Wednesday, 7 May 2025
GoodsVoice

Zhengxin Chicken แฟรนไชส์ไก่ทอดจีนบุกไทยต่อเนื่อง เปิดสาขาใหม่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ชูโมเดลสไตล์คล้าย Mixue

(12 ก.ค. 67) เพจ 'BrandCase' รายงานว่า Zhengxin Chicken Steak (เจิ้งซิน) ซึ่งเป็นร้านไก่ทอดจากประเทศจีน ที่มีกว่า 20,000 สาขา และเข้ามาเปิดสาขาแรกในไทยที่ ONE ConneX แถว ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยล่าสุดก็ได้เปิดอีกสาขา ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ชั้น 7 ใกล้ ๆ กับร้าน Sushiro 

ที่น่าสนใจคือ ร้านนี้เหมือนจะมีกลยุทธ์คล้าย ๆ กับ MIXUE ในมุมที่เน้นขยายสาขาจำนวนมาก ๆ เข้าไว้ จนทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) และต้นทุนเฉลี่ยต่อชิ้นของสินค้าถูกมาก ๆ เพราะสั่งซื้อ สั่งเตรียมวัตถุดิบทีละมาก ๆ เลยทำให้สามารถขายไก่ทอดในราคาถูกได้ 

แล้ว Zhengxin ขายถูกแค่ไหน ? มาดูตัวอย่างราคาของไก่ทอดร้านนี้กัน...

- ไก่กรอบสไปซี่ ราคาชิ้นละ 15 บาท 
- เฟรนช์ฟรายส์ ราคาชุดละ 20 บาท 
- ชิกเกน วิงซ์ (น่องไก่ทอด) ราคาชิ้นละ 25 บาท 
- เบอร์เกอร์เนื้อ ราคาชิ้นละ 30 บาท 
- ชิกเกน สเต๊ก ราคาชิ้นละ 50 บาท
- สไปซี ชิกเกน เบอร์เกอร์ ราคาชิ้นละ 50 บาท 
- โค้ก กระป๋องละ 20 บาท 

นอกจากนี้ยังมี ไอศกรีม (คล้าย ๆ ของ MIXUE) เป็นของหวาน ขายราคาโคนละ 15 บาทด้วย ซึ่งราคานี้ต้องบอกว่าค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ๆ โดยเฉพาะร้านที่ขายอยู่บนศูนย์การค้า 

ส่วนรสชาตินั้น Zhengxin Chicken Steak จะมีรสชาติเหมือนไก่ทอดทั่วไป แต่จะมีการคลุกผงรสเผ็ดของทางร้านอยู่ด้วย ทำให้มีรสชาติแปลกใหม่ ต่างจากไก่ทอดร้านอื่น ๆ 

'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' แนะ!! บทบาทของผู้นำองค์กร ต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

(11 ก.ค.67) ศาสตราจารย์ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มอบของที่ระลึกแก่ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่มาเป็นผู้ปาฐกฐาพิเศษ ซึ่งจัดโดยสำนักงาน กลต.เรื่อง 'บทบาทของผู้นำองค์กร ต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ' 

โดยปาฐกฐาพิเศษดังกล่าวเ็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม 'Leading theChange..Driving Sustainability Aspiration into Action' ซึ่งมีผู้เข้ารับฟังเป็นระดับ กรรมการ และผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) และสถาบันการเงินต่างๆ ณ ห้องพาวิลเลียน โรงแรมโรสวูด ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร

​​​​​​

 

‘รัดเกล้า’ เผยมาตรการ อนุญาตให้ ‘เอกชน-เอกชน’ ซื้อขายไฟฟ้ากันได้ ชี้!! นโยบายนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยพัฒนาระบบพลังงาน เพื่อคนไทยทุกคน 

(13 ก.ค.67) เนเน่ รัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์คลิป อธิบายถึง ‘Direct PPA’ โดยได้ระบุว่า ...

