Wednesday, 7 May 2025
GoodsVoice

‘ก.พลังงาน’ มอบ ‘กกพ.’ คุย ‘กฟผ.-ปตท.’ ลดค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค.67 ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชน ท่ามกลางราคาพลังงานทั่วโลกผันผวน

(17 ก.ค. 67) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงข้อกังวลของประชาชนและภาคเอกชนเกี่ยวกับ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ว่า กระทรวงพลังงานกำลังเร่งหาแนวทางเพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก 

โดยกระทรวงพลังงานจะดำเนินการบริหารจัดการและประสานทุกภาคส่วน จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เจรจา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อหาแนวทางพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ‘ค่าเอฟที’ ซึ่ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็ได้ให้ความสำคัญและได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันในการบริหารต้นทุนค่าไฟ เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าค่าไฟของไทยแพงที่สุดในอาเซียนนั้น ไม่เป็นความจริง ค่าไฟของไทยอยู่ในระดับปานกลาง ที่มีข่าวว่าเวียดนามค่าไฟถูกกว่าไทยมากนั้น เนื่องจากเวียดนามใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำค่อนข้างมาก จึงทำให้ต้นทุนถูกกว่า แต่เวียดนามก็ไม่มีความเสถียรด้านไฟฟ้า เกิดไฟฟ้าดับบ่อย อินโดนีเซียก็ใช้ถ่านหินก็ทำให้ต้นทุนถูกกว่า

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานต้องพิจารณาสร้างความสมดุลทั้งด้านความมั่นคงไปพร้อมกับราคาที่เหมาะสม เพราะนอกจากไฟฟ้าจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนแล้ว ไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนของประเทศ ซึ่งในกระบวนการบริหารจัดการ จึงมีเป้าหมายในการรักษาสมดุลทั้งการดูแลค่าครองชีพ การดูแลคุณภาพ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในช่วงที่ราคาพลังงานทั่วโลกผันผวนในระดับสูง

“กระทรวงพลังงาน เข้าใจความรู้สึกของประชาชนและภาคเอกชนที่กังวลถึงค่าไฟฟ้าในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ที่ทาง กกพ. ได้ประกาศออกไป แต่เนื่องจากราคาพลังงานทั่วโลกผันผวนในระดับสูง อีกทั้งกระทรวงพลังงานจะต้องรักษาสมดุลทั้งด้านเสถียรภาพด้านพลังงาน ความน่าเชื่อถือทางการเงินของ กฟผ. รวมทั้งก็คำนึงถึงภาระค่าครองชีพของประชาชน ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาสมดุล โดยหาแนวทางพิจารณาค่าไฟฟ้าที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด ส่วนในอนาคตก็จะพิจารณาปรับแผน PDP ให้มีความเหมาะสม รับฟังความคิดเห็นรอบด้านเพื่อให้ราคาพลังงานมีความเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กกพ. ประกาศแนวโน้มค่าไฟงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ระดับ 4.65-6.01บ./หน่วย โดยแบ่ง 3 ทางเลือก ปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น สิ้นสุด 26 กรกฎาคม 2567 

‘SCB EIC’ ชี้!! ‘แก่ก่อนรวย’ ในสังคมไทยยังน่าห่วง คนใกล้เกษียณมีสินทรัพย์น้อย-วัยทำงานหนี้สินรุมเร้า

(17 ก.ค. 67) SCB EIC เผยผลสำรวจ ‘SCB EIC Consumer survey 2023’ ว่า ในระยะสั้นปัญหาแก่ก่อนรวยของสังคมไทยยังน่าห่วง โดยพบว่า กลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณ (51-60 ปี) ส่วนใหญ่ยังมีสินทรัพย์น้อย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายหลังเกษียณ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสะสมสินทรัพย์ของกลุ่มนี้ คือ ปัญหาภาระหนี้ โดย 56% ของครัวเรือนที่มีหนี้พบว่ามีสินทรัพย์รวมไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนสูง

ในระยะยาว SCB EIC มองว่าปัญหาการออมนับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อความพร้อมหลังเกษียณ ผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 พบว่า ในภาพรวมคนวัยทำงานที่สามารถออมเงินได้ทุกเดือนยังมีไม่ถึงครึ่ง และอีกราว 1 ใน 4 ที่ไม่สามารถออมได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเหลือเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถออมได้สม่ำเสมอ สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภาระรายจ่ายสูงแต่รายได้ต่ำ โดยเฉพาะวัยทำงานอายุ 31 - 50 ปี ที่มีปัญหาภาระหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น เพราะได้เริ่มก่อหนี้ก้อนใหญ่เอาไว้

SCB EIC ประเมินว่า พฤติกรรมการออมจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาแก่ก่อนรวยของคนไทย โดยเฉพาะคนอายุมากและรายได้ต่ำ ซึ่งผลสำรวจพบว่ามีวินัยการออมน้อยที่สุด ขณะที่คนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี พบว่าสามารถเริ่มออมสม่ำเสมอได้ตั้งแต่ช่วงรายได้ต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ได้ตั้งแต่รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน กลับพบว่ายังขาดวินัยการออม ส่วนหนึ่งเพราะใช้จ่ายตามกระแสสังคมมาก ซึ่งจะต่างจากคนอายุมากกว่าที่ส่วนใหญ่เริ่มมีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ตั้งแต่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

