Friday, 2 May 2025
ECONBIZ NEWS

สศช. คุย คลัง ธปท. ออกมาตรการช่วยเอสเอ็มอี ท่องเที่ยว 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจ ว่า ขณะนี้ รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท โดยจะนำมาใช้สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ล่าสุด สศช. ได้หารือร่วมกับทีมเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะเริ่มดำเนินโครงการช่วยเอสเอ็มอีทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และหากสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว เศรษฐกิจเริ่มเดินหน้าได้ และควบคุมการระบาดได้ มีวัคซีนเข้ามาตามกำหนด อาจจะต้องหาวิธีการเร่งด่วนมาใช้ช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับกระทบต่อไป 

ส่วนภาพรวมโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมใน พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีวงเงิน 4 แสนล้านบาท ล่าสุดมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ได้นำไปใช้ในเรื่องการเยียวยาและการสาธารณสุข เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ และด้วยสถานการณ์ขณะนี้มีการระบาดที่มีผลกระทบกับประชาชนวงกว้างมาก จึงต้องเร่งหารือกับหน่วยงานที่ดำเนินโครงการอยู่แล้ว โดยต้องประเมินโครงการก่อนว่าผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ซึ่งอาจเป็นการต่อโครงการออกไปอีก 1 ปี หรือจะขยายขนาดของโครงการออกไป  

“ในเวลานี้ การดำเนินงานที่เห็นผลได้ชัดคือเรื่องการจ้างงาน เท่าที่ดูตัวเลขการจ้างงานขณะนี้อยู่ที่ 3-4 แสนราย ทำให้อย่างน้อยคนมีรายได้และมีการใช้จ่าย สำหรับผลกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมนั้น ในแง่ของการบริโภคสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน อีกส่วนหนึ่งที่อยู่นอกเหนือแผนฟื้นฟูเป็นเรื่องของการกระตุ้นการบริโภคโดยตรง เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจในภาพใหญ่ค่อนข้างมาก” 

ขึ้นทะเบียน ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่-เครื่องเคลือบเวียงกาหลง เป็นสินค้าจีไอ

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) อีก 2 รายการ ได้แก่ ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ และเครื่องเคลือบเวียงกาหลง ซึ่งเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วจะช่วยคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิเฉพาะของชุมชน และช่วยรักษามาตรฐานของสินค้ารวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งต้นกำเนิดคุณภาพของสินค้า และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอแล้ว 141 รายการ ครบ 77 จังหวัด

สำหรับสินค้าจีไอทั้ง 2 รายการล่าสุดนั้น ในรายการแรก คือ ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ ถือเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีเนื้อสัมผัสเนียน แน่นหนึบ แห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวาน มัน ปลูกในอำเภอปากช่องซึ่งจัดอยู่ในพื้นที่ทุ่งหญ้าเขตร้อน มีมรสุมหลักพัดผ่าน ทำให้อากาศชุ่มชื้น มีฝนตกชุก สภาพอากาศกลางวันร้อนกลางคืนเย็น จึงทำให้ธาตุอาหารโพแทสเซียมที่สะสมอยู่ในเวลากลางคืนทำงานได้ดี ส่งผลให้ทุเรียนในพื้นที่นี้รสชาติดี

ส่วนเครื่องเคลือบเวียงกาหลง มีลักษณะเด่นในการขึ้นทะเบียนจีไอ เพราะสามารถทนความร้อนสูง ผิวเรียบใสแต่ไม่มันเงา มีรอยแตกที่ผิวจากน้ำเคลือบ ดินที่ใช้ในการผลิต เป็นดินขาวเนื้อละเอียด มีความหนืดสูงคล้ายผงชอร์ค และดินดำเป็นดินที่อยู่ใต้ชั้นดินทราย สีดำแกมเทา มีความละเอียดสูง มีทรายปนเล็กน้อย ซึ่งเป็นดินในพื้นที่ตำบลเวียงกาหลงเชียงรายหรือพื้นที่ข้างเคียงเท่านั้น และด้วยกรรมวิธีการเผาทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีพื้นผิวสีเขียวอมฟ้า เขียวไข่กา หรือขาวอมเหลือง โดยมีการเขียนสีด้วยสีธรรมชาติ เป็นลวดลายเป็นเอกลักษณ์

