขได้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน ย่อมจะเกิดผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อประเทศในภาพรวม ไม่ว่าในด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเงิน และการคลัง ฯลฯ อย่างแน่นอน ดังนั้นนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะต้องเกิดขึ้นและดำเนินการให้สำเร็จโดยรวดเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างสูงสุดอันจะเป็นหลักประกันที่สำคัญของความมั่นคงของชาติในทุก ๆ มิติได้ตลอดไป

‘โอเล็ก โคโนเนนโก’ นักบินอวกาศชาว ‘รัสเซีย’ วัย 59 ปี ทุบสถิติเพื่อนร่วมชาติ ใช้ชีวิตในอวกาศรวม 1,000 วัน

(10 มิ.ย.67) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า โอเล็ก โคโนเนนโก นักบินอวกาศชาวรัสเซียวัย 59 ปี กลายเป็นบุคคลแรกของโลกที่ใช้เวลาอยู่ในอวกาศรวมทั้งสิ้น 1,000 วัน

โดยนักบินอวกาศใต้สำนักงานอวกาศของรัสเซีย ‘รอสคอสมอส’ ได้เดินทางถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา โดยการเดินทางไปยังไอเอสเอสในปัจจุบันของ โอเล็ก โคโนเนนโก เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2023 ที่ออกเดินทางไปพร้อมกับ นิโคไล ชุบ เพื่อนร่วมชาติ และ โลรอล โอฮานา นักบินอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โคโนเนนโกได้ทำลายสถิติเป็นบุคคลที่ใช้เวลาอยู่บนอวกาศนานที่สุดในโลก ที่ เกนนาดี พาดัลกา เพื่อนร่วมชาติชาวรัสเซีย เคยทำไว้ที่ 878 วัน 11 ชั่วโมง 29 นาที และ 48 วินาที เมื่อปี 2015 ก่อนที่ โคโนเนนโก จะกลายเป็นบุคคลแรกของโลกที่ใช้เวลาอยู่บนอวกาศครบ 1,000 วัน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

และหากภารกิจของโคโนเนนโกสิ้นสุดลงตามกำหนดในวันที่ 23 กันยายน 2024 เขาจะใช้เวลาอยู่ในอวกาศทั้งหมด 1,110 วัน

โคโนเนนโก ได้กล่าวกับสำนักข่าวทาสส์ของรัสเซีย ว่า เขามั่นใจและภูมิใจในงานที่เขาทำ นอกจากนี้เขายังบอกกับทาสส์ด้วยว่า เพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันของเขาบนไอเอสเอส เป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ร่วมแสดงความยินดีกับเขาในความสำเร็จของเขา

ทั้งนี้ ไอเอสเอสเป็นหนึ่งในไม่กี่กิจกรรมไม่กี่อย่างที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียยังคงร่วมมืออย่างใกล้ชิด หลังจากการเหตุการณ์การรุกรานยูเครนของมอสโกในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รอสคอสมอสได้ประกาศในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ความร่วมมือในโครงการการบินร่วมกับนาซา ในการขนส่งนักบินอวกาศไปยังไอเอสเอสได้ขยายออกไปแล้วจนถึงในปี 2025 

🔎ส่อง ‘อเมริกา’ ประเทศมหาอำนาจที่มีการสำรอง SPR มากที่สุดในโลก✨

หลังวิกฤตพลังงานในปี 1973 โดยองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งได้ดำเนินการตอบโต้การที่สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 4 ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเริ่มการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ในปี 1975 เพื่อบรรเทาปัญหาการหยุดชะงักของอุปทานในอนาคต โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยโครงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Program : IEP) 

หลังจากที่อุปทานน้ำมันต้องหยุดชะงักระหว่างวิกฤตน้ำมันดังกล่าวระหว่างปี 1973 -1974 สหรัฐอเมริกาได้ลงนามในข้อตกลง IEP เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 1974 และเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ในฐานะผู้ร่วมลงนามใน IEP พันธสัญญาสำคัญประการหนึ่งที่ทำโดยผู้ลงนามในข้อตกลง IEP ดังกล่าวคือต้องมีการเก็บรักษาปริมาณน้ำมันสำรองไว้ไม่น้อยกว่า 90 วันของปริมาณการนำเข้าน้ำมันสุทธิ

