Tuesday, 6 May 2025
GoodsVoice

'รมว.ปุ้ย' เยือน!! 'Eco R Japan' โรงงานรีไซเคิลรถยนต์ ศึกษากระบวนการเชิงลึก พาไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

'รมว.พิมพ์ภัทรา' ลุยภารกิจแดนปลาดิบ เยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ 'Eco R Japan' เพื่อศึกษาการดำเนินมาตรการ ELV (End of Life Vehicle) ผลักดันไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมทั้งหารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

(22 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ 'Eco R Japan' จังหวัดโทจิหงิ ภูมิภาคคันโตะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและสนับสนุนการดำเนินมาตรการ ELV (End of Life Vehicle) ว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยมาตรการ ELV มุ่งเน้นลดปริมาณของเสียจากยานยนต์ การบำบัดซากยานยนต์อย่างถูกวิธี และการนำชิ้นส่วนวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่

ทั้งนี้ บริษัท Eco-R Japan เป็นผู้นำด้านรีไซเคิลรถยนต์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1959 ด้วยพันธกิจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมรีไซเคิลที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการนำทรัพยากรจากรถยนต์เก่ากลับมาใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด Eco-R ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรและสังคม ไปสู่ความยั่งยืน

ต่อมาในช่วงบ่ายได้เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อหารือร่วมกับ นายอิชิกุโระ โนริฮิโกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization: JETRO) และผู้บริหาร JETRO ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นโยบาย BCG สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการผลักดันมาตรการ ELV ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การศึกษาดูงานครั้งนี้ คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมมีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานที่มีกระบวนการจัดการของเสียที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการซากรถยนต์ หลอดไฟ และแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ รวมถึงมีโอกาสได้เยี่ยมชม Eco Town ของจังหวัดคิตะคิวชู ซึ่งเป็นต้นแบบของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศด้วย

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงวางนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด สร้างอุตสาหกรรมสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

"การหารือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือระหว่าง JETRO และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียวในภูมิภาค ยืนยันว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน และจะเดินหน้าผลักดันให้มาตรการต่าง ๆ เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว 

ด้านนางนิภา รุกขมธุ์ รองผู้ว่าการ กนอ. (สายงานยุทธศาสตร์) กล่าวเสริมว่า รัฐบาลมุ่งมั่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมอบหมายให้ กนอ. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันพัฒนา นิคมอุตสาหกรรม Circular บนพื้นที่ 5,000 ไร่ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายS-Curve) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน และส่งเสริมการจัดการซากแบตเตอรี่อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular นี้ เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดของเสีย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กนอ. และ สกพอ. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม คาดว่านิคมอุตสาหกรรม Circular จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม Circular กำหนดนัดประชุมครั้งที่ 1 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 เพื่อเร่งขับเคลื่อนงานด้าน Circular ร่วมกัน

‘รมว.ปุ้ย’ หนุน ‘สมอ.’ คุมเข้มมาตรฐานนำเข้าเหล็กเคลือบ ปิดช่องเหล็กด้อยคุณภาพ สร้างความปลอดภัยให้ประชาชน

(23 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์เหล็กในประเทศอย่างใกล้ชิด พบว่ามีการนำเข้าเหล็กเคลือบ ทั้งเคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และเคลือบสี ที่มีราคาถูกจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหล็กที่มีคุณภาพต่ำ และไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน และสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็กเคลือบภายในประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้าได้ 

นอกจากนี้ ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำเหล็กเคลือบดังกล่าวไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ตนจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เร่งดำเนินการควบคุมเหล็กเคลือบทุกประเภทที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยเร็ว เพื่อสกัดกั้นเหล็กเคลือบที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและอุตสาหกรรมภายในประเทศ 

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า จากการประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมผลิตภัณฑ์เหล็กจำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ 

1) เหล็ก PPGI หรือ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี 

2) เหล็ก PPGL หรือ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี 

3) เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 5% ขึ้นไป และแมกนีเซียม 2% ขึ้นไป โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน 

4 ) เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 0.5% ขึ้นไป และแมกนีเซียม 0.4% ขึ้นไป โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน 

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรฐานอื่น ๆ อีก จำนวน 122 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก เครื่องซักผ้า เครื่องสูบของเหลว เต้ารับเต้าเสียบสำหรับงานอุตสาหกรรม ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ระบบบันทึกการขับขี่รถยนต์ น้ำยางข้นธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์จากขยะชีวภาพ ถั่วลันเตากระป๋อง และมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ 

รวมทั้ง เห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำเพิ่มเติมในปีนี้อีกจำนวน 192 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานเครื่องดับเพลิงแบบยกหิ้วชนิดฮาโลคาร์บอน เจลกันยุงนาโน ชุดทดสอบฟอร์มาลินแบบกระดาษ และกันชนหรือชิ้นส่วนที่ป้องกันอุปกรณ์ด้านหน้าและด้านหลังยานยนต์ เป็นต้น รวมเป็นมาตรฐานที่ สมอ. ตั้งเป้าจัดทำในปีนี้ จำนวน 1,450 มาตรฐาน

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. มิได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหลังจากที่บอร์ดมีมติเห็นชอบมาตรฐานเหล็กเคลือบทั้ง 4 มาตรฐาน แล้ว สมอ. จะเร่งดำเนินการให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ 

ปัจจุบัน สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานเหล็กจำนวน 213 มาตรฐาน เป็นสินค้าควบคุมจำนวน 22 มาตรฐาน และเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจจำนวน 191 มาตรฐาน นอกจากการดูแลประชาชนและอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว ด้านการค้าระหว่างประเทศ สมอ. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะทำงานด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการส่งออกเหล็กของไทยได้ทราบถึงความคืบหน้าของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ ‘มาตรการ CBAM’ (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าที่เข้ามาใน EU โดยอ้างอิงตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า 

สำหรับสินค้า 6 กลุ่มแรกที่มีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงในกระบวนการผลิต ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ปุ๋ย อะลูมิเนียม ไฟฟ้า และไฮโดรเจน โดยในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าและการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับให้ผู้นำเข้าต้องรายงานตามปริมาณจริงของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต 

ทั้งนี้ สมอ. อยู่ระหว่างการหารือกับผู้แทน EU เพื่อให้ยอมรับรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ออกโดยหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง สมอ. จะแจ้งความคืบหน้าของการหารือดังกล่าวให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าวต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘ดร.สุวินัย’ ชี้!! ช่องทางตีตลาดออนไลน์ใน ‘จีน’ เน้นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ไทย-จีนเลียนแบบได้ยาก

(23 ก.ค. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Suvinai Pornavalai’ ถึงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ อ้างอิงข้อมูลจากเพจ ‘Kritta Bhokharsathit’ โดยมีเนื้อความระบุว่า…

>> พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ต้องอ่าน : สถานการณ์ล่าสุดของตลาดออนไลน์ในจีน

(1) คนที่ขายดีกำลังขาดทุนหนัก... ตอนนี้ตลาดที่จีนกำลังเข้าสู่ขั้น ‘การแข่งขันโดยสมบูรณ์’ คนขายเก่ง ๆ เต็มไปหมด