Direct PPA ย่อมาจาก Direct Power Purchase agreement 

ซึ่งก็คือ การอนุญาตให้เอกชนและเอกชนซื้อขายไฟฟ้ากันได้

รัฐบาลมีแนวคิดอยู่ 2 แนวทาง

ประการแรกก็คือการส่งเสริมการลงทุนจากทางภาคเอกชน โดยให้เอกชนมีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้า โดยสามารถซื้อไฟฟ้าจากเอกชนด้วยกันได้

ประการที่ 2 ก็คือ ลดการผูกขาดค่าราคาไฟฟ้า ซึ่งในส่วนนี้ระยะยาวจะช่วยให้มีการแข่งขันกันเกิดขึ้น ซึ่งราคาค่าไฟฟ้าก็จะถูกลง และมีความเป็นธรรมต่อประชาชนมากขึ้น

มาตรการนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการเปิดประตูไปสู่การพัฒนาระบบไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงพลังงานสะอาดอีกด้วย

อัพเดทล่าสุดจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้เห็นชอบ โครงการที่ดีมีประโยชน์ดีแล้ว ทั้งนี้ก็ได้ดำเนินการผ่านระบบวงการไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่ 3 โดยโครงการนี้จะอนุญาตให้ บริษัทชั้นนำของโลก ที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ซึ่งจากนี้เป็นต้นไปก็ต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบ แล้วจะทำค่าบริการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้

ทำเพื่อคนไทยทุกคน

‘เศรษฐา’ ห่วง ‘เศรษฐกิจ’ ชี้!! ต้องใช้ ยาแรงกระตุ้น หวัง ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ กอบกู้การบริโภคช่วยพี่น้องปชช.

(13 ก.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟสบุ๊กว่า ...

การอุปโภคบริโภคในประเทศของคนไทย ถือว่าอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง ที่ผ่านมาเราโชคดีที่พยุงเศรษฐกิจส่วนนี้ไว้ด้วยการท่องเที่ยว คนไทยจำนวนมากกำลังอ่อนแรง การใช้จ่ายที่ลดลงทำให้โรงงาน ภาคการผลิต การจ้างงาน อ่อนลงตาม ซึ่งหากไม่กระตุ้นให้แรงพอ เศรษฐกิจก็จะฟื้นไม่ได้ 

กระเป๋าเงินดิจิทัลจะเป็นยาแรงที่มากอบกู้เศรษฐกิจในภาคการบริโภค เชื่อมโยงไปสู่ภาคการผลิต และอีกหลายๆ มาตรการที่ออกไป เช่น การลดราคาพลังงาน การพักหนี้ การขอให้ธนาคารช่วยลดดอกเบี้ยสำหรับกลุ่มเปราะบาง ก็จะเพิ่มสภาพคล่องให้กับทุกๆ ครัวเรือน และพี่น้องประชาชนทุกคน 

สุดท้ายจะทิ้งการท่องเที่ยวไม่ได้ เพราะยังเป็นตัวแบกเศรษฐกิจอยู่ในปัจจุบันและปีหน้านี้ จึงเป็นที่มาของการโปรโมทการท่องเที่ยว ดึงดูดเงินต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

'ธุรกิจจีน' โชว์!! เจาะฐานล่างปิรามิดไทย ใครบอกทำราคาถูกไม่ได้ จีนทำให้ดู สะท้อนอีกมุม!! แรงกระตุ้น Demand ไทยหนใหม่ อาจเกิดได้ใต้ลมหนุนจากทุนจีน

(13 ก.ค.67) 'โค้ชเป๊ก' ปุณยวีร์ จันทรขจร วิทยากรด้านการลงทุนชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Punyawe Chantarakajorn' ระบุว่า...

กระบวนท่าหมัดมวยจีนรอบนี้น่าสนใจมาก 

** ใครบอกทำราคาถูกไม่ได้ จีนทำให้ดู **
- ผู้ประกอบการไทยบอกลดราคาไม่ได้เเล้ว ธุรกิจจะไม่รอดเเล้ว แต่จีนทำให้ดูเลย --- Cost of Goods Sold สูงเหรอ เดี๋ยวไปกว้านซื้อวัตถุดิบมาให้  --- SG&A สูงเหรอเดี๋ยวเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จ้างแรงงานราคาถูกเข้ามาเเทนคนไทยค่าตัวเเพงแถมงานไม่ค่อยเดิน --- ภาษีสูงเหรอ ไม่เป็นไรมีช่องทางกฎหมายให้เล่นได้ 

>>> ทุกบรรทัดที่เป็นต้นทุนจ่ายในการงบ P&L จีนจัดการได้หมด เพราะผู้ประกอบการเค้าไม่ได้มาเดี่ยวๆ ทื่อๆ แต่เค้ามาเป็นองคพายพ มาลุยทั้ง Eco-System 

** ดูด Supply เเล้วค่อยปั่นราคาเก็บกำไรทีหลัง ** 
- มันคือการเล่นกับ Demand-Supply เหมือนเกมที่เล่นกับล้งทุเรียน เริ่มการไปกว้านซื้อล้งเพื่อดูด Supply ให้มากที่สุดเเล้วลดราคาให้ต่ำกว่าตลาดก่อน ผู้ประกอบการเจ้าไหนทนไม่ได้ก็ขายล้งออกมา นายทุนก็รับซื้อเหมือนได้ Distress Asset 

