
(8 พ.ค.68) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศปอส.ตร.) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนงานปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ โดยมี ดร.รีเบ็คก้า มิลเลอร์ ผู้ประสานงานภูมิภาคของ UNODC , พล.ต.ต.สุรชัย สังขพัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , ผู้แทนหน่วยงานตำรวจที่เกี่ยวข้อง , ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) , กระทรวงมหาดไทย , กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , กระทรวงแรงงาน , กองบัญชาการกองทัพไทย , สำนักงานอัยการสูงสุด , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน , สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม , ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องศรียานนท์ อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การประชุมในวันนี้เป็นการขับเคลื่อนงานปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ ของหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ซึ่งมี พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าฯ โดยการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจนี้ขึ้นมาเพื่อความสะดวกและมีประสิทธิภาพในการประสานงานไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศ , การปฏิบัติการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศ , การสืบสวนสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ , การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ภายหลังจากการช่วยเหลือออกมาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ , การส่งเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐในการป้องกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ และการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน (SOP) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการประสานงานระหว่างประเทศ

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลคือปัจจัยของความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การสืบสวนสอบสวน และการดำเนินคดี อาทิ สถานที่ตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ , ชาวต่างชาติต้องสงสัยที่เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ , การคัดกรองเหยื่อ/ผู้ประสงค์ไปทำงาน ซึ่งในส่วนของ UNODC จะให้การสนับสนุนการทำงานในด้านการช่วยกำหนดทิศทางการทำงานของหน่วยเฉพาะกิจฯ แพลตฟอร์มการประสานงานกับหน่วยงานนานาประเทศ และการฝึกอบรมในการคัดกรองและคัดแยกผู้เสียหายกับผู้กระทำผิด

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมา พูดได้ว่าหากเราไม่สามารถล้มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนได้ การแก้ปัญหาดังกล่าวยากที่จะหมดไป ในส่วนของประเทศไทยพบว่ากลุ่มแก๊งดังกล่าวมักใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการเดินทางไปทำงาน เนื่องจากเดินทางสะดวก ประกอบกับพบว่ามีคนไทยบางคนเกี่ยวข้องทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสมัครใจเดินทางไปทำงาน หรือการให้บริการรถเช่า ที่พัก เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตำรวจจะต้องสืบสวนจับกุมดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด พร้อมกำชับและขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบเข้มงวดเรื่องนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังชายแดนในทุกวิธีการ เพื่อเป็นการบล็อค ไม่ให้ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ทุกหน่วยต้องร่วมกันขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ

จากนั้น เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมติดตามผลการปฏิบัติงานศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศตคม.ตร.) โดยมี พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พล.ต.ต.ทรงกลด เกริกกฤตยา ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และผู้แทนหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. อาคาร 1 ชั้้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผ่านระบบทางไกลอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับผลการปฏิบัติการปราบปรามการค้ามนุษย์ ของ ศคตม.ตร. ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 เมษายน 2568 แบ่งเป็น การจับกุมความผิดเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ของกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ จำนวน 72 คดี , การจับกุมของชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต (TICAC) ดำเนินคดีรวม 24 คดี ช่วยเหลือเหยื่อ 22 ราย และผลการปฏิบัติของชุดปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ภาคประมง ตรวจแรงงาน การจับกุมเรือประมงผิดกฎหมาย และการจับกุมคดีค้ามนุษย์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 เมษายน 2568 มีการตรวจเรือประมง 1,263 ลำ จับกุมตาม พ.ร.ก.ประมงฯ 22 คดี ผู้ต้องหา 23 คน
พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ เป้าหมายยกระดับสู่ Tier 1 ในการจัดระดับในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) อย่างเข้มงวด กำชับอย่าให้มีการใช้กระบวนการ NRM ฟอกขาว อ้างตัวเป็นเหยื่อเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมดำเนินคดี และได้สั่่งการแนวทางและมาตรการในการขับเคลื่อน ศคตม.ตร. ในห้วงถัดไป ย้ำว่าหัวใจอยู่ที่การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะมาตรการ 7 ขั้นตอน ของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด