Thursday, 8 May 2025
ECONBIZ NEWS

พาณิชย์จับตาเงินเฟ้อปีนี้คาดแตะ 1.5%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนธันวาคม 2564 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ เงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้น 2.17% จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่สูงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐ ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ ราคาผักสดยังอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื้อสุกรและไข่ไก่ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรปรับเพิ่มตามค่าบริหารจัดการโรคระบาดในสุกร นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยลดปริมาณการเลี้ยงสุกร 

รวมทั้ง น้ำมันพืช กับข้าวสำเร็จรูปและข้าวราดแกง ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนและวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษายังคงปรับลดลง ส่วนสินค้าอื่น ๆ อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปริมาณผลผลิต ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2564 สูงขึ้น 1.23% ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 0.8 – 1.2% และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 0.23% เท่ากับปีก่อน

คลัง พร้อมจัดสินเชื่อช่วยเกษตรกรเลี้ยงหมู

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้จัดเตรียมสินเชื่อพิเศษสำหรับเป็นทุนในการสนับสนุนการเลี้ยงสุกร การเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรที่จำเป็นต่อการผลิตอาหารสัตว์ และการวางระบบการเลี้ยงที่เป็นมาตรฐานเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากปัญหาโรคระบาดที่มักจะเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณสุกรให้ออกสู่ตลาดได้มากขึ้น วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สำหรับเกษตรกรรายย่อยและบุคคลในครัวเรือนที่ประสงค์จะกู้เงิน เพื่อไปลงทุนเลี้ยงสุกรหรืออื่น ๆ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย 2. สินเชื่อ Food Safety เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือเพื่อเป็นค่าลงทุนในการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ3. สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือค่าลงทุนในการประกอบธุรกิจ โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ หรือรักษาสิ่งแวดล้อม กำหนด วงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย 

ด้านนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 190,000 ราย กว่า 90% เป็นรายย่อย ซึ่งผลิตสุกรในระบบประมาณ 30% โดยในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. จำนวน 59, 205 ราย ขณะที่ผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่มีประมาณ 3% แต่ผลิตสุกรประมาณ 70% โดยสุกรที่ขุนได้เฉลี่ยปีละ 22 ล้านตัว ซึ่งกว่า 90% ใช้บริโภคภายในประเทศ 

อุตสาหกรรมไทย 65 ลุ้นขยายตัว 2.5-3.5% รับแรงหนุนตลาดส่งออกโตต่อเนื่อง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2564 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดว่าจะขยายตัว 5.2% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 ที่ MPI หดตัว 9.3% ขณะที่คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2565 อัตราการใช้กำลังการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประมาณการ MPI ขยายตัว 4.0-5.0% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.5-3.5% เป็นผลจากตลาดส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงตลาดในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ

ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ประกอบกับต้องพิจารณาปัจจัยราคาพลังงานและการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2564 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมสอดคล้องกับสถานการณ์การผลิต ต่อยอดอุตสาหกรรมกลุ่มเดิมที่มีศักยภาพ และการเพิ่มเติมอุตสาหกรรมอนาคตเสมอ

ขณะที่ในปี 2565 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญต่อการยกระดับพัฒนาและคำนึงถึงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะนำเสนอนโยบายสำคัญต่อคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมศักยภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเกิดการบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น... 

‘อลงกรณ์’ เปิดวิสัยทัศน์ ลุยปฏิรูปเกษตรไทย ชี้ ต้องปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่

วันที่ 4 ม.ค. 64 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีต ส.ส. 6 สมัย และอดีตรัฐมนตรี เขียนบทความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง “ปฏิรูปเกษตรไทย อนาคตประเทศไทย” “ปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่” เป็นตอนที่ 2 ของซีรีส์ ”ก้าวใหม่ประเทศไทย” โดยระบุว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โครงการอาหารโลก (World Food Program) องค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานผลการประชุมสุดยอดระบบอาหารโลก (UN Food System Summit 2021) โดยสรุปว่า โลกกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชากรโลกประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารและราคาอาหารจะแพงขึ้นเป็นวิกฤติของโลกแต่ก็เป็นโอกาสของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารชั้นนำของโลก 