>>> จากนั้นค่อยดึงเอาทรัพยากร ดึง Know-how ดึง Eco-System มาให้หมด เพราะวันไหนที่คุม Supply ได้เเล้ว Pricing Power จะกลับมาอยู่ในมือเอง มันคล้ายๆกับเกมหุ้นที่เจ้ามือทุบหุ้นเพื่อรวบ Float ก่อน เเล้วพอได้จำนวนครบเมื่อไหร่ ราคาเป้าหมายจบตามที่คุยกันไว้ที่สนามกอล์ฟ

 ** ผู้บริโภคชนะ (แต่อาจในระยะสั้น) **
- เอาแบบมองโลกในเเง่ร้ายหน่อย เมื่อสินค้าเเละบริการราคาถูกทั้งตลาด คนที่ชนะในช่วงแรกคือผู้บริโภค ลองนึกถึงอุตสาหกรรม Food Delivery ที่เน้นดึง User จนกว่าจะตายกันไปข้าง ! คนสั่งรู้สึกโชคดีได้กินชานมไข่มุกมาส่งถึงออฟฟิศถูกกว่าเดินไปซื้อหน้าร้านเองด้วยซ้ำ  

>>> But If you're not paying for the product, you are the product เพราะในระยะยาวเมื่อเราคุ้นชินกับแพลตฟอร์มนั้นติดจนเป็นนิสัยเเล้ว อำนาจการ "คุมตลาด" กลับไปที่แพลตฟอร์มทันที 

โจทย์ใหญ่ในระยะยาวคือ การที่ Business Landscape แต่ละอุตสาหกรรมของไทยจะโดนทุนจีนเข้ามาทดเเทนได้เรื่อยๆ เราไปกันไงต่อแบบนี้ เพราะผู้บริโภคไม่ช่วยนะ ฉันประหยัดเงินของฉัน ใครจะทำไม ! (และก็ไม่ใช่เรื่องผิดของเค้าเช่นกัน) 

** Price-Distortion กดให้ถูกได้ ก็ดึงให้แพงได้ **
- ราคาบ้านหรูชานเมืองตอนนี้ แทบจะเริ่มกันที่ 39 ล้านบาทต่อหลัง คนนั่งบีทีเอสไปทำงานในเมืองเกาหัวทุกวันแล้วคิดในใจว่า นี่กูต้องทำมาหากินอะไรวะ !!? ถึงจะซื้อบ้านหลังละหลายสิบล้านได้ (ว่าแล้วก็เฝแวะซื้อ MIXUE ก่อนเข้าออฟฟิศซะหน่อย ) /// แต่เศรษฐีจีนบอกสบายเทียบกับฮ่องกงแล้วถูกกว่าเยอะมาซื้อในไทยดีกว่า ส่งลูกมาเรียนอินเตอร์ได้ด้วย 

แถมเข้าทาง Developer ที่ไม่อยากขายคนไทยเท่าไหร่ มาร์จิ้นสู้ขายต่างชาติไม่ได้ กลายเป็นราคาบ้านดันพุ่งขึ้นจาก Demand ต่างชาติซะงั้น ราคามันก็เพี้ยนสิครับ ก็เลยไม่เเปลกว่าทำไม Home price to Income Ratio บ้านเรามันสูงนัก หรือมันเป็นสัญญาณบอกแล้วว่าชนชั้นกลางส่วนใหญ่เริ่มไม่มีปัญญาซื้อบ้านในตัวเมืองเเละชานเมืองเเล้วเรียบร้อย 

** เทรนด์ที่เลี่ยงได้ยาก ** 
- ยุทธศาสตร์ของจีนประกาศชัดอยู่เเล้วครับว่าจะโตด้วยการส่งออก เพราะ Demand ในประเทศมันวิกฤต !! วัยรุ่นตกงานเยอะแยะ สินทรัพย์คนมีเงินขึ้นมาหน่อยก็อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังมีปัญหาอยู่ 

เพราะฉะนั้นไอ้เรื่อง Over-Capacity ในประเทศมันต้องแก้ด้วยการส่งไปนอกประเทศ เพื่อให้โลกทั้งใบช่วย Absorb สิ่งที่จีนผลิตได้ ซึ่งถ้าเอาตามตำรานะ จีนคือ Deflation Exporter ไปเเล้ว 