คำว่าเก่งคือ เก่งมาก ๆ เก่งจริง ๆ รู้เทคนิคเหมือนกันหมด สินค้าดี ๆ เต็มตลาด ของถูกเต็มตลาด อะไรที่ขายดี อีก 3 วันจะมีของตัดราคามาขายแข่งทันที

Life Cycle ของสินค้าที่ขายดี กำไรสูงจะสั้นลงจนน่าใจหาย แต่ที่แน่ ๆ คือต้นทุนในการผลิต และ ทำการตลาดจะเพิ่มขึ้นแบบน่าใจหาย

คำว่าขายเก่ง ขายได้มาก กลับกลายเป็น ‘กับดัก’ ให้ยิ่งขาดทุน ไม่ขาดทุนได้ไง ต้นทุน R&D สูง
ต้นทุนการตลาดสูงแต่ Margin ต่ำ และมีเวลาให้ทำกำไรแวบเดียว ก่อนที่จะมีสินค้าเหมือน ๆ กันมาขายแข่ง

เวลาคนไทยไปดูงานแล้วตื่นเต้นกับ ‘ยอดขาย’ ของเขา อย่าลืมกระซิบถามด้วยว่า ‘เหลือกำไรมั้ย?’
พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์เก่ง ๆ คนจีนที่ผมรู้จักเริ่มถอดใจและไปไม่เป็นแล้วกับสถานการณ์นี้ เลิกขายไปหลายคน ที่ยังทนขายเพราะไม่รู้จะไปทำอะไรกิน

(2) Loud Budgeting (เทรนด์อวดความประหยัด) กำลังกู่ก้อง ลูกค้า gen Y คนจีนประกาศชัดเจนว่า…

"ฉันต้องรัดเข็มขัดและประหยัดสุด ๆ"

"ฉันจะใช้จ่ายน้อยที่สุดและเท่าที่จำเป็น"

ลูกค้าจะใช้เวลาในการหาสินค้าที่จำเป็น และเปรียบเทียบมากขึ้น เพราะต้องมั่นใจว่า ‘ซื้อคราวนี้ต้องคุ้มค่าเงิน’ จะใช้เวลาในการแสวงหาโปรโมชั่นและส่วนลด แบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

แม่ค้าที่อยากได้ลูกค้าก็จะทุ่มลดราคา ออกโปรโมชั่น เพื่อดึงลูกค้า เจ้านี้ทำได้ เจ้านั้นก็ทำมั่ง ทำจนตลาดพัง ไม่เหลือกำไร

(3) ถึงยุคที่ Platform กลายเป็น ‘เจ้าพ่อ’ หลังจากที่เล่นบท 'คนดี' ลดแลกแจกคูปองมานาน ผลาญเงินไปมหาศาล วันนี้ก็มาถึงเสียทีที่จะเอาคืน

เมื่อลูกค้า ‘ชิน’ กับการหาซื้อของดี ๆ ราคาถูก ๆ จาก Platform และ enjoy กับ ความสนุกสนานต่าง ๆ ที่ Platform มีให้ เหมือนฝูงปลาที่หลั่งไหลมารวมกันมากมายมหาศาล 

Platform ที่รู้ว่าชั้นมีแหล่งปลาที่ดี มีปลาจำนวนมาก ก็เริ่มหากำไรจาก ‘นักตกปลา’ ไม่ว่าจะเป็น

- การขึ้นค่าเบ็ด = ค่า GP 
- ขึ้นค่าถัง = ระบบโลจิสติกส์ 
- ขึ้นค่าตู้แช่  = ระบบ warehouse

ทุก Platform ใหญ่ของจีน ไม่ว่าจะเป็น โต่วอิน และ JD จะมีระบบโลจิสติกส์ และคลังสินค้าเป็นของตัวเองทั้งหมด

Platform จะเริ่มออกกฎต่าง ๆ ให้คนขายปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการรับประกันความพึงพอใจ ถ้าลูกค้าใช้แล้ว กินแล้ว แค่ ‘ไม่ชอบ’ ก็คืนของได้ ไม่ต้องมีเหตุผล การรักษาเวลาในการขนส่ง ถ้าใช้เวลาในการส่งเกิน 3 วัน ลูกค้ายกเลิกได้ทุกเมื่อ และอื่น ๆ

ตอนนี้สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้า กลัวที่สุดคือ ลูกค้าพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป ลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้า เพราะ ‘ต้องการซื้อ’ แต่ลูกค้าซื้อสินค้าเพราะ ‘ต้องการเอามาลอง’ ก่อน ซื้อเสื้อมา 20 ตัว ใช้จริง 2 ตัว อีก 18 ตัวคืน และรู้ไหมว่าคนที่รับผิดชอบค่าส่ง ไป-กลับ คือ ‘คนขาย!’ 

สถานการณ์การขายออนไลน์ตอนนี้ พ่อค้าแม่ค้า จึงเหมือนคนที่ต้องหาเงินมาให้ Platform ไปผลิตของดีมา ขายแพงได้แป้บเดียว เดี๋ยวก็โดนตัดราคา ต้องทำตามกฎสารพัด หือมากไม่ได้เพราะลูกค้าอยู่ที่ Platform ดังนั้น ‘การส่งออก’ จึงเป็นทางหนีตายของพ่อค้าแม่ค้าคนจีน คำว่าหนีตาย ไม่ได้หมายถึง ‘มีกำไร’ แต่หมายถึง ‘ขอแค่ได้ทุนคืน’ หรือ ‘ขาดทุนนิดหน่อยได้’

ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมของจากจีนถึงทะลักมาไทย ในเมื่อพวกเขากำลังหนีตาย อย่าพึ่งถามนะว่า พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในจีนจะทำอย่างไร เพราะสถานการณ์นี้ ‘กำลังเกิดขึ้น’ และพวกเขาก็ไม่รู้ว่า ‘จะทำอย่างไรต่อ?’

******
หมายเหตุ : การตลาดแบบฝรั่งที่เราร่ำเรียนกันมาก่อนถึงยุคจีนป่วนโลก เป็นการตลาดแบบไม่ใช่มะม่วงบ่มแก๊ส… ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยสร้าง ผลออกค่อยเก็บกินระยะยาว ถ้าเทรนด์โลกเปลี่ยนก็ค่อยเติมความรู้ ปรับเปลี่ยนกันไป 

แต่การตลาดยุคจีนป่วนโลก เน้น ‘ทุบตลาด’ เน้นสำเร็จอย่างรวดเร็ว ว่องไว เร่งกำลังซื้อขั้นสุดแบบแทบจะรีดกระเป๋าตังค์ลูกค้าออกมา ทั้ง ๆ ที่บางทีไม่ใช่ความต้องการซื้อจริง เป็นเพียง ‘อุปทานหมู่’ รวยเร็ว รวยจริง แต่ตลาดก็พังไว เพราะฝืนธรรมชาติหลายอย่าง
*******

>> KOL / Influ อนาคตเป็นอย่างไร ยังน่าทำไหม? : กรณีศึกษาจากจีน

ต่อไปนี้จะขอเรียก KOL / Influ รวม ๆ ว่า KOL (key opinion leader) ปัจจุบันนอกจาก Platform แล้ว บุคคลที่มีวรรณะในแวดวง eCommerce สูงยิ่ง คือ KOL นี่แหละ เนื่องจากยอดขายในทุก Platform ของจีน ตอนนี้ตกหมด เหลือแต่ โต่วอิน = Tiktok จีน ที่ยังคงสูงเด่นเป็นสง่า

