Thursday, 8 May 2025
ECONBIZ NEWS

แบงก์ชาติ ชี้ เศรษฐกิจไทยพ.ย. ปรับตัวดี พร้อมจับตาโอมิครอนปีหน้า

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย. 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และปัญหา supply disruption ที่ทยอยคลี่คลายลง สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ด้านการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผ่านรายจ่ายเงินโอน ซึ่งอุปสงค์ที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับดีขึ้น

ส่วนด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น

‘คนกลางคืน’ เฮ! เตรียมรับเงินเยียวยา รายละ 5,000 บาท งวดแรก เริ่ม 29 ธ.ค. 64 นี้!

(28 ธ.ค. 64) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีมติเห็นชอบอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเยียวยา พี่น้องผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนทำงานกลางคืนในกิจการสถานบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ 

โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกอบอาชีพรายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 เดือน ให้กับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย ทั้งมาตรา 33 ที่ทำงานในกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 และได้รับการรับรองจากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าทำงานในสถานบันเทิงกลางคืนนั้นจริง

‘ซัมซุง’ เผย 'ไทย' ฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ‘ใหญ่สุดในโลก’ ชี้!! 32 ปี ลงทุนร่วม​ 5​ แสนล้านดอลฯ

“ไทยซัมซุง” ฉลอง 32 ปี เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจในไทย ชูฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่สุดในโลก หลังลงทุนแล้วกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ นายจุนฮวา ลี ประธาน บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยซัมซุงฯ ถือเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามีกำลังผลิตสูงสุดใน 28 ประเทศทั่วโลก และมีจำนวนประเภทสินค้า (SKU) มากที่สุด แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เตาอบ และเครื่องล้างจาน

โดยมีกำลังการผลิตรวมสูงถึง 10 ล้านยูนิตต่อปี คิดเป็นสัดส่วนสินค้าส่งออกถึง 90% เรียกได้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าซัมซุงในครัวเรือนทั่วโลกถูกผลิตและส่งออกจากโรงงานแห่งนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเตาอบและเครื่องล้างจานที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเพียงรายเดียวในโลก

“ซัมซุงดำเนินธุรกิจเคียงคู่ประเทศไทยมาแล้วกว่า 32 ปี นับเป็นบริษัทสาขาที่ดำเนินกิจการนอกประเทศเกาหลีใต้ยาวนานที่สุด ซึ่งการที่เราสามารถพัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคงดังเช่นทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากแรงสนับสนุนอย่างดีของคนไทย

ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (โรงงานศรีราชา) มีมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยรวมแล้วกว่าห้าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน มีการสร้างโอกาสการจ้างงาน สร้างรายได้หมุนเวียนที่สู่ 4,000 ครอบครัว รวมถึงพนักงานจากบริษัทคู่ค้าอีกกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ

เที่ยวบินปีใหม่ลดฮวบ 17% หลังคนหวั่น 'โอมิครอน'

นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้านปฏิบัติการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า บวท. ประเมินตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.64-3 ม.ค.65 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก จะมีเที่ยวบินรวม 9,440 เที่ยวบิน หรือ 944 เที่ยวบินต่อวัน อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณเที่ยวบินลดลง 17% ซึ่งมีเที่ยวบินรวม 11,443 เที่ยวบิน 

ทั้งนี้จากการที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 23% มีเที่ยวบินรวม 30,457 เที่ยวบิน ได้แก่ เที่ยวบินภายในประเทศ 20,002 เที่ยวบิน และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 7,287 เที่ยวบิน นอกนั้นเป็นเที่ยวบินผ่านน่านฟ้า (Overfly) และอื่นๆ

'ออมสิน' ดันโครงการช่วยคนตกงานจากพิษโควิด-19 จัดเงินทุน-พื้นที่ค้าขายอ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน ขยายผลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือขาดรายได้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นช่วงของการฟื้นฟูและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยธนาคารได้จัดทำโครงการออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ตั้งเป้าหมายสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ที่เดือดร้อนจำนวนมาก ได้มีการปรับตัวและมองเห็นโอกาสใหม่ในการประกอบอาชีพ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สามารถใช้ความรู้ใหม่และทักษะทางอาชีพที่ได้รับการถ่ายทอด เป็นทางเลือกและช่องทางต่อยอดในการประกอบอาชีพมากขึ้น 