** ชนกับทั้งโลก ** 
- จีนส่ง TEMU แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ์ (บริษัทลูก PDD) ไปชนกับ AMAZON จีนส่ง SHEIN ไปชนกับแพลตฟอร์มขายเสื้อผ้าออนไลน์ทั้งโลก --- เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่รายย่อยครับ แต่จีนชนหมดไม่สนลูกใคร เพราะมันคือ Low Price Strategy มันคือกลยุทธ์ Affordability ที่จีนถนัดอยู่เเล้ว

** Agenda ระดับประเทศ ** 
- สมมติมองแค่ในอาเซียน เวียดนามปรับกลยุทธ์มาเป็นมิตรกับจีนในแบบนึง อินโดนีเซียก็เปิดหน้าชนกับจีนในเเบบนึง บ้านเราเองก็ต้องมีกลยุทธ์เเละกฎเกณฑ์ให้มันชัดๆ แบบนึง ส่วนประเทศลาวไปทำอีท่าไหนไม่รู้ ตอนนี้หนี้สาธารณะของประเทศถึง 3 ใน 4 มีจีนเป็นเจ้าหนี้ไปแล้วเรียบร้อย --- ไอ้การมายึดภาคธุรกิจนี่ว่าน่ากลัวแล้วนะ เจอ Debt Slave เเบบลาวเข้าไปนี่หนักเลย !! 

เเละถ้ามองเเบบไม่ Bias เกินไปนัก ...

ประเทศที่ขนเงินมาลงทุนในไทยสามประเทศหลักๆคือ ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และจีน ---- และในวันที่ Demand ในประเทศมัน Crash ไปแล้วจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง มันเลยเลี่ยงไม่ได้ที่ไทยเราต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างชาติด้วยการผ่อนปรนกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างในทั้งสัดส่วนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ จนมาถึงการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ทางธุรกิจที่มันชัดเจน 

และมองในมุมผู้บริโภคมันคือ ราคาที่คนในฐานล่างของปิรามิดที่ถูกละเลยมานาน สามารถเข้าถึงได้ และถ้ามองแบบภาพสวยๆ มันคือ การลดความเหลื่อมล้ำของชนชั้นแรงงานที่ปัจจุบันค่าแรงวันนึงกินข้าวในห้างได้มื้อเดียว (ผมเห็น Articles นี้เเวบๆ เมื่อวานเเละเห็นด้วยอย่างมาก)

เราอาจต้องยอมรับแล้วครับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็น 'สัญญาณ' ให้เตรียมตัว ให้ปรับตัว เพราะจากนี้ไปการมีความได้เปรียบเป็น Economy of Scale อาจเป็น MOAT ในการทำธุรกิจที่เปราะบางที่สุดเพราะนักธุรกิจจีน 'ทำดี' และ 'ทำถึง' ถูกใจผู้บริโภคมากๆ 

"จง-ไท่-อี้-เจีย-ชิน" 
จีน-ไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน 

สิบปีจากนี้เราจะเป็นพี่น้องกันเเบบไหน
น่าสนใจในการติดตามครับ

'ไทย' เจ๋ง!! ดึง Carbon Watch เทคโนโลยี AI มาใช้ครั้งแรกในไทย-อาเซียน อีกขั้นพาไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดย 'อบก.-ไทยคม-มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง'

(14 ก.ค.67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในมุมของเรื่อง 'เงินบาทแข็ง' และอีกเรื่องสำคัญอย่าง 'Carbon Watch' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องน่าสนใจอยู่ 2 เรื่อง...

เรื่องแรก เงินบาทมีค่าแข็งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ประกอบกับคำกล่าวของ Jerome Powell ประธาน Federal Reserve ในการรายงานภาวะเศรษฐกิจต่อสภา Congress ว่าการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานานสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและศักยภาพในการเจริญเติบโต ตลาดการเงินจึงคาดว่าจะต้องมีการลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างแน่นอนภายในเดือนกันยายนนี้

กลับมาดูประเทศไทย ธปท. ยังคงดื้อรั้นไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อของไทยที่ผ่านมาอยู่ใกล้ศูนย์หรือติดลบด้วยซ้ำ ความตึงตัวของนโยบายการเงินในประเทศเมื่อเทียบกับนโยบายการเงินทั่วโลกจึงเป็นสาเหตุหลักของการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังน่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ แนวโน้มค่าเงินบาทดังกล่าวย่อมเป็นการซ้ำเติมความอ่อนแอและหน่วงรั้งโอกาสการเติบโตของประเทศ