ดังนั้น KOL จึงเป็น วรรณะสำคัญที่จะช่วยสร้างความน่าสนใจ ความสนุกสนาน ความตื่นเต้น ความตื่นตาตื่นใจ เพื่อดึงดูด lead เข้ามาได้ KOL จีนเบอร์ต้น ๆ คิวทองมาก ไม่ง้อลูกค้า และต้องจองคิวก่อน 2  เดือนล่วงหน้า ระดับครีม ๆ พวกนี้  Live ครั้งนึงยอดขายหลายร้อยล้าน (หลายร้อยล้านหมายถึง ‘เคยทำถึง’ แต่ไม่ใช่ ‘ทุกครั้ง’) วันที่ขายได้น้อยก็มี แต่ใครจะสนใจ

ถ้า KOL อย่างคุณไปถึงจุดสูงสุดของปิรามิด คุณจะได้ทุกอย่างที่ต้องการ ชื่อเสียง เงินทอง แม้แต่ไปไหนมาไหน ลูกค้าจะมีเครื่องบินส่วนตัวไปรับ เรื่องนี้จริง เพราะประเทศจีนกว้างมาก KOL ของจีนจะไม่ Live ไปทุก Platform แต่เขาจะเลือก Live ให้ Platform ใด Platform หนึ่ง เช่น โต่วอิน ไค้วโซ่ว JD (เริ่มมี live) etc.

ค่าตัว KOL ระดับสูง ๆ ‘แพงระยิบระยับ’ มีตั้งแต่ 7 หลัก ไปจนถึง 8 หลัก แต่หลัง ๆ มานี้ เจ้าของแบรนด์ประสบปัญหา จ้าง  KOL มาไลฟ์แล้วยอดไม่ขึ้น ไม่คุ้ม เลยเปลี่ยน model เป็น hybrid คือจ่ายเงินให้ส่วนหนึ่ง คิดค่า commission ให้ส่วนหนึ่ง 

การทำงานของ KOL ระดับนี้จะมีความเป็นมืออาชีพสูงมาก จะมีทีมงานคอย Screen สินค้า ตัว KOL เองก็ต้องทดลองใช้จนมั่นใจ เขามองว่า ‘ความน่าเชื่อถือของเขา’ คือ ‘สินทรัพย์’ สำคัญ KOL เขาจะเก่งเป็นด้าน ๆ ไปไม่ mix เช่น คนไหนเก่งเรื่องทุเรียน จนมี FC หลายล้าน ก็จะไม่เอาเครื่องสำอางไปขายเด็ดขาด กว่าจะขึ้นมาเป็น KOL ระดับ ‘เจ้ายุทธจักร’ ได้ ต้องผ่านการฝึกฝน เคี่ยวกรำมาอย่างหนักหน่วง 

จีนน่าจะมี KOL หลายสิบล้านคน กว่าจะขึ้นมาได้จึงไม่ง่าย แต่ก็เป็นอาชีพที่คนจีนใฝ่ฝันมาก มีคนถามว่าใช้ AI มา Live แทนคนได้ไหม? ก็พอได้แต่มันไม่ ‘แซ่บ’ ยังไงผู้บริโภคก็ยังชอบดูคนมากกว่า
Platform จีนรู้จุดนี้ดี เมื่อเขาต้องการ ‘บุก’ ตลาดไทย และโดนปรามาสว่า

‘ทำ content ไม่โดนใจคนไทยหรอก ไม่ต้องกลัว คนจีนต้องเรียนภาษาไทยอีกนาน’

เขาเลยแก้เกมด้วยการ ‘ส่งเทียบเชิญ’ KOL ดัง ๆ ของไทยไปพบปะ และคัดเลือกสินค้าจากเจ้าของแบรนด์จีนซะเลย KOL จึงเป็นทางออกหนึ่งสำหรับผู้ที่ชอบงานสายนี้มาก ๆ แต่ประเทศไทยเราจะเป็นการฝึกเอง ลองเอง เป็นส่วนมาก ในขณะที่จีนเขาบรรจุเป็น ‘หลักสูตร’ ให้นักเรียนสายนี้เรียนโดยเฉพาะ

และจากที่ผมคุยกับคนจีน นี่คือ ‘โอกาสมหาศาล’ ของคนไทย รู้ไหมครับว่าคนจีน ‘ชอบ Content ไทย’
เพราะเขารู้สึกว่าประเทศเรา สนุกสนาน เถิดเทิง ดูแล้วหายเครียด ยิ่งถ้า KOL ไทยเราพูดจีนได้ เขายิ่งรักเลย ปัจจุบัน มี KOL จีนมาฝังตัวในไทยแล้วมา live ขายสินค้าไทยไปจีนปีนึงรายได้หลายร้อยล้าน แบบนี้มีจริง ๆ

สรุปคือ KOL ยังมีอนาคตสดใส แค่คุณต้องไปให้ถึงจุด ๆ นึงให้ได้เท่านั้น

******
หมายเหตุ : ตลาดธุรกิจ KOLในจีน อยู่ได้เฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ ที่มี KOL ตัว Top ที่มีชื่อเสียงอยู่ในสังกัด หรือเซ็นสัญญา ตั้งแต่ปีที่แล้วและครึ่งปีนี้ กิจการบริษัทไลฟ์สดในจีนปิดตัวลงไปก็เยอะเกิน 60 % เพราะขาดทุนอยู่ไม่ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการไลฟ์แต่ละครั้งที่สูง มีค่าใช้จ่ายหลายอย่างมาก และ ยอดขายบางไลฟ์ก็ไม่ได้ตามเป้าเหมือนแต่ก่อน การแข่งขันที่สูง ราคาสินค้าที่ต้องทำโปรโมชั่นให้น่าสนใจ การส่งของต้องหลังจบไฟล์ภายใน 48 ชม.ต้องออกจากโกดัง /การรับประกันสินค้า/ความพึงพอใจของลูกค้า/สินค้าตีกลับ/และอื่น ๆ อีก

ค่าตัว KOL ก็หนึ่งตามความดัง สิ่งที่จะทำให้รอดหรือร่วงคือ บริษัทหรือผู้จ้างต้องแบ่งกำไรให้ KOL ต่อชิ้น (ย้ำว่าตอนนี้เป็นแบบแบ่งกำไรต่อชิ้น เช่น 5-20 บาท) ส่วนแบ่งเป็น GP% เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี หลังจ่ายกำไรค่าตัวแล้ว ถ้าของสินค้าตีกลับ แล้วต้องคืนเงิน เจ้าของคือแบกรับ / KOLไม่เกี่ยว รับเงินไปเต็ม ๆ สินค้าที่ขายจีนตอนนี้ ต้องสั่งผลิตจากโรงงานเท่านั้น เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด ผลิตทีหลักแสน และ หลักล้านชิ้น เพื่อให้คุ้มกับต้นทุน และตีแบรนด์เอง + คุณภาพสินค้าต้องดี (ราคาไม่แพง + คุณสภาพสินค้าต้องดี + ต้องส่งของเร็วรับ + รับประกันสินค้า) 4 Key นี้ ที่จะทำให้ขายดี และขายได้ยอด 

