Friday, 9 May 2025
ECONBIZ NEWS

กางชื่อองค์กรในฝันของคนรุ่นใหม่ปี 2022 กูเกิลเต็งหนึ่ง!! ส่วนบริษัทไอทีติดโผเพียบ

WorkVenture ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้นหางานที่หลายคนรู้จัก ได้ทำแบบสำรวจ Top 50 Employers in Thailand 2022 องค์กรที่คนรุ่นใหม่ลงความเห็นว่า เป็นองค์กรที่น่า ‘ทำงาน’ ด้วยมากที่สุดในปี 2022 ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายของหลายองค์กรอย่างมากที่ต้องรับมือจัดการปรับตัวให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์การทำงานในปัจจุบัน แทบทุกองค์กรต้องปรับรูปแบบการทำงาน Work from Home สลับกับการเข้าออฟฟิศ 

ในขณะเดียวกันก็ยังต้องรักษามาตรฐานในการ ทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กร รวมถึงการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรให้ได้ เพราะโจทย์ใหญ่อีกโจทย์หนึ่งที่องค์กรได้รับนั่นก็คือปัญหาภาวะหมดไฟของคนทำงานจากความกดดันต่างๆ ในช่วงนี้ที่ทำให้เกิดการลาออกครั้งใหญ่ของพนักงาน เพื่อแสวงหาองค์กรที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากขึ้น

ทางทีม WorkVenture ได้รวบรวมข้อมูลจากทั้งกลุ่มนักศึกษาและหนุ่มสาววัยทำงาน ช่วงอายุระหว่าง 21-35 ปี จำนวนกว่า 10,000 คน ผ่านการทำผลสำรวจแบบออนไลน์ พบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกองค์กรยังคงมีอิทธิพลจากปัจจัยหลัก อย่างผลตอบแทน-เงินเดือน สวัสดิการ วัฒนธรรมองค์กรหรือไลฟ์สไตล์ในที่ทำงานตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือเรื่อง “อิสระในการทำงาน” ทำให้บริษัทที่มีนโยบายการ ทำงาน รูปแบบไฮบริดกลายเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ

หากมองในด้านกลุ่มธุรกิจพบว่ากลุ่มทางด้านเทคโนโลยีได้รับความสนใจมากที่สุดในปีนี้ รองลงมาจะเป็นกลุ่มเครื่องอุปโภคบริโภคที่ผู้คนต้องใช้ทุกวัน ด้วยเหตุผลเรื่องความเติบโตของบริษัทและโอกาสเติบโตในสายงาน และกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำในวงการเพราะมีความมั่นคงท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้สื่อโซเชียลมีเดียยังทำให้ผู้คนรู้จักกับบริษัทมากขึ้น ยิ่งเป็นบริษัทที่มีผู้ติดตามมากอย่างสายบันเทิงก็ยิ่งเป็นที่น่าสนใจในหมู่คนรุ่นใหม่ เพราะได้เห็นภาพว่าการทำงานที่นั่นเป็นเช่นไร และนี่คือ 10 องค์กรชั้นนำที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุดในปี 2022

'เกษตรฯ' เตรียมแผนส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกไปจีน

นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เตรียมการรองรับการส่งออกผลไม้สำหรับฤดูกาลภาคตะวันออกไปจีน หลังจากหารือกับ ผู้ประกอบการเพื่อผลักดันให้การส่งออกผลไม้ไปจีนผ่านประเทศที่สามได้สะดวก ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมไวรัสโควิด-19 ของจีนที่เข้มงวด ZERO COVID 100 % ทั้งคน สินค้า (รวมผลไม้สด) บรรจุภัณฑ์ และตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งหากจีนตรวจพบเชื้อโควิด-19 จะต้องปิดด่านและระงับการนำเข้าสินค้า ตามมาตรการของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นที่กำหนด  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยอาจติดอยู่ที่หน้าด่านได้

ทั้งนี้ในปี 2565 ประเมินว่า ผลผลิตทุเรียนจะมีไม่น้อยกว่า 700,000 ตัน และมังคุดไม่น้อยกว่า 200,000 ตัน ซึ่งมาตรการที่กรมฯ ได้เตรียมการไว้ คือ มาตรการควบคุมและป้องกันไวรัสโควิด-19 ในผลไม้ส่งออกตั้งแต่สวนต้นทางจนถึงปลายทางคือผู้ปฏิบัติงานในโรงคัดบรรจุ เพื่อควบคุม และป้องกันไวรัสโควิด-19 บนผิวผลไม้ที่ส่งออก บรรจุภัณฑ์ และในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งผลไม้ พร้อมกับเร่งการตรวจประเมินสวนผลไม้รายใหม่เพื่อรองรับมาตรฐาน GAP และจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนให้กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) เป็นรายไตรมาส  เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการเพิ่มจำนวนแปลง GAP ในระบบฐานข้อมูลของจีน

