Thursday, 8 May 2025
TheStatesTimes

ผบ.ตร. ชื่นชมตำรวจดีเด่น ประจำปี 2566 เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงาน “ครองตน ครองคน ครองงาน” มอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ เสื้อสามารถ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ด้าน สว.ฝอ.เชียงใหม่ ปลื้มใจ คนเป็นนายให้ความสำคัญตำรวจมดงาน

พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ความสำคัญ สร้างขวัญและกำลังใจแก่ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงาน 5 ด้าน ทั้งป้องกันปราบปราม สืบสวน สอบสวน อำนวยการ และจราจร ที่มีความประพฤติ และปฏิบัติตนตามหลักการ “ครองตน ครองคน ครองงาน” มีความมุมานะในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเสียสละ เสมอต้นเสมอปลาย มีความรับผิดชอบต่องานที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย รวมถึงเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกและจิตสาธารณะจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดได้พิจารณาและคัดเลือกข้าราชการตำรวจดีเด่นระดับรองผู้กำกับการ ถึงผู้บังคับหมู่ ประจำปี 2566 เพื่อรับมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ และเสื้อสามารถ จากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา เวลา 15.30 น. ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติและเสื้อสามารถให้แก่ข้าราชการตำรวจในสังกัดกองบัญชาการ และกองบังคับการหน่วยขึ้นตรงสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับการคัดเลือกตามโครงการ “ตำรวจดีเด่น ประจำปี 2566” โดยมี พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล เข้าร่วมพิธี โดยมีข้าราชการตำรวจดีเด่นเข้ารับรางวัล จำนวน 3,435 นาย เป็นตำรวจสายอำนวยการหน่วยขึ้นตรง สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 164 ราย ส่วนระดับกองบัญชาการอื่นๆ ทั่วประเทศ มอบหมายให้ผู้บัญชาการแต่ละหน่วยเป็นตัวแทนรับมอบ 

หลังเสร็จสิ้นพิธีฯ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้กล่าวให้โอวาทแก่ข้าราชการตำรวจดีเด่น ประจำปี 2566 โดยยึดหลัก “ครองตน ครองคน ครองงาน” และธำรงไว้ซึ่งการปฏิบัติตนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนข้าราชการตำรวจต่อไป

ด้าน พ.ต.ท.หญิง อัมรินทร์  อินยาศรี สว.ฝอ.ภ.จว.เชียงใหม่ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่น ตามโครงการ “ตำรวจดีเด่น 2566” เปิดเผยความในใจว่า งานอำนวยการ เป็นงานหนัก เป็นงานที่อยู่เบื้องหลังของทุกสายงานไม่ว่าจะเป็นงานสืบสวนปราบปราม งานจราจร สวัสดิการต่างๆ ของกำลังพลในสังกัด งานอำนวยการเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะทำให้เกิดผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรมได้ยาก แต่ก็มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานอำนวยการ ได้ดูแลสิทธิ สวัสดิการ ของพี่ๆ น้องๆ ตำรวจในสังกัด  ตนเคยได้รับรางวัลผู้ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่นในสายงานอำนวยงานมาแล้วในปี 2557 เมื่อครั้งที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.ภ.5 และท่านได้มองเห็นถึงความสำคัญของสายงานอำนวยการเทียบเท่ากับสายงานอื่นๆ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานอำนวยการเกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างยิ่ง ในปี 2566 ตนได้รับรางวัลนี้อีกครั้งแต่เป็นการรับรางวัลของ ผบ.ตร. ซึ่งสร้างความปลาบปลื้ม และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญตำรวจมดงาน อยากจะให้มีโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไป เนื่องจากมีข้าราชการตำรวจอีกหลายนายที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสมควรได้รับการคัดเลือก ในส่วนของตนเองอยากจะขอปฏิญาณตนว่าจะรักษามาตรฐานการทำงานแบบนี้ต่อไป การที่ได้รับรางวัลเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ตั้งใจทำงานต่อไป

ผู้พิทักษ์ ‘สันติ’ ราษฎร์ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ | CONTRIBUTOR EP.28

ค่านิยม ‘ท้าทาย’ กฎหมายของคนในยุคนี้ ยุคที่ใคร ‘แหก’ กฎได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งยกย่องกันแบบผิดๆ ว่า 'เจ๋ง' และดูเก่งในสายตากลุ่มก้อนความคิดเดียวกัน ... เริ่มลุกลาม!!

แต่เมื่อ 'กฎหมาย' คือ กฎที่คนส่วนใหญ่ ทำตาม!!

ผู้ใด 'ท้าทาย' ก็ต้องพร้อมรับผิดชอบในทุกการกระทำ

และนี่คือเรื่องราวของอีกหนึ่งผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่อยากฝากบอกถึง 'นักแหกกฎ' ให้ปลดความคิดสุดระห่ำออกไปจากระบบคิด และจงเชื่อเถอะว่าชีวิตของพวกคุณจะไม่มีวันถูกหล่อเลี้ยงได้อย่างยั่งยืนผ่านคำยกย่องผิดๆ

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี 

ผู้พิทักษ์ ‘สันติ’ ราษฎร์

'คปท.' จี้ 'ราชทัณฑ์' เผยอาการป่วย 'ทักษิณ' แนะบุคคลภายนอกร่วมสังเกตการณ์

(22 ก.ย. 66) ที่กรมราชทัณฑ์ นายพิชิต ไชยมงคล และ นายนัสเซอร์ ยีหมะ แกนนำ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง อธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อขอให้เปิดเผยกรณีการอนุญาตให้ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวนอกเรือนจำ

นายพิชิตกล่าวว่า ภายหลังที่ น.ช.ทักษิณ ได้อ้างสิทธิ์ในการเป็นผู้ป่วยและย้ายมารักษาตัวนอกเรือนจำตั้งแต่เมื่อช่วงกลางคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ได้อนุญาตให้มีการรักษาตัวต่อเนื่องหลัง จากที่ผ่านไป 30 วัน โดยอ้างว่าเป็นความเห็นของคณะแพทย์ที่ระบุว่า มีการผ่าตัดใหญ่ของนักโทษ จนทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่า กระบวนการส่งตัวของ น.ช.ทักษิณ ไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นการใช้อภิสิทธิ์โดยการอ้างระเบียบราชทัณฑ์ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ต้องขังคนใดคนหนึ่งหรือไม่ และการป่วยที่กล่าวอ้างไม่ใช่การป่วยที่เคยรักษาตัวจากต่างประเทศ เพราะเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย นายทักษิณมีอาการปกติ จึงไม่สามารถนำเอกสารการรักษาตัวจากต่างประเทศมาอ้างในการรักษาตัวนอกเรือนจำ

อีกทั้งการผ่าตัดล่าสุด ก็มีความสงสัย เพราะไม่มีการชี้แจงรายละเอียดแก่สังคม จึงอยากเรียกร้องให้เปิดเผยข้อเท็จจริงให้สาธารณะทราบ ทางข้อมูลในส่วนของอาการป่วยแรกที่อนุญาตออกไปให้รักษาภายนอกเรือนจำ และการผ่าตัดใหญ่ครั้งล่าสุดการผ่าตัดอะไร เพราะไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนจากแพทย์และกรมราชทัณฑ์ ยังชี้แนะทางออกที่ดีที่สุดว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ต้องอนุญาตให้มีองค์กรอื่น และบุคคลภายนอกเข้าไปสังเกตการณ์เรื่องนี้

“ตนไม่เชื่อว่า นายทักษิณป่วยจริง และหากยังไม่ได้รับการชี้แจงอีก ทาง คปท.ก็จะเดินหน้าในการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะเฝ้าติดตามเรื่องนี้ พร้อมยื่นให้ ป.ป.ช.การตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอย่างถึงที่สุด” นายพิชิต กล่าว

นายนัสเซอร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ควรจะไปจบที่ทราบข้อเท็จจริงว่า น.ช.ทักษิณ ป่วยจริงหรือไม่ เพราะหากป่วยจริง กระบวนจุดนี้ก็จะจบ แต่ปัญหาวันนี้คือยังไม่สามารถมีใครพิสูจน์และว่า น.ช.ทักษิณป่วยจริงหรือไม่ ย้ำว่า การป่วยเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการนอนนอกเรือนจำ เพราะ น.ช.ทักษิณ เป็นนักโทษ ไม่ใช่อดีตนายกฯ ธรรมดา ซึ่งหากเป็นนักโทษ และไม่ได้ป่วย ต้องกลับไปนอนคุก ย้ำว่านายทักษิณอย่ามาใช้อภิสิทธิ์เพราะการลดโทษจาก 8 ปีเหลือ 1 ปีก็ถือว่ามากพอแล้ว

‘กรมทรัพย์สินฯ’ ประสานเกาหลีใต้ แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องลิขสิทธิ์เพลง หวังยกระดับอุตฯ เพลงไทยรอบด้าน ดันเป็นหนึ่งใน Soft Power ไทย

(22 ก.ย. 66) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงไทยควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ใช้งานเพลง ให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากงานเพลง ซึ่งเป็นงานลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยให้วัฒนธรรมไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมโลก”

นายวุฒิไกร ให้ข้อมูลว่า “จากการศึกษาของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศพบว่า ในปี 2565 อุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงของไทยมีมูลค่า 3,689 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอันดับที่ 24 ของโลก และมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 20.01 จึงถือได้ว่าอุตสาหกรรมเพลงของไทยเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดประเภทหนึ่ง”

นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทยให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น สามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนากรอบกฎหมาย กฎกติกา เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนการเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพลงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ลิขสิทธิ์เพลงในเชิงพาณิชย์ การใช้งานลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ในทางการค้า”

“ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเห็นว่า เกาหลี เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ที่เป็นประโยชน์ และตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนในประเด็นดังกล่าวอย่างแท้จริง จึงได้ร่วมกันจัดการสัมมนาลิขสิทธิ์ไทย - เกาหลี ประจำปี 2566 ในหัวข้อ ‘เจาะลึกบทบาทลิขสิทธิ์กับธุรกิจเพลง’ เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ใช้ผลงานเพลง ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายการใช้ลิขสิทธิ์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี บทบาทขององค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ตลอดจนแนวทางการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และค่าสิทธิของนักแสดง เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานในบริบทของประเทศไทยต่อไป”

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมั่นว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทย ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคงต่อไป” นายวุฒิไกร กล่าวทิ้งท้าย

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ คว้ารางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ปี 66 ตอกย้ำ!! ความมุ่งมั่นผลักดันการเคารพสิทธิมนุษยชนในองค์กร

(22 ก.ย. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป คว้ารางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566’ ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ระดับดี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยชูการพัฒนานโยบายด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านและครอบคลุม เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) และต่อต้านการล่วงละเมิด (Anti-harassment)

โดยนางสาวสลิล ติระวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป เป็นผู้แทนเข้ารับประกาศนียบัตรจากพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในงานประกาศรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้

นางสาวสลิล ติระวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจบนหลักการกำกับกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยตระหนักและให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาค

ในรอบปีที่ผ่านมา เอ็กโก กรุ๊ป ได้ประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ พร้อมนำผลการประเมินมาทบทวนและปรับปรุงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน โดยมุ่งเน้นหลักการไม่เลือกปฏิบัติและการต่อต้านการล่วงละเมิด พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรทุกระดับ เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ตลอดจนพัฒนากระบวนการแจ้งเบาะแสและการสอบสวนในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทไม่ได้รับข้อร้องเรียน รวมถึงไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อันจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

“การได้รับรางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ระดับดี ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเอ็กโก กรุ๊ป ในการส่งเสริมและผลักดันการเคารพสิทธิมนุษยชนให้อยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจทุกมิติและปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม รวมถึงส่งเสริมเสรีภาพอันชอบธรรมของแต่ละบุคคล เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกภายในองค์กรและสังคมภายนอกอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจสำคัญของเรา ในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” นางสาวสลิล กล่าว

สำหรับการพิจารณามอบรางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ดำเนินการโดย คณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาชนสังคม ที่ดำเนินงานตามภารกิจโดยเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่น ๆ ในการส่งเสริมสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน โดยมีองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลฯ ประจำปี 2566 รวมทั้งสิ้น 109 รางวัล

‘กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี’ วีรชนแห่งสมรภูมิรบเกาหลี จากนักเรียนธรรมดา สู่ทหารผู้ยืนหยัดปกป้องชาติด้วยความหาญกล้า

กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี (Korea Student Volunteer Force)

สังคมปัจจุบัน เมื่อพูดถึง ‘ความรักชาติ’ แล้ว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวที่พ้นสมัยของคนเฒ่าชะแรแก่ชราในยุคก่อน ทั้ง ๆ ที่เรื่องของ ‘ความรักชาติ’ นั้น เป็นปกติวิสัยทั่วไป เพราะเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามแต่ละประเทศที่เกิดและอาศัยอยู่ เป็นเรื่องธรรมดาของพลเมืองในทุกชาติบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ยังคงอยู่ในสภาวะสงคราม เช่น สาธารณรัฐเกาหลี หรือ ‘เกาหลีใต้’ ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงการหยุดยิงกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี หรือ ‘เกาหลีเหนือ’ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 หรือ 70 ปีมาแล้ว และจนทุกวันนี้ ทั้งสองเกาหลียังไม่มีการทำสนธิสัญญาสงบศึก หรือสนธิสัญญาสันติภาพ อันเป็นการยุติสงครามระหว่างกันอย่างสิ้นเชิงแต่อย่างใด

กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี กำลังขึ้นรถไฟเพื่อเข้าร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ชาวเกาหลีใต้ต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ชายเกาหลีใต้ทุกคนจึงต้องเป็นทหารกองประจำการโดยไม่มีการยกเว้น ไม่มีอภิสิทธิพิเศษใด ๆ รวมทั้งแทบไม่มีการผ่อนผันเลย เว้นแต่บางกรณี เช่น เป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งยังต้องฝึกซ้อมเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศ ในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ 

เมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 เกาหลีใต้ได้มีการจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ประกอบด้วย นักเรียนที่เรียนอยู่ในเกาหลีใต้ และนักเรียนเกาหลีที่ไปเรียนในญี่ปุ่น (เกาหลีเคยเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) ในช่วงสงครามเกาหลี นักเรียนเกาหลีจำนวน 642 คน ได้รวมตัวกันเดินกลับมายังเกาหลีใต้ และอาสาสมัครเข้าร่วมสู้รบภายใต้กองทัพสาธารณรัฐเกาหลี และกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีก็ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจในการรบมากมายหลายครั้งหลายหน

สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีจำนวนมาก ต้องสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ โดยไม่มี ยศ สังกัด หรือแม้แต่หมายเลขประจำตัวทหาร

‘กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี’ (학서의용군 อ่านว่า Hak Do Ui Yong Gun) โดยนักเรียนอาสาสมัครเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 14–17 ปี ซึ่งอายุต่ำกว่าอายุครบเกณฑ์ทหาร 18 ปี (ในขณะนั้น การแจ้งเกิดมักจะล่าช้า ดังนั้น อายุที่แท้จริงของนักเรียนอาสาสมัครจึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 16–19 ปี) หลังจากสงครามสองเกาหลีปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 1950 กองทัพเกาหลีใต้สามารถระดมกำลังนักเรียนอาสาสมัครได้ถึง 198,380 นาย จัดกำลังเป็น กองพลทหารราบ 10 กองพล, กองพลยานเกราะ 1 กองพล และหน่วยยานยนต์ 1 หน่วย และระหว่างสงครามจนถึงการหยุดยิงระหว่าง 2 เกาหลี มีนักเรียนประมาณ 275,200 คน เข้าร่วมรบในสงครามกับกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ทั้งทำการรบ ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ และเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือประชาชน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

‘การจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในยามฉุกเฉิน’ (비상학 시단) โดยนักเรียน 200 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสมาคมนักเรียนอาสาปกป้องประเทศ (학 서호성단) จากทั่วกรุงโซลได้มารวมตัวกันที่ซูวอน นับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนถูกเกณฑ์ให้ร่วมรบเช่นทหารประจำการ อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ได้มอบหมายให้กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนส่วนใหญ่ รับผิดชอบภารกิจในพื้นที่ด้านหลังแนวรบ ซึ่งรวมถึงการบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย การแจ้งข่าว และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามท้องถนน แต่สมาชิกส่วนใหญ่ของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนไม่พอใจกับภารกิจในแนวหลัง ต่อมากองทัพเกาหลีใต้ได้มอบภารกิจในการสู้รบเพื่อรักษาแนวป้องกันแม่น้ำนักดงให้แก่กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ซึ่งถือเป็นป้อมปราการแห่งสุดท้ายในขณะนั้น และกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนก็ประสบความสำเร็จในการรักษาแนวป้องกันดังกล่าว แม้ไม่มีการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม ไม่มียศทางทหาร แต่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเข้าร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้ และกองทัพสหประชาชาติ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะปกป้องประเทศ ซึ่งกำลังตกอยู่ในอันตราย กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีเข้าร่วมในปฏิบัติการยกพลขึ้นบกอินชอน โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังสหประชาชาติ, ปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่วอนซันและอิวอน, ปฏิบัติการยึดคืนของกัปซันและฮเยซันจิน, ยุทธการที่อ่างเก็บน้ำจางจิน และยุทธการที่เนินเขาแบกมา ฯลฯ

ภาพวาดของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ขณะเดินทางเข้าสู่สนามรบ