สำหรับผลสำรวจด้านการลงทุน พบว่าคนอายุน้อยที่มีเงินลงทุนมีสัดส่วนต่ำกว่าคนอายุมากกว่า และยังไม่ค่อยมีสินทรัพย์อื่นนอกจากเงินสดหรือเงินฝาก แม้ว่าคนรุ่นใหม่ดูจะสนใจและต้องการลงทุนมากกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า แต่ปัญหาขาดแคลนเงินลงทุนและความรู้ความเข้าใจในการลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินยังเป็นอุปสรรคสำคัญของคนรุ่นใหม่

นโยบายช่วยเหลือและกระตุ้นการออมจึงต้องออกแบบให้เหมาะสมกับคนทำงานต่างวัยในแต่ละกลุ่มรายได้ เพื่อให้ปรับการออม พร้อมนับถอยหลังใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ดีขึ้น

>>กลุ่มที่ต้องดูแลเร่งด่วน 

1.1. กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เริ่มออมเร็วที่สุด ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการออมตามระดับรายได้ในการออมภาคบังคับ พร้อมส่งเสริมความรู้ทางการเงินการลงทุนด้วยการสอดแทรกเข้าไปในช่องทาง Social media ต่าง ๆ

1.2.กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรช่วยออมและลดภาระผ่านช่องทางภาษีที่จูงใจ เช่น สิทธิลดหย่อนภาษี รวมถึงการต่ออายุเกษียณจาก 60 ปี เพื่อให้มีระยะเวลาหารายได้นานขึ้น

>>กลุ่มที่ต้องเพิ่มแรงจูงใจในการออม

2.1. กลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐและภาคการเงินควรเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพราะมีความเข้าใจการลงทุนสูงกว่าและรับความเสี่ยงได้มากกว่า

2.2.กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้สูงกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรส่งเสริมพฤติกรรมออมต่อเนื่องได้ถึงเป้าหมาย และเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอกับรายจ่ายที่สูงขึ้น สำหรับวัยใกล้เกษียณ ภาครัฐควรช่วยลดความเสี่ยงฉุกเฉินให้เพิ่มเติม โดยช่วยจ่ายเบี้ยประกันความเสี่ยงที่จำเป็น

'รมว.ปุ้ย' จ่อขยายโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ชาวไร่อ้อยจ่าย 2% เท่าเดิม พร้อมหนุน 'ซื้อเครื่องจักร-จัดการแหล่งน้ำ-แก้ PM 2.5' เพิ่มคุณค่าอุตฯ อ้อย

(18 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ช่วยเหลือ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพเกษตรชาวไร่อ้อยให้มีผลผลิตอ้อยที่ดี ได้น้ำตาลทรายที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศมีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยล่าสุดได้รับรายงานจาก นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565 - 2567 และเตรียมขยายโครงการอีกเป็นปี 2568 - 2570 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวม 6,000 ล้านบาท

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565 - 2567 ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ได้มีการหารือถึงการขยายอายุโครงการฯ เนื่องจากกำลังจะหมดอายุในเดือนกันยายน 2567 นี้ และที่สำคัญเป็นโครงการที่ช่วยชาวไร่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย เพิ่มสภาพคล่องทางด้านการเงิน ทั้งด้านการผลิตอ้อย ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และ PM 2.5 การมีแหล่งน้ำสำรองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดภัยแล้ง ส่งเสริมการนำเครื่องจักรกลมาใช้ในไร่อ้อยแบบครบวงจร ทดแทนการขาดแคลนแรงงานคน รวมไปถึงการรองรับนโยบาย BCG Economy

นายวิฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมจึงได้มีการเสนอขอขยายโครงการอีกเป็นปี 2568 - 2570 มีกรอบวงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 6,000 ล้านบาท กรณีที่ใช้วงเงินในแต่ละปีไม่หมด สามารถนำไปทบใช้ในปีถัดไปได้ อัตราดอกเบี้ย MRR 6.975% ส่วนที่รัฐชดเชยดอกเบี้ย 3% ยังต้องหารือในที่ประชุมต่อไป อย่างไรก็ตามจะพยายามให้ชาวไร่รับภาระ 2% เท่าเดิม สำหรับโครงการฯ ปี 2565 - 2567 มีวงเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปีละ 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR 6.975% ชาวไร่จ่ายดอกเบี้ย 2% รัฐบาลชดเชย 3% และ ธ.ก.ส. รับภาระส่วนที่เหลือ 1.975% ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 706 ราย วงเงิน 2,335.53 ล้านบาท

“ประชุมในครั้งนี้เป็นการพิจารณาสืบเนื่องจากประชุมครั้งก่อนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 คือ การอนุมัติสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่จะนำไปซื้อรถตัดอ้อย หรือรถบรรทุก หรือเอาไปใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำและปรับสภาพแปลงปลูกอ้อย ซึ่งคณะทำงานฯ จะพิจารณาโครงการนี้อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2567 หากโครงการได้รับการอนุมัติแล้ว สอน. จะชงเรื่องเข้า ครม. ต่อไป เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องจากที่จะหมดในเดือนกันยายน 2567 นี้” นายวิฤทธิ์กล่าวปิดท้าย

