Thursday, 8 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘Murata’ ยักษ์ใหญ่ผลิตชิ้นส่วน iPhone โยกฐานการผลิตสู่ไทย เปิดโรงงานใหม่ ต.ค. 66

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565 ว่า บริษัท Murata Manufacturing และซัพพลายเออร์เทคโนโลยีอื่นๆ ของญี่ปุ่นกำลังลดการพึ่งพาจีน เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทวีความรุนแรงขึ้น 

Murata ผู้ผลิตตัวเก็บประจุใหญ่ที่สุดในโลกและผลิตชิ้นส่วน iPhone รายสำคัญ ประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ว่า บริษัทฯ จะเปิดโรงงานแห่งใหม่ในประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2566 โดยโรงงานแห่งใหม่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูน โดยจะมีขนาดใหญ่เท่ากับโรงงานแห่งเดิมในเมือง อู๋ซี ใกล้กับเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นโรงงานหลักที่ Murata ผลิตตัวเก็บประจุเซรามิกหลายชั้นสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆสำหรับผู้บริโภครวมถึง iPhone ด้วย

ที่ผ่านมาบริษัทเป็นผู้นำด้านการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ตัวกรองเพื่อรับสัญญาณวิทยุ แอมพลิฟายเออร์สำหรับการเสริมกำลังสัญญาณ และเครื่องดูเพล็กซ์สำหรับจัดการสัญญาณขาเข้าและขาออกพร้อมกัน ซึ่งใช้ในสมาร์ตโฟน Apple iPhone, Samsung Galaxy และ Huawei Note เป็นต้น ส่วนประกอบต่างๆ จะถูกส่งไปสำหรับประกอบในสมาร์ตโฟนในประเทศจีน เพื่อจัดส่งไปยังตลาดสุดท้ายโดยมีสหรัฐฯ เป็นประเทศที่สำคัญที่สุด 

ครม. เทงบกลาง 574 ล้าน ให้เกษตรกร ชดเชยการทำลายหมู 56 จังหวัด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 574.11 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ซึ่งเป็นโรคติดต่อในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่รุนแรง 

โดยจะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 64 - 15 ต.ค. 64 ตาม ม.13(4) แห่ง พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด

‘จุรินทร์’ สั่งเบรกขึ้นราคาไข่ - เนื้อไก่ เล็งหารือ ‘บิ๊กตู่’ เร่งชดเชยผู้เลี้ยงหมู

วันที่ 10 ม.ค. 65 - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะราคาไข่ไก่ และเนื้อไก่ ราคาทยอยปรับขึ้น ว่า ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่อนุญาตให้มีการขึ้นราคาสินค้าดังกล่าว

ทั้งนี้ อาจมีการฉกฉวยขึ้นราคา แต่ก็จะดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค แต่หากมีความจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าในรายการใด ผู้ประกอบการสามารถทำเรื่องมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิสูจน์เป็นรายกรณีไปว่ามีความจำเป็นแท้จริงหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรรายย่อย จากการกดราคาทางนโยบาย เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าขาดตลาดอีก โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าภายใน ไปติดตามราคาเนื้อไก่และไข่ไก่ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากกรณีเนื้อหมูได้ขึ้นราคาไปแล้ว ขณะเดียวกันยังต้องช่วยเหลือดูแลกับเกษตรกรรายย่อยด้วย โดยต้องให้สมดุลกันระหว่างผู้บริโภคและเกษตรกรรายย่อย

พาณิชย์ เบรกขึ้นราคาไข่ไก่และเนื้อไก่ สั่งให้ทำเรื่องเสนอมาก่อน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่อนุญาตให้มีการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะราคาไข่ไก่และเนื้อไก่ ที่ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยหากพบว่า มีการฉกฉวยขึ้นราคา กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค แต่หากมีความจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าในรายการใด ก็สามารถทำเรื่องมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิสูจน์เป็นรายกรณีไปว่ามีความจำเป็น เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรรายย่อย และป้องกันไม่ให้สินค้าขาดตลาดอีก

อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน ลงพื้นที่ติดตามราคาเนื้อไก่และไข่ไก่ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบโดยในส่วนของราคาเนื้อหมูนั้น ตอนนี้มีโครงการพาณิชย์ลดราคาที่กำหนดราคาหมูเนื้อแดงไว้ที่ กก.ละ 150 บาท กว่า 600 จุด พร้อมเตรียมเสนอของบกลาง เพื่อเร่งมาชดเชยราคาในโครงการฯ ที่ตรึงไว้ 150 บาทต่อ กก. และอุดหนุนกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อให้มีกำลังใจในการเลี้ยงหมูต่อไป และไม่ให้เกิดภาวะหมูขาดแคลนในอนาคต  

ขณะที่นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวถึงกรณีการปรับราคาไข่ไก่ ว่า เรื่องนี้เป็นมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา อาหารสัตว์ต่าง ๆ ขึ้นแล้วไม่ยอมลง ภาระต่างๆ ตกหนักที่ผู้เลี้ยง ซึ่งต้นทุนหลัก 60-70% เป็นอาหารสัตว์ และยังมีผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เช่น วัคซีน ยาสัตว์ และอื่นๆ ขึ้นตามหมด รวมแล้วประมาณ 20-30% ซึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น และเกษตรกรต้องทนรับมาโดยตลอด

4 แนวทางจัดการ ‘หมูแพง’

4 แนวทางจัดการ ‘หมูแพง’

- ห้ามส่งออกหมูชั่วคราว 3 เดือน

- สั่งเช็กสต็อกหมูทั่วประเทศ ป้องกันการกักตุน

'ธ.ก.ส.'เปิดข้อมูลสินค้าเกษตรพาเหรดขึ้นราคายกแผง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ประเมินราคาสินค้าเกษตรในเดือนม.ค. 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 9,966 - 10,075 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.17 - 2.27% เนื่องจากฮ่องกงมีความต้องการใช้ข้าวหอมมะลิเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับภาครัฐดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เพื่อชะลอการขายข้าวที่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกับข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,160 - 8,460 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.18 - 4.90% เนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวนาปีออกสู่ตลาดน้อยลง 

ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาอยู่ที่ 9.08 - 9.16 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.85 - 1.73% เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 เข้าสู่ช่วงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) ทำให้ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดน้อยโดยมีผลผลิตเพียง 2.59% ของปริมาณผลผลิตทั้งปี ขณะที่ ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 54.95 - 55.90 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.46 - 5.25% เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาโรคไวรัสโควิด-19 หรือฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับคนไข้เพิ่มขึ้น 

ด้าน สุกร ราคาอยู่ที่ 77.56 - 81.29 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.45 - 6.31% เนื่องจากความต้องการเนื้อสุกรของร้านอาหารและผู้บริโภคเพื่อใช้ในการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มีผลผลิตสุกรมีแนวโน้มลดลงจากการที่ผู้เลี้ยงสุกรจะชะลอการผลิตเพราะต้นทุนการผลิตที่สูง กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 163.73 - 164.39 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.45 - 0.85% เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมออกสู่ตลาดน้อย และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 98.00 - 101.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.29 – 3.36% เนื่องจากบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่  

รมว.เฮ้ง เดินหน้าเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ปรับเงื่อนไขโครงการช่วย SMEs หลังสถานประกอบการบางส่วนเสียสิทธิ์รับเงินอุดหนุนเพราะเงื่อนไขโครงการฯ

คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ อนุมัติเงื่อนไข ส่งเงินสมทบผ่าน e - Service 2 ข้อ หากปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุน งวดธันวา 64 และมกรา 65
 
นายสุชาติ ชมกลิ่น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้เชิญชวนนายจ้างภาคเอกชนที่มีกิจการขนาดเล็ก – กลางเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในอัตรา 3,000 บาท ต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 - มกราคม 2565 ด้วยมีเป้าหมายช่วยเหลือนายจ้าง สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้กลับมาแข็งแรงประสบผลสำเร็จดั่งในอดีตก่อนมีโรคโควิด-19 ตามความตั้งใจของรัฐบาล

ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ที่ห่วงใยธุรกิจในกลุ่ม SMEs ซึ่งผลการลงทะเบียนในทุกรอบมีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการถึง 246,099 ราย ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 3,274,018 คน แต่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการร้องทุกข์จากนายจ้าง/สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านสำนักงานจัดหางานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เนื่องจากไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนธันวาคม 2564 เพราะไม่ได้ส่งข้อมูลเงินสมทบฯ ผ่านระบบ e - Service ของสำนักงานประกันสังคมภายในกำหนด เพื่อขอให้ทบทวนเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ได้รับเงินอุดหนุนบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หากเกิดการระบาดในระลอกใหม่ของสายพันธ์โอมิครอน

“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าใจความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเป็นอย่างดี กิจการเล็กๆ หลายแห่ง ยังมีความไม่เข้าใจเงื่อนไขและขั้นตอนการใช้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแต่อย่างใด กระทรวงแรงงานจึงได้ปรับเงื่อนไขโครงการเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 มกราคม 65 และจะดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในวันที่ 11 มกราคม 65 เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการที่เสียสิทธิ์ไป มีโอกาสได้รับเงินอุดหนุนในเดือนธันวาคม 64 และมกราคม 65 ดังนี้ 1. นายจ้างที่เข้าร่วมโครงการหากเคยนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม

ภายในปีนี้ ก่อนวันที่ 16 ธันวาคม 64 จะได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 2 เดือน (ธ.ค. 64 – ม.ค. 65)  2. นายจ้างที่เข้าร่วมโครงการแต่มีการนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม หลังวันที่ 15 ธันวาคม 64 ที่ได้นำส่งข้อมูลฯ ภายในวันที่ 17 มกราคม 65 จึงจะได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 2 เดือน (ธ.ค. 64 – ม.ค. 65)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว  
 
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การสมัครใช้งาน e - Service และนำส่งข้อมูลเงินสมทบ ผ่านระบบ e - Service ของสำนักงานประกันสังคม เป็นเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งของโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนหันมาใช้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลนายจ้างที่ไม่ได้นำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ในงวดเงินสมทบเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่ามีนายจ้างปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว

‘คุณสมบัติ’ ประธาน INTERLINK ประเดิมต้นปี!เปิดงานสัมมนา ต้อนรับโลกแห่งยุคดิจิทัล

คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ เปิดงานสัมมนาต้อนรับปี 2022 ในงาน "The Next Innovation of LINK FIBER OPTIC" 

พร้อมนำทีมวิทยากรชั้นนำมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เจาะลึกในการเลือกใช้นวัตกรรมโครงข่ายสายสัญญาณเพื่อการเชื่อมต่อเข้าสู่โลกดิจิทัล 

‘เอกชน’ ค้าน ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ชี้ ‘โอมิครอน’ แม้ระบาดเร็ว แต่ก็หายไว

หอการค้าไทย ไม่เห็นด้วย หากต้องล็อกดาวน์ประเทศทั้งหมด ชี้โอมิครอนระบาดเร็ว แต่ก็หายเร็วเช่นกัน เป็นความเสี่ยงที่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้

วันที่ 6 มกราคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากเดิมระดับ 3 ปรับขึ้นเป็นระดับ 4 โดยจะมีข้อแนะนำและมาตรการเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีการปิดสถานที่เสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อ รวมถึงชะลอการเดินทาง เช่น การไปทำงานก็ให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) การเดินทางข้ามจังหวัด การเคลื่อนย้ายของคน และการจำกัดการรวมกลุ่ม

“หอการค้าไทยอยากให้มีการพิจารณาถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ถึงแม้ปัจจุบันจะทราบกันดีว่าสายพันธุ์โอมิครอนมีการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว และมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่ที่เพิ่งผ่านพ้นมา และไทยคงหลีกเลี่ยงการระบาดที่จะขยายวงกว้างมากขึ้นไม่ได้ แต่หากพิจารณาถึงอาการจะพบว่าไม่ได้รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลตา ในขณะที่หลายประเทศในยุโรป ที่มีการติดเชื้อและแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ก็มีอัตราการหายที่รวดเร็วเช่นกัน“