พาณิชย์จับตาเงินเฟ้อช่วงโควิด-ล็อกดาวน์ คาดทั้งปี 0.7 – 1.7%

นายวิชานัน  นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ เงินเฟ้อประจำเดือนก.ค. 2564 ปรับตัวมาอยู่ที่ 0.45%  ชะลอตัวจาก 1.25% ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหารสดบางประเภท อาทิ เนื้อสุกร ไข่ไก่และผลไม้สด ตามความต้องการในช่วงล็อกดาวน์ ประกอบกับเกิดโรคระบาดในสุกรส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง นอกจากนี้ ไข่ไก่และผลไม้สด ฐานราคาของปีที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำ 

ขณะที่มาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งการลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา ในรอบเดือนก.ค. – ส.ค. 2564 และการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมทั้ง การลดลงของอาหารสดบางประเภท (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสด) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัว ส่วนสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ 

ส่วนคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนส.ค. 2564 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากมาตรการลดค่าครองชีพผู้บริโภคของภาครัฐ ทั้งการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ในรอบเดือนก.ค. – ส.ค. 2564 สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ตามปริมาณผลผลิตและความต้องการ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ 

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศ อย่างไรก็ตาม แผนการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดย สนค.ประเมินว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7 – 1.7% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง”

นายกฯ ย้ำ เดินหน้าโครงการ EEC ดันเศรษฐกิจประเทศ รองรับโลกยุคใหม่ เพื่อวันนี้และอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ Video Conference ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน นายอนุขา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า

ที่ประชุมฯ รับทราบความก้าวหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยรัฐบาลให้ความสำคัญเดินหน้าปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในทุกมิติ

ทั้งนี้ โครงการ EEC ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วน รัฐบาลทำงานเพื่อวันนี้และอนาคต รองรับโลกยุคใหม่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงการพบปะหารือกับเอกอัครราชทูตหลายประเทศว่า หลายประเทศมีความสนใจที่จะมาร่วมลงทุนในประเทศไทย รวมถึงความร่วมมือในการที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงขอให้ทุกหน่วยติดตามและทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง รวมทั้ง ขอให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบความถึง ผลงานและความก้าวหน้าของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่และทั้งประเทศจะได้รับจากโครงการ  EEC สำหรับแก้ไขปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของทุกหน่วยงาน บูรณาการการทำงานให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

“นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เร่งเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานในประเทศ ให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการดึงคนรุ่นใหม่ หรือ Start Up ที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้านมาร่วมทำงานด้วย เพิ่มการจ้างงาน ทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอันส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ GDP และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องของการจัดหาแหล่งน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเตรียมความพร้อมเรื่องน้ำทั้งด้านอุปโภค บริโภค การเกษตร การผลิต และอุตสาหกรรม สำหรับรองรับ EEC ในอนาคต

ขณะที่การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเมืองใหม่ที่จะมีประชากรเพิ่มขึ้นให้มีน้ำเพียงพอกับความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในเรื่องของอุตสาหกรรมต้องไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งอันจะทำให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐเกิดผลได้เร็วขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

“ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญเดินหน้าปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในทุกมิติ  โครงการ EEC ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วน รัฐบาลทำงานเพื่อวันนี้และอนาคต รองรับโลกยุคใหม่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ พร้อมกำชับทุกส่วนราชการเน้นใช้จ่ายงบประมาณต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนด้วย” นายอนุชา กล่าว


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!

A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!!

>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท

>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ

>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย

***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

กนง.เสียงแตกคงดอกเบี้ย 0.5% หั่นจีดีพี เหลือเติบโต 0.7%

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 : 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.5% โดยกรรมการ 2 เสียงข้างน้อยเสนอให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า โดย กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดมากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งโจทย์สำคัญ คือ ต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาด และกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชน และให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาโดยเร็ว  

พร้อมกันนี้ กนง. ยังปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2564 ลดลงเหลือเติบโต 0.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 1.8% และในปี 2565 จะเติบโตเพิ่มเป็น 3.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.9% เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งนโยบายการเปิดประเทศล่าช้า ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนคือมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาเพิ่มเติม แนวโน้มการส่งออกสินค้าดีกว่าคาดก็ตาม