‘สส.รัฐบาล 2 พรรค’ ร่วมค้าน ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ ลั่น!! ชาวนาขอคง ‘ไร่ละพัน’ ตอบโจทย์กว่า

(18 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ได้เปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ โดยนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย หารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ว่า… 

“เรื่องแมลงหวี่ขาว ซึ่งตอนนี้ระบาดหนักใน 7 อำเภอ ของ จ.อ่างทอง มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายนับหมื่นไร่ ปกติชาวนาจะเจอเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลหนักอยู่แล้ว ตอนนี้มาเจอแมลงหวี่ขาวอีก แม้จะฉีดยาฆ่าแมลง 2-3 รอบแล้วก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ บวกกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าปุ๋ย ค่ายา และความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิต จึงขอฝากไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาว ในการให้ความรู้กับเกษตรกร”

นายกรวีร์ กล่าวต่อว่า เรื่องโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งเป็นโครงการหลักของรัฐบาลที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวนาที่จะช่วยเหลือค่าปุ๋ย ไร่ละไม่เกิน 500 บาท สูงสุด 20 ไร่ เป็นเงิน 1 หมื่นบาท ซึ่งมีปัญหามากมาย ทั้งการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน สูตรปุ๋ยที่อาจจะไม่ตรงใจกับชาวนา ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ที่สำคัญคือ เงินที่พี่น้องเกษตรกรจะต้องนำไปซื้อปุ๋ยและต้องสำรองจ่ายก่อนครึ่งหนึ่ง

“พี่น้องชาวนาฝากให้ผมมาพูดว่าอยากให้รัฐบาลได้ทบทวน และถ้าเป็นไปได้พี่น้องเกษตรกรอยากได้การช่วยเหลือแบบไร่ละพันเหมือนเดิมที่ผ่านมา เอาปุ๋ยคนละครึ่งคืนไป เอาไร่ละพันกลับมา” นายกรวีร์ กล่าว

นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย หารือว่า ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจต่อเกษตรกร ขอให้ยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แต่โครงการเยียวยาชาวนาไร่ละ 1 พันบาทขอให้คงไว้ตามเดิม

ด้าน นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย หารือว่า ขอยืนยันว่าชาวนาในจังหวัดของตน ก็เป็นกังวลกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่งของรัฐบาลว่าจะตอบโจทย์ช่วยเหลือชาวนาจริงหรือไม่ ถ้าชาวนาไม่มีเงินสมทบเติมเพื่อซื้อปุ๋ยจะทำอย่างไร ตามปกติถ้าชาวนาไม่มีเงินก็จะเชื่อปุ๋ยมาก่อน หรือไม่ก็นำปุ๋ยจากกองทุนหมู่บ้านมาใช้ เมื่อขายผลผลิตได้แล้วจึงนำเงินไปใช้หนี้ แต่สำหรับโครงการนี้กลับต้องนำเงินไปใส่สมทบไว้เสียก่อน นี่คือข้อกังวลของชาวนา

“ซ้ำร้ายกว่านั้นได้ยินมาว่าหากมีโครงการปุ๋ยคนละครึ่งแล้ว จะไม่มีโครงการไร่ละพัน ยิ่งทำให้ชาวนาทุกข์ใจเพิ่มมากขึ้น หากรัฐบาลยังยืนยันจะทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่งอยู่ ชาวบ้านขอเรียกร้องอยากให้โครงการไร่ละพันอยู่เหมือนเดิม เพราะตอบโจทย์ชาวนามากกว่า จึงฝากไปยังรัฐบาลและรมว.เกษตรและสหกรณ์ทบทวนพร้อมชี้แจงให้ประชาชนทราบด้วย” นายทินพล กล่าว

ด้านนายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย หารือว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวนาเกี่ยวกับปุ๋ยคนละครึ่ง ที่รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการ เนื่องจากโครงการนี้แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือกลับเป็นการซ้ำเติม เพราะประชาชนจะต้องไปกู้เงินมาล่วงหน้าเพื่อมาสมทบก่อน และปุ๋ยที่ได้ไม่แน่ใจว่าจะมีคุณภาพ ถูกต้องตรงตามที่ต้องการหรือไม่ และไม่สามารถที่จะนำเงินเหล่านี้ไปใช้ช่วยลดปัจจัยการผลิตด้านอื่น ๆ ได้

และยังกล่าวต่อว่า ไม่เหมือนโครงการไร่ละ1 พันบาท ซึ่งเกษตรกรได้รับเงินโดยตรงไม่ต้องมีหนี้สิน สามารถนำเงินเหล่านั้นไปใช้ลดต้นทุนการผลิต ทั้งค่าเก็บเกี่ยว ค่าไถ ค่าหว่าน ค่าปุ๋ย ได้ทุกอย่างครบวงจร จึงขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและชาวนาได้รับประโยชน์สูงสุดตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วนนายวินัย ภัทรประสิทธิ์ สส.พิจิตร พรรคภูมิใจไทย หารือว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา พี่น้องเกษตรกร อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร ได้ทำหนังสือถึงตนไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แต่อยากได้โครงการเดิมที่รัฐบาลเคยช่วยเหลือพี่น้องชาวไร่ชาวนา ในการเพิ่มผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1 พันบาท จึงอยากฝากหนังสือดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรี ให้รับทราบด้วย

