Thursday, 8 May 2025
TheStatesTimes

‘ครอบครัวบุญญามณี’ รับโล่เกียรติคุณ เนื่องในวันมหิดล ปี 66 ในฐานะผู้บริจาคให้คณะแพทยศาสตร์ รพ.สงขลานครินทร์

(22 ก.ย. 66) ที่ห้องประชุมชั้น 14 อาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนางกัลยา บุญญามณี ภริยา ร่วมพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้อุปการคุณมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.)

โดยภายในมีการแสดงวีดิทัศน์ ‘พระราชประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชกรม พระบรมราชชนก’ และวีดิทัศน์ ‘ภารกิจของมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์’ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้อุปการคุณมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2566

ทั้งนี้ ครอบครัวบุญญามณี ได้ร่วมสมทบทุนบริจาคร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย การบริจาคสมทบทุนก่อสร้างศูนย์ผ่าตัดหัวใจรัฐบุรุษ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สมทบทุนก่อสร้างอาคารเย็นศิระ 3 ที่จัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่พักของผู้ป่วยและญาติที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากต่างจังหวัด ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตามแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ผ่านมูลนิธิ รพ.สงขลานครินทร์ และสมทบทุนโครงการก่อสร้างอาคาร ‘เกิดมาต้องตอบ แทนบุญคุณแผ่นดิน’ ซึ่งจะเปิดเป็นศูนย์บริจาคอวัยวะ 99 ปี รัฐบุรุษ ‘พลเอกเปรม ติณสูลานนท์’

นอกจากนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย ได้ประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 604 ล้านบาท ในวงเงินก่อสร้าง 1,499 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์ความเป็นเลิศและรองรับโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์อีกด้วย

'อ.โต' เผย ความสามารถในการทำนายโรค เมื่ออายุ 40+ กินแบบไหนได้แบบนั้น ต้องหมั่นปรับสมดุลเพื่อความอยู่รอด

(22 ก.ย.66) นายศาสตรา โตอ่อน อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) ม.ธรรมศาสตร์ เจ้าของช่องยูทูบ 'อ.โต วิเคราะห์' โพสต์ข้อคิดผ่านเฟซบุ๊ก 'Sattra Toaon' ว่า...

พออายุ 40 + เราสามารถทำนายโรคที่เราจะเป็นได้

1.ถ้ายังรับประทานน้ำมันพืช ของทอด ไก่ทอดดีปฟราย ก็เตรียมเป็นโรคหลอดเลือด โรคหัวใจได้เลย

2.ถ้ายังรับประทานแป้งแบบไม่ยั้ง ก็เตรียมเป็นโรคเบาหวานไขมันความดัน ไขมันพอกตับได้เลย 

3.ถ้ายังทานน้ำตาลของหวานแบบไม่ยั้ง ก็เตรียมเป็นมะเร็งได้เลย แก่ก่อนวัยด้วยเพราะน้ำตาลนั้นจะลงไปทำลายระดับเซลล์ 

4.ถ้ายังทานอาหารเค็มก็เตรียมเป็นโรคหลอดเลือดแตกได้เลย 

5.ที่นี้ถ้าเป็นทุกโรคแล้วยังทานยาจำนวนมากก็เตรียมไปฟอกไตได้เลย 

6.ถ้ายังสูบบุหรี่อยู่ ก็เป็นมะเร็งปอดถุงลมโป่งพอง 

ผมเคยเขียนเรื่องการจัดชั้นวางชีวิต พออายุ 40 + ต้องมีชั้นวางอันใหม่ ไม่งั้นไม่รอด

ผมมีแล้วค่อยๆ ปรับสมดุลไปเพื่อความอยู่รอด

23 กันยายน พ.ศ. 2445 ‘ธนบัตร’ ออกใช้เป็นครั้งแรกในสยาม มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาล

วันนี้ เมื่อ 121 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปิดรับแลกเปลี่ยนธนบัตรแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการ นับเป็นการนำ ‘ธนบัตร’ ออกใช้เป็นครั้งแรกในสยาม