ประเทศไทยของเรามีศักยภาพการผลิตและการตลาดด้านเกษตรและอาหารสูงมาก
ปี 2560 เราเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 14 ของโลก
ปี 2561 ขึ้นเป็นอันดับ 12 ของโลกซึ่งมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ปีเดียวขึ้น 2 อันดับและเป็นครั้งแรกที่ขึ้นเป็นที่ 2 ของเอเชียรองจากประเทศจีนเท่านั้น
ปี 2562 ขยับต่อเนื่องขึ้นเป็นอันดับ 11 ของโลกและยังครองอันดับ 2 ของเอเชีย
นับเป็นประเทศ “หนึ่งเดียวในโลก” ที่ 2 ปีขึ้น 3 อันดับ
ไทยแลนด์ โอนลี่ครับ

หลังโควิดคลี่คลาย เราจะสานฝัน “ครัวไทย ครัวโลก” สู่อันดับท็อปเท็นของโลกตามนโยบายของรัฐบาล

วันนี้สินค้าเกษตรสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมของไทยติดท็อปเท็นของโลกจำนวนไม่น้อย เช่น ยางพารา ยางรถยนต์ ถุงมือยาง น้ำตาล ทุเรียน ข้าว สับปะรดกระป๋อง อาหารทะเล ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง เอทานอล มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ

ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบและสินค้าแปรรูปขั้นต้นมูลค่าต่ำแบบที่เรียกว่า “ทำมากได้น้อย (More for Less)” ประเทศและเกษตรกรจึงมีรายได้น้อยมาอย่างยาวนาน เราจึงต้องเปลี่ยนใหม่สู่การ “ทำน้อยได้มาก (Less for More)”

ถ้าทำแบบเดิมๆ จะไม่สามารถยกระดับอัปเกรดภาคเกษตรเทคออฟสู่เพดานใหม่ได้

อย่างไรก็ตามแม้โจทย์จะชัดเจนในตัวเอง แต่คำถามคือ แล้วเราจะทำอย่างไร

ผมจะยกตัวอย่างการถอดสมการนำมาสู่การออกแบบโมเดลการปฏิรูปภาคเกษตรไทย

ถ้าเราย้อนมองบริษัท เช่น Amazon Alibaba Google Apple Tesla จะได้คำตอบว่าทำไมบริษัทเหล่านี้จึงสามารถทะยานขึ้นสู่บริษัทแนวหน้าของโลกภายในเวลา 20 ปี โดยเฉพาะ Apple เป็นบริษัทแรกของโลกที่มีมูลค่าตลาดทะลุ 3 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (มากกว่างบประมาณไทย 30 ล้านเท่า)

คำตอบคือ วิสัยทัศน์ เทคโนโลยีและการบริหารจัดการใหม่ๆ

อีกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนที่พัฒนาตัวเองจากประเทศยากจนด้อยพัฒนาสู่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 และมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีภายใน 30 ปี

คำตอบก็เหมือนกัน

การถอดบทเรียนจากตัวอย่างเหล่านี้ช่วยให้การดีไซน์การปฏิรูปง่ายขึ้น

การปลดกระดุมแล้วกลัดใหม่จึงเกิดขึ้นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เป็นกระบวนการปฏิรูปการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างและระบบ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นแก่นกลาง

2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดการปฏิรูปภาคเกษตรเดินหน้าภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ. (จบปริญญาเอกด้านยุทธศาสตร์โดยตรง) และนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีพาณิชย์ (เจ้าของสโลแกน “ทำได้ไวทำได้จริง”) ด้วยการสร้างกลไก 4 แกนหลัก คือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคเกษตรกร เป็น 4 เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ยุทธศาสตร์ 3S (Safety-Security-Sustainability) เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนและยุทธศาสตร์บูรณาการทำงานเชิงรุก นโยบายโลจิสติกส์เกษตร นโยบายอาหารแห่งอนาคต รวมทั้งการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการ 22 หน่วยงาน เพื่อยกระดับศักยภาพองค์กรและพัฒนาต้นน้ำการผลิตด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ลดต้นทุน การพัฒนาคนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของประเทศ

เคลียร์แล้วส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ก.เกษตรประสานเปิดด่าน 4 ม.ค. เน้นตรวจเข้มโควิด19