นายสนั่นกล่าวอีกว่า ประชากรส่วนใหญ่ของไทยต่างได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง รวมทั้งระบบสาธารณสุขที่ยังคงสามารถรองรับผู้ป่วยได้ จึงคิดว่าการดำเนินมาตรการในช่วงนี้คงต้องเน้นการเพิ่มความระมัดระวัง คุมเข้มสถานประกอบการที่มีประชาชนใช้บริการอย่างหนาแน่น และเร่งการ Boost เข็ม 3-4 ให้กับประชาชน ตามที่รัฐบาลได้เตรียมการไว้แล้วให้มากที่สุด ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น และลดความรุนแรงของการติดเชื้อได้

“หอการค้าไทยไม่เห็นด้วย หากภาครัฐจะยกระดับมาตรการ ด้วยการล็อกดาวน์ทุกกิจกรรมของประเทศ เพราะสถานการณ์ในวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับวัคซีน ต่างจากกลางปีที่แล้วที่การฉีดวัคซีนและปริมาณวัคซีนยังมีน้อยและไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายมหาศาลกับเศรษฐกิจแล้ว ยังจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนภายในประเทศลดลง”

“ที่ผ่านมาบรรยากาศของประเทศเพิ่งกลับมาคึกคัก หลายภาคส่วนมีความหวังในการตั้งต้นและเดินหน้าธุรกิจใหม่ในปี 2565 และประชาชนเริ่มสามารถดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติได้มากขึ้น หากกลับไปล็อกดาวน์จะทำให้ประเทศต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง อีกทั้งในส่วนภาครัฐเองก็จะต้องหามาตรการเยียวยาฟื้นฟูประเทศใหม่ และจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล“

เร่งแก้หนี้ระบบสหกรณ์ พร้อมตั้งเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 3% 

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินราชการในภาคสหกรณ์ ว่า เร็ว ๆ นี้ กรมฯ เตรียมออกประกาศฉบับใหม่เพื่อกำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินฝากให้ไม่เกิน 3.5% ซึ่งเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบขั้นบันไดที่มีการปรับลงมาจากที่อัตรา 4.5% ลงมาที่ 4% และ 3.5%  ตามลำดับ เพื่อลดต้นทุนของแต่ละสหกรณ์ที่มีภาระผูกพันจากกการรับฝากเงินจากสหกรณ์อื่น ซึ่งรับฝากมาใช้เป็นทุนธุรกิจด้วยเช่นกัน สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนั้น ได้แนะนำให้กำหนดเพดานไว้ว่าต้นทุนเท่าไหร่บวกได้ไม่เกิน 3% เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของสมาชิก 

ส่วนกรณีรายได้ของสมาชิกหลังหักหนี้ต้องเหลือไม่น้อยกว่า 30% นั้น เป็นประเด็นที่กรมฯ ได้หารือกับทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่าจำนวนดังกล่าวเพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่ควรหักลดน้อยลงไปต่ำกว่านี้  ถือเป็นสาระสำคัญที่บรรจุอยู่ในร่างกฎกระทรวงที่รอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  เสนอร่างที่กฤษฎีกาตรวจสอบแล้วให้กับที่ประชุมครม.เห็นชอบเพื่อนำออกมาประกาศใช้ 

“ได้เสนอว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนระหว่างรอกฎกระทรวงฉบับนี้  รัฐบาลควรมีกฎหรือระเบียบให้กระทรวงการคลังสั่งให้กรมบัญชีกลางกำหนดให้ส่วนราชการหักเงินเดือนข้าราชการที่มีภาระหนี้ผูกพันไว้ ต้องให้เหลือติดบัญชีไม่น้อยกว่า 30% เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีอานิสงส์ดูแลเรื่องรายได้ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายของข้าราชการทุกภาคส่วน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top