Friday, 9 May 2025
TheStatesTimes

DSI จับมือทัพเรือภาค 3 ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบพื้นที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน คดีพิเศษที่ 59/2564

สืบเนื่องจากทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เนื้อที่ 3,763 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ต่อมาทัพเรือภาคที่ 3 ได้ตรวจสอบภายในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต พบว่ามีผู้บุกรุกสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร รวมจำนวน 49 หลัง จึงได้มีหนังสือร้องทุกข์มายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 59/2564 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามที่ทัพเรือภาคที่ 3 ได้ร้องทุกข์ดังกล่าว

ด้านพันตำรวจโท อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลของ ร้อยตำรวจเอกปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และข้อสั่งการของ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายให้ พันตำรวจตรี นิมิตร พรหมมา รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และคณะฯ เดินทางลงพื้นที่ประสานข้อมูลกับทัพเรือภาคที่ 3

ผลการปฏิบัติงานในระหว่างวันที่ 18 - 19 กันยายน 2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าพบ พลเรือตรี ภุชงค์ รอดนิกร เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 ประชุมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสอบปากคำผู้แทนทัพเรือภาคที่ 3 ในการให้ข้อมูลและการเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรภายในเขตพื้นที่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยผู้แทนทัพเรือภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 591 และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ภก.1 (ถลาง) กรมป่าไม้ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบในเบื้องต้น จำนวน 3 จุด พบอาคารสิ่งปลูกสร้างถาวร รวมจำนวน 12 หลัง โดยมีผู้ครอบครองและทำประโยชน์เป็นผู้นำชี้พิกัดที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่ใช้ประโยชน์ พร้อมนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้จัดทำพิกัด แนวเขตสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่ใช้ประโยชน์แต่ละรายไว้เป็นหลักฐานแล้ว สำหรับสิ่งปลูกสร้างถาวรที่เหลือนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทัพเรือภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าตรวจสอบเพิ่มเติมให้ครบถ้วน

ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

‘นายกฯ’ ขอบคุณ ‘Microsoft’ ร่วมมือ-ลงทุนในไทยมายาวนาน ด้าน Microsoft ชมจุดแข็งไทย เป็นศูนย์กลางข้อมูลของภูมิภาค

(22 ก.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบกับผู้บริหารบริษัท Microsoft เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ Microsoft ที่มีความร่วมมือ และมีการลงทุนในไทยมาอย่างยาวนาน และพร้อมจะร่วมมือต่อไปให้มีความต่อเนื่องและเกิดผลรูปธรรมในอนาคตอันใกล้

ขณะที่ผู้บริหารบริษัท Microsoft กล่าวชื่นชมไทยที่มีจุดแข็งสามารถเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค (Regional Hub) มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของภูมิภาค

“บริษัทฯ ต้องการสนับสนุนให้ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐในการใช้ Cloud ซึ่งการมี Cloud investment ในไทย จะช่วยส่งเสริมความสามารถของคนไทย ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สายงาน IT สาขาวิศวกร และจะช่วยพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคล ที่ใช้ระบบงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของไทย”

‘พิมพ์ภัทรา’ รุกสร้างต้นแบบ ‘Smart Farmer’ พื้นที่ภาคใต้ มุ่งสร้างรายได้-ลดค่าใช้จ่ายด้วย ‘เทคโนโลยี-นวัตกรรมพลังงาน’

(22 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ มุ่งสร้างต้นแบบ Smart Farmer สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงาน

ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคใต้มีผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม 2 แห่ง ในจังหวัดชุมพร ประกอบด้วย บริษัท ห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง และ บริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง ผู้ประกอบการฟาร์มโคนม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนม ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากิจการให้เป็นเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Farmer ต้นแบบ โดยการนำระบบ IoT (Internet of Things) มาใช้ติดตาม วิเคราะห์พฤติกรรมโคนมที่เลี้ยงไว้ในฟาร์ม และบริหารจัดการนำผลิตภัณฑ์นมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า