แต่เป็นที่น่ายินดีที่การพัฒนาการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ของไทยได้มีการยกระดับการพัฒนาโครงการสูงขึ้นอีกก้าวใหญ่ อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน หรือ TGO) ได้ร่วมมือกับ 'บริษัทไทยคม' และ 'มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง' นำวิธีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) โดยเทคโนโลยี AI ที่เรียกว่า Carbon Watch มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนมีความถูกต้องแม่นยำ มีความรวดเร็ว และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำลง

ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของไทย จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น Carbon Watch จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สมควรได้รับการชื่นชม เป็นความร่วมมืออย่างลงตัวระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาชน โดยการสนับสนุนของ อบก. และกลไกคาร์บอนเครดิต เราจึงเชื่อมั่นว่าจะมีเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ดี ๆ เช่นนี้เกิดขึ้นอีกมากมาย เพื่อขับเคลื่อนการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนของไทย

'ตลาดน้ำอัมพวา' ยังแน่น!! หลังคลิปว่อนอ้างตลาดน้ำร้าง ไร้คนเที่ยว  ด้านแม่ค้าประสานเสียง ภาพถ่ายหงอยเป็นโฮมสเตย์ ไม่ใช่ตลาด

(15 ก.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีโซเชียลมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม สถานการณ์ตอนนี้เงียบเหงา ว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ส่งคนลงไปเช็กในพื้นที่แล้วชะอำและอัมพวา ไม่ได้เงียบเหงาอย่างที่มีคนปล่อยเฟคนิวส์ นักท่องเที่ยวยังคงคึกคักพอสมควรตามฤดูกาล แถมยังจะหนาแน่นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้

และจากการสอบถามนายกสมาคมโรงแรมและผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ชะอำพบว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วงนี้ทั้ง Weekday และ Weekend ประมาณ 50-60% โดยช่วงวันหยุดยาวสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้มีการจองการเข้าพักล่วงหน้าเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 70-75% ในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในพื้นที่ชะอำ อาทิ หาดชะอำ วัดถ้ำแจง ฯลฯ ยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวตามปกติ

ทั้งนี้ ททท.จะร่วมกับหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพชรบุรี และกลุ่ม YEC จัดกิจกรรม Food Festival ระหว่างวันที่ 24-28 กรกฎาคม 2567 ณ บริเวณชายหาดชะอำ เพื่อนำเสนอ Soft Power โดยใช้อาหารถิ่นเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงต่อยอดสู่การเดินทางท่องเที่ยวมายังจังหวัดเพชรบุรีและกระตุ้นการใช้จ่ายภายในพื้นที่ให้มากขึ้น เกิดการกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการให้ทั่วถึงต่อไป

‘DIPROM’ ดัน ‘Soft Power’ ผ่านบทละครเชิงสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว มอบรางวัลนักเขียนบทไทย พร้อมผลักดัน-ต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

เมื่อวานนี้ (14 ก.ค.67) นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนทั่วโลกให้เข้ามาท่องเที่ยว ทำงาน และใช้ชีวิตในประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นปลายทางของคนทั่วโลก 

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยได้มอบหมายให้ ‘กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม’ หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในทุกด้านเพื่อเพิ่มพลังซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สำคัญ คือ ด้านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดซอฟต์พาวเวอร์ไทย และโปรโมตภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตาชาวโลก โดยจะเห็นได้จากการที่ภาพยนตร์และละครไทยหลายเรื่อง ได้รับการตอบรับที่ดี มีดาราและศิลปินไทยหลายคนสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ ส่งผลให้วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทยได้รับความสนใจในระดับสากล

นางดวงดาว กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับนโยบายดังกล่าว ผ่านนโยบาย ‘RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับ อนาคต’ ของ นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้กลยุทธ์ในด้านการปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยการมุ่งเน้นการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย (Creative Economy) ด้วยการจัดกิจกรรม ‘ส่งเสริม Soft Power ผ่านบทละครเชิงสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว’ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเขียนบทละครให้มีความรู้ มีศักยภาพในการเขียนบทละครเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไปสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก

สำหรับการจัดกิจกรรม ‘ส่งเสริม Soft Power ผ่านบทละครเชิงสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว’ เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมไปเมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ผ่านเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 23 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับโอกาสในการพัฒนาฝีมือเป็นนักเขียนบทละครรุ่นใหม่ โดยได้รับองค์ความรู้ด้านการเขียนบทแบบครบวงจร ทั้งในด้านการเขียนบทภาพยนตร์ ซิทคอม ละคร หรือ ซีรีส์ รวมไปถึงด้านการผลิตด้วยการปรับกระบวนการคิด ให้หยิบยกความเป็นไทยใส่ไปในบทละครได้อย่างกลมกลืนผ่านความคิดสร้างสรรค์ กลวิธีการสอดแทรกซอฟต์พาวเวอร์ไทยไว้ในบทละครได้อย่างเป็นธรรมชาติ