ทั้งนี้ธนาคารได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 18 แห่ง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยในโครงการยุวพัฒน์รักถิ่น 64 แห่ง กว่า 900 ชุมชน และเครือข่าย เชฟชื่อดังระดับมิชลินสตาร์ และเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มากมาย ในการช่วยกันฝึกอบรมและสร้างทักษะอาชีพแก่ประชาชนรวมกว่า 100 หลักสูตร ซึ่งการอบรมอาชีพที่ได้รับจะช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้มีความรู้ติดตัว สามารถใช้ประกอบอาชีพได้จริงต่อไป ให้เงินทุน ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการให้เงินทุนผ่านมาตรการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดย ครม. มีมติอนุมัติวงเงินชดเชยความเสียหายจาก NPL 30% ของวงเงินสินเชื่อโครงการ เพื่อสนับสนุนผลักดันความสำเร็จของการมอบความช่วยเหลือในระยะแรกของโครงการ ซึ่งในอนาคตจะมีมาตรการสินเชื่ออื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

‘อลงกรณ์’ เปิดมุมมองเศรษฐกิจใหม่ หนุนผนึก ‘ลาว’ ผุดระเบียงเศรษฐกิจ ‘อีสาน’

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุข้อความว่า ก้าวใหม่ประเทศไทย (ตอนที่ 1) ‘อนาคตลาว อนาคตไทย’

เรากำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ‘เชื่อมไทย เชื่อมลาว เชื่อมโลก’ และการวางหมุดหมายใหม่ที่เรียกว่า ‘อีสาน เกตเวย์’ และ ‘ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน’ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ที่พรรคประชาธิปัตย์ดูแล

ยุทธศาสตร์นี้เป็นคานงัดที่จะเปลี่ยนอนาคตของอีสานและประเทศของเรา

ผมจึงขอเล่าเรื่องสปป.ลาว บ้านพี่เมืองน้องของไทยที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นคำตอบว่าทำไมไทยกับลาวต้องผูกอนาคตไว้ด้วยกัน

ล่าสุด ลาวเพิ่งเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีนเมื่อ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 5 ปี โดยอยู่ระหว่างการทดสอบรถไฟโดยสารและรถขนส่งสินค้าจากหลายมณฑลของจีนมาเวียงจันทน์และคาดว่าจะมีขบวนรถไฟจากยุโรปด้วย

หลังจากผ่านการทดสอบและระบบตรวจตราผ่านแดนเสร็จเรียบร้อย เส้นทางรถไฟสายนี้จะเปิดบริการได้อย่างสมบูรณ์ภายในครึ่งแรกของปีหน้า

ทำให้หนองคายกลายเป็นเกตเวย์ที่มีศักยภาพใหม่ของประเทศเชื่อมไทยเชื่อมลาวเชื่อมจีนเชื่อมเอเชียกลางเชื่อมยุโรป

ความจริง ลาวกำลังพัฒนาระบบโลจิสติกส์และเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายโครงการตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดโดยทุกโครงการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เช่น จีน ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซียและเกาหลี เป็นต้น 

ลาวต้องการเปลี่ยนข้อจำกัดเดิมจากประเทศไม่มีทางออกทะเลอยู่ในมุมอับ (Land Locked) เป็นประเทศแห่งความเชื่อมโยง (Land of Connectivity)

อีกโครงการที่สำคัญมากสำหรับอนาคตลาวและรวมถึงอนาคตของประเทศไทยคือ โครงการท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง

ลาวเร่งพัฒนาเส้นทางเชื่อมเวียงจันทน์ แขวงบอลิคำไซกับแขวงคำม่วน (ตรงข้ามจังหวัดนครพนม) ไปยังจังหวัดฮาติงห์ของเวียดนาม

โครงการนี้สำคัญมากๆ เป็นช่องทางสู่โลกกว้างแห่งโอกาสที่สั้นที่สุด

เหนืออื่นใดคือ เป็นท่าเรือน้ำลึกในแผ่นดินเวียดนามที่เสมือนลาวเป็นเจ้าของ

บริษัทรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม (ลาวถือหุ้น 60% เวียดนาม 40%) ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2573 ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างจะสามารถให้บริการแก่เรือสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ 5,000 ตัน ถึง 100,000 ตัน เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ตั้งแต่ขนาดบรรทุก 50,000 ตู้ ถึง 1,200,000 ตู้ และเรือบรรทุกสินค้าเทกอง ตั้งแต่ขนาดบรรทุก 3 ล้านตัน ถึง 20 ล้านตัน 

ทั้งนี้จะเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2566 หรือภายใน 2 ปีข้างหน้า

นครพนมจะเป็นเกตเวย์ใหม่ออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกโดยใช้บริการท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างด้วยระยะทางไม่ถึง 300 กิโลเมตร 

ท่าเรือดังกล่าวเมื่อพัฒนาเต็มรูปแบบจะสามารถขนส่งสินค้าจากไทย ลาวและเวียดนามไปอเมริกา แคนาดา ลาตินอเมริกา จีน ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน รัสเซียและยุโรปเหนือ โดยไม่ต้องผ่านสิงคโปร์