ส่วนสินค้าไทย ไม่สามารถขึ้นไลฟ์ได้ สำหรับ เครื่องสำอาง/อาหารเสริม/สกินแคร์ ถ้าไม่มี NMPA อย.จีน หมดสิทธิ์จ้าง KOl ไลฟ์ กฎหมายจีนเข้มงวด และ กฎระเบียบแพลตฟอร์มมีข้อบังคับ Douyin / Kuaishou / Pindoudou แพลตฟอร์มดังเหล่านี้ สินค้าไทยที่ขายดีจะมีแค่ ‘มิสทีน’ เท่านั้นนอกนั้นไม่เคยเห็น

ถ้าสินค้าของกิน ของทาน/ เครื่องดื่ม ขอ GACC เลย ของ่ายไม่ยากเท่ากับขอ อย.จีน ถ้ามี GACC แล้ว ขึ้นไลฟ์ได้ แต่ต้องมีของสต๊อกในโกดังที่จีนก่อนถึงจะไลฟ์ได้ 

ถ้าเป็นพวก ผลไม้สด ทุเรียน/มังคุด/มะม่วง พวกนี้ไลฟ์ขายได้เลย ไม่ต้องยุ่งยาก แต่ต้องมีของเข้าไปในจีนพร้อมส่ง ที่เห็นคนจีนมาไลฟ์มาที่ล้งทุเรียนไทย ส่วนมาก บินมากับทีมงาน มาเช่าหน้าล้ง เช่าสถานที่เฉย ๆ เพื่อให้ได้ Backgroud สร้างความน่าเชื่อถือ ฉากหลังที่มีทุเรียนเยอะ สร้างความน่าสนใจ น่าเชื่อถือ ให้ลูกค้าคนจีน เชื่อมั่น ว่าทุเรียนไทยแท้แน่นอน 

สินค้าไทยที่จะตีตลาดจีนได้ /โดนใจคนจีนจริง/ ณ ตอนนี้ ต้องเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของไทยแท้ที่จีนเลียนแบบได้ยาก เช่น เครื่องปรุงรส/ ผงปรุงรส/ พริกแกง/ ขนมคบเคี้ยว/ ของทานเล่น/ ผลไม้แปรรูป ...ยังพอได้อยู่ 

อะไรที่หาวัตถุดิบในไทยได้ รสชาติอร่อยถูกปาก และในจีนไม่มี อันนี้ขายได้แน่นอน ตลาดของกินของไทย ยังมีช่องทางสร้างรายได้ ทำยอดขายในจีนได้ดีมาก คู่แข่งน้อยมาก ถ้าเทียบกลับสินค้าในกลุ่มอื่น ที่กล่าวมาข้างต้น ตอนนี้ KOLจีน ต้องการไลฟ์สดขายสินค้าประเภทนี้มาก กว่าสินค้าอื่น ๆ ของไทย นอกจากผลไม้สด

‘พีระพันธุ์’ ลุยชงครม. ‘ตรึงค่าไฟฟ้า’ ถึงปลายปีนี้ หลังเคาะเหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย ช่วยเหลือปชช.

(23 ก.ค. 67) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (23 ก.ค.) โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญหลายเรื่องโดยในส่วนแรกนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน จะรายงานให้ที่ประชุม ครม.รับทราบถึงการตรึงค่าไฟฟ้างวดปลายปี 2567 (ก.ย.-ธ.ค.) ที่อัตรา 4.18 บาทต่อหน่วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานทำมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน และเมื่อสัปดาห์ก่อนนายพีระพันธุ์ได้หารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการตรึงค่าไฟฟ้าไว้ในอัตราดังกล่าวแล้ว

นอกจากนั้นในการประชุม ครม.วันนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอให้ครม.พิจารณายกระดับการกำจัดปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดอย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำหลายจังหวัดเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งพิจารณาจัดตั้งเป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ โดยการันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท โดยจะเริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้

ด้าน กระทรวงคมนาคม เสนอ รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรภูฏาน

ด้าน คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เสนอ ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ด้าน กระทรวงการคลัง เสนอ โครงการสลากการกุศลเพิ่มเติม 

ด้าน กระทรวงการคลัง เสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

>> MOU ส่งแรงงานไปเกาหลี

ด้าน กระทรวงแรงงาน เสนอ การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐ เกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ และขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี Abu Dhabi Dalogue ครั้งที่ 7 (Abu Dhabi Dailogue Seventh Ministerial Dectaration)

ด้าน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เสนอ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

>> ชงเลิกประกาศ คสช.

ด้าน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. ....

ด้าน กระทรวงคมนาคม เสนอ การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อบริหารจัดการโครงการฝึกอบรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

ด้าน กระทรวงกลาโหม เสนอ ขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567ในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเงินราชการลับ

ด้าน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เสนอ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าก่อสร้าง อาคารที่พักอาศัยส่วนกลาง ขนาด 68 ครอบครัว จำนวน 2 อาคาร และอาคารที่จอดรถ สูง 8 ชั้น จำนวน 1 หลัง แขวงสามเสนใน เขตพญาไทกรุงเทพมหานคร

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 57 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ การจัดทำเอกสาร National Commitment สําหรับการประชุมสุดยอดว่าด้วยกีฬาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sport for Sustainable Development Surnmit: S45D Summit) ในห้วงการแข่งขันก็หาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15 การประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 และการรับตำแหน่งประธานร่วมของหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ ในปี 2568

สำหรับวาระเพื่อรับทราบ กระทรวงพลังงาน เสนอ ร่างกฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. ....

ด้าน กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบ อะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน

ด้าน กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....และเสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ

>> ชงเสนอไม้พะยูงเป็นสินค้าต้องห้าม

ด้าน กระทรวงพาณิชย์ เสนอ ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิด เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และให้สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ด้าน สภาผู้แทนราษฎร เสนอ รายงานผลการศึกษา เรื่อง รายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมาธิการรายไตรมาสที่ 1 (ตุลาคม - ธันวาคม) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ เสนอรายงานประเทศมองโกเลียขอเปิดสถานกงสลกิตติมศักดิ์มองโวเสีย ณ จังหวัดชลบุรี และแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลีย ณ จังหวัดชลบุรี (นายนิธิวัชร์ เรืองฉัตรศรีกุล)

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ การสิ้นสุดหน้าที่ของกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐฟินแลนด์ ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และการแต่งตั้งกงสุลกิดติมศักดิ์ที่สาธารณรัฐฟินแลนด์ ณ จังหวัดชลบุรี (นายฤทธิกร ศิริประเสริฐโชค)

ด้าน กระทรวงพาณิชย์ เสนอ รายงานผลการเดินทางเยือนสาธารณ์รัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาวของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย)

ด้าน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอ รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะกรณีการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิด

ด้าน สภาเกษตรกรแห่งชาติ เสนอ (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก (ไก่งวง) ในประเทศไทย

ด้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอ การดำเนินการเกี่ยวกับการเปิด การขยายเวลา และการปิดผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ด้าน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง

ด้าน กระทรวงการคลัง เสนอ การแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

