Friday, 9 May 2025
ECONBIZ NEWS

เช็กเลย ธ.ก.ส. โอนเงินช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง เข้าบัญชีแล้ว

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า วันนี้ (14 ม.ค. 2565) ธ.ก.ส. ได้โอนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 เข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง สำหรับรอบที่ 1-2 เพิ่มเติม และรอบที่ 3 แก่เกษตรกรจำนวน 484,609 ราย เป็นเงิน 568 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำ อันเนื่องมากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยธรรมชาติ และช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพ 

อีกทั้งในวันเดียวกัน ธ.ก.ส. ได้โอนเงินตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ครั้งที่ 3 แก่เกษตรกร 62,374 ราย เป็นเงิน 490 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงเป็นการจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี เพื่อที่จะมีโอกาสขายข้าวในราคาที่สูงและมีรายได้มากขึ้น

ก.เกษตรฯ ลั่นป้องกันโรค ASF ในสุกรตั้งแต่ปี 61 ยัน ไม่ปกปิด - เยียวยาแล้วกว่า 3 พันราย

กระทรวงเกษตรฯ. เคลียร์ทุกประเด็นโรค ASF ในสุกร ยืนยันป้องกันโรคตั้งแต่ปี 2561 ไม่ปกปิดไม่ละเลย เผยช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรแล้วกว่า 3 พันราย ผนึกทุกภาคีเครือข่ายร่วมควบคุมโรคให้สงบและขอคืนสภาพปลอดโรคโดยเร็ว

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ว่า ตามที่ประเทศไทยได้มีการตรวจพบเชื้อโรค ASF ในสุกรจากการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวสัมผัส (surface swab) ที่โรงฆ่าแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ตรวจโดยห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์เพื่อยืนยันผล ตนได้มีความห่วงใยต่อเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ต้น และสั่งการด่วนให้กรมปศุสัตว์รีบดำเนินการทันที ทั้งนี้นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เร่งดำเนินการเพื่อหารือและทำความเข้าใจร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว ได้ประชุมคณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ASF ในสุกรและแถลงต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565 ซึ่งจะประกาศเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรค และรายงานแจ้งไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ต่อไป โดยการดำเนินการต่างๆ จะคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ เพื่อลดความเสียหายและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด วอนเกษตรกรอย่าตระหนก โรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ย้ำไม่ระบาดติดต่อสู่คน

กรมปศุสัตว์ย้ำ ไม่เคยปกปิดโรค ASF ในสุกร ได้ดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคมาตั้งแต่ปี 2561 ที่พบการระบาดเกิดโรค ASF ในสุกรครั้งแรกในประเทศจีน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคมาโดยตลอด

โดยสั่งการในปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค การซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือ จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ASF ในสุกร (contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรค ASF ในสุกร (Clinical Practice Guideline) และได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์ การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจเข้มนักท่องเที่ยวและเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเข้าประเทศ เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการส่งออก ลดความเสี่ยงจากการส่งออกสุกร โดยห้ามรถขนส่งสุกรมีชีวิตเข้าไปส่งสุกรในประเทศที่มีการระบาด ให้ใช้รถขนถ่ายข้ามแดนในการส่งสุกรไปยังประเทศปลายทางแทน และต้องมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ในการจัดประชุมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ในการป้องกันโรค การทำงานบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ในการจัดตั้งโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งหมด 5 จุด ที่ด่านกักกันสัตว์เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และสระแก้ว การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ โดยได้จัดทำเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว ภาษาพม่า ภาษาเขมร เป็นต้น

การสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเพื่อเฝ้าระวังโรค ซึ่งผลวิเคราะห์จากการเก็บตัวอย่างตอนนั้นเป็นลบต่อโรค ASF ในสุกรทั้งหมด แต่ให้ผลบวกต่อโรคชนิดอื่นๆ เช่น โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) และโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) เป็นต้น

