Friday, 2 May 2025
ECONBIZ NEWS

นายกฯ ยืนยัน"ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ยังเดินหน้าต่อ แม้มีการยกระดับมาตรการฯ  สร้างความมั่นใจศักยภาพการท่องเที่ยวควบคู่กับเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิด-19

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความมั่นใจโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ยังคงเดินหน้าต่อ ภายใต้การยกระดับมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ควบคุมการเดินทาง และเคลื่อนย้ายแรงงานในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมการปิดสถานที่หรืองดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง  มีผลตั้งแต่วันที่ 3-16 สิงหาคมนี้  เพื่อให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่  ทั้งนื้ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและประชาชนภูเก็ตทุกคน 

นายอนุชา ฯ กล่าวว่า จากการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-28 ก.ค. 2564 มีภาพรวมที่เป็นไปในทิศทางที่น่าพอใจ  โดยมีนักท่องเที่ยวจำนวน 12,395 คน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ  60,000 บาท/ทริป/คน สร้างรายได้แล้วประมาณ 749.95 ล้านบาท  ทั้งนี้ จากการประเมินของกรมควบคุมโรคทื่พบอัตราการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในพื้นที่ค่อนข้างต่ำ โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากภายนอกหรือติดกันเอง โดยไม่มีการแพร่กระจายในพื้นที่ มองว่าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ยังดำเนินไปได้ด้วยดี แม้สถานการณ์โลกและประเทศจะมีการแพร่ระบาดอยู่ก็ตาม 

ทั้งนี้ เมื่อถึงเดือนตุลาคม เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว หากประเทศไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวโดยเน้นพื้นที่ปลอดภัยจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) สมุยพลัสโมเดล (เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า) และเตรียมขยายต่อเนื่องต่อไปยังจังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่) ตามลำดับได้  เชื่อว่าจะส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ภายใต้แนวทางของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ในการสร้างความสมดุลระหว่างการเฝ้าระวังความปลอดภัยสุขภาพอนามัยและการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพี่อคนไทยทุกคน จึงขอให้ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว นอกจากนี้ Phuket Sandbox กำลังเป็นที่กล่าวถึงและเป็นที่จับตาของประเทศต่างๆทั่วโลก เพราะหากประสบความสำเร็จ จะถือว่าเป็นแนวทางในการที่ประเทศอื่นๆ จะนำไปเป็นต้นแบบในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในลักษณะเดียวกัน

“บิ๊กตู่” ได้ฤกษ์ปล่อยขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง “ช่วงบางซื่อ-รังสิต,บางซื่อ-ตลิ่งชัน” 2 ส.ค.นี้ชวน ปชช.ทดลองใช้บริการฟรี 3เดือน เผย 7 ปี ลงทุนไปแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท       

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ในวันที่ 2 ส.ค. เวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  จะเป็นประธานในพิธีเปิดรถไฟสายสีแดง จากสถานีกลางบางซื่อ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ จากตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย(รฟท.) และคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม จะเดินทางให้การต้อนรับประชาชน ที่สถานีกลางบางซื่อ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนทางรางขนาดใหญ่ที่รัฐบาลผลักดันมาโดยต่อเนื่องเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมทางรางให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ อำนวยความสะดวกประชาชนและกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขอเชิญชวนประชาชนร่วมใช้บริการฟรีในช่วงทดลองเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. ก่อนจะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ ในเดือนพ.ย. 2564 เป็นต้นไป โดยนายกฯจะปล่อยรถขบวนปฐมฤกษ์จากสถานีกลางบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในเวลา 10.29 น. และประชาชนจะใช้บริการขบวนถัดไปในเวลาประมาณ 11.00 น. ซึ่งจะปล่อยขบวนรถทั้งจากฝั่งบางซื่อ-รังสิต, บางซื่อ-ตลิ่งชัน, รังสิต-บางซื่อ และตลิ่งชัน-บางซื่อ โดยการให้บริการช่วงทดลองร.ฟ.ท. จะดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด โดยจะจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 50% ของความจุ หรือให้บริการ 550 คนต่อขบวน จากความจุ100% ของ 1 ขบวน 4 โบกี้อยู่ที่1,100 คนต่อขบวน โดยหากมีความต้องการใช้บริการสูงจะใช้รูปแบบการเพิ่มโบกี้ต่อไป โดยผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง เข้าใช้บริการได้เฉพาะประตู 1 ทั้งด้านหน้าและด้านหลังเท่านั้น เพื่อไม่ให้ปะปนกับประชาชนผู้มารับวัคซีนที่จะใช้บริการ ประตู 2,3 และ4 และเพื่อความสะดวกประชาชนสามารถใช้อุโมงค์ทางเชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) 