พร้อมให้ความรู้ในด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ผลงาน โดยได้รับคำปรึกษาแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเขียนบทละครชื่อดังอย่าง คุณอ่อน เอื้องอรุณ, คุณส้วม สุขพัฒน์, คุณบอลรูม วรลักษณ์ และผู้กำกับมากฝีมือ คุณนท พูนไชยศรี ที่จะเข้ามาช่วยฝึกฝนผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้อย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้บทละครที่แฝงด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการท่องเที่ยวได้มากกว่า 25 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่งผลงานการเขียนบทละครเข้าประกวด เพื่อคัดเลือกสุดยอดผลงาน โดยบทละครที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง รักเขา เรา และเหล่าวิญญาณ ซึ่งจะถูกนำมาถ่ายทอดเป็นละครสั้นให้ได้รับชมภายในงาน 

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลรองลงมา ได้แก่ บทละครเรื่อง รับซื้อของ (ไม่เคย) เก่า บทละครเรื่อง กุหลาบลั่นถัน และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ บทละครเรื่อง 1% นี้ฉันขอนะ และบทละครเรื่อง ค่าตัวตาย 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรม Pitching กับผู้จัดมากฝีมือ ทั้ง 4 ท่าน คือ คุณเอิน ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล จาก บริษัทมาสเตอร์วัน วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด, คุณวี วีรภาพ สุภาพไพบูลย์ จากบริษัท มากกว่าฝัน จำกัด, คุณเขตต์ ฐานทัพ และคุณทักษญา ธีญานาถธนันชา จากบริษัท กองทัพ โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ สร้างโอกาสและต่อยอดความสำเร็จให้กับนักเขียนบทละครที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนบทละครได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักเขียนบทมืออาชีพ และก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และซีรีส์ไทยต่อไปในอนาคต

‘นายกฯ’ เคาะ!! 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เปิดลงทะเบียน 1 ส.ค.นี้ ยัน!! กรอบเวลาโอนเงินให้ประชาชน 45 ล้านคน สิ้นปี 67

(15 ก.ค.67) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 4/2567 พร้อมด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์, นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

ภายหลังการประชุม นายเศรษฐา แถลงว่า “ผลการประชุมวันนี้ยาว มีเรื่องของรายละเอียดที่เรามาชี้แจงทำให้กระจ่างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเภทของสินค้าหรือหลายๆ อย่าง ซึ่งนายจุลพันธ์ จะเป็นผู้แถลง”

เมื่อถามว่าจากการประชุมวันเดียวกันนี้นายกฯ ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษหรือไม่? นายกฯ กล่าวว่า “ไม่มี เป็นการตอกย้ำเรื่องความชัดเจนและเรื่องการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งสื่อก็เห็นว่า พล.ต.ท. สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. มาด้วย”

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้เริ่มมีการออกมาแอบอ้างเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโดยอ้างว่าเป็นลิงก์ของรัฐบาล ตรงนี้ได้สั่งให้มีการดำเนินการอย่างไร? นายกฯ กล่าวว่า “เรื่องนี้ยังไม่มี เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริงใช่หรือไม่ ซึ่งทางภาครัฐคงต้องมีการแจ้งว่าเป็นเรื่องของการแอบอ้าง คอยฟังประกาศจากรัฐบาลอย่างเดียวดีกว่า” 

เมื่อถามว่าแหล่งเงินของดิจิทัลวอลเล็ตได้ซักกระทรวงการคลังหรือไม่ว่าทำไมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเกี่ยวกับแหล่งเงิน ทำไมถึงไม่เอาเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วกลับไปใช้งบฯปี 67-68? นายกฯ กล่าวว่า “เดี๋ยวจะมีการชี้แจง ซึ่งตนได้เรียนไปแล้ว”

เมื่อถามอีกว่าอยากให้นายกฯ พูดในฐานะที่เป็นผู้นำ? นายกฯ นิ่งสักครู่พร้อมหันหน้าไปอีกทาง ก่อนกล่าวว่า “เรียนไปแล้ว แจ้งไปเรียบร้อยแล้วครับ” 

