Wednesday, 7 May 2025
GoodsVoice

‘SCB EIC’ เผย!! ‘คนไทย’ รายได้ไม่ถึง 50,000 ยังไม่กล้าซื้อบ้านตอนนี้ เหตุปัญหาหนี้ครัวเรือน-ภาระค่าใช้จ่ายสูง อาจคิดอีกที 5 ปีข้างหน้า

(10 ก.ค.67) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคด้านที่อยู่อาศัย (SCB EIC Real estate survey 2024) ผ่านช่องทาง ออนไลน์ Survey monkey ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 11 มีนาคม 2024 มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 2,185 คนพบว่า...

ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาระค่าใช้จ่ายที่ยังทรงตัวในระดับสูง กดดันต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน ทำให้ความต้องการซื้อในช่วงไม่เกิน 2 ปีข้างหน้ามีสัดส่วนลดลงจากการสำรวจปีก่อนหน้า และความต้องการซื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่คาดหวังว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ และกำลังซื้อจะฟื้นตัวมากขึ้น รวมถึงมีความพร้อมทางกาีเงินมากกว่าในปัจจุบัน 

นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย หรืออาจมีแผนหลังจาก 5 ปีข้างหน้า

ขณะที่กำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-บนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้มากขึ้นจะช่วยประคองตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2024 และในระยะ 2 ปีข้างหน้าได้บางส่วน โดยเฉพาะในตลาดที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Real demand ที่ต้องการซื้อเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และหลังแรก ตามลำดับ ส่วนความต้องการซื้อเพื่อการลงทุนยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ใกล้เคียงกับการสำรวจในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการไม่มีแผนซื้อที่อยู่อาศัยในช่วง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากตนเองหรือคนในครอบครัว เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว และรายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายไม่เอื้ออำนวย ตามลำดับ โดยกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง มองว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ได้ จึงเลือกที่จะปรับตัว และอยู่อาศัยกับครอบครัวแทน

ส่วนกลุ่มที่รายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายไม่เอื้ออำนวยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า สถานการณ์ด้านรายได้หรือภาระค่าใช้จ่ายจะคลี่คลายมากขึ้น จนสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้หลังจาก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนั้น ปัจจัยด้านความคุ้มค่าของราคา / ราคาที่เข้าถึงได้ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด และปัจจัยด้านทำเลสำคัญมากขึ้นและยังสำคัญกว่าปัจจัยด้านความเพียงพอของพื้นที่ใช้สอย ซึ่งกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง และต้องการรักษาสมดุลกับความพอเพียงของพื้นที่ใช้สอยควบคู่ไปด้วย

ด้านตลาดที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน / เก็งกำไร / ปล่อยเช่า ยังฟื้นตัวได้ไม่มากจากแรงกดดันด้านกำลังซื้อ และมาตรการ LTV ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนคอนโดในทำเลกรุงเทพฯ ซึ่งยังคงมีความต้องการจากผู้เช่า กลุ่มที่ต้องการอยู่ใกล้ที่ทำงาน สถานศึกษาของตนเอง และสถานศึกษาของบุตรหลาน และกลุ่มที่งบประมาณไม่พอสำหรับการซื้อเป็นหลัก

ขณะที่มาตรการภาครัฐยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย โดยมาตรการด้านดอกเบี้ยจะกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจากกลุ่มที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยได้มากที่สุด สำหรับมาตรการอื่น ๆ รองลงมา เช่น การลดหย่อนภาษี รวมถึงการผ่อนคลาย LTV ที่จะช่วยให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 กู้ได้ 100%

ดังนั้น SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการยังเผชิญความท้าทายในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย จากปัจจัยเศรษฐกิจที่ยังคงกดดันการฟื้นตัวของกำลังซื้อ ต้นทุนการพัฒนาโครงการที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป 

สำหรับแนวทางการปรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการคือ  พัฒนาโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงต้นทุนราคาที่ดิน หลีกเลี่ยงทำเลที่มีการแข่งขันรุนแรง หรือมีหน่วยเหลือขายสะสมสูง รวมถึงการกระจาย Portfolio ให้มีตัวเลือกที่อยู่อาศัยในหลากหลายระดับราคายังคงมีความจำเป็น เน้นการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสร้างความแตกต่าง สามารถตอบโจทย์ความต้องการ 

นอกจากนั้นควรขยายตลาดผู้ซื้อชาวต่างชาติ ซึ่งกลุ่มผู้ซื้อที่มีสัดส่วนมากที่สุดคาดว่า ยังคงเป็นชาวจีน ขณะที่กำลังซื้อจากรัสเซีย รวมถึงเอเชีย เช่น เมียนมา ไต้หวัน ก็ยังมีศักยภาพ และบริหารจัดการต้นทุนการพัฒนาโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาอัตรากำไร ควบคู่กับการรักษามาตรฐานที่อยู่อาศัย และการให้บริการหลังการขาย เพื่อสร้างความพึงพอใจของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย

นอกจากนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG เนื่องจากผู้ซื้อในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG มากขึ้น โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยควรหันมาให้ความสำคัญ และดำเนินงานภายใต้กรอบ ESG อย่างครอบคลุม