รวมถึงนำของเสียจากฟาร์ม อาทิ มูลวัว มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ตามแนวทาง BCG Model หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โดยบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 11.2 ล้านบาท เพื่อใช้จัดซื้อโคนม เครื่องผลิตอาหาร ปรับปรุงโรงเรือน โรงแปรรูป และเป็นเงินทุนหมุนเวียน จนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้ถึง 40 % ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 7 ล้านบาทต่อปี

ส่วนบริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัดผู้ประกอบการสวนผลไม้ผสมผสาน และโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรด้วยวิธีการแช่แข็ง และการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งหรือ Freeze Dry ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 10 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อโดรนเพื่อใช้ในการพ่นยาฆ่าแมลงภายในสวนทุเรียน รวมทั้งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน โดยสามารถลดต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และยกระดับการบริหารจัดการสวนผลไม้ให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP โดยการพัฒนาโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีแช่แข็งและฟรีซดราย และได้รับมาตรฐาน GMP พร้อมทั้งส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น เปลือกทุเรียนมาทำปุ๋ยและอาหารสัตว์ สร้างมูลค่าเพิ่มในระบบผลิต

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ราย มีการขับเคลื่อนการดำเนินกิจการ ตามนโยบาย MIND 4 มิติ ได้แก่

-ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ที่มุ่งให้ผู้ประกอบการมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ

-ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและมีความสุข

-ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก

-การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ด้วยการกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิกระบวนการผลิต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดการสูญเสีย ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และเป็นแหล่งสร้างงานให้กับชุมชน

‘กรมพัฒนาธุรกิจฯ’ เสริมแกร่งร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ปี 67 ปั้น 30 ร้านต้นแบบ เร่งเข้มติว 2 พันราย ดันเป็นสมาร์ตโชห่วย

(22 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงแผนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2567 ว่า กรมตั้งเป้าที่จะเดินหน้าส่งเสริมร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ระดับอำเภอและจังหวัดที่เป็นนิติบุคคล และมียอดขายตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ถือเป็นผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานแข็งแรง สามารถยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการตามแนวทางของกรม และพัฒนาสู่การเป็น ‘ร้านค้าต้นแบบ’ ได้ โดยตั้งเป้าที่จะเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ ที่สนใจพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบจำนวน 30 ร้านค้า ครอบคลุม 4 ภูมิภาค เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้

โดยแนวทางการพัฒนาจะเริ่มตั้งแต่การเสริมสร้างองค์ความรู้ การศึกษาดูงานร้านต้นแบบรุ่นพี่ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ ตลอดจนการลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำในเชิงลึกที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจได้ตรงจุด ทั้งประเด็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงเร่งด่วน รวมถึงการเสริมจุดแข็งให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อย หรือ ‘โชห่วย’ ให้มีความเข้มแข็ง เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาร้านค้าโชห่วย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจของห้างโมเดิร์นเทรด ที่ปรับตัวย่อขนาดเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีภาพลักษณ์ดีและเทคโนโลยีทันสมัย ขยายตัวออกสู่ชุมชน รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลจากเทคโนโลยี จึงต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับโชห่วย โดยกำหนดจัดสัมมนาออนไซต์ใน 4 ภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และลงพื้นที่ ณ สถานประกอบการ พัฒนาโชห่วยไทยทั่วประเทศให้เป็น ‘สมาร์ตโชห่วย’ โดยมีร้านค้าต้นแบบเข้ามาช่วยเหลือ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือร้านโชห่วย จะเน้นการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าตามหลัก 5 ส. (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) เพื่อช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน เพิ่มโอกาสในการขายสินค้า และส่งเสริมการใช้ระบบ POS เพื่อผลักดันให้ร้านค้าโชห่วยปรับเปลี่ยนจากวิถีเดิม สู่การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โดยในปี 2567 ตั้งเป้าจัดสัมมนาออนไซต์ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และ 4 ภูมิภาค เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 2,000 ราย และพัฒนาต่อยอดเป็น ‘สมาร์ตโชห่วย’ ต้นแบบในพื้นที่ จำนวน 20 ราย

ปัจจุบัน มีร้านค้าส่งค้าปลีก ที่ได้รับการพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบ รวม 307 ร้านค้า และมีร้านโชห่วยที่ผ่านการพัฒนา และได้รับป้ายสัญลักษณ์โครงการ ‘สมาร์ตโชห่วย พลัส’ จำนวน 306 ร้านค้า

