Thursday, 8 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘กูรูไทย’ พาทัวร์!! พฤติกรรมนักช็อปในตะวันออกกลาง พบแบรนด์ไทยติดลมบนหลายกลุ่ม

ไม่นานมานี้ จิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญการขาย การตลาดพฤติกรรมผู้บริโภคและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในตลาดอาเซียน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Jirawat Daechasatien’ ระบุว่า…

เมื่อวานเดินไปเกือบสองหมื่นก้าว

สืบเท้าก้าวย่างเข้าตลาด ดูเรื่อง Consumer Behavior กับสินค้าไทยในตลาดตะวันออกกลาง สรุปพอประมาณไว้อ่านสนุก ๆ ...

1.) Beverage ตลาดชา ได้รับความนิยม Pepsi นำตลาด เห็นทุกแห่งในพื้นที่ ทุกช่อง ตลาดนมมีขนาดใหญ่มาก เมนู Faroodah ของอิหร่าน มีให้เห็นตามข้างทาง นมไทยมีแค่ไวตามิลค์ ส่วนอีกตัว คือ น้ำมะพร้าวของ UFC และ Mokumoku ของ BJC

2.) Battery 3K นี่ต่อเนื่องจากอินเดียมาจริง ๆ

3.) เราเห็นบาจาไปหลายประเทศ แต่ที่นี่ แอโร่ซอฟ เชียร์ยูโร มาเปิดแล้ว…

4.) Dunkin...ก็มาเปิดตามห้างหลายสาขาแล้วนะเออ

5.) ร้านอาหารไทย...น่ามาเจาะมาก ตอนนี้ฟิลิปปินส์บุกหนัก เรียกบ๋อยเจอแต่ฟิลิปินโน...เขารุกหนักโดยมี Jollybee เป็นหัวหอก ต่อด้วยร้านสเต๊ก ร้านอาหารญี่ปุ่น คนงานส่วนใหญ่ จึงมีปินอยด์เนทเวิร์กเยอะ

6.) น้ำหอมเต็มเมือง....ห้อมหอม สงสัยไม่ค่อยอาบน้ำกัน น้ำมันนวด ครีมอาบน้ำ สายนวดอโรมา มากันได้แน่ ๆ ...ถึงขั้นที่คนพื้นที่ต่อคิวงาน expo เพื่อไปรอรับน้ำมันนวดของไทย

ม.หอการค้าฯ เปิด 10 ธุรกิจเด่น - ดาวร่วง ประจำปี 65 

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย 10 ธุรกิจเด่นปี 2565 ว่า ธุรกิจที่โดดเด่นอันดับ 1 ในปีหน้า คือ ธุรกิจการแพทย์ความงามและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค รองลงมา คือธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ ตลาดกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ ธุรกิจโลจิสติกส์ คลังสินค้า เดลิเวอรี่และธุรกิจfintech จากนั้นจะเป็นธุรกิจประกันภัยประกันชีวิตการผลิตเวชภัณฑ์ การขายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ธุรกิจอาหารเสริม ธุรกิจแปรรูปยางพารา ธุรกิจจัดทำContent ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ โมเดิร์นเทรด ธุรกิจให้ความบันเทิง ธุรกิจยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์แนวราบ

นอกจากนี้ยังมองธุรกิจเด่นอีกอย่าง คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการต่อเนื่อง ซึ่งสามารถกลับมาเป็นธุรกิจเด่นอีกครั้งหลังจากรัฐบาลมีการเปิดประเทศและผ่อนคลายให้มีการเดินทางภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจดังกล่าว คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการปิดประเทศหรือการใช้มาตรการต่าง ๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนในอนาคต

กรุงไทยประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้า อาจโตสูงขึ้นที่ 3.8% 

 นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะกลับเข้าสู่เส้นทางของการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น หลังการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรในสัดส่วนที่สูงขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงการปรับพฤติกรรมของคนให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 จะช่วยรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ส่งออกไทยโตได้ต่อเนื่อง ด้านอุปสงค์ในประเทศของไทยคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวเป็นลำดับนับตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2564 โดยมีหลายปัจจัยท้าทายที่ทำให้การกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ของเศรษฐกิจไทยต้องล่าช้าไปเป็นปี 2566