‘แกร็บ’ ชวนคนไทยเชียร์ ‘นักกีฬาไทย’ สู้ศึกโอลิมปิก-พาราลิมปิกเกมส์ 2024 พร้อมเตรียมรางวัลอัดฉีดผู้คว้าเหรียญทอง สามารถใช้บริการฟรีตลอดทั้งปี

(18 ก.ค.67) แกร็บ ประเทศไทย ประกาศสนับสนุน การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ผุดแคมเปญใหญ่ ‘Grab Your Goal มากกว่าเส้นชัย คือกำลังใจจากคุณ’ เพื่อส่งแรงใจเชียร์ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยสู้ศึกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 โดยเตรียมจัดขบวนพาเหรด พร้อมด้วยอาหารร้านดังจาก #GrabThumbsUp บน GrabFood และบัตรกำนัล GrabGift เพื่อต้อนรับและแสดงความยินดีกับนักกีฬาทีมชาติไทยหลังเดินทางกลับจากการแข่งขัน เสริมทัพด้วยรางวัลอัดฉีดให้กับนักกีฬาไทยที่คว้าเหรียญทอง ด้วยการมอบบัตรกำนัลมูลค่ากว่า 180,000 บาท เพื่อใช้บริการแกร็บฟรีตลอดปี

นอกจากนี้ ยังชวนคนไทยร่วมส่งแรงเชียร์นักกีฬาทีมชาติด้วยการมอบโค้ดส่วนลดพิเศษสำหรับการสั่งอาหาร ซื้อสินค้า และการเดินทางผ่านแอปพลิเคชัน Grab ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม 2567 

ด้าน นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “แกร็บ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนการกีฬาแห่งประเทศไทย ในการจัดเตรียมการเฉลิมฉลองต้อนรับนักกีฬาทีมชาติไทยหลังจบเกมส์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 นักกีฬาทีมชาติไทยทุกคนถือเป็นตัวแทนประเทศและเป็นไอดอลคนสำคัญที่ได้สร้างความหวังและแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย ทั้งยังมีส่วนในการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก ในฐานะแพลตฟอร์มที่มุ่งมั่น ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน แกร็บขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกย่องและสนับสนุนบุคคลตัวอย่างเหล่านี้ โดยเราเตรียมจัดขบวนรถต้อนรับทัพนักกีฬาไทยอย่างยิ่งใหญ่ ที่มาพร้อมเซตอาหารไทยจากสุดยอดร้านอาหารจาก #GrabThumbsUp บน GrabFood ไม่ว่าจะเป็น Emily’s เส้นหมี่ไก่ฉีกที่เป็นกระแสไวรัล เจ๊แดง ส้มตำไก่ย่างร้านเด็ด Easy Buddy ข้าวกะเพราวัตถุดิบคุณภาพ ร้านโคตรยำ ยำสุดแซ่บ และ HAAB ขนมไข่เตาถ่านเจ้าดังสูตรต้นตำรับจากสงขลา พร้อมด้วยบัตรกำนัล GrabGift เพื่อให้นักกีฬาสามารถนำไปใช้บริการต่างๆ ของแกร็บได้ นอกจากนี้ เรายังได้เตรียมรางวัลพิเศษให้กับนักกีฬาที่คว้าเหรียญทองกลับมา ด้วยการมอบบัตรกำนัลมูลค่ากว่า 180,000 บาท เพื่อนำไปใช้เรียกรถและสั่งอาหารผ่านแกร็บได้ฟรีตลอดทั้งปี”

ด้าน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวเสริมว่า “การกีฬาแห่งประเทศไทย มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนานักกีฬาไทยเพื่อยกระดับขึ้นไปเทียบเท่าระดับสากล โดยในปีนี้ ประเทศไทยส่งตัวแทนนักกีฬาทีมชาติ เพื่อเข้าร่วมการแข่งโอลิมปิกเกมส์ จำนวน 17 ชนิดกีฬา อาทิ เทควันโด มวยสากล และยกน้ำหนัก ในส่วนของพาราลิมปิกเกมส์ จำนวน 13 ชนิดกีฬา อาทิ ยิงธนู แบดมินตัน และจักรยาน นอกจากเสียงเชียร์จากคนไทยนับล้านที่คอยให้กำลังใจนักกีฬาทุกคนระหว่างการแข่งขันแล้ว การสนับสนุนจากทุกภาคส่วนก็ถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมวงการกีฬาไทย กกท. ขอขอบคุณหน่วยงานภาคเอกชนอย่าง แกร็บ ประเทศไทย ที่ได้ให้การสนับสนุนนักกีฬาในครั้งนี้ ทั้งอาหารที่ช่วยให้นักกีฬาได้ฟื้นฟูกำลังอย่างเต็มที่ และขบวนพาเหรดที่จะต้อนรับนักกีฬาอย่างอบอุ่น  ซึ่งถือเป็นการสร้างกำลังใจและความภาคภูมิใจให้กับกองทัพนักกีฬาไทยได้เป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ เพื่อต้อนรับกระแสเชียร์กีฬาระดับโลก แกร็บชวนคนไทยร่วมส่งแรงใจเชียร์ทัพนักกีฬาไทยในศึกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ด้วยการมอบส่วนลดสุดพิเศษสำหรับผู้ใช้บริการ เพียงใส่โค้ด ‘CHEERTHAI’ เมื่อใช้บริการ GrabFood รับส่วนลดสูงสุด 100 บาท บริการ GrabMart รับส่วนลดทันที 30 บาท และบริการการเดินทาง อาทิ JustGrab และ GrabCar รับส่วนลดสูงสุด 50 บาท ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม - 11 สิงหาคม 2567 นี้ 