กกร. ไฟเขียวประกาศ ไก่-เนื้อไก่ ขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้ไก่และเนื้อไก่เป็นสินค้าควบคุม กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอผลการประชุมดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้าเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ต่อไป ซึ่งแนวทางกำกับราคาไก่ถือว่าได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเกษตรกรและผู้ประกอบการ พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการค้าภายในประชุมร่วมกับเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านไก่โดยต่อเนื่อง และใกล้ชิดต่อไป เพื่อไม่ให้มีการซ้ำเติมอาหารทางเลือกกับผู้บริโภค

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบกำหนดมาตรการให้ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัวต่อวัน แจ้งปริมาณ สต๊อก และต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน และกำหนดให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีอยูทั้งหมด 55 โรง แจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต และสตอก รวมทั้งกำหนดมาตรการให้ การปรับราคาต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อน

 

‘บิ๊กตู่’ เคาะงบกลาง 1.48 พันลบ. แก้ของแพง สั่งตั้งจุดขายสินค้าราคาถูกให้ประชาชน 3 เดือน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. อนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,480 ล้านบาท ให้กระทรวงพาณิชย์ใช้แก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง ผ่านโครงการพาณิชย์ ลดราคา ช่วยประชาชน ปี 65 มีระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเพิ่มช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในราคาประหยัด

สำหรับรูปแบบของโครงการฯ จะเป็นการจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพให้แก่ประชาชนในราคาประหยัด คือ จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางจำหน่าย ทั้งบริเวณร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น หรือตลาด พื้นที่สาธารณะหรือลานอเนกประสงค์และสถานีบริการน้ำมัน รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 จุด ตามแหล่งชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และภูมิภาค รวมถึงการจำหน่ายผ่านรถโมบายไม่น้อยกว่า 50 คัน ตามแหล่ง ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเปิดจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น สินค้าเกษตร เนื้อไก่ ไข่ไก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น จากสมาคม/ผู้ค้าปลีก/ค้าส่ง/ซัพพลายเออร์ในพื้นที่ เพื่อจำหน่ายในจุดจำหน่าย

ถึงรอบชาวสวนยาง!! โอนเงินประกันรายได้ยางงวด 3 แล้ว! เกษตรกรชาวสวนยาง 1.88 ล้านราย ยิ้มออก

ยางพารา เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเกษตรกรเกือบ 2 ล้านครัวเรือน สาเหตุที่ประเทศไทยปลูกยางพารามากขนาดนี้ นั่นเพราะยางพาราเป็นพืชที่ทำรายได้สม่ำเสมอ กรีดน้ำยางได้เกือบทุกวัน เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีตลาดรองรับ 100% และยังให้ผลผลิตนานกว่า 15 ปีต่อต้น

แต่ทว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับไม่สามารถกำหนดราคายางพาราเองได้ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับความผันผวนของราคา ส่งผลให้รายได้ไม่แน่นอน ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงที่ภาวะราคายางตกต่ำ

ดังเช่น รัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ได้ใช้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ในการบริหารจัดการ ผ่านกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหัวเรือใหญ่ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ขับเคลื่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการนี้ เป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้หาเสียง เมื่อครั้งเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 นั่นเอง

ในส่วนของยางพารา โครงการดังกล่าวเป็นการประกันรายได้ตามการผลิตแต่ละประเภท ได้แก่ ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันรายได้ที่ราคา 60 บาท/กิโลกรัม, น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันรายได้ที่ราคา 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันรายได้ที่ราคา 23 บาท/กิโลกรัม 

รบ.ออกแพ็กเกจสร้างความมั่นคงแรงงานอิสระ รองรับวัยเกษียณได้บำนาญ - คุ้มครองอุบัติเหตุ 

"รัฐบาล" ออกแพ็กเกจสร้างความมั่นคงแรงงานอิสระ เชิญชวนสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ เกษียณได้บำนาญ คุ้มครองอุบัติเหตุ

วันที่ 18 ม.ค. 65 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชิญชวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ประกันตนตามมาตรา 40(1) สมัครออมเงินควบคู่ไปกับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเติมเต็มเงินออมและสร้างความมั่นคงทางการเงิน สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตของประชากร ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)