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศจีนได้ออกมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เข้มงวด ณ ด่านนำเข้าจีน ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าได้หารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทย และทูตเกษตรได้ประสานงานกับทางการจีนมาโดยตลอด ขณะนี้ประเทศจีนได้เปิดด่านรถไฟผิงเสียง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง)แล้ว

โดยกำหนดให้นำเข้าผลไม้ไทยได้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เพื่อคลี่คลายปัญหากรณีด่านตงซิง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง)ปิดด่าน ส่งผลให้ทุเรียนและลําไยสดปริมาณมากต้องติดค้างอยู่ที่ด่าน โดยทางการจีนพร้อมอํานวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการผลไม้ไทยทําการเปลี่ยนแปลงใบรับรองสุขอนามัยพืชจากด่านตงชิงเป็นด่านรถไฟผิงเสียง จะได้ขนส่งเข้าประเทศจีนได้ และต้องระมัดระวังอย่าให้มีการปนเปื้อนโควิด19 ทั้งคนขับ รถและสินค้าเพราะถ้าพบทางการจีนจะปิดด่านทันที รัฐบาลจึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ช่วยกันเข้มงวดกวดขันอย่างเต็มที่ 

นางสาวรัชดา ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทย กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำเอกสารประกอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับระเบียบใหม่ของสำนักงานศุลกากรจีน ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา เอกสารประกอบด้วย 1) คู่มือการเข้าใช้ระบบฉบับภาษาไทย 2) คู่มือการดำเนินงานการให้บริการของทางการ “การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการผลิตอาหารในต่างประเทศที่นำเข้ามายังสาธารณรัฐประชาชนจีน” ฉบับภาษาไทย และ 3) เอกสารรวบรวมประเด็นข้อคำถามของผู้ผลิตอาหารที่พบบ่อยในการปฏิบัติตามระเบียบฯ จากการประสานงานกับศุลกากรจีน หากผู้ประกอบการผลิตอาหารต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ https://www.moac.go.th/site-home หรือ https://www.opsmoac.go.th/news-preview-432991791570

'มัลลิกา' เผย ราคาข้าวขยับขึ้น! จ่ายส่วนต่างลดลง “ข้าวเปลือกเจ้า” รับชดเชยสูงสุด ตามด้วย “ข้าวเปลือกหอมมะลิ ชาวนายิ้มแป้น! "จุรินทร์" เดินหน้า จ่ายงวดที่ 11-12 ข้าวฤดูนี้ ชดเชย 5 ชนิดเหมือนเดิม v

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรต่อเนื่อง ล่าสุดให้แจ้งเกษตรกรโดยเฉพาะพี่น้องชาวนาที่แจ้งการเก็บเกี่ยวตรงกับงวดที่ 11-12 การเพาะปลูกข้าวปี 2564/2565 ในขอบล่าสุดซึ่งเป็นการจ่ายส่วนต่างราคาข้าวผู้ที่ทราบ ซึ่งโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 3 ได้ประกันราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน

สำหรับงวด 12 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงได้ประกาศอนุมัติราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 24-30 ธ.ค.2564 จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว 

สำหรับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการจ่ายเงินส่วนต่าง งวดที่ 12 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 11,221.50 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,778.50 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 10,895.61 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,104.39 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 9,925.94 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,074.06 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 8,191.25 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,808.75 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ราคา 9,511.47 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 2,488.53 บาท โดยงวด12 เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 12 สูงสุด ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 52,899 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 49,670.24 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 26,851.50 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 54,262.50 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 39,816.48 บาท

ส่วนงวดที่ 11 มีมติจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 ที่ระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 17-23 ธ.ค.2564 และประกาศราคากลางฯเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2564 หรือก่อนหน้านี้งวดล่าสุด 1 สัปดาห์ โดยราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 11,200.61 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,799.39 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 10,867.60 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,132.40 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 9,936.67 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,063.33 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 8,154.29 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,845.71 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ราคา 9,316.15 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 2,683.85 บาท โดยเกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 11 สูงสุด ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 53,191.46 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 50,188.40 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 26,583.25 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 55,371.30 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 42,941.60 บาท