ทั้งนี้ กนง. มองว่าสถานการณ์โควิดรอบใหม่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั้งในปีนี้และต่อเนื่องถึงในปีหน้า จึงควรจะต้องเตรียมรับมือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์โควิด-19 พัฒนาการด้านวัคซีนทั้งประสิทธิภาพและการกระจายวัคซีน รวมถึงนโยบายการควบคุมโรคและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส, ปัญหา supply disruption ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้า 

รวมทั้งความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐทั้งมาตรการทางการคลังและมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ภาคธุรกิจ ขณะที่นโยบายสาธารณะ จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับต่อความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยโจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทย คือ ต้องคุมการแพร่ระบาดให้ได้ มาตรการการเงินการคลัง ต้องช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุด และช่วยให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้

สปส. เตือนภัย ผู้ประกันตน ม33 ระวัง “มิจฉาชีพ” หลอกขอข้อมูลรับเงินเยียวยา ผ่าน google form และ sms ปลอม

​นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการรับสิทธิรับเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม รวม 13 จังหวัด 9 ประเภทกิจการ ว่า ขณะนี้มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวนกว่า 3.1 ล้านคน ที่มีสัญชาติไทย จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลคนละ 2,500 บาท สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายครั้งเดียวโดยโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนเท่านั้น ซึ่งเงินเยียวยาจะเริ่มโอนเงินรอบแรกในวันที่ 4 - 6 สิงหาคม 2564 นี้ ส่วนที่เหลือจะทยอยโอนให้ ทุกวันศุกร์ ของสัปดาห์ถัดไป โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถตรวจสอบสิทธิรับเงินเยียวยา ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th

รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวเตือนไปยังผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่า ขณะนี้พบพวกมิฉาชีพได้จัดทำ google form และส่งข้อความผ่าน SMS ปลอม ไปสอบถามข้อมูล ส่วนตัว เพื่อหลวกลวงให้ผู้ประกันตนแจ้งความประสงค์รับเงินเยียวยา 2,500 บาท และให้กรอกเลขบัตรประจําตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ จนนำไปกดลิงค์เพื่อยืนยัน ซึ่งเป็นการใช้ความสับสนของผู้ประกันตนมาเป็นกลลวง ที่อาจนำมาซึ่งความเสียหาย ทั้งทรัพย์สิน และการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล ของพวกมิฉาชีพจะนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ สำนักงานประกันสังคมจึงขอเตือนให้ผู้ประกันตน โปรดระมัดระวังอย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานประกันสังคม หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามที่สายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506

ก.แรงงาน ร่วม อินเตอร์ลิงค์และเครือข่าย เฟ้นหาสุดยอดเยาวชนด้านเน็ตเวิร์ก ปีที่ 9

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมเคเบิลลิงค์ไทย ยกระดับทักษะเยาวชนไทย จัดการแข่งขันสุดยอดทักษะสายสัญญาณและเน็ตเวิร์ก ปีที่ 9 ชิงถ้วยพระราชทาน พร้อมรับเงินรางวัล 400,000 บาท 

นางดรุณี  นิธิทวีกุล  รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ  ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล  ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายด้านการบูรณาการร่วมภาคีเครือข่ายตามแนวทางประชารัฐในการพัฒนาทักษะนักเรียน นักศึกษาให้มีความพร้อมเป็นแรงงานคุณภาพในอนาคต ได้มอบหมายให้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมเคเบิลลิงค์ไทย ส่งเสริมการเรียนรู้ความเข้าใจพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมระบบสายสัญญาณและอุปกรณ์การสื่อสาร และอุปกรณ์กระจายสัญญาณได้อย่างถูกต้อง สามารถต่อยอดการใช้งานแนวทางใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้พัฒนาทักษะความรู้ในการใช้ทรัพยากรที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศอย่างคุ้มค่า และช่วยกระตุ้นสถาบันการศึกษาให้พัฒนา ผลิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านนี้ให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต 
   
