สศช.หั่นจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 1% ประเมินครึ่งปีหลักเจอโควิดหนัก
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ขยายตัว 7.5% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น การบริโภคภาคเอกชน กลับมาขยายตัว ขณะที่ด้านการผลิต สาขาการผลิตอุตสาหกรรมและสาขาเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาที่พักแรมและ บริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งการขายปลีกและการซ่อมแซมฯ และ สาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ กลับมาขยายตัว โดยการขยายตัวไตรมาสที่ 2 นี้ ส่งผลให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2%
ทั้งนี้ในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งปี สศช. ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1.5 – 2.5% ลดลงเหลือ 0.7 – 1.2% หรือขยายตัวได้ 1% โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องควบคุมการระบาดให้ได้ในไตรมาสที่ 3 เพื่อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งในไตรมาสที่ 4
ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พบว่า มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.9% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 2.0% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 2.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2564 อยู่ที่ 2.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,825,097 ล้านบาท คิดเป็น 56.1% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ๆ คือ 1) การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง 2) ข้อจำกัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ 3) ภาคการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้ง ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และ 4) ความเสี่ยงจากความผันผวนของ เศรษฐกิจและการเงินโลก