เมื่อถามความคืบหน้าซุปเปอร์แอป เป็นอย่างไรบ้าง? นายกฯ กล่าวว่า “เดี๋ยว รมช.คลังจะเป็นคนชี้แจง 

เมื่อถามอีกว่าสามารถที่จะเปิดใช้ทันไตรมาส 4 หรือไม่? นายกฯ กล่าวว่า “ขอบคุณมากครับสวัสดีครับ” และทำท่าเดินออกจากวงให้สัมภาษณ์ 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า สรุปแล้วแหล่งที่มาของเงินได้ข้อสรุปเรียบร้อยใช่หรือไม่? นายกฯ ไม่ตอบ พร้อมกล่าวว่า “ขอบคุณครับ สวัสดีครับ”

ล่าสุดนายเศรษฐา ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “ดิจิทัลวอลเล็ตพร้อม เปิดลงทะเบียน 1 ส.ค. นี้ครับ การประชุมวันนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดลงทะเบียน และการดำเนินการในภาพรวมที่จะรองรับการใช้งานของประชาชนและร้านค้า โดยมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมไปถึงการลงรายละเอียดเงื่อนไขของการรับสิทธิ์ และมาตรการป้องกันการทุจริต การเรียกเงินคืนให้ชัดเจนขึ้นครับ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือ โครงการใหญ่ของภาครัฐที่จะเติมเงินกระเป๋าพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อความละเอียดรอบคอบทั้งทางกฎหมาย และทางเทคนิค โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ทำให้ใช้เวลาดำเนินการมากหน่อย แต่พี่น้องไม่ต้องคอยเก้อแน่นอนครับ” 

ขณะที่ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงรายละเอียดของผลการประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ครั้งใหม่ โดยจะตัดแหล่งเงินจากมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และใช้เงินจากงบประมาณปี 2567 และงบประมาณปี 2568 รวม 4.5 แสนล้านบาท เพื่อแจกให้กับ 45 ล้านคน

สำหรับสาเหตุของการปรับที่มาของแหล่งวงเงินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ครั้งนี้ นายจุลพันธ์ ยอมรับว่า รัฐบาลได้ดำเนินการตามข้อห่วงใยของหน่วยงานต่างๆ ที่ตรวจสอบแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งในอดีตการดำเนินโครงการของรัฐไม่มีโครงการใดที่มีคนลงทะเบียนร่วมโครงการเกิน 90% กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ จึงได้หารือร่วมกันและเห็นชอบกับการตั้งงบประมาณให้สอดคล้องกัน โดยปรับลดลงมาจากเดิม 5 แสนล้าน เหลือ 4.5 แสนล้าน

“โครงสร้างกรอบแหล่งเงินโครงการครั้งใหม่ จะไม่มีเงินจากมาตรา 28 แต่จะใช้งบประมาณปี 2567 และงบประมาณปี 2568 ซึ่งเพียงพอและสามารถดำเนินการได้ภายในกรอบของงบประมาณ และถ้าคนลงทะเบียนน้อยกว่าหรือมากกว่า รัฐบาลจะใช้กลไกในการบริหารงบประมาณ เพื่อให้มีเงินทุกบาททุกสตางค์เพียงพอกับการใช้ในโครงการนี้ และรายละเอียดทั้งหมดจะเสนอที่ประชุมครม.เห็นชอบในสัปดาห์หน้า” นายจุลพันธ์ ยืนยัน

ทั้งนี้ ในแหล่งเงินของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 รอบใหม่ วงเงิน 450,000 แสนล้านบาทนั้น มีที่มาจาก 2 แหล่ง คือ งบประมาณปี 2567 ทั้งการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 122,000 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 43,000 ล้านบาท โดยไม่ใช่แค่งบกลางอย่างเดียว ส่วนงบประมาณปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 132,300 ล้านบาท

ส่วนไทม์ไลน์โครงการนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับโครงการฯ ไปพิจารณากรอบรายละเอียดวันเวลาของการเริ่มต้นโครงการ และวันเปิดลงทะเบียน ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้แถลงในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นี้ อีกครั้ง เบื้องต้นกรอบของโครงการยังไม่เปลี่ยน คือ ลงทะเบียนในไตรมาสที่ 3 และ โอนเงินให้ประชาชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2567

'บีโอไอ' เผยผลสำเร็จไทยเยือนซาอุฯ ยอดเจรจาธุรกิจ 100 คู่ จ่อลงทุนไทย ขนเงินลุย 'แลนด์บริดจ์-เกษตร-อาหารแปรรูป-การแพทย์-พลังงานสะอาด'

(15 ก.ค.67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการจัดคณะหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย นำโดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2567 พร้อมเป็นประธานเปิดสำนักงานบีโอไอ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ว่า...