‘ธนาคารโลก’ แนะแนว ‘ไทย’ หลุดพ้นกับดัก ‘เศรษฐกิจ-GDP’ โตต่ำ คลอดสมุดปกขาว-กทม.หยุดแบก-เสริมแกร่งเมืองรอง-ลุยอุตฯ ทำเงิน

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ธนาคารโลก’ เผยแพร่ ‘รายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย’ ฉบับล่าสุด นำเสนอหัวข้อ ‘การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง’ ระบุว่า ศักยภาพ การเติบโตระยะยาวของไทยกำลังชะลอตัวลงจากเผชิญความท้าทายจากประชากรสูงวัย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมประมาณการอัตราการเติบโตที่มีศักยภาพสำหรับปี 2566-2573 เฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าทศวรรษก่อนหน้า 0.5 จุด จากการลดลงอย่างต่อเนื่องของการเติบโตของผลิตภาพปัจจัยการผลิตโดยรวม (TFP) แรงงานที่สูงวัยและลดลง ตลอดจน การเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่าที่หยุดชะงัก

“ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญ จำเป็นต้องแก้ไขความท้าทายสำคัญเพื่อฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยกำลังล้าหลังภูมิภาค การเติบโตของ GDP ต่อหัวช้ากว่าคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยอยู่ในจุดวิกฤตที่มีความท้าทายด้านผลิตภาพและแนวโน้มประชากรที่ไม่เอื้ออำนวย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหากคนรุ่นปัจจุบันต้องการทิ้งมรดกแห่งความเจริญรุ่งเรืองไว้”

>>กรุงเทพฯ ‘เดอะแบก’ การเติบโตประเทศ

รายงานธนาคารโลกระบุว่า การกลายเป็นเมืองของไทยมุ่งเน้นไปที่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศที่สุดโต่ง เป็นส่วนเดียวของประเทศที่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่ กทม. ก็กลายเป็นเมืองที่แออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และความไร้ประสิทธิภาพและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความแออัดนั้นกำลังกลายเป็นเรื่องที่ยากจะเอาชนะ

ในแง่ของเศรษฐกิจของประเทศและความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ GDP ของกทม. เมื่อเทียบกับประเทศอื่นพบว่า ขนาด GDP ของกทม.ใหญ่กว่าเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองเกือบ 40 เท่า มากกว่าเมื่อเทียบกับกรณีของมาเลเซีย 8 เท่า อินโดนีเซีย 6 เท่า และเวียดนาม 3 เท่า ขณะที่การลงทุนในกทม. มีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกับขนาดและนํ้าหนักทางเศรษฐกิจของเมือง ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ประมาณ 60% ของการใช้จ่ายสาธารณะกระจุกตัวอยู่ในกทม. แม้ว่ากทม.จะมีสัดส่วน GDP เพียง 34% ของประเทศ และ 13% ของประชากร

รายงานธนาคารโลกระบุอีกว่า การกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังหลายเมือง จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากนํ้าท่วมและสภาพอากาศ โดยเฉพาะเมืองรองสามารถเป็นจุดยึดของภูมิภาคใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของ กทม. แสดงสัญญาณของการชะงักงัน เนื่องจากการเติบโตของ GDP มีค่าประมาณเท่ากับการเติบโตของประชากร บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเมืองเติบโตเต็มที่และอาจอิ่มตัว การปล่อยให้เมืองรองยังคงมีประสิทธิภาพตํ่าก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ดังนั้นการยกเลิกข้อจำกัดสำหรับเมืองรอง ควบคู่ไปกับการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม จะช่วยให้เมืองรองสามารถดึงดูดการลงทุนและทักษะเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น และช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากภาวะซบเซาในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองในระยาวให้กับประเทศไทย

>> แนะดัน 5 เมืองใหญ่ขยายเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกยกตัวอย่าง เมืองรอง 5 แห่งที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ คือ

1.เชียงใหม่ เป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ และตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้กับลาว เมียนมา และจีน และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือของไทย มีภาคการท่องเที่ยว การเกษตร และโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับ digital nomads ในศตวรรษที่ 21

2.ระยอง ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของโรงกลั่นนํ้ามันขนาดใหญ่ การผลิตเคมีภัณฑ์และยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีท่าเรือนํ้าลึกขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคในการอำนวยความสะดวกกิจกรรมการนำเข้าและส่งออก

3.นครสวรรค์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางการขนส่งและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาค ได้ขยายตัวไปสู่การผลิตและอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีศักยภาพในการพัฒนาที่ดี เนื่องจากการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและต้นทุนที่ดินและแรงงานที่ค่อนข้างไม่แพง

4.ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นหนึ่งในเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย มีเศรษฐกิจที่หลากหลาย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเกษตร การผลิต โลจิสติกส์ และการศึกษา

5.ภูเก็ต ทำหน้าที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว การบริการ และกิจกรรมด้านสุขภาพ และยังดึงดูด digital nomads อีกด้วย มีอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งและเป็นศูนย์กลางการค้าของพื้นที่ผลิตยางที่สำคัญ ท่าเรือของภูเก็ตให้บริการเรือยอร์ชหรูและเรือสำราญ รวมถึงเรือพาณิชย์ขนาดเล็กที่จัดการการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

>>คลอดสมุดปกขาว-กระจายพัฒนา

ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ความหลากหลายช่วยป้องกันบางส่วนเมื่อภาคส่วนเฉพาะประสบกับการหยุดชะงักหรือสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลง ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้เมืองรอง ให้อิสระในการวางแผนและตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความเป็นอิสระทางการคลัง เพิ่มเครื่องมือสร้างรายได้ท้องถิ่น ด้วยการปรับปรุงระบบภาษีท้องถิ่น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการท้องถิ่น รวมไปถึงการส่งเสริมการกู้ยืมของเทศบาล ทั้งอนุญาตให้เมืองรองกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาตลาดพันธบัตรเทศบาล

นอกจากนี้ควรจัดทำ White Paper และโครงการนำร่อง ด้วยการพัฒนานโยบายครอบคลุมสำหรับการเงินโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น ทดลองใช้รูปแบบใหม่ในกลุ่มเมืองรองที่เลือก สร้างระบบสนับสนุน ด้วยการจัดตั้งหน่วยสนับสนุนนโยบายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนการเตรียมโครงการ ควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานในเมืองรองปรับปรุงการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งและการสื่อสารระหว่างเมืองรองและกรุงเทพฯ

>> จีดีพีไทย 10 ปีโตเฉลี่ย 1.9%

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.9% และช่วงไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 1.5% และหากย้อนกลับไป 10 ปี ก่อนหน้าปี 2566 จีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 1.92% ตํ่าสุดในภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่ขยายตัวที่ระดับ 5-6% ต่อปี มีปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก 

ขณะที่ปัจจุบันไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91% ต่อจีดีพี กดทับกำลังซื้อ และการบริโภค และโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐก็ใช้งบลงทุนไม่มาก ทำให้มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เพราะส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) สินค้าที่ผลิตตลาดเริ่มลดความนิยมในหลายสินค้า ส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาห์ภายในที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยก็เริ่มไม่ตอบโจทย์ เพราะเทรนด์อนาคตนับจากนี้ผู้บริโภคจะหันไปให้ความนิยมรถยนต์ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถ EV มากขึ้น

ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรือเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเก่า และยังใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ไทยได้แต่ค่าแรง ต่างจากมาเลเซีย และเวียดนามที่เวลานี้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันแต่เป็นสินค้าที่ไฮเทคกว่า และมีมูลค่ามากกว่า ทำให้ยอดส่งออกสูงกว่าไทย

>> ลุยปรับโครงสร้างผลิตดัน GDP

เป็นที่มาของส.อ.ท.ที่อยู่ระหว่างการเร่งยกระดับและปรับโครงสร้างภาคการผลิตของไทยให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก และเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ โดยอยู่ระหว่างการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ 46 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิก มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ โรบอติกส์ และระบบดิจิทัลเข้ามาใช้มากขึ้น มุ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) เพื่อตอบโจทย์ Climate Change และ Net Zero

“ในส่วนของภาครัฐเราต้องการการสนับสนุนในหลายเรื่องสำคัญ เช่น การทำกฎหมายให้ทันสมัยเอื้อต่อการลงทุน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าไฟฟ้า ดอกเบี้ย และอื่น ๆ ซึ่งหากโครงสร้างของเรายังเป็นอุตสาหกรรมเดิม ๆ เหมือนในอดีต เป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่จะผลักดันจีดีพีของไทยให้เติบโตได้ปีละ 5% ก็คงไปไม่ถึง ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกเพื่อให้เป้าหมายเป็นไปได้”

>> คลังเร่งมาตรการสู่เป้า 3%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือโต 2.4% นั้น ใกล้เคียงกับหลายสำนักงานเศรษฐกิจที่ได้ปรับประมาณการไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกัน หน่วยงาน ประมาณการเศรษฐกิจที่อยู่ในประเทศ จะมีความแม่นยำสูง เนื่องจากเห็นสภาวการณ์ต่าง ๆ ซึ่งในที่สุดก็ปรับมาใกล้เคียงกัน

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังวางเป้าหมายไว้ให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้ 3% นั้น ก็จะมีหลายมิติที่ต้องดูแล เช่น การท่องเที่ยว ต้องเพิ่มทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายจ่ายต่อหัว รวมทั้งการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการทางภาษีมากระตุ้นเพิ่มเติม และจะมีมาตรการอื่น ๆ ทยอยออกมาดูแลเศรษฐกิจ เพิ่มเติมด้วย เช่น การคํ้าประกันสินเชื่อ เป็นต้น

'รมว.คลัง' เซ็นคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจฯ ‘สินมั่นคง’ ปิดฉาก บ.ประกันวินาศภัยในไทยเป็นรายที่ 5 เซ่นพิษประกันโควิด

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เซ็นลงนามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1364/2567 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ ‘บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)’ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีคำสั่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดจนการเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ

เนื่องจากปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ดังปรากฏข้อเท็จจริง ตามที่นายทะเบียนได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2565 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ‘บริษัท’ แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยกำหนดให้บริษัทเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 ปี 

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ดำเนินการเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว แต่กลับอาศัยกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทุกฝ่ายทราบผลคำสั่งตามกฎหมายแล้ว อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สิน จึงกลับไปเป็นของผู้บริหารของบริษัท และผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้บริษัทสามารถเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทได้ ประกอบกับบริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

บริษัทจึงมีฐานะและการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน คณะกรรมการ คปภ. จึงเห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 48/2566 เรื่อง ให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2566

นอกจากนี้ ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน

รวมถึงบริษัทไม่มีแนวทางในการแก้ไขฐานะการเงิน มีประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันทำให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ บริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ต่อไป 

ทั้งนี้ หากให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

เนื่องจาก การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทจึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับมิให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบแล้ว

ทั้งนี้ ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท และเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยประกาศกำหนด โดยการยื่นจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น 

ทั้งนี้ กองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชี จะประกาศแจ้งให้ทราบถึงกำหนดวัน เวลา และวิธีการยื่นคำทวงหนี้อีกครั้ง เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 61/3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ดังนั้น จึงขอให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัทโปรดติดตามประกาศของกองทุนประกันวินาศภัยอย่างใกล้ชิด ได้ที่เว็บไซต์กองทุนประกันวินาศภัย www.gif.or.th  และ Facebook Fanpage ‘กองทุนประกันวินาศภัย’ โดยการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัยขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นการปิดฉากบริษัทประกันวินาศภัยของประเทศไทยรายที่ 5 ที่ปิดกิจการจากผลกระทบจากการขายประกันภัยโควิด-19 โดย 4 บริษัทก่อนหน้านี้ที่ปิดตัวไป ประกอบด้วย

1.บริษัทเอเชียประกันภัย
2.บริษัทเดอะวันประกันภัย
3.บริษัทไทยประกันภัย
4.บริษัทอาคเนย์ประกันภัย

เปิดหวูด!! รถไฟ 'กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์' วันละ 2 ขบวน เชื่อม 'ไทย-สปป.ลาว' 'เพิ่มทางเลือกท่องเที่ยว-ขนส่งโลจิสติกส์' ดีเดย์ขบวนแรก 19 ก.ค.นี้

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.67) นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย บูรณาการความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว เพื่อขยายการให้บริการขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน และขนส่งสินค้าระหว่างกัน

ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย มีความพร้อมแล้วในการเปิดเดินขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศไทย - สปป.ลาว เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

โดยขบวนแรก ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ พร้อมกับเปิดให้ผู้โดยสารจองตั๋วโดยสารได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งเปิดให้บริการไป-กลับ จำนวน 2 ขบวน ประกอบด้วย รถธรรมดา ชั้น 3 (พัดลม) 152 ที่นั่ง, รถนั่งปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 64 ที่นั่ง และรถนั่งและนอนปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 30 ที่นั่ง พ่วงไปกับขบวนรถเร็วที่ 133 นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการเส้นทางอุดรธานี - เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) - อุดรธานี ไป - กลับ อีก 2 ขบวน รวมเป็น 4 ขบวน/วัน

ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์เดินทาง สามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้า (สูงสุด 180 วัน) ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้โดยสารจะต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) หรือ หนังสือผ่านแดน (Border Pass) เพื่อใช้ในการทำพิธีการทางศุลกากร และตรวจคนเข้าเมืองที่สถานีหนองคาย และเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ก่อนการเดินทางข้ามประเทศ ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมผู้ประกอบการขนส่งที่เวียงจันทน์ ในการจัดรถโดยสารรับ-ส่ง อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกด้วย

นายเอกรัช กล่าวว่า การเปิดเดินขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ ไทย - สปป.ลาว ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศแล้ว ยังช่วยยกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์ไทย ให้กลายเป็นศูนย์กลางภูมิภาคตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้การรถไฟฯ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ โดยให้เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในทุกด้าน ๆ ก่อนที่จะมีเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการค้าชายแดนระหว่างไทย - สปป.ลาว ให้มีการขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว Tourism Hub ที่สำคัญของโลก ตามยุทธศาสตร์ เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวของรัฐบาล โดยขบวนรถสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่นอีก ซึ่งจะก่อให้ประโยชน์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย

'คลัง' เผย!! มาตรการกระตุ้นศก.ด้านอสังหาฯ แค่ 3 เดือน สร้างเม็ดเงินใหม่กว่า 65,000 ล้าน

(11 ก.ค. 67) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลสัมฤทธิ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนมาตรการสินเชื่อ และค่าธรรมเนียม ดังนี้

1. มาตรการค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม ลดค่าโอนจากร้อยละ 2 เหลือ 0.01 และลดค่าจำนองจากร้อยละ 1 เหลือ 0.01 มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ 40,372 ราย แบ่งเป็นโอนอสังหาริมทรัพย์ 29,047 ราย และโอนห้องชุด 11,325 ราย (ตัวเลขถึงวันที่ 31 พ.ค.)

2. มาตรการส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี สำหรับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้บุคคลธรรมดา ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) จนถึงวันที่ 10 มิ.ย. มูลค่าโครงการรวมแล้วถึง 33,278.69 ล้านบาท

3. โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home (วงเงิน 20,000 ล้านบาท ) ให้ผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 12,576 ราย เป็นจำนวนเงิน 17,812 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89.06 ของวงเงินโครงการ

4. โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life (วงเงิน 20,000 ล้านบาท) ให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก ร้อยละ 2.98 ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป อนุมัติสินเชื่อแล้ว 8,141 ราย เป็นจำนวนเงิน 15,588 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.94 ของวงเงินโครงการ

‘รมว.ปุ้ย’ แนะ!! ‘ส่งออกเหล็ก-เครื่องใช้ไฟฟ้า’ ส่องมาตรการใหม่อินเดีย หลังผุดมาตรฐาน ‘ควบคุมสินค้านำเข้าล่าสุด’ 91 รายการ

(11 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศอินเดียให้ตรวจสอบและศึกษามาตรการการนำเข้าให้ถี่ถ้วน เนื่องจากอินเดียได้ออกมาตรการควบคุมการนำเข้าเหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 91 รายการ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย

ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางในการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) ของ WTO และเป็นผู้แทนประเทศไทยในการเจรจาต่อรอง

ด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ อินเดียเป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีมูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2567 มากกว่า 36,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นอันดับที่ 6 รองลงมาจากสหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย และเวียดนาม 

ดังนั้น จึงขอให้ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้ง 91 รายการ ที่จะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศอินเดีย ศึกษามาตรการดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการทางการค้าของอินเดียได้อย่างถูกต้อง และไม่เสียโอกาสทางการค้า 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ.ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ได้รับทราบมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสินค้าของประเทศต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นข้อกำหนดของ WTO ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกจะต้องเผยแพร่มาตรการทางการค้าต่อสาธารณชน และแจ้งให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการ เพื่อลดข้อกีดกันทางการค้า 

สำหรับมาตรการทางการค้าของประเทศอินเดียในครั้งนี้ เป็นการควบคุมคุณภาพ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวน 91 รายการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของอินเดียที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เหล็ก 6 รายการ ประกอบด้วย

- เหล็กกล้าแผ่นแถบรีดร้อนและรีดเย็นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการแปรรูป 
- เหล็กกล้าแผ่นแถบ  แผ่นตัด และแผ่นบางสำหรับงานท่อ 
- เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสี สำหรับงานรถยนต์ 
- เหล็กกล้าแผ่นตัด แผ่นบาง และแผ่นแถบเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียมและแมกนีเซียม 
- โลหะผสมโมลิบดีนัม 
- โลหะผสมเหล็กวานาเดียม 

นายวันชัย กล่าวอีกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า ครอบคลุมสินค้า 85 รายการ เช่น ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน หม้อหุงข้าว เตาอบ เครื่องดูดฝุ่น เตาปิ้งย่าง เตารีด และไดร์เป่าผม เป็นต้น โดยผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศอินเดีย จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานอินเดีย และแสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่ตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต 

'อ.ต่อตระกูล' วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย เทียบประเทศอื่นในเอเชีย ชี้!! ในอีก 10 ปีข้างหน้า เติบโตช้ากว่า 'อินโด-เวียดนาม-ฟิลิปปินส์'

(11 ก.ค.67) นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ต่อตระกูล ยมนาค โดยระบุว่า…

เศรษฐกิจไทย วันนี้ตกต่ำจริง แล้วยังมีอนาคตอยู่ไหม? 

ผมต้องค้นหาเอง เพื่อที่จะได้ความจริงจากแหล่งข้อมูลทางวิชาการต่างๆที่เป็นกลางเชื่อถือได้ รวม 14 ที่มา ที่ได้วงเล็บ [ ] ไว้หลังข้อสรุปแต่ละเรื่อง ผลสรุปว่า…

“ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญในอาเซียน แต่อาจเห็นว่าน้ำหนักทางเศรษฐกิจลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตเร็วกว่า เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์”

รายงานเต็ม ๆ ที่ผมได้รับการสรุปจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มีดังนี้…

จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ นี่คือบทวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียในอีก 10 ปีข้างหน้า 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย

1. แนวโน้มการเติบโตในระยะสั้น
- เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโต 2.4% ในปี 2567 และ 2.8% ในปี 2568 ตามข้อมูลของธนาคารโลก[11]
- ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวจากการเติบโต 1.9% ในปี 2023 แต่ก็ยังตามหลังคู่แข่งอื่น ๆ ในภูมิภาค[1][2]

2. ปัจจัยขับเคลื่อนและความท้าทายที่สำคัญ
- การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโต แต่จะช้ากว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด[11]
- การบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในระดับสูงก็ตาม[6]
- ประเทศเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง รวมถึงประชากรสูงวัย ช่องว่างด้านทักษะ และความจำเป็นในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต[9]

3. ประมาณการระยะยาว:
- แม้จะไม่ได้ระบุการคาดการณ์เฉพาะเจาะจงในช่วง 10 ปี แต่คาดว่าประเทศไทยจะยังคงเติบโตอย่างมั่นคงแต่ปานกลางในทศวรรษหน้า
- ประเทศมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน[9]

เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

1. อัตราการเติบโต
- คาดการณ์การเติบโตของไทย (2.4-2.8% ในระยะสั้น) ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน[2][12]
- ประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คาดการณ์อัตราการเติบโตที่ 4.5-5.8% ในปี 2567[12]

2. ขนาดและศักยภาพทางเศรษฐกิจ:
- อินโดนีเซียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนอยู่แล้ว คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2578 และจะกลายเป็นตลาดเกิดใหม่ชั้นนำ[12]
- เวียดนามและฟิลิปปินส์คาดว่าจะติดอันดับตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญภายในปี 2578[12]
- แม้ว่าประเทศไทยจะเติบโต แต่ก็ไม่คาดว่าจะเห็นขนาดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้

