กกร. ปรับลดการเติบโตจีดีพีของไทยปี 2564 อีกครั้งจากเดิมอยู่ในกรอบ 0-1.5% เหลือ -1.5 - 0% หลังรัฐขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ แต่ปรับการส่งออกเพิ่มจาก 8-10% เป็น 10-12% จากการฟื้นตัวของศก.โลก แต่ยังคงต้องคุมไม่ให้เกิดการระบาดในโรงงาน

กกร. ปรับลดการเติบโตจีดีพีของไทยปี 2564 อีกครั้งจากเดิมอยู่ในกรอบ 0-1.5% เหลือ -1.5 - 0% หลังรัฐขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ แต่ปรับการส่งออกเพิ่มจาก 8-10% เป็น 10-12% จากการฟื้นตัวของศก.โลก แต่ยังคงต้องคุมไม่ให้เกิดการระบาดในโรงงาน ค้านรัฐหากเดินหน้า Full Lockdown

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติและถลำลึกกว่าที่คาดไว้และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว เพราะเรายังไม่สบความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 ยังไม่อาจกระจายวัคซีนได้มาก แม้มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ มา 14 วันแล้วก็ตาม ทำให้ภาครัฐต้องขยายมาตรการ Lockdown ออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม และขยายวงกว้างออกไปหลายจังหวัดซึ่งประเมินว่ากระทบคิดเป็น 300,000-400,000 ล้านบาท เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก ธุรกิจทุกส่วนได้รับผลกระทบรุนแรงทั้ง เอสเอ็มอี แรงงาน ไม่เว้นแม้กระทั่งส่งออก และจากการหารือต่างเห็นพ้องกันว่ารัฐบาลไม่ควรดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดย Full lockdown โดยควรต้องอยู่กับมันให้ได้แต่ต้องมีวัคซีนและชุดตรวจเชื้อเร่งด่วน (Antigen Test Kit) หรือ ATK ที่เพียงพอ

นอกจากนี้ รัฐต้องเตรียมมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจให้พร้อมเพราะภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงโดยภาคครัวเรือนเผชิญภาระหนี้ที่เพิ่มสูงกว่า 90% ต่อจีดีพี และต้องการการเยียวยาเพื่อชดเชยรายได้ที่หดหายไปและการฟื้นฟู การเตรียมพร้อมงบประมาณซึ่งเพดานหนี้สาธารณะควรขยายให้มากกว่า 60% ต่อจีดีพี เป็น 65-70% เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการกับสถาบันการเงินเพิ่มเติมภายใต้ข้อจำกัดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ระดับ 0% เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ

ขณะเดียวกันกกร.เห็นว่าควรขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ของการจัดเก็บภาษี ปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565) เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 60% ขึ้นไป ขอกรมสรรพากร ยกเว้นภาษี SMEs 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ E-Tax รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ

โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายา "ฟาวิพิราเวียร์" ที่กำลังมีความต้องการสูง เป็นต้น

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.ได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่าการจัดหาวัคซีนเป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเห็นว่าวัคซีนทางเลือกควรจะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้เอกชนมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันดูแลสูงขึ้นโดย ATK ต้องซื้อไว้ตรวจพนักงานอย่างเพียงพอจึงเห็นว่ารัฐควรจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวส่วนหนึ่งซึ่งคิดว่าเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่รัฐต้องใช้เยียวยาซึ่งภาคเอกชนยืนยันว่าไม่เห็นด้วยหากรัฐจะมีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบโดยห้ามออกจากบ้าน หรือ Full Lockdown เพราะจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ขณะนี้ก็ย่ำแย่อยู่แล้วและเศรษฐกิจไทยอาจต่ำสุดในภูมิภาค

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่ววว่า วัคซีนยังเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐต้องเร่งจัดหา รวมไปถึง ATK ที่เอกชนมองว่ารัฐควรจะช่วยเหลือเอกชนในส่วนนี้ และยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับ Full Lockdown เพราะหากไม่สามารถจัดวัคซีนแยกคนป่วยที่กลุ่มสุ่มเสี่ยงออกจากกัน ระบบสาธารณสุขเอาไม่อยู่ เศรษฐกิจก็พังลงได้เช่นกัน