Friday, 2 May 2025
ECONBIZ NEWS

ปั๊ม 'ปตท. - บางจาก - PT' จัดโปร 'เติมน้ำมัน แจกมังคุด' ช่วยเหลือชาวสวนมังคุด หลังราคารับซื้อตกต่ำอย่างหนัก

9 ส.ค. 64 เพจติดโปร - Pro Addict ได้โพสต์ข้อความ "มังคุดล้นตลาด แค่เติมน้ำมันที่ PTT Station รับฟรี! มังคุด 1 กก."

PTT Station ช่วยเหลือชาวสวนในภาคใต้ รับซื้อมังคุดจากสวนภาคใต้ 100 ตัน แล้วนำมาจัดโปร เติมน้ำมันชนิดใดก็ได้ ไม่มีขั้นต่ำ รับฟรี! มังคุด 1 กิโลกรัม งานนี้ใครอยากกินมังคุดอร่อย ๆ แบบฟรี แล้วยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือเกษตรกร หยิบกุญแจ สตาร์ทรถ ไปเติมน้ำมันด่วนเลยย

ตั้งแต่วันที่ 12 - 15 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าของจะหมด เฉพาะสาขาในกรุงเทพฯ และนนทบุรีเท่านั้น

นอกจาก PTT station แล้ว ยังมีปั๊มน้ำมันอื่น ๆ ที่จัดโปรนี้เช่นกัน

โดย PT Station สมาชิก PT Max Card ที่เติมน้ำมันครบ 50 บาท จะได้รับมังคุด 1 กิโลกรัม ฟรี ตั้งแต่วันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าของจะหมด เฉพาะสาขาที่ร่วมรายการ กรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร

ขณะที่ บางจาก เติมน้ำมันทุกชนิด ไม่มีขั้นต่ำ แถมมังคุดครึ่งกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 9 - 13 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าของจะหมด เฉพาะสาขาที่ร่วมรายการในกรุงเทพฯ เท่านั้น


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!

A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!!

>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท

>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ

>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย

***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เชื่อมั่นอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้น กกร.ทำหนังสือขอพบ “บิ๊กตู่”

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนก.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 78.9 ลดลงจากเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 เดือน โดยมีปัจจัยลบมาจาก สถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ภาครัฐออกมาตรการล็อคดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัด แต่ยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้และยังส่งผลให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ประชาชนมีรายได้ลดลง การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งทำให้กำลังการผลิตลดลงเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน

เช่นเดียวกับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยังได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่น้อย อย่างไรก็ตามก็มีปัจจัยบวกจากภาคการส่งออกที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง จากคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีทิศทางที่ดีขึ้นจากสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นทำให้อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศขยายตัวและการอ่อนค่าลงของเงินบาทเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออก

สำหรับการคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้จะกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก มาตรการล็อคดาวน์จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ สถานการณ์โควิด19 ทั่วโลกยังไม่แน่นอนจากสายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ การเร่งตรวจเชิงรุกในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้ม ขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 สนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ เสนอให้ภาครัฐนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้เพื่อช่วยป้องกันและติดตามการแพร่ระบาด ให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยเร็ว ๆ นี้ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ในฐานะของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)จะทำหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยปลดล็อคเรื่องวัคซีน และค่าใช้จ่ายในการรักษาพนักงานเพื่อให้รัฐช่วยเหลือและเยียวยาเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบในต่อไป

เปิดจีดีพีเกษตรไตรมาส 2 พลิกบวก 1.2% 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2564 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2564 ขยายตัว 1.2% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันก่อน ที่หดตัวถึง 3.1% เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ละช่วงต้นปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้มากขึ้น 

รวมทั้งสภาพอากาศโดยทั่วไปที่เอื้ออำนวย และไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้สถานการณ์การผลิตพืชและปศุสัตว์ดีกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิต โดยแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งปี 2564 สศก. ยังคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.7 – 2.7% ตามเดิมที่คาดการณ์ไว้