ทั้งนี้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 เติบโต 3.8% สูงกว่าปี 2564 ที่โตเพียง 1.0% โดยคาดว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” จะไม่กระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทยมากนัก ประเมินส่งออกยังโตได้ภายใต้ภาวะต้นทุนแพงและการขาดแคลนวัตถุดิบ ชี้เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นหลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองปี 2565 เป็นจุดเปลี่ยนเข้าสู่กระแสการพัฒนาในโลกยุค New Normal

นับถอยหลัง! โครงการช่วย SMEs ปิดลงทะเบียน รอบ 2 วันที่ 20 ธ.ค. 64

กระทรวงแรงงาน ชวนสถานประกอบการขนาดเล็ก-กลาง ลงทะเบียนร่วมโครงการช่วย  SMEs  รอบ 2 ภายใน 20 ธ.ค. 64 หากไม่สะดวกลงทะเบียนผ่านเว็บ “ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th”  เจ้าหน้าที่ยินดีให้บริการ ณ สำนักงานจัดหางาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้เปิดให้นายจ้าง สถานประกอบการภาคเอกชน ขนาดเล็ก – กลาง ลงทะเบียนร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 23 พ.ย. – 20 ธ.ค. 64 ขณะนี้ใกล้สิ้นสุดระยะเวลาแล้ว หากสถานประกอบการใดประสงค์รับเงินอุดหนุนตามโครงการฯจากรัฐ ขอให้เร่งลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th” ภายในกำหนด หรือหากไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ ให้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ เพื่อมีสิทธิรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในเดือนธันวาคม 64 และเดือนมกราคม 65 ในอัตรา 3,000 บาท ต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คน โดยมีเงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนเช่นเดียวกับนายจ้างที่ลงทะเบียนรอบแรก

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยสถานประกอบการขนาดเล็ก – กลางที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 (COVID-19)  ท่านกำชับผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดูแลให้สถานประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างครอบคลุมและทั่วถึงที่สุด ผมขอฝากถึงนายจ้างที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนร่วมโครงการฯ มาลงทะเบียนรับสิทธิ เพื่อประโยชน์ของท่าน หากท่านติดปัญหาการใช้งานระบบ เจ้าหน้าที่ของเรายินดีช่วยดำเนินการให้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. – 16 ธ.ค. 64 มีสถานประกอบการลงทะเบียนร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs รอบที่ 2 จำนวน 14,829 แห่ง มีลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 118,087 คน สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการที่ไม่สามารถลงทะเบียนร่วมโครงการฯ ผ่านระบบด้วยตนเอง สามารถนำเอกสารซึ่งประกอบด้วย หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร (กรณีใช้บัญชีกระแสรายวัน ให้ใช้สมุดหน้าเช็คที่มีชื่อนายจ้างและเลขบัญชี) และสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล

ผลไม้จีนทะลัก ‘ด่านหนองคาย’ ไม่จริง!! ยัน!! ไม่เคยให้นำเข้าจากจีน แม้แต่ตู้เดียว 

‘เฉลิมชัย’ สั่งการทูตเกษตรเร่งหารือจีน แก้ปัญหาด่านส่งออกผลไม้ติดขัดเพราะมาตรการซีโร่โควิดของจีน ด้าน ‘อลงกรณ์’ ประชุมสมาพันธ์โลจิสติกส์เดินหน้าประสานจีนส่งออกกล้วยไม้และยางพาราใช้เส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ส่วนผลไม้รอหลังตรุษจีน ‘ด่านหนองคาย’ ยืนยันไม่มีผลไม้จีนเข้าไทยเพราะยังไม่ให้นำเข้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ว่า จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เข้มงวดของด่านนำเข้าจีน ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยเป็นอย่างมาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กษ. ในฐานะประธานคณะกรรมการและบริหารการจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้สั่งการทูตเกษตร เร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหารือฝ่ายจีนเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทย

นายอลงกรณ์ฯ กล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำนครกว่างโจว ว่าจากการที่ด่านของจีนมีมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด (Zero Covid) ที่อาจติดมากับการขนส่งสินค้าผ่านห่วงโซ่ความเย็นที่เข้มงวด ส่งผลต่อการบริหารจัดการรถบรรทุกสินค้านำเข้าและส่งออกผ่านด่านโหย่วอี้กวน และด่านตงซิง เขตฯ กว่างซีจ้วง ทำให้ปริมาณรถผ่านเข้าออกลดลงจากเดิมมาก และมีรถติดสะสมหน้าด่านจำนวนมาก ทั้งนี้ จากมาตรการของด่านทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่านด่านมากกว่าช่วงปกติ ส่งผลให้ปริมาณรถเข้า-ออกด่านลดลงจากช่วงปกติกว่า 50% 

นอกจากนี้ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว ได้ประสานงานด่านรถไฟผิงเสียงในการเร่งกลับมาเปิดบริการ เพื่อช่วยในการกระจายสินค้าผลไม้ไทยจากด่านโหย่อี้กวนและด่านตงซิง ซึ่งปัจจุบันมีปัญหารถติดสะสมจำนวนมาก และได้นัดหมายประชุมหารือกับนายกเทศมนตรีเมืองตงซิงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมืองตงซิงในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหารถติดที่ด่านตงซิง และการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านด่านตงซิง 

สำหรับด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองการเดินรถ โดยด่านบ่อเต็น ฝั่งสปป.ลาว อนุญาตให้ทดลองปล่อยรถขนส่งผลไม้ไทยเข้าจีนได้วันละ 5 คัน หากไม่พบปัญหาการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ด่านโม่ฮานจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ

'โฆษกรัฐบาล' เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 65 ส่งสัญญาณดี เอกชนขานรับนโยบาย 'บิ๊กตู่' มั่นใจแรงหนุนจากมาตรการรัฐ  ขณะที่ ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยปี 65 เติบโต 3.9% 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอกชนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2565 เติบโตต่อเนื่อง จากการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตร้อยละ 3.9  เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตร้อยละ 1 ในปีนี้  สอดคล้องกับผลวิจัยกรุงศรีโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)  รายงานแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2565 จะเติบโตที่ 3.6% จากที่ในปี 64 เติบโตอยู่ที่ 1.1% 

นายธนกร กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นภาคเอกชนสูงขึ้นในปีหน้าเป็นผลมาจาก แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ประกอบกับการฟื้นตัวของธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นไปได้รวดเร็วและทั่วถึง และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในระดับต่ำ

บสย.เปิดผลค้ำเงินกู้ช่วยเอสเอ็มอีเจอพิษโควิดทะลุ 2.4 แสนล.

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผย บสย. ได้ค้ำประกันสินเชื่อ ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนต่อเนื่อง โดยคาดว่าผลดำเนินงาน บสย. ณ สิ้นสุดปี 2564 จะปิดยอดค้ำประกันสินเชื่อมากกว่า 240,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานที่สร้างสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย.

ล่าสุดผลการดำเนินงาน บสย. ณ 13 ธ.ค. 2564 มียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 234,992 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอี 207,537 ราย และอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ 224,104 ฉบับ โดยมีโครงการที่โดดเด่น 3 โครงการได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อตาม พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 124,912 ล้านบาท 2.โครงการ PGS-9 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 78,799 ล้านบาท และ 3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 วงเงิน 19,257 ล้านบาท 

ข้าวหอมมะลิ 105 คว้าแชมป์โลก 2 ปีซ้อน คาดดันส่งออกข้าวปีนี้ทะลุเป้า 6 ล้านตัน

‘จุรินทร์’ เผยข้าวหอมมะลิไทย 105 ชนะการประกวดข้าวดีที่สุดในโลกของปี 2021 คว้าแชมป์โลกมาครอง 2 ปีซ้อน ส่งผลส่งออกข้าวปีนี้ทะลุเป้า 6 ล้านตัน

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการประกวดข้าวโลก หรือ “World’s Best Rice Award 2021” ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 13 โดยผู้ค้าข้าวของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดตั้งแต่วันที่ 7-9 ธันวาคม 64 ที่เมืองดูไบโดยจัดแบบไฮบริด หรือรูปแบบผสมผสานเป็นครั้งแรก มีผู้ส่งข้าวเข้าประกวด 6 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เวียดนาม เมียนมาและไทย

รวมจำนวน 11 ตัวอย่าง ผลการตัดสินปรากฏว่าข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย คือ ข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งปลูกในภาคอีสาน ที่ส่งเข้าประกวดโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ

กนอ.ประกาศแผนปี’65 เดินหน้ากระตุ้นลงทุนในนิคมฯ ดันขึ้นแท่นฮับฐานผลิตในอาเซียน

กนอ. ครบรอบ 49 ปี พร้อมเปลี่ยนเพื่ออนาคต ประกาศแผนปี’65 เดินหน้าพัฒนานิคมฯ ครบวงจร ตอบรับนโยบาย BCG มุ่งสู่ศูนย์กลางฐานการผลิตของภูมิภาคอาเซียน 

นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการ กนอ. ร่วมเป็นเกียรติในงานฉลองครบรอบ 49 ปี กนอ. โดยระบุว่า ภารกิจหลักของ กนอ.คือ การพัฒนา จัดตั้ง และบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม สร้างฐานการผลิตเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร มุ่งเน้นนวัตกรรมนำการเปลี่ยนแปลง และสร้างการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเติบโตในทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งนี้จากสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้ กนอ. ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยผ่านการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีมาตรฐานจริยธรรม จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ และกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืน 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรเพื่อให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ จำเป็นต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตผู้ว่าการ กนอ. (ปี 2532 - 2542) กล่าวว่า กว่า 49 ปี ที่ กนอ. ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานบนฐานของพันธกิจ ปรัชญาในการดำเนินงาน และหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ระบบคุณค่า 5E’s ประกอบด้วย มุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economy) มุ่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เท่าเทียม (Equitability) มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย (Environment) สร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ชุมชน และสังคม (Education) และการเสริมสร้างจริยธรรม คุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ (Ethics) ซึ่ง กนอ. ได้ยึดถือเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานมาโดยตลอด จนทำให้ กนอ. เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่วางกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

อดีตผู้ว่าการ กนอ. กล่าวต่อว่า ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ส่งผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้า โดยปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดทางธุรกิจ ด้วยการจัดการบนพื้นฐานของเทคโนโลยี ผสานองค์ความรู้และนวัตกรรมแห่งอนาคต เพื่อให้องค์กรเติบโตยั่งยืน และมุ่งมั่นเป็นองค์กรที่ดีของสังคม สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อวางรากฐานให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ควบคู่กับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เปรียบเสมือนรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ความสำเร็จของ กนอ. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นว่า บนรากฐานของความร่วมมืออย่างดีจากพันธมิตรทางธุรกิจ และนโยบายของผู้บริหารที่มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงสมัย ส่งผลให้ กนอ. เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพ จนกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในระดับภูมิภาค เห็นได้จากปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 65 แห่ง 16 จังหวัด ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินงานเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 51 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 178,891 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนสะสม 5.27 ล้านล้านบาท มีผู้ใช้ที่ดินสะสม 5,019 โรงงาน มีแรงงานสะสม 815,804 คน โดยมีนักลงทุนทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศร่วมลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

รูดม่าน 'มอเตอร์เอ็กซ์โป' ยอดจองทะลุ 3 หมื่นคัน!!

รูดม่านปิดฉากไปเรียบร้อย สำหรับงาน มอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 โดยผู้จัดงาน เผยยอดขายรถทะลุเป้า มียอดจองรถยนต์ 31,583 คัน จักรยานยนต์ 3,253 คัน ส่วนผู้เข้าชมงานอยู่ที่ 1,151,540 คน โดยจำนวนนี้มีผู้ชมงานผ่าน MOTOR EXPO ONLINE PLATFORM 139,110 คน เรียกดู 1,819,123 คลิป

และจากข้อมูลผู้ร่วมกิจกรรม “ซื้อรถ...ชิงรถ” พบว่า รถยนต์ที่ผู้ซื้อเข้าร่วมกิจกรรมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ HONDA, MAZDA และ MG โดยรถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) ได้รับความสนใจสูงสุด สัดส่วน 49.8% รถเก๋ง สัดส่วน 35.1% รถกระบะ สัดส่วน 10.6 % และอื่น ๆ 4.5% ด้านรถจักรยานยนต์ที่ผู้ซื้อเข้าร่วมกิจกรรม “ซื้อมอเตอร์ไซค์...ชิงบิกไบค์” สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ROYAL ENFIELD, HONDA และ TRIUMPH


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top