แรกเริ่มก่อนที่จะมีการใช้ธนบัตรนั้น ไทยได้มีการออกใช้เงินกระดาษมาก่อนแล้ว เนื่องจากมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้ากับชาติตะวันตกทำให้ความต้องการเงินตราภายในสยามเกินกำลังการผลิต เกิดความขาดแคลนเงินที่ผลิตจากโลหะจึงมีการออกเงินกระดาษ เรียกว่า หมาย ในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อใช้ร่วมกันกับเหรียญโลหะแต่ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้เนื่องจากคนทั่วไปยังคุ้นเคยกับการใช้เงินโลหะอยู่ ต่อมาเมื่อมีธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศ คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์ และธนาคารแห่งอินโดจีนได้ขออนุญาตนำบัตรธนาคารออกใช้เป็นตั๋วสัญญาในการชำระหนี้ในวงแคบระหว่างธนาคารและลูกค้าในช่วง พ.ศ. 2432 - 2445 โดยมีการเรียกบัตรธนาคารทับศัพท์ว่า แบงก์โน้ตหรือแบงก์ ซึ่งสร้างความเคยชินและเรียกธนบัตรของรัฐบาลที่ออกใช้ในภายหลังจนติดปากถึงทุกวันนี้ว่า แบงก์

จนกระทั่ง พ.ศ. 2445 จึงเข้าสู่วาระสำคัญในการออกธนบัตร กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้ตรา พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก 121 ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2445 อีกทั้งโปรดให้จัดตั้ง กรมธนบัตร ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อทำหน้าที่ออกธนบัตรและรับจ่ายเงินขึ้นธนบัตร และเปิดให้ประชาชนนำเงินตราโลหะมาแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2445 จึงนับว่าธนบัตรได้เข้ามามีบทบาทในระบบการเงินของไทยอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา

ธนบัตรที่นำออกใช้ตามพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก 121 นั้น มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของรัฐบาลที่สัญญาจะจ่ายเงินตราให้แก่ผู้นำธนบัตรมายื่นโดยทันที ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ซึ่งกำหนดให้เงินตราของประเทศประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนให้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการเปลี่ยนลักษณะของธนบัตรจากตั๋วสัญญาใช้เงินมาเป็นเงินตราอย่างสมบูรณ์

24 กันยายน วันมหิดล น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน

24 กันยายน วันมหิดล ‘พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย’ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์)

‘สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก’ ทรงพระราชสมภพวันที่ 1 มกราคม (ตามปฏิทินเก่าคือ ปี พ.ศ. 2434 แต่ตามปฏิทินใหม่คือ ปี พ.ศ. 2435) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระเชษฐา และพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’ หรือ ‘พระราชบิดา’ และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า ‘เจ้าฟ้าทหารเรือ’ และ ‘พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย’ ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า ‘เจ้าฟ้ามหิดล’

หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวร ต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. เมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่าง ๆ จากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุม

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และ ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกัน นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้วัน ที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันมหิดล’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในฐานะพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

‘เทพไท’ จ่อขอพระราชทานอภัยโทษ พร้อมยกเหตุผลเหนือกว่า ‘ทักษิณ’

(22 ก.ย. 66) นายพงษ์สินธ์ เสนพงศ์ ในฐานะน้องชายของ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตนักการเมืองฝีปากกล้าของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประสบวิบากกรรมทางการเมือง ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกับน้องชายอีกคน คือนายมาโนช เสนพงศ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อมูลสำคัญที่สร้างความฮือฮา โดยระบุว่าเป็นการพูดคุยกับ นายเทพไท เสนพงศ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานะผู้ต้องขังของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เตรียมที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ ด้วยคุณสมบัติที่มีมากกว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีความว่า…

“เทพไท ใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ เหมือนทักษิณ ผมได้ไปเยี่ยมคุณเทพไท ที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เมื่อวันก่อน คุณเทพไทได้แจ้งให้ผมทราบว่า เขาได้ทำหนังสือทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคล เช่นเดียวกับคุณทักษิณแล้ว โดยอธิบายเหตุผลให้ฟังว่า เดิมทีตั้งแต่เข้าสู่เรือนจำวันแรก มีหลายคนแนะนำให้ทำหนังสือทูลเกล้า เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคล ซึ่งตอนนั้นคิดว่า เรามีโทษจำคุกเพียง 2 ปี ก็ควรยอมรับชะตากรรม ไม่อยากทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ ให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ นับตั้งแต่วันเริ่มเข้าสู่ประตูเรือนจำ แต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม คุณทักษิณได้เดินทางกลับประเทศไทย โดยมีข้ออ้างว่าต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อต้องการรับโทษจำคุก 10 ปี ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา”

“แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่ได้จำคุกจริง หลังจากอยู่ในเรือนจำได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 โดยอ้างเหตุผลของการเจ็บป่วย และหลังจากนั้นได้ทำหนังสือทูลเกล้าขออภัยโทษในวันที่ 31 สิงหาคม โดยเหตุผล 4 ข้อ คือ 1.) ได้ทำคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ 2.) มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 3.) เคารพและยอมรับกระบวนการยุติธรรม และ 4.) เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว”

นายพงษ์สินธ์ ระบุอีกว่า หากพิจารณาจากเหตุผลในการทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษของคุณทักษิณแล้ว คุณเทพไท กล่าวกับผมว่า เขามีคุณสมบัติในการขอพระราชทานอภัยโทษได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคุณทักษิณเลย กล่าวคือ

1.) ได้เป็นสมาชิกสภาแทนราษฎรมา 4 สมัย ทำงานรับใช้ประชาชน และทำประโยชน์ให้ประเทศชาติมากมายมาร่วม 20 ปี

2.) มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่ประจักษ์ เคยเป็นพิธีกรรายการสายล่อฟ้า ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จากการจาบจ้วงของระบอบทักษิณ (ตามเหตุผลการยึดอำนาจของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) และไม่เคยต้องคดีตามมาตรา 112 แต่อย่างใด

3.) ยอมรับกระบวนการยุติธรรมด้วยความเต็มใจ เมื่อถูกศาลฎีกาตัดสินให้รับโทษจำคุก 2 ปี ก็ไม่ได้หลบหนีคดีแต่อย่างใด

4.) ตอนนี้อายุ 62 ปี เป็นผู้สูงวัยเช่นเดียวกัน และมีโรคประจำตัวหลายโรค ระหว่างถูกจำคุกในเรือนจำ ต้องเบิกตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชจังหวัดนครศรีธรรมราช

5.) ได้รับโทษจำคุกมาเป็นเวลา 14 เดือน กำลังจะเข้าข่ายเงื่อนไขการจำคุก 2 ใน 3 ของโทษตามคำพิพากษา แต่ไม่เคยได้รับการลดโทษเลย

6.) ได้ต้องโทษจำคุกจากการกระทำผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ข้อหาจัดเลี้ยงและร่วมงานเลี้ยงกินข้าวกับกลุ่มกำนันผู้ใหญ่ ไม่ใช่การแจกเงินซื้อเสียง) แต่กรณีของคุณทักษิณ ต้องโทษคดีทุจริตต่อประเทศชาติ

ดังนั้น คุณเทพไท จึงได้สิทธิตามเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์ เหมือนกับนักโทษทั่วไป ที่ไม่ใช่นักโทษเทวดาทุกประการ สำหรับเรื่องนี้ ถ้าหากมีความคืบหน้าประการใดผมจะนำมารายงานให้ได้รับทราบในโอกาสต่อไป

25 กันยายน พ.ศ. 2541 วันสถาปนา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง น้อมระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงใช้พระราชสมัญญา ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ประชาชนชาวเชียงรายร่วมกับหน่วยราชการในจังหวัดเชียงรายเห็นพ้องต้องกันว่า โดยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลต่ออาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวเชียงรายที่ได้ทรงเลือกจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่สร้างพระตำหนัก หรือบ้านหลังแรกของพระองค์ และทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งได้นำความเจริญรุ่งเรือง มายังจังหวัดและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

ฉะนั้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีตลอดจนเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายต่อรัฐบาลที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงราย ได้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539 ให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้

ต่อมารัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติใหม่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงราย และได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับงบประมาณในการดำเนินการเพื่อการเตรียมการจัดตั้ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 และงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2542 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,325 ล้านบาท การก่อสร้างตามโครงการระยะแรกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 5 ปี บนพื้นที่ 4,997 ไร่ ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ฮือฮา!! ‘ป.ป.ช.’ เปิดบัญชีทรัพย์สิน ‘สส.โตโต้’ พบ 3 ปี มีรถยนต์ 5 คัน-ที่ดิน 3 ล้าน-ตึกแถวในเมือง

(22 ก.ย. 66) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีเข้ารับตำแหน่ง สส. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 66 จำนวน 91 ราย บัญชีที่น่าสนใจในส่วนของ สส.พรรคก้าวไกล โดย นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ ‘สส.โตโต้’ แจ้งว่ามีสถานภาพโสด มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 6,599,577 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 3,410,171 บาท โดยในส่วนของทรัพย์สินประกอบด้วย เงินฝาก 22,577 บาท ที่ดิน 3,000,000 บาท ซึ่งเป็นที่ดินในอำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2,500,000 บาท เป็นตึกแถว 3 ชั้น ย่านบางพลัด กรุงเทพฯ ยานพาหนะ 1,077,000 บาท