จากการวิเคราะห์ผลกระทบโควิด-19  พบว่า ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ โดยผลกระทบที่ได้รับมีสาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคต่อสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง เพราะมาตรการ ที่ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การล็อคดาวน์ และการควบคุมพื้นที่ การจำกัดเปิดร้านค้า และ ร้านอาหารต่าง ๆ โดยผลวิเคราะห์พบว่า กรณีโควิด-19 กระทบ 5 เดือน (เมษายน - สิงหาคม 2564) มูลค่าทางเศรษฐกิจการเกษตรในส่วนของการบริโภคสินค้าเกษตรในประเทศ จะลดลงรวมทั้งสิ้น 13,895 ล้านบาท           

รัฐบาลเดินหน้า พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3  และพัฒนาแหล่งน้ำต่อเนื่อง รองรับ EEC

นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามและรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการต่างๆในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) การจัดหาแหล่งน้ำรองรับพื้นที่อีอีซี  เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นและวางแผนระยะยาวให้ยั่งยืน  โดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำจนถึงปีพ.ศ. 2580 มีทั้งสิ้น 38 โครงการมูลค่า 52,874.47 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 9 โครงการ 

นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตน้ำจืดจากทะเล (Desalination) ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานทางเทคนิคการพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดทำโครงการ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงและพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองบางไผ่พื้นที่ 3,348 ไร่ โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ 4 แหล่งที่มีศักยภาพสูง และสามารถนำมาใช้ได้ถึง 4,039 ล้านลูกบาศก์เมตร

2) ความก้าวหน้าการลงทุนใน EEC  มีมูลค่าสูงถึง 1,594,282 ล้านบาท  (ณ 30 มิ.ย. 2564) โดยมีการลงทุนที่สำคัญ ๆ เช่น โครงการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน ซึ่งได้ผู้ลงทุน 4 โครงการหลัก มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท  การส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีความคืบหน้า 86% แล้ว พร้อมส่งมอบทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2564 รวมทั้งการยกระดับแอร์พอร์ตเรลลิงก์  ส่วนสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จัดทำแผนแม่บทสนามบินอู่ตะเภาฉบับสมบูรณ์ พร้อมเริ่มว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก และกองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่งที่ 2 และงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว

3) ท่าเรือแหลมฉบัง ฯ ได้ข้อตกลงในร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยจะเร่งนำเสนอ ครม. พิจารณา และลงนามสัญญาต่อไป

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2564  เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาแก้ปัญหาซ้อนทับ โครงการรถไฟความเร็วเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- จีน ในช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องใช้แนวเส้นทาง และจำเป็นต้องมีโครงสร้างโยธา ทั้งเสาและฐานรากร่วมกัน (โครงสร้างโยธาร่วม) แต่ระยะเวลาการก่อสร้าง และมาตรฐานเทคนิคทั้งสองโครงการไม่สอดคล้องกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย จะหาแนวทางร่วมกันกับเอกชนคู่สัญญา ในส่วนการปรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของรัฐ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับเอกชนคู่สัญญาอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักไม่ให้เกิดงบประมาณเพิ่มเติม และแผนก่อสร้างทั้งสองโครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในเบื้องต้นให้สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงได้ที่ความเร็ว 250 กม./ชม. ตลอดเส้นทาง

นายกรัฐมนตรียังได้ให้แนวคิด การจัดทำโครงการ EEC ให้วางแผนไปถึงอนาคต ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของกระทรวงคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงกันการคมนาคมขนส่งภายในประเทศ ภูมิภาค และประเทศอื่น ๆ อย่างเป็นระบบ รวมทั้งให้สอดคล้องกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทยด้วย

รมว.เฮ้ง พอใจภาพรวมการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ใน 10 จังหวัด 9 กิจการ 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นความยากลำบากและมีความห่วงใยพี่น้องแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

จึงมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการ "ล็อกดาวน์" ในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เพิ่มเติม จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ครอบคลุม 9 ประเภทกิจการ นั้น ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร นั้น 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ภาพรวมการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 10 จังหวัด 9 กิจการ เป็นที่น่าพอใจ จากรายงานของประกันสังคมพบว่า โอนเงินแล้ว 2,434,182 ราย เป็นเงิน 6,085,0000,000 บาท ซึ่งไม่มีอะไรติดขัด มีเพียงผู้ประกันตนประมาณ 200,000 รายที่ยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการให้ผู้พร้อมเพย์กับบัตรประชาชนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ เพื่อที่จะเริ่มดำเนินการโอนเงินในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ โดยผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th/eform_news/ 