ซึ่งขณะนี้พร้อมเปิดให้บริการแล้ว ทั้งนี้ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่กำลังจะเปิดทดลองให้บริการนี้แบ่งเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ สีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิตระยะทาง 26 กม. มี 10 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ,สถานีจตุจักร, สถานีวัดเสมียนนารี,สถานีบางเขน, สถานีทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่, สถานีการเคหะ, สถานีดอนเมือง, สถานีหลักหก และสถานีรังสิต ใช้เวลาเดินทาง 25 นาที และสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. มี 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางซ่อน, สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางยังมีส่วนต่อขยายอีกในอนาคต 

“รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้การขนส่งทางรางให้เป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศ โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนไปแล้วรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท  ทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลและพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ รถไฟทางคู่และทางสายใหม่ และรถไฟความเร็วสูง  เฉพาะโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ได้เปิดบริการเพิ่มเป็น 9 เส้นทาง รวม 170.38 กม. จากก่อนปี 2557 ให้บริการอยู่ 4 เส้นทาง 85 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 เส้นทางรวม 131.76 กม. ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการประชาชนปีละ 30-40 กม.ในช่วงปี 2565-67 และ อยู่ระหว่างก่อสร้าง การประกวดราคา และศึกษาการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน(พีพีพี)อีกหลายเส้นทาง” น.ส.ไตรศุลี กล่าว 

นายจ้าง ลูกจ้าง ม.33 พื้นที่ 10 จังหวัด 9 กิจการ เฮ!! สปส. โอนเงินเข้าพร้อมเพย์ 4 ส.ค.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการจ่ายเงินเยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ สาขาข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสาร นั้นว่า
          
ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงาน
และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเร่งรัดขยับเวลาการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนไม่ให้เกินวันที่
6 สิงหาคม โดยจะเริ่มทยอยจ่ายตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมนี้ ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะระบบการโอนผ่านพร้อมเพย์สามารถดำเนินการได้วันละ 1 ล้านบัญชีเท่านั้น โดยผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยามีจำนวน 2.87 ล้านคน จะต้องใช้เวลาถึง 3 วันจึงได้สามารถโอนได้ครบภายในกำหนดเวลาวันที่ 6 สิงหาคม ตามเจตนารมณ์
ของนายกรัฐมนตรี และจะทยอยโอนครั้งต่อไปให้กับนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 ทุก ๆ วันศุกร์ จนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2564
          
ด้าน นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า วิธีการจ่ายเงินเยียวยาสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับเยียวยาจากรัฐบาลคนละ 2,500 บาท จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น ส่วนนายจ้างจะได้รับการเยียวยา จากรัฐบาล ตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน โดยนายจ้างบุคคลธรรมดา จะโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน และนายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามที่แจ้งไว้กับสำนักงานประกันสังคม
          
รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และนายจ้างที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 3 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา นั้น สำนักงานประกันสังคมจะประชาสัมพันธ์วันจ่ายเงินให้ทราบในภายหลัง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

รมช.มนัญญา ปล่อยขบวนกระจายผลไม้ภาคใต้ บรรเทาความเดือดร้อนสมาชิกสหกรณ์ฯ รถขนส่งสินค้าชุมนุมสหกรณ์ฯ ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19 ส่งตรงถึงมือผู้บริโภค

