Friday, 9 May 2025
TheStatesTimes

GIP ในเครือ BlackRock เตรียมลงทุนในไทยสูงสุด 175,000 ล้านบาท รองรับการใช้ Cloud และ AI จากทั่วโลก ยกระดับสู่ศูนย์กลาง GigaData Hub

(7 พ.ค. 68) บริษัท Global Infrastructure Partners (GIP) ในเครือ BlackRock ซึ่งเป็นกองทุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในโลก เตรียมลงทุนในประเทศไทยมูลค่า 105,000 ถึง 175,000 ล้านบาท ผ่าน True IDC เพื่อสร้าง GigaData Hub ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่แบบขยายได้ รองรับการใช้งาน Cloud และ AI จากทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยสามารถเพิ่มกำลังไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (7 พ.ค. 68) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายอาเดบาโย โอกุนเลซี ประธานและซีอีโอ GIP ได้เข้าหารือนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมีรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลฯ เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับการลงทุนดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับดาต้าเซ็นเตอร์ของประเทศ โดยมีเป้าหมายผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน พร้อมส่งเสริมพลังงานสะอาด และเตรียมยกระดับบุคลากรดิจิทัลผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนระดับโลก

ด้าน GIP ย้ำความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยที่มีความพร้อมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน ทรัพยากรมนุษย์ และนโยบายภาครัฐ พร้อมร่วมมือกับไทยในระยะยาว ทั้งด้านการลงทุน การพัฒนาคน และการสร้างระบบ AI & Cloud ที่แข็งแกร่งในภูมิภาค

นายศุภชัยระบุว่า การลงทุนครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในไทย ซึ่งรวมถึง Google, Microsoft และ ByteDance พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับโลก

‘อ.ปิติ’ ย้อนรอยความขัดแย้ง “อินเดีย–ปากีสถาน” จากข้อพิพาทเส้นแบ่งแดนสู่สงครามต่อต้านก่อการร้าย

(7 พ.ค. 68) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอินเดีย – ปากีสถาน ว่าด้วยความขัดแย้งในเเคว้น #แคชเมียร์

หากกล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีความลึกซึ้งอย่างมากในภูมิภาคเอเชียใต้นั้น หนึ่งในปัญหาที่ต้องหยิบยกเอามากล่าวไว้เป็นประเด็นแรกได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเหนืออาณาบริเวณที่เรียกว่า “แคชเมียร์” (Kashmir) พื้นที่แห่งนี้เป็นอาณาบริเวณอันเป็นที่อาศัยของชนเผ่าฮิมาลายันที่มีหลากหลาย อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่มีความสวยงามอย่างมาก กล่าวได้ว่า ตลอดอาณาบริเวณที่มีขนาดราว 86,000 ตารางไมล์ หรือ 222,738 ตารางกิโลเมตรนั้น ถูกห้อมล้อมไปด้วยภูเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม ทะเลสาบอันสวยงาม และทุ่งหญ้าที่มีต้นไม้นานาพรรณ ความสวยงามในภูมิทัศน์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สวิสเซอร์แลนด์แห่งอินเดีย” (India’s Switzerland) และได้กลายมาเป็น “แม่เหล็ก” ชั้นดีที่ดึงดูดให้ทั้งสองประเทศต่างต้องการครอบครองดินแดนแห่งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนเองให้ได้

อันที่จริงแล้ว หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ความขัดแย้งเหนือพื้นที่แคชเมียร์ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อนที่อินเดียและปากีสถานจะได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปีค.ศ.1947 โดยที่รัฐบัญญัติว่าด้วยอิสรภาพแห่งอินเดีย (the Indian Independence Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้เอกราชแก่อินเดียและปากีสถานในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ.1947 นั้น ได้นำไปสู่การแบ่งแยกปากีสถานออกเป็นปากีสถานตะวันออก (บังคลาเทศในปัจจุบัน) ตลอดจนการแบ่งแยกกลุ่มมุสลิม ฮินดู และซิกข์อย่างชัดเจน ผลจากการแบ่งแยกที่ว่านี้ได้นำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นขนานใหญ่ของประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้  สำหรับพื้นที่แคชเมียร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้นำของดินแดนแห่งนี้มีอิสระในการเลือกว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน แต่เดิมทีกษัตริย์ที่ปกครองแคชเมียร์ในเวลานั้นที่มีพระนามว่า ฮารี ซิงข์ (Hari Singh) ต้องการให้แคว้นแคชเมียร์มีสถานะของการเป็นรัฐเอกราชที่มีอิสระในตนเอง แต่จากการที่อินเดียเข้ามาช่วยเหลือดินแดนแห่งนี้ให้พ้นจากการเข้ามารุกรานของชนเผ่าพื้นเมืองปากีสถาน ส่งผลให้กษัตริย์ฮารี ซิงข์ ตัดสินใจเลือกอยู่กับอินเดียในเดือนตุลาคม ค.ศ.1947 