‘นายกฯ’ พบ ‘เลขาฯ ยูเอ็น’ ย้ำ ไทยให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชน ยัน!! พร้อมดูแลผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาชายแดน ตามสิทธิ์ที่ควรได้รับ

(22 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างการเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 (UNGA 78) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่า เมื่อเวลา 17.10 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ซึ่งช้ากว่าไทย 11 ชั่วโมง) วันที่ 21 ก.ย. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ถึงการพูดคุยกับนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่า ได้กำชับว่าไทยต้องดูแลสถานการณ์เมียนมา ต้องพูดคุยสนทนากัน และเห็นว่าการพูดคุยกันเป็นเรื่องสำคัญ

นายเศรษฐา กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ในอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ก็โตมาจากสายงานผู้ลี้ภัย ท่านเคยมาอยู่เมืองไทยและทำงานใกล้ชิด ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนสูงอยู่แล้ว และเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ ทั้งนี้ หน้าที่ของตน คือสานต่อเท่านั้นเอง และยึดหลักตามที่กระทรวงการต่างประเทศประสาน

“ขอย้ำว่า เราสนับสนุนให้มีการพูดคุยและเจรจากันอย่างสันติสุข ถ้าหากมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในแง่ของชายแดน หรือเรื่องการเข้า และออก เราช่วยดูแลตามสิทธิ์ที่ทุกคนควรได้ ส่วนประเทศเขาก็เป็นเรื่องของเขา” นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามว่า ได้พูดคุยบทบาทกับกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ว่า ปัญหาที่มีอยู่บริเวณชายแดนจะทำอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้รับฟังโจทย์จากเลขาฯ ยูเอ็น ไปก็จะทำให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

เมื่อถามถึงวันสันติภาพโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ก.ย.ของทุกปี นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่เราพูดในเชิงสัญลักษณ์มากเกินไป ส่วนการปฏิบัติ ตนอยากให้เราปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นวันไหนแล้วค่อยมาทำกัน พอทำแล้วก็ลืมกันไป จากนั้นก็มาจับอาวุธห้ำหั่นกัน

“ความจริงแล้วการประชุม UNGA 78 ในครั้งนี้ เราทราบดีว่ามีหลายประเทศ มีภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่จับคู่ทะเลาะกัน ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราหาข้อตกลงกันไม่ได้ ซึ่งเลขาฯ ยูเอ็น มีความสามารถสูงที่จะหาจุดร่วม ให้ทุกประเทศอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โดยดึงเรื่องอากาศสะอาดเข้ามา ซึ่งเลขาฯ ยูเอ็นรู้อยู่แล้วว่าทุกประเทศ ให้ความสนใจเหมือนกัน จึงสามารถช่วยได้ และหล่อหลอมจิตใจกัน ความจริงเรื่องวันสันติภาพโลกกับเรื่องนี้ไม่ได้ห่างไกลกัน เป็นเรื่องที่เรามองเห็นตรงกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ” นายเศรษฐา กล่าว

‘ป.ป.ช.’ เผย!! ‘อิทธิพล คุณปลื้ม’ ติดต่อขอมอบตัว หลังหนีหมายจับ คดีสร้าง ‘วอเตอร์ฟร้อนท์ฯ’

(22 ก.ย. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม หลบหนีหมายจับคดี ออกใบอนุญาตสร้างโครงการวอเตอร์ฟรอนท์ หาดพัทยา จ.ชลบุรี มิชอบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ว่า ทราบมาว่า นายอิทธิพลมีการประสานเพื่อติดต่อเพื่อจะขอมอบตัว แต่ไม่ทราบว่าจะมามอบตัวกับหน่วยไหน อาจจะเป็นศาลหรือไม่ เพราะเป็นผู้ออกหมายจับ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2566

วันที่ 22 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเวลา 8.30 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดงานประกาศผลรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 Human Rights Awards 2023 จัดงานโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนให้กับองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคมและภาคประชาสังคมที่ผ่านการคัดเลือก รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้องค์กรอื่นๆ ในการเสริมสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน โดยมี นายดิป มาการ์ หัวหน้าทีมประเทศไทยของสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ดร.เสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม, ดร.รัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็กในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม กว่า 1,000 คน เข้าร่วมงาน