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1951 เมื่อกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีและกองกำลังสหประชาชาติ สามารถตีโต้กองทัพเกาหลีเหนือและกองทัพจีน จนข้ามเส้นขนานที่ 38 กลับไปในเขตเกาหลีเหนือได้แล้ว ‘Syngman Rhee’ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ออกประกาศให้กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนกลับไปโรงเรียนเพื่อเรียนต่อ และออกคำสั่งคืนสถานะ โดยตามคำสั่งคืนสถานะนี้ กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ต้องถอดเครื่องแบบทหารและเปลี่ยนสถานะกลับมาเป็นนักเรียนตามเดิม โดย

1.) นักเรียนทุกคนจะต้องกลับคืนสู่หน้าที่เดิม ซึ่งก็คือการเรียนของตน
2.) การยอมรับการเป็นทหารของนักเรียนที่ถูกระงับการเรียน เนื่องจากการเป็นทหาร เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนจะต้องยอมรับการกลับมาที่โรงเรียนของนักเรียนเหล่านั้น อย่างไม่มีเงื่อนไข
3.) โรงเรียนในแต่ละระดับ จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษ สำหรับนักเรียนที่กลับมาจากการเป็นทหาร
4.) นักเรียนที่พลาดการเลื่อนระดับชั้นในขณะที่เป็นทหาร จะได้รับอนุญาตให้เลื่อนระดับชั้นได้ตามความต้องการ

อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่เป็นสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ต่างยืนกรานที่จะสู้รบจนกว่าสงครามจะสิ้นสุด และได้รับยศ หมายเลขประจำตัวทหาร และเข้าร่วมในการสู้รบ โดยมีวีรกรรมสำคัญบางเหตุการณ์ ได้แก่

• การรบที่โรงเรียนมัธยมสตรี P'ohang จังหวัด Gyeongsang-do เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1950 ซึ่งสมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียนจำนวน 71 นาย สู้รบกับทหารเกาหลีเหนือ หน่วยที่ 766 โดยฝ่ายเกาหลีเหนือมียานเกราะ 5 คันสนับสนุน การสู้รบกินเวลา 11 ชั่วโมง สมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียนเสียชีวิตไป 48 นาย เหลือรอดชีวิตเพียง 23 นาย วีรกรรมครั้งนั้นถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘71 : Into the Fire’

ภาพยนตร์เรื่อง 71 : Into the Fire

• การรบที่หาด Jangsari อำเภอ Yeongdeok จังหวัด Gyeongsang-do ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน ค.ศ. 1950 โดยสมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียน 560 นาย ร่วมกับทหารของกองทัพเกาหลีใต้ ได้รับการจัดตั้งเป็น ‘กองพันกองโจรอิสระที่ 1’ รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจเพื่อลวงกองกำลังเกาหลีเหนือ ให้คิดว่ากองกำลังสหประชาชาติจะเปิดฉากการรุกอย่างเด็ดขาดที่นั่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกพลขึ้นบกที่ Inchon สมาชิกของกองพันกองโจรอิสระที่ 1 เสียชีวิตไป 139 นาย และการยกพลขึ้นบกที่ Inchon ประสบความสำเร็จด้วยดี และวีรกรรมนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘The Battle of Jangsari’

ภาพยนตร์เรื่อง The Battle of Jangsari

ตัวเลขสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี มีผู้เสียชีวิต 2,464 นาย และบาดเจ็บ 3,000 นาย ในจำนวนนี้มี 347 นาย ถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งชาติ อีก 1,188 นาย ถูกจารึกไว้บนป้ายแห่งความทรงจำ และอีก 929 ราย ที่ไม่มีศพหรือแผ่นจารึกที่ระลึกเลย ส่วนสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนที่รอดชีวิตมักจะไม่กลับไปเรียนต่อ และยังคงอยู่ในกองทัพ แม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

อนุสาวรีย์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี

‘อนุสาวรีย์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี’ ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนมัธยมหญิง P'ohang ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน 71 นาย เพื่อเป็นเกียรติแก่การเสียสละอันสูงส่งของพวกเขา เมือง P'ohang จึงสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1977 และจัดพิธีรำลึกขึ้นทุกปี

หออนุสรณ์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน เมือง P'ohang

‘หออนุสรณ์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน เมือง P'ohang’ เปิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 2002 ในสวนสาธารณะ Yongheung เพื่อเป็นเกียรติแก่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ในการร่วมรบที่เขตเมือง P'ohang ในช่วงสงครามเกาหลี ในห้องนิทรรศการมีโบราณวัตถุประมาณ 200 ชิ้น เช่น ไดอารี่ ภาพถ่าย เสื้อผ้าที่สวมใส่ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนใช้ในขณะนั้น นอกจากนี้ ยังมีการฉายสารคดีเกี่ยวกับสงครามในห้องโสตทัศนูปกรณ์อีกด้วย

อนุสรณ์สถานกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนาม

‘อนุสรณ์สถานกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนาม’ ตั้งอยู่ที่สุสานแห่งชาติ กรุงโซล ด้านหลังเป็นหลุมศพสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนามจำนวน 48 นาย ที่เสียชีวิตในเขตเมือง P'ohang ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มอบรางวัลแก่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่จะได้รับ ซึ่งมีสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนจำนวน 317 นาย ที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ ในปี ค.ศ. 1996 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มอบรางวัลดังกล่าว ให้กับสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนอีก 45 คน ที่ยังไม่เคยได้รับมาก่อน

ภาพจำลองแสดงเหตุการณ์ที่ยุวชนทหารสู้รบกับทหารญี่ปุ่น
ที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

ย้อนกลับมาดูบ้านเรา เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตลอดอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดปัตตานีถึงจังหวัดสมุทรปราการ ขอเดินทัพผ่านไทยโดยไม่บอกล่วงหน้า คนไทยในที่เกิดเหตุแทนที่จะวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง แต่ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชนต่างเข้ารักษาแผ่นดินไทยโดยไม่คิดชีวิต ทุกแห่งมียุวชนทหารเข้าร่วมด้วย และได้สร้างวีรกรรมไว้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร ยุวชนทหาร 30 คน ได้ทำการสู้รบกับทหารญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญ จนกระทั่งได้รับคำสั่งจาก ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งให้ยุติการต่อต้าน และปล่อยให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปได้ และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น จึงถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดไปทั่ว แต่ก็มียุวชนทหารเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยจากการทิ้งระเบิด โดยไม่เกรงกลัวอันตรายแต่อย่างใด ยุวชนทหารในสมัยนั้นได้มีพัฒนาการต่อเนื่อง และกลายมาเป็นนักศึกษาวิชาทหารในสมัยนี้

