Saturday, 3 May 2025
ECONBIZ NEWS

รมว.แรงงาน เร่งจัดส่งแรงงานไทยทำงานต่างประเทศตามเป้าปี 64 เผยสร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว 1.5 แสนล้านบาท

รมว.แรงงาน เผยเป้าหมายจัดส่งแรงงานทำงานต่างประเทศ จำนวน 100,000 คน จัดส่งแล้ว 38,019 คน เตรียมส่งตามแผน 61,981 คน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 153,006 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 100,000 คน โดยจัดส่งแล้ว 38,019 คน แบ่งเป็นไต้หวัน 10,641 คน อิสราเอล 5,593 คน สวีเดน 5,287 คน ฟินแลนด์ 3,363 คน ญี่ปุ่น 1,948 คน ประเทศอื่นๆ 11,187 คน และอยู่ระหว่างจัดส่งตามแผนอีก 61,981 คน ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 64 มีแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในต่างประเทศรวม 110 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 118,572 คน ส่งรายได้กลับประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว 153,006 ล้านบาท 
 
“รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างมาก โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จะมุ่งเน้นการรักษาตลาดแรงงานเดิมซึ่งก็คือการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่องกับงานภาคการเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC) งานภาคอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กร IM JAPAN  และงานภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรม และการเกษตรในสาธารณรัฐเกาหลี ผ่านระบบ EPS ควบคู่การขยายตลาดแรงงานใหม่ที่มีแนวโน้มความต้องการแรงงานไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว 
 
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน มีกำหนดการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ก่อนสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ จำนวน 410 คน  แบ่งเป็น สาธารณรัฐเกาหลี 60 คน เดินทางระหว่างวันที่ 17 – 19 สิงหาคม และรัฐอิสราเอล 350 คน ทะยอยเดินทางวันที่ 25 สิงหาคม จำนวน 150 คน และวันที่ 30 สิงหาคม จำนวน 200 คน โดยแรงงานไทยสามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย 5 วิธี คือ 1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีเดินทางถูกกฎหมายดังกล่าวจะทำให้แรงงานไทยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ได้ค่าจ้างที่เหมาะสม และยังได้รับการดูแลที่ดีตามสิทธิที่พึงมีด้วย 
  
ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แนะรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล. - ขึ้นแวต

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้รายได้ครัวเรือนหายไป โดยประเมินภาพรวม 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563 - 65 รายได้ครัวเรือนจะหายไปถึง 2.6 ล้านล้านบาท ทำให้เงินภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลัง เพื่อช่วยให้รายได้ และฐานะทางการเงินของประชาชนและเอสเอ็มอีกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด 

ทั้งนี้มองว่า รัฐต้องเติมเข้าไปในระบบอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นการกู้เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ 1.5 ล้านล้านบาท โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ต่อจีดีพี ในปี 2567 แต่จะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว 

ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 74 จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5% ดังนั้น รัฐบาลต้องปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี และนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ รวมทั้งปรับอัตราภาษีบางประเภท ซึ่งในท้ายที่สุดก็ต้องปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)

ส่วนการใช้จ่าย มาตรการเงินโอนควรต้องตรงจุด และควรกำหนดเงื่อนไขของการได้รับเงินโอน พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราแวต 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 60,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงเพิ่มเติมได้อีก 0.33% ต่อจีดีพี

บมจ.การบินไทย หรือ THAI รายงานผลประกอบการงวดครึ่งปีแรก 2564 มีกำไร 1.1 หมื่นล้านบาท หลังขายทรัพย์สิน และปรับโครงสร้างหนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

16 ส.ค. 64 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งผลการดำเนินงาน งวดครึ่งปี 2546 (ม.ค.-มิ.ย.) สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 64 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัทมีรายได้ รวมทั้งสิ้น 10,220 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งสิ้น 24,555 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรก ขาดทุนจากการดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 14,335 ล้านบาท

แต่เมื่อพิจารณาผลการดำเนินการสุทธิในช่วง 6 เดือนแรก กลับพบว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อย สามารถพลิกกลับมีกำไรสุทธิ 11,121 ล้านบาท ในขณะที่ปี ก่อนขาดทุนสุทธิ 28,030 ล้านบาท หรือมีกำไรเพิ่มขึ้น 139%

โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 64 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 168,582 ล้านบาท ลดลงจาก วันที่ 31 ธ.ค. 63 จำนวน 40,715 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.58% มีหนี้สินรวมจำนวน 285,066 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค. 63 จำนวน 52,896 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.7%

ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เป็นรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว จำนวน 25,899 ล้านบาท จากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ...

>> กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,004 ล้านบาท

>> กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 95 ล้านบาท

กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 8,675 ล้านบาท

>> รายการปรับปรุงผลประโยชน์พนักงาน 8,323 ล้านบาท จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทฯ และผลประโยชน์ของพนักงาน

>> ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน จำนวน -18,459 ล้านบาท

>> ผลขาดทุนจากการด้อยค่า ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน -163 ล้านบา

ทั้งนี้รายงานดังกล่าวเผยอีกว่า การดำเนินการในระหว่างฟื้นฟูกิจการ การบินไทยได้พยายามแก้ไข ปรับปรุง รวมถึงได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ รวมกว่า 600 โครงการ โดยได้เริ่มดำเนินโครงการตามแผนปฏิรูปธุรกิจทั้งองค์กร และปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสม พร้อมทั้งได้ดำเนินการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ได้แก่ การลดต้นทุนด้านบุคลากร, การลดต้นทุนค่าเช่า, เครื่องบิน, ลดต้นทุนในการดำเนินงานในด้านอื่น ๆ และหารายได้ในช่วงที่สถานการณ์การบินยังไม่กลับมาเป็นปกติ


ที่มา : https://www.khaosod.co.th/economics/news_6565336

https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/154160


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!

A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!!

>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท

>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ

>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย

***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

สศช.หั่นจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 1% ประเมินครึ่งปีหลักเจอโควิดหนัก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ขยายตัว 7.5% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น การบริโภคภาคเอกชน กลับมาขยายตัว ขณะที่ด้านการผลิต สาขาการผลิตอุตสาหกรรมและสาขาเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาที่พักแรมและ บริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งการขายปลีกและการซ่อมแซมฯ และ สาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ กลับมาขยายตัว โดยการขยายตัวไตรมาสที่ 2 นี้ ส่งผลให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2%

ทั้งนี้ในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งปี สศช. ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1.5 – 2.5% ลดลงเหลือ 0.7 – 1.2% หรือขยายตัวได้ 1% โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องควบคุมการระบาดให้ได้ในไตรมาสที่ 3 เพื่อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งในไตรมาสที่ 4 

ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พบว่า มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.9% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 2.0% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 2.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2564 อยู่ที่ 2.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,825,097 ล้านบาท คิดเป็น 56.1% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ๆ คือ 1) การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง 2) ข้อจำกัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ 3) ภาคการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้ง ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และ 4) ความเสี่ยงจากความผันผวนของ เศรษฐกิจและการเงินโลก

หวังท่องเที่ยวไทยปีหน้าฟื้น สร้างรายได้เข้าประเทศ 2 ล้านล.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ททท. ตั้งเป้าหมายการสร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2 ใน 3 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ ไม่เน้นจำนวน ให้น้ำหนักกับการเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัว และการสร้างสมดุลระหว่างรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติกับผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 

ทั้งนี้มีเงื่อนไข คือ การกระจายวัคซีนจะคุมการระบาดได้ต้นไตรมาส 4 ปีนี้ ทำให้ระยะการเกิดระดับภูมิคุ้มกันหมู่จะมีในครึ่งปีแรกของปี 2565 และเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนระบาดปลายปี 2565 รวมทั้งเปิดประเทศได้ตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง  

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายลง จะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะทุกประเทศต้องทำทุกวิถีทางเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด ซึ่งประเทศไทยเองควรใช้โอกาสนี้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โดยเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ โดยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ เพื่อให้การท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืน ลดอุปทานส่วนเกิน สร้างอุปสงค์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ทำให้เกิดการพัฒนาอุปทานในมิติต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์เพิ่มคุณค่า มีความแตกต่าง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว 

“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย เกิดความถดถอยอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นปัญหาเรื้อรังด้านโครงสร้างที่เติบโตแบบขาดสมดุลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องอุปทานห้องพักส่วนเกินและการพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงปัญหาความสามารถในการปรับตัวของผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายใต้วิกฤติ ในทางกลับกัน สภาพธรรมชาติที่เสื่อมโทรมกลับฟื้นตัวเป็นอย่างดีเมื่อว่างเว้นจากภาวะการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเกินขีดความสามารถในการรองรับ”  

ศบค.ชุดใหญ่ จ่อถก คลายล็อก 4 ธุรกิจในห้างฯ 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า สำหรับการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ ครั้งที่ 12/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในเวลา 13.30 น. วันที่ 16 ส.ค. มีวาระสำคัญคือ การพิจารณาขยายมาตรการยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด เดิมระบุว่าจะดูถึงช่วงถึงวันที่ 18 ส.ค. อาจจะต้องขยายไปให้ถึงวันที่ 31 ส.ค. เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับที่สูงมาก รวมถึงยังมีการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการในห้างสรรพสินค้าตามที่สมาคมศูนย์การค้าไทยเสนอขอผ่อนปรน 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธนาคารและสถาบันการเงิน ธุรกิจสื่อสารและไอที ร้านเบ็ดเตล็ด และร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น 

นอกจากนี้ ทางกระทรวงแรงงานจะเสนอขอให้พิจารณาผ่อนปรนการล็อกดาวน์ธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ 4 ประเภท ได้แก่ อาหาร ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถส่งออกได้ ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจดังกล่าวมากไปกว่านี้ รวมถึงการดำเนินการโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน หรือ Factory Sandbox ขณะที่อีโอซี ของกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอให้ ศบค.พิจารณาขยายเวลาการใช้มาตรการควบคุมโรคใน จ.ภูเก็ต ออกไปอีก เนื่องจากคำสั่งเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 16 ส.ค.ขณะเดียวกัน อีโอซีของกระทรวงสาธารณสุข จะมีการรายงานให้ที่ประชุมทราบถึงเรื่องการรับความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากต่างประเทศ ทั้งเรื่องการแลกวัคซีนแอสตราเซเนกา ระหว่างรัฐบาลภูฏานกับรัฐบาลไทย รวมถึงการรับบริจาค Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) จากกระทรวงสาธารณสุข เยอรมนี  

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ศบค.อาจจะมีการพิจารณากรณีสมาคมฟุตบอลฯ เสนอแนวทางการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่มีกำหนดการเปิดสนามนัดแรกในช่วงวันที่ 3-5 ก.ย. ว่าจะสามารถแข่งขันได้ตามกำหนดหรือไม่

“โฆษก ศบศ.”เผย “บิ๊กตู่” สั่งเร่งเยียวยา ชี้โอนแล้ว ม.33 พื้นที่13 จ.ล็อกดาวน์กว่า 6.5 พันล้าน แจงเตรียมโอน16 จังหวัดพร้อม ม.39-40 กลุ่มแรก ด้านส่วนลดค่าเทอมเริ่มโอน 31 ส.ค.นี้ ขณะที่ยอดใช้จ่ายมาตรการลดค่าครองชีพใกล้ทะลุ 6.3 หมื่นล้าน

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม. 33 ม. 39 และ ม. 40 ว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้โอนเงินเยียวยานายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตน ม. 33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดไปแล้ว แบ่งเป็นลูกจ้าง 2,399,459 ราย เป็นเงิน 5,998.65 ล้านบาท และทำการโอนให้นายจ้างไปแล้ว  12,711  กิจการ เป็นเงิน 594.12 ล้านบาท รวมยอดเงินที่ทำการโอนไปแล้วจำนวน 6,592.77 ล้านบาท  โดยจะดำเนินการทยอยโอนให้ลูกจ้างและนายจ้าง ม. 33 พื้นที่ 16 จังหวัดที่ลงทะเบียนและจ่ายเงินสมทบภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ต่อไป พร้อมกับโอนเงินให้ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ใน 29 จังหวัด กลุ่มแรกวันที่ 24 สิงหาคมนี้ เช่นกัน ซึ่งจะทยอยโอนวันละ 1 ล้านราย โดยผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม 

นายธนกร กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองและนักเรียนนักศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประจำปีการศึกษา 1/2564 ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ อยู่ระหว่างการยืนยันตรวจสอบสิทธิ์การได้รับความช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นกระทรวงศึกษาธิการ จะโอนเงินช่วยเหลือให้นักเรียนและผู้ปกครองในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ สำหรับผู้ได้รับเงินเยียวยาในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการมีประมาณ 11 ล้านคน วงเงินรวมประมาณ 21,600 ล้านบาท 

โฆษก ศบศ. กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 38 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 62,967.7 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 23.49 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 56,339.7 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 28,588.2 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 27,751.5 ล้านบาท 2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 66,101 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 1,161 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 31 ล้านบาท 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.48 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 5,110.8 ล้านบาท และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 979,821 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 325.2 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งพิจารณาเชื่อมต่อแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่เพื่อให้สามารถเชื่อมกับโครงการ “คนละครึ่ง” ด้วย คาดว่าจะดำเนินการเชื่อมระบบเสร็จสิ้นและพร้อมใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2564 นี้ เพื่อให้ทันกับการรองรับการโอนเงิน “คนละครึ่ง” รอบ 2 อีก 1,500 บาท ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเร่งเยียวยาประชาชนทุกกลุ่ม