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการกระจายผลไม้ภาคใต้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19 ) พร้อมด้วย นางสาวปารีณา ซักเซ็ค คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยให้การต้อนรับ โดยกิจกรรมดังกล่าวมุ่งเน้นในการช่วยลดปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ พร้อมมอบนโยบายการกระจายผลไม้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์ ผ่านระบบ Zoom Meeting และได้ถ่ายทอดสัญญาณไปยังสหกรณ์ผลไม้และสหกรณ์ผู้จำหน่ายข้าวสารในจังหวัดต่าง ๆ โอกาสนี้ รมช.เกษตรฯ ได้ปล่อยขบวนรถเปิดการกระจายผลไม้จากภาคใต้สู่ผู้บริโภค โดยมีรถแท็กซี่และรถขนส่งสินค้าของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เข้าร่วมเพื่อกระจายผลไม้ไปสู่ผู้บริโภค ณ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 

รมช.มนัญญา กล่าวว่า “จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงของผลไม้ ให้การกระจายผลผลิตที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านการส่งออกไปต่างประเทศและการจำหน่ายภายในประเทศ และในวันนี้ สำหรับการกระจายผลผลิตเงาะจากภาคใต้ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ผลิตผลไม้ของภาคใต้ ซึ่งใช้ขบวนการสหกรณ์ เป็นกลไกในการกระจายเงาะ จากเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกการหยุดรับซื้อผลผลิตของพ่อค้าในพื้นที่ไปสู่ผู้บริโภครายย่อย ส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะกระจายผลผลิตโดยมีชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายผลไม้สหกรณ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเงาะที่นำมาจำหน่ายครั้งนี้ ส่งตรงมาจากสหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี และยังมีรถแท็กซี่สหกรณ์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ในช่วงสถานการณ์โควิด มาร่วมเป็นรถขนส่งผลไม้จากชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ไปยังผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะกระจายผลผลิตมังคุด และลำไยต่อไปอีกด้วย

โดยการดำเนินงานกระจายผลผลิตดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในขบวนการสหกรณ์ ที่เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาของสมาชิกสหกรณ์  เมื่อสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรส่วนหนึ่งได้รับความเดือดร้อน ขบวนการสหกรณ์ก็เร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสมาชิก ซึ่งอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเครือข่ายของสหกรณ์ด้วยกัน อย่างไรก็ตามต้องให้ความสำคัญเรื่องมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) และคุณภาพของผลผลิตทุกชนิดของสหกรณ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น และเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน สหกรณ์ต้องเรียนรู้ด้านการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ทุกช่องทาง  รวมถึงกระบวนการโลจิสติกส์ซึ่งสำคัญอย่างมาก ต้องจัดส่งรวดเร็วให้ถึงมือผู้บริโภค เพื่อความสดใหม่เสมือนรับประทานในสวนผลไม้  หากขบวนการสหกรณ์ทำได้เช่นนี้ เชื่อมั่นว่าผลผลิตของสหกรณ์จะสามารถจำหน่ายได้จำนวนมาก ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ และเชื่อมั่นว่าขบวนการสหกรณ์ จะเป็นขบวนการที่สำคัญที่จะร่วมมือกันพัฒนาด้านคุณภาพ ทั้งการผลิตและการตลาดได้ในอนาคต และมั่นใจว่าพลังของเครือข่ายในขบวนการสหกรณ์ จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา และพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ส่งผลถึงการอยู่ดีกินดีของสมาชิกเกษตรกรไทยต่อไป”

ข่าวดีผู้สูงอายุ!  “จุรินทร์” ให้คืนเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อน จ่ายเงินช่วยตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ผู้สูงอายุ 4.7 ล้านคน ขยายโครงการพักหนี้คนแก่อีก 6 เดือนถึง มีค.65

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการหารือเรื่องการดูแลผู้สูงอายุภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุไทย โดยมีมติดังนี้

1.เห็นชอบแนวทางการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเป็นการจ่ายย้อนหลังให้แก่ผู้มีสิทธิ์จำนวน 4.7 ล้านคน รายละเอียดคือ 
-ปีงบประมาณ 2563 จ่ายเงินสงเคราะห์ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย. อัตรา 100บาท/เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และอัตรา50บาท/เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 1แสนบาทต่อปี
-ปีงบประมาณ 2564 เป็นอัตราเช่นเดียวกับปีก่อน จ่ายเดือนเว้นเดือน (6งวด) เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2563