ปริมาณสำรองจะถูกกำหนดตามเงื่อนไขที่เขียนไว้ในรัฐนโยบายและการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Policy and Conservation Act : EPCA) ปี 1975 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นตอบสนองต่อการหยุดชะงักของอุปทานอย่างรุนแรงในอัตราการสูงสุด 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสามารถเข้าสู่ตลาดได้ภายใน 13 วันหลังจากคำสั่งประธานาธิบดี โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้ระบุว่ามีการสำรองปริมาณเชื้อเพลิงนำเข้าประมาณ 59 วันใน SPR เมื่อรวมกับการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงคงคลังของเอกชน ประมาณการณ์ว่าน่าจะเทียบเท่ากับการนำเข้า 115 วัน

Gerald Ford ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ลงนามประกาศใช้รัฐบัญญัติ EPCA เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1975 ด้วยรัฐบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้สหรัฐอเมริกาสามารถสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ได้มากถึง 1 พันล้านบาร์เรล โดยมีการซื้อคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่จำนวนหนึ่งในปี 1977 เริ่มการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองบนดินแห่งแรกในเดือนมิถุนายน 1977 และวันที่ 21 กรกฎาคม 1977 น้ำมันดิบประมาณ 412,000 บาร์เรล จากซาอุดีอาระเบียถูกส่งไปยังไปยังคลังเก็บ SPR เป็นครั้งแรก

สำนักงานบริหาร SPR ตั้งอยู่ในเขตเอล์มวูด ชานเมืองนิวออร์ลีนส์ มลรัฐลุยเซียนา โดยคลัง SPR ของสหรัฐฯ ประกอบด้วย คลังใต้ดิน 4 แห่งใกล้ ๆ อ่าวเม็กซิโก คลังใต้ดินมีความลึกราว 600-1,000 เมตรใต้พื้นดิน แต่ละแห่งตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางสำคัญของการกลั่นและแปรรูปปิโตรเคมี แต่ละคลังสามารถเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองได้ระหว่าง 6 ถึง 37 ล้านบาร์เรล 

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ อ้างว่า การเก็บน้ำมันไว้ใต้พื้นผิวนั้นคุ้มค่ากว่าบนดินประมาณสิบเท่า โดยมีข้อดีเพิ่มเติมคือไม่มีการรั่วไหลและการหมุนเวียนของน้ำมันตามธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเนื่องจากการไล่ระดับของอุณหภูมิในถ้ำ คลังน้ำมันใต้ดิน SPR ได้แก่ 

(1) ไบรอัน เมานด์ เมืองฟรีพอร์ต มลรัฐเท็กซัส ขนาดความจุ 254 ล้านบาร์เรล (คลังใต้ดินย่อย 18 คลัง) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.5 ล้านบาร์เรล 

(2) บิ๊กฮิลล์ เมืองวินนี่ มลรัฐเท็กซัส จัดเก็บได้ 160 ล้านบาร์เรล (14 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.1 ล้านบาร์เรล 

(3) เวสต์แฮกเบอรี่ ทะเลสาบชาร์ลส์ มลรัฐลุยเซียนา มีความจุ 227 ล้านบาร์เรล (22 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.3 ล้านบาร์เรล 

และ (4) บายู ชอกทาว เมืองแบตันรูช มลรัฐลุยเซียนา ขนาดความจุ 76 ล้านบาร์เรล (6 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 550,000 บาร์เรล 

ประธานาธิบดีและสภา Congress ต่างมีอำนาจควบคุม SPR โดยประธานาธิบดีจะเป็นผู้สั่งการในการจ่ายออกน้ำมันสำรองจาก SPR และสภา Congress มีอำนาจอนุมัติในการเติมปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใน SPR ประธานาธิบดีสามารถอนุมัติการจ่ายออกน้ำมันสำรองจาก SPR ได้อย่างอิสระเพื่อตอบสนองต่อ ‘การหยุดชะงักของการจัดหาพลังงานอย่างร้ายแรง’ หรือหากสหรัฐอเมริกาได้รับมอบหมายจาก  โครงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEP) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างสมาชิกขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ตัวอย่างเช่น ในปี 2011 ประเทศสมาชิกของ IEA ร่วมกันปล่อยน้ำมันจำนวน 60 ล้านบาร์เรลเพื่อตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนอันเป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองในลิเบีย 