ททท. หวังท่องเที่ยวปีนี้กลับมา 50% หลังปีก่อนเจอโควิดทุบหลุดเป้า

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ททท.ยังคงเป้าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในภาพรวมประมาณ 50% ของรายได้ที่เคยทำได้ในปี 2562 ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท หรือ ปี 2565 ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 7.5-8 แสนล้านบาท ตามนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะต้องหาทางฟื้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการท่องเที่ยว

ส่วนตัวเลขตลอดปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.84 แสนล้านบาท ลดลง 21% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 4.82 แสนล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 4 แสนคน สร้างรายได้ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท 

เฮ! คลังรับ คนละครึ่ง เฟส 4 ไม่ต้องลงทะเบียน กดยืนยันได้เลยเฮ! คลังรับ คนละครึ่ง เฟส 4 ไม่ต้องลงทะเบียน กดยืนยันได้เลย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.2565 ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมโครงการ เบื้องต้น ผู้ที่ได้สิทธิ์ในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 แล้วที่มีอยู่จำนวน 27.98 ล้านราย ไม่ต้องมีการลงทะเบียนใหม่ แต่จะต้องกดยืนยันตัวตนอีกครั้งผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เหมือนการลงทะเบียนคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ส่วนผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียน ก็จะต้องสมัครผ่านทาง www.คนละครึ่ง.com ส่วนวงเงินที่จะให้นั้น ตอนนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะให้วงเงินเท่าใด เพราะอยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณที่จะมาใช้ในโครงการ

สำหรับโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2564 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 26.35 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวน 27.98 ล้านราย และมีจำนวนผู้ใช้สิทธิครบ 4,500 บาท แล้วกว่า 10.87 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 223,921.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 113,936 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 109,985.8 ล้านบาท 

นายกฯ จี้ ก.พาณิชย์ เร่งแก้ปม ราคาเนื้อหมูแพง ลดผลกระทบผู้บริโภค 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความเดือดร้อนของผู้บริโภคจากปัญหาราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงขึ้น จากต้นทุนประกอบการที่เพิ่มขึ้น ทั้งราคาอาหารสัตว์ ยารักษาโรค และโรคระบาดหมู  ส่งผลให้หมูในระบบมีปริมาณลดลง ราคาหมูขายปลีกหน้าเขียงมีราคาสูงขึ้น  ขณะเดียวกันการที่ภาคบริการ การท่องเที่ยว ร้านอาหารกลับมาเปิดบริการได้มากขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคหมูโดยรวม กลับมาเพิ่มมากขึ้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดูแลแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง ตั้งแต่ภาระเกษตรกรฟาร์มสุกร พ่อค้าคนกลาง ผู้ขายหมูหน้าเขียง ประชาชนผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อลดผลกระทบราคาหมูแพงในขณะนี้ โดยไม่ให้เสียกลไกตลาด 

นายธนกร กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ขยายการดำเนินการโครงการพาณิชย์ลดราคา (หมูเนื้อแดง) พร้อมให้พาณิชย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์การจำหน่ายอย่างใกล้ชิด  เข้มงวดผู้ขายในตลาดปิดป้ายแสดงราคา และ ขอความร่วมมือทางห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ช่วยตรึงราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดง ออกไปอีกระยะหนึ่ง 

สสว. หวังปีหน้า เอสเอ็มอีรายเล็กกลับมาฟื้นได้หากคุมโอมิครอนอยู่

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยสถานการณ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือไมโครเอสเอมอี (MSME) ในปี 2565 ว่า หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ คาดว่า จีดีพี MSME จะเติบโตระหว่าง 3.2 – 5.4% หรือมีมูลค่าประมาณ 5.669 – 5.789 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 

ทั้งนี้ สสว. ประเมินว่า ในปีหน้าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 30 – 40% มีรายได้จากการท่องเที่ยว 5.9 แสนล้านบาท คาดว่าธุรกิจในภาคบริการจะเติบโตระหว่าง 3.4 – 5.8% และธุรกิจที่น่าจับตามองในปี 2565 ได้แก่ ธุรกิจอาหารแปรรูป ธุรกิจให้ความบันเทิง (สันทนาการ) ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจเครื่องสำอาง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจโมเดิร์นเทรด ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจแปรรูปยางพารา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top