ลาวไม่ได้พัฒนาระบบคมนาคมเท่านั้นแต่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษควบคู่ไปด้วย เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในแขวงบ่อแก้วทางภาคเหนือใกล้กับฝั่งเชียงรายของเรา หรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษมหานทีสีทันดรในแขวงจำปาศักดิ์ตรงข้ามจังหวัดอุบลราชธานีขนาดของวงเงินลงทุน เขตเศรษฐกิจใหม่สีทันดรตั้งเป้าใช้เงินลงทุน 9,000 ล้านดอลลาร์ และใช้พื้นที่ 6 หมื่นไร่มากกว่าโครงการทางรถไฟลาว-จีน ที่ลงทุน 6,800 ล้านดอลลาร์ ใช้พื้นที่ 19,112 ไร่

ยังไม่รวมเขตเศรษฐกิจพิเศษ-ลาว-เวียดนาม-กัมพูชา และเขตเศรษฐกิจพิเศษเวียงจันทน์ 

'พาณิชย์' ปลื้ม ผัก-ผลไม้ไทยครองตลาดจีน มันสำปะหลังแชมป์ผัก-ทุเรียนแชมป์ผลไม้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผักและผลไม้ไทย ครองส่วนแบ่งตลาดในจีนเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนสูงถึง 45% ส่วนยอดส่งออก 11 เดือนปี 64 มีมูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 81% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ระบุ “มันสำปะหลัง” นำโด่งส่งออกผัก “ทุเรียน” อันดับหนึ่งส่งออกผลไม้

27 ธ.ค. 64 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถิติการค้าสินค้าผักและผลไม้ไทยของไทยในตลาดจีน พบว่า ในช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) จีนมีการนำเข้าผักและผลไม้จากไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยไทยครองส่วนแบ่งตลาดผักและผลไม้สูงถึง 45% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน ส่วนชิลีเป็นอันดับ 2 มีส่วนแบ่ง 14.01% และเวียดนามอันดับ 3 มีส่วนแบ่ง 6.45% แคนาดา อันดับ 4 มีส่วนแบ่ง 4.14% และนิวซีแลนด์อันดับ 5 มีส่วนแบ่ง 3.75%

ทั้งนี้ ส่วนแบ่งตลาดผักและผลไม้ของไทยในจีนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสถิติการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยตัวเลขล่าสุด 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) ทำได้มูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 81% และนำเข้าจากจีน มูลค่า 832.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.2% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 105%

โดยในการส่งออกไปจีน เป็นการส่งออกผัก มูลค่า 1,199.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 96% โดยมันสำปะหลังส่งออกอันดับหนึ่ง มูลค่า 1,145.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 90% รองลงมา คือ พริกสดและแช่เย็น มูลค่า 36.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 157,369% และถั่วเขียวและถั่วทองแห้ง มูลค่า 6.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 131% และผลไม้ มูลค่า 4,813.32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 78% โดยทุเรียนสด ส่งออกอันดับหนึ่ง มูลค่า 3,054.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 105% รองลงมา คือ มังคุดสด มูลค่า 506.00 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 39% และลำไยสด มูลค่า 472.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 64% ส่วนการนำเข้าจากจีน มีสินค้าผัก เช่น เห็ดแห้ง แคร์รอตสด แช่เย็น กะหล่ำปลีสด แช่เย็น และผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล องุ่นสด ลูกแพร์ และส้ม เป็นต้น

'รมว.สุชาติ' ห่วงใยลูกจ้างเหตุเพลิงไหม้โรงงานบีบอัดกระดาษ  สั่ง 5 เสือแรงงานดูแลสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียม 

กระทรวงแรงงานห่วงใยลูกจ้างโรงงานบีบอัดกระดาษ จังหวัดชลบุรี ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย พนักงานตรวจแรงงานลงพื้นที่ พร้อมกำชับ 5 เสือแรงงานช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ทั้งด้านคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม แม้จะเป็นแรงงานต่างด้าวก็ตาม 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ภายในบริษัท ไทย พีส พัลพ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 550 หมู่ที่ 3 ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโรงงานบีบอัดกระดาษ พบกลุ่มควันลอยพวยพุ่งออกมา ก่อนที่จะลุกลามไปติดก้อนกระดาษที่วางทับถมกันเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้ระดมกำลังรถดับเพลิงจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ กว่า 10 คัน ฉีดน้ำสกัดเพลิงตามจุดจนสามารถควบคุมเพลิงได้ แต่จะใช้เวลาประมาณ 2 วัน ในการทำให้ดับสนิท โดยรถดับเพลิงต้องสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาดับเพลิง

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบคนงานชาวกัมพูชา กว่า 40 คน กำลังช่วยกันขนของและช่วยเหลือเพื่อนที่ได้รับบาดเจ็บ จากแรงระเบิดของหม้อแปลง จำนวน 4 คน ออกมาจากโรงงาน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจำนวน 3 คน รวมมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 7 คน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และโรงพยาบาลแหลมฉบัง  กระทรวงแรงงานได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งพนักงานตรวจความปลอดภัยและพนักงานตรวจแรงงานลงพื้นที่ ได้สอบถามคนงานให้ข้อมูลว่า ก่อนเกิดเหตุตนเองและภรรยาได้ทำงานอยู่ภายในโรงงาน ปรากฏว่าได้เกิดเสียงระเบิดดังขึ้นจากหม้อแปลงไฟฟ้า หลังจากนั้นภรรยาตนเองที่ถูกแรงระเบิดได้วิ่งมาหาตนเอง ก่อนที่จะพากันวิ่งหนีตายออกมา ส่วนแรงระเบิดนั้น ก็ทำให้เพลิงลุกลามไปติดกองกระดาษที่วางทับถมกันอยู่ จนเกิดเหตุดังกล่าว  

ทั้งนี้ได้สั่งการให้ 5 เสือแรงงานเข้าให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการประสานดูแลรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ทั้งด้านคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม รวมทั้งกรมการจัดหางานเข้าไปตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จัดหางานให้ถูกต้องและเสริมทักษะการทำงานให้แก่ลูกจ้างต่อไป 

แบงก์รัฐออกมาตรการช่วยแก้หนี้ระยะยาว มีผล 1 ม.ค.65

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดกรอบดำเนินการและสร้างกลไกผลักดันให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เร่งให้ความช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เป็นการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ได้อย่างตรงจุดในระยะยาว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญกับภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจหรือใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้ ถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม 

สำหรับมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางและมาตรการดำเนินการในการช่วยเหลือและแก้ไขหนี้ในระยะยาว ดังนี้ 1. แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ที่เป็นการยกระดับแนวนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปฏิบัติเดิม เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อรองรับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในมิติของการจัดทำนโยบาย การกำกับดูแล และกระบวนการพิจารณาการปรับโครงสร้างหนี้ มีการควบคุมภายในที่รัดกุม ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สามารถใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริง 

ก.แรงงาน ผนึกกำลัง สถาบันฯ จิตรลดา เอ็มโอยูปั้นกำลังคนคุณภาพ ป้อนตลาดงานในอนาคต

ที่ห้องประชุมเทพรัตนพิทยากร ชั้น 4 อาคาร 605 สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนากำลังคนด้านพัฒนาฝีมือแรงงานและการส่งเสริมการมีงานทำระหว่างสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กับกระทรวงแรงงาน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมลงนาม นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันทนีย์ ผาสุข รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.สุรพันธ์ ตันศรีวงษ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมด้วย การลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากำลังคนด้านฝีมือแรงงานให้กับประชากรในวัยทำงานให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะและทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการทำงานเพื่อเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะฝีมือแรงงานที่สูงขึ้น รองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต ภายใต้ภารกิจการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนและนักศึกษาได้มีงานทำที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถ และความถนัดให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

นายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีจิตรดาที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังแรงงานและการส่งเสริมการมีงานทำ โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนากำลังคนด้านฝีมือแรงงานและการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดากระทรวงแรงงานได้สนองรับนโยบายของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างแรงงานที่มีสมรรถนะสูง ให้เป็นแรงงานที่สามารถปรับตัวรับมือกับการทำงาน งานใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นใช้ดิจิทัลในการทำงาน ยกระดับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน Up– skill, Re-skill, New – skill โดยบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงสถานประกอบการในการผลิตแรงงานที่สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน

“กระทรวงแรงงาน พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การประเมินความรู้ ความสามารถ และแลกเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร เช่น ครู อาจารย์ วิทยากร เครื่องมืออุปกรณ์ เป็นต้น เพื่อยกระดับทักษะและศักยภาพฝีมือแรงงานให้ทัดเทียมกับนานาชาติ รวมทั้งให้การสนับสนุนและส่งเสริมการให้บริการจัดหางาน การประกอบอาชีพอิสระ การแนะนำแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ เพื่อให้นายจ้าง สถานประกอบการได้พนักงานที่มีฝีมือ มีความรู้ ความสามารถ ที่ตรงต่อความต้องการ ลดการขาดแคลนแรงงาน และรองรับการขยายระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้ การลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น”

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top