ในส่วนของ 3 จังหวัดเพิ่มเติม ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา จะโอนเงินในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ "ผมได้รายงานภาพรวมการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 10 จังหวัด ให้ท่านนายกรัฐมนตรีทราบแล้ว และท่านพอใจในภาพรวมที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพในครอบครัวให้ก้าวข้ามสถานการณ์โควิดไปให้ได้ ตามนโยบายของรัฐบาลโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

“จุรินทร์”เผย เรียกประชุมล้ง-ผู้ว่าฯ3 จว.แก้ปัญหามังคุดตกต่ำ ราคาพุ่ง 13-15 บ.แล้ว ซัพพลายเออร์ ทำสัญญารับซื้อแล้ว 2 หมื่นตัน ยันไข่ไก่ในปท.ไม่ขาด แม้ราคาพุ่งสูง ขอปชช.อย่ากักตุนสินค้า สั่งตรวจสอบค้ากำไรเกินควรเอาผิดจำคุก 7 ปี -ปรับ1.4 แสน

ที่ห้างแม็คโคร สาขาสามเสน บางกระบือ ถนนสามเสน กรุงเทพฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค ถึงการแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ โดยการดึงห้างสรรพสินค้าเข้ามามีส่วนร่วมจะสามารถช่วยดึงราคาได้มากน้อยแค่ไหน ว่า ห้างสรรพสินค้าที่ช่วยนำมังคุดจากภาคใต้ที่ออกเยอะในขณะนี้ มาช่วยขายในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศรวมทั้งกรุงเทพฯ เพราะถือว่ามีส่วนช่วยมากเนื่องจากถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยระบายตลาดภายในประเทศและช่วยให้ราคาหน้าสวนที่เกษตรกรขายได้ราคาดีขึ้น  ซึ่งการรับซื้อหน้าสวนอาทิ มังคุดคละกิโลกรัมละ 17 บาท แต่ในภาพรวมเราไม่ได้ใช้ช่องทางส่งเสริมการขายของเกษตรกรในประเทศเฉพาะส่งในห้างสรรพสินค้า แต่ห้างสรรพสินค้าเป็นช่องทางหนึ่งที่ต้องขอขอบคุณ ทั้งนี้ยังมีหลายฝ่ายที่ให้ความร่วมมือ เช่นภาคเอกชน ปั้มปตท. และปั้มบางจาก ซึ่งหากประชาชนไปเติมน้ำมันก็จะมีมังคุดแถมฟรีด้วย นอกจากนี้บริษัทไปรษณีย์ไทยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ในการช่วยเป็นช่องทางระบายมังคุด จากเกษตรกรโดยตรงส่งไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยส่งผ่านไปรษณีย์ และกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในสนับสนุนกล่องที่จะบรรจุมังคุดให้ฟรีไว้ที่ไปรษณีย์

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้หัวใจสำคัญที่สุดอีก 2 มาตรการที่มีผลให้มีการรับซื้อมังคุดเพิ่มขึ้นในปริมาณที่มาก คือ 1.กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการเชิงรุกตั้งแต่ต้นมือในการนำห้างสรรพสินค้าและซัพพลายเออร์ต่างๆที่ไปช่วยรับซื้อมีการทำสัญญาล่วงหน้า เพื่อซื้อมังคุดจากเกษตรกรซึ่งขณะนี้สามารถทำสัญญาไปแล้ว 20,000 ตัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ใหญ่มาก ที่จะช่วยระบายมังคุดในราคาที่เกษตรกรพอใจ ตั้งแต่ก่อนมังคุดภาคใต้ออก และ 2.การที่จะต้องมีล้งเข้าไปรับซื้อในพื้นที่เพราะถ้าไม่มีเกษตรกรจะต้องขายเองตามช่องทาง  ย้ำว่าล้งสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้ล้งที่เข้าไปซื้อในพื้นที่ภาคใต้มีปัญหามาก เพราะตอนที่มังคุดออกในภาคตะวันออกล้งเต็มไปหมดในพื้นที่ช่วยให้เกษตรกรขายมังคุดได้ราคาดีมาก เช่น มังคุดคัดเกรดกิโลกรัมละ100-200 บาทโดยเฉลี่ย แต่พอมังคุดในพื้นที่ภาคใต้ออกตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นมา  ปรากฏว่าเป็นช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ทำให้ล้งที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งหมดส่วนใหญ่ลงไปรับซื้อในพื้นที่ภาคใต้ไม่ได้  ซึ่งในช่วงนี้ราคาเหลือ 5-7 บาท ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนมาก 

