Monday, 5 May 2025
TheStatesTimes

จับตา!! ระเบิดเวลา 3 ลูกใหญ่เบ้อเริ่ม วัดชะตา ‘เศรษฐา’ วัดใจ ‘นายใหญ่’

ต้องยอมรับว่าระยะนี้ แม้จะมีระเบิดเวลาทางการเมืองลูกใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มหลายลูก แต่นายกรัฐมนตรี  ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ก็ยังได้รับแรงใจอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะการทำงานที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย…

หนำซ้ำกรณีไปหา ‘ดร.วิษณุ เครืองาม’ ทาบทามมาเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ได้สำเร็จ แม้กาลครั้งหนึ่งก่อนเลือกตั้งจะโพสต์ X จวก ‘ดร.วิษณุ’ ว่า “ไร้ยางอาย” ก็ตาม สื่อโซเชียลขุดมาแชร์ได้วันสองวันก็ผ่านไป

ว่ากันว่า...จังหวะเวลา ดวงชะตาของเศรษฐา ทวีสิน ค่อนข้างโชคดีเป็นพิเศษ เพราะ 

1) อยู่ในสถานการณ์การเมืองผสมขั้ว ภายใต้ ‘ดีลพิเศษ’
2) ลูกสาวนายห้างยังไม่พร้อมที่จะย่างก้าวมารับบทบาทที่เศรษฐาแสดงอยู่ 

อย่างไรก็ตาม...แม้เศรษฐาจะอยู่ในสถานะที่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของนายใหญ่ หรือแม้กระทั่งฝั่งอนุรักษ์ที่ร่วมดีลพิเศษ แต่สถานการณ์ในขณะนี้ก็ใช่ว่า เศรษฐาจะปลอดภัยปลอดโปร่งโล่งแจ้ง ตรงข้ามยังมีระเบิดเวลาทางการเมือง ที่มองเห็น ๆ กันอยู่ในขณะนี้ 3 ลูกใหญ่

1) คดีคุณสมบัติที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าต้นเดือน ส.ค. น่าจะรู้ผลว่าหมู่หรือจ่า แม้ราคาต่อรองขณะนี้จะอยู่ในระดับ 51 ต่อ 49 เชื่อว่ารอดแบบเฉียดฉิว แต่ก็อย่าเพิ่งวางใจ แม้จะมี ดร.วิษณุ  เครืองาม มาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ก็ตาม...เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว บางที ‘ดุลพินิจ’ ก็ไม่อาจฝืน..!!

2) กรณีทักษิณ-การนิรโทษกรรม สองเรื่องนี้ดูเหมือนจะเดินทางมาบรรจบพบกันที่ ‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ กล่าวคือทักษิณ ชินวัตร ถูกอัยการสั่งฟ้องคดีความผิดมาตรา 112 วันที่ 18 มิ.ย. อัยการจะนำตัวส่งฟ้องศาล ซึ่งก็คงได้ประกันตัว…แต่ชีวิตจะเหมือนถูกพันธนาการล่ามโซ่...การนิรโทษกรรมคือการปลดโซ่ ซึ่ง สส.เพื่อไทยหลายคนเริ่มเคลื่อนแล้ว ให้ กมธ.วิสามัญฯ ที่ศึกษาเรื่องนี้รวมเข่งคดี 112 ไปรวมกับคดีชุมนุมการเมืองอื่น ๆ ด้วย...แต่พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค รวมทั้งฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย…

ประชุมกมธ.วิสามัญ วันที่ 6 มิ.ย.นี้ ก็จะเห็นแนวที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทยดั้นเมฆจะเอาเหมาเข่งให้ได้ ก็สามารถทำได้โดยจับมือพรรคก้าวไกล เสียงเกินครึ่ง แต่บ้านเมืองอาจลุกเป็นไฟอีกครั้ง…เหมือนตอน ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย’ ปี 2556-57 ที่จบลงด้วย ‘ลุงตู่’ เข้ามาขอเวลาไม่นานแต่อยู่ยาว 9 ปีหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

3) โครงการเติมเงิน ดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท...โครงการนี้นับถอยหลังการแจกเงิน ดูกันตั้งแต่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2568 ที่จะตั้งงบ 1.72 แสนล้านบาท และใช้นวัตกรรมหมุนงบ 2567 มาใช้อีกไม่น้อยกว่า 1.75 แสนล้านบาท...และก้อนสุดท้ายเอามาจาก ธกส.

วันนี้ทุกอย่างยังไม่เห็นรายละเอียดเพิ่มเติม...แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ‘ภูมิใจไทย’ และ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ พร้อมจะปฏิเสธ..ไม่เล่นด้วยทันทีหากผิดกฎหมาย...นับเป็นอะไรที่น่าหวาดเสียวตื่นเต้นยิ่ง..

อนึ่ง!! มีการสมมุติถ้าเศรษฐาหลุดจากตำแหน่งจริง ๆ ระหว่างนายห้างหรือนายใหญ่ต้องเสียสละ กินยาทัมใจให้ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน  ชาญวีรกูล แห่งค่ายสีน้ำเงินเป็นนายกฯ แทนลูกสาว กับเดินหน้าดันลูกสาวเป็นนายกฯ เอง หรือพลิกขั้วไปจับมือก้าวไกล นายห้างจะเลือกทางไหน...เขาเชื่อกันว่า นายห้างเลือกที่จะดันสูกสาวตัวเอง...

สวัสดี!!