ผลจากการตัดสินใจของผู้นำแคชเมียร์ในครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอินเดียและปากีสถานที่ต่างจับจ้องอยากผนวกเอาพื้นที่แห่งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตนเอง รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจาวาฮาลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ได้ร้องขอให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งในประเด็นแคชเมียร์ องค์การสหประชาชาติในเวลานั้นได้ให้คำแนะนำกับผู้นำของทั้งสองประเทศว่า ควรให้ประชากรของแคชเมียร์ได้ลงคะแนนประชามติว่า พวกเขาต้องการอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน ถึงแม้ว่าการลงประชามติครั้งนั้นไม่เกิดขึ้น แต่ทั้งสองประเทศก็ยอมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1949 ในที่สุด 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในแคชเมียร์ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยใช้เส้นเขตควบคุม (Line of Control) เป็นเส้นแบ่ง กล่าวคือ พื้นที่ตอนเหนือของเส้นเขตควบคุมเป็นพื้นที่แคชเมียร์ที่ปกครองโดยปากีสถาน (Pakistan-Administered Kashmir) ในขณะพื้นที่ใต้เส้นเขตควบคุมเป็นพื้นที่แคชเมียร์ที่ปกครองโดยอินเดีย (India-Administered Kashmir) ตามภาพ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศได้มีข้อตกลงหยุดยิงแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศก็ยังปรากฎให้เห็นอยู่เป็นระยะ ในปีค.ศ.1965 และปีค.ศ.1999 ได้เกิดสงครามขนาดย่อมระหว่างสองประเทศขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจคือทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่าอีกฝ่ายเริ่มฝ่าฝืนข้อตกลงหยุดยิงก่อน และการใช้อาวุธของตนเองนั้นเป็นการตอบโต้การกระทำของอีกฝ่ายเท่านั้น ในช่วงระหว่างปีค.ศ.2014-2015 ทั้งสองประเทศได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการจัดการกับความขัดแย้งในเรื่องแคชเมียร์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ตัวอย่างที่สำคัญเช่น ในปีค.ศ.2014 นายกรัฐมนตรีโมดี (Modi) ได้เชิญนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ (Nawaz Sharif) แห่งปากีสถานมาร่วมงานแถลงนโยบายในการเข้ารับตำแหน่งของโมดี หรือการเดินทางไปเยือนปากีสถานของโมดีเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2015 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่มีผู้นำจากอินเดียเดินทางไปเยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ 

อย่างไรก็ดี ความพยายามเหล่านี้กลับไม่ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรม สัญญาณของความล้มเหลวที่สำคัญเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ.2016 เมื่อมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธได้เข้ามาโจมตีฐานทัพทหารของอินเดียที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นเขตควบคุม กองทัพของอินเดียประกาศโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้ายซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งเส้นเขตควบคุมของปากีสถานในทันที ผลพวงจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงในบริเวณแนวแล้วชายแดนของเส้นเขตควบคุมอยู่เป็นระยะ เช่น ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2017 ได้มีการโจมตีหน่วยพลร่มของอินเดียใกล้กับศรีนาคา (Srinagar) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2018 ได้มีการโจมตีฐานทัพทหารของอินเดียในจามูร์ (Jammu) ตลอดปีค.ศ.2017-2018 ได้มีการโจมตีในลักษณะนี้กว่าหนึ่งพันครั้ง ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือกองกำลังติดอาวุธเหล่านี้มีเครือข่ายหรือเป็นตัวแทนของกลุ่มจิฮาด (Jihad) ที่มาจากอัฟกานิสถานด้วย  เหตุการณ์นี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ความสลับซับซ้อนเหนือพื้นที่แคชเมียร์ ไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน แต่กลับมีความซับซ้อนขึ้นเมื่อมีกลุ่มติดอาวุธจากฝ่ายผู้ก่อการร้ายเข้ามาเป็นตัวแปรร่วมที่สำคัญด้วย 