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ขณะนั้นมีล้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพียง 40-50 ล้งเท่านั้น แต่หลังจากที่ตนเรียกประชุมล้งทั้งประเทศเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และผู้ว่าจังหวัดจันทบุรี มาพูดคุยกันปรากฏว่าทั้ง 3 จังหวัดพร้อมบริการเคลื่อนย้ายล้งจากจันทบุรีไปในพื้นที่ภาคใต้และเคลื่อนย้ายแรงงานตามไปด้วย ขณะนี้จังหวัดนครศรีธรรมมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานตนและอธิบดีกรมการค้าภายในว่ามี 200 กว่าล้งแล้ว  ฉะนั้นทำให้การระบายมังคุดลื่นไหลขึ้นและราคามังคุดคละเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 4-7 บาท ซึ่งตอนนี้ขึ้นไปในราคา 13-15 บาทแล้ว ยืนยันว่าเราจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป หวังว่ามาตรการทั้งหมดจะช่วยผ่อนคลายได้ และที่สำคัญจะต้องขอความร่วมมือจังหวัดที่มีการขนส่งมังคุดกระจายไปยังทั่วประเทศ ให้มีการอำนวยความสะดวกรถบรรทุกที่ขนมังคุดให้สามารถผ่านด่านได้โดยสะดวกด้วย ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องปฏิบัติตามของแต่ละพื้นที่

เมื่อถามว่า ในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภคได้มีการเตรียมมาตรการรองรับแล้วหรือไม่นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นประเด็นที่เมื่อมีการล็อกดาวน์ในช่วงแรกประชาชนอาจจะตื่นตระหนกและกังวล ทำให้สินค้าขาดแคลน แต่ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายลงได้บ้าง ผู้บริโภคเริ่มเรียนรู้และเข้าใจว่าไม่ต้องกังวลว่าสินค้าจะขาดแคลน ซึ่งไข่ไก่ที่กังวลว่าจะขาดแคลน ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีสถานการณ์ที่ขาด ยกเว้นช่วงเวลาที่ห้างสรรพสินค้าเติมสินค้าไม่ทันแต่โดยภาพรวมไข่ไก่เฉลี่ยทั้งประเทศยังมีเพียงพอและถ้าหากขาดแคลนจริง กระทรวงพาณิชย์จะมีมาตรการในการเข้ามาแก้ปัญหาซึ่งขอยังไม่พูดในตอนนี้ เพราะจะสร้างความตื่นตกใจ และราคาไข่ไก่เบอร์ 3 ตอนนี้ฟองละ 3 บาท 50 สตางค์ ถือว่าสูงกว่าหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ถือเป็นช่วงฤดูกาลด้วยที่จะมีผลกับกลไกตลาด แต่เราก็พยายามดูอยู่ว่าถึงขั้นค้ากำไรเกินควรหรือไม่ถ้าหากว่ามีการค้ากำไรเกินควรในสินค้าตัวใดก็ตามตนสั่งการพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดไปแล้วว่าต้องใช้มาตรา 29 ที่ระบุว่า ใครค้ากำไรเกินควรจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และสินค้าจะต้องติดป้ายแสดงราคาถ้าไม่ติดป้ายจะปรับ 1 หมื่นบาท