สำหรับ ประเด็นเงินชดเชย เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนและยารักษาจำเพาะ หากพบการระบาดของโรคในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยากก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ดำเนินการคือการลดความเสี่ยงโดยการทำลายสุกรที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันการเกิดโรค อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายเพื่อป้องกันโรค ที่ผ่านมาได้ดำเนินการขออนุมัติจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยได้ดำเนินการชดเชยค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง รวมเกษตรกรทั้งสิ้น 3,239 ราย สุกรจำนวน 112,752 ตัว เป็นเงิน 470,426,009 บาท

และในปี 2565 กรมปศุสัตว์ได้ขออนุมัติงบประมาณในส่วนดังกล่าวแก่เกษตรกรจำนวน 4,941 ราย สุกรจำนวน 159,453 ตัว เป็นเงิน 574,111,262.5 บาท เพื่อเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ซึ่งครม. ได้อนุมัติแล้ว จะเร่งเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเร็วต่อไป

กรณี ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพง มาจากหลายปัจจัย สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณสุกรมีชีวิตที่ถูกแปรสภาพเป็นเนื้อสุกรลดลง ประกอบกับภาวะต้นทุนการผลิตสุกรขุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์มสุกร และต้นทุนด้านการขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ผลผลิตสุกรลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพในฟาร์มสุกรของไทยเพิ่มขึ้น ในรอบปี 2564 พบการระบาดของโรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) เกษตรกรต้องลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์ม และเลิกเลี้ยงสุกรในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพ โดยได้มีมาตรการให้การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยมาตรการระยะเร่งด่วนกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ประกาศห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 เดือน (6 มกราคม-5 เมษายน 2565) ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์ จัดสินเชื่อพิเศษ เพื่อให้เกษตรกรได้กลับมาเลี้ยงใหม่ ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องต้นทุนที่เกิดขึ้น และเร่งสำรวจภาพรวมการผลิตสุกรเพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการ พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน มาตรการระยะสั้น มีการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

รองเลขาฯ พท. ไม่เห็นด้วยรีดภาษีคริปโต ชี้ไม่ใช่ภัยคุกคาม แนะ ‘ตัดแต่ง’ ไม่ใช่ ‘ตัดตอน’

13 ม.ค. 65 - นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีภาษีคริปโทเคอร์เรนซี (คริปโตฯ) ว่า ปัจจุบันการต่อสู้ทางความคิดระหว่างนโยบายการเงินแบบเดิม กับคริปโทเคอร์เรนซีนั้นยังไม่สะเด็ดน้ำ ธนาคารกลางจำเป็นต้องเรียนรู้อีกมากถึงความเป็นไปได้ของการผสานนโยบายการเงินแบบเดิม ควบคู่กับคริปโตฯ หรือแม้แต่การปล่อยให้คริปโตฯ เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงิน และคริปโตฯ ก็ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมาก ในการทำหน้าที่เป็นเงินตราดิจิทัล เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน หรือแม้แต่มีการพูดกันไปไกลถึงการแทนที่ระบบธนาคารกลางเลย ซึ่งปัจจุบันยังเป็นเครื่องหมายคำถามที่ตัวใหญ่มากที่คริปโตฯ ต้องพยายามตอบ

วันนี้ยังไม่มีใครรู้ถึงทิศทางการพัฒนา วันนี้เรารู้แค่ว่าระบบการชำระเงินเดิมมีข้อจำกัด ธนาคารกลางเองก็ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังเร็วไปมากที่จะสรุปว่าคริปโตฯ เป็นคำตอบ และเร็วไปมากที่ภาครัฐจะตัดสินใจเชิงนโยบายบนความไม่รู้ว่า จะเปิดรับ ต่อต้าน ปิดกั้น หรือสนับสนุนอย่างไร จึงไม่เห็นด้วยกับการเร่งรีบกระโจนเข้าเก็บภาษีคริปโตฯ ของกรมสรรพากร ซึ่งถือเป็นมาตรการที่มีผลในเชิงต่อต้านการพัฒนาการของระบบการเงินรูปแบบใหม่นี้ ทั้งๆ ที่ในภาพใหญ่ในเชิงนโยบายยังไม่ได้ข้อสรุป สรรพากรข้ามไปคุยเรื่องเก็บภาษีอย่างไรแล้ว ทั้งที่ในภาพใหญ่เรายังไม่สะเด็ดน้ำเลยว่าควรจะเก็บหรือไม่ และเก็บเมื่อไหร่