อนุสาวรีย์ยุวชนทหาร 
ริมทางหลวงหมายเลข 4001 สายชุมพร-ปากน้ำ
ตำบลบางหมาก เชิงสะพานท่านางสังข์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกในขณะนี้ คือการเกิดสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย จึงมีความเป็นไปได้ที่สงครามอาจจะเกิดขึ้นอีกในเวลาใดเวลาหนึ่งก็เป็นได้ และไม่ได้หมายถึงสงครามที่ต้องรบกันด้วยกำลังทหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสงครามที่ทุกคนในชาติจะต้องร่วมรบด้วยกัน ต้องร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่น่าเป็นห่วงที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง ที่หลงผิดคิดว่า ภยันตรายที่คุกคามความมั่นคงของชาตินั้นได้หมดไปแล้ว หากพินิจพิจารณาอย่างถ้วนถี่เยี่ยงปัญญาชนและวิญญูชนแล้วจะพบว่า ไทยอยู่ในตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดทางยุทธศาสตร์ ในการเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจ

วิธีเดียวที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อชาติน้อยที่สุดคือ การรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและชัดเจน บนพื้นฐานของความมั่นคงของชาติในทุก ๆ มิติ รวมทั้งกำลังทหารที่มีความพร้อมต่อการรุกรานของอริราชศัตรูตลอดเวลา ซึ่ง “พลังอำนาจทางการรบ” ตลอดจน “ศักย์สงคราม” จะทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงเข้มแข็ง และหากเมื่อต้องเผชิญกับภยันตรายใด ๆ ที่คุกคามแล้ว ชาติบ้านเมืองก็จะมีพร้อมต่อภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และเมื่อเหตุการณ์สร่างซาสงบลงแล้ว ประเทศชาติก็จะมีความบอบช้ำที่น้อยที่สุด

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘ธุรกิจท่องเที่ยว’ แห่ตั้งบริษัทใหม่ รวมมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้าน ผุดบริการแลกเปลี่ยนเงินตราพุ่ง 1.89 เท่า รองรับตลาดฟื้นตัว

(22 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ยอดการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนสิงหาคม 2566 ทั่วประเทศรวม 7,424 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 24,905.75 ล้านบาท โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 584 ราย รองลงมา คือ อสังหาริมทรัพย์ 482 ราย และภัตตาคาร/ร้านอาหาร 360 ราย โดยช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท สัดส่วนมากสุด 64.51% มีจำนวน 4,789 ราย คิดเป็น 64.51%

ขณะที่ธุรกิจเลิกกิจการเดือนสิงหาคม 2566 รวม 2,007 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 7,038.02 ล้านบาท และ 3 ประเภทธุรกิจเลิกกิจการสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 172 ราย รองลงมา คือ อสังหาริมทรัพย์ 85 ราย และ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 49 ราย ซึ่งสัดส่วน 70.55% เป็นธุรกิจมีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ 31 สิงหาคม 2566 มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ 888,090 ราย มูลค่าทุน 21.51 ล้านล้านบาท มากสุดเป็นช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือจำนวน 518,247 ราย คิดเป็น 58.36%

“ธุรกิจตั้งใหม่เดือนสิงหาคมปีนี้ เทียบสิงหาคมปีก่อน เพิ่ม 0.08% และเทียบเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่ม 8.41% ขณะที่เลิกธุรกิจสิงหาคมปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.40% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 7.50% จากเดือนกรกฎาคมปีนี้ ทำให้ 8 เดือนแรก 2566 จัดตั้งธุรกิจใหม่รวม 61,558 ราย เพิ่มขึ้น 14.90% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งยอดตั้งธุรกิจใหม่สิงหาคม 2566 เป็นจำนวนสูงสุดรอบ 10 ปีเทียบเฉพาะเดือนสิงหาคมด้วยกัน และสูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ส่งผลให้ 8 เดือนแรก2566 มีจำนวนจัดตั้งสูงสุดรอบ 10 ปีด้วย หรือตั้งแต่ปี 2557 – 2566” นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนการจดทะเบียนธุรกิจให้เติบโตสูงขึ้นยังคงมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว 8 เดือนแรก 2566 มีจำนวนตั้งเพิ่มถึง 60.66% โดยเฉพาะธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเติบโต 1.89 เท่า ตัวแทนธุรกิจการเดินทางเติบโต 1.41 เท่า ธุรกิจจัดนำเที่ยวเติบโต 1.03 เท่า ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารเติบโต 45.46% และ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และห้องชุดเติบโต 42.86%) มีสัดส่วนคิดเป็น 7.94% ของจำนวนธุรกิจที่จัดตั้งทั้งหมดใน 8 เดือนแรก2566

นายทศพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจน่าจับตามองที่เติบโตกว่า 1 เท่า เทียบ 8 เดือนแรกปีก่อน ได้แก่ ธุรกิจขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืชเติบโต 2.07 เท่า เพิ่มขึ้น 118 ราย จากนโยบายส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก

ธุรกิจบริการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้างเติบโต 1.70 เท่า เพิ่มขึ้น 311 ราย จากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว ทำให้มีธุรกิจที่รับบริหารจัดการเกี่ยวกับที่พักอาศัย โรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจให้เช่าและให้เช่าแบบลิสซิ่งยานยนต์เติบโต 1.40 เท่า เพิ่มขึ้น 155 ราย จากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตและภาคธุรกิจที่นิยมการเช่ารถยนต์มากขึ้น และธุรกิจการปลูกพืชประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์เติบโต 1.12 เท่า เพิ่มขึ้น 201 ราย

