Wednesday, 7 May 2025
GoodsVoice

‘สภากาชาดไทย’ เชิญชวนคนไทย ร่วมจิตอาสาทำความดีบริจาคโลหิต เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดเดือนมหามงคล

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดหาโลหิตและภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ที่ได้มาเชิญชวนพสกนิกรทั่วประเทศ ร่วมเป็นจิตอาสา ทำความดีบริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 67 โดยคุณปิยนันท์ ได้กล่าวถึงสาระสำคัญ ดังนี้…

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยมีพระราชประสงค์ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาท เพื่อสืบสานรักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแด่อาณาประชาราษฎร์ 

โดยทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ซึ่งล้วนมีการสร้างสรรค์ความผาสุขสงบแก่ประชาชน นำความเจริญไพบูลย์ และความมั่นคงมาสู่ประเทศ ดังพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

ทั้งนี้ ในด้านภารกิจของสภากาชาดไทย ทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย ทรงสนับสนุนงานบริการโลหิต โดยเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคโลหิต นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ในการนี้ ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเข็มที่ระลึก ผู้บริจาคโลหิต ครั้งที่ 6 เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ความว่า...

“โลหิตเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงรักษาชีวิตให้ดำรงอยู่ นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งชีวิต การบริจาคโลหิต จึงเทียบได้กับการบริจาคชีวิตเป็นทานซึ่งเป็นทานที่สูง ควรแก่การยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่ง”   

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ  สภากาชาดไทย  จึงได้จัดกิจกรรมเชิญชวน พสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศ ร่วมเป็นจิตอาสา ทำความดีบริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมทั้งลงนามถวายพระพรออนไลน์ ตลอดเดือนกรกฎาคม 2567 

โดยประชาชนสามารถ บริจาคโลหิต ได้ที่... 

- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย   
- หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ (Fixed Stations) 7 แห่ง ได้แก่ สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค) เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ สาขาบางแค สาขาบางกะปิ สาขางามวงศ์วาน สาขาท่าพระ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม  และบ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง)

- ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) สงขลา และภูเก็ต

- โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตแห่งชาติ 8 แห่ง ในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลรามาธิบดี  โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลตำรวจ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลราชวิถี และ โรงพยาบาลสิรินธร

- สาขาบริการโลหิต โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ

สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. 0 2263 9600-99 ต่อ 1760, 1761

'รมช.สุชาติ' เผยข่าวดี!! เจรจา 'KTEPA ไทย-เกาหลีใต้' รอบแรก จ่อเพิ่มตัวเลขส่งออกไทยไปเกาหลีใต้ได้สูงถึงร้อยละ 77

(11 ก.ค. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้กำกับดูแลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้น ในการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ที่มีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 9 - 11 กรกฎาคม 2567 โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ และฝ่ายไทยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา และมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมคณะด้วย และฝ่ายเกาหลีใต้ มีนายคอนกิ โร เป็นหัวหน้าคณะเจรจา

โดย รมช.สุชาติ ได้กล่าวถึงผลการประชุมความตกลง KTEPA ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ว่า การร่วมกันเจรจาในครั้งนี้จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ โดยคาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะมีการลงทุนจากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นของไทย ประเมินว่า ความตกลง KTEPA จะช่วยเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ และการลงทุนเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยมีกลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกไปเกาหลีใต้มากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และประมง (อาทิ เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป) ผลไม้เมืองร้อน (อาทิ มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด) ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ (อาทิ แป้ง ซอสและของปรุงรส) ผลิตภัณฑ์ไม้ (อาทิ ไม้แปรรูป พาติเคิลบอร์ด ไม้อัดพลายวูด) และเคมีภัณฑ์ 

นอกจากนี้ ยังมีสาขาบริการที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าบริการของเกาหลีใต้ อาทิ บริการด้านธุรกิจ บริการการขนส่ง คลังสินค้า และบริการด้านโรงแรมและภัตตาคาร โดยคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1,282 - 1,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.32 - 0.44 ซึ่งเหล่านี้ จะส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ โดยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2,420 - 4,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 40.15 - 77.21