3. การลงทุนและความสามารถในการแข่งขัน
- เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมคาดว่าจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแนวโน้มการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน[12]
- ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นเวียดนามในการดึงดูดการลงทุนด้านการผลิต[6]

4. ปัจจัยเชิงโครงสร้าง
- ประชากรสูงวัยของประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ในทันทีมากกว่า เมื่อเทียบกับประชากรอายุน้อยในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์[9]
- ความพยายามของประเทศไทยในการยกระดับทักษะแรงงานและเพิ่มผลิตภาพจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการก้าวให้ทันคู่แข่งในระดับภูมิภาค[9]

โดยสรุป แม้ว่าประเทศไทยคาดว่าจะรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทศวรรษหน้า แต่อาจต้องดิ้นรนเพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วที่คาดการณ์ไว้สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนบางส่วน

ความสามารถของประเทศในการจัดการกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง เพิ่มผลผลิต และประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม ที่มีมูลค่าสูงกว่า จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดตำแหน่งทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กันภายในเอเชีย

ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญในอาเซียน แต่อาจเห็นว่าน้ำหนักทางเศรษฐกิจลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตเร็วกว่า เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

>> อ้างอิง Sources:
[1] Thai Economy - Bank of Thailand https://www.bot.or.th/en/thai-economy.html

[2] Thailand's economic outlook: Q3 recovery amid GERM risks https://www.nationthailand.com/.../business/economy/40039534

[3] Economic Forecasts: Asian Development Outlook April 2024 https://www.adb.org/outlook/editions/april-2024

[4] World Bank: Debt, Trade Barriers and Uncertainty Will Drag on Asian Economies in 2024 https://thediplomat.com/.../world-bank-debt-trade.../

[5] Asia Outlook 2024: A Year of Transition - J.P. Morgan Private Bank https://privatebank.jpmorgan.com/.../2024-asia-outlook-a…

[6] Thailand's economy stumbles as Philippines, Vietnam, Indonesia ... https://www.aljazeera.com/.../thailands-economy-stumbles…

[7] Thailand’s economy lags behind peers with protracted recovery https://www.thailand-business-news.com/.../134352…

[8] 2024 Thailand's Economic Outlook and Emerging Technology Trend https://www2.deloitte.com/.../2024-thailand-economic…

[9] Thailand Overview: Development news, research, data | World Bank https://www.worldbank.org/en/country/thailand/overview

[10] Thailand Foodservice Market Size and Trends by Profit and Cost Sector Channels, Players and Forecast to 2027 https://www.globaldata.com/.../thailand-foodservice.../

[11] Thailand Economic Monitor July 2024: Unlocking the Growth Potential of Secondary Cities https://www.worldbank.org/.../tha.../publication/temjuly2024

[12] ASEAN economic outlook in 2024 | S&P Global https://www.spglobal.com/.../asean-economic-outlook-in…

[13] Southeast Asia quarterly economic review: Q1 2024 - McKinsey https://www.mckinsey.com/.../southeast-asia-quarterly…

[14] Thai Government Aims to Lift 2024 GDP Growth to 3% by Tourists, Investment https://www.bloomberg.com/.../thai-government-aims-to...

'รมว.คลัง' นัดหารือ 'แบงก์ชาติ' ปมแบงก์เข้มงวด 'เงินกู้ซื้อบ้าน' เชื่อ!! ผ่อนเกณฑ์กู้ในภาวะนี้ ไม่ได้เอื้อคนซื้ออสังหาฯ ไปเก็งกำไร

(11 ก.ค.67) Business Tomorrow เผยว่า นาย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังได้ปาฐกถาพิเศษ 'พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน' ที่งาน EnCo ฉลองครบรอบ 20 ปีจัดสัมมนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่แห่งปีร่วมขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน ว่า จะหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการผ่อนปรนมาตรการ LTV หรือสัดส่วนเงินกู้ต่อมูลค่าบ้าน

นายพิชัย กล่าวยืนยันว่า “ไม่เชื่อว่าการผ่อนเกณฑ์เงินกู้จะทำให้คนซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร ในภาวะที่ผู้บริโภคง่อยเปลี้ยเสียขา จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี และครัวเรือนมีหนี้สินสูงเกิน 90 % ของจีดีพี ทั้งหนี้เสียของภาคอสังหาริมทรัพย์ก็สูงและมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นไปอีก”

นายพิชัยยังเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ให้คนผ่อนหนี้เงินกู้บ้านได้ยาวขึ้น โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ของรัฐบาลได้นำร่องแล้วซึ่งได้เปิดให้คนกู้ผ่อนหนี้ได้ถึงอายุ 80 ปี และหากเป็นราชการเกษียณก็ให้ยาวถึง 85 ปี

>> เกณฑ์ LTV เปิดทางให้ผู้กู้บ้านหลังแรกอยู่แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่มีภาคเอกชนขอให้พิจารณาผ่อนคลายเรื่อง มาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV นั้น ว่า “ปัจจุบันเกณฑ์ LTV เปิดทางให้ผู้กู้สามารถเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกได้อยู่แล้ว โดยผู้กู้สามารถกู้ได้สูงสุด 100-110% ถ้ารวมสินเชื่อเพื่อการตกแต่งบ้าน