ด้าน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ด้าน กระทรวงสาธารณสุข เสนอ การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

ด้าน กระทรวงยุติธรรม เสนอ รายงานประจำปีคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ด้าน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม เสนอ รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.ศ. 2566 และรายงานผลการติดตาม การดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถามการณ์คุณภาพ สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564

ด้าน กระทรวงการคลัง เสนอ รายงานผลการดำเนินการของสถาบันการเงินประชาชนประจำปี 2566

‘พาณิชย์’ เผย!! เริ่มจ่ายเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ภายใน ต.ค.นี้ ยัน!! ร้านค้าเข้าร่วมพร้อม แง้ม!! ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ก็เข้าข่าย

(23 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระทรวงพาณิชย์ได้สรุปสินค้าที่อยู่ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน digital wallet แล้วหรือไม่ ว่า อยู่ในกระบวนการทำงาน ตอนนี้คืบหน้าไปเยอะแล้ว รวมถึงเรื่องร้านค้าก็คืบหน้าไปมาก ทั้งสินค้าต้องห้ามและสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ก็พิจารณามาเยอะแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 24 ก.ค.67 จะมีการชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ความคืบหน้าอย่างชัดเจน คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ไม่อยากพูดหลายเรื่องมารวมกัน เพราะมันเป็นเรื่องของรายละเอียด โดยในวันที่ 24 ก.ค.จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งหมดว่าจะต้องทำอย่างไรและมีเงื่อนไขอย่างไร สำหรับคนมีสมาร์ตโฟนและไม่มีสมาร์ตโฟนต้องทำอย่างไร

เมื่อถามว่าคิดว่าจะมีร้านค้าตอบรับการลงทะเบียนมากน้อยแค่ไหน นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตอนนี้ก็มีเยอะแล้ว สมาคมค้าปลีกก็ 500,000 กว่าร้านค้า ร้านธงฟ้า 146,000 ร้าน และร้านอาหารธงฟ้า 5,000 ร้าน ตอนนี้ก็ทยอยติดต่อมา ซึ่งบางส่วนได้มีการจัดการรายละเอียดแล้ว โดยมีการแยกกันทำงาน ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หาบ เร่ แผงลอย ถ้าจำตัวเลขไม่ผิดจะอยู่ที่ประมาณ 500,000 ร้าน ร้านค้าเหล่านี้ได้มีการยื่นมาแล้ว และคิดว่าในวันที่ 24 ก.ค. เมื่อมีการชี้แจงเสร็จสิ้นในส่วนนี้ก็จะดำเนินการต่อ เข้าใจว่าภายในเดือนต.ค.2567 จะเริ่มจ่ายเงินให้เรียบร้อยไปตามกระบวนการ

เมื่อถามต่อว่าส่วนเรื่องของหมวดสินค้ามีความคืบหน้าไปเกือบ 80% แล้วหรือยัง นายภูมิธรรม กล่าวว่า คืบหน้าไปเยอะมาก ซึ่งคิดว่าหลังการประชุมคณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน digital wallet ที่ตึกภักดีบดินทร์ทำเนียบรัฐบาล และมีการแถลงหลักการก็จะชัดเจน ก่อนจะทยอยแถลงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในเดือน ต.ค.ก็จะเรียบร้อย

เมื่อถามย้ำว่าส่วนของร้านค้าร้านเล็ก ๆ อย่างเช่น ร้านหมูปิ้งจะลงทะเบียนได้ที่ไหน นายภูมิธรรมกล่าวว่า ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ส่วนต่าง ๆ จะแถลงตามขั้นตอน ซึ่งเราจะได้เห็นและได้เข้าใจหมด โดยจะมีคอลเซนเตอร์ให้สอบถามด้วย

เมื่อถามอีกว่าร้านค้าเซเว่นสามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เข้าใจว่าได้

‘CPF’ ประกาศรับซื้อ ‘ปลาหมอคางดำ’ 2 ล้านกิโลกรัม ทั่วประเทศ ตั้งราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม หวังเร่งกำจัด-นำมาผลิตเป็นปลาป่น

เมื่อวานนี้ (23 ก.ค. 67) นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศความร่วมมือกับคณาจารย์จาก 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงงานผลิตปลาป่น เพื่อบูรณาการแก้ไขสถานการณ์ของปลาหมอคางดำ

โดย นายประสิทธิ์ เปิดเผยว่า บริษัทตระหนักดีว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในหลายพื้นที่ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตอนนี้ คือ การร่วมมือและสนับสนุนการจัดการปัญหาเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างเร่งด่วน ในฐานะภาคเอกชน บริษัทสนับสนุนแผนปฏิบัติการ 5 โครงการ ร่วมแก้ไขปัญหานี้ของภาครัฐตามศักยภาพของบริษัท ต้องขอบคุณ ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ประกอบกับ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงที่เข้มแข็งลงมือปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเต็มรูปแบบเพื่อลดจำนวนปลาหมอคางดำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน

“บริษัทพร้อมนำศักยภาพขององค์กรเข้ามาช่วยสนับสนุนการแก้ไขอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และลงมือปฏิบัติการเชิงรุกในหลายมิติตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 โครงการ” ดังนี้

โครงการที่ 1 : ทำงานร่วมกับกรมประมงสนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่นเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากและเร็วที่สุด โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมมือกับโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จังหวัดสมุทรสาคร รับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ไปแล้ว 600,000 กิโลกรัม และยังมีแผนรับซื้ออย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานจุดรับซื้อเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณกรมประมงที่มีมาตรการที่รัดกุม ออกประกาศห้ามการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า

โครงการที่ 2 : ร่วมสนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว โดยที่ผ่านมา บริษัทมีการส่งมอบปลากะพงขาว จำนวน 45,000 ตัว ให้กับประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี ทั้งนี้ ขั้นตอนในการปล่อยปลาผู้ล่านั้น เป็นไปตามแนวทางของกรมประมง

โครงการที่ 3 : ร่วมสนับสนุนภาครัฐ ชุมชนและภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา สนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคน ในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกิจกรรม ‘ลงแขกลงคลอง ทีมแม่กลองปราบหมอคางดำ’ ที่จัดขึ้นในจังหวัดสมุทรสงครามแล้ว 4 ครั้ง เป็นต้น และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด

โครงการที่ 4 : การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยมีสถาบันการศึกษาแสดงความสนใจเพื่อร่วมดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร

ที่ผ่านมา บริษัทได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ อาทิ ปลาร้าทรงเครื่อง ผงโรยข้าวญี่ปุ่น และ น้ำพริกปลากรอบ

โครงการที่ 5 : ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาในระยะยาวต่อไป และยินดีที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม

นายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่มีโปรตีนที่สามารถนำมาผลิตเป็นปลาป่นคุณภาพ โรงงานยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหานี้ โดยได้ประสานงานกับซีพีเอฟที่ร่วมปฏิบัติการกับกรมประมง และได้รับซื้อแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นจำนวน 600,000 กิโลกรัม โดยยังคงเปิดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง

“ตั้งแต่กระทรวงเกษตรฯ เริ่มการจับปลาหมอคางดำใน จ.สมุทรสาคร ชาวประมงที่เริ่มออกปลาตั้งแต่วันแรก บอกกับท่านรัฐมนตรีเองว่า วันนี้ปลาหายไป 80% แล้ว แต่เรายังต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งรัฐก็มีมาตรการในการกำกับไม่ให้เกิดการลักลอบเลี้ยงและนำมาจำหน่าย การกำจัดด้วยวิธีการนี้จึงมาถูกทางและช่วยลดปริมาณปลาได้มาก การที่ทุกภาคส่วนมาช่วยกันเช่นนี้ถือว่าดีมาก” นายปรีชากล่าว

ด้านนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ผศ.ดร.สิทธิชัย ฮะทะโชติ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพันธกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเชี่ยวชาญโดยตรงกับการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการควบคุมปลา รวมถึงการพัฒนาแปรรูป เพื่อเร่งนำปลาออกจากแหล่งน้ำได้อย่างรวดเร็วและการปล่อยปลากะพงในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มีการทำการวิจัยปลาชนิดนี้มาหลายปี และคิดว่างานวิจัยจะช่วยเติมเต็มภารกิจของกรมประมงได้ ปลามีโปรตีนที่ดี สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารเพื่อการบริโภคได้ โดยมหาวิทยาลัยจะนำปลาหมอคางดำมาทำปลาร้า โดยใช้จุลินทรีย์ที่ช่วยย่นระยะเวลาการหมักปลาร้าให้สั้นลง ทั้งยังสามารถทำปลาป่นใช้ผลิตอาหารสัตว์ได้ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาหาแนวทางอื่น ๆ ในการจัดการควบคุมปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับความกังวลว่าจะมีการเพาะเลี้ยงปลาเพื่อนำมาขายในโครงการรับซื้อนั้น ข้อเท็จจริง ระยะการเลี้ยงปลาหมอคางดำใช้เวลาเลี้ยงนานเป็นปี แต่มีเนื้อน้อย ต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาที่รัฐบาลรับซื้อ ที่สำคัญการนำมาเป็นปลาป่นสำหรับอาหารสัตว์ยังช่วยลดต้นทุนการนำเข้าปลาป่นจากต่างประเทศ

ผศ.ดร นันทิภา พันธุ์สวัสดิ์ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ควรสร้างการรับรู้การบริโภคปลาชนิดนี้ให้มากขึ้น ภาควิชาได้ศึกษานำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ทั้งในระดับครัวเรือน อุตสาหกรรม และร้านอาหาร และปรุงเป็นอาหารหลากหลายเมนู อาทิ ขนมจีนน้ำยา ในช่วงนี้ผู้คนสนใจชิมปลาหมอคางดำ จึงควรมีการเชื่อมโยงสู่การแปรรูปตัดแต่งเนื้อปลาและทำ ‘เนื้อปลาแช่แข็ง’ เพื่อให้สามารถขนส่งแก่ผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น หากมีคนที่พร้อมแปรรูปหรือตัดแต่งปลาจะช่วยปลาชนิดนี้เข้าถึงผู้บริโภคในภูมิภาคอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น และการทำเป็นอาหารแปรรูปยังช่วยป้องกันการแพร่กระจายของปลาเข้าสู่พื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย

ด้าน ผศ.ดร.วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ ผู้ช่วยคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน และ คณาจารย์ สจล.มีความยินดีที่จะร่วมมือกำหนดแนวทางเพื่อจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างยั่งยืน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยร่วมกับวิธีควบคุมทางชีวภาพ เช่น เทคโนโลยี Environmental DNA ซึ่งเป็นการสำรวจร่องรอย DNA ในธรรมชาติ สำรวจการระบาดได้ตั้งแต่ช่วงต้น ก็สามารถนำปลาผู้ล่าเข้ามาได้ทันการณ์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการนำปลานักล่าท้องถิ่นกลับสู่ระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการมุ่งเป้าไปที่การรักษาสมดุลทางธรรมชาติ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำของไทย ทั้งนี้ ปลาหมอคางดำ ไม่ใช่เอเลี่ยนตัวแรกที่เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งภาคประชาชนสำคัญมากในการตระหนักรู้และช่วยกันแก้ปัญหาตลอดจนรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ

ผศ.ดร.สรณัฎฐ์ ศิริสวย ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กรมประมงมีการศึกษาเชิงลึกอยู่แล้ว และมีการเตรียมแผนอย่างดี เพื่อนำปลาขนาดใหญ่ออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้เร็วที่สุด เหลือแต่ปลาหมอคางดำขนาดเล็ก ทั้งการผ่อนปรนใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมในการปล่อยปลาผู้ล่า วิธีการดังกล่าวช่วยกำจัดวงจรชีวิตของปลาไปเรื่อย ๆ ขณะที่ กรมประมงอยู่ระหว่างทำการวิจัยปลา 4N เพื่อผสมกับปลาปกติ 2N ให้ได้ปลา 3N ซึ่งเป็นหมัน ส่วนกรณีที่เกษตรกรเข้าใจว่าไข่ปลาสามารถอยู่ได้ถึง 2 เดือนในช่วงที่ตากบ่อนั้น แทบเป็นไม่ได้เลย ขอให้ประชาชนทุกคนตระหนักแต่อย่าตระหนก หากพบเจอปลาหมอคางดำที่ไหนให้แจ้งกับกรมประมงทันที

‘ดร.สุวินัย’ มองปัญหาของ ‘ไทย’ ไม่ใช่แค่ ‘ปลาหมอคางดำ’ บุกระบบนิเวศ แต่ยังมี ‘ทุนนอก’ บุกระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นเกิด ‘วิกฤตฐานรากปี 2567’

(24 ก.ค. 67) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘วิกฤติปลาหมอคางดำ’ กับปัญหา ‘Competitive Exclusion’ ในระบบนิเวศของเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า…

● ปัญหาเรื่องปลาหมอคางดำในเชิงชีววิทยา

ในเรื่องเกี่ยวกับระบบนิเวศนี้ ผู้รู้ทางชีววิทยาเขาจะแบ่งสิ่งมีชีวิตเป็น ...
(1) พวกผลิตเองได้ (autotroph) เช่น พืช 
(2) พวกผลิตอาหารเองไม่ได้ (heterotroph) เช่น สัตว์ทั่วไป ซึ่งจะแบ่งย่อยเป็นพวกกินพืช (herbivores) พวกกินสัตว์ (carnivore) พวกกินทั้งพืชและสัตว์ (omnivore)
(3) พวกผู้ย่อยสลายหรือพวกที่กินซาก (decomposer หรือ saprophytes) เช่น เห็ดรา สัตว์กินซาก นกแร้ง วรนุช ฯลฯ

การที่ผู้รู้ทางชีววิทยาแยกประเภทแบบนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ในระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตแต่ละประเภทนี้มันอยู่ที่ไหนในห่วงโซ่อาหาร การที่ปลาหมอคางดำมันสร้างปัญหาอยู่ตอนนี้ ก็เพราะมันกินทั้งพืช สัตว์ และซาก 

เท่านั้นยังไม่พอ ปลาหมอคางดำยังอยู่ได้ทั้ง 4 น้ำคือ น้ำเค็ม น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำร้อน (ทนอุณหภูมิสูงได้) ด้วยเหตุนี้ ปลาหมอคางดำจึงสามารถขยาย ‘พื้นที่ของตัวเอง’ ไปในระบบนิเวศ จนมันไม่เหลือพื้นที่ให้คนอื่นเขาอยู่