การจัดงานประชุมภาคธุรกิจ 'Thai – Saudi Investment Forumอ และการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมถึงนักธุรกิจจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เข้าร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 300 คน จากกว่า 200 บริษัท/หน่วยงาน และเกิดการเจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือทางธุรกิจรวม 11 ฉบับ ในหลากหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร, อาหาร, ชิ้นส่วนยานยนต์, วัสดุก่อสร้าง, การจัดอีเวนต์และเทศกาล, เกมและอีสปอร์ต, การผลิตน้ำหอม และธุรกิจที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับบริษัทเอกชนของไทยที่เข้าร่วมกิจกรรม Investment Forum และการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ ถือเป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ (โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล้วยน้ำไท สมิติเวช และพระราม 9) อุตสาหกรรมพลังงาน (บริษัท ปตท. บ้านปู และกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (กลุ่มซีพี บริษัท เบทาโกร และสหฟาร์ม) อุตสาหกรรมบริการสนับสนุนการท่องเที่ยว (ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล) สถาบันการเงิน (ธนาคาร EXIM และธนาคารอิสลาม) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารจากหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมคณะด้วย 

โดยจากการเจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ พบว่า นักลงทุนซาอุดีฯ หลายรายให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป สุขภาพและการแพทย์ พลังงานสะอาด ชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจบริการ 

คณะฯ ยังได้เข้าพบกับบริษัทชั้นนำของซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือแผนการลงทุนในประเทศไทยและการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น บริษัท Saudi Agricultural and Livestock Investment Company (SALIC) ผู้นำด้านการเกษตรและปศุสัตว์ ได้หารือแผนการลงทุนในไทยในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การเกษตร ปศุสัตว์ การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท CEER Motors ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุน Public Investment Fund (PIF) ของซาอุดีฯ Foxconn จากไต้หวัน และ BMW จากเยอรมนี โดยฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้บริษัทพิจารณาการลงทุนในประเทศไทยและร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ รวมทั้งหารือถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยจะไปลงทุนที่ซาอุดีอาระเบียเพื่อป้อนชิ้นส่วนยานยนต์ให้ตลาดตะวันออกกลางในอนาคต

นอกจากนี้ ในการประชุมทวิภาคีระหว่าง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ H.E. Mr. Khalid Abdulaziz Al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนแห่งซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะผลักดันความร่วมมือไทย - ซาอุดีอาระเบียใน 4 ด้าน ได้แก่...

1) ความมั่นคงทางอาหารและเกษตร 2) ความมั่นคงทางพลังงาน รวมถึงพลังงานสะอาด 3) ความมั่นคงทางมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และ 4) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตของโลก (Global Supply Chain) 

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียต่างเห็นพ้องที่จะช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อให้ภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านธุรกิจและการลงทุน โดยซาอุดีอาระเบียนับเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในขณะที่ไทยเป็นประตูสู่ทวีปเอเชีย มีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์สามารถเชื่อมโยงตะวันออกกลางให้เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ในอาเซียน เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกที่มีประชากรรวมกว่า 4,000 ล้านคน โดยอาศัยจุดแข็งของทั้งสองประเทศ 

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaty: BIT) เพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์ด้านการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ไทยและซาอุดีอาระเบียยังมีกำหนดจัดการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีหารือในประเด็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างกันในทุกมิติต่อไป

ความสำเร็จในการเยือนซาอุดีฯ ครั้งนี้ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสองประเทศ รวมถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจในการเร่งผลักดันความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และถือเป็นโอกาสของไทยในการเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนส่งเสริมการลงทุนครั้งสำคัญของซาอุดีฯ เพื่อสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน รวมถึงการพัฒนาสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ของรัฐบาลไทย

การเปิดสำนักงานบีโอไอ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสำนักงานในต่างประเทศแห่งที่ 17 ของ  บีโอไอ และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง จะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น คูเวต กาตาร์ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี ซึ่งซาอุดีฯ ให้ความสนใจในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนและเป็นฮับแห่งใหม่ของซาอุดีฯ ในภูมิภาคนี้ โดยบีโอไอพร้อมใช้เครื่องมือสิทธิประโยชน์และบริการด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาตั้งฐานการผลิต การจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค หรือการร่วมกับธุรกิจไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top