ขณะที่บ้านหลังที่ 2 หรือ 3 สัดส่วน LTV สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้อยู่ที่ระดับ 80-90% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่อยู่ 60-70% ก็มี เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของ LTV แต่เป็นเรื่องของความเสี่ยงของผู้ที่เข้ามาขอสินเชื่อมากกว่า ดังนั้น การปรับเกณฑ์ LTV อาจจะแก้ไขไม่ตรงจุด”

>> ต่างชาติเช่าอสังหาฯ 99 ปี?
ส่วนที่งานสัมมนาวันพุธ (10 ก.ค.67) นายพิชัย ยังกล่าวถึงแนวคิดให้ต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือ ทรัพย์อิงสิทธิได้ยาว 99 ปีว่า รัฐบาลต้องการเอาธุรกิจใต้ดินขึ้นมาบนดิน และเรื่องนี้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของคนไทย

นายอุทัย อุทัยแสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ตนออกความเห็นเรื่องแนวคิดสัญญาเช่าที่ดิน 99 ปีไม่ได้ 

นายอุทัยเป็นผู้บริหารบริษัทที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เคยเป็นผู้บริหารมาก่อน และนายกฯกำลังผลักดันเรื่องแก้กฎหมายเพื่อให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้มากกว่า 30 ปีตามกฎหมายปัจจุบัน

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่าการขออนุญาตต่าง ๆ มีขั้นตอนยุ่งยากเกินไป และเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริโภคบางครั้งก็เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่สมเหตุสมผล

ด้าน ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เรียกร้องให้ภาคการเงินให้สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ยาว 30 ปี อย่างที่มีในประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่นาย ศิรศักดิ์ จันเทรมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ เอนโก้ กล่าวถึงธุรกิจของบริษัทว่า เอนโก้ คาดการณ์รายได้ภายในปี 2570 จะต้องมากกว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมเป้าหมายในระยะสั้น จะต้องมีผลตอบแทนจากสินทรัพย์อย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี และตั้งเป้าหมายแบ่งสัดส่วนกำไร สนับสนุนสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยร้อยละ1 ของกำไรสุทธิต่อปี นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายในระยะยาว ทำกำไรสุทธิมากกว่า 800 ล้านบาทภายในปี 2573 โดยจะเป็นผลมาจากธุรกิจเดิม และโอกาสดำเนินธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับกลุ่มปตท. เช่น นำธุรกิจปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ที่เอนโก้บริหารจัดการ

ปัจจุบันเอนโก้ดำเนินธุรกิจใน 3 กลุ่มหลักได้แก่ ธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์, บริหารจัดการพื้นที่ และ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

‘กรมการค้าต่างประเทศ’ นำทัพผู้ค้าข้าวไทยลุย ‘ฟิลิปปินส์’ ลงนาม MOU ซื้อ-ขาย 1.3 แสนตัน มูลค่า 2,800 ล้านบาท

(11 ก.ค. 67) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการนำคณะผู้แทนการค้าข้าวไทย เดินทางไปฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ร่วมกับภาคเอกชน โดยมี ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และสมาชิกเข้าร่วม ว่า ในการเดินทางไปครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถลงนาม MOU การซื้อ-ขายข้าวระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์ จำนวน 9 ฉบับ ปริมาณรวม 130,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในฟิลิปปินส์ได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กรมยังได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา เชิญผู้นำเข้าผู้ค้าข้าว ห้าง ร้านค้าปลีกผู้ประกอบการค้าข้าวรายสำคัญและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐของฟิลิปปินส์ รวมถึงสื่อและอินฟลูเอนเซอร์กว่า 70 ราย เข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘PremiumThai Rice with Authentic Thai Food’ ณ ร้าน Mango Tree Manila ซึ่งเป็นร้านที่ได้รับตรา Thai SELECT จากกระทรวงพาณิชย์ โดยได้สาธิตการปรุงอาหารพร้อมเสิร์ฟกับข้าวไทย 3 รายการ ได้แก่ แกงเขียวหวานไก่ ผัดกะเพราหมู และข้าวเหนียวมะม่วง โดยเสิร์ฟทั้งข้าวหอมมะลิไทย ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ได้เข้าพบหน่วยงาน National Food Authority (NFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการบริหารจัดการสต๊อกข้าวของฟิลิปปินส์ โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดข้าว รวมถึงนโยบายการลดภาษีนำเข้าข้าวจาก 35% เหลือ 15% ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 ไปจนถึงสิ้นปี 2571 โดยจะมีการทบทวนอัตราภาษีนำเข้าข้าวทุก 4 เดือน และยังได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการแก้กฎหมายของรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ NFA สามารถนำเข้าข้าวในภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา โดยในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยได้ให้ความเชื่อมั่นว่าไทยมีความพร้อมในการส่งออกข้าวเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของฟิลิปปินส์

สำหรับสถิติการส่งออกข้าวไทยไปยังฟิลิปปินส์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม - มิถุนายน) ประมาณ 299,787 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 381.66% และมีมูลค่าประมาณ 5,978 ล้านบาท (ประมาณ 167 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 558.97%

‘ส.อ.ท.’ เผย!! ‘ฮอนด้า’ ปรับแผนรวมศูนย์ เพื่อเร่งสปีดพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ตรง ยัน!! ไม่เทไทย เพราะยอดขายที่ผ่านมาลดลงแค่ 4.3% ขณะที่ตลาดร่วง 23.8%