‘ตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน’ เลี้ยงง่าย ขายได้ราคาดี 360 บ./กก. อุดมไปด้วยโปรตีน เป็นที่ต้องการของตลาดแมลงทอด

(4 มิ.ย. 67) ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านไสใหญ่ หมู่ที่ 7 ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง นายอาคม ครชาตรี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ได้พาผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมภายในศูนย์ฯ โดยเฉพาะที่ฐานการบิน ได้มีการเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน ซึ่งถือเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยมีแนวคิดจากตัวเองไม่มีเวลาจึงได้ทดลองเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จ และต่อยอดให้เกษตรกรลูกบ้านได้นำไปเลี้ยงสร้างรายได้ต่อไป

นายอาคม ครชาตรี บอกว่า สำหรับพื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งมีการปลูกไม้ป่า ไม้ใช้สอย เลี้ยงปลา เลี้ยงผึ้งโพรง และล่าสุดคือ เลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน ซึ่งก็ได้นำมาทดลองเลี้ยงโดยศึกษาจากยูทูบ (Youtube) ประมาณเกือบปี โดยขณะนั้นไข่ตั๊กแตนขายอยู่ที่ขีดละ 1,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 10,000 บาท และตนเองได้ทดลองซื้อมา จำนวน 3 ขีด ผลปรากฏว่าการเลี้ยงตั๊กแตนสร้างรายได้ดีจริง

ทั้งนี้ หลังจากที่ตั๊กแตนแตกตัวออกจากไข่ จากนั้นประมาณ 33 วัน ตั๊กแตนก็จะจับคู่กัน หลังจากนั้นก็ไข่ ซึ่งอายุตั๊กแตนที่สามารถขายได้ก็ประมาณ 2 เดือน หรือหลังจากที่พวกมันออกไข่ครั้งแรกก็สามารถจับขายได้เลย ซึ่งในพื้นที่แถวภาคใต้มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 360 บาท แต่ขณะนี้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด มีลูกค้าสั่งเข้ามาตลอด และในอนาคตกำลังเตรียมต่อยอดทำแปรรูปตั๊กแตนด้วย

สำหรับอาชีพเลี้ยงตั๊กแตนนั้น เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลามาก เพราะไม่ต้องซื้ออาหาร ไม่ต้องให้น้ำ ให้แต่ใบกล้วย ใบอ้อย ใบพืชต่าง ๆ ให้ตั๊กแตนกินเป็นอาหาร ส่วนพื้นที่เลี้ยงตั๊กแตนจะสร้างโรงเรือนที่มีมุ้งชนิดสีขาว ตรา 32 เพราะมีความทนเพื่อป้องกันตั๊กแตนกัดตัวมุ้ง ขณะที่พื้นโรงเรือนจะใส่ทรายเพื่อให้ตั๊กแตนได้วางไข่ ในส่วนของมูลตั๊กแตน ตนเองก็ยังนำไปใส่เป็นปุ๋ยให้กับพืชผักที่ปลูกไว้ ได้ประโยชน์ครบวงจรเลยทีเดียว

โดยตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน สามารถนำไปบริโภคได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเลี้ยงแบบธรรมชาติ จึงไม่มีสารเคมีใด ๆ เลย ซึ่งเหมาะต่อการนำไปทำตั๊กแตนทอด เพราะมีคุณค่าทางอาหารคือโปรตีนสูง ทั้งนี้ หากผู้ใดสนใจอยากเรียนรู้เรื่องการเลี้ยง หรือจะซื้อตั๊กแตน สามารถติดต่อได้ทางเฟซบุ๊ก ผู้ใหญ่อาคม ครชาตรี หรือ โทร.094-709-7893

‘สหรัฐฯ’ จ่อโหวตร่างกม.คว่ำบาตร 'ศาลอาญาโลก' โต้หมายจับ 'เนทันยาฮู' ไม่หวั่น!! แม้ลบหลู่ระเบียบระหว่างประเทศที่ สหรัฐฯมีส่วนช่วยสร้างขึ้นมา

เมื่อวานนี้ (3 มิ.ย. 67) เว็บไซต์ The Hill รายงานว่า คณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านร่างรับตัวกฎหมาย ด้วยคะแนน 9-3 โดยมีวัตถุประสงค์ในการคว่ำบาตร เจ้าหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ไอซีซี เป็นการตอบสนองต่อ อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ คาริม เอ. เอ. คาน กับข้อกล่าวหาและความพยายามในการออกหมายจับต่อ นายกรัฐมนตรี นายเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล และ ผู้นำของกลุ่มฮามาส ยายาห์ ซินวา ในฐานะอาชญากรสงคราม

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของทำเนียบขาวก่อนหน้านี้นั้น ไม่ได้สนับสนุนตัวร่างกฎหมาย คารีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกของทำเนียบขาว ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อจุดยืนของทำเนียบขาวว่า แม้ว่าจะสนับสนุนการตอบโต้ข้อกล่าวหาที่เสนอโดยไอซีซี แต่ไม่ได้สนับสนุนการคว่ำบาตรต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

"เราปฏิเสธคำร้องของอัยการไอซีซี ในการออกหมายจับผู้นำอิสราเอล แต่การจะคว่ำบาตรไอซีซีนั้น เราไม่เชื่อว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพหรือเหมาะสม" คารีน กล่าว