รมช.สุชาติ เผยอีกว่า ในการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 นี้ มีประชุมในระดับคณะทำงาน ทั้งหมด 13 คณะ ประกอบด้วย 

1) การค้าสินค้า 
2) มาตรการเยียวยาทางการค้า 
3) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 
4) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 
5) มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 

6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 
7) การค้าบริการข้ามพรมแดน 
8) การลงทุน 
9) การค้าดิจิทัล 
10) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 

11) ทรัพย์สินทางปัญญา 
12) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย 
และ 13) ประเด็นทางกฎหมายและสถาบัน โดยคณะทำงานต่าง ๆ ได้หารือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย และเริ่มเจรจาข้อบทภายใต้ความตกลง KTEPA ในส่วนที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนี้ สองฝ่ายยังได้มีการจัดทำแผนงานการเจรจา โดยเบื้องต้นกำหนดให้มีการเจรจาทั้งหมด 7 รอบและตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568 ทั้งนี้ เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน 2567 ณ กรุงโซล

ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,666.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม - พฤษภาคม) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 6,303.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทย 2,514.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้าจากเกาหลีใต้ 3,789.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

‘คลัง’ ยัน!! หั่นงบ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เหลือ 4.5 แสนล้าน สอดคล้องข้อเท็จจริง ประเมินจาก 'เราเที่ยวด้วยกัน-ชิมช้อปใช้' พบคนใช้อยู่ราว 80% ไม่ถึง 100%

(11 ก.ค.67) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวถึงการกำหนดวงเงินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาทนั้น สืบเนื่องมาจากในการประเมินโครงการเก่า ๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการ อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน ชิมช้อปใช้ พบว่า ประชาชนไม่ได้มาลงทะเบียนใช้สิทธิเต็ม 100% โดยจะอยู่ที่ราว 80% เท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ควรตั้งงบประมาณให้เพียงพอและสอดคล้องข้อเท็จจริง จึงออกมาเป็นงบประมาณที่ 4.5 แสนล้านบาท อีกทั้งเนื่องจากมีข้อกังวลจากหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐ ที่มองว่ารัฐบาลไม่ควรจะตั้งงบประมาณสูงเกินไป เพราะจะทำให้เป็นการเสียโอกาสของประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลต่อเศรษฐกิจนั้น ยืนยันว่าตั้งแต่แรกรัฐบาลได้ใช้ตัวเลขคาดการณ์ผู้มาใช้สิทธิในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ 40 กว่าล้านคน เป็นตัวเลขเพื่อประเมินผลต่อเศรษฐกิจอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.3-1.8% แต่หากท้ายสุด มีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็เชื่อว่าจะมีผลดีกับเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“ตัวเลขกรอบคนที่จะเข้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่ 80-90% เป็นตัวเลขที่อยู่ในฐานการประมาณการอยู่แล้ว เวลาเราประมาณการเศรษฐกิจ เราไม่ได้ประมาณการว่าจะเข้าโครงการทั้ง 50.7 ล้านคน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และถ้าใครประเมินเศรษฐกิจจากสิ่งนี้ ก็ต้องถือเป็นการประเมินจากสิ่งที่เว่อร์เกินกว่าความเป็นจริง เราประเมินจากสิ่งที่ควรจะเป็น สิ่งที่เป็นกรอบการศึกษามาอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ สิ่งที่เปลี่ยน คือ เราก็ไม่ตั้งงบประมาณเกิน เพื่อไม่เป็นการเสียประโยชน์ของประเทศ แต่ถ้ามีคนมาลงทะเบียนเกิน กลไกงบประมาณก็สามารถรองรับได้” นายเผ่าภูมิ กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องผลกับเศรษฐกิจนั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า อยู่ที่เงื่อนไขว่าจะต้องทำให้เงื่อนไขมีผลเชิงบวกกับเศรษฐกิจมากที่สุด อย่างที่เห็นก็ได้มีการเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งต้องยอมรับว่าทำให้ประชาชนใช้ยากขึ้น จุดนี้เป็นข้อเสีย แต่ข้อดี คือ เงินจะถูกหมุนในประเทศมากขึ้น เพราะสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้า Import Content สูง เงินไหลสู่นอกประเทศทันที ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานและการผลิตในประเทศ

ดังนั้นคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงมีการเปลี่ยนเงื่อนไข เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.ค. นี้ พิจารณาตัดกลุ่มสินค้าเหล่านี้ออก เพื่อให้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสูงสุด

ส่วนเรื่องการใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อรองรับโครงการนั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า หากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอเรื่องการใช้งบประมาณปี 2567-2568 แทน ดังนั้น เรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ธ.ก.ส. แต่อย่างใด

‘ไทยคม’ ประกาศความสำเร็จแพลตฟอร์ม 'CarbonWatch' ได้รับการรับรองเป็น 'เครื่องมือวัดคาร์บอนเครดิต' รายแรกในไทย

(11 ก.ค. 67) บริษัท บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม 'CarbonWatch' ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ภายใต้โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี AI และการสำรวจระยะไกล เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมทั้งเตรียมให้บริการคาร์บอนเครดิตและขยายความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า อบก.ได้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต ภายใต้ชื่อ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ไทยคมได้รับการรับรองเครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยี AI และการสำรวจระยะไกลจาก อบก. ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในภาคเหนือและกลาง เครื่องมือนี้เป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการปลูกฟื้นฟูป่าจากภาคธุรกิจเอกชน สร้างแรงจูงใจในการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซ มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 โครงการนี้ยังเป็นแรงจูงใจให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีผลบังคับใช้และยั่งยืน

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ไทยคมยินดีที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมและ AI ได้รับการรับรองจาก อบก. เป็นรายแรกของประเทศไทย ตอกย้ำความสำเร็จในการนำความเชี่ยวชาญด้านดาวเทียมมาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก ร่วมกับเทคโนโลยี AI และ ML เพื่อประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และตรวจสอบได้ แพลตฟอร์มนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริการ Earth Insights ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESG) ได้รับรางวัล Sustainability Award 2023 และระดับ AAA จาก SET ESG Rating แพลตฟอร์มนี้จะถูกนำไปใช้ในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศชาติสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

"ไทยคม ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากผู้นำด้านดาวเทียมสู่ผู้นำเทคโนโลยีอวกาศ เน้นความสำคัญของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับโลก โดยใช้เทคโนโลยีสเปซเทคตอบสนองความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการคาร์บอน ไทยคมได้ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นำความรู้เรื่องดาวเทียมมาสร้างแพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งได้รับการรับรองจาก อบก. ช่วยให้การประเมินการกักเก็บคาร์บอนเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ คุ้มค่า และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในราคาเริ่มต้นที่ 100-300 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ ยังสามารถขยายความสามารถนี้ไปยังต่างประเทศได้ การใช้เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่ลดต้นทุนและเพิ่มความแม่นยำเท่านั้น แต่ยังเสริมความโปร่งใสและตรวจสอบได้ สนับสนุนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างยั่งยืน" นายปฐมภพ กล่าว

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เริ่มโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชน 290,000 ไร่ตั้งแต่ปี 2563 และมีแผนขยายไปทั่วประเทศ การประเมินการกักเก็บคาร์บอนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายโครงการนี้ เพื่อสนับสนุนชุมชนต่างๆ มูลนิธิฯ ได้ผนวกความเชี่ยวชาญในภาคสนามกับเทคโนโลยีของไทยคม สร้างเครื่องมือที่ได้รับการรับรองซึ่งมีประสิทธิภาพและแม่นยำ มีความเชื่อมั่นว่าเครื่องมือนี้จะช่วยประเมินการกักเก็บคาร์บอนได้มีประสิทธิภาพและเร่งพัฒนาโมเดลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าอื่น ๆ ด้วย ร่วมกันรับมือกับภาวะโลกร้อนและส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นหลัง

