‘ส.อ.ท.’ เผย!! ‘ฮอนด้า’ ปรับแผนรวมศูนย์ เพื่อเร่งสปีดพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ตรง ยัน!! ไม่เทไทย เพราะยอดขายที่ผ่านมาลดลงแค่ 4.3% ขณะที่ตลาดร่วง 23.8%
(11 ก.ค. 67) จากกรณีที่ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแผนการดำเนินธุรกิจในไทย โดยเรียกว่า ‘การปฏิรูปฟังก์ชันสายการผลิตรถยนต์ของไทย’ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป รวมถึงเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ xEV หรือการนำพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่องนั้น ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มองถึงกรณีนี้ โดยประเมินว่า การปรับแผนการผลิตครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับยอดขายที่มีผลกระทบแน่นอน
ทั้งนี้ฮอนด้าถือเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นรายใหญ่ที่ยังไงก็ไม่ล้มง่ายๆ โดยการปรับโรงงานพัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน ซึ่งใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นไปตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป
“ที่ผ่านมาทุกแบรนด์ก็เป็นเหมือนกันทั้งจีน, สหรัฐฯ ที่เคยยอดขายมีขึ้นมีลงตามเศรษฐกิจโลก จากเคยขายได้ 17 ล้านคัน เหลือ 9 ล้านคันก็มีมาแล้ว จึงเชื่อว่าฮอนด้าไม่ใช่ว่าจะยอมถอยง่ายๆ ซึ่งการทำธุรกิจปัจจุบันของทุกอุตสาหกรรมก็จะมีการปรับโครงสร้างทั้งภายในและภายนอกเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว” นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับแผนใหม่ของ ฮอนด้า จะเป็นการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม ‘e:HEV series’ ซึ่งเป็นระบบฟูลไฮบริดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮอนด้า ที่มีสัดส่วนยอดขายเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยผลประกอบการในปี 2566 รถในกลุ่มนี้มีสัดส่วนการขาย 32% แต่ปี 2567 นี้ ฮอนด้าตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 70%
ดังนั้นเพื่อให้คล่องตัวในการดำเนินงาน บริษัทจึงพร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบบรวมศูนย์ โดยจะปฏิรูปแต่ละโรงงานของเพื่อยกระดับโครงสร้าง ประกอบด้วย...
>> โรงงานปราจีนบุรี จะพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ที่สมบูรณ์แบบ โดยการใช้ประโยชน์จากสายการผลิตที่ผสมผสานเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสามารถในการรองรับธุรกิจ
>> โรงงานอยุธยา จะหยุดการผลิตรถยนต์ และหันมาพัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน โดยใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิต และห่วงโซ่อุปทานที่พัฒนาและสั่งสมมาเป็นเวลาหลายปี
สำหรับ ฮอนด้า ถือเป็นแบรนด์ใหญ่ที่ฝ่าฟันมาได้ทุกวิกฤติ ตั้งแต่ช่วงเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่อยุธยา ซึ่งฮอนด้าเป็นหนึ่งในโรงงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จนนำไปสู่การตัดสินใจทำลายรถที่เคลื่อนย้ายหนีน้ำไม่ทันรวม 1,055 คัน รวมถึงชิ้นส่วนที่รอการประกอบ แม้จะไม่ถูกน้ำท่วมเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่าจะไม่มีรถยนต์หรือชิ้นส่วนใดจากโรงงานอยุธยาที่อยู่ท่ามกลางน้ำท่วมยาวนาน หลุดรอดออกสู่ตลาด
ปี 2556 ฮอนด้าประกาศลงทุนแห่งใหม่เป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่า มูลค่า 17,150 ล้านบาท ที่ปราจีนบุรี
ปี 2558 บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ประกาศสร้างสนามทดสอบรถยนต์ ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ปราจีนบุรี ด้วยเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท
ปี 2559 รถยนต์ ฮอนด้า ซีวิค เจนเนอเรชั่นที่ 10 เป็นรถรุ่นแรกที่โรงงานฮอนด้าปราจีนบุรี
ปี 2560 ฮอนด้าเปิดสนามทดสอบในไทย เพิ่มศักยภาพการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ที่ปราจีนบุรี
ทั้งนี้ หากสังเกตการลงทุนหลายส่วนที่ปราจีนบุรี ส่วนหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงน้ำท่วมอยุธยา
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนแผนการผลิตครั้งนี้ของ ฮอนด้า ถูกจับตาพอควร เพราะเกิดขึ้นในช่วงตลาดรถยนต์ไทยหดตัวต่อเนื่อง บวกกับการเข้ามาตีตลาดของ EV จีน รวมถึงการประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ของแบรนด์ญี่ปุ่น 2 แบรนด์ ก่อนหน้านี้ คือ ซูบารุ ที่มีผลปลายปี 2567 และซูซูกิ มีผลปลายปี 2568
ทว่าหากดูภาพรวมตลาดรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ล่าสุดช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) พบว่าฮอนด้ามียอดขายรวม 37,374 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.3% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีถ้าเทียบกับหลายแบรนด์ หรือ ตลาดรวมที่ติดลบ 23.8%
แต่มีความเป็นไปได้ที่ฮอนด้าจะรวมการผลิตไว้ในแห่งเดียวเพื่อบริหารต้นทุนในภาวะที่ตลาดรถยนต์หดตัว อีกทั้งที่ปราจีนบุรีเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า และยังมีศูนย์ อาร์แอนด์ดี และสนามทดสอบในย่านเดียวกัน ทำให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น
ที่มา : Bangkokbiznews