นอกจากนี้มีรายงานว่าฝ่ายบริหารในทำเนียบขาว คัดค้านร่างกฎหมายนี้อย่างมาก และมีความเป็นไปได้สูงว่า หากตัวร่างสามารถผ่านสองสภาไปได้จนถึง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีความเป็นได้สูงว่าประธานาธิบดีไบเดนจะใช้อำนาจวีโต้ของตัวเอง ในการหยุดตัวกฎหมายเอาไว้

ถึงอย่างนั้น มาตรการอื่นที่เป็นตัวเลือกตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องด้วยสหรัฐฯ ไม่เคยลงสัตยาบันยอมรับอำนาจและหลักการของศาลอาญาระหว่างประเทศมาตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุนี้ในทางปฏิบัติแล้ว สหรัฐฯ ไม่เคยอยู่ในอำนาจตุลาการของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มอบเงินทุนสนับสนุนในการปฏิบัติงานของศาลอาญาโลก

โดยรายละเอียดของตัวร่างกฎหมาย ถูกนำเสนอโดยสมาชิกสภาคองเกรส จากรัฐเท็กซัสสังกัด พรรครีพับลิกัน ชิป รอย ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกคองเกรสคนอื่นๆ มากกว่า 60 คน โดยในด้านของรายละเอียดตัวกฎหมายประกอบด้วยมาตรการต่างๆ อย่าง การกีดกันการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินในสหรัฐฯ หรือ การเพิกถอนวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐฯ และ มาตรการอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่ทำการสืบสวน หรือ จับกุม พลเมืองในเขตอำนาจของสหรัฐฯ รวมไปถึงพันธมิตรของสหรัฐฯ

มีรายงานว่า มีการคาดการณ์และคาดหวังว่าตัวร่างกฎหมายจะผ่านการโหวตไปในสภาคองเกรสไปอย่างง่ายได้ ด้วยที่พรรครีพับลิกันครอบครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาคองเกรสอีกจำนวนหนึ่ง จากพรรคเดโมแครต ที่แสดงจุดยืนอย่างแข็งกร้าวในการสนับสนุนอิสราเอลในสงครามกับฮามาส แต่ว่าจุดยืนของประธานาธิบดี โจ ไบเดน อาจจะมีอิทธิพลต่อ สมาชิกสภาคองเกรสของพรรคเดโมแครตในการตัดสินใจ

แต่ในสภาสูงนั้นเป็นไปในทางตรงกันข้าม เนื่องด้วยที่สภาสูงของสหรัฐ อยู่ในการควบคุมของพรรคเดโมแครต ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าต่อให้ร่างกฎหมายจะผ่านสภาร่างมาได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกปัดตกโดยการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา

จิม แมคกอฟเวิร์น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดโมแครตจากมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เป็นร่างกฎหมายที่แย่ โดยให้เหตุผลว่าศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นสถาบันที่สำคัญในการรักษา และ ปกป้องหลักการสิทธิมนุษยชนสากล โดยที่หลักศีลธรรม หรือ หลักการทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ไม่ควรส่งผลต่อการออกแบบนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการเข้าไปขัดขวางศาลอาญาระหว่างประเทศในการทำหน้าที่โดยกำเนิดของตัวสถาบัน

โดยแมคกอฟเวิร์น ยังระบุด้วยว่า "ร่างกฎหมายนี้ จะเป็นการลบหลู่ระเบียบระหว่างประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ มีส่วนช่วยสร้างมันขึ้นมา"

เรื่องนี้ยังคงต้องจับตา ตัวร่างกฎหมาย ที่จะเข้าสู่การประชุมและโหวตในสภาคองเกรส โดยคาดการณ์ว่าด่านแรกอย่าง สภาคองเกรสจะมีการโหวตภายในสัปดาห์หน้า

‘พีระพันธุ์’ วางระบบคุมราคาน้ำมันที่เป็นธรรม ‘ผู้ค้าฯ’ ต้องพิสูจน์ต้นทุน ก่อนขอรับเงินชดเชย

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 14/2567 เพื่อพิจารณาแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ หรือ SPR  (Strategic Petroleum Reserve) ของประเทศไทย

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้มอบนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการกำกับราคาน้ำมันให้มีความเป็นธรรมและป้องกันการค้ากำไรเกินควร โดยในแนวทางนี้รัฐจะเป็นผู้กำหนดราคากลาง หรือ Benchmark ในขณะที่ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องนำหลักฐานต่าง ๆ มาพิสูจน์ต้นทุนที่แท้จริง ทั้งหลักฐานที่กรมศุลกากร หลักฐานที่แบงก์ชาติ หลักฐานที่ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงหลักฐานที่แสดงต่อกรมสรรพากร เพื่อขอรับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในกรณีที่ขาดทุนจากจำหน่ายตามราคาที่รัฐกำหนด

“ทุกวันนี้เราต้องนั่งรอข้อมูลจากผู้ค้าฯ แต่ต่อไปผู้ค้าฯ ต้องมาพิสูจน์ว่าขาดทุนตรงไหน? อย่างไร? พร้อมหลักฐานที่จะต้องตรงกันหมด ทั้งหลักฐานที่กรมศุลกากร หลักฐานที่แบงก์ชาติ หลักฐานที่ธนาคารพาณิชย์ และหลักฐานที่แสดงต่อกรมสรรพากรต้องตรงกันหมด ถ้าไม่ตรงก็ถือว่ามีปัญหา ก็ไม่ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็ใช้ราคาหลวง เช่น เราคํานวณ benchmark ที่ 84 เหรียญ ถ้าจะให้รัฐชดเชย ก็ต้องมาว่าพิสูจน์ว่า ทําไมราคาของคุณถึงสูงกว่าราคาตลาดโลก ถ้าพิสูจน์ได้ ก็ได้รับชดเชยไป แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ หรือไม่พิสูจน์ บอกว่าเป็นความลับ ก็เจ๊ากันไป ไม่ได้รับชดเชย เท่านั้นเอง ผมว่าต้องเป็นระบบแบบนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าของการจัดตั้งระบบ SPR นั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องผลการศึกษาการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศและประเทศไทย การศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของการจัดตั้งระบบ SPR ในประเทศไทย การกำหนดอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ รวมไปถึงรูปแบบการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง กลไกบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง การนำน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาใช้ โครงสร้างองค์กรใหม่ การจัดตั้งกองทุน การบริหารจัดการ การกำกับติดตามและตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมาย การดำเนินการในระยะเริ่มต้น การถ่ายโอนภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่างกฎหมาย ตลอดจนการจัดหาพื้นที่เก็บสำรองด้วย

ชลบุรี-DSI ตรวจตู้ 17 คอนเทนเนอร์ ตกค้างพบเนื้อสุกรนำเข้าผิดกฎหมาย

DSI ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง พบเนื้อสุกร ชิ้นส่วนสุกร ผิดกฎหมาย 10 บริษัท นำเข้า โดยมี 4 บริษัท เคยถูกดำเนินคดีไปแล้ว ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ อยากให้ DSI ขยายผลกลุ่มปลอดอากร ที่เป็นกลุ่มใหญ่รวมทั้งห้องเย็นที่จะนำหมูออกมาทุบราคา ตอนหมูมีราคาดีขึ้น

เมื่อวานนี้ 4 มิ.ย.67 ที่ท่าเทียบเรือ D ภายในท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคดีจับกุมขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วย นายดิเรก คชารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่จากกรมประมง นายสัตวแพทย์ จิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี และผู้แทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเปิดสำรวจตู้คอนเทนเนอร์ และดำเนินการกับตู้ของตกค้างประเภทซากสุกรแช่แข็งและตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิ (reefer container) อื่น ๆ จำนวน 17 ตู้คอนเทนเนอร์ ที่คงค้างภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง ที่ลักลอบนำเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อหมู หมูสามชั้น เครื่องในหมู และปลา เข้าสู่ประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย โดยพบว่ามีทั้งหมด 10 บริษัท ที่นำเข้ามา โดยมี 4 บริษัท ที่เคยถูกดำเนินคดีไปแล้ว ส่วนอีก 6 บริษัท เป็นบริษัท ที่ยังไม่ดำเนินคดี ทางด้านตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ อยากให้ DSI มีการสอบสวนขยายผล เกี่ยวกับการนำเข้าในรูปแบบของการปลอดภาษีอากร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก รวมถึงห้องเย็นในเขตปลอดอาการที่ทำเหมือนส่งออก แต่กลับนำชิ้นส่วนสุกรส่งกลับมากระจายตามห้องเย็นต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำหมูกลุ่มดังกล่าวออกมาทุบราคาตอนหมูเริ่มมีราคาดีขึ้น

นาย อานัน ไตรเดชาพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า อยากให้ DSI ตรวจสอบขยายผลการที่มีเนื้อสุกรเถี่อนลักลอบเข้ามาในประเทศ ในเส้นทางเขตปลอดอากร เนื่องจากเข้ามาทางนี้ได้สิทธิพิเศษโดยการไม่เสียภาษี แล้วปล่อยออกมาสู่ท้องตลาด ซึ่งถือว่าเป็นภัยอย่างมาก เนื่องจากการลักลอบนำเนื้อสุกรเข้ามา มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มสำแดงเท็จ และกลุ่มปลอดภาษีอากร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่ากลุ่มแรก เชื่อว่ากลุ่มนี้ยังคงมีอยู่ทำให้ราคาหมูยังไม่ดีขึ้น จากการรายงานของบริษัท หมูหลายๆ แห่ง เปิดเผยว่ามีหมูเหล่านี้ออกมาก่อกวนตลาด ทำให้ราคาหมูไม่ขึ้น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบขยายผลและในขณะนี้ทางสมาคมได้ยื่น 6 ข้อเรียกร้องไปแล้ว โดยมีอยู่ข้อหนึ่งกล่าวถึง ว่ามีการนำเข้าย้อนหลังถึง 1 หมื่นล้าน และมีลูกค้าถึง 100 รายมีอยู่ 1 รายมีการนำเข้าถึง 6 พันล้าน ซึ่งรายงานตัวนี้ จากสื่อสาธารณะส่วนใหญ่ไม่ได้มีการขยายผล ซึ่ง DSI เปิดเผยว่ากำลังติดตามอยู่ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยให้สื่อรู้ ในส่วนของห้องเย็นในกลุ่มของเขตปลอดอากร ทำเหมือนส่งออกแล้วส่งกลับมาตามห้องเย็นต่างๆ ทั่วประเทศ เรื่องนี้ DSI ก็ได้ตามว่าห้องเย็นเหล่านี้มีที่ไหนบ้าง เพราะว่าพวกนี้อยู่ในเครือข่ายของการกระทำความผิด แล้วไปกระจายตัว พอเวลาหมูเริ่มจะมีราคาดีขึ้น ก็เอาหมูออกมาทุบราคา ซึ่งเป็นความเสี่ยงของหมู ตามกระบวนการต่างๆ ที่จะยกระดับราคาหมู จะทำได้ยาก ถ้ามีหมูในกลุ่มนี้อยู่

พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ได้มาตรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่ลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนของเนื้อสุกรพวกตับหมู เซ่งจี้ หมูสามชั้น แต่มีตู้ที่ 17 ที่ตรวจพบว่าเป็นปลาและมีเนื้อหมูอยู่ด้านใน จำนวน 17 ตู้ มีทั้งหมด 4 บริษัท ที่ดำเนินคดีไปแล้ว ยังมีที่เหลืออีก 6 บริษัท ที่ยังไม่เคยถูกดำเนินคดี และมีการตรวจยึดในครั้งนี้ด้วย ก่อนหน้านี้มีตู้ตกค้างทั้งหมด 90 ตู้ ซึ่งมี 74 ตู้ ที่ทางปศุสัตว์แจ้งความดำเนินคดีกับสภ.แหลมฉบัง ซึ่งมีการทำลายไปแล้ว ในส่วนนี้จะมีการประสานกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วน 16 ตู้ + 1 ตู้ในวันนี้ กรมศุลกากรฯ ได้ส่งให้ทาง DSI ดำเนินการโดยตรง จึงมาทำการเปิดตู้ดูว่าเป็นสินค้าอะไร เพื่อดำเนินคดี เบื้องต้นพบว่ามี 4 บริษัท ที่เราดำเนินคดีไปแล้ว และอีก 6 บริษัท ที่เราต้องทำการตรวจสอบดำเนินคดีสอบสวนขยายผล ต่อไป

ทำไม 'ไทย' ต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่ยัง 'ผลิตได้-ส่งออกด้วย'

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย. 67) เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน ได้เผยแพร่บทความ ‘เขียนเล่าข่าว EP. 55 - ทำไมไทยยังต้องนำเข้าน้ำมัน แม้จะผลิตน้ำมันได้เองและมีน้ำมันส่งออก’ โดยระบุข้อความว่า…

คำถามเกี่ยวกับเรื่องน้ำมัน ซึ่งยังมีคนสงสัยและดูเหมือนจะยังไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างในใจสักที ว่าทำไมเราต้องนำเข้าน้ำมัน และทำไมถึงไม่สามารถขายน้ำมันในราคาถูกให้คนในประเทศใช้ได้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันอยู่ในประเทศตัวเอง แถมยังมีการส่งออกอีกด้วย

คำตอบที่พยายามจะอธิบายให้คนที่ยังมีความสงสัยได้เกิดความกระจ่างในใจ ก็คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากแหล่งผลิตในต่างประเทศมาใช้ ก็เพราะแหล่งน้ำมันที่เรามีอยู่ในประเทศนั้นผลิตน้ำมันดิบได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้

ส่วนการที่เรามีน้ำมันส่งออกด้วยนั้น ก็เป็นน้ำมันจาก 2 ส่วน ส่วนแรกคือน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในประเทศ ที่คุณภาพไม่เหมาะกับโรงกลั่นในประเทศ เพราะมีสารปนเปื้อนสูง และส่วนที่สอง คือน้ำมันสำเร็จรูป ที่โรงกลั่นน้ำมันกลั่นออกมามากเกินความต้องการใช้ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า ในปี 2566 ตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ ทำได้ประมาณ 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน เท่านั้น แต่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ประมาณ 1.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปริมาณที่ผลิตได้หลายเท่าตัว ดังนั้น จึงต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามาเติมความต้องการอีกประมาณ 0.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ส่วนข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน รายงานว่า การผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่มาจากโรงกลั่นในประเทศในปี 2566 นั้น มีกำลังผลิตรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 174 ล้านลิตรต่อวัน (น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่มาจากน้ำมันดิบที่นำเข้า) ในขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 152 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปส่วนที่เกินกว่าความต้องการใช้ก็ได้ทำการส่งออก อย่างไรก็ตามมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ได้มาจากโรงกลั่นในประเทศเพื่อมาใช้ อีกประมาณเฉลี่ย 9 ล้านลิตร/วัน

โดยสรุป ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียงประมาณ 10% ของปริมาณการใช้เท่านั้น และบางส่วนมีสารปนเปื้อนสูงเกินกว่าที่โรงกลั่นในประเทศจะรับได้ จึงจำเป็นต้องส่งออก ดังนั้นน้ำมันดิบส่วนที่ขาดจึงต้องมีการนำเข้าอีกกว่า 90% โดยประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากกลุ่มตะวันออกกลางประมาณ 57% ตะวันออกไกล 19% และแหล่งอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ลิเบีย ออสเตรเลีย อีกรวม 24%

การที่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบส่วนใหญ่กว่า 90% นั้นทำให้การกำหนดราคาขายต้องอ้างอิงกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก ดังนั้นเมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้น ราคาขายในประเทศก็ต้องปรับขึ้นตาม ในทางกลับกัน หากราคาตลาดโลกปรับลดลง ราคาขายในประเทศก็จะปรับลดลงด้วย เพียงแต่ว่าการปรับราคาอาจจะไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริงแบบเรียลไทม์ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องนำมาคิดคำนวณด้วยอีกหลายประการ เขียนอธิบายมาถึงบรรทัดนี้ ก็หวังว่าผู้อ่านจะมีข้อมูลและความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการนำเข้าน้ำมันมากขึ้น

ย้อนประวัติศาสตร์การล่มสลายของ ‘ราชอาณาจักรฮาวาย’ ถูกโค่นโดยนายทุน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สหรัฐอเมริกา’


มลรัฐฮาวาย (Hawaii) เป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก ฮาวายได้รวมเข้ากับสหรัฐอเมริกาเป็นมลรัฐลำดับสุดท้ายคือลำดับที่ 50 ในวันที่ 21 สิงหาคม 1953 โดยฮาวายอยู่ห่างจากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่สหรัฐอเมริกาประมาณ 3,700 กม. (2,300 ไมล์) แต่เดิมฮาวายถูกเรียกว่า ‘หมู่เกาะแซนด์วิช’ (Sandwich Islands) ชื่อนี้ถูกตั้งโดย ‘เจมส์ คุก’ เมื่อเขาแล่นเรือมาพบเกาะในปี 1778) มีจำนวนประชากรราว 1,455,271 คน (ข้อมูลปี 2015) โดยมีนครโฮโนลูลูเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ ภาษาทางการของรัฐคือ ภาษาอังกฤษ และ ภาษาฮาวาย ฮาวายได้มีชื่อเล่นของรัฐว่า ‘รัฐอโลฮา’ (Aloha State) ซึ่งคำว่า ‘อโลฮา’ เป็นคำทักทายในภาษาฮาวาย มีความหมายถึง ‘สวัสดี’ หรือ ‘ลาก่อน’ (ใช้ตามแต่โอกาส)


อย่างไรก็ตาม มลรัฐฮาวายประกอบไปด้วยเกาะสำคัญๆ 8 เกาะ ซึ่งก็คือ (1) Ni’ihau, (2) Kauai, (3) Oahu เป็นที่ตั้งเมืองหลวงคือ นครฮอนโนลูลู เป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของสหรัฐฯ, (4) Maui, (5) Molokai เนื้อที่ 260 ตารางไมล์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองฮาวาย, (6) Lanai, (7) Kaho’olawe และ (8) Hawaii หรือ Big Island เป็นเกาะที่มีเนื้อที่มากที่สุดคือ 4,000 ตารางไมล์


(ธงชาติของราชอาณาจักรฮาวาย)

โดย มลรัฐฮาวาย แต่เดิมคือราชอาณาจักรฮาวาย (Kingdom of Hawaii) เป็นราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะฮาวาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 1795 และล่มสลายไปประมาณปี 1893 - 1894 ราชอาณาจักรฮาวายก่อตั้งขึ้นโดย พระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช หลังจากที่พระองค์ทรงชนะสงครามที่ยาวนานถึง 15 ปี พระองค์ได้ปราบดาภิเษกตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ราชอาณาจักรฮาวายมีระบอบการปกครองแบบมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่ปี 1795 จนกระทั่งปี 1840 และ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 1840 จนกระทั่งปี 1893 ราชวงศ์คาเมฮาเมฮาปกครองฮาวายในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1810 ถึงปี 1893 ราชอาณาจักรฮาวายปกครองโดยอีกสองราชวงศ์คือ ราชวงศ์คาเมฮาเมฮา และ ราชวงศ์คาลาคาอัว หลังจากพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 สวรรคต พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชโอรสก็ทรงปกครองฮาวายต่อมาตามลำดับ ช่วงเวลานี้สมเด็จพระราชินีลิโฮลิโฮ พระอัครมเหสีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ และมีคูฮินา นูอิทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล (คล้ายกับนายกรัฐมนตรี)


(พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

ทั้งนี้ พระเจ้าลูนาลิโลแห่งฮาวาย (ราชวงศ์คาลาคาอัว) ทรงไม่มีรัชทายาท รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงต้องเลือกระหว่างสมเด็จพระราชินีเอ็มมา นาเอ รูก พระราชินีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 4 กับเดวิด คาลาคาอัว ในระหว่างการตัดสินนั้นเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นมากมาย จนในที่สุด ‘เดวิด คาลาคาอัว’ ก็ได้ครองราชย์บัลลังก์ฮาวาย ทรงพระนามว่า ‘พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งฮาวายง เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง พระองค์จึงต้องประกาศแต่งตั้งรัชทายาท พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้เจ้าหญิงลีลีโอกาลานี พระขนิษฐาของพระองค์ให้เป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์


(สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

การล่มสลายของราชอาณาจักรฮาวาย เกิดขึ้นภายหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายครองราชย์ ด้วยเพราะ นักธุรกิจชาวยุโรปและชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต่างไม่พอใจการปกครองของพระองค์ เนื่องจากพวกเขาต้องการผนวกฮาวายให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากการค้าน้ำตาลในฮาวายให้ได้มาก ๆ  (สหรัฐฯ นำเข้าน้ำตาลจากฮาวายมากที่สุด โดยนายทุนใหญ่ ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นชาวอเมริกัน) จึงเริ่มกระบวนการการผนวกฮาวาย โดยเริ่มจากการจัดตั้ง ‘คณะกรรมาธิการความปลอดภัย’ ขึ้นเพื่อต่อต้านและต่อสู้กับสมเด็จพระราชินีฯ จนในที่สุดรัฐบาลสหรัฐได้ส่งเรือรบพร้อมนาวิกโยธินเข้ามายึดฮาวาย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy* ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีและพระราชวงศ์ฮาวายไม่อาจต้านทานได้ การปฏิวัติฮาวาย เกิดขึ้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 1893 โดย ‘แซนฟอร์ด บี ดอล’ และพรรคพวกได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลฮาวายขึ้น เพื่อปกครองฮาวายจนกว่าจะถูกผนวกเข้ากับสหรัฐอเมริกา พวกเขาจับกุมพระราชินีและพระราชวงศ์และสั่งจำคุก จากนั้นก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐฮาวาย ราชอาณาจักรฮาวายถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 7 กรกฎาคม 1898 โดยฮาวายได้รับการอนุมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในสมัยประธานาธิบดีวิลเลียม แมกคินลีย์ จึงถือเป็นการสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรฮาวาย
*อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘นโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy’ https://thestatestimes.com/post/2024042211