"โครงการคาร์บอนเครดิตเริ่มต้นจากประสบการณ์การจัดการป่านานกว่า 30 ปี ซึ่งได้พัฒนากระบวนการปลูกและดูแลป่าอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีดาวเทียมและ AI ที่นำมาใช้ได้ช่วยปรับปรุงความแม่นยำในการประเมินคาร์บอนให้ถึง 90% ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทั้งยังสร้างรายได้และความยั่งยืนให้ชุมชนท้องถิ่น โดยการใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ และเปิดโอกาสให้ไทยเป็นผู้นำในการจัดการคาร์บอนในอาเซียน การร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิภาค และเป็นโมเดลที่สามารถขยายผลไปยังประเทศอื่นในอนาคตได้" ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ รับลูก!! ‘นายกฯ’ เดินหน้ายกระดับไทยสู่ ‘ศูนย์กลางฮาลาล’ ล็อกเป้าระยะแรก ‘อาหาร-ยา-แฟชั่น-เครื่องสำอาง-โกโก้-ท่องเที่ยว’

เมื่อวานนี้ (11 ก.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) เป็นประธานการประชุม กอฮช. ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง  

นายเศรษฐา ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ตนได้ลงนามในคำสั่งจัดตั้ง คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยได้มอบหมายให้ ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล และ รมว.อุตสาหกรรม เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเลขานุการ พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสําคัญในแวดวงฮาลาลไทย อีก 21 เพื่อทําหน้าที่กําหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย รวมถึงบูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงานด้านการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ให้เกิดการดําเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นําด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค

“ผมอยากเห็นการจัดตั้งหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในการเป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศอย่างครบวงจร โดยมีภารกิจขับเคลื่อนนโยบายและแผนการพัฒนา อุตสาหกรรมฮาลาลไทยให้บรรลุตามเป้าหมาย ติดตามและประเมินผลการดําเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ขยายตลาดและส่งเสริมการค้าสินค้าและบริการฮาลาลระหว่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสินค้าฮาลาล พัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อการส่งออก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล รวมถึงอยากเห็นศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยที่ได้ทราบว่ามีการจัดตั้งแล้ว มีโครงสร้างการบริหาร กําลังคน รวมถึง งบประมาณที่ชัดเจน ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม” นายกรัฐมนตรี กล่าว 

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ประเด็นสําคัญที่อยากฝากทุกท่านให้ความสําคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ โดยผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยจะสนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการบริการในพื้นที่ภาคใต้ และผลักดันให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อมุ่งสู่การสร้างความผาสุก ความกินดีอยู่ดีรวมถึงการพัฒนาที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ สินค้าปศุสัตว์ จะเป็นกลุ่มที่จะได้รับความสําคัญในการส่งเสริมและพัฒนา

ด้านนางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมฮาลาล เป็นหนี่งอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เพราะประเทศไทยมีศักยภาพ และมีมาตรฐานในการผลิต สามารถกระจายรายได้ กระจายโอกาส สร้างเข้มแข็งทางเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย สร้างความั่นคงให้แก่ประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามแนวทางที่ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ในการเร่งผลักดันให้เกิดศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ 

ขั้นตอนต่อไปจะนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่

1. อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ และอาหารมุสลิมรุ่นใหม่ 
2. แฟชั่นฮาลาล ประกอบด้วย สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง 
3. ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล 
4. โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง 
5. บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล

ทั้งนี้ ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ปี 2567-2570 ได้วางกรอบใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,230 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 

1.การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย 
2. การพัฒนาการผลิตได้มาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย 
3. การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย 

โดยมีโครงการที่เป็น Quick Win (พ.ศ. 2567 - 2568) ใช้งบประมาณ 95 ล้านบาท ในการดำเนินงาน ได้แก่ สร้างการรับรู้ศักยภาพสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทย การขยายตลาดสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และการจัดทำระบบ Halal IU ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลรายงานเชิงลึกและวิเคราะห์ตลาด เป็นต้น 

"มูลค่าของตลาดการค้าอาหารฮาลาลโลกในปี 2567 อยู่ที่ 2.60 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 12.5% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิม นับเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และเป็นการปักหมุดประเทศไทย ให้โลกได้รู้ว่าเรามีศักยภาพในการผลิตสินค้าฮาลาล" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

ลุ้น 'พีระพันธุ์’ ตรึงค่าไฟ 'ก.ย.-ธ.ค.' คงไว้ 4.18 บาทต่อหน่วย คาด!! อาจต้องของบประมาณจากรัฐบาลมาช่วยหนุน