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดงานว่า รู้สึกยินดี และขอขอบคุณผู้แทนองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม รวมถึงวิทยากร และผู้เข้าร่วมงานฯ ทุกท่าน เป็นอย่างยิ่ง ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานฯ โดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทุกท่านได้ตระหนักถึงความสําคัญของการดําเนินงานด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชน

“รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ เพราะหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สําคัญของประเทศ เป็นการลงทุนทําให้ประเทศมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ ที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด แต่ได้ป ระสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ”

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ในการบริหารบ้านเมืองที่ดี ที่เรียกว่า “หลักธรรมาภิบาล” ที่ได้ให้ความสําคัญบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้น คือ การนําสามเสาหลักที่สัมพันธ์ เชื่อมโยง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน คือ นําหลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และหลักประชาธิปไตย ที่เป็นค่านิยมสากล และไม่สามารถแยกออกจากกันได้ที่เป็นหลักการของสหประชาชาติ เป็นคุณค่าสากล ต่างค้ําจุนซึ่งกันและกัน เนื่องจากสิทธิมนุษยชนใด ๆ หากปราศจากหลักนิติธรรม และหลักประชาธิปไตย คือ อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทุกคน บุคคลย่อมได้รับความเสมอภาค ในกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว สิทธิมนุษยชน “ย่อมเป็นสัญญาว่างเปล่า บนแผ่นกระดาษเท่านั้น”

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระดับปฏิบัติ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการจัดทํา แผนที่สําคัญ 2 ฉบับ ได้แก่

1. แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5(พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐยึดถือเป็นกรอบในการทํางาน โดยให้ความคุ้มครองประเด็น สิทธิมนุษยชนใน 5 ด้าน 11 กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง การปกครอง ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจ และธุรกิจ และสําหรับ 11 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้เสียหาย กลุ่มเด็กและสตรี กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้เสพยาเสพติด กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาทางสถานะทางทะเบียนและกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ต้องหา ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ และกลุ่มผู้ป่วยเอดส์และผู้ป่วยจิตเวช 

2. แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมุ่งนําหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจ กับสิทธิมนุษยชน หรือ หลักการ UNGPs (ยูเอ็นจีพีส์) มาเป็นแนวทางส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจดําเนินงานด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน โดยกําหนดประเด็น สําคัญเพื่อเร่งแก้ไข 4 ประเด็น ได้แก่ 1) แรงงาน 2) ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 4) การลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แผนระดับชาติทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นหลักประกัน และเครื่องมือ สําคัญในการกําหนดทิศทางการดําเนินงานให้กับทุกองค์กรต่อไป

“อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้องค์กรทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ การมีส่วมร่วม และเห็นถึงความสําคัญของการนําหลักการสิทธิมนุษยชน และแผนทั้ง 2 ฉบับ มาเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการและปฏิบัติงานในทุกระดับ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงได้จัดทําโครงการองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยเปิดรับสมัครองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งกําหนดให้ใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 เป็นเกณฑ์ ในการพิจารณาตัดสินของภาครัฐ และกําหนดให้ใช้หลักการ UNGPs (ยูเอ็นจีพีส์) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 เป็นเกณฑ์พิจารณาตัดสิน ของรัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม โดยมีกระบวนการ พิจารณาคัดเลือกตามลําดับจนได้องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจําปี 2566

สําหรับการจัดงานฯ ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่ง ที่ทุกท่านจะได้ร่วมรับฟังการแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดบทเรียนจากองค์กรที่ได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้กับองค์กรของตนต่อไป

สุดท้ายนี้ กระผมขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลทั้งระดับดีเด่น ระดับดี และระดับชมเชย และขอขอบคุณทุกองค์กรที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ กระผมขอเป็นกําลังใจให้ทุกองค์กรที่ได้ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิด ประโยชน์แก่องค์กร ประชาชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

