Thursday, 8 May 2025
ECONBIZ NEWS

เปิดจีดีพีเกษตรฯ ทั้งปีนี้โต 1.5% คาดปีหน้าพุ่งต่อ 2 – 3%  

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 พบว่า ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช และประมง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวดีขึ้นจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและบำรุงรักษาที่ดี รวมไปถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้หากพิจารณาในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ในปี 2564 ขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2564 มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก รวมถึงการปลูกทดแทนพืชชนิดอื่น อาทิ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และในบางพื้นที่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 2 รอบ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลรักษาที่ดี ควบคุมและกำจัดหนอนกระทู้ได้ดีขึ้น ประกอบกับมีปริมาณน้ำเพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 

ส่วน มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคามันสำปะหลังปรับตัวเพิ่ม เช่นเดียวกับยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ดี ขณะที่ ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญทางภาคใต้มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ประกอบกับในปี 2564 มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตในช่วงกลางปีถึงปลายปี 2564 มีทะลายสมบูรณ์ดี 

รฟท. เตรียมชงครม. ลุยส่วนต่อขยาย ‘สายสีแดง’ คาดเปิดประมูลปลายปี 65 วงเงิน 7.93 หมื่นลบ.

การรถไฟแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง 4 เส้นทาง วงเงิน 7.93 หมื่นล้าน คาดว่าจะสามารถดำเนินการประมูลได้ในปี 2565 และจะสามารถทยอยเปิดให้บริการได้ในปี 2569 - 2571

วันนี้ (22 ธ.ค. 64) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการส่วนต่อขยาย รถไฟชานเมืองสายสีแดงว่า ขณะนี้ผลการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 7.93 หมื่นล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย

ช่วงที่ 1 บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และ ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง

ช่วงที่ 2 รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ช่วงที่ 3 ตลิ่งชัน-ศาลายา

ช่วงที่ 4 ตลิ่งชัน-ศิริราช

‘ดีพร้อม’ ปล่อยสินเชื่อพิเศษช่วยเอสเอ็มอี เร่งเสริมสภาพคล่องผู้ได้รับผลกระทบโควิด

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ปล่อยสินเชื่อพิเศษดีพร้อมเพย์ เร่งเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 วางกรอบสินเชื่อ สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย 

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากนโยบายของท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางและมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้กลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผ่านการอนุมัติสินเชื่อพิเศษ “ดีพร้อมเพย์” ภายใต้กรอบวงเงิน 30 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ และต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยเริ่มยื่นคำขออนุมัติฯ ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเป้าหมายของผู้ขออนุมัติสินเชื่อดังกล่าว คือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการของดีพร้อม ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2565 จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย กำหนดวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อราย โดยให้ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 3 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันไดเริ่มต้นที่ 3% ต่อปี

กนง.มติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50%

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. วันที่ 22 ธ.ค. 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อโลกและการส่งผ่านต้นทุน โดย การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง 

ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีเดือนพ.ย. ค่อย ๆ กระเตื้อง 

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เดือนพ.ย. 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ระดับ 44.9 มาอยู่ที่ระดับ 50.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินระดับค่าฐาน (50) เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 64 เป็นผลจากการผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ส่งเสริมธุรกิจรายย่อย 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 58.1 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ55.0 จากแนวโน้มการขยายตัวของยอดขายสินค้าและการให้บริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศเพิ่มมากขึ้นในอนาคต หลังจากมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว 

ส่งออกพ.ย.บวก 24.7% ประเมินทั้งปีโตไม่ต่ำกว่า 15-16%  

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกของประเทศในเดือนพ.ย. 64 ว่า ยอดการส่งออกของไทยในเดือนนี้ยังขยายตัวเป็นบวกอยู่ที่ 24.7% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 23,647 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นไปตามทิศทางการส่งออกของโลกที่ดีขึ้น แม้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนซึ่งยังเป็นผลกระทบอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก 

สำหรับกลุ่มสินค้าที่เติบโตต่อเนื่อง คือ สินค้าเกษตรขยายตัว 14.2% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเติบโตถึง 21.1% สินค้าอุตสาหกรรมเติบโตถึง 23.1% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่อเนื่องมา โดยตลอดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลไม้สด ยางพารา มันสำปะหลัง ส่งออกได้ในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นและต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว 

ลุ้นออมสินออกสินเชื่อใหม่ขายฝากที่ดิน กลางปี 65 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปี 2565 ธนาคารฯ เตรียมจัดทำโครงการสินเชื่อที่ดินและขายฝาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และหากได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2565 โดยมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสมเป็นธรรมสำหรับลูกค้ากลุ่มฐานราก 

ขณะเดียวกัน ยังพัฒนา Digital Lending ให้สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบนสมาร์ทโฟนด้วยแอป MyMo ให้สมบูรณ์ หลังจากในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยผ่าน MyMo ได้มากกว่า 1.5 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 24,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออมสินเพื่อการเกษียณ ซึ่งธนาคารเตรียมยกระดับการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มฐานรากมีความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วย