ไม่นานมานี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที งวดปลายปี (กันยายน-ธันวาคม 2567) พบว่าต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกประมาณหน่วยละ 20-40 สตางค์ จากค่าไฟงวดปัจจุบันหน่วยละ 4.18 บาท และจะมีการแถลงข่าว 3 ทางเลือกค่าไฟวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ทำการเลือกและแสดงความเห็น ก่อนจะประกาศใช้ทางการวันที่ 1 สิงหาคมนี้ 

สำหรับปัจจัยการขึ้นค่าไฟมาจากต้นทุนเชื้อเพลิง ปริมาณการใช้ไฟฟ้า และหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วงเงินประมาณ 98,000 ล้านบาท ดังนั้น ตัวเลขการปรับขึ้นจะอยู่ใน 3 ทางเลือก คือ 1.ขึ้นไม่มาก รวมการคืนหนี้ กฟผ.เล็กน้อย 2.ขึ้นบางส่วนรวมคืนหนี้ กฟผ.บางส่วน และขึ้นสูงสุด หมายถึงการคืนหนี้ให้ กฟผ. วงเงินประมาณ 98,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เมื่อรับฟังความเห็นแล้ว จะเลือกการปรับขึ้นน้อยที่สุด

“ส่วนแนวทางไม่ขึ้นเลย ตรึงระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ต้องขึ้นกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณา โดยอาจของบประมาณจากรัฐบาลมาสนับสนุน” รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งด้วยว่า ความคืบหน้าการกำหนดราคาดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ภายหลังครบกำหนดกรอบราคาไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดตรึงราคาตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2567 และครบกำหนด 31 กรกฎาคม 2567 นั้น เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายพีระพันธุ์เป็นประธาน จะพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นราคาดีเซลแบบทยอยขึ้นกรอบ 1 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาปลายทางระดับไม่เกิน 34 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันฐานะ ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 ติดลบ 111,595 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 63,944 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจี ติดลบ 47,651 ล้านบาท

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังมีความผันผวนสูง ช่วงเดือนที่ผ่านมาแนวโน้มลดลงบ้างจนกองทุนน้ำมันฯลดอุดหนุนระดับ 4 บาทต่อลิตร จนสามารถเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันฯสำเร็จ แต่ขณะนี้แนวโน้มกลับมาขึ้นอีกครั้ง ทำให้กองทุนน้ำมันฯต้องอุดหนุนกว่า 2 บาทต่อลิตร สถานการณ์ดังกล่าวหากไม่ปรับราคาหลังวันที่ 31 กรกฎาคม อาจทำให้กองทุนน้ำมันฯสถานการณ์ยิ่งแย่

รายงานข่าวระบุอีกว่า ก่อนจะพิจารณาแนวทางปรับราคา ตลอดจนเดือนมิถุนายนจนถึงปัจจุบัน ได้พยายามดำเนินการอีก 2 แนวทางเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาขายปลีก แต่ด้วยสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ พบว่าไม่น่าจะดำเนินการได้ ประกอบด้วย...

1. การส่งหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบกลางปี 2567 วงเงิน 6,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ดีเซล 6,000 ล้านบาท และแอลพีจี 500 ล้านบาท เป็นตามที่ ครม.อนุมัติไว้ภายใต้เงื่อนไขให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯดูแลราคาน้ำมันและแอลพีจีก่อน แต่เบื้องต้นได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการว่างบกลางฯมีจำกัด อาจไม่สามารถนำมาดูแลราคาดีเซลและแอลพีจีได้ 

2. การเสนอกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลลงในอัตราที่เหมาะสม เบื้องต้นจากท่าทีของกระทรวงการคลังไม่ตอบรับการลดภาษีดังกล่าว เพราะจำเป็นต้องจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด นอกจากฐานะกองทุนน้ำมันฯที่ติดลบทะลุแสนล้าน กองทุนน้ำมันฯยังมีภาระหนี้จากการกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องประมาณ 110,000 ล้านบาท กองทุนน้ำมันฯมีภาระต้องจ่ายคืนเงินต้นกู้จากสถาบันการเงินก้อนแรก 30,000 ล้านบาท เดือนพฤศจิกายนนี้ 