อย่างไรก็ตาม แกร็บ (Grab) คือ ผู้นำซูเปอร์แอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งให้บริการทั้งด้านเดลิเวอรี บริการการเดินทางและบริการทางการเงินดิจิทัล ครอบคลุมกว่า 700 เมืองใน 8 ประเทศ อันได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ในทุก ๆ วันแกร็บได้ช่วยอำนวยความสะดวกผู้คนนับล้านให้สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ภายในแอปพลิเคชันเดียว ไม่ว่าจะเป็น การสั่งอาหาร การสั่งซื้อสินค้าและของชำ การจัดส่งพัสดุเอกสาร การเรียกรถรับ-ส่งหรือแท็กซี่ ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ทั้งการขอสินเชื่อและการทำประกัน ทั้งนี้ แกร็บก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปข้างหน้า ผ่านการสร้างโอกาสและส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับทุกคน และยึดมั่นเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่งให้กับผู้ถือหุ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งภูมิภาค

‘แรงงาน’ งัดแผนอุ้ม ‘แรงงาน-ผู้ประกอบการ’ อ่วมพิษเศรษฐกิจ-ปิดโรงงาน ดัน 'Expo รับตำแหน่งงานหลักแสน-ลดดอกเบี้ยเงินกู้-ภาษี' แบบเร่งด่วน

(18 ก.ค. 67) นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำลังเร่งผลักดัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ มาตรการเยียวยาแรงงาน รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การย้ายฐานการผลิต และการนำเข้าสินค้าจากจีน

สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงาน มีทั้งการสนับสนุนทางการเงินและสวัสดิการ เช่น จ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ครั้งละไม่เกิน 180 วันต่อปีปฏิทิน จ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าชดเชย

รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตนที่ผ่อนชำระค่าที่อยู่อาศัยกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้สามารถใช้สิทธิลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินอื่น รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินแก่ผู้ประกันตนตามโครงการ Micro Finance ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน และนำไปลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ 

อีกทั้งยังได้จัดตั้งสถาบันเฉพาะทางด้านเทคนิคอัจฉริยะ เช่น การผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เทคโนโลยีอัตโนมัติและเทคคาทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งลดหย่อนภาษีให้กับสถานประกอบการที่ดำเนินการพัฒนาทักษะลูกจ้างในองค์กรด้วย

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทรวงแรงงาน ได้เร่งสร้างงานในประเทศ จัดมหกรรม Job Expo Thailand 2024 มียอดสมัครงานกว่า 110,000 คน จับคู่การจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม ‘คนทำงาน’ เพื่อรองรับผู้ถูกเลิกจ้างที่ต้องการทำงานแบบฟรีแลนซ์ จับคู่การจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม ‘ไทยมีงานทำ’ มีตำแหน่งงานรองรับทั่วประเทศกว่า 177,000 อัตรา และจัดตลาดนัดแรงงานทุกจังหวัด 

รวมทั้งขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ จอร์แดน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และเปิดตลาดใหม่ในอิตาลี เพื่อส่งแรงงานไปทำงานภาคเกษตร โดยในปีนี้มีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไปต่างประเทศ 100,000 คน คาดว่าจะนำรายได้กลับสู่ประเทศ 385,617 ล้านบาท 

นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า รมว.แรงงาน ต้องการให้กระทรวงแรงงานมีบทบาทสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเราดูแลแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบมากกว่า 10 ล้านคน โดยจะทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันมาตรการเหล่านี้ให้สำเร็จ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการก้าวข้ามผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ด้วยดีและสนองนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

‘ไทย-มาเลเซีย’ เตรียมกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้า-การลงทุน มุ่งการเติบโตระดับภูมิภาค ผ่านการประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน 67

(18 ก.ค. 67) การประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567 (Malaysia-China Summit (MCS) 2024) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ จะเป็นเวทีที่นำเสนอโอกาสครั้งสำคัญให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยได้ส่งเสริมการค้าและการลงทุน ไม่ใช่แค่เพียงกับมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีนด้วย

ดาโต๊ะ ดร. ตัน ยู ชอง (Dato’ Dr. Tan Yew Chong) กรรมาธิการจัดงาน MCS 2024 กล่าวว่า อุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยจะได้รับประโยชน์จากการพบปะพูดคุยกับผู้จัดแสดงสินค้ามากกว่า 500 ราย และผู้แทนการค้า 10,000 รายจากมาเลเซีย จีน และอาเซียน ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้

“ทุกท่านไม่ควรพลาดโอกาสในการเข้าร่วมการจับคู่ทางธุรกิจ การประชุมอุตสาหกรรม การเสวนา การพบปะพูดคุยและสานสัมพันธ์ รวมถึงการแบ่งปันความรู้ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานร่วมกันในภูมิภาค” เขากล่าวในงาน MCS 2024: Networking Engagement Series ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ (17 ก.ค.)

สำหรับการประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567 จะจัดขึ้นในหัวข้อ ‘Prosperity Beyond 50’ ภายในงานประกอบด้วยมหกรรมการค้าและการลงทุนนานาชาติระยะเวลา 3 วัน และการประชุมผู้นำระยะเวลา 2 วัน ซึ่งให้ความสำคัญกับ 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีแห่งอนาคต (Future Tech), ความรู้และประสบการณ์แห่งอนาคต (Future Knowledge and Experience), การเดินทางและการเชื่อมต่อแห่งอนาคต (Future Mobility & Connectivity), การเติบโตในอนาคต (Future Growth) และโอกาสในอนาคต (Future Opportunity) โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนหลักมากกว่า 20 ภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

อุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ บริการระดับโลก การท่องเที่ยว การศึกษา โครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อระดับภูมิภาค อิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ การผลิตขั้นสูง อาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฮาลาล แฟรนไชส์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จะได้รับโอกาสมากมายในการสร้างความร่วมมือและการเติบโตในการประชุมสุดยอดครั้งนี้

การประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน ปี 2567 จัดขึ้นโดยบริษัท คิวบ์ อินทิเกรตเต็ด มาเลเซีย (Qube Integrated Malaysia) ร่วมกับบรรษัทพัฒนาการค้าต่างประเทศมาเลเซีย (MATRADE) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างมาเลเซียกับจีน ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและแสดงจุดแข็งร่วมกันของอาเซียน เนื่องในโอกาสที่มาเลเซียจะได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2568 

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซีย (MITEC) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

นายโมฮาเหม็ด ฮาฟิซ มูฮัมหมัด ชาริฟฟ์ (Mr. Mohamed Hafiz Md Shariff) กรรมาธิการการค้าประจำกรุงเทพฯ ของ MATRADE กล่าวว่า “MCS 2024 มอบโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ในการมีส่วนร่วม การทำงานร่วมกัน และการสำรวจเส้นทางการเติบโตใหม่ ๆ ร่วมกับคู่ค้าจากมาเลเซีย จีน และอาเซียน”

“เนื่องจากมีผู้จัดแสดงสินค้าและผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากจากหลากหลายภาคส่วน ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยสามารถขยายขอบเขตการเข้าถึงตลาด สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนรับทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มและเทคโนโลยีใหม่ ๆ” เขากล่าว

พร้อมกันนี้ เขาได้ชี้ให้เห็นว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้มุ่งมั่นสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 2 พันล้านริงกิต ตลอดจนมอบโอกาสมากมายให้แก่อุตสาหกรรมไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจ รวมทั้งคว้าประโยชน์จากการประสานความร่วมมือระหว่างตลาดมาเลเซียกับตลาดจีน

ในการกล่าวสุนทรพจน์หลัก ดาตุ๊ก โจจี แซมูเอล (Datuk Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำราชอาณาจักรไทย ได้เชิญชวนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยมาร่วมกันเสริมสร้างการค้าทวิภาคีกับมาเลเซีย เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันของทั้งสองประเทศ นั่นคือ การสร้างการค้ามูลค่ารวม 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2570

ทั้งสองประเทศต่างให้คำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งตอกย้ำถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยต้องเข้าร่วมงาน MCS 2024 “เป้าหมายอันยิ่งใหญ่นี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของเราในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสำรวจโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ระหว่างทั้งสองประเทศ” เอกอัครราชทูตมาเลเซียกล่าว

นอกจากนี้ เขาได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีที่แน่นแฟ้นระหว่างมาเลเซียกับไทย โดยกล่าวว่าไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของมาเลเซียในระดับโลก และเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียน ขณะที่มาเลเซียเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในอาเซียน

การพึ่งพาซึ่งกันและกันเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญ ตลอดจนโอกาสในการสร้างความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

“ในช่วงปี 2560-2566 มาเลเซียและไทยยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีที่แข็งแกร่ง ด้วยมูลค่าการค้าเฉลี่ย 2.473 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยในปี 2566 อันเนื่องมาจากการค้าโลกชะลอตัว แต่มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในอาเซียน” เขากล่าวเสริม

“สำหรับในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 การค้าระหว่างมาเลเซียกับไทยมีมูลค่ารวม 9.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.616 หมื่นล้านริงกิต) โดยมีมูลค่าการส่งออก 5.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.374 หมื่นล้านริงกิต) และมูลค่าการนำเข้า 4.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.242 หมื่นล้านริงกิต)” เอกอัครราชทูตมาเลเซียกล่าว

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตมาเลเซียยังเน้นย้ำถึงจุดแข็งของมาเลเซียในการส่งออกสินค้าจำเป็นให้กับประเทศไทย เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า สินค้าเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ฮาลาล เพื่อรองรับชาวมุสลิมจำนวนมากในไทย

“การประชุมสุดยอดครั้งนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราที่อยากเห็นภูมิภาคอาเซียนที่เจริญรุ่งเรืองและเชื่อมโยงกันด้วยการค้าและการลงทุนที่แข็งแกร่ง โดยงานนี้จะเป็นเวทีอันทรงพลังที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาค” เขาเน้นย้ำ