ททท. เตรียมชง ศบค. เปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เชื่อม 3 จังหวัด ส.ค.นี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมนำเสนอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เห็นชอบแนวทางการให้นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่นในลักษณะ 7+7 โดยนักท่องเที่ยวต้องพำนักภายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 7 วันก่อน จึงสามารถเดินทางท่องเที่ยวและพำนักในพื้นที่นำร่องจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 7 วัน  คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนส.ค.นี้ 

ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่นำร่องที่เชื่อมโยงจังหวัดภูเก็ตในลักษณะ 7+7 ได้แก่ 1.เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2.เขาหลัก เกาะยาวใหญ่ และเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา และ 3.เกาะพีพี ไร่เลย์ และเกาะไหง จังหวัดกระบี่ โดยแนวปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของ ศบค. และข้อกำหนดตามมาตรการของแต่ละจังหวัด เชื่อว่าจากนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้าย ที่เป็นไฮซีซั่น ของการท่องเที่ยว

นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลกำชับมาตรการการยกระดับดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในทุกพื้นที่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว โดยจังหวัดมีการถอดบทเรียน แหล่งไหนที่ไม่เหมาะสมกับการท่องเที่ยว เป็นพื้นที่เปลี่ยวไม่ปลอดภัย เร่งปรับปรุงแก้ไขควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่อย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มียอดนักท่องเที่ยวสะสมอยู่ที่เกือบ 20,000 คน มียอดการจองโรงแรมที่ได้เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย SHA Plus ตลอดไตรมาส 3 (ก.ค. –ก.ย. 2564) จำนวนกว่า 371,826 คืน มีเที่ยวบินเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน โดยนักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกมาจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิสราเอล เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยจำนวนนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ที่เดินทางเข้ามาทั้งหมดนั้น ตรวจคัดกรองพบเชื้อจำนวน 55 คน คิดเป็น 0.28 % และนำเข้าสู่กระบวนการของสาธารณสุขแล้ว

พท.จี้รัฐอัดฉีดเม็ดเงินเดือนละ 1.5 แสนล้าน อัดสภาพคล่อง 2.5 แสนล้าน ก่อนล็อคดาวน์กลายเป็นน็อคดาวน์ทั้งประเทศ

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) และผอ.ศูนย์นโยบายพรรคพท.กล่าวถึงการอัดฉีดเงินลงสู่ระบบ เพื่อชดเชยความเสียหายจากการล็อคดาวน์ว่า 1.รัฐบาลจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบอย่างน้อยเดือนละ 150,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60% ของความเสียหายต่อเดือนที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ที่เหลือปล่อยให้เม็ดเงินหมุนเอง ซึ่งการอัดฉีดเงินต้องไปให้ถูกที่และถูกวัตถุประสงค์ แรงงานในระบบยังไม่ได้ตกงาน แต่ใกล้จะตกงาน รัฐจึงต้องอัดฉีดเงินผ่านนายจ้างผูกกับการจ้างงาน เพื่อรักษางานของพวกเขาผ่านมาตรการคงการจ้างงาน สำหรับ แรงงานนอกระบบ กลุ่มนี้พวกเขาสูญเสียรายได้แล้ว มีปัญหาแล้ว จำเป็นต้องอัดฉีดตรงเพื่อเยียวยารายได้ที่หายไป และชดเชยกำลังซื้อ สองกลุ่มนี้แตกต่างกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอัดฉีดเงินในลักษณะที่ต่างกัน