'นายกฯ' จี้ 'ก.แรงงาน' ส่งเสริมการจ้างงาน SMEs ให้สถานประกอบการขนาดเล็ก-กลาง ลงทะเบียนร่วมโครงการช่วย SMEs รอบ 2 ภายใน 20 ธ.ค. นี้ 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามข้อสั่งการที่ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในทุกด้านอย่างบูรณาการเพื่อเสริมศักยภาพให้สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และกลับมาเติบโตได้ในระยะยาว โดยในส่วนของ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เปิดให้นายจ้าง สถานประกอบการภาคเอกชน ขนาดเล็ก – กลาง ลงทะเบียนร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs รอบที่ 2 ผ่านเว็บไซต์ “ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th” ภายในวันที่  20 ธันวาคม 2564 เพื่อรับเงินอุดหนุนตามโครงการฯ จากรัฐ 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน -16 ธันวาคม 2564 มีสถานประกอบการลงทะเบียนร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs รอบที่ 2 จำนวน 14,829 แห่ง มีลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 118,087 คน  ทั้งนี้ สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการที่ไม่สามารถลงทะเบียนร่วมโครงการฯผ่านระบบด้วยตนเอง สามารถนำเอกสารซึ่งประกอบด้วย หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร (กรณีใช้บัญชีกระแสรายวัน ให้ใช้สมุดหน้าเช็คที่มีชื่อนายจ้างและเลขบัญชี) และสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (นายจ้างบุคคลธรรมดา)

โดยลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ ติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ หลังจากสมัครร่วมโครงการแล้วจะต้องสมัครใช้งานระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม และนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือน เพื่อมีสิทธิรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2564 และเดือนมกราคม 2565 ในอัตรา 3,000 บาท ต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คน โดยมีเงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนเช่นเดียวกับนายจ้างที่ลงทะเบียนรอบแรก 

'สุริยะ' สั่งทบทวนกฎหมายโรงงาน เพิ่มโทษจำคุก!! ลักลอบทิ้งกาก ปล่อยน้ำเสีย ไม่ผ่านการบำบัด

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ขานรับนโยบายรัฐมนตรีอุตฯ ยันเดินหน้าดูแลประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ใครแอบลักลอบทิ้ง ถือเป็นอาชญากรทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องได้รับโทษหนัก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทบทวนกฎหมายโรงงาน โดยให้เพิ่มโทษจำคุกพวกลักลอบทิ้งกากของเสียและแอบลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลองสาธารณะ ซึ่งเดิมมีเพียงแค่โทษปรับ ทำให้ผู้กระทำความผิดกล้าที่จะเสี่ยงทำโดยไม่ยำเกรงกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั่วบริเวณที่มีการลักลอบทิ้ง

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการลักลอบทิ้งกากของเสียและการปล่อยน้ำเสียโดยไม่ผ่านการบำบัดถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง แต่กฎหมายกำหนดโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน 200,000 บาท ส่งผลให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย ประกอบกับโทษปรับมีอายุความในการดำเนินคดีเพียง 1 ปี กว่าจะมีการพิสูจน์หรือหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษบางครั้งก็ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขาดอายุความ กรอ. จึงเร่งปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.โรงงาน โดยเพิ่มโทษผู้กระทำความผิด จากเดิมมีบทลงโทษเฉพาะโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท จะเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปีหน้า หลังจากผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และขั้นตอนทางกฎหมาย

รัฐชง​ครม. เยียวยาคนกลางคืน​ รายละ 5 พัน 1.2​ แสนคน​ ลุ้น!! เห็นชอบ พร้อมโอน 29 ธ.ค.นี้ 

"คนกลางคืน-อาชีพอิสระ" เฮ! "ประกันสังคม" เตรียมจ่ายเยียวยา "ม.40" รายละ 5 พัน รอบแรก 1.2 แสนคน ชง “ครม.” เห็นชอบ พร้อมโอน 29 ธ.ค.นี้ ฉลองปีใหม่

เมื่อ​ 16 ธ.ค. 64 ที่อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานประกันสังคม (สำนักงานใหญ่) จ.นนทบุรี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พร้อมด้วย นางสุดา ชื่นบาน อุปนายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย นายฝอยทอง เชิญยิ้ม นายกสมาคมศิลปินตลกแห่งประเทศไทย นางนัฐชา นาโค เลขาชมรมศิลปินและบันเทิง และผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม เข้าร่วมงานแถลงข่าวมาตราการเยียวยาประกันสังคมมาตรา 40 (ม.40) อาชีพอิสระ คนกลางคืน

นายบุญสงค์ กล่าวว่า การประชุมหารือในวันนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน ที่เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้อง ผู้ที่ทำงานในกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับจากมาตรการของรัฐในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top