สำหรับการตอบสนองต่อการหยุดชะงักของการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณไม่มากนัก ด้วยอำนาจของประธานาธิบดีสามารถสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจาก SPR ได้ไม่เกิน 30 ล้านบาร์เรลโดยไม่ต้องประกาศการเบิกใช้ฉุกเฉิน และกระทรวงพลังงานจะทำการประมูลจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองดังกล่าวให้กับผู้เสนอราคาสูงสุดจากบรรดาบริษัทที่ได้จดทะเบียนไว้กับ SPR

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อน้ำมันเพื่อเติม SPR แต่ต้องให้สภา Congress อนุมัติเพื่อดำเนินการดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี Donald Trump ได้สั่งให้เพิ่มปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองให้เต็มขีดความสามารถในการจัดเก็บเพื่อช่วยผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่สภา Congress กลับไม่อนุมัติการซื้อ 

นอกจากนั้นแล้วกระทรวงพลังงานยังเป็นผู้นำในข้อตกลงแลกเปลี่ยนหรือกู้ยืมน้ำมันระยะสั้นที่ชำระคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยในการเพิ่มขนาดของ SPR นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ประธานาธิบดีและสภา Congress ได้ออกคำสั่งขายน้ำมันจากแหล่งสำรองเป็นครั้งคราวเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้มาแล้ว 30 ครั้ง นับตั้งแต่การจัดตั้ง SPR อาทิ การขาย 5 รายการเป็นการเบิกจ่ายฉุกเฉินในปี 1991 ระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย, ในปี 2005 เพื่อนำรายได้มาจัดการวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาง ในปี 2011 ระหว่างความขัดแย้งในลิเบีย และ 2 ครั้งในปี 2022 เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย 

ปริมาณความจุสูงสุดเต็มที่ของคลัง SPR ทั้งหมดของสหรัฐฯ อยู่ที่ 727 ล้านบาร์เรล ปัจจุบันปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 367 ล้านบาร์เรล ซึ่งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ เมื่อลดลงเหลือน้อยกว่า 400 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบสี่ทศวรรษ ส่งผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น หากปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ มากกว่า 400 ล้านบาร์เรล จะถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีเสถียรภาพตามไปด้วยทั้งยังเป็นสัญญาณของแนวโน้มของราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งประเทศผู้ผลิตน้ำมันและบริโภคน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกให้ความสำคัญต่อ SPR เป็นอย่างมาก เพราะ SPR นอกจากจะเป็นหลักประกันที่สำคัญที่สุดในด้านความมั่นคงทางพลังงานซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศด้วย ดังนั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงของพี่น้องประชาชนคนไทย จึงต้องจัดการให้ SPR ของไทยเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จโดยเร็วด่วนที่สุด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ขณะนี้มีข้อมูลว่า บรรดาผู้ที่เสียผลประโยชน์จากการที่ประเทศไทยจะมี SPR ได้พยายามคัดค้านต่อต้านนโยบายดังกล่าว โดยใช้สื่อที่ไร้จรรยาบรรณทั้งยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมได้ให้ร้ายรองฯ พีระพันธุ์ต่าง ๆ นานา ด้วยหวังให้รองฯ พีระพันธุ์ต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้มาตรการและนโยบายของรองฯ พีระพันธุ์ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยที่ต้องบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สะท้อนความถูกต้องและเป็นจริงทั้งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของไทยไม่ประสบความสำเร็จ พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนจึงต้องช่วยกันติดตาม เฝ้าดู และเป็นกำลังใจให้รองฯ พีระพันธุ์ได้ทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ

‘ธนกร’ ติง ‘พิธา’ ดื้อคำสั่งศาลฯ แถแถลง 9 ข้อสวน ชี้!! บิดเบือนแบบนี้จะเป็นผู้นำประเทศที่ดีได้อย่างไร 

(10 มิ.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล แถลง 9 ข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล โดยมองว่า เป็นการไม่เคารพคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้ออกมาเตือนก่อนล่วงหน้าแล้วว่าไม่ควรมีการชี้นำกระทบความเชื่อมั่นในกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องยึดมั่น นั่นคือการเคารพกฎหมาย เคารพคำสั่งศาล