แค่นี้ยังไม่พอ ปกติพวกสัตว์จะมีการสืบพันธุ์ แบบ K type กับ R type

K type นี้จะมีลูกน้อย อายุยาวต้องเลี้ยงลูกนาน โอกาสรอดของลูกจึงสูงกว่า ถ้ามีลูกน้อย (สัตว์มนุษย์จัดอยู่ใน K type)

ส่วนพวก R type นี้จะออกลูกมาก เพราะโอกาสรอดของลูกมันจะต่ำ อาจจะถูกสัตว์อื่นกินไปมากก่อนจะโต เช่น นก หนู ปลา 

ส่วนเจ้าปลาหมอคางดำนี้ แม้จะเป็นพวก R type แต่ปลาหมอคางดำกลับมีวิวัฒนาการที่เหนือกว่าปลาทั่วไปที่พอผสมพันธุ์ภายนอกตัวเสร็จ ก็ไม่ดูแลต่อ 

แต่พ่อปลาหมอคางดำกลับอมลูกในปาก ปกป้องลูกของมัน จนมันอัตราการรอดมันสูงแบบ K type ไม่เหมือน R type ชนิดอื่น

มิหนำซ้ำปลาหมอคางดำยังกินทุกอย่าง อยู่ได้ทุกที่ ขยายพันธุ์เร็ว มีโอกาสรอดสูง..ปลาหมอคางดำจึงรุกเข้าไปอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกระบบนิเวศ และทุก niche ในน้ำ...มันจึงสร้างปัญหาร้ายแรงต่อระบบนิเวศ

ในทางนิเวศวิทยา มีศัพท์คำหนึ่งคือ ‘Competitive Exclusion Principle’... ซึ่งโดยหลัก ๆ มันคือสิ่งเดียวกับคำกล่าวที่ว่า ‘เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’

ในระบบนิเวศสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ล้วนต้องผ่านขบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเขาจะหา ‘พื้นที่’ ของเขาในระบบนิเวศ หรือ niche ในการอยู่อาศัยของเขา เช่น จิ้งเหลนอยู่หากินตามพื้น, กิ้งก่าอยู่หากินบนต้นไม้ ไม่ทับเส้นกัน 

แต่ถ้าเมื่อไรมันทับเส้นกัน มันจะมีแค่สัตว์ชนิดเดียวที่หากินเก่งกว่า ที่มันจะรอด สัตว์ชนิดไหน ตัวไหน ถ้าหา niche ใหม่ไม่ได้ก็ตายหรือสูญพันธุ์ไป 

แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อเจ้าปลาหมอคางดำนี้ มันกระจายตลาดของมันไปแทบจะทั่วทุก niche ในระบบนิเวศ?

จากหลักการของ Competitive Exclusion Principle ข้างต้น เราย่อมคาดการณ์ได้ว่า ...

มันคงมีหลายชีวิตหลายสายพันธุ์ ที่มันแข่งขันในตลาด ใน niche ของตัวเองไม่ได้อีกต่อไป...จนอาจจะต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด

แน่นอนว่าในระบบนิเวศนี้มันไม่ได้อาศัยการแข่งขันกันอย่างเดียว แต่มันต้องพึ่งพาอาศัยกันด้วย 

เมื่อเกิดการสูญพันธุ์จำนวนมาก พอมาถึงจุด ๆ หนึ่ง ตัวระบบนิเวศทั้งระบบมันก็คงอยู่ไม่ได้ต้องล่มสลายลง

● การรุกคืบของทุนต่างด้าวที่หนีตายจากประเทศตัวเอง 

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็ใช้การแข่งขันตามกลไกตลาด โดยผ่านขบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) เช่นกัน

การแข่งขันกันในตลาดนั้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์มันเป็นสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค...คนที่แข็งแกร่งก็อยู่รอด ส่วนคนที่แข่งต่อไม่ได้ก็ต้องล้มตายไป

จะเห็นได้ว่าในที่สุด ‘เศรษฐกิจไทย’ ก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยง Competitive Exclusion Principle นี้ไปได้ ... โรงงานต่าง ๆ ธุรกิจต่าง ๆ ร้านค้าต่าง ๆ แห่ทยอยปิดตัว เพราะแข่งขันในตลาดต่อไปไม่ได้

กล่าวในเชิงระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ...ตอนนี้ธุรกิจคนไทยต้องเผชิญกับ alien species อื่น หรือ ‘กองทัพธุรกิจต่างด้าว’ (ปลาหมอคางดำเวอร์ชันธุรกิจ) ที่เขาหนีตายจากการแข่งขันใน ‘เกมกินรวบ Competitive Exclusion’ ของเจ้าพ่อ Platform ในประเทศของตน โดยหันมายึดตลาดใหม่ในบ้านเราแทน

นอกจากนี้ยังมีการผงาดขึ้นของ AI และหุ่นยนต์ที่ต่อไปก็จะเข้ามากินรวบแบบ Competitive Exclusion ใน ‘ตลาดแรงงาน’ ของจีนและของไทยอีกในไม่ช้า

สุดท้ายเมื่อมันเหลือแต่ ‘สปีชีย์ที่แข็งแกร่งที่สุด’ ที่ครอบครองได้ ‘ทุกตลาด’ ของระบบเศรษฐกิจไทยเท่านั้นที่จะอยู่รอดและเป็นใหญ่ได้

พอเป็นแบบนี้ ต่อไปชนชั้นล่างไทย ชนชั้นกลางไทย และธุรกิจรายเล็กรายน้อยของคนไทย มันจะเหลืออะไร?

~เรียบเรียงจากเพจของ เต่า วรเดช

● ‘วิกฤติฐานรากปี 2567’ น่าจะหนักกว่าและยืดเยื้อกว่า ‘วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540’ อย่างเห็นได้ชัด

เนื่องเพราะ ‘วิกฤติฐานรากปี 2567’ ประกอบด้วย 2 วิกฤติผสมผสานกันกลายเป็นแรงบวกที่ส่งผลกระทบหนักขึ้นเป็นสองเท่า

2 วิกฤติที่ว่านั้นคือ

(1) ‘วิกฤติหนี้ครัวเรือน’ ที่ตอนนี้ได้สะสมจนทะลุ 91.3% ของ GDP ทำให้กำลังจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนหายไปไม่น้อย

(2) วิกฤติการล่มสลายของ ‘ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ’ ของธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย ที่ถูก ‘ทุนจีน’ บุกเข้ามารุมขยี้ เพื่อยึดพื้นที่ด้วยกลยุทธ์ถล่มราคาแบบบ้าเลือด โดยมุ่งให้ธุรกิจเดิมของคนไทยอยู่ต่อไม่ได้

ธุรกิจไทยที่ร่วงแล้วหรือกำลังจะร่วง เพราะถูกทุนจีนบุกได้แก่…เสื้อผ้า / สินค้าอุปโภคของใช้ในชีวิตประจำวัน / สินค้าบริโภคร้านเล็กร้านน้อย / โรงแรม-รีสอร์ทท้องถิ่นขนาดเล็ก / อุตสาหกรรมการผลิตขนาดเล็ก / ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ของรถยนต์สันดาป / ร้านค้าออนไลน์ 