2.เรื่องการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นที่เคยเป็นประเด็นก่อนหน้า ที่ประชุมมีมติตามคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ 1) คืนเงินที่เรียกเก็บจากผู้สูงอายุที่รับเงินซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.5 หมื่นราย และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังหาแนวทางดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือน หลังครม.พิจารณาเห็นชอบมติดังกล่าว   2) ถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปแล้ว และ 3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆเพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพฯแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกมิติ

3)เห็นชอบขยายเวลาการพักชำระหนี้ของลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุ ต่อไปอีก 6 เดือน จากที่จะหมดเวลาในเดือน 30 ก.ย.ปีนี้  ไปจนถึง 31 มี.ค. 2565

4)เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่3 (พ.ศ. 2566-2580) พร้อมรับสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ ซึ่งประกอบแผนฯย่อย 1) เตรียมความพร้อมของประชากรก่อนวัยสูงอายุ 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทุกมิติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม 3) ปฏิรูปและบูรณาการระบบบริหารเพื่อรองรับสูงวัยอย่างมีคุณภาพ 4) เพิ่มศักยภาพการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย

ทั้งนี้ นายจุรินทร์ยังได้กล่าวว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติมีความห่วงใยและขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และจะกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคฯ ให้การดูแลผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ

"พิพัฒน์" ชะลอเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ เชื่อม 3 จังหวัด 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้รับทราบรายงานการติดเชื้อรายใหม่ที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ในช่วง 2 วันมานี้ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมกันมากถึง 61 ราย ซึ่งอาจกระทบต่อการทำโครงการสมุยพลัสโมเดล ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือแนวทางการควบคุมสถานการณ์ โดยจะดูตัวเลขในวันพรุ่งนี้อีกครั้งว่าจะกระเพื่อมขึ้นอีกหรือไม่ หากพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอีก ก็ต้องออกมาตรการมาควบคุมเข้มข้นขึ้นหรือชะลอโครงการไปก่อน แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ที่ชะลอไปแน่นอนแล้วคือ การเปิดสมุยพลัสเชื่อมโยงกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ในรูปแบบ 7+7 คืออยู่ในภูเก็ต 7 วันก่อนถึงจะเดินทางมาสมุยได้ เพราะต้องประเมินสถานการณ์ให้แน่ใจอีกครั้ง 

ส่วนการประเมินภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นั้น ขณะนี้ทุกหน่วยงานได้ติดตามสถานการณ์แบบใกล้ชิดตลอด และตนเองก็อยู่ในพื้นที่ด้วย ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์ได้ในทันที ซึ่งล่าสุดทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตก็ได้เพิ่มมาตรการการควบคุมโรคที่เข้มข้นขึ้นแล้ว เช่นเดียวกับการเปิดพื้นที่ภูเก็ตเชื่อมกับเชื่อมโยงจังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) ซึ่งเดิมกำหนดจะเริ่ม 1 ส.ค.นี้ ก็ต้องชะลอเอาไว้เช่นกัน

“ตอนนี้ก็ได้ขอให้ทางจังหวัดภูเก็ตแสดงรายละเอียดของผู้ติดเชื้อ โดยแยกออกมาเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้เห็นว่า มาจากไหนบ้าง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยในระบบจากสถานที่กักตัว AQ มากที่สุด โดยเมื่อวันที่ 28 ก.ค. พบติดเชื้อใหม่ 27 ราย แยกเป็น AQ มากถึง 21 ราย ที่เหลือคือ ติดเชื้อจากต่างจังหวัด 1 ราย รอสอบสวนโรค 2 ราย และรับกลับบ้าน 3 ราย ขณะที่การคัดกรองพบผู้ติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พบ 1 ราย เป็นการยืนยันผลที่สนามบิน ซึ่งนักท่องเที่ยวก็รอผลตรวจภายในห้องพัก และไม่มีความเสี่ยง ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ต้องแยกออกมาให้เห็นชัด ๆ และเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายมาให้ดูเรื่องนี้ให้ดี และหาทางประชาสัมพันธ์รายละเอียดออกมาให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดด้วย” 