ดังนั้น จึงต้องพยายามดูแลสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ และวางแผนการชำระหนี้ดังกล่าว เดือนกรกฎาคมนี้จะทำแผนการบริหารหนี้ภาพรวมเสนอสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คาดว่า สบน.จะทำแผนบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2568 ภายในเดือนสิงหาคม 2567

ด้านนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามกระแสข่าวคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีแนวโน้มจะปรับราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1 บาท จาก 33 บาท ไป 34 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นเรื่องจริงนั้น ทางสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จะรับมือเบื้องต้นในการขึ้นราคาค่าขนส่งเพิ่ม รวมถึงเดินหน้าสานต่อการเคลื่อนม็อบรถบรรทุกทันที หลังจากเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา

‘รฟท.’ เตรียมเดินรถเส้นทาง ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์’ เปิดขายตั๋วแล้ว ราคาเริ่มต้น 281 บาท ออกวิ่งขบวนแรก 19 ก.ค.นี้

(12 ก.ค. 67) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมเปิดให้บริการขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว เส้นทาง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ขบวนแรก ในวันที่ 19 ก.ค.2567 ที่จะถึงนี้ เปิดจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าให้กับที่ ผู้ต้องการใช้บริการแล้ว

โดยเปิดให้บริการไป-กลับ จำนวน 2 ขบวน ประกอบด้วย

-รถธรรมดา ชั้น 3 (พัดลม) 152 ที่
-รถนั่งปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 64 ที่นั่ง
-รถนั่งและนอนปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 30 ที่นั่งขบวนรถเร็วที่ 133

นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการเส้นทางอุดรธานี-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-อุดรธานี ไป-กลับ อีก 2 ขบวน รวมเป็น 4 ขบวน/วัน

>>สำหรับราคาค่าโดยสารกรุงเทพ-เวียงจันทน์ มีดังนี้
ค่าตั๋วรถไฟ ขบวนรถเร็ว 133/134 กรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-กรุงเทพอภิวัฒน์

-รถนั่งชั้น 3 ราคา 281 บาท
-รถนั่งชั้น 2 ปรับอากาศ ราคา 574 บาท
-รถนอนชั้น 2 ปรับอากาศ ราคา เตียงบน 784 บาท / เตียงล่าง 874 บาท

ส่วนขบวน รถเร็ว 147/148 อุดรธานี-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-อุดรธานี
-อุดรธานี-เวียงจันทน์ ราคา รถพัดลม 100 บาท/รถแอร์ 200 บาท

>>ในส่วนของเวลาเดินทาง มีดังนี้
*เที่ยวไป*
ขบวนรถเร็วที่ 133 กรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์
ออกจาก กรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 21.25 น. ถึง เวียงจันทน์ เวลา 09.05 น.

ขบวนรถเร็วที่ 147 อุดรธานี-เวียงจันทน์
ออกจาก อุดรธานี เวลา 16.00 น. ถึง เวียงจันทน์ เวลา 17.55 น.

*เที่ยวกลับ*
ขบวนรถเร็วที่ 134 เวียงจันทน์-กรุงเทพอภิวัฒน์
ออกจาก เวียงจันทน์ เวลา 18.25 น. ถึง กรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 07.30 น.

ขบวนรถเร็วที่ 148 เวียงจันทน์-อุดรธานี
ออกจาก เวียงจันทน์ เวลา ออก 09.35 น. ถึง อุดรธานี เวลา 11.25 น.

สำหรับผู้โดยสารที่มีความประสงค์ซื้อตั๋วโดยสาร ขบวน 133/134 สามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้า (สูงสุด 180 วัน) ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ

ซึ่งผู้โดยสารต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) หรือ หนังสือผ่านแดน (Border Pass) เพื่อใช้ในการทำพิธีการทางศุลกากร และตรวจคนเข้าเมืองที่สถานีหนองคาย และเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ก่อนการเดินทางข้ามประเทศ

ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมผู้ประกอบการขนส่งที่เวียงจันทน์ ในการจัดรถโดยสารรับ-ส่ง อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกด้วย 

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดเดินขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ ไทย-สปป.ลาว ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศแล้วยังช่วยยกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์ไทย ให้กลายเป็นศูนย์กลางภูมิภาคตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล

ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้การรถไฟฯ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ โดยให้เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในทุกด้าน ๆ ก่อนที่จะมีเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการค้าชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว ให้มีการขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว Tourism Hub ที่สำคัญของโลก ตามยุทธศาสตร์ ‘เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวของรัฐบาล’

โดยขบวนรถ สามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่นอีก ซึ่งจะก่อให้ประโยชน์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย 

ครึ่งแรกปี 67 ‘นทท.เกาหลีใต้’ มาเที่ยวไทยแตะ 9 แสนคน สะท้อนไทยยังครองใจ แม้กระแสคนไทยแบนเกาหลียังคุกรุ่น

(12 ก.ค. 67) นายพัฒนพงศ์ พงษ์ทองเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานกรุงโซล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดเกาหลีเที่ยวไทย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) มีจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีเดินทางมาไทยมากกว่า 9 แสนคนแล้ว 

ซึ่งจากสถิติครึ่งปีหลัง นักท่องเที่ยวเกาหลีจะมาไทยมากกว่าช่วงครึ่งปีแรก จึงคาดการณ์ว่าทั้งปี 2567 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีเข้ามาเที่ยวไทย ประมาณ 1.94 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากปี 2566 

โดยในปี 2568 ททท.ตั้งเป้าดึงเกาหลีมาเที่ยวไทยประมาณมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งเป้าหมายของปี 2567 ที่จะเพิ่มขึ้นสู่ 1.94 ล้านคน ถือว่าสูงกว่าระดับปี 2562 แล้ว

นายพัฒนพงศ์ กล่าวว่า แนวโน้มปัจจุบันอาจแสดงให้เห็นถึงกรณีนักท่องเที่ยวชาวไทยถูกปฏิเสธที่จะเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ ทำให้เกิดความไม่สะดวกและเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางมาประเทศไทย สะท้อนจากตัวเลขการเดินทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้มีกระแสดังกล่าวเกิดขึ้น สำนักงานโซลจะกระตุ้นการเดินทางในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม อย่างต่อเนื่อง ผ่านการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินแบบเหมาลำ เพื่อมุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่มีศักยภาพทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร

“นักท่องเที่ยวชาวเกาหลียังคงมองประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายอันดับต้น ๆ เพราะมีทั้งวัฒนธรรม และอาหารไทย ที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงอย่างมาก ไม่ต่างจากชาวเกาหลี ที่นิยมอาหารที่มีรสจัด รสเผ็ด คนเกาหลีส่วนใหญ่ที่เดินทางมาไทย เพื่อตามรอยอินฟลูเอนเซอร์ ท่องเที่ยวตามรีวิวทางออนไลน์ มีคนเกาหลีจำนวนมากที่มีเป้าหมายการเดินทางยังเชียงใหม่ ขณะที่ศิลปินเคป็อปหลายคนได้ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอในประเทศไทย อาทิ เซเวนทีน (Seventeen) และ ไอเดิล (G)I-DLE เมื่อภาพในเอ็มวีเพลงถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้กลุ่มแฟนคลับ ที่แบ่งเป็นด้อมติดตามทั้งวง หรือแยกรายศิลปินเกาหลีตามรอยมาเที่ยวไทยมากขึ้น” นายพัฒนพงศ์ กล่าว

นายพัฒนพงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลการเก็บสถิติและพฤติกรรมนักท่องเที่ยว พบว่า ช่วงอายุของนักท่องเที่ยวเกาหลีที่นิยมเดินทางออกท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วโลก มีอายุอยู่ที่ 20-40 ปี ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30-40% ของจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ประมาณ 28 ล้านคน ททท.สำนักงานกรุงโซล จึงอยู่ระหว่างร่วมกับพันธมิตรด้านการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำแคมเปญหรือโปรโมชันดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เลือกเข้ามาเที่ยวไทยเป็นหลัก 

‘รมว.ปุ้ย’ ชูกลไก 3 ด้าน ขับเคลื่อน ‘อุตฯ สีเขียว’ ปักธงลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7.2 ล้านตันต่อปี

เมื่อวานนี้ (12 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกลไก 3 ด้าน ประกอบด้วย

>>Green Productivity โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนพลังงานสะอาด อาทิ ปลดล็อกเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และโครงการโรงไฟฟ้าสีเขียว (UGT) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคธุรกิจ 

ผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular แห่งแรกของประเทศในพื้นที่ EEC เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมการ Recycle เพื่อลดการเกิดของเสีย สนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวภาพแทนการเผาทิ้ง เพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 

พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG

>>Green Marketing เน้นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม และ SME ในตลาดยุคใหม่ที่มีการกีดกันทางการค้า รวมถึงกฎหมาย และกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความ ท้าทายในโลกยุคปัจจุบัน พร้อมสนับสนุนการทำ Carbon Footprint of Product และ Carbon Footprint of Organization นอกจากนี้ ยังส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

>>Green Finance ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ผ่านการให้สินเชื่อลดโลกร้อน ต่าง ๆ อาทิ สินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) จากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG Loan) จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และสินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (DIPROM Pay for BCG) จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM)

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาวะโลกเดือด โดยมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นจนเกินสมดุล

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้ดีพร้อม เร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถนำร่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้มากกว่า 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีดีพร้อม กล่าวว่า ดีพร้อม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม ‘Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา’ ซึ่งจะมีเทรนด์ธุรกิจ องค์ความรู้ และมุมมองการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ครบทุกมิติ ทั้งการบรรยายและเสวนาจากองค์กรและบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรมสีเขียว 

รวมถึงกิจกรรมคลินิกให้คำปรึกษาแนะนำจากหน่วยงานพันธมิตรที่มาจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การให้แนะนำสินเชื่อสำหรับธุรกิจรักษ์โลกจากสถาบันการเงิน 

นอกจากนี้ โครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังมีรูปแบบกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศจำนวนกว่า 1,800 ราย และคาดการณ์ว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,380 ล้านบาท 

"เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608"

‘มหาดไทย’ ขยายฟรีวีซ่าเข้าไทยเพิ่มเป็น ‘93 ประเทศ’ 'หนุนท่องเที่ยว-ติดต่อธุรกิจ-ทำงานระยะสั้น' เริ่ม 15 ก.ค.นี้

(12 ก.ค. 67) รายงานข่าวระบุว่า น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Travelling) กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย 4 ฉบับ เพื่อปรับปรุงมาตรการการตรวจลงตรา ให้เป็นปัจจุบันสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ทั่วโลกมุ่งแข่งขันดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

“นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้พิจารณาและลงนามประกาศทั้ง 4 ฉบับแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและทุกฉบับมีผลบังคับพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 67 เป็นต้นไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า สำหรับประกาศกระทรวงมหาดไทยทั้ง 4 ฉบับ มีดังนี้

1.ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศและดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ทำงานหรือการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน หกสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดรายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา (ยกเว้นวีซ่า หรือ วีซ่าฟรี) สามารถพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 60 วัน (ผ.60) เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจและการทำงานระยะสั้น จำนวน 93 ประเทศ/ดินแดน เพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ 57 ประเทศ/ดินแดน

2.ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจะขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง มีสาระสำคัญ เป็นการปรับปรุงรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA) เป็น 31 ประเทศ/ดินแดน เพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ จำนวน 19 ประเทศ/ดินแดน

3.ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อท่องเที่ยวและทำงานทางไกล เป็นกรณีพิเศษ มีสาระสำคัญ เป็นการเพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) สำหรับชาวที่ประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน (workcation) ได้แก่ กลุ่มที่มีทักษะสูง กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มทำงานระยะไกล หรือกลุ่มที่ประสงค์มาพำนักเพื่อเรียนมวยไทยและศิลปะป้องกันตัว การเรียนทำอาหาร การเรียนและฝึกซ้อมกีฬา การรักษาพยาบาล การอบรม การสัมมนา การจัดแสดงศิลปะและดนตรี โดยเมื่อได้รับการตรวจลงตราประเภท DTV แล้วจะสามารถพำนักในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 180 อายุการตรวจลงตรา 5 ปี

4.ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อศึกษาและทำงาน เป็นกรณีพิเศษ มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED เพื่อดึงดูดผู้ที่มีศักยภาพและทักษะเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศ โดยขยายเวลาพำนักในประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา 1 ปี เพื่อหางาน เดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ในประเทศไทยได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top