(พิธีเชิญธงชาติสหรัฐฯ ขึ้นสู่ยอดเสาหน้าพระราชวังโอลานิ หลังจากสหรัฐฯ ยึดครองฮาวายได้สำเร็จ)

สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานี ทรงถูกจับกุมเมื่อ 16 มกราคม 1895 พระองค์ถูกตัดสินให้จำคุก 5 ปี ทำงานหนัก และปรับ 5,000 ดอลลาร์ โดยพระองค์ถูกขังในพระราชวังโอลานิ ผู้สนับสนุนพระองค์ถูกตัดสินจำคุกทั้งหมด รวมทั้งรัฐมนตรีโจเซฟ นาวาฮี เจ้าชายคาวานานาโคอา โรเบิร์ต วิลค็อก และเจ้าชายโจนาห์ คูฮิโอ พระองค์ทรงถูกกักบริเวณในที่พักเป็นเวลาหนึ่งปี และในปี 1896 สาธารณรัฐฮาวายก็คืนสิทธิการเป็นพลเมืองแก่พระองค์ หลังจากพ้นโทษ พระองค์ก็ทรงอาศัยอยู่ที่พระราชวังวอชิงตันจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1917 เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง พระบรมศพของพระองค์ได้รับการจัดพิธีฝังอย่างสมพระเกียรติในฐานะอดีตประมุขแห่งรัฐ โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ถูกบริจาคให้ "กองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีเพื่อเด็กกำพร้าและยากจน" ซึ่งกองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานียังคงมีอยู่ในปัจจุบัน สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่ปกครองราชอาณาจักรฮาวาย โดยครองราชย์เพียง 2 ปี


(Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)


(Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตาม ต่อมา (1) Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar บุตรีของเจ้าหญิง Helena Kalokuokamaile Wilcox แห่งราชวงศ์ Kalokuokamaile และ (2) Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele ผู้นำชาตินิยมฮาวาย และมีตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐของกลุ่ม Nation of Hawai'i เป็นหัวหอกในการก่อตั้ง Pu'uhonua o Waimānalo หมู่บ้านวัฒนธรรมฮาวาย และโครงการฟื้นฟูการเกษตรแบบดั้งเดิมของ Lo'i kalo (taro paddy) ใน Waimānalo, Hawai'i Pu'uhonua ซึ่งภาษาฮาวายมีความหมายว่า ‘สถานที่ศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘สถานที่หลบภัย’ โดยกลุ่ม Nation of Hawai'i ซึ่งทำหน้าที่บริหารหมู่บ้านถือว่าตัวเองเป็นรัฐบาลที่มีอธิปไตยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศโดยทำหน้าที่เป็นรัฐสืบต่อจากราชอาณาจักรฮาวายที่เป็นเอกราช ดังนั้นจึงไม่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา โดย Kanahele ได้อ้างตัวเป็นผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 Kanahele กลายเป็นที่รู้จักกันในเรื่องของการเคลื่อนไหวเพื่ออำนาจอธิปไตยของฮาวาย ซึ่งต่อต้านกฎหมายของรัฐบาลกลางและความเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผย ทั้งสองต่างก็เป็นผู้อ้างสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายจนปัจจุบัน 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล 
 

'รมว.ปุ้ย' เยือนหูหนาน ศึกษา 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ'สร้างสัมพันธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในอนาคต

ไม่นานมานี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำทีมอุตสาหกรรมประเทศไทย พบปะ นายเหมา เว่ยหนิง ผู้ว่าการมณฑลหูหนาน และเข้าพบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลายส่วน

งานนี้ รมว.ปุ้ย และทีมอุตสาหกรรมไทยได้มีโอกาสพบผู้บริหารของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนัก แบรนด์ SANY และ ZOOMLION ซึ่งแบรนด์คุ้นหูคุ้นตาในเมืองไทย มีผู้ประกอบการไม่น้อยเริ่มใช้เครื่องจักรกลแบรนด์นี้ และมีการลงทุนในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ ยังไปเยี่ยมชมการผลิตระบบการจัดการพลังงาน ความปลอดภัย ระบบเมืองอัจฉริยะ กลุ่ม Wasion Holding Limited ซึ่งมีข้อดีหลายประการที่สามารถนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมในเมืองไทยได้อย่างมากอีกด้วย

สำหรับมณฑลหูหนาน เป็นพื้นที่อุดมไปด้วยทรัพยากรต้นธารของอุตสาหกรรมสำคัญของโลกหลายชนิด ทั้งกลุ่มโลหะ อโลหะ โดยอุตสาหกรรมหลักของที่นี่คือ ยานยนต์สมัยใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีหุ่นยนต์ 

"ปัจจุบัน จีนได้ประกาศใช้เศรษฐกิจวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับ 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ' (Internal Circulation) ควบคู่ไปกับ 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจต่างประเทศ' (External Circulation) และมีความสอดคล้องกับประเทศไทย ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี พ.ศ.2564 - 2568) รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญอย่างมากค่ะ...

