ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แนะรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล. - ขึ้นแวต

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้รายได้ครัวเรือนหายไป โดยประเมินภาพรวม 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563 - 65 รายได้ครัวเรือนจะหายไปถึง 2.6 ล้านล้านบาท ทำให้เงินภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลัง เพื่อช่วยให้รายได้ และฐานะทางการเงินของประชาชนและเอสเอ็มอีกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด 

ทั้งนี้มองว่า รัฐต้องเติมเข้าไปในระบบอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นการกู้เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ 1.5 ล้านล้านบาท โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ต่อจีดีพี ในปี 2567 แต่จะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว 

ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 74 จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5% ดังนั้น รัฐบาลต้องปฏิรูปการจัดเก็บภาษีผ่านการขยายฐานภาษี และนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ รวมทั้งปรับอัตราภาษีบางประเภท ซึ่งในท้ายที่สุดก็ต้องปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)

ส่วนการใช้จ่าย มาตรการเงินโอนควรต้องตรงจุด และควรกำหนดเงื่อนไขของการได้รับเงินโอน พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุน หากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราแวต 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 60,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงเพิ่มเติมได้อีก 0.33% ต่อจีดีพี