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า 2.มาตรการการเงินผ่านมา 1 ปี 4 เดือน Soft Loan สินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์พักหนี้ วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท แต่ใช้จริงราว 2.4 แสนล้าน ไม่ถึงครึ่ง ทำอะไรกันอยู่ เอกชนกำลังล้มตาย ตามด้วยแรงงานกำลังถูกปลด แต่การแก้ไขตรงนี้ช้าจนเหลือเชื่อ สภาพคล่องที่เหลืออีกกว่า 2.5 แสนล้าน จำเป็นอย่างยิ่งต้องเร่งกระจายลงสู่ระบบภายใน 2-3 เดือนต่อจากนี้ให้ได้ มาตรการที่ล้มเหลวแบบพักทรัพย์พักหนี้ที่ถูกใช้เพียงราว 9,000 ล้านบาท จากวงเงิน 100,000 ล้านบาท ต้องรีบยกเลิก และปรับเป็นวงเงินสำหรับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐสำหรับการปล่อยกู้เอกชนที่เข้าไม่ถึง Soft Loan เดิมโดยเฉพาะ รัฐต้องกล้ารับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และกำหนดเป็นนโยบายของภาครัฐในการเร่งระดมปล่อยสินเชื่อ 3.ภาคการส่งออกเหมือนไข่แดงที่ต้องประคองเอาไว้ เหมือนขอนไม้ชิ้นสุดท้ายที่ต้องเกาะเพื่อไม่ให้จมน้ำ แต่ตอนนี้ถูกกระทบหนักจากการติดเชื้อในโรงงานเป็นคลัสเตอร์ใหม่ทุกวัน จนการผลิตต้องหยุด โรงงานต้องปิด สาเหตุจากการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในระบบอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่ถึง 10% ตรงนี้อันตราย รัฐบาลต้องเพิ่มกลุ่มแรงงานเป็น เป้าหมายเร่งด่วนในการได้รับวัคซีน เพราะติดเชื้อกันมาก ระบาดเร็วเพราะทำงานใกล้ชิดกัน และกระทบต่อการส่งออกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงทั้งหมดนี้ต้องรีบทำก่อนล็อคดาวน์จะกลายเป็นการน็อคดาวน์เศรษฐกิจประเทศ

บิ๊กตู่ ขอบคุณคนไทย ช่วยอุดหนุนผลไม้ไทย มังคุด ขายได้เกิน 2 หมื่นตัน ดันราคาขึ้น ก.พาณิชย์ ลุย เพิ่มส่งออก ตลาดตะวันออกกลาง

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์ราคาพืชผลการเกษตร ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ชาวสวนมังคุดได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างมาก ทำให้การกระจายสินค้าและการส่งออกมีปัญหา อีกทั้งปีนี้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เป็นกลไกขับเคลื่อนการแก้ปัญหา ได้ปรับกลยุทธ์เน้นการบริโภคภายในประเทศทดแทนการส่งออก จนถึงวันนี้สามารถดึงมังคุดออกจากแหล่งผลิตได้กว่า 20,000 ตัน ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 13-15บาท/กิโลกรัม  จากเดิมที่เคยต่ำกว่า 6 บาท สำหรับมังคุดเกรดคละและมังคุดเกรดคุณภาพ ราคาใกล้แตะที่กิโลกรัมละ 50 บาท  ตามรายงานล่าสุดของกรมการค้าภายใน

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ประกอบกับสามารถแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกขาดแคลน ปัญหาโลจิสติกส์และปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน และล้งจากภาคตะวันออกลงใต้  คลี่คลายได้ระดับหนึ่ง เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นฮับมังคุดภาคใต้ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมมีเพียง 46 ล้ง ปัจจุบันมีล้งเพิ่มเป็นกว่า 200 รายและแผงรับซื้อผลไม้กว่า 400 แผงที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่ รวมทั้งความร่วมมือกับเหล่าทัพ ภาครัฐ ภาคเอกชนในการกระจายมังคุด เช่น ผ่านระบบร้านค้าส่ง ค้าปลีก ร้านธงฟ้า เครือข่ายปั๊มน้ำมัน ช่วยกระจายได้ 1 ล้านกิโลกรัม และโครงการส่งผลไม้ฟรีผ่านไปรษณีย์ไทย คาดว่าจะช่วยได้อีก 2 ล้านกิโลกรัม สำหรับปัญหาลำใยและเงาะที่ช่วงนี้ราคาลดลง คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ได้เข้าไปดูแลแล้วเช่นกัน

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกฯได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันอุดหนุนผลไม้ไทย แสดงให้เห็นว่า การช่วยซื้อคนละจำนวนไม่ต้องมาก แต่เมื่อรวมกันแล้วก็เป็นจำนวนมาก พอที่จะช่วยดันราคาให้สูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้ ทั้งนี้นายกฯยังได้รับทราบรายงานจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่ากำลังเร่งเปิดตลาดใหม่ด้วยโครงการจับคู่ธุรกิจเพื่อเจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์ในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาติน อเมริกา  ซึ่งผู้เข้าร่วมเจรจาธุรกิจเป็นผู้ส่งออกไทยจำนวน 123 บริษัท และมีผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 74 ราย เกิดการจับคู่ธุรกิจได้จำนวน 123 คู่ ซึ่งจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งเพื่อขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้ของไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top