‘นาซา’ ลุ้น!! ‘ยานโอไซริส-เร็กซ์’ เตรียมยิงแคปซูล 24 ก.ย.นี้ พร้อมนำตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูกลับมาศึกษาต่อที่ดาวโลก

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีและบีบีซีรายงานว่า แคปซูลของยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐฯ ซึ่งเก็บตัวอย่างฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู เตรียมที่จะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เพื่อลงจอดที่ทะเลทรายตะวันออก ในรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายนนี้

นี่ถือเป็นความพยายามครั้งแรกของประเทศสหรัฐฯ ในการเก็บตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อย เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์บนโลก ยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 2016 และเก็บตัวอย่างฝุ่นบนดาวเคราะห์น้อยเบนนูมาได้เป็นปริมาณราว 250 กรัม เมื่อเดือนตุลาคม 2020 โดยบรรดานักวิทยาศาสตร์หวังว่า ตัวอย่างฝุ่นที่เก็บมาได้จะช่วยให้มนุษยชาติมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับระบบสุริยะของเรา และการที่โลกมีสภาวะที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้ากำหนดการลงจอดในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 24 กันยายน ตามเวลาในสหรัฐประมาณ 4 ชั่วโมง ยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์จะทำการปล่อยแคปซูลที่บรรจุตัวอย่างฝุ่นของเบนนูที่ระยะทางห่างจากโลกราว 108,000 กิโลเมตร และพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกด้วยความเร็ว 43,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้น ร่มชูชีพ 2 ชุดจะกางออก เพื่อนำแคปซูลลงจอดบนพื้นโลกอย่างปลอดภัย

โดยคืนก่อนหน้าการลงจอด เจ้าหน้าที่ควบคุมยานสำรวจอวกาศจะมีโอกาสครั้งสุดท้าย ในการล้มเลิกการลงจอดหากปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้อ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ยานสำรวจอวกาศจะต้องไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ก่อนที่จะมีการลองลงจอดอีกครั้งในปี 2025 แซนดร้า ฟรอยด์ ผู้จัดการโครงการโอไซริส-เร็กซ์ จากล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทด้านอากาศยานของสหรัฐ กล่าวว่า ภารกิจนำตัวอย่างฝุ่นที่เก็บได้กลับสู่โลกนั้นยากมากเพราะมีหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาด แต่ทีมงานก็ได้เตรียมการทุกอย่างด้วยความละเอียดเพื่อการลงจอดในครั้งนี้

หากการลงจอดสำเร็จด้วยดี เจ้าหน้าที่จะนำตัวอย่างของฝุ่นที่เก็บได้ไปทำการวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการในศูนย์อวกาศจอห์นสัน เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส และคาดว่าจะมีการแถลงข่าวถึงผลการวิเคราะห์ครั้งแรกในวันที่ 11 ตุลาคมนี้

นาซาจัดให้เบนนูเป็นดาวเคราะห์น้อยที่อันตรายที่สุดในระบบสุริยะ เนื่องจากเบนนู ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 500 เมตร โคจรรอบดวงอาทิตย์และเข้าใกล้โลกทุกๆ 6 ปี และเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสพุ่งชนโลกมากที่สุด โดยจะมีโอกาส 1 ใน 2,700 ที่เบนนูจะพุ่งชนโลกในปี 2182 ซึ่งนาซากำลังศึกษาวิธีที่จะเปลี่ยนวิถีการโคจรของเบนนู และการมีความเข้าใจที่มากขึ้นถึงส่วนประกอบของเบนนูจะช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างมาก