นายปิยรัฐ แจ้งว่า เป็นรถยนต์ 5 คัน ประกอบด้วย
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ยี่ห้อโฟล์ค ได้มาเมื่อเดือน พ.ย. 2563
- รถยนต์ส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า ได้มาเมื่อเดือน ม.ค. 2564
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ยี่ห้อมินิ รุ่นคูเปอร์ ได้มาเมื่อเดือน มิ.ย. 2566
- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า ได้มาเมื่อ ก.ย. 2564
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 คน ยี่ห้อโตโยต้า ได้มาเมื่อ พ.ย. 2563 จักรยานยนต์ 2 คัน ประกอบด้วยจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่น แอร์เบลด และฮอนด้าคลิก

26 กันยายน พ.ศ. 2430 ไทย-ญี่ปุ่น ลงนามปฏิญญาทางพระราชไมตรี ปฐมบทสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430 หรือ เมื่อ136 ปีที่แล้ว ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้ลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย เริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี แต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430

ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและราบรื่น ความร่วมมือของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ไทยได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (strategic and economic partnership)

การเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ ที่สำคัญ คือในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506

ในครั้งนั้น พระองค์ทรงเสด็จเยือนกรุงโตเกียว เมืองนาโงยา จังหวัดเกียวโต และนารา และฝ่ายญี่ปุ่นได้ถวายการต้อนรับ ด้วยการนำเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป และวิทยุ เพื่อทอดพระเนตรเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างดี

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ

เพื่อทรงตอบแทนพระราชไมตรี มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2507 ในครั้งนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นที่ระลึกแห่งพระราชไมตรี และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนับเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น ปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ประมาณ 50,000 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 40,000 คน

ตำรวจไซเบอร์รวบสาวน้อยร้อยประวัติฉ้อโกง หลอกกู้เงินออนไลน์ เสียหายรวมกว่า 2 ล้าน

สืบเนื่องจากผู้เสียหายต้องการสินเชื่อเงินกู้ ต่อมาได้พบโฆษณาให้กู้ยืมเงินผ่านช่องทางออนไลน์ชื่อ 
“RK COMPANY ฝ่ายบริการสินเชื่อ ฝ่ายสินเชื่อออนไลน์” จึงได้ติดต่อไป โดยแอดมินใช้โปรไฟล์ของบุคคลอื่นนำมาแอบอ้างเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แล้วใช้กลอุบายหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินไปก่อนทำสินเชื่อ โดยอ้างเป็นค่าดำเนินการต่างๆ เช่น ค่าทำสัญญา ค่าค้ำประกัน สร้างเครดิต แต่ก็ไม่เคยได้รับเงินกู้ดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายเริ่มสงสัย ก็อ้างว่าผู้เสียหายทำผิดเงื่อนไข แล้วหลอกล่อให้โอนเงินเพิ่มอีกเพื่อปลดล็อคเงื่อนไขดังกล่าว
 
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ บก.สอท. 5 เร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้อง ต่อมา จากการสืบสวนพบว่า มีผุ้เสียหายในลักษณะดังกล่าวอีกหลายราย แต่ละรายโอนเงินให้คนร้าย 4-7 ครั้งต่อราย ผ่านหลายบัญชีธนาคาร แต่ไม่เคยรับเงินสินเชื่อดังกล่าว ความเสียหายตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้าน  รวมความเสียหายมากกว่า 2 ล้านบาท  ตำรวจไซเบอร์จึงรับแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งออนไลน์ thaipoliceonline.com แล้วได้ทำการสืบสวนสอบสวน จนนำไปสู่การขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาหลายราย

กระทั่ง กก.1 บก.สอท.5 ได้สืบสวนจนทราบข้อมูลหนึ่งในผู้ต้องหาของขบวนการนี้ พบมีหมายจับของตำรวจไซเบอร์ 3 หมายจับ และยังพบประวัติฉ้อโกงผู้เสียหายอีกหลายรายการ จึงนำกำลังร่วมกันเข้าจับกุม น.ส.ไพลิน อายุ 19 ปี ตามหมายจับ ศาลอาญา จำนวน 3 หมายจับในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น,นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”  โดยควบคุมตัวได้บริเวณหน้าห้องพักแฟลตปลาทอง อ.เมือง จ.ปทุมธานี
       
เบื้องต้นผู้ต้องหายังคงให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงนำตัวนำส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.สอท.5 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ  พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 และ พ.ต.อ.ศุภกร ธัญญกรรม ผกก.1 บก.สอท.5 สั่งการให้ พ.ต.ท.ปริพล  นาคลำภา, พ.ต.ท.หญิง ธรา เมืองแก้ว สว กก.1 บก.สอท 5, พ.ต.ท.อุดม อิสโร  สว.ฯ ปรก.กก.1 สอท.5 และ พ.ต.ต.สุธี บุดดีคำ สว.ฯ ปรก.กก.1 บก.สอท.5 พร้อมชุดสืบสวนร่วมกันจับกุม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top