ลุ้น 'พีระพันธุ์’ ตรึงค่าไฟ 'ก.ย.-ธ.ค.' คงไว้ 4.18 บาทต่อหน่วย คาด!! อาจต้องของบประมาณจากรัฐบาลมาช่วยหนุน
ไม่นานมานี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที งวดปลายปี (กันยายน-ธันวาคม 2567) พบว่าต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกประมาณหน่วยละ 20-40 สตางค์ จากค่าไฟงวดปัจจุบันหน่วยละ 4.18 บาท และจะมีการแถลงข่าว 3 ทางเลือกค่าไฟวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ทำการเลือกและแสดงความเห็น ก่อนจะประกาศใช้ทางการวันที่ 1 สิงหาคมนี้
สำหรับปัจจัยการขึ้นค่าไฟมาจากต้นทุนเชื้อเพลิง ปริมาณการใช้ไฟฟ้า และหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วงเงินประมาณ 98,000 ล้านบาท ดังนั้น ตัวเลขการปรับขึ้นจะอยู่ใน 3 ทางเลือก คือ 1.ขึ้นไม่มาก รวมการคืนหนี้ กฟผ.เล็กน้อย 2.ขึ้นบางส่วนรวมคืนหนี้ กฟผ.บางส่วน และขึ้นสูงสุด หมายถึงการคืนหนี้ให้ กฟผ. วงเงินประมาณ 98,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เมื่อรับฟังความเห็นแล้ว จะเลือกการปรับขึ้นน้อยที่สุด
“ส่วนแนวทางไม่ขึ้นเลย ตรึงระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ต้องขึ้นกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณา โดยอาจของบประมาณจากรัฐบาลมาสนับสนุน” รายงานข่าวระบุ
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งด้วยว่า ความคืบหน้าการกำหนดราคาดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ภายหลังครบกำหนดกรอบราคาไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดตรึงราคาตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2567 และครบกำหนด 31 กรกฎาคม 2567 นั้น เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายพีระพันธุ์เป็นประธาน จะพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นราคาดีเซลแบบทยอยขึ้นกรอบ 1 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาปลายทางระดับไม่เกิน 34 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันฐานะ ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 ติดลบ 111,595 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 63,944 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจี ติดลบ 47,651 ล้านบาท
รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังมีความผันผวนสูง ช่วงเดือนที่ผ่านมาแนวโน้มลดลงบ้างจนกองทุนน้ำมันฯลดอุดหนุนระดับ 4 บาทต่อลิตร จนสามารถเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันฯสำเร็จ แต่ขณะนี้แนวโน้มกลับมาขึ้นอีกครั้ง ทำให้กองทุนน้ำมันฯต้องอุดหนุนกว่า 2 บาทต่อลิตร สถานการณ์ดังกล่าวหากไม่ปรับราคาหลังวันที่ 31 กรกฎาคม อาจทำให้กองทุนน้ำมันฯสถานการณ์ยิ่งแย่
รายงานข่าวระบุอีกว่า ก่อนจะพิจารณาแนวทางปรับราคา ตลอดจนเดือนมิถุนายนจนถึงปัจจุบัน ได้พยายามดำเนินการอีก 2 แนวทางเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาขายปลีก แต่ด้วยสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ พบว่าไม่น่าจะดำเนินการได้ ประกอบด้วย...
1. การส่งหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบกลางปี 2567 วงเงิน 6,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ดีเซล 6,000 ล้านบาท และแอลพีจี 500 ล้านบาท เป็นตามที่ ครม.อนุมัติไว้ภายใต้เงื่อนไขให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯดูแลราคาน้ำมันและแอลพีจีก่อน แต่เบื้องต้นได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการว่างบกลางฯมีจำกัด อาจไม่สามารถนำมาดูแลราคาดีเซลและแอลพีจีได้
2. การเสนอกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลลงในอัตราที่เหมาะสม เบื้องต้นจากท่าทีของกระทรวงการคลังไม่ตอบรับการลดภาษีดังกล่าว เพราะจำเป็นต้องจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด นอกจากฐานะกองทุนน้ำมันฯที่ติดลบทะลุแสนล้าน กองทุนน้ำมันฯยังมีภาระหนี้จากการกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องประมาณ 110,000 ล้านบาท กองทุนน้ำมันฯมีภาระต้องจ่ายคืนเงินต้นกู้จากสถาบันการเงินก้อนแรก 30,000 ล้านบาท เดือนพฤศจิกายนนี้
ดังนั้น จึงต้องพยายามดูแลสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ และวางแผนการชำระหนี้ดังกล่าว เดือนกรกฎาคมนี้จะทำแผนการบริหารหนี้ภาพรวมเสนอสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คาดว่า สบน.จะทำแผนบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2568 ภายในเดือนสิงหาคม 2567
ด้านนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามกระแสข่าวคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีแนวโน้มจะปรับราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1 บาท จาก 33 บาท ไป 34 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นเรื่องจริงนั้น ทางสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จะรับมือเบื้องต้นในการขึ้นราคาค่าขนส่งเพิ่ม รวมถึงเดินหน้าสานต่อการเคลื่อนม็อบรถบรรทุกทันที หลังจากเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ที่มา : Matichon