รองอธิบดี กล่าวต่อไปว่า ในปี 2564 กพร.ได้ร่วมจัดการแข่งขันสุดยอดทักษะสายสัญญาณและเน็ตเวิร์ก ปีที่ 9 ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และเงินรางวัล 400,000 บาท ซึ่งจะมีพิธีเปิดการแข่งขันในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ณ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ผ่านโปรแกรมออนไลน์ Zoom Meeting โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย รอบคัดเลือก จะคัดเลือกผู้ชนะในแต่ละภูมิภาคจากทั่วประเทศ ระหว่างเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2564 จำนวน 55 คน จากทั้งหมด 5 ภาค ได้แก่ ภาคกลางและกรุงเทพฯ ภาค ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ เพื่อเข้าค่ายทำกิจกรรม CSR เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของกิจกรรมเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้เข้ารอบทั้ง 55 คน จะได้รับมอบชุดเครื่องมือ มูลค่า 2,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร และจะได้รับการพิจารณาเข้าทำงานในเครือของบริษัทฯ ภายหลังจากจบการศึกษาด้วย และรอบชิงชนะเลิศ  โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลพระราชทานฯ และประกาศเกียรติคุณ รองชนะเลิศ รับทุนฯ 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี รางวัลที่ 3 รับทุนฯ 10,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และรางวัลชมเชย รับทุนฯ 5,000 บาท 
        
คุณสมบัติผู้สมัครต้องเป็นนิสิต นักศึกษาตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษาขึ้นไป จนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีอายุไม่เกิน 25 ปี  ต้องมีสถาบันการศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษารับรองโดยเป็นตัวแทนของสถาบันไม่เกิน 2 คนต่อสถาบัน ซึ่งผู้สมัครจะต้องกำลังศึกษาอยู่ในเขตพื้นที่ของภูมิภาคนั้นๆ ผู้ที่เคยผ่านการแข่งขันในรอบคัดเลือกในปีอื่น ๆ ไม่สามารถสมัครเข้าร่วมแข่งขันซ้ำได้อีก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร 02-6661111 ต่อ 368-374 หรือสมัครออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ http://cablingandnetworkingcontest.com อีเมล [email protected] รองอธิบดีกล่าวทิ้งท้าย

พรบ. ทุนรัฐวิสาหกิจเปิดทางให้มูลค่าสินทรัพย์รัฐบาลเพิ่มกว่า1 ล้านล้านบาท จาก ปตท. และ ทอท.

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ คือ ปตท. การไฟฟ้าทั้ง 3 ทีโอที+กสท. กสทช. การท่าอากาศยาน และ องค์การเภสัช

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ในฐานะรองประธาน ได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ และขอให้แต่ละแห่งต้องบริหารการเงินให้ดีเพราะงบประมาณของรัฐในอนาคตจะไม่มีงบเพื่อสนับสนับสนุนรัฐวิสาหกิจเช่นในอดีต ปตท. และการท่าอากาศยานได้รับความสำเร็จในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่น่าเสียดายที่ไฟฟ้าและโทรคมนาคมพลาดโอกาส เมื่อ 20 ปีก่อนที่ตนผลักดันพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ได้ถูกต่อต้านอย่างมาก จนถูกกล่าวหาว่าเป็นกฎหมายขายชาติ 

แต่ผลในปัจจุบันปรากฏว่ามูลค่าทุนของ ปตท. ที่รัฐเคยถือไว้ก่อนเข้าตลาดได้เพิ่มจาก 30,000  ล้านบาท เป็น 600,000 ล้านบาท ในปัจจุบันและทุนของการท่าอากาศยานได้เพิ่มจาก 5,747 ล้านบาทเป็น 575,000 ล้านบาท รวมทั้งสองแห่งเท่ากับว่า พรบ. ทุนฯ ได้เปิดทางให้มูลค่าทุนของรัฐบาลเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท นอกเหนือจากเงินปันผลที่ได้รับอีกกว่า 1 ล้านล้านบาทในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยที่กระทรวงการคลังยังถือหุ้นใน ปตท. และ ทอท. 60 % และ 70 % ตามลำดับ