“จากทิศทางที่ดีขึ้น กรมคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 อยู่ที่ 32,000 – 39,000 ราย ซึ่งทำให้ทั้งปี 2566 อยู่ที่ 79,000-86,000 ราย” นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนสิงหาคม 2566 มีการอนุญาต 58 ราย มีเม็ดเงินลงทุน 6,840 ล้านบาท เปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 จำนวนเพิ่มขึ้น 14% เงินลงทุนลดลง 32% นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 15 ราย รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ทำให้ 8 เดือนแรก 2566 คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในไทย 435 ราย มีเงินลงทุน 65,790 ล้านบาท

‘กองทุนดีอี’ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ 5G ต้นแบบ หลัง ม.เชียงใหม่ได้รับทุนนำร่องขยายบริการเข้าถึงประชาชน

สดช. ลงพื้นที่เชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District)

เมื่อวันที่ 21-22 ก.ย. 66 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร’ นายสมเกียรติ ศิริวัฒนโชค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารจัดการเชิงนโยบาย พร้อมด้วย  นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, และผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District) ส่วน 5G Smart Health เพื่อพัฒนาแนวทางและประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยี 5G ในการส่งเสริมการให้บริการการแพทย์ 5G Smart Ambulance สำหรับบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ และ Telemedicine สำหรับโรงพยาบาลประจำอำเภอในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน

โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีแหล่งข้อมูล (Big Data) เพื่อนําไปวิเคราะห์และประมวลผลต่อในด้านการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมต่อประชากรในท้องถิ่นระบบเชื่อมโยงและข้อมูลระหว่างกลุ่มข้อมูลแบบเรียลไทม์ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่

‘นาซา’ ลุ้น!! ‘ยานโอไซริส-เร็กซ์’ เตรียมยิงแคปซูล 24 ก.ย.นี้ พร้อมนำตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูกลับมาศึกษาต่อที่ดาวโลก

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีและบีบีซีรายงานว่า แคปซูลของยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐฯ ซึ่งเก็บตัวอย่างฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู เตรียมที่จะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เพื่อลงจอดที่ทะเลทรายตะวันออก ในรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายนนี้

นี่ถือเป็นความพยายามครั้งแรกของประเทศสหรัฐฯ ในการเก็บตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อย เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์บนโลก ยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 2016 และเก็บตัวอย่างฝุ่นบนดาวเคราะห์น้อยเบนนูมาได้เป็นปริมาณราว 250 กรัม เมื่อเดือนตุลาคม 2020 โดยบรรดานักวิทยาศาสตร์หวังว่า ตัวอย่างฝุ่นที่เก็บมาได้จะช่วยให้มนุษยชาติมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับระบบสุริยะของเรา และการที่โลกมีสภาวะที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้ากำหนดการลงจอดในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 24 กันยายน ตามเวลาในสหรัฐประมาณ 4 ชั่วโมง ยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์จะทำการปล่อยแคปซูลที่บรรจุตัวอย่างฝุ่นของเบนนูที่ระยะทางห่างจากโลกราว 108,000 กิโลเมตร และพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกด้วยความเร็ว 43,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้น ร่มชูชีพ 2 ชุดจะกางออก เพื่อนำแคปซูลลงจอดบนพื้นโลกอย่างปลอดภัย

โดยคืนก่อนหน้าการลงจอด เจ้าหน้าที่ควบคุมยานสำรวจอวกาศจะมีโอกาสครั้งสุดท้าย ในการล้มเลิกการลงจอดหากปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้อ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ยานสำรวจอวกาศจะต้องไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ก่อนที่จะมีการลองลงจอดอีกครั้งในปี 2025 แซนดร้า ฟรอยด์ ผู้จัดการโครงการโอไซริส-เร็กซ์ จากล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทด้านอากาศยานของสหรัฐ กล่าวว่า ภารกิจนำตัวอย่างฝุ่นที่เก็บได้กลับสู่โลกนั้นยากมากเพราะมีหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาด แต่ทีมงานก็ได้เตรียมการทุกอย่างด้วยความละเอียดเพื่อการลงจอดในครั้งนี้

หากการลงจอดสำเร็จด้วยดี เจ้าหน้าที่จะนำตัวอย่างของฝุ่นที่เก็บได้ไปทำการวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการในศูนย์อวกาศจอห์นสัน เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส และคาดว่าจะมีการแถลงข่าวถึงผลการวิเคราะห์ครั้งแรกในวันที่ 11 ตุลาคมนี้

นาซาจัดให้เบนนูเป็นดาวเคราะห์น้อยที่อันตรายที่สุดในระบบสุริยะ เนื่องจากเบนนู ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 500 เมตร โคจรรอบดวงอาทิตย์และเข้าใกล้โลกทุกๆ 6 ปี และเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสพุ่งชนโลกมากที่สุด โดยจะมีโอกาส 1 ใน 2,700 ที่เบนนูจะพุ่งชนโลกในปี 2182 ซึ่งนาซากำลังศึกษาวิธีที่จะเปลี่ยนวิถีการโคจรของเบนนู และการมีความเข้าใจที่มากขึ้นถึงส่วนประกอบของเบนนูจะช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างมาก

เปิดข้อคัดค้านสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา สารพัดคำอ้าง 'มรดกเผด็จการ ม.44 - ทำลายมรดกโลก'

(23 ก.ย.66) จากเพจเฟซบุ๊ก 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความ ดังนี้...

ขอร้อง!! อย่าให้สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา เป็นแพะทางการเมือง!! ตำแหน่งสถานี อยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรก!! จาก 2 ล้านๆ มา EIA 2556 สู่แบบก่อสร้างล่าสุด ห่างมรดกโลกกว่า 1.5 กิโลเมตร

ผมเห็นกระบวนการปั่นกระแส เรื่องตำแหน่งรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ที่อ้างว่าอยุธยาจะโดนถอน มรดกโลก จาก UNESCO บ้างล่ะ สร้างประวัติศาสตร์นอกกระแส เรื่องเมืองเก่าอโยธยา บ้างล่ะ ทั้งๆที่รู้มาเป็นร้อยปี แต่ไม่มีใครมาขุดค้น พอจะสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็เป็นห่วงกันขึ้นมา

โดยดรามาเหล่านี้ถูกนำด้วยกลุ่มคน นักวิชาการ นักโบราณคดี และที่หนักสุด คือ 'นักการเมือง' ทั้ง สส. ระดับประเทศ และนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมาพูดแบบ มองมุมเดียว และมีข้อเรียกร้องแบบที่หาจุดร่วมไม่ได้ จนสงสัยว่า สรุปคือ ไม่ต้องการให้สร้างใช่ไหม?