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศมีความพยายามในการจัดการปัญหาดังกล่าว แต่ปรากฏว่าบทบาทของอินเดียในการต่อสู้กับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในแคชเมียร์ มักไปเกี่ยวโยงกับที่ตั้งของกลุ่มก่อการร้ายซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งเขตปกครองแคชเมียร์ของปากีสถานด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจึงอยู่ท่ามกลางแรงกดดันและความระแวงระวังกันตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน รวมทั้งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ณ สถานการณ์สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในปัจจุบัน

รัฐบาลเวียดนามเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ดึงต่างชาติลงทุน AI–เซมิคอนดักเตอร์ มั่นใจบรรลุเป้าเติบโต 8% ในปีนี้ แม้ไตรมาสแรก GDP ขยายตัวเพียง 6.93%

(7 พ.ค. 68) นายกรัฐมนตรีฟาม มินห์ จิญ (Pham Minh Chinh) ของเวียดนามกล่าวต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลยังคงยึดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่อย่างน้อย 8% ในปีนี้ แม้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกและภาคธุรกิจเวียดนามโดยตรง

เขาระบุว่า รัฐบาลจะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อรักษาสมดุลทางการค้า โดยไม่ให้ตลาดอื่นเสียประโยชน์ พร้อมเดินหน้าต่อต้านการฉ้อโกงการค้าอย่างเข้มงวด ซึ่งเวียดนามซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ กว่า 30% ของ GDP กำลังเผชิญแรงกดดันจากภาษีนำเข้าสูงถึง 46%

แม้ GDP ไตรมาสแรกจะขยายตัวเพียง 6.93% ต่ำกว่าช่วงปลายปีที่แล้ว แต่เวียดนามยังตั้งเป้าการขยายตัวสองหลักในระยะยาว และเร่งส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างรถไฟความเร็วสูงและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ดัชนีภาคการผลิตล่าสุดชี้ว่ากิจการโรงงานหดตัวต่ำสุดในรอบเกือบหนึ่งปี ขณะที่รัฐบาลอยู่ภายใต้แรงกดดันทั้งจากความล่าช้าในการเติบโตและความเสี่ยงสงครามการค้า ซึ่งทำให้ต้องเร่งใช้มาตรการดูแลเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพภายในประเทศควบคู่กันไป

8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง ‘สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน’

วันนี้ เมื่อ 151 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทยขึ้นบริหารประเทศ เรียกการบริหารงานของรัฐมนตรีชุดนี้ว่า สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ 1. สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) (รัฐมนตรีสภา) มีสมาชิกจำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ-ออกกฎหมาย 

2. สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (ที่ปรึกษาในพระองค์) หรือ ปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) มีสมาชิกจำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและดูแลบ้านเมือง-ราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณ

ถือเป็นต้นกำเนิดของคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดิน 

สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย สมาชิกผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาจำนวน 12 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่าง ๆ ในด้านนิติบัญญัติ และเมื่อข้อราชการใดที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีมติเห็นชอบ ก็ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ต้องทำพิธีสัตยานุสัตย์ สาบานต่อหน้าพระพักตร์และถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เพื่อให้มีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่จนเต็มกำลังความสามารถโดยไม่ลำเอียง ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง และรักษาความลับ เพื่อให้การปฏิรูปการเมืองการปกครองบรรลุตามวัตถุประสงค์

การประชุมของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน จะต้องมีสมาชิกมาประชุมร่วมกันตั้งแต่ 7 นายขึ้นไป จึงจะนับว่าครบองค์ประชุม ผลการประชุมทุกครั้งต้องกราบทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ เมื่อทรงเห็นชอบด้วย ผลของการประชุมหรือมติของสภาจึงจะมีผลบังคับใช้ต่อไป

ผ่านมาถึงวันนี้ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ถือเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปการเมืองการปกครองของประเทศไทย เปรียบเสมือน ‘คณะรัฐมนตรี’ ที่ดำเนินการด้านกฎหมาย และให้คำปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน อันเป็นพื้นฐานการปกครองสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

9 พฤษภาคม 2529 ในหลวง ร.9 ทรงเปิด โรงกลั่นแอลกอฮอล์ สำหรับค้นคว้า 'น้ำมันแก๊สโซฮอล์'

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดอาคารโรงกลั่นแอลกอฮอล์ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เพื่อค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเริ่มผลิตเอทานอลจากอ้อย ตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทนด้วยน้ำมันแก๊สโซฮอล์

สำหรับการศึกษาวิจัยภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเริ่มตั้งแต่การทดลอง ปลูกอ้อยหลายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดนำมาทำแอลกอฮอล์ นอกจากอ้อยที่ผลิตได้ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาแล้วยังออกไปรับซื้อ อ้อยจากเกษตรกรเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบอีกด้วย

โรงงานแอลกอฮอล์ซึ่งมีทั้งเครื่องหีบอ้อย ถังหมัก หอกลั่นขนาดเล็ก เริ่มเดินเครื่องการผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ.2529 สามารถผลิตแอลกอฮอล์ 91 เปอร์เซ็นต์ได้ในอัตรา 2.8 ลิตรต่อชั่วโมง

ต่อมาเนื่องจากวัตถุดิบมีไม่เพียงพอ จึงเปลี่ยนมาใช้กากน้ำตาล และมีการสร้างอาคารศึกษาวิจังหลังใหม่ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

สำหรับแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้ในช่วงแรกยังไม่สามารถนำไปผสมกับเบนซินได้ จึงนำผลผลิตที่ได้ไปทำเป็นน้ำส้มสายชูต่อมาก็ทำเป็นแอลกอฮอล์แข็งใช้อุ่น อาหารให้กับทางห้องเครื่องของสวนจิตรลดา เนื่องจากเดิมใช้แอลกอฮอล์เหลว ครั้งหนึ่งเมื่อมีการขนส่งแอลกอฮอล์เหลวไปยังพระตำหนักในภาคเหนือ รถเกิดอุบัติเหตุทำให้ไฟไหม้รถทั้งคัน เพราะแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี จึงได้มีการคิดนำแอลกอฮอล์มาทำเป็นเชื้อเพลิงแข็งเพื่อความปลอดภัยแทน

โรงงานแอลกอฮอล์มีการปรับปรุงการกลั่นเรื่อยมาต่อมาก็สามารถผลิต แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95 เปอร์เซ็นต์ หรือที่เรียกว่าเอทานอลได้เป็นผลสำเร็จ

‘สี จิ้นผิง’ ชี้ ‘ไต้หวัน’ เป็นส่วนหนึ่งของผลแห่งชัยชนะสงครามโลก ย้ำไม่มีใครหยุดการรวมชาติได้ พร้อมขอบคุณรัสเซียที่หนุนหลัง

(7 พ.ค. 68) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เผยแพร่บทความลงนามผ่านหนังสือพิมพ์ “กาเซตต์” ของรัสเซีย ก่อนเดินทางเยือนมอสโกเพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 80 ปี “ชัยชนะแห่งมหาสงครามผู้รักชาติ” โดยระบุว่า การรวมชาติของจีน โดยเฉพาะการฟื้นฟูไต้หวัน คือกระแสธารทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจหยุดยั้งได้

สีจิ้นผิงชี้ว่า ปี 2025 จะตรงกับวาระ 80 ปีแห่งการฟื้นฟูไต้หวัน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์จากชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอ้างถึงเอกสารระหว่างประเทศสำคัญอย่างปฏิญญาไคโรและแถลงการณ์พอตส์ดัมที่ยืนยันอธิปไตยเหนือไต้หวันของจีน ซึ่งได้รับการรับรองโดยมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หมายเลข 2758

เขาระบุว่า ไม่ว่าสถานการณ์ภายในไต้หวันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือมีแรงกดดันจากกองกำลังภายนอกเพียงใด ก็ไม่อาจขัดขวางเป้าหมายสูงสุดของจีนในการรวมชาติได้ พร้อมเน้นว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และกฎหมายเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจโต้แย้งได้”

ผู้นำจีนยังกล่าวชื่นชมรัสเซียที่ยืนหยัดสนับสนุนหลักการจีนเดียวและการต่อต้านการแบ่งแยกไต้หวัน โดยมอสโกยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากจีน และสนับสนุนทุกมาตรการของรัฐบาลจีนในการบรรลุการรวมชาติ ซึ่งจีนให้ความสำคัญและขอบคุณต่อจุดยืนที่ชัดเจนของรัสเซีย

การแถลงของผู้นำจีนในครั้งนี้ตอกย้ำจุดยืนอันแข็งกร้าวของปักกิ่งต่อไต้หวัน และสะท้อนการประสานสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่ถือเป็นผลประโยชน์หลักร่วมกันของทั้งสองประเทศ