รมว.แรงงาน ปลื้มผลงาน 2 สถานประกอบกิจการจังหวัดระยองคว้ารางวัลดีเด่นด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน 

รมว.แรงงาน แสดงความยินดีกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท นวอินเตอร์เทค จำกัด สถานประกอบกิจการในจังหวัดระยอง คว้ารางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน ครั้งที่ 3 พร้อมเน้นย้ำแรงงานไทยต้องทำงานบนพื้นฐานของความปลอดภัยเทียบเท่าระดับสากล

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยตามนโยบาย Safety Thailand ที่มีกลไกการขับเคลื่อนภารกิจด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการดูแลสวัสดิภาพของแรงงานให้ได้รับการคุ้มครองด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเทียบเท่าระดับมาตรฐานสากล มีการตรวจและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว สำหรับการจัดการประชุมวิชาการเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน ครั้งที่ 7 และพิธีมอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน ครั้งที่ 3 เป็นกิจกรรมที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขภาพดีให้กับแรงงาน ผ่านการบูรการเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปีนี้ประเทศไทยมีสถานประกอบกิจการที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลดังกล่าวจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โรงแยกก๊าซธรรมชาติ จังหวัดระยอง ได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นที่มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ยอดเยี่ยมของอาเซียน (Excellence Award) และบริษัท นวอินเตอร์เทค จำกัด จังหวัดระยอง ได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการ SMEs ที่มีการปฏิบัติที่ดีด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (Best Practice Award)  ซึ่งกระทรวงแรงงานขอแสดงความยินดีและขอชื่นชมสถานประกอบกิจการทั้งสองแห่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินการด้านความปลอดภัยให้กับสถานประกอบกิจการอื่นๆ ในประเทศต่อไป

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พิธีมอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัยฯ ได้จัดขึ้นผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง 2 รางวัล ที่ประเทศไทยได้รับ เป็นรางวัลที่มอบให้กับสถานประกอบกิจการที่มีระบบบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ยอดเยี่ยม อย่างไรก็ตามกรมจะมุ่งมั่นส่งเสริมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ตลอดจนทบทวนปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และสร้างความร่วมมือในการดำเนินงาน เพื่อไปสู่เป้าหมายของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

ดีพร้อม เผยสถิติ 8 ปัญหาที่ผู้ประกอบการพบเจอในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ชี้ปัญหา “การตลาด” “การเข้าถึงแหล่งเงินทุน” “การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ผู้ประกอบการประสบมากที่สุด พร้อมวาง 5 แนวทางเร่งด่วนฝ่าวิกฤต หนุน “พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด”

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยในวงกว้าง พบว่าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ไทยโต เพียง 1% จากที่ในไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ตัวเลข 2.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากติดลบ 6.1% ในปี 2563

ขณะเดียวกันสถานการณ์ภาพรวมของเอสเอ็มอี ที่มีจำนวน 3.1 ล้านล้านราย ในปี 2564 น่าจะยังคงน่ากังวล เพราะเมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว บริการ และกลุ่มค้าส่งค้าปลีก โดยจากข้อมูลสถิติพบว่า GDP SMEs ในปี 2563 ซึ่งปรับตัวลบ 9.1% และได้ประเมินว่าในปี 2564 คาดว่า จะติดลบที่ 4.8%  

อย่างไรก็ตาม ดีพร้อมได้ทำการสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการณ์รายย่อย เพื่อทราบถึงปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,574 สถานประกอบการ จากผลสำรวจพบ 8 ปัญหาที่ผู้ประกอบการพบเจอในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ตามลำดับดังนี้