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น ต้องขอบคุณและชื่นชมชาวอยุธยา ที่มีการตั้งคำถามกลับไปยังคนที่มาโจมตี และคัดค้านการสร้างสถานีอยุธยา ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ขัดขวางความเจริญ และมองการพัฒนาแต่มุมเดียว

*** ล่าสุด มีการตั้งประเด็น อ้างอิง ม.44 เป็นหนึ่งในสาเหตุในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งจะทำลายโบราณสถานในอยุธยา ซึ่งเป็นความบิดเบือนอย่างที่สุด เพราะตำแหน่งสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา มันอยู่ในตำแหน่งนี้ มาตั้งแต่โครงการ 2 ล้านๆ แล้ว จนออกมาเป็นแบบ และอนุมัติใน EIA 2556 

สรุปแล้วมันยังไง เดี๋ยวผมมาเล่าให้ฟังอีกทีครับ

>> ย้อน Time line สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา...
- เดิม สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา อยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูง สายเหนือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลก ซึ่งมีการศึกษาเสร็จตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเตรียมจะเข้าแผนก่อสร้างตามโครงการ 2 ล้านๆ ที่เรารู้จักกัน

แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด และรูปแบบโครงการ เลือกทำสายอีสาน ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-โคราช ก่อน ก็เลยมีการปรับข้อมูลจากที่เคยศึกษาไว้ มาใช้กับสายอีสานแทน ซึ่ง EIA เล่มนี้มีมติผ่านในปี 2560 

- จากนั้นมีการปรับก่อสร้างอาคารสถานี พร้อมทำการแก้ไขผลการศึกษาใหม่ ในช่วง 2562 โดยในครั้งนี้ ก็มีการใช้สถานที่ก่อสร้างเดิม แต่มีการปรับปรุงรูปแบบอาคารให้สอดคล้องกับโบราณสถาน วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งเป็นทรงจั่วขนาดใหญ่ 

แต่ในครั้งนี้ มีการแย้งเรื่องการบดบังทรรศนียภาพของเมืองอยุธยา ทำให้ที่ปรึกษา ได้มีการปรับแก้ไขแบบ ลดมิติของอาคารลงมากว่า 30% 

แต่สุดท้ายก็ 'ไม่ผ่าน' จึงทำให้ โครงการถอยหลังกลับไปที่แบบ และการศึกษาโครงการ จาก EIA ปี 2556 และปรับแก้รายละเอียดอาคารสถานีจากตรงนั้นแทน 

- แต่กรมศิลป์ อ้างถึง UNESCO ว่ากลัวการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาไปกระทบเขตมรดกโลกอยุธยา 

โดยทาง UNESCO ขอให้ทำ การศึกษาผลกระทบกับโบราณสถาน (HIA) ซึ่งไทยเราไม่เคยทำ และไม่มีข้อกำหนดรวมถึงกฎหมายควบคุมให้ทำ ซึ่งสุดท้าย การรถไฟ ก็ทำจนเสร็จ และยื่นเอกสารให้ UNESCO พิจารณาแล้ว

- มีกลุ่ม 'อนุรักษ์เมือง อโยธยา' ซึ่งไม่ใช่อยุธยา และไม่ได้มีสถานะ มรดกโลกใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ แต่กลุ่มนี้อ้างว่า เป็นต้นกำเนิดอยุธยา ซึ่งพื้นที่อโยธยาที่ 'อ้างถึง' คือพื้นที่รอบสถานีรถไฟอยุธยา ยาวไปจนถึงเจดีย์วัดสามปลื้ม

แต่!! ในพื้นที่นี้ ยังไม่ถูกขุดค้น และปัจจุบันประชาชนก็เข้าใช้พื้นที่เต็มไปหมดแล้ว 

>> ปัญหากับโครงการรถไฟความเร็วสูง...
ทางคนคัดค้านเขาบอกว่าการก่อสร้างทั้งทางวิ่งยกระดับ และสถานีรถไฟความเร็วสูง มีผลกระทบกับโบราณสถานใต้ดินที่ไม่ถูกขุดค้น แต่ก็ไม่เห็นว่าจะขุดเมื่อไหร่!!

ซึ่งทางคนคัดค้านมีข้อเสนอคือ...

1. ทำทางวิ่งและสถานีอยุธยาเป็นรูปแบบใต้ดิน!!
ระยะทาง 5 กิโลเมตร 
ใช้งบประมาณ 10,300 ล้านบาท
ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี

แล้วยังไม่รวมกรณีที่ขุดใต้ดินแล้วไปเจอวัตถุโบราณ ซึ่งอย่างที่รู้ว่าเมืองอยุธยาเป็นเมืองโบราณ ขุดไปทางไหนก็เจอวัตถุโบราณ 

แล้วถ้าขุดไปเจอ จะต้องย้ายแนวอีกไหม? ต้องเสียเวลาโยกย้ายวัตถุโบราณอีกกี่ปี?

สุดท้ายและสำคัญที่สุด พื้นที่เมืองอยุธยาเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมเป็นประจำ แถมท่วมสูงขึ้นทุกปี แล้วถ้าอุโมงค์น้ำท่วมใครจะรับผิดชอบ มูลค่าเสียหายเท่าไหร่? คุ้มกันไหม?

2. ทำทางรถไฟเลี่ยง!! เมืองอยุธยา ไป 30 กิโลเมตร จาก บางปะอิน-บ้านภาชี!!