คนไทยต้องเตรียมรับมือผลกระทบอย่างยืดเยื้อ อันเนื่องมาจาก ‘วิกฤติฐานรากปี 2567’ ให้ดีเถิด

ด้วยความปรารถนาดี

~ สุวินัย ภรณวลัย
Suvinai Pornavalai

'ธนกร' ชื่นชม!! 'นายกฯ-พีระพันธุ์' คงมาตรการตรึงค่าไฟ-ดีเซล ช่วย 'กลุ่มเปราะบาง-ประชาชน' ได้มากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

(24 ก.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงมาตรการตรึงค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ว่า ประชาชนฝากขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล โดยเฉพาะนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานที่เสนอ ครม.ให้มีมติขยายมาตรการตรึงค่าไฟฟ้าให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยที่หน่วยละ 4.18 บาท โดยเฉพาะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน อยู่ที่หน่วยละ 3.99 บาท และค่าน้ำมันดีเซล ที่ลิตรละ 33 บาท ออกไปอีก 4 เดือน ตั้งแต่ ก.ย.-ธ.ค.67 นี้

โดยต้องขอชื่นชมและขอบคุณนายพีระพันธุ์ ที่มุ่งมั่นสานต่อแนวทางและมาตรการเดิมตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ให้เป็นมาตรการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของพี่น้องประชาชน นอกจากนั้นทราบว่ากำลังร่างกฎหมายออกมาเพื่อปรับโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศแบบระยะยาวให้เกิดความยั่งยืน ตามแนวทาง 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' พลังงานของไทย ซึ่งเชื่อว่า จะได้รับความร่วมมือและสนับสนุน จากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนโดยตรง

“การจะรื้อโครงสร้างพลังงานของไทยที่ใช้ระบบเก่าทำกันมายาวนานเกือบ 50 ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างมาก จึงขอเป็นกำลังใจให้นายกฯ และนายพีระพันธุ์ รวมถึงรัฐบาล โดยพรรครวมไทยสร้างชาติในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมร่วมมือผลักดันกฎหมายให้เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาพลังงานของบ้านเราให้เกิดความเป็นธรรม ช่วยเหลือประชาชนมากก่อนกลุ่มทุนภาคเอกชน“ นายธนกรกล่าว

'พิชัย' เผย!! เหตุผล ทำไม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ จึงจำเป็น ชี้!! แม้จะกลัวหนี้ แต่ปชช.-ร้านค้าเดือดร้อน รัฐก็อยู่ไม่ได้

(24 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการแถลงข่าว ‘ดิจิทัลวอลเล็ต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้’ โดยมีนาย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ร่วมแถลงด้วย

นายพิชัย กล่าวตอนหนึ่งว่า คำถามเรื่องรัฐบาลไม่กลัวเรื่องการก่อหนี้หรือ เพราะรัฐบาลต้องใช้เงินก้อนโต แต่หนี้นั้นอาจจะได้รับการชดใช้จากการเก็บภาษี คำตอบคือโครงการนี้จะเก็บภาษีได้เท่าใด แล้วไปสร้างการเติบโตรูปอื่น ๆ ของการลงทุน เพื่อนำมาซึ่งภาษีที่เพิ่มขึ้นอย่างไร ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่โครงการแจกเงินธรรมดา แต่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบตามห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งนี้ ตนอยากย้ำว่า วันนี้มี 3 กลุ่ม

1.ประชาชนที่หนี้สูงถึงใกล้จมูก หายใจจะไม่ออก

2.ร้านค้าขนาดเล็กขายของไม่ได้และอาจปิดตัว ซึ่งอาจต้องดูว่าปิดเพราะไม่มีกำลังซื้อ หรือเพราะกำลังเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ธุรกิจสมัยใหม่ ก็อาจต้องดูอีกตัวเลขหนึ่ง คือการลงทุนในแพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Production Platform) โดยเฉพาะจากต่างประเทศที่มาเปิดใหม่ คือต้องดูว่าปิดกิจการเพราะไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกับผู้มาลงทุนใหม่ ต้องดูควบคู่กันไปด้วย

3.รัฐบาล แม้จะกลัวเรื่องหนี้ แต่หากอีก 2 เสาอยู่ไม่ได้ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เพราะประชาชนและร้านค้าคือพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ

“ดังนั้นคำว่าวินัยการเงินการคลัง วันนี้เราเดินตามวินัยการเงินการคลังภายใต้ข้อสมมติฐานว่า ไม่อยากเห็นหนี้ของรัฐเกิน 70% ของ GDP เกรงว่าจะผลักภาระนั้นให้ลูกหลาน แต่ถ้าเศรษฐกิจโตได้ รัฐบาลก็สามารถจะมีรายได้ในอนาคตมากขึ้น ก็จะสามารถดูแลภาระนั้นได้ ถ้าเศรษฐกิจไม่โต แน่นอนไม่ว่าจะ 70 หรือต่ำกว่า 70 หรือมากกว่า 70 มีปัญหากันถ้วนหน้า” นายพิชัย กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการพิจารณารายละเอียดโครงการฯ อย่างรอบคอบ สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ข้อกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุมนั้น โครงการฯ มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเมื่อเริ่มดำเนินโครงการฯ แล้ว จะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ลูก ได้แก่

>> พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน

>> พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่

>> พายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ

>> พายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

ทั้งนี้ รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน 2567 และมีกำหนดการที่จะให้เริ่มใช้จ่ายในโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

'ท่องเที่ยวไทย' ไปโลด!! นทท.ทะลุ 19 ล้าน 1 ม.ค. - 21 ก.ค. 2567 ต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยต่อเนื่อง ค่าเฉลี่ย 96,643 คนต่อวัน

เมื่อวานนี้ (23 ก.ค. 67) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-21 ก.ค. 67 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศแล้วทั้งสิ้น 19,618,476 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 925,100 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 3,906,735 คน มาเลเซีย 2,744,253 คน อินเดีย 1,149,039 คน เกาหลีใต้ 1,032,169 คน และรัสเซีย 977,215 คน

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-21 ก.ค.) จากการเริ่มเข้าสู่ช่วงวันหยุดปิดภาคเรียน (School holiday) ของนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะใกล้ (Short haul) อาทิ จีน เกาหลีใต้ และฮ่องกง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น 1.02% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวสะสม แตะระดับ 1 ล้านคน ในขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล (Long haul) เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น 0.71% จากการเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (Summer holiday) ของนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์

สำหรับภาพรวมของสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 709,267 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 6,597 คน หรือ 0.94% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 101,324 คน โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ จีน 162,798 คน มาเลเซีย 90,966 คน อินเดีย 37,758 คน เกาหลีใต้ 35,255 คน และลาว 28,482 คน

ส่วนในสัปดาห์นี้ (22-28 ก.ค.) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาทรงตัว จากปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง ได้แก่ การเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว Summer holiday ของตลาดภูมิภาคยุโรป การมีมาตรการ Ease of traveling ของรัฐบาล ช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ไทย การยกเว้นบัตร ตม.6 ในด่านทางบก และการกระตุ้นให้สายการบินเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top