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนเนื้อไก่ราคาอยู่ในช่วงที่ถือว่าลดลงกว่าหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะราคาน่องไก่ติดสะโพกกิโลกรัมละ 60 บาท หมูเนื้อแดงกิโลกรัมละ 118-119 บาท แต่เมื่อเทียบกับหลายเดือนที่ผ่านมาที่กิโลกรัมละ 150- 170 บาทตอนนี้ถือว่าราคาลดลงมา ยืนยันว่าอย่ากังวลและอย่าซื้อสินค้ากักตุน ส่วนได้มีการประสานห้างสรรพสินค้าขอความร่วมมือเพิ่มสต๊อกในการสต๊อกสินค้าให้เพียงพอนั้น กรมการค้าภายในได้ประสานงานมาโดยตลอดถ้าติดขัดตรงไหนกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยเหลือดูแล แต่ประเด็นสำคัญที่เกินกำลังกระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียวที่จะเข้าไปแก้ไขคือแรงงานสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งภาพรวมจะต้องเข้ามาช่วยดู รวมทั้งการสัญจรที่ทุกจังหวัดจะต้องเข้ามาอำนวยความสะดวกให้สินค้าอุปโภคและบริโภคสามารถข้ามแดนจังหวัดได้โดยสะดวกถ้าหากติดขัดมากของอาจจะเน่าเสียหรือส่งไปยังจุดกระจายสินค้าล่าช้าลงได้

คลังเร่งเชื่อมระบบเดลิเวอรี่ หวังทันใช้คนละครึ่ง ต.ค.นี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังได้กำชับให้ธนาคารกรุงไทยเร่งดำเนินการปรับปรุงระบบการเชื่อมระบบโครงการคนละครึ่งกับระบบของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเงินได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ คาดว่าจะดำเนินการเชื่อมระบบเสร็จสิ้นและพร้อมใช้งานได้ในเดือนต.ค. นี้ เพื่อรองรับการใช้จ่าย หลังกระทรวงการคลังโอนเงินคนละครึ่ง รอบ 2 อีก 1,500 บาทเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งประชาชนสามารถใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นปี 2564 

ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเร่งด่วนผู้ประกอบการนายจ้าง ลูกจ้าง ตลอดจนแรงงานกลุ่มอาชีพอิสระ และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ 9 ประเภท 29 จังหวัดล็อกดาวน์ โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้โอนเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ใน 10 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สงขลา) เข้าบัญชีไปแล้ว 2,434,182 คน เบิกจ่ายเป็นเงินรวมแล้ว 6,085.45 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามยังมีบางส่วนที่เกิดความขัดข้อง โอนเงินไม่ผ่าน เนื่องจากอาจจะมีข้อมูลผิดพลาด ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลหน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมได้จนถึงวันที่ 9 ส.ค.นี้ หากข้อมูลได้รับแก้แก้ไขตรวจถูกต้องแล้ว จะดำเนินการโอนในวันที่ 13 ส.ค.นี้ ต่อไป โดยในส่วนของนายจ้าง ม. 33 สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลสถานะจำนวนลูกจ้าง และจะเริ่มทยอยโอนให้นายจ้าง 3,000 ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ในวันที่ 10 ส.ค. 2564

เล็งหาช่องเยียวยาผลกระทบเกษตรกรชาวสวนมังคุด 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) วาระพิเศษ ได้หารือและประเมินสถานการณ์ปริมาณและราคาของมังคุดในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหามังคุดราคาตกต่ำ โดยที่ประชุมยังได้มอบหมายกรมส่งเสริม ศึกษาและวิเคราะห์แนวทางความเป็นไปได้ของการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนมังคุด ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดทำมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหามังคุดราคาตกต่ำไปแล้วทั้ง การกระจายผลผลิตภายในประเทศผ่านช่องทางปกติ ช่องทาง e - Commerce และช่องทางอื่นๆ ซึ่งดำเนินการโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการค้าภายใน บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เช่น การแลกเปลี่ยนมังคุดกับสินค้าข้าวของสถาบันเกษตรกรภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เบื้องต้น พบว่าราคามังคุดเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว หลังจากมีการแทรกแซงราคาตลาด และการสนับสนุนเงินค่าชดเชยดอกเบี้ย โดยกรมการค้าภายใน และการเคลื่อนย้ายผลผลิตอย่างเร่งด่วนในช่วงผลผลิตกระจุกตัว โดยกรมส่งเสริมการเกษตร

สำหรับแผนการบริหารจัดการผลผลิตมังคุดในฤดูดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. - 4 ส.ค. 2564) มีจำนวนทั้งสิ้น 155,614 ตัน โดยมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จำนวน 72,643.73 ตัน คิดเป็น 46.68% ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว จำนวน 82,970.27 ตัน คิดเป็น 53.32% โดยในเดือนส.ค. จะมีมังคุดออกกระจุกตัวในปริมาณมาก  จำนวนประมาณ 60,000 ตัน 