>> ระยะทาง 30 กิโลเมตร 
เวนคืนใหม่ตลอดเส้นทาง ค่าเวนคืนประมาณ 3,750 ล้านบาท
ต้องย้ายสถานีอยุธยาออกไป (ไปไหนก็ไม่รู้ กลางทุ่งซักที่)
ใช้งบประมาณ 22,630 ล้านบาท!!
ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 7 ปี!!

เอาจริงๆ ข้อเสนอนี้ มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรมีเลยด้วยซ้ำ เพราะมีทั้งเรื่องผลกระทบของประชาชน แล้วไม่ส่งเสริมการเดินทางอะไรกับเมืองอยุธยา และอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาเลย!!

ผมว่าถ้าจะทำแบบนี้ไม่ทำสถานีอยุธยาเลยซะดีกว่า สร้างไปก็ไม่มีคนใช้บริการซะเปล่าๆ

3. ย้ายสถานีอยุธยาไปที่สถานีบ้านม้า ซึ่งเป็นการย้ายสถานีออกจากจุดเดิมไปอีก 5 กิโลเมตร ซึ่งตรงสถานีบ้านม้าอยู่ใกล้กับถนนสายเอเชีย (ทางหลวง 32) ต้องเวนคืนพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างสถานี ค่าเวนคืนประมาณ 200 ล้านบาท ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี!!

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่พอเป็นไปได้แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์กับเมืองอยุธยา และอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาเท่าที่ควร 

แต่คำถามคือ เราต้องการให้ผู้โดยสารเดินทางไปไหน เราก็ควรจะพาผู้โดยสารไปใกล้กับปลายทางให้มากที่สุด ซึ่งตำแหน่งสถานีเดิมเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดแล้วจริงๆ

เพราะการย้ายออกไป 5 กิโลเมตร จะสร้างปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง กับ เมืองอยุธยา ต้องมาลงทุนระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อระหว่าง 2 สถานีอีก

***แต่เป็นสิ่งนักการเมือง และนักเก็งกำไรต้องการให้ย้ายไปเพื่อสอดคล้องกับที่ดินที่ได้มีการดักซื้อไว้เป็นจำนวนมาก เป็นของใครบ้างก็ลองไปตามหากันครับ

ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่สร้างปัญหามากกว่า ทำให้ทางที่ปรึกษา เสนอทางเลือกคือ...

1. จัดทำผังเมืองเฉพาะเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของเมืองโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง

ใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท
ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี

ซึ่งกรณีนี้จะไปสอดคล้องกับ โครงการ TOD อยุธยา ซึ่งจะไปวางเขตผังเมืองเฉพาะ เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ 

แต่ก่อนหน้าก็มีการตีกลับโครงการ TOD อยุธยา เพราะทางกรมศิลป์ แจ้งว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่จะประกาศในอนาคต 

2. สร้างทางวิ่งก่อน แล้วค่อยหาตำแหน่ง และรูปแบบสถานีที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ

ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท

โดยกรณีนี้สามารถสร้างได้ทันทีและไม่กระทบกับแผนการก่อสร้าง หลังจากทุกอย่างลงตัวค่อยเริ่มสร้างสถานีตามแบบที่ทุกฝ่ายลงตัว

แต่ปัญหาคือสถานีอยุธยาจะเปิดช้ากว่าสถานีอื่น 3-5 ปี เพราะอาจจะต้องไปทำ EIA แก้ไขก่อน ซึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ ก็จะช้าไป 

ซึ่งตัวอาคารสถานีรถไฟอยุธยา ที่กลับไปใช้แบบสถานีรถไฟความเร็วสูงตามรูปแบบเดิม ที่ใช้เสนอ EIA ปี 2556 ซึ่งก็เป็นแบบสวยเหมือนกัน แต่เรียบง่ายลงมาเยอะ เน้นใช้วัสดุเป็นหลังคาและอาคารใส 

>> ความสูงในส่วนต่างๆของอาคาร
- หลังคากลางอาคารสูงสุด อยู่ที่ 37.45 เมตร
- ระดับชั้น 3 ชานชาลารถไฟความเร็วสูง 19.00 เมตร
- ระดับชั้น 2 ชานชาลาพื้นที่ชานตั๋วและรอรถ 10.25 เมตร
- ระดับชั้น 1 สถานีเดิม ชานชาลารถไฟทางไกล และชานชาลารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอนาคต 1.50 เมตร

ซึ่งถ้ายืนตามแบบนี้ สามารถสร้างได้ 'ทันที' เพราะทำตามกฎหมายไทยหมดแล้ว 

ล่าสุด ผมพึ่งเห็นการจัดทัวร์พาอินฟลูเอ็นเซอร์ต่างๆ ไปเดินทาง ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ 'อโยธยา'

ซึ่งหนึ่งในรายละเอียดของการเสวนา ในครั้งนี้คือ 'มรดกเผด็จการ ม.44 ทำลายมรดกโลก อโยธยา' {สรุปว่าอยุธยา หรือ อโยธยา ที่ได้มรดกโลกนะครับ}

โดยตรงนี้เห็นชัดเจนว่า เป็นการตั้งธง และผูกเรื่องเพื่อสร้างให้สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา กลายมาเป็นแพะ และเป็นมรดกของ ม.44 ซึ่งคนละเรื่องตามที่ผมให้ข้อมูลมาตั้งแต่แรก!!

ตอนนี้ก็ต้องฝากคนอยุธยา ช่วยกันให้ข้อมูล และรักษาสิทธิ์ให้กับตัวท่านเอง เพื่อการพัฒนาที่เหมาะสมกับเมืองอยุธยาครับ

เผื่อใครยังไม่ได้อ่านรายละเอียด ประเด็นปัญหาสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา

ซึ่งผมเคยพูดถึงดราม่านี้ไปจนใหญ่โต เรื่อง สถานีอยุธยา VS กรมศิลป์ฯ ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1201611603610650/ 

การทำ HIA ตามที่กรมศิลป์ฯ และ UNESCO ต้องการ ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1202420353529775/?d=n 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top