โดย กอช. ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จัดคู่หูสวัสดิการเพื่อประชาชน เชิญชวนผู้ที่มีสิทธิสมัคร อายุ 15 - 60 ปี และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40(1) วางแผนเงินออมหลังอายุ 60 ปี ควบคู่กับ กอช. เพียงออมเงินขั้นต่ำ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ทั้งนี้ สมาชิกจะได้สวัสดิการจาก 2 หน่วยงานรวมกัน โดยจะได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลเพิ่มตามช่วงอายุสมาชิก สูงสุด 100% ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีผลตอบแทนเพิ่มเติมจากการลงทุน ซึ่งได้รับความค้ำประกันผลตอบแทน รวมถึงสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้เต็มจำนวนเงินออมสะสม และในระหว่างการทำงาน สมาชิกจะได้เงินทดแทนรายได้กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ค่าทำศพจากสำนักงานประกันสังคม และเมื่ออายุหลังอายุ 60 ปี จะได้บำนาญรายเดือนจาก กอช. และได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามเกณฑ์อีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครสมาชิก กอช. มีอายุตั้งแต่ 15 - 60 ปี ได้แก่ นักเรียน นิสิตและนักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ผู้ที่ขับรถรับจ้างทั่วไป ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่แอปพลิเคชัน “กอช.” หรือ เว็บไซต์ กอช. www.nsf.or.th หรือสอบถาม สายด่วนเงินออม โทร. 02-049-9000

รับวาเลนไทน์! เราเที่ยวด้วยกัน เริ่มก.พ. นี้ “พิพัฒน์” พร้อมชงครม.ไฟเขียว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 25 ม.ค.นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเพิ่มสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 อีก 2 ล้านสิทธิ (คืน) ภายใต้กรอบวงเงิน 13,200 ล้านบาท หลังจากที่ผ่านมาได้เห็นชอบในหลักการโครงการไปแล้ว และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้หารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ไปแล้ว เบื้องต้นหากที่ประชุมครม.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ คาดว่า จะเปิดให้ประชาชนจองสิทธิได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อใช้สิทธิภายในเดือน ก.ย.65

ทั้งนี้ที่ผ่านมาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 กำหนดสิทธิเอาไว้จำนวน 2 ล้านสิทธิ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก และมีประชาชนจองไปครบแล้วในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย โดยโครงการนี้รัฐช่วยจ่ายค่าที่พักให้ 40% สูงสุดไม่เกินคืนละ 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน รับคูปอง 600 บาทต่อวัน และเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่า การเปิดให้จองสิทธิจำนวน 2 ล้านสิทธิครั้งนี้ น่าจะได้รับความสนใจจำนวนมาก และสิทธิอาจถูกใช้หมดภายในเดือน เม.ย.65 เพราะเข้าช่วงฤดูท่องเที่ยวของคนไทย โดยเฉพาะตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน

พาณิชย์ตั้ววอรูม สกัดของแพง หลังเจอน้ำอัดลมจ่อขึ้นราคา

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากมีภาคเอกชนส่งสัญญาณการปรับราคาน้ำอัดลมจากผู้ประกอบการค่ายน้ำดำเจ้าใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งมีการแจ้งขอปรับรายการส่งเสริมการขาย เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีผลทำให้ราคาขายปลีกหน้าร้านขยับราคาขึ้นเฉลี่ยประมาณขวดละ 1 บาท ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เรียกประชุมกระทรวงพาณิชย์เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้มีข้อสั่งการให้ตั้งวอรูมขึ้น โดยปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานทำหน้าที่ติดตามราคาสินค้า แก้ปัญหาและดำเนินคดีกับพวกฉวยโอกาสอย่างเต็มที่ โดยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในฐานะประธานกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ระดับจังหวัด เป็นประธานวอรูมในระดับจังหวัด

มัลลิกา เผย โอนเงินประกันรายได้ "ยางพารา" งวดล่าสุดแล้ว "ชู" เกษตร-พาณิชย์ ช่วยเกษตรกรทุกปี 1.88 ล้านครัวเรือน คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้นทันตา!  "ราคายางยกระดับ-แตกต่างจากก่อนหน้านี้" 

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกร โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของยางพารา โครงการดังกล่าวเป็นการประกันรายได้ตามการผลิตแต่ละประเภท ได้แก่ ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันรายได้ที่ราคา 60 บาท/กิโลกรัม  น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันรายได้ที่ราคา 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันรายได้ที่ราคา 23 บาท/กิโลกรัม เป้าหมายเกษตรกร 1.88 ล้านราย พื้นที่สวนยางกว่า 19.16 ล้านไร่ ในส่วนของปีที่ 3 นั้นเตรียมวงเงินไว้สำหรับเกษตรกรไปแล้ว 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ความคืบหน้าการโอนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 นั้นล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ธ.ก.ส. ได้โอนเงินประกันรายได้ดังกล่าวเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงแล้ว ทั้งนี้เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่สมัครใช้บริการ   BAAC Connect ของ ธ.ก.ส.รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ซึ่งพี่น้องเกษตรกรสามารถไปกดเงินได้เลย 