อยุธยา - ตำรวจนครบาล ร่วม ตร.ภาค 1 ตร.อยุธยา ทลายโกดังพักยาเสพในพื้นที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา พบยาเสพติด จำนวนมาก

(7 พ.ค. 68) พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร พล.ต.ต.ชยานนท์ มีสติ รอง ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย  ผบก.สส.บช.น พล.ต.ต.นฤนาท พุทไธสง ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา  เลขาธิการ ป.ป.ส. พ.ต.อ.พีรพัสส์ ชูช่วย ผกก.สืบสวน ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา  นายนิวัฒน์  รุ่งสาคร  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุม แบ็ค  หรือ นายชัยนรินทร์  (นามสมมุติ)  อายุ 32 ปี   ชาว ต.โพทะเล อ.โพทะเล จ.พิจิตร ภายในบ้านหลังหนึ่ง ใน ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยหลังจากเมื่อวันที่ 21 มี.ค.68 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ร่วมกันจับกุม รถบรรทุกเทรลเล่อร์ขนยาเสพติด ในพื้นที่ อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก บเขก.สส.ก.1 ชุดขยายผลฯ ศอ.ปส.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา และ กก.สส.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา ได้สืบสวนขยายผล จนกระทั่งทราบว่า กลุ่มลูกค้าที่เคยรับยาเสพติดจากรถบรรทุกเทรลเล่อร์คันดังกล่าว ได้นำยาเสพติดมาเก็บซุกซ่อนไว้ภายในบ้านหลังหลังหนึ่ง ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จึงได้เฝ้าติดตามพฤติกรรมเรื่อยมาจนกระทั่ง ในวันที่ 7 พ.ค. 68  เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้สนธิกำลังกันเข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 23/7 ม.5 ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระมาหรือยุธยา ผลการตรวจคัน พบ ยาบ้า 40 กระสอบ คิดเป็นจำนวนยาบ้าประมาณ 8.712 ล้านเม็ด และยาไอซ์ 18 กระสอบ น้ำหนักรวมประมาณ  720 กิโลกรัม โดย แบ็ค หรือ นายชัยนรินทร์ ชมเชย อายุ 32 ปี รับว่าเป็นเจ้าของยาเสพติดทั้งหมด โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้ง ข้อกล่าวหา "จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า และ ยาไอซ์) การมีไว้เพื่อจำหน่าย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า เป็นการก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน และทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของปราชนทั่วไป" โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะได้ฟ้าการสืบสวนขยายผลหาผู้ร่วมกระทำความผิดต่อไป

ทั้งนี้การกวาดล้างยาเสพติดครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  โดยทาง รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติด เป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการปราบปราม การบำบัดเยียวยา ตลอดจนทำให้ผู้เสพกลับเข้าสู่สังคมได้ และพร้อมประกอบอาชีพหลังบำบัดหายแล้ว

สุจินดา อุ่นขาว รายงาน

อย่าให้มีครั้งที่ 2!! รัฐมนตรีกลาโหมปากีสถานย้ำ ‘ไม่ต้องการทำศึกกับอินเดีย’ แต่พร้อมตอบโต้หากโดนโจมตีอีกครั้ง

(7 พ.ค. 68) อินเดียเปิดฉากโจมตีทางทหารต่อเป้าหมายกลุ่มก่อการร้ายในแคชเมียร์ที่ปากีสถานยึดครอง (PoK) และภายในปากีสถานอีก 9 จุด ภายใต้ปฏิบัติการ 'ซินดูร์' โดยการโจมตีใช้เวลาเพียง 25 นาทีในช่วงกลางดึกวันที่ 7 พฤษภาคม คร่าชีวิตประชาชนแล้ว 26 ราย

ในแถลงการณ์ภายหลังการปฏิบัติการ อินเดียระบุว่าการโจมตีเน้นเฉพาะโครงสร้างของกลุ่มก่อการร้าย โดยหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อพลเรือน ด้านพันเอกโซฟียา คูเรชิ และนาวาอากาศโท วโยมิกา ซิงห์ ยืนยันว่าพื้นที่ถูกโจมตีได้รับการคัดเลือกจากข้อมูลข่าวกรองอย่างรัดกุม