นอกจากนี้ เขายังตอกย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของประเทศไทยในการผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ “ในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน มาเลเซียและไทยได้ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบูรณาการ และเสถียรภาพของภูมิภาค เมื่อร่วมมือกัน เราสามารถต่อยอดความสำเร็จของอาเซียน ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขัน และภูมิภาคที่มีความเป็นเอกภาพ”

สำหรับกิจกรรม MCS 2024: Networking Engagement Series ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนรวม 200 คน โดยมีนายเย็บ ซู ชวน (Mr. Yeap Swee Chuan) ประธานกิตติมศักดิ์ของสภาหอการค้ามาเลเซีย-ไทย และแอร์เอเชีย (AirAsia) มาร่วมเป็นวิทยากรภายในงาน

ทั้งนี้ แอร์เอเชียเป็นพันธมิตรสายการบินอย่างเป็นทางการของงาน MCS 2024 ส่วนพันธมิตรเชิงกลยุทธ์รายอื่น ๆ ได้แก่ การท่องเที่ยวมาเลเซีย, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการมาเลเซีย, สภาธุรกิจมาเลเซีย-จีน, สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติมาเลเซีย, สภาหอการค้ามาเลเซีย-จีน, สภาหอการค้าวิสาหกิจจีนในมาเลเซีย, MAYCHAM China, สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอาเซียน และ Persatuan Muafakat One Belt One Road ในขณะที่พันธมิตรสื่อประกอบด้วย เบอร์นามา (Bernama), เดอะสตาร์ (The Star) และ ซินจิวเดลี (Sin Chew Daily)

‘รมว.ปุ้ย’ กำชับ ‘กรมโรงงานฯ’ ติดตามสถานที่เก็บไซยาไนด์ต่อเนื่อง ย้ำ!! เข้มงวดการขึ้นทะเบียน-ใช้ผิดประเภทดำเนินคดีตาม กม.สูงสุด

เมื่อวานนี้ (18 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงมาตรการป้องกันวัตถุอันตราย หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย โดยมีการตรวจพบสารไซยาไนด์บริเวณที่เกิดเหตุ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลวัตถุอันตราย ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม รับผิดชอบสารตามบัญชี 5 ซึ่งใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสารที่ควบคุมตามอนุสัญญา ของเสียเคมีวัตถุ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว รวมจำนวน 615 รายการ และ 26 กลุ่ม 

ทั้งนี้ โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ซึ่งผู้ประกอบการที่ประสงค์จะนำเข้า ผลิต จะต้องขอขึ้นทะเบียนพร้อมแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ที่ชัดเจนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องได้รับอนุญาตก่อนการดำเนินการ โดยการนำไปใช้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น 

“สำหรับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เป็นสารที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ในกระบวนการทำความสะอาดโลหะ ชุบโลหะ สกัดแร่ทองและเงิน และใช้ในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทั้งนี้ สถานที่เก็บรักษาโพแทสเซียมไซยาไนด์ จะต้องได้รับการตรวจสอบทุกครั้งประกอบการพิจารณาขออนุญาต เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมายและหลักวิชาการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมีการตรวจติดตามสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม และกำหนดให้ผู้ที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในครอบครองตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไปในรอบ 6 เดือน มีหน้าที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงของการนำไปใช้ ปริมาณคงเหลือ การจำหน่าย เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบไปจนถึงผู้ใช้ได้” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

ด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้มีการนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 และมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เพิ่มเติม และวันที่ 15 มิถุนายน 2566 อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 

โดยได้แบ่งกลุ่มผู้นำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้ เป็น 3 กลุ่ม คือ 
1) กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการโรงงาน 
2) กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย 
และ 3) กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก ซึ่งครอบคลุมถึงการนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ความเข้มข้นต่ำเป็นองค์ประกอบสำหรับกิจการอื่น 

อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อกำกับดูแลการใช้สารประกอบไซยาไนด์ จำนวน 16 รายการอย่างเข้มงวด และสามารถติดตามการใช้งานได้จนถึงผู้ใช้รายย่อย ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายตามรายชื่อท้ายประกาศนี้อยู่ในความครอบครองในแต่ละรายชื่อของวัตถุอันตรายทุกปริมาณ ทุก 6 เดือน

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายต้องนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุในการขึ้นทะเบียนเท่านั้น หากพบว่า ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ใช้  มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

‘บ.กุลธรเคอร์บี้’ แจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ในส่วนการผลิต รับ!! ขาดสภาพคล่องซื้อวัตถุดิบ กำลังเจรจาสถาบันการเงิน

(18 ก.ค. 67) นายฐิติศักดิ์ สิมะกุลธร กรรมการ บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด แจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เรื่อง แจ้งหยุดกิจการชั่วคราว

โดยระบุว่า บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) แจ้งหยุดกิจการชั่วคราวเฉพาะบริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) สำหรับบริษัทย่อยยังคงปฏิบัติงานเหมือนเดิม ในระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2567 บริษัทจะทำการหยุดกิจการเป็นช่วง ๆ โดยพิจารณาจากจำนวนการผลิด และวัตถุดิบ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท เนื่องจากการขาดสภาพคล่องในการซื้อวัตถุดิบ เพื่อผลิตและส่งมอบ เนื่องจากวัตถุดิบหลัก เช่น เหล็ก ทองแดง มีความจำเป็นต้องใช้วงเงิน working capital (LC) จากธนาคารในการซื้อ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคาร

โดยจ่ายเงินเดือนพนักงานที่หยุดปฏิบัติงาน 75% ตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 เรื่องการหยุดกิจการชั่วคราว การหยุดกิจการชั่วคราวเฉพาะส่วนงานการผลิตที่ไม่มีวัตถุดิบ

ส่วนงานอื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานประจำบางส่วน จะยังคงปฏิบัติงานอยู่ได้แก่ พนักงานดูแล (เครื่องจักร) ส่วนการผลิต ส่วนวิศวกรรมโรงงาน ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายวางแผนการผลิตและคลังสินค้า ฝ่ายปฏิบัติงานการเงิน ฝ่ายบัญชี ฝ่ายความปลอดภัยแผนกสรรหาและค่าจ้างเงินเดือน

รายงานความคืบหน้าแนวทางแก้ไข

1.เร่งดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เพื่อจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด และอยู่รอการอนุมัติวงเงิน กระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกหนังสือ SET ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลการหยุดกิจการชั่วคราวของ KKC ตามที่ บริษัทกุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) (KKC) แจ้งหยุดกิจการชั่วคราวระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2567 รายละเอียดปรากฏตามข่าวของบริษัทวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.12 น. นั้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลดังกล่าวเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน และขอให้ไช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ของ KKC

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างแก้ไขเหตุเพิกถอนกรณีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าศูนย์ โดยหลักทรัพย์ของบริษัทอยู่ระหว่างการเปิดให้มีการซื้อหรือขายชั่วคราวด้วยบัญชี Cash Balance เป็นระยะเวลา 1 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2567-26 กรกฎาคม 2567) และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย SP หลักทรัพย์ของบริษัทตั้งแต่ วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะสามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนได้ วันที่ 17 กรกฎาคม 2567

ทั้งนี้ สำหรับ บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) เป็นโรงงานคอมเพรสเซอร์แห่งแรกของไทย ผลิตคอมเพรสเซอร์อุปกรณ์ทำความเย็นในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศที่พาธุรกิจ มากว่า 40 ปี 

'รัดเกล้า' เผย ‘Depa’ เดินหน้าโครงการ ‘Coding for Better Life’ ขับเคลื่อนโมเดลพัฒนาคนดิจิทัล สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย

(19 ก.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เดินหน้าโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างยั่งยืน ภายหลังที่ประชุม ครม. (9 มกราคม 2567) รับทราบแนวทางการดำเนินโครงการดังกล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กิจกรรม Coding Bootcamp และ Coding Roadshow ภายใต้โครงการ Coding for Better Life มี 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ Coding Bootcamp Coding Roadshow และ Coding War รอบคัดเลือก ที่จะมีการเดินสายทั่วประเทศใน 8 จังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเริ่มพื้นที่แรกไปแล้ว

(1) เมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2567 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,600 และมีผู้ชมผ่าน FB Live รวมกว่า 23,000 คน 
(2) วันที่ 8-9 กรกฎาคม 2567 กรุงเทพฯ 
(3) วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2567 จังหวัดอุบลราชธานี 
(4) วันที่ 15-16 กรกฎาคม 2567 จังหวัดพิษณุโลก 
(5) วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่ 
(6) วันที่ 23-24 กรกฎาคม 2567 จังหวัดภูเก็ต 
(7) วันที่ 15-16 สิงหาคม 2567 จังหวัดชลบุรี 
(8) วันที่ 19-20 สิงหาคม 2567 จังหวัดสงขลา

โดยในส่วนของกิจกรรม Coding Bootcamp นั้น จัดขึ้นสำหรับครูและนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ภาคกลางที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 400 คน 100 ทีม เพื่อเรียนรู้ทักษะโค้ดดิ้งเข้มข้น ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลในหัวข้อต่าง ๆ ก่อนคัดเลือก 10 ผลงานยอดเยี่ยมเพื่อเป็น 1 ใน 100 ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน Coding War รอบ Final ที่ MCC Hall เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2567 เพื่อค้นหาสุดยอดผลงาน ชิงเงินรางวัล และรับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันโค้ดดิ้งเวทีระดับนานาชาติอย่าง Seoul International Invention Fair 2024 (SIIF 2024) ณ สาธารณรัฐเกาหลี

โดยกิจกรรม Coding Roadshow จัดขึ้นสำหรับผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยภายในกิจกรรมมีทั้งนิทรรศการ และกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโค้ดดิ้ง เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล 

ส่วนกิจกรรม Coding War เป็นการเปิดพื้นที่ให้ครูและนักเรียนจากโรงเรียนที่สนใจ และส่งใบสมัครเข้าร่วมแข่งขันนำเสนอผลงานและคัดเลือกสู่การเป็น 1 ใน 100 ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน Coding War รอบ Final ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือติดตามรายละเอียดและข่าวสารต่าง ๆ ของโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ได้ทาง www.depa.or.th และเฟซบุ๊กเพจ depa Thailand และ Coding Thailand by depa


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top