"การยางแห่งประเทศไทย เคาะจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง งวดที่ 3 วันที่ 14 มกราคม สำหรับวงเงินงวดนี้กว่า 850 ล้านบาท โดยนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. รายงานนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ได้เริ่มดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างชดเชยรายได้ให้กับชาวสวนยาง งวดที่ 1 ประจำเดือนตุลาคม 2564 และ งวด 2 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2564 สำหรับงวดที่ 3 ประจำเดือนธันวาคม 2564 โอนเข้าบัญชีของเกษตรกรชาวสวนยางแล้วเมื่อในวันที่14 มกราคม โดยวงเงินงวดนี้ 850.25 ล้านบาท" นางมัลลิกา กล่าว

 

นางมัลลิกา กล่าวว่า การโอนเงินประกันรายได้เกษตรกรยางพารานั้นเป็นไปตามระเบียบหลังจากที่ได้กำหนดราคายางพาราอ้างอิง รอบล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คือ ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี อยู่ที่ 54.85 บาท/กก. ได้ชดเชย 5.15 บาท/กก. ราคาน้ำยางสด DRC 100% อยู่ที่ 51.03 บาท/กก. ได้ชดเชย 5.97 บาท/กก. ราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 23.18 บาท/กก. อันนี้จะไม่มีชดเชย เพราะราคาตลาดสูงกว่าราคารายได้ที่ประกันไว้

‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘แก้หนี้’ เป็นพันธกิจหลักปี 65 สั่งลุยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน - หนี้สิน ขรก.

จากสถิติตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 2 ปี ที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาด ที่ซ้ำเติมให้ ‘ปัญหาหนี้สินครัวเรือน’ มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลล่าสุดจากของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ ไตรมาส 3/2564 (30 ก.ย. 64) ครัวเรือนไทยมีหนี้สินทั้งสิ้น 14.34 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 18 ปีเลยทีเดียว

การที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราที่สูงในขณะนี้ จะสะท้อนไปถึงภาวะความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทย และนำไปสู่ปัญหาในการดำรงชีวิตและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในอนาคต

แน่นอนว่า ปัญหานี้ นับเป็นอีกหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลคงไม่สามารถเพิกเฉยต่อไปได้ 

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้นำรัฐบาล ประกาศชัดว่า จะผลักดันให้ปี 2565 นี้ เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ให้สำเร็จให้ได้ พร้อมกับให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าทุกวิถีทาง เพื่อช่วยบรรเทาภาระและความเดือดร้อนของทุกกลุ่มลูกหนี้ 

ล่าสุดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ผลักดันร่างพ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เข้าสู่รัฐสภาพิจารณา โดยหวังจะได้รับความร่วมมือสมาชิกรัฐสภาผ่านร่างพ.ร.บ. โดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้หนี้นักเรียน นักศึกษา และผู้ค้ำประกันที่คาดว่าจะมีอยู่กว่า 5 ล้านคน ได้หายใจได้คล่องขึ้น 

ไม่เพียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรี ยังได้ประกาศแนวทางหลักๆ 8 แนวทาง ในการแก้หนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน โดย 8 แนวทางที่หยิบยกขึ้นมาจัดการก่อนประกอบด้วย

- การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 
- การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ 
- การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 
- การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ 
- การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ 
- การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 
- การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย และ SMEs 
- การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม

ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ ก็ได้เริ่มเห็นแนวทางที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ได้จัดทำแผนไปบ้างแล้ว เช่น จากแนวทางส่วนการแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ ที่แบ่งการขับเคลื่อนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ บุคลากรครู และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินบุคลากรครู โดยวาง 4 แนวทางแก้ไขปัญหา 

1.) ยุบยอดหนี้ โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู เพื่อให้ยอดหนี้ลดลง และสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน เช่น ใช้เงินบำเหน็จตกทอดมาชำระหนี้บางส่วน

2.) ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 5% เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อ หักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ

3.) ปรับลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกันโดยบุคคลที่ไม่จำเป็น 

4.) ยกระดับระบบการตัดเงินเดือนข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ มีสหกรณ์ครูจำนวน 20 แห่ง ครอบคลุมครูทั่วประเทศ กว่า 2 แสนคน สมัครเข้าร่วมดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงฯกำหนด และคาดว่าจะมีเพิ่มในระยะต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top