ขณะเดียวกัน คาวาจา อาซิฟ รัฐมนตรีกลาโหมปากีสถาน ระบุว่าปากีสถานพร้อม “ยุติความตึงเครียด” หากอินเดีย “ถอยกลับ” แต่จะไม่ลังเลที่จะตอบโต้หากถูกโจมตีอีก โดยยืนยันผ่านสื่อว่าอิสลามาบัดยังไม่ต้องการเผชิญหน้า แต่พร้อมปกป้องตนเอง

ทั้งนี้ หลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย แสดงความกังวลต่อความตึงเครียดที่ปะทุขึ้น โดยอุปทูตสหรัฐฯ ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของปากีสถานเพื่อหารือแนวทางลดระดับความรุนแรง พร้อมย้ำจุดยืนว่าสหรัฐฯ สนับสนุนการทูตเป็นทางออกของสถานการณ์นี้

เผยแบบโครงการขยายสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ชูร่มบ่อสร้าง และ Green Airport คาดเปิดใช้งานปี 72

เพจ Progressive Thailand  เปิดเผยความคืบหน้าโครงการขยายสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ โดยระบุว่า ... สร้างปีหน้า เสร็จปี 72 !!! ขยายสนามบินเชียงใหม่ ชูร่มบ่อสร้าง และ Green Airport รองรับ 20 ล้านคนต่อปี

โครงการขยายท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ระยะที่ 1 รายละเอียดเบื้องต้นดังนี้
• งบประมาณ 24,000 ล้านบาท
• ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ 
• ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิมให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ
• ท่าอากาศยานเชียงใหม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 20 ล้านคนต่อปี 
• ขยายลานจอดอากาศเป็น 31 หลุมจอด และทางขับขนานเพิ่มเติม ทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง 
• เพิ่มหลุมจอดแบบประชิดอาคารเป็น 16 หลุมจอด
• อาคารจอดรถรองรับได้ 1,100 คัน
• เริ่มก่อสร้างในปี 2569 
• เปิดให้บริการในปี 2572

‘แคนาดา’ เดินหน้าริบเครื่องบิน ‘Antonov An-124’ ของรัสเซีย และเตรียมส่งมอบให้ ‘ยูเครน’ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูหลังสงคราม

(8 พ.ค. 68) รัฐบาลแคนาดาได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อทำการยึดเครื่องบินขนส่งสินค้า Antonov An-124 ของรัสเซียซึ่งติดอยู่ที่สนามบินนานาชาติโตรอนโตเพียร์สัน (YYZ) มาครอบครอง 

เครื่องบินซึ่งให้บริการโดยสายการบิน Volga-Dnepr ติดอยู่ที่แคนาดาเพียงไม่กี่วันหลังจากรัสเซียเปิดฉากการรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 โดยขณะนั้นกำลังขนส่งชุดตรวจ COVID-19 จากจีนมายังแคนาดา

โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดากล่าวกับสำนักข่าวท้องถิ่น INsauga ว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2025 อัยการสูงสุดของแคนาดาได้เริ่มกระบวนการทางกฎหมายเพื่อริบทรัพย์สินต่อศาลสูงของออนแทรีโอ พร้อมย้ำว่า “บุคคลหรือองค์กรที่อ้างว่ามีสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึด สามารถยื่นหลักฐานและเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายได้”

เครื่องบินดังกล่าวจดทะเบียนในรหัส RA-82078 เป็น Antonov An-124-100 Ruslan หนึ่งในเครื่องบินขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ใหญ่เท่าตึก 7 ชั้น) มีขีดความสามารถในการบรรทุกได้ถึง 150 ตัน และถือเป็นทรัพย์สินเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในด้านพาณิชย์และการทหาร มีมูลค่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นของ Volga-Dnepr Airlines ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Volga-Dnepr Group ที่มีฐานอยู่ในรัสเซีย

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 แคนาดาได้สั่งยึดเครื่องบินดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และต่อมาในปี 2025 โดยมีเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้สินทรัพย์เหล่านี้กลับคืนสู่การควบคุมของรัสเซีย พร้อมทั้งประกาศแผนส่งมอบเครื่องบินให้กับรัฐบาลยูเครน เพื่อใช้ในการฟื้นฟูหลังสงครามและชดเชยเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม สายการบิน Volga-Dnepr Airlines ที่ตั้งอยู่ในเมืองอุลยานอฟสค์ ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องบินดังกล่าวได้ยื่นฟ้องคัดค้านในศาล โดยอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ พร้อมได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศรัสเซียที่ประณามการยึดเครื่องบินว่าเป็น 'การโจรกรรม'


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top