1.) ปัญหาด้านการตลาด 66.82%

2.) ปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 21.92%

3.) ปัญหาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 13.74%

4.) ปัญหาด้านวัตถุดิบและปัจจัยเอื้อในการประกอบธุรกิจ 11.40%

5.) ปัญหาด้านการเพิ่มผลิตภาพการผลิต 11.28%

6.) ปัญหาด้านการจัดการ เช่น การขนส่ง บุคลากร 9.50%

7.) ปัญหาด้านต้นทุน 8.16%

และ 8.) ปัญหาด้านการพัฒนาอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 8.16%

จากผลสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการณ์ดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้กำหนดแนวทางนโยบาย การดำเนินงานในระยะต่อไปในปีงบประมาณ 2564 ภายใต้แนวนโยบายการดำเนินงาน โควิด 2.0 “พร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด” ในระยะเร่งด่วนช่วง 60 วัน ดังนี้

1.) การจัดการโควิดภายในองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสถานประกอบการปลอดเชื้อ โดยการแนะนำให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อบริหารจัดการสถานประกอบการ ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สำหรับการช่วยเหลือธุรกิจอุตสาหกรรมให้ปลอดภัย โดยเน้นในการสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นแบบองค์รวม ใน 9 หัวข้อวิชา

ตั้งแต่ การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านอาชีวอนามัยและสุขอนามัย การใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อลดความแออัด การประยุกต์ใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ไปจนถึงการแชร์ประสบการณ์จากสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019

2.) การตลาดภายใต้โควิด โดยมุ่งเน้นการดำเนินการตลาดและการขยายตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบไปด้วย

(1) การส่งเสริมการทำการตลาดออนไลน์ภายใต้โครงการ DIProm Marketplace โดยการสร้างช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค สามารถเข้ามาซื้อ-ขาย สินค้าและบริการดี ๆ มีคุณภาพ และได้รับการคัดสรรจากดีพร้อม และการเสริมแกร่งผู้ประกอบการด้วย Social Commerce

(2) การส่งเสริมด้านกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ผ่านการฝึกอบรม e-Learning 26 หลักสูตร พร้อมจะมุ่งเน้นการใช้ดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ และการถ่ายทอดประสบการณ์ของที่ปรึกษาและผู้ประกอบการที่ช่ำชองด้านการตลาดแบบออนไลน์ รวมทั้งเคล็ดลับหรือวิธีการเจาะลึกตลาดในอาเซียน จะช่วยเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการ ให้ลองเปิดใจที่จะก้าวออกจากกรอบเดิม ไปสู่ตลาดใหม่อันเป็นโอกาสดีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้

(3) แนวทางการช่วยเหลือด้านการขนส่ง ผ่านโครงการ ดีพร้อมแพค : บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์วิถีใหม่ (The Next Diprom Packaging : DipromPack) ด้วยการออกแบบ และพัฒนาบรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ ที่ตอบสนองต่อการดำเนินชีวิตแลประกอบธุรกิจใหม่เพื่อลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการ

(4) แนวทางการตลาดร่วมเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ โดยเตรียมความพร้อมเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนไทยเข้าสู่การรับรองตราสินค้า Made in Thailand หรือ MiT โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผ่านการเสริมสร้างการรับรู้และสร้างโอกาสการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย

- การรับรอง Made in Thailand (MiT) โดย ส.อ.ท.

- การขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอี Thai SME-GP ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. และ

- การขึ้นบัญชีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thai GPP ของกรมควบคุมมลพิษ

3.) เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจให้กลายเป็นเงินทุนในการประกอบกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการใช้ระบบคลังสินค้าออนไลน์ เพื่อเปลี่ยนเงินทุนด้วยเทคโนโลยี สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการผ่านระบบ Google Sheet และ Line OA ซึ่งเป็นมาตรการช่วย SMEs แบบดีพร้อม ด้วยการให้คำปรึกษาและพัฒนาระบบการบริหารสินค้าคงคลัง เพื่อลดต้นทุนต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 3 ด้านหลัก ได้แก่

- ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง

- ต้นทุนการขนส่งสินค้า

- ต้นทุนการบริหารจัดการ

เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3 มิติ ได้แก่ ต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ ผ่านโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้แก่ผู้ประกอบการ