‘ชัยวุฒิ’ ยก ‘ปลาช่อนแม่ลา’ ตำนานของอร่อย สร้างอัตลักษณ์จากพื้นถิ่นสู่ ‘Soft Power อาหารไทย’

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการสนับสนุนอัตลักษณ์ความเป็นไทย มุ่งสู่การเป็น Soft Power โดยระบุว่า ขึ้นชื่อว่า ‘อาหารไทย’ ไม่ว่าจะเป็นประเภท ต้ม ผัด แกง ทอด ล้วนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก อย่าง ‘ต้มยำกุ้ง’ ที่เมื่อเอ่ยขึ้นมา ชาวต่างชาติจะรู้ได้ทันทีว่าเป็น อาหารไทย นั่นแสดงให้เห็นว่า อาหารไทยนี่แหละ คือ Soft Power ที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างแท้จริง

ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5F ที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้วางรากฐานไว้ ไม่ว่าจะเป็น F-Food อาหาร, F-Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, F-Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย, F-Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ F-Festival เทศกาลประเพณีไทย ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีศิลปวัฒนธรรมและอาหารที่คนต่างชาติหรือแม้แต่คนไทยเราด้วยกันเองยังไม่รู้จัก หรือยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสอีกมาก

นายชัยวุฒิ ได้กล่าวถึงการสนับสนุนอาหารท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เหมาะที่สนับสนุนให้เป็นสินค้าให้ท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ โดยยกตัวอย่างของใกล้ตัวในฐานะคนสิงห์บุรี นั่นก็คือ ‘ปลาช่อนแม่ลา’ ซึ่งเป็นปลาที่ถือกำเนิดในลำน้ำแม่ลา อยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย ในเขตพื้นที่ จ.สิงห์บุรี เป็นแหล่งน้ำที่น้ำนิ่ง มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่ว่ากันว่าเป็นปลาช่อนที่รสชาติดีกว่าปลาช่อนที่ไหน ๆ แม้แต่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ยังทรงตรัสเมื่อครั้งเสด็จประพาสต้น พักแรมที่เมืองอินทร์ และได้เสวยปลาช่อนแม่ลาว่า “ปลาของลำแม่ลามีรสชาติดีกว่าที่อื่น”

นั่นคือ ตำนานความอร่อยของปลาช่อนแม่ลา ที่ได้รับการยอมรับและสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญปลาช่อนแม่ลา ที่มีลักษณะเด่นลำตัวอ้วนกลม หัวหลิม และครีบหูสีชมพู ยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตั้งแต่ปี 2560 อีกด้วย

แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่า จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งการทำประตูเปิด-ปิดทำให้ลำน้ำตื้นเขิน หรือหากเป็นในช่วงฤดูน้ำหลาก ก็จะเกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้ปลาในธรรมชาติเริ่มลดน้อยลงทุกที จนทางกรมประมงได้เริ่มทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาช่อนแม่ลาขึ้นมา ส่วนหนึ่งเป็นการอนุรักษ์ไม่ให้ปลาสูญพันธุ์ และอีกส่วนคือการคัดพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพและสามารถสร้างมูลค่าให้กับตัวสินค้าได้ โดยเฉพาะหากต้องการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ

“ผมเชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้จักปลาช่อนแม่ลากันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะมีการแปรรูป และส่งเสริมเป็นสินค้าของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสิงห์บุรีมานาน แต่ในต่างประเทศเราอาจจะต้องโปรโมตและสนับสนุนในการทำตลาด เพื่อให้ชาวต่างชาติได้รู้จักกันมากขึ้น มีของดีเราต้องบอกต่อครับ เพื่อพี่น้องในชุมชนจะได้มีอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นครับ”

'ทีเอ็มบีธนชาต' จัดโปรมือถือ iPhone15 ผ่อน 0% นานสุด 48 เดือน ถึง 31 ต.ค.นี้

ไม่นานมานี้ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี มอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ttb จับมือ 24 ร้านจำหน่ายมือถือชั้นนำ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ iPhone อาทิ TRUE / Studio7 / iStudio by SPVI / iStudio by Copperwired / iStudio by Uficon / BaNANA / TG Fone / Jaymart / Power Buy / Power Mall / IT CITY / CSC / Advice เป็นต้น