รัฐผ่อนเกณฑ์แอลทีวี พาเชื่อมั่นอสังหาฯ เริ่มฟื้น

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน ภาพรวมของไตรมาส 4 ปี 2564 มีค่าดัชนีเท่ากับ 52.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และมีค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นเป็นไตรมาสแรกหลังจากที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าค่ากลางต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาถึง 10 ไตรมาส ขณะที่ความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า มีค่าเท่ากับ 62.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.2 และมีการเพิ่มขึ้นเกือบทุกปัจจัย เป็นผลมาจากการต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และการจดจำนอง

สำหรับค่าดัชนีในไตรมาสนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงการที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการเปิดประเทศในต้นเดือนธ.ค. 2564 โดยคาดว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อการกลับมาของกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของคนต่างชาตินับเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในทิศทางที่เป็นบวกเพิ่มขึ้น

กกร.ชี้ระยะสั้นรัฐต้องแก้ของแพงไม่ให้กระทบ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 4.5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบ 1.2% ถึง 2.0% แต่จำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาสินค้าอาหารราคาแพงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป

ทั้งนี้การประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 กกร. มองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ หากสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ และเร่งแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและการปรับตัวของราคาสินค้าภายในประเทศอย่างรวดเร็ว ส่วนราคาเนื้อหมูแพงขึ้น มหาวิทยาลัยยหอการค้าไทย ได้ติดตามสถานการณ์และคาดว่าจากที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันเพิ่มปริมาณหมู และควบคุมโรคระบาด คาดว่าจะเพิ่มหมูในระบบได้ ใน 4 เดือน หลังจากั้นราคาหมูจะลดลง จึงคาดว่า ในครึ่งปีแรกเงินเฟ้ออาจสูงถึง 1.2% - 2.0% และจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี

ดีเดย์เม.ย.นี้ เริ่มเก็บค่า ‘เหยียบแผ่นดิน’ ลุ้นนักท่องเที่ยวเข้าไทย 15 ล้านคน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ รัฐบาลได้รับทราบการวางแผนเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยคนละ 300 บาท หรือเรียกกันว่าค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อนำเงินที่ได้ไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ และทำประกันให้กับนักท่องเที่ยว กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือ ค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท โดยวางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินกรณีเดินทางทางอากาศ และส่วนการเดินทางทางบก อยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการ 

คปภ. เตือน! จ้างเด็กเอ็นติดโควิดหวังเคลมประกัน ชี้ ผิดกฎหมาย เสี่ยงคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสน

เลขาธิการ คปภ. สั่งทีมกฎหมายตรวจสอบกรณีโพสต์ออนไลน์จ้างเด็กเอ็นติดเชื้อหวังเคลมประกันโควิด หากพบผิดจริงให้ดำเนินการทางกฎหมายเด็ดขาด เตือนอย่าเสี่ยงทำ เสี่ยงโดนคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสน

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ประกาศจ้างเด็กเอ็น โดยขอเป็นเด็กเอ็นที่ต้องติดเชื้อโควิดเท่านั้น และมีผลตรวจ ATK ยืนยันผล เพื่อต้องการติดเชื้อโควิดและเรียกร้องเอาเงินประกันภัยจากบริษัทประกันภัย การกระทำในลักษณะนี้อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยและอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย สำนักงาน คปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ ส่งทีมสายกฎหมายและคดีเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบตัวผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้โพสต์ดังกล่าวได้มีการเอาประกันภัยโควิด (covid-19) กับบริษัทแห่งหนึ่งด้วย 

ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. จะเร่งตรวจสอบและหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจะกระทำความผิดต่อกฎหมายแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในปัจจุบัน อาจสุ่มเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย (โควิด-19) หากเข้ากรณีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งหากเข้าลักษณะทุจริตก็อาจถูกดำเนินคดีกรณีเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยอีกด้วย ซึ่งการนำเข้าข้อมูลผ่านสื่อสารสนเทศ สามารถตรวจสอบหมายเลข IP Address ของผู้โพสต์ได้ และเมื่อทราบตัวผู้กระทำความผิด ก็จะสามารถทราบได้ว่าผู้กระทำจงใจกระทำความผิดเอง หรือเข้ามาพิมพ์ด้วยความคึกคะนอง หรือมีผู้ใช้ให้เข้ามาปล่อยข่าวให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย

รัฐ ลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง บ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เหลือ 0.01%

ข่าวดี! ต้อนรับปี 65 คนอยากมีบ้าน รัฐให้ของขวัญ “ลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง” บ้านเดี่ยว-อาคารพาณิชย์ อาคารพร้อมที่ดิน ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เหลือ 0.01%

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่าถือเป็นข่าวดีต้อนรับปี 2565 สำหรับคนต้องการมี “บ้าน” เป็นของตนเอง จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 64 ให้ความเห็นชอบมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จากร้อยละ 2 ลดเหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองจาก ร้อยละ 1 ลดเหลือ ร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ทั้งนี้ มาตรการจะมีผลบังคับใช้สำหรับการโอนและจดจำนองนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565

นายกฯ ลุยฟื้นท่องเที่ยวไทย ชูจุดขาย ‘อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์’

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เดินหน้าฟื้นประเทศ ดันจุดขายใหม่ “ท่องเที่ยวไทย...อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์" ภายใต้การรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

วันที่ 12 ม.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เดินหน้าแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนี้ ซึ่งเป็นปีท่องเที่ยวไทย โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กำหนดโปรโมทการท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์ (Amazing Thailand New Chapter) จุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวของไทย ภายในเดือนมกราคมนี้ รวมถึงเดินหน้าจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสีขาว สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ในภาคการท่องเที่ยว ที่จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและปลอดภัยขึ้น 

นอกจากนี้ในช่วงไตรมาส 2 ช่วงเดือนเมษายน วางแผนจะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย 300 บาทต่อคน หรือเรียกกันว่าค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อนำเงินที่ได้รับไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในไทย และทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต ก็จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือ ค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท เป็นต้น โดยวางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินกรณีเดินทางทางอากาศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการเรียกเก็บจากการเดินทางทางบก

‘อธิบดีปศุสัตว์’ ยอมรับ พบโรค ASF ในหมู เผยตรวจพบจากโรงฆ่า จ.นครปฐม

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะ ปธ.คณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ASF ในสุกร พบการรายงาน โรค African Swine Fever หรือ ASF ในสุกร จากสุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างเบื้องต้นจากจำนวนทั้งหมด 309 ตัวอย่าง พบผลบวกเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่าง จากตัวอย่างพื้นผิวสัมผัสโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจากจังหวัดนครปฐม 

จากการสุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น ในวันที่ 8-9 มกราคม พ.ศ 2565 รวมทั้งหมด 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง และโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 4 ตัวอย่าง โดยในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 6 ฟาร์ม รวม 196 ตัวอย่าง และวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 4 ฟาร์ม 109 ตัวอย่าง และ 2 โรงฆ่า 4 ตัวอย่าง รวม 113 ตัวอย่าง

พร้อมกันนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการในการดำเนินการในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการเกิด โรค ASF  ล่าสุดได้ประสานกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการควบคุมโรคแล้ว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top