4.) สร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยดีพร้อมเป็นผู้จัดสรรและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรให้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านโครงการสำคัญ ๆ ดังนี้ โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรและผู้แปรรูป โครงการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเพื่อปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ โครงการเชื่อมโยงเครื่องจักรเพื่อแปรรูป (i-Aid) โครงการช่างชุมชน โดยการมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะวิชาชีพให้แก่ช่างในชุมชน

5.) ปรับโมเดลธุรกิจ มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการดำเนินการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ การสร้าง และพัฒนาผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (SP) และยังได้ช่วยเสริมทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และให้ตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อการตัดสินใจทางการเงินที่ดี

นอกจากนี้ดีพร้อมยังได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง (Business Continuity Plan) ในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบ โดยเน้นการรับมือและสร้างแนวทางการดำเนินธุรกิจกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบ

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม มาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดในระลอกใหม่นี้ ดีพร้อม คาดว่าในปีงบประมาณ 2564 จะสามารถช่วยส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการในภาคส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้จำนวนรวม 3,356 กิจการ 11,955 คน 982 ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตามจากการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2564 ภายใต้ นโยบาย “สติ (STI)” ที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย

1.) SKILL : ทักษะเร่งด่วน โดยเร่งเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัว

2.) TOOL : เครื่องมือเร่งด่วน เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน

และ 3.) INDUSTRY : อุตสาหกรรมเร่งด่วน สร้างโอกาสจากต้นทุนที่ประเทศไทยมีจุดแข็ง เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ครอบคลุมทุกมิติ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี เพื่อปรับแผนการดำเนินงานโครงการให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุข และสอดรับกับการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่เปลี่ยนไปที่กระทบทั้งด้านรายได้ ด้านการจ้างงาน ด้านสภาพคล่องทางการเงิน และเงินทุนหมุนเวียน” นายณัฐพล กล่าวสรุป


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ออมสินแนะลูกค้าเร่งตรวจสอบสิทธิพักหนี้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท โดยให้พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 6 งวด เริ่มตั้งแต่งวด ก.ค.- ธ.ค. 64 ซึ่งมีลูกค้าประมาณ 750,000 รายที่มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการ โดยธนาคารได้เริ่มทยอยเปิดสิทธิ์ให้ลูกค้าสามารถกดเข้าร่วมมาตรการผ่านแอป MyMo แล้วกว่า 348,000 ราย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา ภายในเวลา 3 วันมีลูกค้าเข้ากดรับสิทธิ์แล้วประมาณ 50,000 ราย ซึ่งธนาคารจะเริ่มเปิดสิทธิ์เฟสที่สองช่วงต้นเดือนส.ค.เป็นต้นไป สิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค.2564

ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าได้รับสิทธิ์ตามมาตรการอย่างทั่วถึง และสะดวกรวดเร็ว จึงขอให้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ โปรดเร่งเข้าตรวจสอบสิทธิ์ในแอป MyMo และกดทำรายการได้ทันทีที่ปรากฎเมนูพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 

ส่วนผู้ที่ยังไม่มีแอป MyMo แต่มีบัตรเดบิต สามารถดาวน์โหลดและเปิดใช้งานแอป MyMo ด้วยตนเองได้โดยใช้ข้อมูลบัตรเดบิต ซึ่งจะได้รับความสะดวกในการขอพักชำระหนี้โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่สาขาธนาคาร และเป็นการลดความเสี่ยงการติดเชื้อในช่วงนี้อีกด้วย โดยลูกค้าสามารถศึกษาวิธีการดาวน์โหลดและเปิดใช้แอป MyMo ด้วยตนเองได้ที่ www.gsb.or.th หรือสอบถามที่ GSB Contact Center โทร. 1115 กด 1

คลังหั่นเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโตแค่ 1.3%

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 1.3% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3% เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มต้นในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2564 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยการเดินทางระหว่างประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งในช่วง 5เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงที่ 14.5% ส่งผลให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ 16.6% ปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 11% 

“ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย ผ่านมาตรการต่าง ๆ ทั้ง โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคบรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น”

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4 – 5% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลงและมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จำนวน12 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top