***พร้อมมอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ttb เมื่อซื้อ iPhone15 และทำรายการแบ่งชำระดอกเบี้ย 0% นานสูงสุด 48 เดือน ระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2566 - 31 ตุลาคม 2566 นี้

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิพิเศษ 1: รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 5% จากร้านค้าชั้นนำที่ร่วมรายการ โดยร้านที่มอบเครดิตเงินคืนสูงสุดในอัตรา 5% คือร้าน TRUE และ Com7 จำกัดรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 4,000 บาท ต่อบัญชีบัตรหลัก ตลอดรายการส่งเสริมการขาย

สิทธิพิเศษ 2: แลกคะแนนรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 12% เมื่อใช้คะแนนสะสมทุก 1,000 คะแนน และทำรายการแบ่งชำระ 0% บัตรเครดิต ttb reserve infinite และบัตรเครดิต ttb reserve signature รับเครดิตเงินคืน 12% (ทุก 1,000 คะแนน รับ 120 บาท) บัตรเครดิต ttb (บัตรเครดิต ทีเอ็มบี และ บัตรเครดิต ธนชาต) และบัตรเครดิต ttb Global House รับเครดิตเงินคืน 10% (ทุก 1,000 คะแนน รับ 100 บาท) โดยต้องมียอดใช้จ่ายขั้นต่ำ 1,000 บาท ต่อเซลล์สลิป จำกัดการแลกคะแนนไม่เกินยอดใช้จ่าย จำกัดการแลกคะแนนสะสมสูงสุด 50,000 คะแนน ต่อบัญชีบัตรหลัก ตลอดรายการส่งเสริมการขาย

‘เซเลนสกี’ เยือนวอชิงตันอีกรอบ ขอความช่วยเหลือเพิ่ม แม้ ‘ไบเดน’ หนุน แต่คองเกรสเอือมสงคราม รีพับลิกันเริ่มขวาง

(22 ก.ย. 66) ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำแห่งยูเครน เดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อการเยือนเป็นครั้งที่ 2 ของเขาในช่วงเวลาทำสงครามกับรัสเซีย อย่างไรก็ดี นอกจากจะไม่ได้รับการต้อนรับดุจดังวีรบุรุษเหมือนหนที่แล้ว คราวนี้ผู้นำเคียฟยังต้องเผชิญบรรยากาศความเหนื่อยล้า จากสงครามของบรรดาสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ และความเสี่ยงที่แพ็กเกจความช่วยเหลือล็อตใหม่มูลค่ากว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจถูกขัดขวาง

เซเลนสกีโพสต์ข้อความทางสื่อสังคมในตอนเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ที่ผ่านมา ว่า เขาและภรรยามาถึงวอชิงตัน ดี.ซี.แล้ว และระบบป้องกันภัยทางอากาศ คือหนึ่งในรายการที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด ซึ่งเขาต้องการจะได้รับในเมืองหลวงของสหรัฐฯ แห่งนี้

ผู้นำยูเครนวัย 45 ปีผู้นี้ มีกำหนดพบปะเจรจากับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว และจากนั้นจะไปเยือนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน)

ทว่านัดหมายที่สำคัญอย่างที่สุดของเขา น่าจะเป็นการพบหารือกับพวกผู้นำของพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตในรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งแพ็กเกจความช่วยเหลือยูเครนฉบับใหม่มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คณะบริหารของไบเดนได้เสนอเข้าไป มีความเสี่ยงที่จะถูกสกัดขัดขวาง

เซเลนสกีเพิ่งออกมาจากการร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชนในนครนิวยอร์ก ซึ่งเขาปราศรัยเรียกร้องให้โลกยืนหยัดสนับสนุนยูเครน ต่อสู้กับสิ่งที่เขากล่าวหาว่าเป็น ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ของรัสเซีย

เขายังร้องขอชาวอเมริกันคงความสนับสนุนที่ให้แก่เคียฟต่อไป หลังจากที่วอชิงตันได้อัดฉีดเงินมากกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน นับตั้งแต่ถูกรัสเซียรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยที่เขากล่าวอ้างกับโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) ที่ผ่านมา ว่า “เรากำลังอยู่ตรงเส้นชัยแล้ว”