อย่างไรก็ตามที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบแนวทางการกระจายผลผลิตมังคุดช่วงกระจุกตัว ที่กรมส่งเสริมการเกษตรเสนอ โดยได้กำหนดแนวทางการกระจายผลผลิตมังคุด 4 แนวทาง คือ 1. กลไกตลาดปกติ 20,000 ตัน 2. การกระจายผลผลิต 40,000 ตัน ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และภาคเอกชน 3. ส่งเสริมให้มีการจัดการผลผลิตต่อเนื่อง เช่น การแปรรูปมังคุดเพื่อเพิ่มมูลค่า และ 4. จัดทำแคมเปญพิเศษ “ช่วยมังคุดใต้ เกษตรกรไทย Happy” “8.8 Sales”  จะเริ่มดีเดย์จำหน่ายผลผลิตมังคุดแบบส่งให้ถึงบ้าน ตั้งแต่วันที่ 8 - 31 สิงหาคม 2564 โดยเปิดให้ผู้สนใจทั่วประเทศสามารถสั่งซื้อมังคุดล่วงหน้าในราคา 4 กิโล 100 บาท

รอชง “บิ๊กตู่” ไฟเขียวประกันข้าว 8.8 หมื่นล. 23 ส.ค.นี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 3 ฤดูกาลผลิตปี 2564/65 พร้อมมาตรการคู่ขนานเพื่อพยุงราคาข้าวเปลือกต่อไป โดยใช้กรอบงบประมาณดำเนินการ 8.8 หมื่นล้านบาท ทั้งโครงการประกันและมาตรการคู่ขนาน โดยขั้นตอนจากนี้จะเสนอให้กับที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 23 ส.ค.นี้ พิจารณาต่อไป 

สำหรับการดำเนินโครงการในปีการผลิตนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งงบประมาณที่ขอสูงขึ้นจากปีก่อนที่ตั้งไว้ 48,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดการณ์ว่าปริมาณข้าวที่ออกมาในฤดูการผลิตใหม่ จะมีมากถึง 26 ล้านตัน หรือเพิ่มจากปีก่อน5% ซึ่งวงเงินนี้จะขอเอาไว้เป็นกรอบเบื้องต้นก่อน

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิตใหม่ เบื้องต้นยังคงประกันราคาข้าวเปลือก 5 ชนิดไว้เท่าเดิมเหมือนกับปีที่แล้ว ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,000 บาท  ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาทข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท 

ธ.ก.ส. ขยายเวลาพักหนี้-ลดดอกเบี้ย ช่วยเกษตรกรเจอโรคลัมปีสกิน

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคระบาดปศุสัตว์ ปี 2564 (ผู้เลี้ยงโค กระบือ และสุกร) ทั้งในส่วนของเกษตรกรลูกค้ารายคน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีหนี้คงเหลือ ณ วันที่ 1 ก.ค. 2564 และมีงวดชำระในปีบัญชี 2564 ไม่รวมหนี้ในโครงการนโยบายรัฐ  โดยแจ้งเหตุความเสียหายจากสถานการณ์ดังกล่าวต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและนำเอกสารจากสำนักงานปศุสัตว์ (กษ.01 หรือ กษ.02) มายื่นที่สาขา ธ.ก.ส. ภายในวันที่ 31 ส.ค. 2564

ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือ กรณีที่มีหนี้วงเงินกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ธ.ก.ส. จะขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เดิม และกรณีเงินกู้เพื่อเป็นค่าลงทุน จะทำการทบทวนกระแสเงินสดและปรับตารางการชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับที่มาแห่งรายได้ของลูกค้า อีกทั้งยังลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เหลืออัตรา 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 – วันที่ 28 ก.พ. 2565 โดยมีวงเงินให้ความช่วยเหลือ กรณีประเมินความเสียหายเกิน 50% วงเงินช่วยเหลือเท่ากับต้นเงินกู้คงเหลือ 

หากเป็นเกษตรกรลูกค้ารายคนสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท วิสาหกิจชุมชนสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท กรณีประเมินความเสียหายไม่เกิน 50% วงเงินช่วยเหลือครึ่งหนึ่งของต้นเงินกู้คงเหลือ หากเป็นเกษตรกรลูกค้ารายคนสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท วิสาหกิจชุมชนสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top