(11 ก.ค. 67) จากกรณีที่ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแผนการดำเนินธุรกิจในไทย โดยเรียกว่า ‘การปฏิรูปฟังก์ชันสายการผลิตรถยนต์ของไทย’ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป รวมถึงเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ xEV หรือการนำพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่องนั้น ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มองถึงกรณีนี้ โดยประเมินว่า การปรับแผนการผลิตครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับยอดขายที่มีผลกระทบแน่นอน 

ทั้งนี้ฮอนด้าถือเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นรายใหญ่ที่ยังไงก็ไม่ล้มง่ายๆ โดยการปรับโรงงานพัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน ซึ่งใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นไปตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป

“ที่ผ่านมาทุกแบรนด์ก็เป็นเหมือนกันทั้งจีน, สหรัฐฯ ที่เคยยอดขายมีขึ้นมีลงตามเศรษฐกิจโลก จากเคยขายได้ 17 ล้านคัน เหลือ 9 ล้านคันก็มีมาแล้ว จึงเชื่อว่าฮอนด้าไม่ใช่ว่าจะยอมถอยง่ายๆ ซึ่งการทำธุรกิจปัจจุบันของทุกอุตสาหกรรมก็จะมีการปรับโครงสร้างทั้งภายในและภายนอกเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว” นายสุรพงษ์ กล่าว

สำหรับแผนใหม่ของ ฮอนด้า จะเป็นการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม ‘e:HEV series’ ซึ่งเป็นระบบฟูลไฮบริดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮอนด้า ที่มีสัดส่วนยอดขายเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยผลประกอบการในปี 2566 รถในกลุ่มนี้มีสัดส่วนการขาย 32% แต่ปี 2567 นี้ ฮอนด้าตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 70%

ดังนั้นเพื่อให้คล่องตัวในการดำเนินงาน บริษัทจึงพร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบบรวมศูนย์ โดยจะปฏิรูปแต่ละโรงงานของเพื่อยกระดับโครงสร้าง ประกอบด้วย...

>> โรงงานปราจีนบุรี จะพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ที่สมบูรณ์แบบ โดยการใช้ประโยชน์จากสายการผลิตที่ผสมผสานเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสามารถในการรองรับธุรกิจ

>> โรงงานอยุธยา จะหยุดการผลิตรถยนต์ และหันมาพัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน โดยใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิต และห่วงโซ่อุปทานที่พัฒนาและสั่งสมมาเป็นเวลาหลายปี

สำหรับ ฮอนด้า ถือเป็นแบรนด์ใหญ่ที่ฝ่าฟันมาได้ทุกวิกฤติ ตั้งแต่ช่วงเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่อยุธยา ซึ่งฮอนด้าเป็นหนึ่งในโรงงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จนนำไปสู่การตัดสินใจทำลายรถที่เคลื่อนย้ายหนีน้ำไม่ทันรวม 1,055 คัน รวมถึงชิ้นส่วนที่รอการประกอบ แม้จะไม่ถูกน้ำท่วมเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่าจะไม่มีรถยนต์หรือชิ้นส่วนใดจากโรงงานอยุธยาที่อยู่ท่ามกลางน้ำท่วมยาวนาน หลุดรอดออกสู่ตลาด

ปี 2556 ฮอนด้าประกาศลงทุนแห่งใหม่เป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่า มูลค่า 17,150 ล้านบาท ที่ปราจีนบุรี

ปี 2558 บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ประกาศสร้างสนามทดสอบรถยนต์ ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ปราจีนบุรี ด้วยเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท

ปี 2559 รถยนต์ ฮอนด้า ซีวิค เจนเนอเรชั่นที่ 10 เป็นรถรุ่นแรกที่โรงงานฮอนด้าปราจีนบุรี

ปี 2560 ฮอนด้าเปิดสนามทดสอบในไทย เพิ่มศักยภาพการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ที่ปราจีนบุรี

ทั้งนี้ หากสังเกตการลงทุนหลายส่วนที่ปราจีนบุรี ส่วนหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงน้ำท่วมอยุธยา

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนแผนการผลิตครั้งนี้ของ ฮอนด้า ถูกจับตาพอควร เพราะเกิดขึ้นในช่วงตลาดรถยนต์ไทยหดตัวต่อเนื่อง บวกกับการเข้ามาตีตลาดของ EV จีน รวมถึงการประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ของแบรนด์ญี่ปุ่น 2 แบรนด์ ก่อนหน้านี้ คือ ซูบารุ ที่มีผลปลายปี 2567 และซูซูกิ มีผลปลายปี 2568

ทว่าหากดูภาพรวมตลาดรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ล่าสุดช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) พบว่าฮอนด้ามียอดขายรวม 37,374 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.3% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีถ้าเทียบกับหลายแบรนด์ หรือ ตลาดรวมที่ติดลบ 23.8%

แต่มีความเป็นไปได้ที่ฮอนด้าจะรวมการผลิตไว้ในแห่งเดียวเพื่อบริหารต้นทุนในภาวะที่ตลาดรถยนต์หดตัว อีกทั้งที่ปราจีนบุรีเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า และยังมีศูนย์ อาร์แอนด์ดี และสนามทดสอบในย่านเดียวกัน ทำให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top