"ดังนั้น การเข้าเยี่ยมคารวะท่านผู้ว่าการมณฑล และผู้ประกอบการรายสำคัญในครั้งนี้ จึงเป็นช่องทางสัมพันธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในอนาคต โดยดิฉันได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการลงทุนพัฒนาแบบสองทาง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคง นี่คือประเด็นสำคัญ"

'กทม.' ซื้อเครื่องออกกำลังกายป้อน 2 ศูนย์ แตะ 10 ล้าน โซเชียลข้องใจ!! เทียบราคาตลาดแล้ว ต่างกันสูงมาก

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย’ โพสต์บทความหัวข้อ ‘กทม.จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายเครื่องละ 4 แสน’ โดยระบุว่า…

"เครือข่าย STRONG ต้านทุจริตประเทศไทยพบเห็นความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ส่อแพงจริงภายในศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ รวมกัน 2 ที่ เกือบ 10 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นที่ศูนย์วารีภิรมย์ 4,999,990 บาท จัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย 11 รายการ ดังนี้

1. อุปกรณ์ลู่วิ่งไฟฟ้า 1 เครื่อง 759,000 บาท
2. จักรยานนั่งเอนปั่นแบบมีพนักพิง 1 เครื่อง 483,000 บาท
3. จักรยานนั่งปั่นแบบนั่งตรง 2 เครื่อง เครื่องละ 451,000 บาท
4. อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้า 1 เครื่อง 466,000 บาท
5. อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อขาด้านหน้าและขาด้านหลัง 1 เครื่อง 477,500 บาท
6. อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อห้วงไหล่ อก และหลังแขน 1 เครื่อง 483,000 บาท
7. อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้ออเนกประสงค์ 1 เครื่อง 652,000 บาท
8. ชุดดัมบ์เบลพร้อมชั้นวาง 1 เครื่อง 276,000 บาท
9. อุปกรณ์บาร์โหนฝึกกล้ามเนื้ออเนกประสงค์ 1 เครื่อง 302,490 บาท
10. เก้าอี้ฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้อง 1 เครื่อง 103,000 บาท
11. เก้าอี้ฝึกดัมบ์เบลแบบปรับระดับได้ 1 เครื่อง 96,000 บาท

และอีกที่คือ ศูนย์วชิรเบญจทัศ 4,998,800 บาท 11 รายการ ราคาสูงผิดปกติเช่นกัน

รายการเครื่องออกกำลังกายต่าง ๆ ที่ กทม.จัดซื้อ เมื่อเทียบกับราคาตลาดแล้ว ราคาช่างแตกต่างกันสูงมาก เช่น เก้าอี้ฝึกดัมบ์เบลแบบปรับระดับได้ ราคาตลาดเกรดดี ไม่เกิน 3 หมื่นบาท แต่ กทม.จัดซื้อ 96,000 บาท งานนี้ส่วนต่างเพียบ..

เมื่อลองขุดลึก ๆ ลงไปอีกพบว่าเฉพาะปี 2567 กทม.จัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องออกกำลังกายกว่า 9 โครงการ ด้วยงบประมาณกว่า 77.73 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่อแพงเกินจริงเหล่านี้ทำให้รัฐสูญเสียเงินไปอย่างสิ้นเปลือง ต้องตรวจแบบเข้ม ๆ อย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ เพจดังกล่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า แข่งกัน 2 เจ้า เวลาบิด (ประมูล) ห่างกัน 700 บาท ต่ำกว่าราคากลางแค่ 1,190 บาท ส่วนศูนย์นันทนาการฯ โครงการนี้เกือบ 18 ล้าน แต่ละรายการวิ่งไปบนฟ้าได้เลย ราคาน่าสงสัยมาก ๆ สตง.จะว่าอย่างไรบ้าง

‘กฟผ.’ จับมือ ‘มิตซูบิชิฯ’ พัฒนาไฮโดรเจนผลิตไฟฟ้าร่วมก๊าซธรรมชาติ หวังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด - ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2065

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.67) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายนรินทร์ เผ่าวณิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมประชุมหารือความร่วมมือทวิภาคีด้านพลังงานระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ครั้งที่ 6 (The 6th Japan-Thailand Energy Policy Dialogue : 6th JTEPD) ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมติดตามความก้าวหน้าของความร่วมมือ และนำเสนอโครงการ แนวทางนโยบาย แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์พลังงาน โดยมุ่งเน้นพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานในอนาคต

ทั้งนี้ ในงานประชุมครั้งนี้ กฟผ.ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ เพื่อร่วมศึกษาศักยภาพและพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสำหรับกังหันก๊าซ (Gas Turbine) โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการเปลี่ยนด้านพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศ ในการเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดตามแผนพัฒนาพลังงานและแนวทางส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนของประเทศไทย ที่ริเริ่มนำเชื้อเพลิงทางเลือกและเชื้อเพลิงสะอาดมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ของญี่ปุ่น เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางเทคโนโลยีและแผนพัฒนาโครงการไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) กับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น นำไปสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top