การออกมาแถลงข้อต่อสู้คดีควรยื่นต่อศาลโดยตรง ไม่ใช่มาแถลงต่อสื่อมวลชน ต่อประชาชน มากกว่านั้นยังอ้างข้อกฎหมายแบบบิดเบือนเอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่นแบบข้าง ๆ คู ๆ อ้างประชาธิปไตยสารพัด ทั้งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรค ซ้ำยังอ้างว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีกระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก ซึ่งนายพิธาและพรรคก้าวไกล มีความกังวลค่อนข้างหนักเรื่องคดีจนทำให้พาลไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม กระบวนการกฎหมายทั้งระบบ แบบนี้จะเป็นผู้นำประเทศที่ดีได้อย่างไร

เมื่อถามว่า นายพิธาอ้างว่า กกต. ยื่นศาลโดยไม่แจ้งให้พรรคได้ชี้แจงนั้น นายธนกร กล่าวว่า ประธาน กกต. ได้ยืนยันการดำเนินการของ กกต. แล้วว่าไม่ได้ใช้ระเบียบสืบสวนไต่สวน แต่เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องแจ้งให้พรรคก้าวไกลทราบ เพราะมีหลักฐานตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 

ทั้งนี้มองว่า ในชั้นกระบวนการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามที่พรรคขอขยายเวลาถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน จนครบกำหนดยื่นคำชี้แจงแล้ว ถือว่าคดีนี้ กกต. และศาล ได้ดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนการยุติธรรม หลังจากนี้ก็เป็นดุลยพินิจของศาล ผลจะออกมาเป็นบวกหรือลบ พรรคก้าวไกลควรยอมรับน้อมรับคำตัดสิน

“การที่นายพิธาและก้าวไกลออกมาแถลงอ้างว่าพรรคการเมืองเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นจะอ้างไม่ได้เพราะถ้าพรรคการเมืองทำผิดกฎหมายก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงตรงนี้ การอ้างและชี้นำสังคม ว่าศาลไม่มีอำนาจ กกต. ยื่นโดยไม่ชอบ เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยคำพูดสวยหรูให้ตัวเองดูดี แต่เป็นการก้าวล่วงและไม่เคารพคำสั่งศาล แบบนี้จะเป็นผู้นำประเทศที่ดีได้อย่างไร” นายธนกร ระบุ

พ่อเครียด!! ทะเลาะลูก ป.2 บอกจะซื้อมือถือให้ถ้าเรียนได้เกรดดี แต่พอทำได้ กลับผิดสัญญาจนเด็กน้อยใจ 'ไม่อยากตั้งใจเรียนแล้ว'

เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งเป็นคุณพ่อได้มาขอคำแนะนำจากกลุ่ม ‘ความรู้รอบตัว’ โดยระบุข้อความว่า ‘ขออนุญาตปรึกษาครับ ตอนนี้กำลังทะเลาะกับลูกชาย ป.2 เมื่อก่อนเขาเป็นคนเรียนไม่เก่ง ติดเกม วันหนึ่งมือถือเขาหน้าจอแตก เขามาขอผมให้ซื้อใหม่ให้ ผมเลยบอกเขาไปว่าให้ตั้งใจเรียนให้เกรดดีๆ ป๊าจะซื้อใหม่ให้ ผลคือเขาสอบได้ 3.62 มาอยู่ราวๆ อันดับ 5 ของห้อง ผมตกใจมาก ไม่คิดว่าเขาจะทำได้เพราะเล่นเกมทั้งวัน เขาก็มาทวงผมใหญ่เลย ทั้งที่สถานะการเงินผมตอนนี้ไม่ดีมาก ค่าเทอมยังต้องผ่อน เขาเอาแต่น้อยใจบอกว่าไม่อยากตั้งใจเรียนแล้ว ไม่รักป๊าแล้ว ผมควรจะทำยังไงกับเขาดีครับ อยากให้เขาเข้าใจ เงินหลักพันวันนี้ สำหรับผู้ใหญ่ก็หายาก ยิ่งเชียงใหม่ ค่าแรงก็ต่ำมาก หรือผมควรหลอกเขาว่า ให้ทำให้ได้ 4.0 ถึงจะให้ดีครับ’