ทว่า ทริปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของเขาหนนี้ จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากหนแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยครั้งนั้นเซเลนสกีบินไปอเมริกาแบบไม่มีการออกข่าวล่วงหน้า และได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษจากทั้งทำเนียบขาวและที่รัฐสภาสหรัฐฯ

แต่ในครั้งนี้ วอชิงตันอบอวลไปด้วยความสงสัยข้องใจมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับอนาคตการให้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ โดยที่กลุ่มสมาชิกสายแข็งของรีพับลิกันประกาศว่า จะไม่ยกมือเห็นชอบมาตรการทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลต้องหยุดทำการชั่วคราว เพราะหมดงบประมาณ หรือที่เรียกกันว่า ‘ชัตดาวน์’ ถ้าหากมีการพ่วงความช่วยเหลือสำหรับยูเครนเข้าไปด้วย

แม้ว่าไบเดนยังคงให้สัญญาจะยืนหยัดเคียงข้างเคียฟไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยที่การรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในปีหน้าของเขา มีการวาดภาพเรื่องเขาสนับสนุนยูเครน ว่าเป็นการสาธิตถึงความเป็นผู้นำโลกของเขา

‘จอห์น เคอร์บี้’ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แถลงว่า ไบเดนรอรับฟังสถานการณ์ในสนามรบจากเซเลนสกี ที่เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของยูเครนโดยตรง รวมทั้งจะหารือเกี่ยวกับสิ่งที่เซเลนสกีต้องการ และวิธีที่อเมริกาจะตอบสนองความต้องการเหล่านั้นต่อไปในอนาคต

สำหรับข่าวที่ว่า เซเลนสกีจะร้องขอขีปนาวุธทางยุทธวิธี ATACMS ซึ่งมีพิสัยทำการ 300 กิโลเมตร ไกลขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับขีปนาวุธอื่นๆ ที่ยูเครนได้รับอยู่ในปัจจุบัน เคอร์บี้บอกว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกปัดตกไป แต่ก็ยังไม่มีการตัดสินใจในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม เห็นกันดีเรื่องน่าหนักใจที่สุดของผู้นำยูเครน คือการโน้มน้าวรัฐสภาสหรัฐฯ ในเมื่อความหวังที่จะได้ความช่วยเหลือเพิ่มก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่งของยูเครน ถูกนำไปผูกโยงกับดรามาการต่อรองกันระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต

ไม่เพียงฝ่ายขวาจัดของรีพับลิกันในรัฐสภา แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า ถ้ารัฐบาลขืนผลักดันให้ผ่านงบช่วยเหลือเคียฟ ก็จะไม่ยอมตกลงเรื่องมาตรการหลีกเลี่ยงการชัตดาวน์ กระทั่งสมาชิกรีพับลิกันสายกลางก็แสดงความข้องใจมากขึ้น กับการยังคงช่วยเหลือยูเครนต่อไป

เป็นต้นว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ‘เควิน แมคคาร์ธีย์’ ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า เขาคิดว่า คนอเมริกันอยากทราบว่ายูเครนมีแผนอย่างไร ที่จะทำให้ตัวเองรบชนะรัสเซีย

มี ส.ส.บางคนเห็นว่า น่าจะเอาเงินไปใช้ในการรักษาความปลอดภัยพรมแดนสหรัฐฯ มากกว่า ท่ามกลางความกังวลสงสัยที่การปฏิบัติการตอบโต้ของเคียฟมีความคืบหน้าน้อยมาก แถมยังมีข่าวการทุจริตหนักหน่วงในยูเครน จนเกิดคำถามว่า “หรือความช่วยเหลือที่ทุ่มเทให้ไปจะสูญเปล่า?”

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นตัวเก็งของรีพับลิกันท้าชิงทำเนียบขาวจากไบเดนในปีหน้า บอกว่า ควรเอาเงินที่จะให้ยูเครนมาใช้กับกิจการในประเทศมากกว่า ซ้ำทำนายว่า ที่สุดแล้วชัยชนะจะเป็นของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำแห่งรัสเซีย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top