ดร.พิสิฐ กล่าวชม ปตท. ในความสำเร็จที่ผ่านมาจนได้เป็นบริษัทที่มี ฐานะเป็นอันดับ 1 ในตลาดหลักทรัพย์ โดยได้ขยายสัดส่วนในตลาดน้ำมันจาก 10% มาเป็น 40% ในปัจจุบัน นอกจากการเน้นการค้า LNG ปตท. ยังพยายามสร้างธุรกิจใหม่ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการผลิตรถ EV 
ส่วนการไฟฟ้าทั้ง 3 ผลจาก COVID-19 ทำให้กำไรลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ดร.พิสิฐ ขอให้มุ่งหน้าพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

สำหรับการควบรวมทีโอทีและ กสท. จะมีการลดพนักงานโดยการให้สมัครใจลาออกพร้อมค่าสอบแทนเป็นแรงจูงใจถึง 6,000 นายในรอบ 3 ปี ดร.พิสิฐ ขอให้มีการดูแลให้คนที่ออกมีการยกระดับความรู้ (reskill) เพื่อกลับเข้าตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพและขอให้พิจารณาการให้บริการ free WiFi โดยเฉพาะเพื่อการศึกษาในยุคของ WFH และให้ดูตัวอย่างของออสเตรเลียที่สามารถชักนำให้ Facebook ต้องจ่ายเงินเพื่อช่วยสื่อสารมวลชนที่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สำหรับการท่าอากาศยานในรอบ 3 ปี มีความเสียหายจากคนไม่เดินทางเพราะ COVID-19 รวมเป็นการตกต่ำของรายได้ถึง 100,000 ล้าน แต่ฐานะการเงินของ ทอท. ก็ยังมั่นคง อาจไม่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐ

กกร. ปรับลดการเติบโตจีดีพีของไทยปี 2564 อีกครั้งจากเดิมอยู่ในกรอบ 0-1.5% เหลือ -1.5 - 0% หลังรัฐขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ แต่ปรับการส่งออกเพิ่มจาก 8-10% เป็น 10-12% จากการฟื้นตัวของศก.โลก แต่ยังคงต้องคุมไม่ให้เกิดการระบาดในโรงงาน

กกร. ปรับลดการเติบโตจีดีพีของไทยปี 2564 อีกครั้งจากเดิมอยู่ในกรอบ 0-1.5% เหลือ -1.5 - 0% หลังรัฐขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ แต่ปรับการส่งออกเพิ่มจาก 8-10% เป็น 10-12% จากการฟื้นตัวของศก.โลก แต่ยังคงต้องคุมไม่ให้เกิดการระบาดในโรงงาน ค้านรัฐหากเดินหน้า Full Lockdown

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติและถลำลึกกว่าที่คาดไว้และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว เพราะเรายังไม่สบความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 ยังไม่อาจกระจายวัคซีนได้มาก แม้มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ มา 14 วันแล้วก็ตาม ทำให้ภาครัฐต้องขยายมาตรการ Lockdown ออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม และขยายวงกว้างออกไปหลายจังหวัดซึ่งประเมินว่ากระทบคิดเป็น 300,000-400,000 ล้านบาท เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก ธุรกิจทุกส่วนได้รับผลกระทบรุนแรงทั้ง เอสเอ็มอี แรงงาน ไม่เว้นแม้กระทั่งส่งออก และจากการหารือต่างเห็นพ้องกันว่ารัฐบาลไม่ควรดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดย Full lockdown โดยควรต้องอยู่กับมันให้ได้แต่ต้องมีวัคซีนและชุดตรวจเชื้อเร่งด่วน (Antigen Test Kit) หรือ ATK ที่เพียงพอ

นอกจากนี้ รัฐต้องเตรียมมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจให้พร้อมเพราะภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงโดยภาคครัวเรือนเผชิญภาระหนี้ที่เพิ่มสูงกว่า 90% ต่อจีดีพี และต้องการการเยียวยาเพื่อชดเชยรายได้ที่หดหายไปและการฟื้นฟู การเตรียมพร้อมงบประมาณซึ่งเพดานหนี้สาธารณะควรขยายให้มากกว่า 60% ต่อจีดีพี เป็น 65-70% เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการกับสถาบันการเงินเพิ่มเติมภายใต้ข้อจำกัดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ระดับ 0% เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ

ขณะเดียวกันกกร.เห็นว่าควรขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ของการจัดเก็บภาษี ปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565) เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 60% ขึ้นไป ขอกรมสรรพากร ยกเว้นภาษี SMEs 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ E-Tax รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ

โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายา "ฟาวิพิราเวียร์" ที่กำลังมีความต้องการสูง เป็นต้น

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.ได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่าการจัดหาวัคซีนเป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเห็นว่าวัคซีนทางเลือกควรจะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้เอกชนมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันดูแลสูงขึ้นโดย ATK ต้องซื้อไว้ตรวจพนักงานอย่างเพียงพอจึงเห็นว่ารัฐควรจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวส่วนหนึ่งซึ่งคิดว่าเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่รัฐต้องใช้เยียวยาซึ่งภาคเอกชนยืนยันว่าไม่เห็นด้วยหากรัฐจะมีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบโดยห้ามออกจากบ้าน หรือ Full Lockdown เพราะจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ขณะนี้ก็ย่ำแย่อยู่แล้วและเศรษฐกิจไทยอาจต่ำสุดในภูมิภาค

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่ววว่า วัคซีนยังเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐต้องเร่งจัดหา รวมไปถึง ATK ที่เอกชนมองว่ารัฐควรจะช่วยเหลือเอกชนในส่วนนี้ และยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับ Full Lockdown เพราะหากไม่สามารถจัดวัคซีนแยกคนป่วยที่กลุ่มสุ่มเสี่ยงออกจากกัน ระบบสาธารณสุขเอาไม่อยู่ เศรษฐกิจก็พังลงได้เช่นกัน

จุรินทร์ กำชับ ดึงประโยชน์ FTA ช่วยผู้ประกอบการส่งออก ลดต้นทุนการผลิต-การส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ เพราะสถานการณ์นี้ประเทศต้องพึ่งพาส่งออกเป็นขาหลัก

วันที่ 3 ส.ค. นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามนโยบายด้านเขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Area หรือ FTA ที่ประเทศไทยได้ประโยชน์ทั้งนี้เพื่อประกอบเป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้ส่งออกในการหาตลาดที่เป็นประโยชน์และลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนการส่งออกได้นับจากนี้

นางมัลลิกา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศที่ไทยมี FTA กับ 18 ประเทศ โดยในปี 2563 มีการค้ากับประเทศที่มี FTA รวม 276,005 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,044,703 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 63 ของการค้าไทยกับทั้งโลก สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 คือระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 การค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่ารวม 167,372 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,297,055 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นการส่งออกไปประเทศคู่ FTA มีมูลค่ารวม 81,961 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563

ซึ่งในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการค้ามีการขยายตัวในประเทศที่มีการทำ FTA โดยเฉลี่ยประมาณ 150-200% ในขณะที่ประเทศที่ไม่มี FTA มีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 50-100%โดยการใช้สิทธิประโยชน์ผ่าน FTA ในปี 2563 มีมูลค่า 58,077.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 76.5 ของการส่งออก ที่ได้รับสิทธิ FTA

"ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 คือ มกราคม-เมษายน 2564 มีการขอใบรับรองเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกด้วย FTA มูลค่า 23,082.45 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ ร้อยละ 74.91 ของมูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ FTA เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 18.09 และประเทศที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย" นางมัลลิกา กล่าว

อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลผู้ประกอบการทุกระยะเพื่อได้ใช้ประโยชน์ทางการค้าและเพิ่มตลาดส่งออกที่สำคัญ โดยในช่วงที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ในฐานะประธานการประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ระหว่าง 15 ประเทศ

ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และบวกอีก 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยที่ถือว่าเป็นความตกลงทางหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่า GDP 1 ใน 3 ของโลกและมีประชากรรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในการเปิดการค้าเสรีเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้ห่วงโซ่มูลค่าการผลิตโลกเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนนี้คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในต้นปี 2565 จึงอยากเชิญชวนให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าใช้บริการของ RCEP Center ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยสอบถามข้อมูลผ่าน Call Center ที่หมายเลข 02-507-7555 รวมทั้งสามารถสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ www.dtn.go.th และเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ www.moc.go.th


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!

A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!!

>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท

>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ

>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย

***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top