ทั้งนี้ หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ได้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นและมองว่าการกระทำของพ่อไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่แนะนำว่าพ่อควรรักษาสัญญาเพราะอาจกลายเป็นแผลภายในจิตใจลูกได้ และบางรายแนะนำให้อธิบายเหตุผลตามความจริง และให้กำลังใจพร้อมชื่นชมที่ลูกสามารถผลักดันจนเกรดเฉลี่ยออกมาดีได้ 

โดยมีชาวเน็ตมาอธิบายว่าอาจส่งผลกระทบด้านจิตใจ โดยระบุข้อความว่า ‘ในฐานะเรียนจบมาสายนี้ การไม่รักษาสัญญา สองผล สองประการ

1. ขาดมุ่งอนาคตควบคุมตน เพราะเด็กจะไม่ให้ความสำคัญกับอนาคต แม้ว่าอนาคตจะได้มากกว่า เพราะทำแล้วไม่มีทางได้

2. ขาดความไว้ใจ การที่เด็กทำตามที่เราสัญญา เพราะเขาเชื่อใจว่าเราจะทำตามสัญญา หากเราไม่ทำตาม เขาจะไม่ไว้ใจเราอีกต่อไป’

‘บ.ญี่ปุ่น’ ยอมถอย!! จ่อรื้อถอน ‘คอนโดฯ’ สร้างใกล้เสร็จ หลังโดนคนท้องถิ่นร้องเรียน บดบังความงามของ ‘ฟูจิ’

เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานแผนการรื้อถอนคอนโดมิเนียม ความสูง 10 ชั้น ที่ก่อสร้างใกล้เสร็จสิ้นในพื้นที่ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว หลังจากผู้อยู่อาศัยท้องถิ่นร้องเรียนว่ามันบดบังวิวความสวยงามของแลนด์มาร์กชื่อดังอย่างภูเขาไฟฟูจิ

รายงานระบุว่า อาคารหลังดังกล่าว (Gurandomezon Kunitachi Fujimi-dori) ตั้งอยู่ที่เขตนากาของเมืองคุนิตาจิ ซึ่งถูกประชาสัมพันธ์ทางการตลาดว่าเป็นคอนโดมิเนียมแห่งแรกบนถนนฟูจิมิ-โดริ ที่เปิดจำหน่ายในรอบทศวรรษ แต่จะไม่เสร็จสมบูรณ์เนื่องด้วยกระแสคัดค้านจากคนท้องถิ่น

เมื่อวันอังคาร (4 มิ.ย.) บริษัท เซกิซุย เฮาส์ จำกัด ผู้พัฒนาคอนโดมิเนียมแห่งนี้ แจ้งเจ้าหน้าที่เมืองคุนิตาจิว่าบริษัทฯ ตัดสินใจไม่ดำเนินโครงการนี้ต่อไปเพราะไม่ได้พิจารณาผลกระทบต่อพื้นที่และภูมิทัศน์โดยรอบอย่างถี่ถ้วน และกำลังอธิบายสถานการณ์แก่ผู้ซื้อในอนาคตและผู้อยู่อาศัยท้องถิ่น

อนึ่ง กระแสการคัดค้านเกิดขึ้นหลังการก่อสร้างเริ่มต้นได้เพียงไม่นาน โดยผู้อยู่อาศัยท้องถิ่นแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากตัวอาคารต่อทิวทัศน์ภูเขาไฟฟูจิและแสงอาทิตย์ที่ส่องถึงบ้านเรือนใกล้เคียง

สภาการพัฒนาเมืองสรุปว่าโครงการคอนโดมิเนียมแห่งนี้จะบดบังทิวทัศน์ภูเขาไฟฟูจิจากถนนฟูจิมิ-โดริ และชี้แนะให้ทำการเปลี่ยนแปลง เมื่อเดือนมิถุนายน 2021

แม้เซกิซุย เฮาส์ ลดจำนวนชั้นของอาคารจาก 11 เหลือ 10 ชั้น แต่ผู้อยู่อาศัยท้องถิ่นยังต้องการให้ลดจำนวนชั้นเหลือ 4 ชั้น และขนาดโดยรวมเล็กลงอีก ซึ่งเซกิซุย เฮาส์ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทำกำไรของโครงการ นำสู่การตัดสินใจรื้อถอนในท้ายที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top